E-Books

ค้นหา

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
5516488

whosonline

มี 370 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

ธรรมศึกษา ชั้นตรี

วิชา เบญจศีล-เบญจธรรม

ธรรมศึกษา ชั้นตรี

คำปรารภ

              มนุษย์ผู้เกิดมาในโลก    มีรูปพรรณสัณฐานที่เลือกตามใจหวังไม่ได้ แล้วแต่เหตุจะแต่งมาให้เป็นผู้มีรูปร่างงามบ้างเลวทรามบ้างต่าง ๆ กัน ผู้ใดมีรูปงามก็เป็นที่นิยมชมชอบของผู้ที่ได้เห็น เป็นดุจ ดอกไม้ที่มีสีสัณฐานงาม   ผู้ใดมีรูปเลวทรามก็ไม่เป็นที่ชวนดูของผู้แลเห็น    เช่นกับดอกไม้มีสีสัณฐานไม่งาม  รูปงามมีประโยชน์เพียงให้เขาชมว่าสวยไม่เป็นคุณอะไรอีก ถ้าดอกไม้มีทั้งสีสัณฐาน ก็งามทั้งกลิ่น ก็หอมย่อมเป็นที่พอใจรักใคร่ของประชุมชน ถ้ามีแต่สีและสัณฐานงาม แต่หากลิ่นหอมมิได้ จะสู้ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม แม้มีสัณฐานไม่งามก็ไม่ได้  ถ้ามีกลิ่นเหม็นก็ยิ่งซ้ำร้าย ถึงจะมีสัณฐานงาม     ก็ไม่เป็นที่ ปรารถนาของใคร ๆ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด    คนผู้มีรูปร่างงดงามมีใจดี ย่อมเป็นที่นิยมนับถือของประชุม ชนถึงจะมีรูปร่างงาม  แต่ปราศจากคุณธรรมในใจจะสู้คนที่ประกอบด้วยคุณธรรม   แม้มีรูปร่างเลว ทราม  ก็ไม่ได้ถ้ามีใจร้ายกาจ ก็ยิ่งซ้ำร้าย   ไม่มีใครพอใจจะสมาคมถึงจะมีรูปร่างงามสักปานใด  ก็ช่วยแก้ไขไม่ได้  ข้อนี้มีอุปไมยฉันนั้น   

              รูปพรรณสัณฐานของมนุษย์เป็นมาอย่างใดก็ต้องเป็นไปอย่างนั้นจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้   ส่วนใจนั้นก็มักเป็นไปตามพื้นเดิม  ถึงอย่างนั้นก็ยังมีทางแก้ไขให้ดีได้ด้วยความตั้งใจอันดี   จงดูตัวอย่างของที่ไม่หอมมาแต่เดิมเขายังอบให้หอมได้ แต่ธรรมดาใจนั้นมักผันแปรไม่แน่ไม่นอนมั่นคงลงได้ นักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น  ผู้สั่งสอนให้คนตั้งอยู่ในคุณธรรม จึงได้กำหนดวางแบบแผนแห่ง ความ ประพฤติไว้เป็นหลักฐาน

              การตั้งใจประพฤติตามบัญญัตินั้น ชื่อว่า ศีล  ๆ  นั้นเป็นบรรทัดสำหรับให้คน ประพฤติ ความดีให้คงที่  เปรียบเหมือนผู้แรกจะเขียนหนังสือต้องอาศัยเส้นบรรทัดเป็นหลักเขียนไปตามนั้น   หนังสือที่เขียนจึงจะมีบรรทัดอันตรง    ถ้าหาไม่ตัวก็จะคดขึ้นคดลงดังงูเลื้อย  เมื่อชำนาญแล้วก็เขียน ไปได้  ไม่ต้องมีบรรทัดฉันใด   คนแรกจะประพฤติความดี   ไม่ได้ถืออะไรเป็นหลักใจไม่มั่นคง อาจเอนเอียงลงหาทุจริตแม้เพราะโมหะครอบงำ  เมื่อบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์จนเป็นปกติ มารยาทได้แล้ว     จึงจะประพฤติคุณธรรมอย่างอื่น  ก็มักยั่งยืนไม่ผันแปร   ข้อนี้แลเป็นประโยชน์แห่งการบัญญัติศีลขึ้น

              ความเบียดเบียนกันในโลก  ซึ่งเป็นไปโดยกายทวารย่นลงเป็น ๓ ประการ คือ  เบียดเบียนชีวิตร่างกายประการหนึ่ง  เบียดเบียนทรัพย์สมบัติ ประการหนึ่ง เบียดเบียนประเวณี คือทำเชื้อสายของผู้อื่นให้ผิดลำดับสับสนประการหนึ่งและความประพฤติเสียด้วยวาจา  มีมุสาวาทกล่าว คำเท็จเป็นที่ตั้งคนจะประพฤติดังนั้นก็เพราะความประมาท และความประมาทนั้น ไม่มีมูลอื่นจะสำคัญ ยิ่งกว่าดื่มน้ำเมา  ซึ่งทำให้ความคิดวิปริตลงทันที  เหตุนั้นนักปราชญ์ทั้งหลาย  มีพระพุทธเจ้าเป็น ประธานเล็งเห็นเหตุการณ์ดังนี้  จึงปัญญัติศีลมีองค์ ๕  คือ

            ๑.  เว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิต

            ๒.  เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการเป็นลักขโมย

            ๓.  เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

            ๔.  เว้นจากกล่าวคำเท็จ

            ๕.  เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย

              องค์แห่งศีลอย่างหนึ่ง ๆ เรียกว่า สิกขาบท  ศีลมีองค์ ๕ จึงเป็นสิกขาบท ๕ ประการ  รวมเรียกว่าเบญจศีล ๆ นี้ท่านบัญญัติขึ้นโดยถูกต้องตามคลองธรรม ด้วยคิดจะให้เป็นประโยชน์แก่กันและกันจึงได้ชื่อว่าเป็นบัญญัติอันชอบธรรม เป็นคำสอนมีอยู่ในศาสนาที่ดี

              เบญจศีลนี้มีกัลยาณธรรมเป็นคู่กัน แสดงไว้ในพระบาลีที่สรรเสริญความประพฤติของกัลยาณชนว่า เป็นคนมีศีลมีกัลยาณธรรม  ดังนี้  กัลยาณธรรมในที่นี้  ได้แก่ความประพฤติที่เป็นส่วนดีงาม   มีเครื่องอุดหนุนศีลให้ผ่องใสยิ่งขึ้น  ได้ในสิกขาบททั้ง ๕ นี้เอง

            ๑. เมตตากรุณา  ได้ในสิกขาบทที่ ๑

            ๒. สัมมาอาชีวะ  หมั่นประกอบการเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ ได้ในสิกขาบทที่ ๒

            ๓. ความสำรวมในกาม ได้ในสิกขาบทที่ ๓

            ๔. มีความสัตย์ ได้ในสิกขาบทที่ ๔

            ๕. ความมีสติรอบคอบ ได้ในสิกขาบทคำรบ ๕

       เมื่อจัดวิภาค  ศีลได้แก่กิริยาที่เว้นตามข้อห้าม  กัลยาณธรรม  ได้แก่ประพฤติธรรมที่ชอบ มีเป็นคู่กันมาฉะนี้

       ในที่นี้จะยกคุณ ๒ ข้อนี้ตั้งเป็นกระทู้ และพรรณนาความไปตามลำดับดังต่อไปนี้

 

เบญจศีล

              ในสิกขาบทที่ ๑ แก้ด้วยข้อห้าม ๓ ประการ  คือการฆ่า ๑ การทำร้ายร่างกาย ๑ การ ทรกรรมสัตว์ให้ลำบาก ๑ เพื่อสมแก่เหตุแห่งบัญญัติสิกขาบทนี้ขึ้น  ด้วยเพ่งเมตตาจิตเป็นใหญ่

              ในสิกขาบทที่  ๒ แก้ด้วยข้อห้าม ๓ ประการ คือ โจรกรรมประพฤติเป็นโจร ๑ ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม  อันเป็นอุบายอุดหนุนโจรกรรม ๑ กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม ประพฤติ เคลือบแฝง  เป็นอาการแห่งโจร ๑ เพื่อสมแก่เหตุแห่งบัญญัติสิกขาบทนี้ขึ้น  ด้วยเพ่งความประพฤติ ชอบธรรมในทรัพย์สมบัติของผู้อื่นเป็นใหญ่

              ในสิกขาบทที่ ๓ แก้ด้วยข้อห้ามไม่ให้ประพฤติผิดในกามทั้งฝ่ายชายฝ่ายหญิงและประพฤติ ผิดธรรมดา เพื่อสมแก่เหตุแห่งบัญญัติสิกขาบทนี้ขึ้น  ด้วยเพ่งความประพฤติไม่ผิดประเวณีเป็นใหญ่

              ในสิกขาบทที่ ๔ แก้ด้วยข้อห้าม ๓ ประการ  คือ  มุสา กล่าวคำเท็จ ๑ อนุโลมมุสา กล่าววาจาที่เป็นตามมุสา ๑ ปฏิสสวะ  รับแล้วไม่ทำตามรับ ๑ เพื่อสมแก่เหตุแห่งบัญญัติสิกขาบทนี้ขึ้น ด้วยเพ่งความสัตย์เป็นใหญ่

              ในสิกขาบทคำรบ ๕ แก้ด้วยข้อห้าม ๒ ประการ คือ ดื่มน้ำเมา คือสุรา และเมรัย ๑ เสพฝิ่น กัญชา และของเมาอย่างอื่นอีก ๑ เพื่อสมแก่เหตุแห่ง บัญญัติสิกขาบทนี้ขึ้น ด้วยเพ่งจะไม่ ให้เสียความสำราญและความดี

วิรัติ

              ในบทนี้  แก้ด้วยวิรัติ  คือความละเว้นข้อห้าม ๓ ประการ   คือ สัมปัตตวิรัติ  ความเว้น จากวัตถุที่จะพึงล่วงได้อันมาถึงเฉพาะหน้า ๑ สมาทานวิรัติ ความเว้นด้วยอำนาจการถือ เป็นกิจวัตร ๑ สมุจเฉทวิรัติ  ความเว้นด้วยตัดขาดมีอันไม่ทำอย่างนั้นเป็นปกติ  ๑ ตามภูมิของคนผู้ปฏิบัติ

 

กัลยาณธรรม

              ในสิกขาบทที่ ๑ แก้ด้วยเมตตากับกรุณา  ที่ผู้มีศีลจะพึงแสดงเป็นพิเศษ ในการเผื่อแผ่ให้ ความสุขและช่วยทุกข์ของผู้อื่น

              ในสิกขาบทที่ ๒ แก้ด้วยสัมมาอาชีวะ ความหมั่นประกอบการหาเลี้ยงชีพในทาง ที่ชอบ  อันเป็นเครื่องอุดหนุนผู้มีศีลให้มั่นคงอยู่ในศีล

              ในสิกขาบทที่ ๓  แก้ด้วยความสำรวมในกาม ๒ ประการ  คือ สทารสันโดษ ความยินดีด้วยภรรยาของตน สำหรับชาย ๑ ปติวัตรความจงรักในสามี สำหรับหญิง ๑ อันเป็นข้อปฏิบัติอุกฤษฏ์ยิ่งขึ้นไปกว่าศีล

              ในสิกขาบทที่ ๔ แก้ด้วยความมีสัตย์ ต่างโดยอาการ ๔ สถาน คือ ความเที่ยงธรรมในกิจการอันเป็นหน้าที่ ๑ ความซื่อตรงต่อมิตร  ๑ ความสวามิภักดิ์ในเจ้าของตน ๑ ความกตัญญูในท่านผู้มีบุญคุณแก่ตน ๑ อันอุดหนุนผู้มีศีลให้บริบูรณ์ด้วยคุณสมบัติยิ่งขึ้น

              ในสิกขาบทที่  ๕ แก้ด้วยความมีสติรอบคอบ ต่างโดยอาการ ๔ สถาน  คือความรู้จัก ประมาณในอาหารที่จะพึงบริโภค ๑ ความไม่เลินเล่อในการงาน ๑ ความมีสัมปชัญญะ ในการ ประพฤติตัว  ๑ ความไม่ประมาทในธรรม ๑  อันเป็นคุณพิเศษประดับผู้มีศีลให้มีความ ประพฤติดีงามขึ้น

              ข้อเหล่านี้มีพรรณนาโดยพิสดารไปตามลำดับในบทข้างหน้า

เบญจศีล

ปาณาติปาตา  เวรมณี

สิกขาบทที่ ๑

       สิกขาบทนี้   (ปาณาติปาตา  เวรมณี) แปลว่า  เว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง คือเว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิต

       สัตว์  ประสงค์ทั้งมนุษย์และเดียรฉานที่ยังเป็นอยู่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงแก่เฒ่า

       สิกขาบทนี้ บัญญัติขึ้นด้วยหวังจะให้ปลูกเมตตาจิตในสัตว์ทุกจำพวก

       เมื่อเพ่งเมตตาจิตเป็นใหญ่ ดังนั้น จึงไม่ใช่เฉพาะการฆ่าให้ตายเท่านั้นแม้การทำร้าย ร่างกาย และการทรกรรม    ก็ถูกห้ามตามสิกขาบทนี้ด้วย

การฆ่า

      การฆ่า  ได้แก่การทำให้ตาย

      โดยวัตถุ คือผู้ถูกฆ่า มี ๒ อย่าง  คือ  ฆ่ามนุษย์ ๑  ฆ่าเดียรฉาน ๑

      โดยเจตนา  คือความตั้งใจของผู้ฆ่า มี ๒ อย่าง คือ จงใจฆ่า ๑ ไม่จงใจฆ่า ๑

      การฆ่า   สำเร็จด้วยประโยค (ความพยายาม) ๒ อย่าง คือ  ฆ่าเอง ๑  ช้ให้ผู้อื่นฆ่า ๑

      การใช้ให้ผู้อื่นฆ่า  ทั้งผู้ใช้  และผู้รับใช้มีโทษ  (ความผิด) ฐานฆ่า ทั้งฝ่ายศาสนา และฝ่ายอาณาจักร

กรรมหนักหรือกรรมเบา

      การฆ่า จัดเป็นกรรมหนัก  หรือเบา  เพราะวัตถุ  เจตนา  และประโยค

      วัตถุ   คือผู้ถูกฆ่า  การฆ่าผู้บริสุทธิ์ไม่มีความผิดและผู้มีคุณต่อตน  เช่นบิดามารดา หรือผู้มีคุณธรรมต่อสังคม  เช่นพระพุทธเจ้า   เป็นต้น    มีโทษมาก

       เจตนา  คือความตั้งใจของผู้ฆ่า  การฆ่าด้วยอำนาจของกิเลส  เช่นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เชื่อว่า บาปมีจริง  ฆ่าด้วยอำนาจความโลภ  เช่นรับจ้างฆ่าคน  ฆ่าด้วยอำนาจความพยาบาท    เช่น   โกรธพ่อแม่  แล้วฆ่าเด็กไร้เดียงสา  ฆ่าไม่มีเหตุผล  เช่น  โกรธนักเรียนคนหนึ่ง  ต่อมาพบ นักเรียนโรงเรียนนั้นซึ่งเขาไม่รู้เรื่องอะไร  ก็ฆ่าเขา  เป็นต้น  มีโทษมาก

        ประโยค  คือความพยายามในการฆ่า  การทรมานให้ได้รับความเจ็บปวดมาก ๆ  แล้วจึงฆ่าให้ตาย  ที่เรียกว่า  ฆ่าให้ตายทีละน้อย  มีโทษมาก

การทำร้ายร่างกาย

        การทำร้ายร่างกาย  หมายถึง  การทำร้ายผู้อื่นโดยการทำให้พิการ  เสียโฉม หรือเจ็บลำบาก แต่ไม่ถึงแก่ชีวิต

        ทำให้พิการ  คือ ทำให้เสียอวัยวะเป็นเครื่องใช้การ  เช่นทำให้เสียนัยน์ตา เสียแขน  เสียขาเป็นต้น

        ทำให้เสียโฉม  คือ  ทำร่างกายให้เสียรูป  เสียงาม ไม่ถึงพิการ  เช่นใช้มีดหรือไม้กรีด หรือตีที่ใบหน้าให้เป็นแผลเป็น เป็นต้น

        ทำให้เจ็บลำบาก  คือ ทำร้ายไม่ถึงเสียโฉม  เป็นแต่เสียความสำราญ

         การทำร้ายร่างกายทั้งหมดนี้  เป็นอนุโลมปาณาติบาต  ถูกห้ามด้วยสิกขาบทนี้

ทรกรรม

         ข้อนี้  จะกล่าวเฉพาะเดียรฉาน  เพราะมนุษย์ไม่เป็นวัตถุอันใคร ๆ จะพึงทรกรรมได้ทั่วไป

         รกรรม หมายความว่า ประพฤติเหี้ยมโหดแก่สัตว์  ไม่ปราณี ดังจะชี้ตัวอย่างให้เห็น  ตามที่จัดเป็นแผนกดังนี้

         ใช้การ   หมายถึงใช้สัตว์ไม่มีปราณี ปล่อยให้อดอยากซูบผอม  ไม่ให้กิน  ไม่ให้นอน ไม่ให้หยุดพักผ่อนตามกาล ขณะใช้งานก็เฆี่ยนตี ทำร้ายร่างกายโดยไม่มีเมตตาจิต  หรือใช้การเกิน กำลังของสัตว์  เช่นให้เข็นภาระอันหนักเหลือเกิน  เป็นต้น จัดเป็นทรกรรมในการใช้การ

          กักขัง  หมายถึง  กักขังให้อดอยากอิดโรย  หรือผูกรัดไว้จนไม่สามารถจะผลัดเปลี่ยน อิริยาบถได้ จัดเป็นทรกรรมในการกักขัง

          นำไป  พึงเห็นในการผูกมัด  เป็ด  ไก่  สุกร หิ้วหามเอาศีรษะลง  เอาเท้าขึ้น  ผู้ทำเช่นนี้ จัดเป็นทรกรรมในการนำไป

          เล่นสนุก  พึงเห็นในการทึ้งปีก  ทึ้งขาของสัตว์  มีตั๊กแตน  และจิ้งหรีด เป็นต้น  เพื่อความสนุกของตน

          ผจญสัตว์  พึงเห็นในการชนโค  ชนกระบือ  ชนแพะ  ชนแกะ  ตีไก่กัดปลา  กัดจิ้งหรีด  เป็นต้น

          การทรกรรมสัตว์ทุกอย่าง  จัดเป็นอนุโลมปาณาติบาต  ถูกห้ามด้วยสิกขาบทนี้  เช่นกัน

อทินนาทานา  เวรมณี

สิกขาบทที่ ๒

              สิกขาบทนี้  (อทินนาทานา  เวรมณี)  แปลว่า  เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้

              กิริยาที่ถือเอา  หมายความว่า  ถือเอาด้วยอาการเป็นโจร 

              สิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ หมายความว่า สิ่งของที่มีเจ้าของทั้งที่เป็นสวิญญาณกทรัพย์ ทั้งที่เป็น อวิญญาณกทรัพย์อันผู้เป็นเจ้าของไม่ได้ยกให้เป็นสิทธิ์ขาด หรือสิ่งของที่ไม่ใช่ของ   ใคร  (โดยเฉพาะ)    แต่มีผู้รักษาหวงแหน  ได้แก่  สิ่งของที่อุทิศบูชาปูชนียวัตถุในศาสนานั้น ๆ ของกลางในชุมชน  ของสงฆ์และของมหาชนในสโมสรสถานนั้น ๆ

              สิกขาบทนี้ บัญญัติขึ้นด้วยหวังจะให้เลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ    เว้นจากการเบียดกันและกัน     คือไม่เบียดเบียนทรัพย์สินผู้อื่น

              เมื่อเพ่งความประพฤติชอบธรรมในทรัพย์สมบัติของผู้อื่นเป็นใหญ่ดังนั้นจึงไม่ใช่แต่โจรกรรม เท่านั้น  แม้ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม และกิริยาเป็นฉายาโจรกรรมก็ถูกห้ามตามสิกขาบทนี้ด้วย

โจรกรรม

              โจรกรรม  ได้แก่  กิริยาที่ถือเอาสิ่งของที่ไม่มีผู้ให้  ด้วยอาการเป็นโจร  เช่น ปล้นสะดม    ลักขโมย  ตีชิงวิ่งราว  กรรโชค คือใช้อาชญาข่มขู่   และทุจริตคอรัปชั่น  เป็นต้น

ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม

              อนุโลมโจรกรรม ได้แก่  กิริยาที่แสวงหาทรัพย์พัสดุในทางไม่บริสุทธิ์อันไม่ถึงเป็นโจรกรรม   ตัวอย่างเช่น

              สมโจร  ได้แก่กิริยาที่อุดหนุนโจรกรรม  เช่นรับซื้อของโจร  เป็นต้น

              ปอกลอก   ได้แก่กิริยาที่คบคนด้วยอาการไม่ซื่อสัตย์   มุ่งหมายจะเอาแต่ทรัพย์สมบัติของ เขาถ่ายเดียว  เมื่อเขาหมดตัวแล้ว  ก็ทิ้งไป

              รับสินบน   ได้แก่กิริยาที่ถือเอาทรัพย์พัสดุที่เขาให้   เพื่อช่วยทำธุระให้แก่เขาในทางที่ผิด     เช่น   เจ้าหน้าที่รับสินบนจากผู้ร้ายแล้วปล่อยให้พ้นความผิด  เป็นต้น

              ทรัพย์พัสดุที่ได้มาด้วยมิจฉาชีพเช่นนี้ก็เป็นดุจเดียวกันกับของที่ได้มาด้วยโจรกรรมไม่ทำ ความสุขให้เกิดแก่ผู้ได้  กลับเป็นปัจจัยแห่งความเสื่อมของผู้นั้น ให้เสียทรัพย์เสียชื่อเสียง เสีย ยศศักดิ์ผู้รักตัวควรเว้นความหาเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรมนี้เสียแสวงหาทรัพย์พัสดุเลี้ยงตนและคนที่ควร จะเลี้ยงในทางที่ชอบด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง

กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม

              ข้อนี้  ได้แก่กิริยาที่ทำทรัพย์พัสดุของผู้อื่นให้สูญเสีย  และเป็นสินใช้ตกอยู่แก่ตน มีประเภทดังนี้

              ผลาญ  ได้แก่   กิริยาทำอันตรายแก่ทรัพย์พัสดุของผู้อื่น  เช่น  เผาบ้านเผารถยนต์     เผาไร่  เผานา  หรือแกล้งตัดเงินเดือนและค่าจ้าง  เป็นต้น

              หยิบฉวย ได้แก่กิริยาที่ถือเอาทรัพย์พัสดุของผู้อื่นด้วยความง่าย เช่นบุตรหลาน ผู้ประพฤติ เป็นพาล  เอาทรัพย์ของมารดา  บิดา ปู่ย่า  ตายายไปใช้เสีย  ญาติมิตร  เอาทรัพย์ของญาติมิตรไปใช้      โดยมิได้บอกให้เจ้าของรู้    เป็นต้น

              ผู้หวังความสวัสดีแก่ตนพึงเว้นกิริยาที่เป็นฉายาโจรกรรมเช่นนั้นเสียนับถือกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น  ในความเป็นเจ้าของพัสดุ ให้เหมือนตนประสงค์จะให้ผู้อื่นเขานับถือตนฉะนั้น

กรรมหนักหรือกรรมเบา

              เมื่อกล่าวโดยความเป็นกรรม อทินนาทาน  จัดเป็นโทษหนักเป็นชั้นกันโดยวัตถุ เจตนา และประโยค

              โดยวัตถุนั้น ถ้าของที่ทำโจรกรรมมีราคามากทำฉิบหายให้แก่เจ้าของทรัพย์มาก ก็มีโทษมาก

              โดยเจตนานั้น  ถ้าถือเอาด้วยโลภเจตนากล้า  ก็มีโทษมาก

              โดยประโยคนั้น   ถ้าถือเอาด้วยฆ่าหรือทำร้ายเจ้าของทรัพย์  หรือประทุษร้าย  เคหะสถาน และพัสดุของเขา ก็มีโทษหนัก

 

กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี

สิกขาบทที่ ๓

              สิกขาบทนี้  (กาเมสุมิจฉาจารา  เวรมณี )   แปลว่าเว้นจากประพฤติผิดในกามทั้งหลาย

              คำว่า  กาม  ในที่นี้   ได้แก่   กิริยาที่รักใคร่กันในทางประเวณี

                  ข้อนี้ บัญญัติขึ้นด้วยหวังจะป้องกันความแตกร้าวในหมู่มนุษย์  และทำเขาให้ ไว้วางใจกันและกัน

              เมื่อเพ่งความไม่ประพฤติผิดเป็นใหญ่  จึงได้หญิงเป็นวัตถุที่ห้ามของชาย  ๓ จำพวก คือ ภรรยาท่าน ๑ หญิงผู้อยู่ในพิทักษ์รักษา  เช่น หญิงอยู่ในปกครอง ของบิดามารดา หรือญาติทั้งหลายผู้อยู่ในฐานะเช่นนั้น  ๑  หญิงที่จารีตห้าม เช่น แม่ชี หรือที่กฎหมายบ้านเมืองห้าม เป็นต้น  ๑

              หญิง  ๓  จำพวกนี้  จะมีฉันทะร่วมกัน  หรือมิร่วมกันไม่เป็นประมาณชายร่วมสังวาสด้วย  ก็คงเป็นกาเมสุมิจฉาจาร  ชายผู้ข่มขืนหญิงนอกนี้  คงไม่พ้นกาเมสุมิจฉาจาร  เช่นเดียวกัน

              ส่วนชายก็เป็นวัตถุที่ห้ามของหญิงเหมือนกัน  เมื่อยกขึ้นกล่าวก็ได้  ๒  จำพวก  คือ  ชายอื่นจากสามีเป็นวัตถุที่ห้ามของหญิงมีสามี ชายที่จาริตห้ามเช่นนักบวช นักพรต เป็นต้น เป็นวัตถุที่ห้ามของหญิงทั้งปวง

มุสาวาทา  เวรมณี

สิกขาบทที่  ๔

              สิกขาบทนี้  (มุสาวาทา  เวรมณีแปลว่า เว้นจากมุสาวาท  

ความเท็จได้ชื่อว่า  มุสา

                  กิริยาที่พูดหรือแสดงอาการมุสา  ได้ชื่อว่ามุสาวาทในที่นี้

              ข้อนี้ บัญญัติขึ้นด้วยหวังจะห้ามความตัดประโยชน์ทางวาจา  เพราะคนทั้งหลายย่อมชอบ และนับถือ ความจริงด้วยกันทุกคน   ผู้พูดมุสาแก่คนอื่นจึงเป็นการตัดประโยชน์ท่าน จัดว่าเป็นบาป

              เมื่อเพ่งความจริงเป็นใหญ่  ดังนั้น  จึงมิใช่แต่มุสาเท่านั้น  แม้อนุโลมมุสาและปฎิสสวะ  ก็ถูกห้ามตามสิกขาบทนี้ด้วย

มุสา

              ข้อนี้พึงกำหนดรู้ด้วยลักษณะอย่างนี้ วัตถุ  (เรื่อง)  ที่จะกล่าวนั้นไม่เป็นจริง  ผู้กล่าวจงใจ กล่าว  และกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง  เพื่อผู้ฟังเข้าใจผิด

              การแสดงความเท็จ เพื่อผู้อื่นเข้าใจผิดนั้น ไม่เฉพาะด้วยวาจาอย่างเดียว แม้การเขียน หนังสือ   การใช้มือให้สัญญาณ   การสั่นศีรษะ  เป็นต้น  ก็จัดเป็นมุสาวาทได้

                  มุสานั้น  มีประเภทที่จะพึงพรรณนาให้เห็นเป็นตัวอย่าง  ดังนี้

                  ปด  ได้แก่มุสาจัง ๆ  ไม่อาศัยมูลเลย   เช่นเห็นแล้วบอกว่าไม่เห็นเป็นต้น เรียกชื่อต่างกัน ตามความมุ่งหมายของผู้พูด  เช่นเพื่อยุให้เขาแตกกัน   เรียกว่าส่อเสียด  เพื่อจะโกงท่านเรียกว่าหลอก  เพื่อจะยกย่อง   เรียกว่ายอ   พูดไว้แล้วไม่รับคำ เรียกว่า   กลับคำ  เป็นตัวอย่าง

              ทนสาบาน  ได้แก่ กิริยาที่เสี่ยงสัตย์ว่าจะพูด  หรือจะทำตามคำสาบานแต่ไม่ ได้ตั้งใจจริงดังนั้น  เช่นพยานทนสาบานแล้วเบิกคำเท็จ  เป็นตัวอย่าง

              ทำเล่ห์กระเท่ห์   ได้แก่ กิริยาที่อวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์   อันไม่เป็นจริง  เช่น  อวดรู้วิชาคงกระพันว่าฟันไม่เข้า   ยิงไม่ออก  เป็นต้น  เพื่อให้คนหลงเชื่อถือ  และพากันนิยมในตัว  เป็นอุบายหาลาภ

              มารยา  ได้แก่กิริยาที่แสดงอาการให้เขาเห็นผิดจากที่เป็นจริง   เช่นเป็นคนทุศีลทำท่า ทางให้เขาเห็นว่า เป็นคนมีศีล

              ทำเลศ  ได้แก่พูดเล่นสำนวน  เช่นเดินไปพบคนหนึ่งสวนทางมา  แล้วเดินเลยไป จากที่พบนั้น   สมมติว่า  ๒๐  วา  มีคนมาถามว่า  เห็นคนหนึ่งสวนทางไปไหม   ตอบว่า  ข้าพเจ้าเดิน มาตรงนี้ไม่เห็นใครเลยนอกจากผู้ถาม

              เสริมความ   ได้แก่พูดมุสาอาศัยมูลเดิม แต่เสริมให้มากกว่าที่เป็นจริง   เช่น  โฆษณา เครื่องดื่ม หรืออาหารเสริมบางอย่างว่า  เป็นยาชูกำลัง  หรือรักษาโรคมะเร็งได้ เป็นตัวอย่าง

              อำความ  ได้แก่พูดมุสาอาศัยมูลเดิม แต่ตัดข้อความที่ไม่ประสงค์จะให้รู้ออกเสียเพื่อทำ ความเข้าใจให้เป็นอย่างอื่น เช่น นักเรียนกลับจากโรงเรียนแล้วไปบ้านเพื่อน ผู้นิสัยเหมือนกันแล้วพา กันไปเที่ยวแหล่งอบายมุข  กลับบ้านผิดเวลา  บิดา มารดาถามว่า เหตุไฉนจึงกลับบ้านเช้า      เขาตอบ ว่าไปบ้านเพื่อน  เป็นตัวอย่าง

กรรมหนักหรือกรรมเบา

              เมื่อกล่าวโดยความเป็นกรรม มุสาวาท จัดว่ามีโทษหนักเป็นชั้นกันโดยวัตถุ เจตนา      และประโยค

              โดยวัตถุ  ได้แก่กล่าวมุสาแก่ท่านผู้มีคุณแก่ตน  คือ  พ่อ  แม่  ครู  เจ้านาย  และผู้มีคุณต่อส่วนรวม  คือ  ผู้มีศีลธรรมมีโทษหนัก

              โดยเจตนา  คือ  ถ้าผู้พูดคิดให้ร้ายแก่ท่าน  เช่น  ทนสาบานเบิกความเท็จ  กล่าวใส่ ความท่าน  หลอกลวงเอาทรัพย์ท่าน  เป็นต้น มีโทษหนัก

              โดยประโยค  คือ  ถ้าผู้พูดพยายามสร้างเรื่องเท็จ  เช่น มุสาว่าจะสร้างวัด แล้วพิมพ์ ใบฎีกาเรี่ยไร  อ้างสถาบัน  อ้างองค์กรการกุศลต่าง ๆ มาหลอกลวงทรัพย์ สินเงินทอง ชาว บ้านมีโทษหนัก

อนุโลมมุสา

              ข้อนี้พึงกำหนดรู้ด้วยลักษณะอย่างนี้  วัตถุ (เรื่อง)  ที่จะกล่าวนั้น ไม่เป็นจริง  แต่ผู้กล่าวไม่จงใจจะกล่าวให้ผู้ฟังเข้าใจผิด   มีประเภทที่จะพึงพรรณนาให้เห็นเป็นตัวอย่าง  ดังนี้

              เสียดแทง   ได้แก่กิริยาที่ว่าผู้อื่นให้เจ็บใจ  ด้วยอ้างวัตถุที่ไม่เป็นจริง  กล่าวยกให้สูงกว่า พื้นเพของเขา  เรียกว่า ประชด  หรือกล่าวทำให้เป็นคนเลวกว่าพื้นเพของเขา  เรียกว่าด่า

              สับปลับ  ได้แก่พูดปดด้วยความคะนองวาจา  แต่ผู้พูดไม่ได้จงใจจะให้เขา เข้าใจผิด    เช่นรับปาก  หรือปฏิเสธใครง่าย ๆ  แล้วไม่ปฏิบัติตามที่รับหรือปฏิเสธนั้น

ปฏิสสวะ

              ปฏิสสวะ  คือ  เดิมรับท่านด้วยเจตนาบริสุทธิ์  คิดจะทำตามรับไว้จริง แต่ภายหลังหาทำ อย่างนั้นไม่  พึงเห็นตัวอย่างดังนี้

              ผิดสัญญา  ได้แก่ทั้งสองฝ่ายทำสัญญาแก่กันไว้ว่า  จะทำเช่นนั้น ๆ  แต่ภายหลังฝ่าย ใดฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามข้อที่สัญญาไว้

              เสียสัตย์  ได้แก่ให้สัตย์แก่ท่านฝ่ายเดียว  ว่าจะทำหรือไม่ทำเช่นนั้น  แต่ภายหลังไม่ทำ ตามนั้น  เช่นให้สัตย์ว่าจะเลิกค้ายาบ้า  แต่พอได้โอกาสก็ค้าอีกเป็นต้น

              คืนคำ ได้แก่รับปากท่านว่าจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้  แต่ไม่ทำตามพูด  เช่นรับปากจะให้สิ่งนั้น  ๆ  แก่ท่านแล้วหาให้ไม่

สุราเมรยมัชชปมาทัฎฐานา     เวรมณี

สิกขาบทคำรบ  ๕

              สิกขาบทนี้  (สุราเมรยมัชชปมาทัฎฐานา  เวรมณี)  แปลว่าเว้นจากดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย  อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

โทษของสุราและสิ่งมึนเมา

              สุราทำ   ให้เกิดความเมา

              ความเมา ทำให้ขาดสติ

              ความขาดสติ  ทำให้หลงผิด

              ความหลงผิด  เป็นเหตุให้พูดผิดและทำผิด

              ผู้พูดผิด  ทำผิด ทุคติเป็นอันหวังได้

              เพราะฉะนั้น  สุราและสิ่งมึนเมาทุกชนิด จึงไม่ควรดื่ม และไม่ควรเสพ

              แต่นักดื่ม  และนักเสพสิ่งเสพติดทั้งหลายมักจะเห็นผิดเป็นชอบ  มองเห็นสิ่งที่มีโทษ ว่ามีคุณ  มองสุราว่าทำให้ลืมความทุกข์ได้  จึงตั้งชื่อว่า  บรมสร่างทุกข์  มองฝิ่นว่าเสพแล้ว ทำให้เป็นคนอารมณ์เยือกเย็น  ไม่อาทรร้อนใจอะไร  จึงตั้งชื่อให้ว่า สุขไสยาศน์  มองกัญชาว่า  สูบแล้วทำให้จิตไร้วิตกกังวล  นอนหลับได้สนิท  จึงตั้งชื่อให้ว่า  เทวราชบรรทม  แต่ความจริง ไม่ได้เป็นเช่นนั้น  การที่เขาลืมความทุกข์ก็ดี การที่เขานอนอย่างมีความสุขก็ดี  การที่จิตใจของเขา ไร้ความวิตกกังวลกับสิ่งต่าง ๆ  ก็ดี  ล้วนเป็นผลมาจากการเมาสุราและยาจนขาดสติสัมปชัญญะ   ที่จะรู้สึกถึงความผิดชอบชั่วดีทั้งสิ้น เมื่อฤทธิ์สุราและยาหมดไปจิตใจก็กลับทุกข์อย่างเดิมต้องเสียทรัพย์ ไปซื้อหาสิ่งเหล่านั้นมาเสพอีก  ทั้งทำให้เป็นคนเกียจคร้าน  ไม่ประกอบอาชีพการงานมีแต่ล้าง ผลาญทรัพย์อย่างเดียว

              ดังนั้น   ที่ถูกสุราควรตั้งชื่อว่า  บรมสร้างทุกข์   ฝิ่นควรตั้งชื่อว่าสุขพินาศ  กัญชาควร ตั้งชื่อว่า  ปีศาจน์บรรทม  รวมสุราและยาเสพติดทุกอย่างควรตั้งชื่อว่า  บรมล้างผลาญ  เพราะผลาญ ทรัพย์สิน  เงินทอง เกียรติยศชื่อเสียง และคุณงามความดี  จนหมดสิ้น   เพราะฉะนั้น  สุราและสิ่งเสพ ติดทั้งหลายจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรดื่ม   ไม่ควรเสพ  หรือแม้แต่เพียงจะทดลอง

วิรัติคือความละเว้น

              บุคคลผู้เว้นจากข้อห้ามในสิกขาบท ๕ ประการนั้น ได้ชื่อว่า ผู้มีศีล กิริยาที่เว้นเรียกว่าวิรัตินั้นมี ๓ ประเภท  คือ  ๑. สัมปัตตวิรัติ  ๒. สมาทานวิรัติ  ๓. สมุจเฉทวิรัติ 

              ๑.  สัมปัตตวิรัติ แปลว่า  ความละเว้นจากวัตถุอันถึงเข้า  โดยไม่ได้ตั้งสัตย์ ปฏิญาณไว้ล่วงหน้า แต่บุคคลนั้นพิจารณาเห็นการที่ทำดังนั้นไม่สมควรแก่ตนโดยชาติตระกูล  ยศศักดิ์ ทรัพย์ บริวาร   ความรู้  หรือมีใจเมตตาปรานี  คิดถึงเราบ้าง  เขาบ้าง  มีหิริ  คือความละอายแก่ใจ  มี โอตตัปปะ      คือ ความเกรงกลัวจะได้บาป หรือคิดเห็นประโยชน์ในการเว้นอย่างอื่น ๆ อีก และเขาไม่  กระทำกรรมเห็นปานนั้น

              ส่วนบุคคลผู้ไม่มีโอกาสจะทำ  เช่น คนหัวขโมยยังไม่ได้ท่วงที  ยังลักของเขาไม่ได้  จึงเว้นไว้ก่อน  ดังนี้  ไม่จัดว่าเป็นวิรัติเลย

              .   สมาทานวิวัติ  แปลว่า   ความละเว้นด้วยการสมาทาน  ได้แก่ความละเว้นขอ งพวกคนจำศีล  เช่น  ภิกษุ  สามเณร   อุบาสก  และอุบาสิกา  เป็นต้น

              การงดเว้นจากวัตถุอันถึงเข้า   ด้วยเห็นว่า   ไม่สมควรจะทำ   และการงดเว้นด้วย

การสมาทาน  คือ  การไม่ล่วงข้อห้ามของนักบวช   นักพรตทั้งหลาย  นอกจากจะจัดเป็นวัติแล้ว  ยังจัดเป็นพรต  คือ  ข้อควรประพฤติของเขาด้วย

              ๓.    สมุจเฉทวิรัติ  แปลว่า   ความละเว้นด้วยตัดขาด  ได้แก่  ความเว้นของพระอริยเจ้า  ผู้มีปกติไม่ประพฤติล่วงข้อห้ามเหล่านั้นจำเดิมแต่ท่านได้เป็นพระอริยเจ้า

              ศีล  ๕   ประการนี้  เป็นวินัยในพระพุทธศาสนา  สาธารณะแก่บรรพชิต  และคฤหัสถ์

ทั้งสองฝ่าย  ผู้ถือพระพุทธศาสนาแท้จริง ย่อมรักษายิ่งบ้าง  หย่อนบ้าง  ตามภูมิของเขา  ฝ่ายผู้ไม่ได้รักษาเสียเลย   จะเป็นได้ดีที่สุดก็แต่เพียงผู้สรรเสริญพระพุทธศาสนาเท่านั้น

เบญจกัลยาณธรรม

              ผู้เว้นจากข้อห้ามทั้ง  ๕  ดังกล่าวมา  ได้ชื่อว่า  เป็นผู้มีศีล  ผู้มีศีลย่อมไม่ทำ หรือพูดอะไรที่สร้างความทุกข์  ความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง  และผู้อื่น  แต่จะได้ชื่อว่ามีกัลยาณธรรม ทั่วทุกคน      หามิได้  ต่างว่าคนมีศีลผู้หนึ่ง  พบคนเรือล่มว่ายน้ำอยู่เขาสามารถจะช่วยได้  แต่หามี จิตกรุณาช่วยเหลือไม่ และคนนั้นไม่ได้ความช่วยเหลือจึงจมน้ำตายเช่นนี้ศีลของเขาไม่ขาดแต่ปราศจาก กรุณายังเป็นที่น่าติเตียน   เพราะส่วนนั้น  จะจัดว่าเขามีกัลยาณธรรมไม่ได้

              ถ้าเขาเห็นดังนั้นแล้ว  มีกรุณาเตือนใจ  หยุดช่วยคนนั้นให้พ้นอันตรายเช่นนี้  จึงได้ชื่อว่า  มีทั้งศีล  มีทั้งกัลยาณธรรม

              กัลยาณธรรมนั้น  แปลว่า  ธรรมอันงาม  กล่าวโดยความก็คือ  ข้อปฏิบัติพิเศษยิ่งขึ้นไปกว่าศีล ได้ในสิกขาบทนั้น ๆ เอง

              ในสิกขาบทที่ ๑ ได้กัลยาณธรรม  คือ  เมตตากับกรุณา

              ในสิกขาบทที่ ๒ ได้กัลยาณธรรม  คือ  สัมมาอาชีวะ

              ในสิกขาบทที่ ๓ ได้กัลยาณธรรม  คือ  ความสำรวมในกาม

              ในสิกขาบทที่ ๔ ได้กัลยาณธรรม  คือ  ความมีสัตย์

              ในสิกขาบทที่ ๕ ได้กัลยาณธรรม  คือ  ความมีสติรอบคอบ

กัลยาณธรรมในสิกขาบทที่ต้น

              เมตตา ได้แก่  ความคิดปรารถนาจะให้เขานั้นเป็นสุข   ตนได้สุขสำราญแล้ว  ก็อยากให้ผู้อื่นได้บ้าง  คุณข้อนี้เป็นเหตุให้สัตว์คิดเกื้อกูลกันและกัน

              วัด  โรงเรียน  โรงพยาบาล   โรงเลี้ยงเด็ก   สถานสงเคราะห์ต่าง ๆ มูลนิธิการกุศลต่าง ๆ  เป็นต้น  ล้วนเกิดมาจากความคิดเผื่อแผ่ความสุขให้แก่ผู้อื่นทั้งสิ้น จึงได้บริจาคทรัพย์ของตนสร้าง       ปฏิสังขรณ์หรือทำนุบำรุง  สถานที่นั้น ๆ  สำหรับผู้อื่นได้รับประโยชน์บ้าง

              ผู้ใด  ถึงเวลาที่ผู้อื่นควรจะได้เมตตาจากตัว อาจอยู่และหาเหตุขัดข้องมิได้ แต่หาแสดงไม่  เช่นมีลูกแล้วยังไม่เอาเป็นธุระเลี้ยงดูรักษา พบคนขัดสนอดข้าวไม่มีจะบริโภคมาถึงเฉพาะหน้าและตนอาจอยู่  แต่หาให้ไม่  ผู้นั้นได้ชื่อว่าคนใจจืด เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัวมีหนี้ของโลกติดตัวอยู่เพราะได้รับอุปการะของโลกมาก่อนแล้ว เมื่อถึงเวลาเข้าบ้างไม่ตอบแทน

              กรุณา  ได้แก่  ความคิดปรารถนาจะให้เขาปราศจากทุกข์   เมื่อเห็นทุกข์เกิดแก่ผู้อื่น       ก็พลอยหวั่นใจไปด้วย   คุณข้อนี้เป็นเหตุให้สัตว์คิดช่วยทุกข์ภัยของกันและกัน

              การแสดงกรุณานี้  เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนควรกระทำ  เพราะตนเองก็เคยได้รับกรุณา แต่ท่านผู้อื่นมาแล้ว  เป็นต้นว่า   เมื่อยังเล็กมารดาบิดา  หรือท่านผู้อื่นผู้บำรุงเลี้ยงก็คอยป้องกัน อันตรายต่าง ๆ  ที่จะพึงมีมา  เช่น  เจ็บไข้ก็ขวนขวายหาหมอรักษา เป็นต้น  และตนเองก็ยัง หวังกรุณาดังนั้นของท่านผู้อื่นต่อไปข้างหน้าอีก  เมื่อถึงเวลาที่จะต้องแสดงกรุณาแก่  ผู้อื่นเช่นนั้นบ้าง   จึงควรทำ

              ผู้ใดอาจอยู่แต่หาแสดงไม่เช่นเห็นคนเรือล่มที่น่ากลัวจะเป็นอันตรายถึงชีวิต และไม่ช่วยดัง แสดงมา แล้วในหนหลังหรือพบคนเจ็บไข้ตามหนทางไม่มีใครอุปถัมภ์ผ่าน ไปด้วยไม่สมเพช และไม่ขวนขวายอย่างหนึ่งอย่างใด ผู้นั้นได้ชื่อว่าคนใจดำ มีแต่เอาเปรียบโลกมีแต่หวังอุปการะของโลก ข้างเดียว  เมื่อถึงเวลาเขาบ้าง   เฉยเสียไม่ตอบแทน

              การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การไถ่ชีวิตสัตว์จากโรงฆ่าสัตว์  การปล่อยนกปล่อยปลาเป็นต้น   ล้วนเกิดจากจิตใจที่มีความกรุณาทั้งสิ้น

              ความมีเมตตากรุณาแก่กันและกันเป็นธรรมอันงามก็จริงถึงอย่างนั้น ผู้จะแสดงควรเป็นคน ฉลาดในอุบายประโยชน์จึงจะสำเร็จ  ถ้าไม่ฉลาดมุ่งแต่จะเมตตากรุณาอย่างเดียว   บางอย่างก็เกิด โทษได้  เช่นเห็นเขาจับผู้ร้ายมาคิดแต่จะให้ผู้ร้ายรอดจากอาญาแผ่นดิน  และเข้าแย่งชิงให้หลุด ไปดังนี้  เป็นการเมตตากรุณาที่ผิด  และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกด้วย  จึงเป็นกิจที่ไม่สมควรทำ  ในสถานการณ์เช่นนี้  ควรตั้งอยู่ในอุเบกขา   ถือเสียว่า  เขามีกรรมเป็นของเขา

              การแสดงเมตตากรุณานี้บุคคลประกอบให้ถูกที่แล้ว   ย่อมอำนวยผลอันดีให้แก่ผู้ประกอบ และผู้ได้รับ  ทำความปฏิบัติของผู้มีศีลให้งามขึ้น   เหมือนดังเรือนแหวน ประดับหัวแหวนให้งามขึ้น  ฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า  เป็นกัลยาณธรรม  ในสิกขาบทที่ต้น

กัลยาณธรรมในสิกขาบทที่  ๒

              สัมมาอาชีวะ ได้แก่ความเพียรเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบคุณข้อนี้  อุดหนุนผู้มีศีลให้สามารถ รักษาศีลให้มั่นคงแท้จริงผู้มีศีลแม้เว้นการหาเลี้ยงชีวิตโดยอุบายที่ผิดแล้ว   ก็ยังต้องประกอบด้วยกิริยา  ที่ประพฤติเป็นธรรม    ในการหาเลี้ยงชีวิตด้วย                        

              กิริยาที่ประพฤติเป็นธรรมในการหาเลี้ยงชีวิตนี้  พึงเห็นในกิจการในบุคคล  และในวัตถุ ดังจะพรรณนาไปตามลำดับ

              ความประพฤติเป็นธรรมในกิจการนั้น  เช่นผู้ใด  เป็นลูกจ้างก็ดี  หรือได้รับผลประโยชน์ เพราะทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี   ผู้นั้นย่อมทำการอันเป็นหน้าที่ของตนนั้น  ด้วยความอุตสาหะ เอาใจใส่และด้วยความตั้งใจจะให้การนั้นสำเร็จด้วยดี   และการทำเต็มเวลาที่กำหนดไว้สำหรับทำการ    มาเช้าก่อนกำหนดเลิกทีหลังกำหนด  และในกำหนดที่ทำก็ไม่บิดพลิ้ว หลีกเลี่ยงจากการงาน     ดังนี้ได้ ชื่อว่า ประพฤติเป็นธรรมในกิจการ

              ความประพฤติเป็นธรรมในบุคคลนั้นเช่นบุคคลได้เป็นผู้ดูการ มีผู้อื่นเป็นลูกมืออยู่ใต้บังคับ  ผู้นั้น  เมื่อจับจ่ายค่าจ้าง  ย่อมให้ตามสัญญา  หรือตามแรงของเขา   อีกอย่างหนึ่ง   เช่นผู้ขายของ  เมื่อซื้อสินค้าแล้ว  กำหนดว่าจะเอากำไรร้อยละเท่าไรแล้ว  และกำหนดราคาสิ่งของลงไว้ผู้ใด   ผู้หนึ่งมาซื้อ  เป็นผู้มีบรรดาศักดิ์สูงก็ตามเป็นคนสามัญก็ตาม  ก็ขายเท่าราคานั้นยั่งยืนเสมอไป ไม่ประพฤติเป็นคนเห็นแก่ได้  เช่นเห็นคนเซอะซะมา ไม่รู้ราคาสิ่งของก็บอกผ่านราคาแพง ๆ ถ้าเห็นคนซื้อมีไหวพริบก็ขายตามตรง  ดังนี้ได้ชื่อว่า ประพฤติเป็นธรรมในบุคคล

              ความประพฤติเป็นธรรมในวัตถุนั้น   เช่นคนขายของ  ขายสิ่งอะไร  เช่น นม  เนย น้ำผึ้ง  ขี้ผึ้ง  เป็นต้น  เป็นของแท้หรือของปน  ก็บอกตามตรงไม่ขายของปนอย่างของแท้  การขายของปลอม      เช่นนี้ไม่เป็นเพียงลวงให้ผู้ซื้อเสียทรัพย์เต็มราคายังหักประโยชน์ของผู้ซื้อให้เสียด้วย เช่นจะต้องการน้ำผึ้ งแท้ไปทำยา  ได้น้ำผึ้งปนมาทรัพย์ก็ต้องเสียเท่าราคาน้ำผึ้งแท้  และน้ำผึ้งปนนั้น  ก็เป็นกระสายยาไม่ดี มิเหมือนน้ำผึ้งแท้

              อนึ่ง  ของกินที่ล่วงเวลาเป็นของเสียแล้ว  จะให้โทษแก่ผู้กิน  ก็ไม่แต่งปลอมเป็นของดีขาย ขายของเช่นนี้ร้ายกว่าข้างต้น  อาจทำให้ผู้กินเสียชีวิตหรือเจ็บไข้ได้ทุกข์  ข้อนี้พึงเห็นตัวอย่างในแกง ที่ค้างคืนบูดแล้วอุ่นขายอีก

              อีกอย่างหนึ่ง  เช่นทำสัญญารับจะสร้างเรือนและมีกำหนดว่า  จะใช้ของชนิดนั้น ๆ  ก็ทำตรงตามสัญญา  ไม่ยักเยื้องไม่ผ่อนใช้ของชั้นที่  ๒ แทนของชั้นที่  ๑  ดังนี้  ชื่อว่า ประพฤติเป็นธรรมในวัตถุ

ควรเว้นการงานอันประกอบด้วยโทษ

              ผู้จะเลือกหาการงานควรเว้นการงานอันประกอบด้วยโทษเสีย แม้เป็นอุบายจะได้ทรัพย์มาก  เหตุทรัพย์ที่เกิดเพราะการงานประกอบด้วยโทษนั้น   ไม่ยังประโยชน์ของทรัพย์ให้สำเร็จเต็มที่

              อีกข้อหนึ่ง  การงานที่ต้องเสีย  เช่น การพนัน  ก็ไม่ควรเลือก  เหตุว่า พลาดท่าก็ฉิบหาย      ถ้าได้   ทรัพย์นั้นก็ไม่ถาวรด้วยเหตุ   ๒   ประการ  (๑)  เป็นของได้มาง่าย  ความเสียดายน้อย      จับจ่ายง่าย  เก็บไม่ค่อยอยู่  (๒)  ความอยากได้ไม่มีที่สุด  ได้มาแล้วก็คงอยากได้อีก  เคยได้ในทางใด      ก็คงหาในทางนั้นอีก  เมื่อลงเล่นการพนันไม่หยุด  จะมีเวลาพลาดท่าลงสักคราวหนึ่งก็เป็นได้

              เหตุดังนั้นควรเลือกหาการงานที่จะต้องออกกำลังกายกำลังความคิดหรือออกทรัพย์ที่ให้ผู้นั้น รู้สึกว่า  ต้องลงทุน  เมื่อได้ทรัพย์มาจะได้รู้จักเสียดาย  ไม่ใช้สอยสุรุ่ยสุร่ายเสีย

 

ควรรักษาทรัพย์ให้พ้นอันตรายและใช้จ่ายพอสมควร

              ทรัพย์ที่ได้มาด้วยความหมั่นทำการงานนั้น จะเจริญมั่งคั่งก็เพราะเจ้าของเอาใจใส่รักษาให้ พ้นอันตรายต่าง ๆ  ที่เกิดแต่เหตุภายในคือตนเอง  หรือบุตร ภรรยา ใช้สอยให้สิ้นเสีย  เพราะเหตุไม่   จำเป็นและเกิดแต่เหตุภายนอกเช่นโจรนำไปเสียหรือไฟผลาญเสียเป็นต้น และเจ้าของควรจับจ่ายใช้สอย แต่พอสมควรไม่ฟูมฟายเกินกว่าที่หาได้  หรือเกินกว่าที่ต้องการ  และไม่เบียดกรอจนถึงกับ   อดอยาก

ขยันทำงานสนับสนุนการรักษาศีล

              ผู้ประกอบการงาน พึงมีอุตสาหะอย่าท้อถอย จงดูเยี่ยงแมลงผึ้งบินหาเกสรดอกไม้  นำมาทีละน้อย ๆ ยังอาจทำน้ำผึ้งไว้เลี้ยงตัว  และลูกน้อยได้ตลอดฤดูหนาวที่กันดารด้วยดอกไม้  เมื่อเขาหมั่นทำการงานได้ทรัพย์มาจับจ่ายเลี้ยงตน และครอบครัวบ้างเก็บไว้เพื่อเหตุการณ์ข้างหน้าบ้าง เสมอไปถึงไม่มากแต่เพียงคราวละน้อย ๆ ก็พอจะทำตนให้เป็นสุขสำราญ และไม่ต้องประกอบการ ทุจริต เพราะความเลี้ยงชีวิตเข้าบีบคั้น  เป็นอันรักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้

              ดังนี้แล สัมมาอาชีวะ เป็นคุณอุดหนุนศีลให้บริสุทธิ์มั่นคง จึงได้ชื่อว่า เป็นกัลยาณธรรมในสิกขาบทที่  ๒

กัลยาณธรรมในสิกขาบทที่  ๓

              ความสำรวมในการนั้นได้แก่กิริยาที่ระมัดระวังไม่ประพฤติมักมากในกามคุณข้อนี้ส่องความ บริสุทธิ์ผ่องใสของชายหญิง ให้กระจ่างแจ่มใส เพราะชายหญิงผู้เว้นจากกาเมสุมิจฉาจารแล้วแต่ยัง ประพฤติมักมากอยู่ในกาม  ย่อมไม่มีสง่าราศรีตกอยู่ในมลทิน ไม่พ้นจากความติฉันไปได้

              ธรรมข้อนี้แยกตามเพศของคน  ดังนี้

              สทารสันโดษ  คือ  ความสันโดษด้วยด้วยภรรยาของตน  เป็นคุณสำหรับประดับชาย

              ปติวัตร  คือ  ประพฤติเป็นไปในสามีของตน   เป็นคุณสำหรับประดับหญิง

              ชายได้ภรรยาแล้วมีความพอใจด้วยภรรยาของตนช่วยกันหาเลี้ยงชีวิตเลี้ยงดูกันไปไม่ละทิ้ง  ไม่ผูกสมัครรักใคร่กับหญิงอื่นอีกต่อไป    ดังนี้  ได้ชื่อว่า สันโดษด้วยภรรยาของตนเป็นอย่างอุกกฤษฏ์

              ฝ่ายหญิง  ได้สามีแล้ว   เอาใจใส่บำเรอสามีของตนทุกอย่างตามที่ภรรยาจะทำให้ดีที่สุด   ผูกสมัครรักใคร่แต่ในสามีของตนที่สุดสามีของตนตายไปก่อนแล้วด้วยอำนาจความรักใคร่นับถือในสามี ผู้ตายไปแล้วเขาคงตัวเป็นหม้ายอยู่ดังนั้นไม่มีสามีใหม่ ไม่ผูกสมัครรักใคร่ในชายอื่นด้วยความ ปฏิพัทธ์อีกต่อไป หญิงผู้นี้  ได้ชื่อว่า มีปติวัตร ประพฤติเป็นไปในสามีของตน

              ความสำรวมในกาม  ส่องความประพฤติดีงามของชายหญิงยิ่งขึ้น  จึงได้ชื่อว่า กัลยาณธรรมในสิกขาบทที่  ๓

 

กัลยาณธรรมในสิกขาบทที่ ๔

              ความมีสัตย์นั้น  ได้แก่กิริยาที่ประพฤติตนเป็นคนตรงมีอาการที่จะพึงเห็นในข้อต่อไปนี้

              ความเที่ยงธรรม  คือประพฤติเป็นธรรมในกิจการอันเป็นหน้าที่ของตน ไม่ทำให้ผิดกิจ  ด้วยอำนาจอคติ ๔ ประการ คือ  ฉันทาคติ  ความเห็นแก่กัน  ๑ โทสาคติ ความเกลียดชังกัน  ๑  โมหาคติ  ความหลงไม่รู้ทัน  ๑  ภยาคติ  ความกลัว  พึงเห็นตัวอย่างผู้พิพากษา ผู้วินิจฉัยอรรถคดีโดยเที่ยงธรรม  เป็นต้น

              ความซื่อตรง คือความประพฤติตรงต่อบุคคลผู้เป็นมิตร  ด้วยการอุปการะเกื้อหนุนร่วม สุขร่วมทุกข์  คอยตักเตือนให้สติ  แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์  มีความรักใคร่กันจริง  ไม่คิดร้ายต่อมิตร  เช่น   ปอกลอกเอาทรัพย์สินเงินทองเป็นต้น  มิตรเช่นนี้ได้ชื่อว่า  ซื่อตรงต่อมิตร

              ความสวามิภักดิ์   คือความรักในเจ้า (เจ้านายผู้ใหญ่) ของตน  เมื่อได้ยอมยก บุคคลใดเป็นเจ้าของตนแล้วก็ประพฤติซื่อสัตย์ไม่คิดคดต่อบุคคลนั้น  มีใจจงรัก  เป็นกำลังในสรรพกิจ      และป้องกันอันตราย   แม้ชีวิตก็ยอมตายแทนได้

              ความกตัญญู  คือ  ความรู้อุปการะที่ท่านได้ทำแล้วแก่ตน   เป็นคู่กับความกตเวที  คือ ความตอบแทนให้ท่านทราบว่า    ตนรู้อุปการะที่ท่านได้ทำแล้ว

                  บุคคลผู้ได้รับอุปการะจากท่านผู้ใดแล้ว  ยกย่องนับถือท่านผู้นั้น   ตั้งไว้ในที่ผู้มีบุญคุณ     เช่น  มารดา   บิดา   อาจารย์   เจ้านายเป็นต้น   ไม่แสดงอาการลบหลู่  และยกตนเทียบเสมอ      ได้ชื่อว่าคนกตัญญู

              ความมีสัตย์  ทำผู้มีศีลให้บริบูรณ์ด้วยคุณสมบัติยิ่งขึ้น  ดังนี้  จึงได้ชื่อว่า เป็นกัลยาณธรรมในสิกขาบทที่  ๔

กัลยาณธรรมสิกขาบทคำรบ  ๕

              ความมีสติรอบคอบนั้น ได้แก่ความมีสติตรวจตราไม่เลินเล่อมีอาการที่จะพึงเห็นในข้อ ต่อไปนี้

              ๑.  ความรู้จักประมาณในอาหารที่จะพึงบริโภค หมายถึง  รู้จักเว้นอาหารที่แสลงโรค บริโภคอาหารแต่พอดี  และรู้จักประมาณในการจับจ่ายหาอาหารบริโภคแต่พอสมควรแก่กำลัง ทรัพย์ที่หาได้

              ๒. ความไม่เลินเล่อในการงาน คือไม่ทอดธุระเพิกเฉยเสีย   เอาใจใส่คอยประกอบให้ชอบ แก่กาลเทศะ  ไม่ปล่อยให้อากูลเสื่อมเสีย  เช่นทำนาก็ต้องทันฤดู  ค้าขายก็ต้องรู้คราวที่คนต้องการ หรือไม่ต้องการของนั้น ๆ  รับราชการก็ต้องเข้าใจวิธีดำเนินและรักษาระเบียบ  เป็นต้น

              ๓.  ความมีสติสัมปชัญญะในการประพฤติตัว  หมายถึงความรอบคอบ  รู้จักระวัง หน้าระวังหลัง   จะประกอบกิจใด ๆ  ก็ตริตรองให้เห็นก่อนว่า  จะมีคุณหรือมีโทษ   จะมีประโยชน์ หรือจะเสียประโยชน์ อันจะควรทำหรือไม่ควรทำ   ถ้าเห็นว่าไม่ควรทำก็งดเสียถ้าเห็นว่าควรทำ  จึงทำ

              ถึงจะพูดอะไรก็ระวังวาจาลั่นออกมาแล้วไม่ต้องคืนคำ  และไม่ให้นำแต่ความเสียหายมา ให้ตัวและผู้อื่นถึงจะคิดอะไรก็อาศัยหลักฐาน  ไม่ปล่อยให้พล่านไปตามกำลังความฟุ้ง

              บุคคลมีสัมปชัญญะ  ตรวจทางได้ทางเสียก่อนแล้วจึงทำกิจนั้น ๆ  เช่นนี้ ย่อมมีปกติทำ อะไรไม่ผิดในกิจที่เป็นวิสัยของคน

              ๔.  ความไม่ประมาทในธรรมะ  หมายถึงไม่ประมาทในธรรม  คือสภาวะ อันเป็นอยู่ตามธรรมดาของโลก  อธิบายว่า กิริยาที่ร่างกายวิปริตแปรผัน  จากหนุ่มสาวมาเป็น ผมหงอก  ฟันหลุดเนื้อหนังหย่อนเป็นเกลียว  ตักกระ  หลังโกง  ตามืด  หูตึง  ใจฟั่นเฟือนหลงใหล  มีกำลังน้อยถอยลง      ชื่อว่าชรา  ความไม่ผาสุกเจ็บไข้ไปต่าง ๆ  ของสังขารร่างกาย   ชื่อว่า  พยาธิ  กิริยาที่ธาตุทั้ง  ๔  ชราพยาธิ    และมรณะทั้ง  ๓ นี้   เป็นสภาวะของสังขารอย่างหนึ่ง  ซึ่งมนุษย์ยังไม่มีอุบายแก้ไขให้ไม่แก่ไม่เจ็บ  ไม่ตาย  ตั้งแต่กาลนานมา  จนถึงปัจจุบันนี้

              ผู้หยั่งรู้ธรรมดาของสังขารเช่นนี้แล้ว  ไม่เลินเล่อมัวเมาในวัย  ในความสำราญ  และในชีวิต      เตรียมตัวที่จะรับทุกข์  ๓  อย่างนี้  อันจะมาถึงเมื่อยังเป็นเด็ก  รีบศึกษาแสวงหาวิชาความรู้ไว้ เป็นเครื่องมือ   เติบใหญ่หมั่นทำการงานสั่งสมเมื่อชรา  พยาธิ  ครอบงำ   ไม่อาจทำการหา เลี้ยงชีพได้     ก็จะได้อาศัยทรัพย์และชื่อเสียงคุณความดี ที่ได้สั่งสมไว้เลี้ยงชีพให้ตลอดไปโดย ผาสุข

              เมื่อมรณะมาถึง ก็จะได้ไม่ห่วงใยพะวักพะวน  สิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ซึ่งเป็นอาการของคนหลงตาย เช่นนี้ได้ชื่อว่า  ไม่ประมาทในธรรม  คือสภาวะอันเป็นอยู่ตามธรรมดาของโลก

              อีกประการหนึ่ง   ทุจริต  คือ  ความประพฤติชั่วด้วย  กาย  วาจา   และใจ  ย่อมให้   ผลแก่ผู้กระทำ ล้วนแต่เป็นส่วนที่ไม่น่าปรารถนารักใคร่พึงใจใคร ๆ จะเลินเล่อเสียว่าตนทำแต่เล็ก น้อย ไม่เป็นไร  ไม่พอจะให้ผลทำให้ตนเสีย   ดังนั้นไม่ชอบมากมาแต่ไหนก็มาแต่น้อยก่อนเขาทำที ละน้อย ย่ามใจเข้า  ความชั่วก็สะสมมากขึ้น

              อีกอย่างหนึ่ง  สุจริต  คือ  ความประพฤติชอบด้วยกาย   วาจา  ใจ ย่อมให้ผลแก่ผู้ทำ      ล้วนแต่ส่วนที่น่าให้ปรารถนา   รักใคร่   พึงใจ  ใคร ๆ จะเห็นว่า ทำแต่เพียงเล็กน้อย  ที่ไหนจะให้ผล       ดังนี้แล้ว   จะท้อถอยและทอดธุระเสีย   ไม่สมควร   แต่หมั่นทำบ่อย ๆ เข้า   ความดีก็ สะสมมากขึ้น         น้ำฝนที่ตกทีละหยาด ๆ ยังเต็มภาชนะที่รองได้  ควรถือเป็นเยี่ยงอย่าง   ผู้ไม่วางธุระ   คอยระวังตัว         ไม่ให้เกลือกกลั้วด้วยทุจริตหมั่นสั่งสมสุจริต เช่นนี้ก็ได้ชื่อว่า  ไม่ประมาทในธรรมที่เป็น กุศลและอกุศล

              อีกประการหนึ่ง  คนทั้งหลายผู้เกิดมาได้ชื่อว่าที่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ ก็เป็นธรรมดา ที่จะได้พบเห็นสิ่งต่าง ๆ  เป็นที่น่าปรารถนาบ้าง ไม่ปรารถนาบ้าง  เรียกว่า  โลกธรรม  แปลว่า      ธรรมสำหรับโลก  ส่วนที่น่าปรารถนา  คือ  ได้ลาภ   ได้ยศ ได้ความสรรเสริญ   ได้สุข  ส่วนที่ไม่น่าปรารถนา  คือ  ขาดลาภ  ขาดยศ  ได้นินทา  ได้ทุกข์  เปรียบเหมือนคนเดินทางไปไหน ๆ  ก็ย่อมจะได้พบสิ่งต่าง ๆ  ในระหว่างทางที่น่าดูน่าชมบ้าง  ไม่น่าดูไม่น่าชมบ้าง

              โลกธรรมนี้เป็นสิ่งที่จะพึงประสบชั่วเวลาไม่ควรจะเก็บเอามาเป็นทุกข์เป็นเหตุทะเยอทะยาน หรือซบเซาด้วยอำนาจความยินดียินร้ายให้เกินกว่าที่ควรจะเป็น เช่น  แสดงอาการด้วยกายหรือวาจา ให้ปรากฏ   เมื่อทำเช่นนั้นไปก็แสดงความมีใจอ่อนแอของตนเองหาสมควรไม่

              ผู้ไม่เลินเล่อคอยระวังไม่ให้โลกธรรมครอบงำใจ จนถึงแสดงวิการให้ปรากฏ  เช่นนี้ได้ชื่อว่า ไม่ประมาทในธรรมที่มีสำหรับโลก ความมีสติรอบคอบประดับผู้มีศีล ให้มีความประพฤติดีงามขึ้น จึงได้ชื่อว่า  เป็นกัลยาณธรรมในสิกขาบทคำรบ  ๕

              คนผู้ตั้งอยู่ในกัลยาณธรรม ได้ชื่อว่า กัลยาณชน  คือคนมีความประพฤติดีงาม  ควรเป็นที่นิยมนับถือ   และเป็นเยี่ยงอย่างของคนทั้งปวง

 

พุทธประวัติ 

บทนำ

              วิชาพุทธประวัติ  เป็นวิชาว่าด้วยประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดา แห่งเราทั้งหลาย   จึงควรที่เราทั้งหลายในฐานะเป็นพุทธศาสนิกชนต้องศึกษา    ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้ทราบ ถึงวงศ์ตระกูล  การศึกษาฐานะทางสังคมของพระศาสดาก่อนที่จะทรงผนวชแล้วยังจะได้พิสูจน์ความจริงเกี่ยว กับพระศาสดาอย่างน้อย  ๔  ประการ     คือ

              ๑.   สัมมาสัมพุทธปฏิญญา   ได้แก่การที่ทรงปฏิญญาว่าเป็นพระพุทธเจ้าเราจะได้ศึกษาว่า     ธรรมที่ทรงตรัสรู้นั้น  มีศาสดาอื่นเขาสอนกันมาก่อนแล้วหรือไม่

              ๒.  ขีณาสวปฏิญญา  ได้แก่  ที่ทรงปฏิญญาว่า  พระองค์เป็นขีณาสพ  คือ  หมดกิเลสนั้น        เราจะได้ศึกษาดูพระจริยาวัตรที่ทรงปฏิบัติมา ๔๕  พรรษา  หลังจากทรงตรัสรู้แล้วว่ามีตรงไหนบ้างที่แสดงว่า  พระองค์ยังมีกิเลสอยู่   

               ๓ อันตรายิกธรรมวาทะ  ได้แก่  การที่พระองค์ทรงสอนว่า  ธรรมเหล่าใดเป็นอันตรายแก่ บุคคลผู้ประพฤติ  เราศึกษาดูธรรมเหล่านั้นแล้ว  จะได้ทราบว่า  เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

               ๔. นิยานิกธรรมเทศนา   ได้แก่  การที่พระองค์ทรงแสดงธรรมใดว่าทำ ให้ผู้ปฏิบัติตาม พ้นจาก ความทุกข์  เราจะได้ศึกษาดูว่า  ธรรมเหล่านั้นช่วยให้ผู้ปฏิบัติตามพ้นทุกข์ได้จริงหรือไม่

              การศึกษาวิชาพุทธประวัติด้วยความเคารพ  และความสนใจใฝ่รู้  ย่อมนำไปสู่เป้าหมายอันสำคัญ ที่สุดของพุทธศาสนิกชน  คือ  ตถาคตโพธิศรัทธา ความเชื่อมั่นในความตรัสรู้ของพระตถาคต   ซึ่งผู้มีศรัทธา นี้แล้ว   ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชีวิตอย่างยิ่งใหญ่ไพศาล

 
พุทธประวัติ

ปุริมกาล

ปริจเฉทที่  ๑

ชมพูทวีปและประชาชน

              ชมพูทวีป  คือ  ประเทศอินเดีย  ปัจจุบันนี้ได้แก่ อินเดีย  ปากีสถาน  เนปาล บังคลาเทศ

              ประชาชนในชมพูทวีป  มี  ๒  พวก  คือ  ๑.  พวกเจ้าของถิ่นเดิม    เรียกว่า  มิลักขะ  ๒.  พวกที่ยกมาจากแผ่นดินข้างเหนือ  เรียกว่า  อริยกะ

              ชมพูทวีปแบ่งเป็น  ๒  จังหวัด  คือ  ๑.  ร่วมใน  เรียกว่า  มัชฌิมชนบท  ๒.  ภายนอก  เรียกว่า  ปัจจันตชนบท

              มูลเหตุแห่งการแบ่งเช่นนี้  สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ทรงสันนิษฐานว่า  พวกอริยะ คงเรียกชนบทที่ตนเข้าตั้ง  และเป็นใจกลางแห่งการปกครองว่า  มัชฌิมชนบท  เรียกชนบท ที่พวกมิลักขะตั้งอยู่ภายนอกเขตของตนว่า  ปัจจันตชนบท

              ชมพูทวีปตามบาลีอุโบสถสูตร  ในติกนิบาทอังคุตตรนิกาย   ระบุว่า  มี  ๑๖  แคว้น  คือ   อังคะ   มคธะ   กาสี   โกสละ   วัชชี   มัลละ   เจตี   วังสะ   กุรุ   ปัญจาละ   มัจฉะ   สุรเสน    อัสสกะ   อวันตี คันธาระกัมโพชะ  และในบาลีอื่นที่ไม่ซ้ำอีก  ๕  คือ  สักกะ โกลิยะ   ภัคคะ  วิเทหะ  อังคุตตราปะ

              คนในชมพูทวีป  แบ่งเป็น  ๔  พวก  เรียกว่า  วรรณะ  คือ

              ๑.   กษัตริย์  พวกเจ้า  มีธุระทางรักษาบ้านเมือง

              ๒.   พราหมณ์  พวกเล่าเรียนมีธุระทางฝึกสอนและทำพิธี

              ๓.   แพศย์  พวกพลเรือน  มีธุระทางทำนา  ค้าขาย

              ๔.    ศูทร  พวกคนงาน  มีธุระรับจ้างทำการ  ทำของ 

              และยังมีคนนอกจาก ๔ พวกนี้อีก  เรียกว่า จัณฑาล  อันเกิดมาจากบิดาและมารดา ที่ต่างวรรณะกัน  เป็นที่ดูหมิ่นของคนมีชาติสกุลเป็นอย่างยิ่ง

การศึกษาของวรรณะ  ๔

              พวกกษัตริย์         ศึกษาในเรื่องยุทธวิธี

              พวกพราหมณ์       ศึกษาในเรื่องศาสนา  และวิทยาการต่าง ๆ

              พวกแพศย์          ศึกษาเรื่องศิลปะ  กสิกรรม  และพาณิชการ

              พวกศูทร            ศึกษาเรื่องการงานที่จะพึงทำด้วยแรงกาย

ความเชื่อของชาวชมพูทวีป

              ๑.  เกี่ยวกับความเกิดและความตายบางพวกเชื่อว่าตายแล้วเกิดใหม่  บางพวกเชื่อว่าตาย แล้วสูญ

              ๒. เกี่ยวกับความสุขและความทุกข์  บางพวกถือว่า  สัตว์จะได้สุขหรือทุกข์ก็ได้เอง  สุขทุกข์ ไม่มีเหตุปัจจัย  บางพวกเห็นว่า  สุขทุกข์มีเหตุปัจจัย

วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับความเกิด  ความตาย  และสุขทุกข์

              พวกที่ถือว่าตายแล้วเกิดอีก    เข้าใจว่าประพฤติอย่างไรจะได้ไปเกิดในสวรรค์และสุคติ 

ก็ประพฤติอ ย่างนั้น

              พวกที่ถือว่าตายแล้วสูญ ก็ประพฤติมุ่งแต่เพียงเอาตัวรอดในปัจจุบัน  ไม่กลัวแต่ความเกิดในนรก และทุคติ

              พวกที่ถือว่า  จะได้สุขหรือทุกข์ก็ได้เองสุขทุกข์ไม่มีเหตุปัจจัย     ก็ไม่มีการขวนขวาย  ได้แต่คอย เสี่ยงสุขเสี่ยงทุกข์ไปวัน ๆ

              พวกที่ถือว่า  สุขทุกข์มีมาเพราะเหตุปัจจัยภายนอก  ก็บวงสรวงเทวดาขอให้ช่วยบ้าง  ขวนขวาย ในทางอื่นบ้าง

              พวกที่ถือว่า  สุขทุกข์มีมาเพราะเหตุปัจจัยภายใน  คือ  กรรม  เห็นว่ากรรมใดเป็นเหตุแห่งทุกข์  ก็เว้นกรรมนั้นเสีย  ไม่ทำ  เห็นว่ากรรมใดเป็นเหตุแห่งสุขก็ทำกรรมนั้น

ปริจเฉทที่  ๒

สักกชนบท  และศากยวงศ์

                  สักกชนบท ตั้งอยู่ในชมพูทวีปตอนเหนือ ที่ได้ชื่ออย่างนั้นเพราะตั้งขึ้นในดงไม้สักกะ  ส่วนกษัตริย์ ผู้ปกครองสักกชนบทนั้น  เรียกว่า ศากยะ  ที่ได้ชื่ออย่างนั้น  เพราะสามารถตั้งบ้านเมืองและตั้งวงศ์ ได้ตามลำพัง   แห่งโอรสของพระเจ้าโอกากราช  ดังมีประวัติย่อว่า

              พระเจ้าโอกากราช  ได้ครองราชสมบัติในพระนครตำบลหนึ่ง  ทรงมีพระโอรส  ๔  พระองค์  พระธิดา  ๕  พระองค์  วันหนึ่งทรงพลั้งพระโอษฐ์พระราชทาน พระนครให้กับพระโอรส ที่เพิ่งประสูติ จากพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง จึงต้องรับสั่งให้พระโอรสและพระธิดาเหล่านั้นไปตั้งเมืองใหม่  ทั้งหมดได้ไป ตั้งอยู่ ที่ดงไม้สักกะประเทศหิมพานต์

              สักกชนบทนั้น  มีเมืองหลวงชื่อว่า  กบิลพัสดุ์  เพราะสถานที่นั้นเคยเป็นสถานที่อยู่ของ กบิลดาบสมาก่อน  และเพราะถูกสร้างขึ้นตามคำแนะนำของกบิลดาบส

 

ศากยวงศ์พระราชบุตร  และพระราชบุตรีของพระเจ้าโอกากราชสมรสกันเอง  มีเชื้อสายสืบสกุลลงมาเป็น พวกศากยะ  แต่บางแห่งก็แบ่งเรียกสกุลพระเชษฐภคินีว่า   พวกโกลิยะสกุลพระศาสดา  ครองนครกบิลพัสดุ์  สืบเชื้อสายลงมาโดยลำดับจนถึงพระเจ้าชยเสนะ   พระเจ้าชยเสนะ  นั้น  มีพระราชบุตรพระนามว่า   สีหนุ   มีพระราชบุตรีพระนามว่า  ยโสธรา

              ครั้นพระเจ้าชยเสนะทิวงคตแล้ว  สีหหนุกุมารได้ทรงครองราชย์สืบพระวงศ์ต่อมา  ท้าวเธอทรงมี พระมเหสีพระนามว่า  กัญจนา  ซึ่งเป็นกนิษฐภคินีของพระเจ้าอัญชนะ  เจ้าผู้ครองเทวทหนคร

                  พระเจ้าสีหนุและพระนางกัญจนา  มีพระราชบุตร  ๕  พระองค์  คือ  สุทโธทนะ ๑ สุกโกทนะ  ๑  อมิโตทนะ  ๑  โธโตทนะ ๑ ฆนิโตทนะ ๑ และ มีพระราชบุตรี ๒ พระองค์   คือ     ปมิตา ๑  อมิตา ๑                                                 

              ส่วนพระนางยโสธรา   ผู้เป็นกนิษฐภคินีของพระเจ้าสีหนุนั้น  ได้เป็นมเหสีของพระเจ้าอัญชนะ  มีพระราชบุตร ๒ พระองค์  คือ  สุปปพุทธะ  ๑  ทัณฑปาณิ  ๑  พระราชบุตรี  ๒  พระองค์  คือ   มายา  ๑   ปชาบดี  ๑

              พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้พระศาสดาของเราทั้งหลายได้เสด็จมาอุบัติขึ้นในพวกอริยกชาติ  ในจังหวัด มัชฌิมชนบท  ชมพูทวีป  แคว้นสักกะ  ในสกุลกษัตริย์พวกศากยะผู้โคตมโคตร  เป็นพระโอรสของ พระเจ้าสุทโธทนศากยะเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์  กับพระนางมายา  เมื่อก่อนพุทธศก  ๘๐  ปี

ปริจเฉทที่  ๓

พระศาสดาประสูติ

              เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางมายา  ทรงอภิเษกสมรสกัน  ต่อมา  พระศาสดาของเราทั้งหลาย  ได้ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของนางมายา ในวันจะประสูติพระโอรส   พระนางได้เสด็จประพาสอุทยาน ลุมพินีวัน ทรงประชวรพระครรภ์  ประสูติพระโอรสใต้ร่มไม้สาละ  เมื่อวันศุกร์     เพ็ญเดือนวิสาขะ  ปีจอ  ก่อนพุทธศก ๘๐ ปี  เวลาใกล้เที่ยง ขณะประสูติ พระนางสิริมหามายาประทับยืนจับกิ่งสาละ พระโอรส พอประสูติแล้ว ดำเนินไปได้ ๗ ก้าว เปล่งอาสภิวาจา อันเป็นบุพพนิมิตแห่งการตรัสรู้

อสิตดาบสเข้าเยี่ยม

              ฝ่ายอสิตดาบส (อีกอย่างหนึ่งเรียก กาฬเทวิลดาบส) ผู้เป็นที่นับถือของราชสกุล ได้ทราบข่าว จึงเข้าไปเยี่ยม

              พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงอุ้มพระราชโอรสออกมาเพื่อจะให้นมัสการพระดาบส  พระดาบสเห็น พระโอรสนั้นมีลักษณะต้องด้วยตำหรับมหาบุรุษลักษณะ มีความเคารพนับถือในพระราชโอรสนั้นมาก  จึงลุก ขึ้นกราบลงที่พระบาททั้งสองของพระโอรสนั้นด้วยศีรษะของตนพร้อมกล่าวคำทำนายลักษณะของพระราชโอรส แล้ว  ถวายพระพรลากลับไปอาศรมแห่งตน  ทำให้ราชสกุลทั้งหลายเกิดความนับถือในพระโอรส   ถวายโอรส ของตนเป็นบริวารสกุลละองค์        

ประสูติได้ ๕   วัน  ทำนายลักษณะ ขนานพระนาม

              เมื่อพระราชกุมารประสูติได้ ๕ วัน  พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้ชุมนุมพระญาติวงศ์ และเสนามาตย์พร้อมกัน  เชิญพราหมณ์ร้อยแปดคนมาฉันโภชนาหารแล้วทำนายพระลักษณะว่า  พระกุมาร มีคติเป็น   ๒   คือ  ถ้าได้ครองฆราวาส  จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ครองแผ่นดิน  มีสมุทรสาคร  ๔  เป็นขอบเขต  ถ้าออกทรงผนวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระศาสดาเอกในโลก  และขนาน พระนามว่า  สิทธัตถกุมาร  แต่มหาชนมักเรียกตามพระโคตรว่า  โคตมะ

ประสูติได้   ๗   วัน  พระมารดาสิ้นพระชนม์

              ฝ่ายพระนางเจ้ามายาผู้เป็นพระมารดา  พอประสูติพระโอรสได้ ๗ วัน  ก็สิ้นพระชนม์  พระเจ้าสุทโธทนะจึงทรงมอบพระราชโอรสนั้นแก่พระนางปชาบดีโคตมี  พระมาตุจฉาเลี้ยงต่อมาภายหลังพระนางนั้นมีพระราชบุตรพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า นันทกุมาร  มีพระราชบุตรีพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า  รูปนันทา

พระชนมายุ  ๗  ปี  ขุดสระโบกขรณี  ๓  สระ

              เมื่อสิทธัตถกุมารทรงเจริญพระชนมายุได้  ๗  พรรษา พระราชบิดาตรัสให้ขุดสระโบกขรณี ในพระราชนิเวศน์   ๓  สระ  ปลูกอุบลบัวขาบสระ  ๑  ปลูกปทุมบัวหลวงสระ ๑  ปลูกบุณฑริกบัวขาวสระ  ๑  ให้เป็นที่เล่นสำราญพระหฤทัยพระราชโอรส

              ครั้งพระราชกุมารมีพระชนม์เจริญ  ควรจะศึกษาศิลปวิทยาได้  จึงทรงพาไปมอบไว้ในสำนัก ครูวิศวามิตร  พระราชกุมารทรงเรียนได้ว่องไว  จนสิ้นความรู้ของอาจารย์แล้วได้แสดงให้ปรากฏแก่ หมู่พระญาติ  ไม่มีพระกุมารอื่นจะเทียมถึง

พระชนมายุ  ๑๖  พรรษา  อภิเษกพระชายา

                  เมื่อพระราชกุมารทรงพระเจริญวัย  มีพระชนมายุได้  ๑๖  ปี  ควรมีพระเทวีได้แล้ว   พระราชบิดาตรัสสั่งให้สร้างปราสาท  ๓  หลัง  เพื่อเป็นที่เสด็จอยู่แห่งพระราชโอรส  ใน  ๓  ฤดู  คือ  ฤดูหนาว  ฤดูร้อน  ฤดูฝน  แล้ว  ได้ตรัสขอพระนางยโสธรา  (บางแห่งเรียกพิมพา)  พระราชบุตรี ของพระเจ้าสุปปพุทธะในเทวทหนคร อันประสูติแต่นางอมิตาพระกนิษฐภคินีของพระองค์มาอภิเษกเป็นพระชายา

              ฝ่ายพระราชกนิษฐภาดา  ของพระเจ้าสุทโธทนะนั้น 

              สุกโกทนศากยะ   มีโอรสองค์หนึ่ง  ทรงนามว่า  อานนท์

              อมิโตทนศากยะ   มีโอรส ๒ องค์  ทรงนามว่า  มหานามะ ๑ อนุรุทธะ  ๑

 มีธิดา ๑ องค์  ทรงนามว่า  โรหิณี

              นางอมิตาพระราชกนิษฐภคินี   เป็นพระมเหสีของพระเจ้าสุปปพุทธะ ประสูติราชบุตรองค์ ๑ ทรงนามว่า  เทวทัต  ราชบุตรีองค์ ๑ ทรงนามว่า  ยโสธรา หรือพิมพา พระชายาของสิทธัตถกุมาร

              พระกุมารและพระกุมารีในศากยวงศ์ทั้ง ๒ สายนั้น เจริญขึ้นโดยลำดับ ดังนี้แล

ปริจเฉทที่  ๔

เสด็จออกบรรพชา

              สิทธัตถกุมาร  เสด็จอยู่ครองฆราวาสสมบัติ  ตราบเท่าพระชนมายุ ๒๙ พรรษา มีพระโอรส ประสูติแต่พระนางยโสธราพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ราหุลกุมาร

              วันหนึ่ง  ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูต  ๔  คือ  คนแก่  คนเจ็บ  คนตาย  และสมณะ  อันเทวดาแสร้างนิรมิตไว้ในระหว่างทาง   เมื่อเสด็จประพาสพระราชอุทยาน  ๔  วาระโดยลำดับกัน  ทรงสังเวช เหตุได้เห็นเทวทูต ๓ ข้างต้น  ยังความพอพระหฤทัยในบรรพชาให้เกิดขึ้นเพราะได้เห็นสมณะ  ในเวลากลางคืนทรงม้ากัณฐกะ  มีนายฉันนะตามเสด็จ  ถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา  ตรัสสั่งนายฉันนะให้นำม้า พระที่นั่งกลับคืนพระนครแล้ว  ทรงตัดพระเมาลีด้วยพระขรรค์  อธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต ณ ที่นั้น  ส่วนไตรจีวรและบาตร ฆฏิการพรหมนำมาถวาย

 

ปริจเฉทที่  ๕

ตรัสรู้

              พระมหาบุรุษทรงบรรพชาแล้ว  เสด็จประทับแรมอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน  แขวงมัลลชนบท  ชั่วเวลาราว  ๗  วัน  ได้เสด็จผ่านกรุงราชคฤห์   พระเจ้าพิมพิสารพระเจ้ามคธ ได้เสด็จมาพบเข้า  ตรัสถามถึงชาติสกุลแล้วตรัสชวนให้อยู่  จะพระราชทานอิสริยยศยกย่อง  พระองค์ไม่ทรงรับ  แสดงพระ ประสงค์ว่า  มุ่งจะแสวงหาพระสัมมาสัมโพธิญาณ พระเจ้าพิมพิสารทรงอนุโมทนาแล้วตรัสขอปฏิญญาว่า   ตรัสรู้แล้วขอให้เสด็จมาเทศนาโปรด

              ต่อจากนั้น  พระมหาบุรุษได้เสด็จไปอยู่ในสำนักอาฬารดาบส  กาลามโคตร  และอุทกดาบส  รามบุตร  ซึ่งมหาชนนับถือว่าเป็นคณาจารย์ใหญ่  ขอศึกษาลัทธิสมัยของท่านทั้งสอง  ได้ทรงทำทดลอง ในลัทธินั้นทุกอย่างแล้วเห็นว่าไม่ใช่ทางพระสัมมาสัมโพธิญาณ  จึงเสด็จจาริกไปในมคธชนบท  บรรลุถึงตำบล อุรุเวลาเสนานิคม  ทรงพระดำริเห็นว่าประเทศนั้น  ควรเป็นที่ตั้งความเพียรของกุลบุตรผู้มีความต้องการ ด้วยความเพียรได้  จึงเสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น  ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา  ทรมานพระกายให้ลำบาก เป็นกิจยากที่จะกระทำได้

 

ทุกรกิริยา ๓ วาระ

              วาระแรก ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์  กดพระตาลุด้วยพระชิวหาไว้ให้แน่น  จนพระเสโทไหล ออกจากพระกัจฉะ  ได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้า  ครั้นทรงเห็นว่าการทำอย่างนั้นไม่ใช่ทางตรัสรู้  จึงทรง เปลี่ยนอย่างอื่น

              วาระที่ ๒ ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะ  ปัสสาสะ ไม่ให้ลมหายใจเดินสะดวกทางช่องพระนาสิก  และช่องพระโอษฐ์  ได้เสวยทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า  ก็ไม่ได้ตรัสรู้  จึงทรงเปลี่ยนอย่างอื่นอีก

              วาระที่ ๓ ทรงอดพระอาหาร   ผ่อนเสวยแต่วันละน้อย ๆ บ้าง เสวยพระอาหาร ละเอียด บ้าง จนพระกายเหี่ยวแห้ง  พระฉวีวรรณเศร้าหมอง  พระอัฐิปรากฏทั่วพระกาย

              ภายหลังทรงลงสันนิษฐานว่า  การทำทุกรกิริยาไม่ใช่ทางตรัสรู้แน่แล้ว  ได้ทรงเลิกเสียด้วย ประการทั้งปวง  กลับเสวยพระอาหารโดยปกติ  ไม่ทรงอดอีกต่อไป

 

อุปมา ๓ ข้อ ปรากฏ

              ครั้งนั้น  อุปมา ๓ ข้อ  ที่พระมหาบุรุษไม่เคยทรงสดับมาปรากฏแจ่มแจ้งแก่พระองค์ว่า

              ๑. ไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง  แช่อยู่ในน้ำ  จะเอามาสีกันเพื่อให้เกิดไฟย่อมไม่ได้  เหมือนสมณพราหมณ์ บางพวก ตัวก็ยังหมกอยู่ในกาม  ใจก็ยังรักใคร่ในกาม พากเพียรพยายามอย่างไรก็คงไม่ตรัสรู้ 

              ๒. ไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง  แม้จะไม่ได้แช่อยู่ในน้ำ ก็ไม่สามารถสีให้เกิดไฟได้  เช่นเดียวกัน เหมือนสมณพราหมณ์บางพวกแม้มีกายหลีกออกจากกามแล้ว  แต่ใจยังรักใคร่ในกามจะพยายามอย่างไร ก็คงไม่สามารถตรัสรู้ได้

              ๓. ไม้แห้งที่วางไว้บนบก   ไกลน้ำ สามารถสีให้เกิดไฟได้ เหมือนสมณพราหมณ์บางพวก  มีกายหลีกออกจากกาม  ใจก็ละความรักใคร่ในกาม  สงบดีแล้วหากพากเพียรพยายามอย่างถูกต้อง  ย่อมสามารถตรัสรู้ได้

              อุปมาทั้ง ๓ ข้อนี้  ทำให้พระองค์เกิดพระสติหวนระลึกถึงความเพียรทางใจว่า  จักเป็นทาง ตรัสรู้ ได้กระมัง  ใคร่จะตั้งความเพียรทางจิต  ทรงคิดเห็นว่าคนซูบผอมเช่นนี้ไม่สามารถทำได้  จำเราจะกิน อาหารแข้น  คือ  ข้าวสุก  ขนมกุมาส  ให้มีกำลังก่อน  จึงกลับเสวยพระอาหารโดยปกติ

 

ปัญจวัคคีย์หนี

              ฝ่ายปัญจวัคคีย์  คือ บรรพชิต ๕ รูป ชื่อ โกณฑัญญะ ๑ วัปปะ  ๑  ภัททิยะ  ๑  มหานามะ ๑  อัสสชิ  ๑   ซึ่งพากันออกบวชตามพระมหาบุรุษคอยเฝ้าปฏิบัติทุกเช้าค่ำ    ด้วยหวังว่าพระองค์ได้ บรรลุธรรมใด จักทรงสั่งสอนตนให้บรรลุธรรมนั้นบ้าง  ครั้นเห็นพระองค์ทรงละทุกรกิริยา  มาเสวยพระอาหาร เข้าใจว่าคงไม่อาจบรรลุธรรมพิเศษได้แล้ว จึงพากันหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  แขวงเมืองพาราณสี

 

ความเพียรทางจิตทำให้บรรลุธรรม

              ฝ่ายพระมหาบุรุษเสวยอาหารแข้น  ทำพระกายให้กลับมีพละกำลังได้อย่างเดิม  ทรงเริ่มความ เพียรทางจิตต่อไป   นับแต่บรรพชามา ๖ ปีล่วงแล้ว ในเวลาเช้าวันเพ็ญวิสาขมาส  ทรงรับถาด ข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา เสด็จไปสู่ท่าแม่น้ำเนรัญชรา  เสวยแล้วทรงลอยถาดในกระแสน้ำ  ทรงรับหญ้าคา ของคนหาบหญ้าชื่อ   โสตถิยะ  ในระหว่างทาง  ทรงลาดหญ้าต่างบัลลังก์  ณ ควงพระมหาโพธิ์ ด้านบูรพาทิศแล้ว  เสด็จนั่งขัดสมาธิ  ผินพระพักตร์ทางบูรพาทิศ  ทรงอธิษฐานพระหฤทัยว่า

            ยังไม่ลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด จักไม่เสด็จลุกขึ้นเพียงนั้น แม้พระมังสะ และพระโลหิต จะเหือดแห้งไป   เหลือแต่พระตจะ   พระนหารุ   และพระอัฐิ   ก็ตามที

ทรงชนะมาร

          ในสมัยนั้น  พญามารเกรงว่า  พระมหาบุรุษจะพ้นจากอำนาจแห่งตน  จึงยกพลเสนามาผจญ  แสดงฤทธิ์มีประการต่าง ๆ  เพื่อจะยังพระมหาบุรุษให้ตกพระหฤทัยกลัวแล้วจะเสด็จหนีไป

              พระองค์ทรงนึกถึงพระบารมี  ๓๐  ทัศ  ที่ได้ทรงบำเพ็ญมา  ตั้งมหาปฐพีไว้ในที่เป็นพยาน  แล้วทรงต่อสู้พระบารมี ๓๐ ทัศ  นั้นเข้ามาช่วยผจญ  ยังพญามารกับเสนาให้ปราชัย  แต่ในเวลาพระอาทิตย์ยังไม่อัสดงคตแล้วบรรลุบุพเพนิวาสานุสสติญาณในปฐมยาม  ได้จุตูปปาตญาณในมัชฌิมยาม ทรงใช้พระปัญญาพิจารณาปฏิจจสสมุปบาท  ทั้งฝ่ายเกิด   ฝ่ายดับสาวหน้า สาวกลับไปมาในปัจฉิมยาม   ก็ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ  คือ  อาสวักขยญาณ  ในเวลาอรุณขึ้น

              พระผู้มีพระภาคเจ้า  ได้พระปัญญาตรัสรู้ธรรมพิเศษเป็นเหตุถึงความบริสุทธิ์จากกิเลสาสวะ  จึงได้พระนามว่า  อรหํ  และตรัสรู้ชอบโดยลำพังพระองค์เอง จึงได้พระนามว่า  สมฺมาสมฺพุทฺโธ ๒ บทนี้     เป็นพระนามใหญ่ของพระองค์โดยคุณนิมิตอย่างนี้แล

 

ปฐมโพธิกาล

ปริจเฉทที่  ๖

ปฐมเทศนา  และปฐมสาวก

เสวยวิมุตติสุขใต้ร่มมหาโพธิ์ ๗ วัน

              พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมพิเศษแล้ว เสด็จประทับอยู่ภายใต้ร่มไม้มหาโพธิ์นั้น  เสวยวิมุตติ สุขสิ้นกาล ๗ วัน  ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท  คือ  ธรรมที่อิงอาศัยกันเกิดขึ้น  ทั้งข้างเกิด (อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดสังขาร  สังขารเป็นเหตุให้เกิดวิญญาณ  เป็นต้น)  ทั้งข้างดับ  (เพราะอวิชชาดับ  สังขารจึงดับ  เป็นต้น)

ใต้ร่มอชปาลนิโครธ ๗ วัน

                  จากต้นมหาโพธิ์นั้น  เสด็จไปยังภายใต้ร่มไม้ไทร  ชื่อว่า  อชปาลนิโครธ   เสวยวิมุตติสุข   ๗ วัน ทรงแสดงธรรมแก่พราหมณ์ผู้มักตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ ว่า ผู้มีบาปธรรมอันลอยเสียแล้ว  ไม่มีกิเลส เป็นเหตุขู่ผู้อื่นว่า หึ หึ  ควรกล่าวถ้อยคำว่า  ตนเป็นพราหมณ์โดยธรรม

 

ใต้ร่มมุจจลินท์ ๗ วัน

              จากต้นอชปาลนิโครธนั้น   ได้เสด็จไปยังต้นไม้จิก  ชื่อว่า มุจจลินท์ เสวยวิมุตติสุข ๗ วัน  ทรงเปล่งอุทานว่า  ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมได้สดับแล้วยินดีอยู่ในที่สงัด  รู้เห็นตามเป็นจริง ฯ

              ความไม่เบียดเบียน  คือ  ความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย    และความปราศจากกำหนัด คือ ความก้าวล่วงกามทั้งหลายเสียได้  ด้วยประการทั้งปวง เป็นสุขในโลก

              ความกำจัดอัสมิมานะ   คือ  ถือว่าตัวตนให้หมดได้เป็นสุขอย่างยิ่ง

ใต้ร่มราชายตนะ ๗ วัน

              จากต้นมุจจลินท์นั้น  ได้เสด็จไปยังต้นไม้เกต  ชื่อว่า ราชายตนะ  เสวยวิมุตติสุข ๗ วัน  สมัยนั้นพานิช ๒ คน คือ ตปุสสะ ๑  ภัลลิกะ ๑  เดินทางมาจากอุกกล -ชนบท  นำข้าวสัตตุผง  ข้าวสัตตุก้อน  เข้าไปถวายแล้วกราบทูลแสดงตนเป็นอุบาสก  อ้างพระองค์กับพระธรรมเป็นสรณะ  เป็นปฐมอุบาสกในพุทธกาลแล้วหลีกไป (เทฺววาจิกอุบาสก)

ทรงตัดสินพระทัยแสดงธรรม

              จากร่มไม้ราชายตนะนั้น  เสด็จกลับไปประทับ ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธอีก  ทรงพิจารณา  ถึงธรรมที่ทรงตรัสรู้ว่า  เป็นคุณอันลึกซึ้ง  ยากที่ผู้ยินดีในกามคุณจะตรัสรู้ตามได้  จึงไม่คิดจะทรงสั่งสอนใคร  แต่ในที่สุดทรงคิดว่ามนุษย์  ก็เหมือนดอกบัว ๓ ชนิด  คือ บางชนิดยังจมอยู่ในน้ำ  บางชนิดตั้ง อยู่เสมอน้ำ  บางชนิดตั้งขึ้นพ้นน้ำ

              ดอกบัวที่ตั้งขึ้นพ้นน้ำแล้วนั้น  คอยสัมผัสรัศมีพระอาทิตย์อยู่  จักบาน  ณ วันนี้

              ดอกบัวทีตั้งอยู่เสมอน้ำ  จักบาน ณ วันพรุ่งนี้

              ดอกบัวที่ยังไม่ขึ้นจากน้ำ  ยังตั้งอยู่ภายในน้ำจักบาน ณ วันต่อ ๆ ไป

              ดอกบัวที่ยังจมอยู่ในโคลนตม อันเป็นภักษาแห่งปลาและเต่าฉิบหายเสีย

              ดอกบัวที่จะบานมีต่างชนิด  ฉันใด  เวไนยสัตว์ก็มีต่างพวกฉันนั้น  ผู้มีกิเลสน้อย  มีอินทรีย์  (สัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา)  กล้า  ก็อาจจะรู้ธรรมพิเศษนั้นได้ฉับพลัน

              ผู้มีคุณสมบัติเช่นนั้นเป็นประมาณกลาง  ได้รับอบรมในปฏิปทาเป็นบุพพภาค จนมีอุปนิสัยแก่กล้า  ก็สามารถจะบรรลุธรรมพิเศษนั้นดุจเดียวกัน

                  ผู้มีคุณสมบัติเช่นนั้นยังอ่อน  หรือหาอุปนิสัยไม่ได้เลย  ก็ยังควรได้รับแนะนำในธรรมเบื้องต่ำ ไปก่อนเพื่อบำรุงอุปนิสัย

                  เพราะฉะนั้น   พระธรรมเทศนาคงไม่ไร้ผล  คงสำเร็จประโยชน์แก่คนทุกเหล่า เว้นแต่จำพวก ที่ไม่ใช่เวไนย คือ ไม่รับแนะนำ ที่เปรียบด้วยดอกบัวอันเป็นภักษาแห่งปลาและเต่าฉิบหายเสีย

ทรงพระดำริหาคนผู้สมควรรับเทศนา

              ครั้นพระองค์ทรงตัดสินพระหฤทัย เพื่อจะแสดงพระธรรมเทศนาอย่างนั้นแล้ว  ครั้งแรก  ทรงคิด ถึงอาฬารดาบสและอุทกดาบส  ซึ่งเป็นผู้ฉลาด  ทั้งมีกิเลสเบาบาง  แต่ทั้งสองท่านสิ้นชีพเสียแล้ว   ต่อจากนั้นทรงรำลึกถึงปัญจวัคคีย์  และได้ตัดสินพระหฤทัยว่า  จะแสดงธรรมแก่พวกเขา   จึงเสด็จออกจาก ต้นอชปาลนิโครธทรงพระดำเนินทางไปยังเมืองพาราณสี  อรรถกถากล่าวว่า  ในเช้าวันขึ้น  ๑๔  ค่ำ  เดือน  ๘

              ระหว่างแห่งแม่น้ำคยากับแดนมหาโพธิต่อกัน    ทรงพบอุปกาชีวก     เขาเห็นสีพระฉวีวรรณของ  พระองค์ผุดผ่อง  นึกประหลาดใจ  จึงทูลถามถึงศาสดาของพระองค์  ทรงตอบว่า  พระองค์เป็นสยัมภู    คือ    เป็นเองในทางตรัสรู้   ไม่มีใครเป็นครูสอน   อุปกาชีวก  กล่าวว่า  ขนาดนั้นเชียวหรือ    สั่นศีรษะแล้วหลีกไป

ทรงแสดงปฐมเทศนา

              เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  แขวงเมืองพาราณสี  ได้เสด็จเข้าไปหา ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ แต่พวกเขาแสดงความไม่เคารพ  พูดออกพระนามและใช้คำว่า  อาวุโส  พระองค์ทรงห้าม แล้วตรัสบอกว่า  เราได้ตรัสรู้อมฤตธรรมโดยชอบเองแล้ว

              ปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อ  กล่าวคัดค้านว่า  อาวุโสโคดม  แม้ท่านทำทุกกรกิริยาอย่างหนัก  ท่านยังไม่ บรรลุธรรมพิเศษอะไร  บัดนี้  ท่านมาปฏิบัติเพื่อความเป็นคนมักมากเสียแล้ว  เหตุไฉนจะบรรลุธรรม พิเศษได้เล่า  พวกเธอคัดค้านอย่างนั้นถึง ๒–๓ ครั้ง

              พระองค์จึงทรงตรัสเตือนพวกเธอให้ระลึกถึงความหลังว่าท่านทั้งหลายจำได้อยู่หรือว่า  วาจาเช่นนี้ เราได้เคยพูดแล้วในปางก่อนแต่กาลนี้

              ปัญจวัคคีย์นึกได้ว่าวาจาเช่นนี้ไม่เคยมีเลย จึงมีความสำคัญในอันที่จะฟังพระองค์ทรงแสดงธรรม

              ครั้นเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเตือนปัญจวัคคีย์ ให้ตั้งใจฟังธรรมได้แล้วรุ่งขึ้น วันอาสาฬหบุรณมี  ได้ตรัสปฐมเทศนามีใจความโดยย่อว่า  ที่สุด  ๒  อย่าง  ได้แก่ กามสุขัลลิกานุโยค  คือ  การประกอบตนให้พัวพันด้วยสุขในกาม ๑ อัตตกิลมถานุโยค คือ การประกอบความเหน็ด เหนื่อยแก่ตนเปล่า   ๑   อันบรรพชิตไม่ควรเสพ   (ประพฤติ)  บรรพชิตควรเสพมัชฌิมาปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติเป็นทางกลาง  ได้แก่ ทางมีองค์ ๘ อันนำผู้ปฏิบัติให้เป็นอริยะ  คือ  ปัญญาอันเห็นชอบ ๑  ความดำริชอบ ๑  วาจาชอบ ๑  การงานชอบ ๑  เลี้ยงชีพชอบ ๑  ความเพียรชอบ  ๑ ระลึกชอบ ๑  ตั้งใจชอบ ๑

                  ทรงแสดงอริยสัจ ๔  คือ  ๑. ทุกข์   ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย  เป็นต้น  ๒. สมุทัย    เหตุให้ทุกข์เกิด  ได้แก่   ตัณหา   ๓  คือ  กามตัณหา  ภวตัณหา  วิภวตัณหา  . นิโรธ   ได้แก่  ความดับทุกข์  คือ  ความสละ  ละ  วาง  ไม่พัวพันติดอยู่กับตัณหาทั้ง  ๓  นั้น  . มรรค   ได้แก่  ทางที่ทำให้ถึงความดับทุกข์  คือ  ทางมีองค์ ๘  อันนำผู้ปฏิบัติให้เป็นอริยะ  ดังกล่าวแล้ว

              เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาอยู่  ธรรมจักษุ  คือ  ดวงตาอันเห็นธรรม  ปราศจากธุลีมลทิน  ได้เกิดขึ้นแก่ท่านโกณฑัญญะว่า  สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  สิ่งนั้นทั้งหมด มีความดับเป็นธรรมดา

              พระองค์ทรงทราบว่า  ท่านโกณฑัญญะได้เห็นธรรมแล้ว  จึงทรงเปล่งอุทานว่า  โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ  โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ  เพราะอุทานว่า  อญญาสิ  อญญาสิ  ที่เป็นภาษามคธ  แปลว่า  ได้รู้แล้ว ๆ  คำว่า   อัญญาโกณฑัญญะ  จึงได้เป็นชื่อของท่านตั้งแต่กาลนั้นมา

                  ฝ่ายท่านโกณฑัญญะได้เห็นธรรมแล้ว  จึงทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย  พระองค์ทรงอนุญาต ให้ท่านเป็นภิกษุด้วยพระวาจาว่า  ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด  ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว  ท่านจงประพฤติ พรหมจรรย์  เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด   พระวาจานั้นให้สำเร็จการอุปสมบทแก่ท่าน

                  ต่อจากนั้น  ทรงจำพรรษาอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  ทรงสั่งสอนบรรพชิตทั้ง  ๔  รูปด้วย พระธรรมเทศนาเบ็ดเตล็ดตามสมควรแก่อัธยาศัย  ท่านวัปปะและภัททิยะ  ได้ดวงตาเห็นธรรม  จึงบวช ให้พร้อมกัน  ต่อมาท่านมหานามะและอัสสชิได้ดวงตาเห็นธรรม  จึงบวชให้พร้อมกัน  ทั้ง  ๔  ท่านบวช วิธีเดียวกับท่านโกณฑัญญะ

ปัญจวัคคีย์บรรลุพระอรหันต์

              เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์   ตั้งอยู่ในที่สาวกแล้ว  มีอินทรีย์  คือ  ศรัทธาเป็นต้นแก่กล้า     ควรเจริญ วิปัสสนาเพื่อวิมุตติแล้ว ครั้นวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๙ ตรัสพระธรรมเทศนาอนัตตลักขณสูตรสั่งสอน  ใจความโดยย่อว่า   รูป   เวทนา   สัญญา  สังขาร   และวิญญาณ  เป็นอนัตตา  คือ  บังคับบัญชาไม่ได้ว่า  จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าเป็นอย่างนั้นเลย  ได้ตรัสถามปัญจวัคคีย์ว่า  รูป  เวทนา   สัญญา   สังขาร   และวิญญาณ  เที่ยง    เป็นสุข  เป็นอัตตา  หรือไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  ทูลตอบว่า    ไม่เที่ยงเป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  จึงตรัสให้ละความถือมั่นในรูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร   และวิญญาณ นั้นเสีย  แล้วถือด้วยปัญญาตามความจริงว่า  นั่นไม่ใช่ของเรา  นั่นไม่ใช่เป็นเรา  นั่นไม่ใช่ตนของเรา

              เมื่อพระศาสดาตรัสพระธรรมเทศนาแสดงอนัตตาลักษณะอยู่จิตของภิกษุปัญจวัคคีย์ ผู้พิจารณา ภูมิธรรมตามกระแสเทศนานั้น  พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย  ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน

              ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ขึ้นในโลก ๖ องค์ คือ พระศาสดา  ๑  สาวก  ๕  ด้วยประการฉะนี

ปริจเฉทที่ ๗

ส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา

              สมัยนั้น  พระศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง  ในเวลาจวนใกล้รุ่ง  ทรงได้ยินเสียงยสกุลบุตร ออกอุทานว่า  ที่นี่วุ่นวายหนอ  ที่นี่ขัดข้องหนอ  เดินมายังที่ใกล้  จึงตรัสเรียกว่า  ที่นี้ไม่วุ่นวาย  ที่นี่ไม่ขัดข้อง  ท่านมานี่เถิด  นั่งลงเถิด  เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน

              ยสกุลบุตรได้ยินอย่างนั้นแล้ว  คิดว่า  เขาว่าที่นี่ไม่วุ่นวาย  ที่นี่ไม่ขัดข้อง   จึงถอดรองเท้า  เข้าไปหา  ไหว้แล้ว  นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง  พระศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพีกถา  คือ  ถ้อยคำที่กล่าวโดยลำดับ  ได้แก่  ทาน  ศีล  สัคคะ  คือ  สวรรค์    กามาทีนพ  โทษแห่งกาม  เนกขัมมานิสงส์   อานิสงค์แห่งการออกจากกาม  (บวช)  ฟอกจิตของเขาให้ห่างไกลจากความยินดี ในกามแล้วจึงทรงแสดงอริยสัจ  ๔  คือ  ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ    และมรรค  ดังได้กล่าวแล้วในปฐมเทศนา       ยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม  ณ  ที่นั่งนั้นแล้ว  ภายหลังพิจารณาภูมิธรรมที่พระศาสดาตรัส สอนเศรษฐีผู้เป็นบิดาอีกวาระหนึ่ง  จิตพ้นจากอาสวะ  ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน  (บรรลุพระอรหัต)

              ฝ่ายมารดาของยสกุลบุตร  เวลาเช้าขึ้นไปบนเรือนไม่เห็นลูก  จึงบอกแก่เศรษฐีผู้สามี  เศรษฐีให้ คนออกตามหาทั้ง  ๔  ทิศ   ตนเองก็ออกติดตามด้วย    เผอิญไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  เห็นรองเท้า ของลูกจึงตามเข้าไปหา  พระศาสดาได้ตรัสอนุปพพีกถาและอริยสัจแก่เขา  เมื่อจบเทศนาเขาได้แสดงตน เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยทั้ง ๓ เป็นสรณะเป็นอุบาสกคนแรกในพระพุทธศาสนา    แล้วได้กล่าวกับ บุตรชายว่า    พ่อยสะ    มารดาของเจ้าเศร้าโศกพิไรรำพัน   เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าเถิด

              พระศาสดาจึงตรัสให้เศรษฐีทราบว่า  ยสกุลบุตรได้บรรลุพระอรหัตแล้ว    ไม่มีการกลับคืนไป ครองฆราวาสอีก    เศรษฐีเข้าใจดี   จึงทูลอาราธนาพระศาสดาพร้อมกับยสกุลบุตรเพื่อทรงรับภัตตาหาร ในเช้าวันนั้น    พระศาสดาทรงรับด้วยพระอาการดุษณีภาพ  เศรษฐีทราบแล้วจึงได้อภิวาททูลลากลับไป

              เมื่อเศรษฐีกลับไปแล้วยสกุลบุตรได้ทูลขออุปสมบทพระศาสดาทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุเหมือน ที่ทรงอนุญาตแก่พระโกณฑัญญะ  ต่างกันตรงที่ไม่ตรัสว่าเพื่อทำที่สุด  ทุกข์โดยชอบ  เพราะพระยสะไ ด้บรรลุพระอรหันต์แล้ว  พระยสะจึงเป็นองค์ที่  ๗  ในโลก

              ในเวลาเช้าวันนั้น  พระศาสดาพร้อมกับพระยสะ  ได้เสด็จไปยังเรือนของเศรษฐีนั้น  มารดา และภรรยาเก่าของพระยสะมาเฝ้า  ทรงแสดงอนุปพพีกถาและอริยสัจ  ๔  แก่พวกเขาให้เห็นธรรมแล้ว  ได้แสดงตนเป็นอุบาสิกาถึงพระรัตนตรัย  เป็นสรณะ  คนแรกในโลก

สหายพระยสะ ๕๔ คนบวช

              ฝ่ายสหายของพระยสะ ๔ คน   ชื่อ วิมละ ๑  สุพาหุ ๑  ปุณณชิ ๑  ควัมปติ ๑  เป็นบุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสีได้ทราบข่าวว่า  ยสกุลบุตรออกบวชแล้ว  คิดว่า  ธรรมวินัยนั้นคงเป็นสิ่ง อันประเสริฐ  จึงพร้อมกันไปหาพระยสะ  พระยสะก็พาสหายทั้ง ๔ คนนั้นไปเฝ้าพระศาสดา    พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้กุลบุตรทั้ง ๔ เห็นธรรมแล้ว  ประทานให้เป็นภิกษุแล้ว  ทรงสั่งสอน ให้บรรลุพระอรหัตผล

                  ยังมีสหายของพระยสะ  เป็นชาวชนบทอีก ๕๐ คน  ได้ทราบข่าวนั้นแล้ว  คิดเหมือนหนหลัง  พากันบวชตามแล้วได้สำเร็จพระอรหัตผลด้วยกันสิ้นโดยนัยก่อน  รวมกันเป็นพระอรหันต์ ๖๑ องค์

              พระศาสดาทรงส่งสาวก ๖๐ รูป ไปประกาศพระศาสนาด้วยพระดำรัสว่า  ท่านทั้งหลาย จงเที่ยวไปในชนบทเพื่อประโยชน์และความสุขแก่มหาชน และอย่าไปรวมกัน ๒ รูป  ผู้รู้ทั่วถึงธรรม คงมีอยู่  แต่ที่เสื่อมจากคุณพิเศษ   เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังธรรม  แม้เราก็จะไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม

ทรงประทานวิธีอุปสมบทแก่สาวก

              ในสมัยนั้น พระศาสดาทรงประทานวิธีอุปสมบทแก่พระสาวกผู้ไปประกาศศาสนาว่าพึงให้ผู้ อุปสมบท ปลงผมและหนวด  ให้ครองผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด  นั่งกระโหย่งประนมมือ  ไหว้เท้าภิกษุทั้งหลาย  แล้วสอนให้ว่าตามว่า   พุทฺธํ   สรณํ   คจฺฉามิ   ธมฺมํ  สรณํ   คจฺฉามิ   สงฺฆํ   สรณํ    คจฺฉามิ   ทุติยมฺปิ  ฯลฯ  ตติยมฺปิ  ฯลฯ     การบวชวิธีนี้เรียกว่า  ติสรณคมนูปสัมปทา

ทรงโปรดภัททวัคคีย์สหาย ๓๐ คน

              ครั้นพระศาสดาประทับอยู่ในเมืองพาราณสีพอควรแก่พระประสงค์แล้ว  เสด็จดำเนินไปยังตำบลอุรุเวลา  ในระหว่างทางเข้าไปพักอยู่ที่ไร่ฝ้าย  ทรงนั่งในร่มไม้ตำบลหนึ่ง  ได้ตรัส อนุบุพพีกถาและอริยสัจ  ๔  โปรดภัททวัคคีย์สหาย  ๓๐  คน  ให้ได้บรรลุพระอรหัต ประทาน อุปสมบทให้แล้ว  ทรงส่งไปเพื่อประกาศพระศาสนาเหมือนนัยหนหลัง

 

ทรงโปรดชฏิล  ๓  พี่น้อง

              ส่วนพระพุทธองค์เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา  ซึ่งเป็นที่อยู่แห่งชฏิล  ๓  พี่น้อง  คือ         อุรุเวลกัสสปะ  นทีกัสสปะ  และคยากัสสปะ  ทรงชี้แจงให้อุรุเวลกัสสปะเห็นว่าลัทธิของเขาไม่มีแก่นสาร จนอุรุเวลกัสสปะมีความสลดใจ  เลิกละลัทธินั้น  ลอยบริขารของชฏิลในแม่น้ำแล้วทูลขออุปสมบท  ก็ทรงประทานอุปสมบท  อนุญาตให้เป็นภิกษุทั้งสิ้น

              ฝ่ายนทีกัสสปะเห็นบริขารของพี่ชายลอยไปตามกระแสน้ำ สำคัญว่าเกิดอันตราย  พร้อมทั้งบริวาร รีบมาถึงเห็นพี่ชายถือเพศเป็นภิกษุ  ถามทราบความแล้วได้ทูลขอบวชพร้อมทั้งบริวาร

              คยากัสสปะน้องชายเล็กพร้อมทั้งบริวารก็ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและขอบวชทำนองเดียวกับนทีกัสสปะผู้พี่ชาย

 

ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตร

              พระศาสดาประทับอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาตามสมควรแก่พุทธอัธยาศัยแล้วพร้อมด้วยภิกษุหมู่ชฏิลเหล่านั้น  เสด็จไปยังตำบลคยาสีสะ   ใกล้แม่น้ำคยา   ทรงแสดงธรรมว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  เป็นของร้อน  ร้อนเพราะอะไร  อะไรมาเผาให้ร้อน  เรากล่าวว่าร้อนเพราะไฟราคะ  ไฟโทสะ   ไฟโมหะ      ร้อนเพราะความเกิด  ความแก่  ความตาย  ความโศก  ความรำพัน  ความเจ็บไข้  ความเสียใจ  ความคับใจ

              เมื่อพระศาสดาตรัสพระธรรมเทศนานี้จบลง  จิตของภิกษุเหล่านั้นพ้นจากอาสวะทั้งหลาย  ไม่ถือ มั่นด้วยอุปาทาน  (สำเร็จพระอรหันต์)  พระธรรมเทศนานี้ชื่อว่า  อาทิตตปริยายสูตร

 

ปริจเฉทที่  ๘

เสด็จกรุงราชคฤห์แคว้นมคธและได้อัครสาวก

              ครั้นพระพุทธองค์เสด็จอยู่  ณ  ตำบลคยาสีสะตามควรแก่อัธยาศัยแล้ว    พร้อมด้วยหมู่ ภิกษุสาวกนั้น   เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์   ประทับอยู่   ณ  ลัฏฐิวันสวนตาลหนุ่ม  กิตติศัพท์ของ พระองค์ขจรไปทั่วทิศว่า   พระสมณโคดม  โอรสแห่งศากยะเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ  ขณะนี้ ประทับอยู่ที่ลัฎฐิวัน

              พระเจ้าพิมพิสาร  พระเจ้าแผ่นดินมคธได้ทรงทราบกิตติศัพท์นั้น  จึงพร้อมด้วยราชบริพาร เสด็จไปเฝ้า  ทรงนมัสการแล้วประทับนั่ง  ณ  ที่อันสมควร

                  ส่วนราชบริพารของพระองค์มีอาการทางกาย  วาจาต่าง ๆ  กัน  เป็น  ๕  พวก  คือ  ๑.  บางพวกถวายบังคม    ๒.  บางพวกเป็นแต่กล่าววาจาปราศรัย    ๓.  บางพวกเป็นแต่ประณมมือ   ๔.  บางพวกร้องประกาศชื่อและโคตรของตน   ๕.  บางพวกนิ่งอยู่  ที่เป็นเช่นนี้เพราะความไม่แน่ใจว่า      อุรุเวลกัสสปะของพวกตนกับพระสมณโคดมใครเป็นใหญ่กว่ากัน

              พระอุรุเวลกัสสปะ  จึงลุกขึ้นจากที่นั่ง ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง  ซบศีรษะลงที่ พระบาทพระศาสดา  ทูลประกาศว่าพระองค์เป็นศาสดาของข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าเป็นสาวกผู้ฟัง คำสอนของ พระองค์  และทูลประกาศความไม่มีแก่นสารแห่งลัทธิเดิม    ราชบริพารจึงน้อมจิตเชื่อถือพระศาสดา  ตั้งโสต คอยฟังพระธรรมเทศนา

              พระศาสดาทรงแสดงอนุปพพีกถาและอริยสัจ  ๔   พระเจ้าพิมพิสารและราชบริพารแบ่งเป็น  ๑๒  ส่วน  ๑๑  ส่วนได้จักษุเห็นธรรม  ส่วน  ๑  ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์

 

ความปรารถนา  ๕  ประการของพระเจ้าพิมพิสาร

              เมื่อครั้งยังเป็นราชกุมาร  ยังไม่ได้รับอภิเษก  พระเจ้าพิมพิสารได้ตั้งความปรารถนาไว้   ๕   อย่าง   คือ

              ๑.   ขอให้ข้าพเจ้าได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินมคธนี้

              ๒.   ขอให้ท่านผู้เป็นพระอรหันต์  ผู้รู้เอง  เห็นเอง  โดยชอบ  พึงมายังแว่นแคว้นของข้าพเจ้า  ผู้ได้รับอภิเษกแล้ว

              ๓.   ขอให้ข้าพเจ้าพึงได้เข้าไปนั่งใกล้พระอรหันต์นั้น

              ๔.   ขอให้พระอรหันต์นั้น  พึงแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า

              ๕.   ขอให้ข้าพเจ้าพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระอรหันต์นั้น

              บัดนี้ความปรารถนาทั้ง  ๕  อย่างของพระองค์สำเร็จบริบูรณ์ทุกอย่างแล้ว  จึงได้ทรงกราบ ทูลให้พระศาสดาทรงทราบ

              ความปรารถนาของพระเจ้าพิมพิสารอันเกี่ยวกับพระอรหันต์  ทำให้เข้าใจได้ว่า  คำว่า    อรหันต์   เป็นของเก่า     และผู้เป็นพระอรหันต์เป็นที่เคารพนับถือของคนทุกชั้นวรรณะ  แม้แต่พระมหากษัตริย์

ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับอาราม

              พระเจ้าพิมพิสารครั้นกราบทูลความสำเร็จพระราชประสงค์ทั้ง  ๕  แล้ว  ได้แสดงพระองค์ เป็นอุบาสก  จากนั้นได้กราบทูลเชิญเสด็จพระศาสดาพร้อมทั้งหมู่สาวก  เพื่อเสวยที่พระราชนิเวศน์ในวันรุ่งขึ้น

              วันรุ่งขึ้นพระศาสดาพร้อมด้วยพระสาวกได้เสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ พระเจ้าพิมพิสารทรงอังคาส ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานแล้ว      ทรงพระราชดำริถึงสถานควรเป็นที่เสด็จอยู่แห่งพระศาสดา   ทรงเห็นว่า   พระราชอุทยานเวฬุวันสวนไม้ไผ่เหมาะสมที่สุด  ทรงจับพระเต้าทองเต็มด้วยน้ำ  หลั่งลง ถวายพระราชอุทยานเวฬุวันนั้นแก่ภิกษุสงฆ์  มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน  พระศาสดาทรงรับแล้วเสด็จไป  ประทับอยู่  ณ ที่นั้น

              พระพุทธองค์ทรงปรารภเหตุนั้น  จึงประทานพระพุทธอนุญาตให้ภิกษุรับอารามที่ทายกถวาย ตามปรารถนา การถวายอารามเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในกาลนั้น และเวฬุวันก็เป็นอารามของสงฆ์เป็นแห่งแรก ในพระพุทธศาสนา

ทรงได้พระอัครสาวก

              วันหนึ่ง    พระอัสสชิหนึ่งในปัญจวัคคีย์      เข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์  สารีบุตร ปริพพาชกเห็นท่านมีกิริยาอาการที่น่าเลื่อมใส  จึงติดตามไป  ครั้นเห็นท่านกลับจากบิณฑบาต   จึงหาโอกาส เข้าไปถามว่า ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร ได้รับคำตอบว่า  พระมหาสมณะ  โอรสของ เจ้าศากยะออกบวชจากศากยสกุล  เป็นศาสดาของเรา  เราชอบใจธรรมของพระองค์

              “พระศาสดาของท่านสอนว่าอย่างไร ?”

              “ธรรมใดเกิดแต่เหตุ  พระศาสดาทรงแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น  และความดับแห่งธรรมนั้น  พระศาสดาทรงสอนอย่างนี้”

              สารีบุตรได้ฟังธรรมนั้นก็ทราบได้ทันทีว่า พระศาสดาทรงสอนให้ปฏิบัติเพื่อระงับดับเหตุแห่งธรรมเป็นเครื่องก่อให้เกิดทุกข์ ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า  สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา   สิ่งนั้นทั้งหมดต้องมีความดับเป็นธรรมดา  แล้วถามว่า  “พระศาสดาของเราเสด็จอยู่ที่ไหน”

              “เสด็จประทับอยู่ที่เวฬุวัน  ผู้มีอายุ”

              “ถ้าอย่างนั้นพระผู้เป็นเจ้าไปก่อนเถิดข้าพเจ้าจะกลับไปบอกสหายแล้วจะพากันไปเฝ้าพระศาสดา”

              สารีบุตรได้กลับไปยังที่อยู่ของตน  บอกความที่ไปพบพระอัสสชิ    และแสดงธรรมนั้น  แก่โมคคัลลานปริพพาชกให้ได้ดวงตาเห็นธรรม  แล้วไปลาอาจารย์สัญชัย  แม้จะถูกห้ามปรามขอร้องก็ไม่ฟัง  พาบริวารของตนไปเฝ้าพระศาสดาที่เวฬุวัน  ทูลขออุปสมบท   พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยกันทั้งสิ้น   ท่านกล่าวว่า    ภิกษุผู้เป็นบริวารสำเร็จพระอรหันต์ก่อน

              ฝ่ายพระโมคคัลลานะ  บวชได้   ๗   วัน   ไปทำความเพียรอยู่ที่กัลลวาลมุตตคาม  แขวงมคธ  ถูกถีนมิทธะครอบงำนั่งโงกง่วงอยู่  พระศาสดาได้เสด็จไปยังสถานที่นั้น  ทรงแสดงอุบายระงับความโงกง่วง  แล้วให้โอวาทว่า

              ดูก่อนโมคคัลลานะ  เธอจงจำใส่ใจว่า  เราจักไม่ชูงวงเข้าไปสู่สกุล  เราจักไม่พูดคำซึ่งเป็น เหตุเถียงกัน  เราจักยินดีที่นอนที่นั่งอันสงัด

              ทรงสอนถึงข้อปฏิบัติที่ทำให้สิ้นตัณหาว่าบรรดาธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น  ควรพิจารณาให้เห็นว่า ไม่เที่ยงน่าเบื่อหน่าย  ล้วนมีความแตกดับย่อยยับ  ควรปล่อยวางเสียพระโมคคัลลานะปฏิบัติ ตามพระโอวาทนั้น       ก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ในวันนั้น (คือ  วันที่  ๗)

              พระสารีบุตร เมื่อบวชได้  ๑๕  วัน  พระศาสดาประทับอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตา  ทรงแสดงธรรม แก่ปริพาชกผู้หนึ่งชื่อ  ทีฆนขะอัคคิเวสนโคตร  ผู้มีทิฏฐิแรง  ชอบขัดแย้งกับผู้อื่น  ซึ่งเข้าไปเฝ้า เพื่อทูลถามปัญหา  ว่า  ดูก่อน   อัคคิเวสนะ  ผู้รู้พิจารณาเห็นว่า  ถ้าเราจักถือมั่นทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งว่า  สิ่งนี้เท่านั้นจริง  สิ่งอื่นเหลวไหลหาความจริงไม่ได้  ก็จะต้องถือผิดไปจากคนอื่นที่มีทิฎฐิไม่เหมือนกับตน  ครั้นความถือผิดกันมีขึ้น  ความวิวาทเถียงกันก็มีขึ้น  ครั้นความวิวาทมีขึ้น  ความพิฆาตหมายมั่นก็มีขึ้น  ครั้นความพิฆาตมีขึ้น  ความเบียดเบียนกันก็มีขึ้น  ผู้รู้ท่านเห็นอย่างนี้  ครั้นรู้แล้วย่อมละทิฎฐินั้นเสียด้วย  ไม่ทำทิฎฐิอื่นให้เกิดขึ้นด้วย  การละทิฏฐิย่อมมีด้วยอุบายอย่างนี้

              ทรงแสดงอุบายเครื่องไม่ถือมั่นต่อไปว่า   อัคคิเวสนะ   กายคือประชุมมหาภูต

รูป   ๔   (ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ)   มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด    เติบโตเพราะข้าวสุกและขนมต่าง ๆ  ไม่เที่ยง   เป็นทุกข์   เป็นของว่างเปล่าไม่ใช่ตน   เวทนาทั้ง   ๓   คือ  สุข  ทุกข์  และไม่ทุกข์ไม่สุข  ไม่เที่ยง   ปัจจัยแต่งขึ้นมีความสิ้นไป   เสื่อมไปดับไปเป็นธรรมดา  อริยสาวก  ได้ฟังอย่างนี้  ย่อมเบื่อหน่าย  คลายกำหนัด  ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้น   ผู้หลุดพ้นแล้วอย่างนี้       ย่อมไม่วิวาท โต้เถียง กับผู้ใดด้วยทิฏฐิของตน  โวหารใดเขาพูดกันอยู่ในโลก  ก็พูดตามโวหารอย่างนั้น  แต่ไม่ถือมั่นด้วยทิฏฐิ

              สมัยนั้น  พระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่   ณ   เบื้องพระปฤษฎางค์แห่งพระศาสดา  ได้ฟังพระธรรมเทศนานั้น  คิดว่า  พระศาสดาตรัสสอนให้ละการถือมั่นธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญาอันรู้ยิ่ง  เมื่อท่านพิจารณาอยู่อย่างนั้น  จิตก็พ้นจากอาสวะ  ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน   (บรรลุพระอรหัต)   หลังจากบวชได้  ๑๕  วัน

              ส่วนทีฆนขปริพาชก เป็นแต่ได้ดวงตาเห็นธรรมแสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะตลอดชีวิต

              พระสารีบุตรเถระ และพระโมคคัลลานเถระ ครั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว  พระสารีบุตร ได้เป็นอัครสาวกเบื้องขวา เลิศทางปัญญา พระโมคคัลลานะ  ได้เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย เลิศทางมีฤทธิ์  เป็นกำลังสำคัญในการช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนา

              พระศาสดา  ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธอย่างนี้แล้ว  เสด็จจาริกไปมาในชนบท นั้น ๆ  ทรงแสดงธรรมเทศนาสั่งสอนประชุมชนให้ได้ความเชื่อ  ความเลื่อมใส  แล้วปฏิบัติตาม  ออกบวชในพระธรรมวินัย  เป็นภิกษุบ้าง  เป็นภิกษุณีบ้าง  คงอยู่ในฆราวาสเป็นอุบาสกบ้าง  อุบาสิกาบ้าง  รวมเข้าเป็นพุทธบริษัท  ๔  เหล่า   ประกาศพระศาสนาให้แพร่หลายเพื่อสมพุทธปณิธานที่ได้ทรงตั้งไว้เดิม

มัชฌิมโพธิกาล

ปริจเฉทที่  ๙

ทรงบำเพ็ญพุทธกิจในมคธชนบท

ประทานอุปสมบทแก่พระมหากัสสปะ

              คราวหนึ่ง  พระศาสดาเสด็จจาริกโปรดประชาชนในมคธชนบท  ประทับอยู่ที่ใต้ร่มไทร  เรียกว่า   พหุปุตตกนิโครธ   ระหว่างกรุงราชคฤห์และเมืองนาลันทาต่อกัน  ในเวลานั้น   ปิปผลิมาณพ   กัสสปโคตร   มีความเบื่อหน่ายในการครองเรือน  ละฆราวาสถือเพศเป็นบรรพชิต  ออกบวชอุทิศพระอรหันต์ในโลก  จาริกมาถึงที่นั้น  เห็นพระศาสดา  มีความเลื่อมใสเข้าไปเฝ้า   รับเอาพระองค์เป็นศาสดาของตน    ทรงรับเป็นภิกษุในพระธรรมวินัยด้วย   ประทานโอวาท  ๓  ข้อ  ว่า

              ๑.  กัสสปะ    ท่านพึงศึกษาว่า  เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความยำเกรงในภิกษุ  ทั้งที่เป็นผู้เฒ่า  ทั้งที่เป็นผู้ใหม่  ทั้งที่เป็นปานกลาง  อย่างแรงกล้า

               ๒. เราจะฟังธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง  ซึ่งประกอบด้วยกุศล  เราจักเงี่ยหูลงฟังธรรมนั้น  พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมนั้น

              ๓.   เราจะไม่ละสติไปในกาย  คือ  พิจารณาร่างกายเป็นอารมณ์ (กายคตาสติ)

                  พระมหากัสสปะได้ฟังพุทธโอวาทนั้นแล้ว  บำเพ็ญเพียรปฏิบัติตามในวันที่  ๘  แต่อุปสมบทได้สำเร็จพระอรหัต

มหาสันนิบาตแห่งมหาสาวก

              ครั้งพระศาสดาเสด็จประทับ ณ กรุงราชคฤห์  พระนครหลวงแห่งมคธ  ได้มีการประชุมแห่ง พระสาวกคราวหนึ่ง  เรียกว่า   จาตุรงคสันนิบาต   แปลว่า  การประชุมมีองค์  ๔  คือ

              ๑.   พระสาวกผู้เข้าประชุมกันนั้น  ล้วนเป็นพระอรหันต์อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว

              ๒.   พระสาวกเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุ  สาวกครั้งแรกที่พระศาสดาประทานอุปสมบทเอง

              ๓.   พระสาวกเหล่านั้นไม่ได้นัดหมาย  ต่างมาพร้อมกันเข้าเอง ๑,๒๕๐ องค์

              ๔. พระศาสดาประทานพระบรมพุทโธวาท  ซึ่งเรียกว่า  โอวาทปาฏิโมกข์  ย่อหัวใจ พระพุทธศาสนาแสดง

              มหาสันนิบาตนี้  ได้มีขึ้นที่เวฬุวนาราม  ในวันมาฆปุรณมี  ดิถีเพ็ญมาฆมาส  คือ  เดือน  ๓  เวลาบ่าย  การประชุมนี้มีชื่อเล่าลือมาในพระศาสนา  จึงยกขึ้นกล่าวเป็นพระเกียรติของพระศาสดา ในมหาปทานสูตร      และเป็นอภิรักขิตสมัยที่ทำบูชาของวัดทั้งหลาย  เรียกว่า มาฆบูชา

โอวาทปาฏิโมกข์คำสอนหลักของศาสนา

              โอวาทปาฏิโมกข์นั้น  เป็นคำประพันธ์  ๓  คาถากึ่ง

คาถาที่  ๑  แสดงว่า

              ขันติ  คือ  ความอดทน  เป็นตบะอย่างยอด

              ท่านผู้รู้กล่าวนิพพานว่าเป็นยอด

              บรรพชิตผู้ฆ่า  ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่น  ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

คาถาที่  ๒  แสดงว่า

              การไม่ทำบาปทั้งปวง  การยังกุศลให้บริบูรณ์

              การยังจิตของตนให้ผ่องใส  เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

คาถาที่  ๓  แสดงว่า

                  การไม่พูดข้อนขอดกัน  การไม่ประหัดประหารกัน

              ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์  ความรู้จักประมาณในอาหาร

              ความเสพที่นอนที่นั่งอันสงัด  ความประกอบความเพียรทางใจอย่างสูง

              เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

              การแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ของพระศาสดา  ก็เพื่อพระสาวกผู้เที่ยวสอนในพระพุทธศาสนา  จะได้ยกเอาธรรมข้อใดข้อหนึ่งขึ้นแสดงโดยเหมาะสมแก่บริษัท  ท่านกล่าวว่า  โอวาทปาฏิโมกข์นี้    พระศาสดาเองก็ตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ในอุโบสถทุกกึ่งเดือน  มางดเสียเมื่อได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์เอาสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้มาสวดในที่ประชุมแทน    เรียกว่า  สวดพระปาฏิโมกข์

ทรงอนุญาตเสนาสนะ

              ในคราวเสด็จกรุงราชคฤห์ครั้งแรก  พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายเวฬุวนารามเป็นที่ประทับพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์  สถานที่นั้นคงเป็นป่าไผ่  ไม่มีอาคาร แต่อย่างใด  สมด้วยข้อความในเสนาสนะขันธกะว่า  ครั้งพระศาสดายังไม่ได้อนุญาตเสนาสนะ  ภิกษุทั้งหลาย อยู่กันในป่าบ้าง  โคนไม้บ้าง  บนภูเขาบ้าง  ซอกเขาบ้าง  ในถ้ำบ้าง  ป่าช้าบ้าง  ที่สุมทุมพุ่มไม้บ้าง  ที่แจ้งบ้าง  ลอมฟางบ้าง

              วันหนึ่ง  ราชคหกเศรษฐีไปอุทยานแต่เช้า  เห็นภิกษุทั้งหลายออกจากสถานที่เหล่านั้น  ด้วย กิริยาอาการน่าเลื่อมใส  จึงถามว่าถ้าเขาทำวิหารถวายจะอยู่ในวิหารได้ไหม  ภิกษุทั้งหลายตอบว่า  พระศาสดา ยังไม่ทรงอนุญาต  เขาขอให้กราบทูลถามแล้วบอกแก่เขา  ภิกษุทั้งหลายได้ทำตามนั้น  พระศาสดา ทรงอนุญาตที่นั่งที่นอน   ๕   ชนิด    คือ  วิหาร  ๑   อัทฒโยค   ๑  ปราสาท   ๑   หัมมิยะ  ๑   คุหา   ๑

              วิหาร  คือ   กุฏิธรรมดา   อัทฒโยค   คือ  เพิง  ปราสาท  คือ  เรือนชั้น  เช่น  ตึกแถว  หัมมิยะ  คือ   ที่อยู่ก่อด้วยอิฐหรือดินเหนียว    โดยหาสิ่งอื่นมาทำหลังคา   คุหา  คือ  ถ้ำทั่วไป

ทรงแสดงวิธีทำปุพพเปตพลี

              พระเจ้าพิมพิสาร ทรงทำปุพพเปตพลี  คือ  การทำบุญอุทิศบรรพบุรุษ  ภายหลังจากพระองค์ทรง นับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ในวันทรงทำปุพพเปตพลี  ทรงทูลเชิญสมเด็จพระศาสดาพร้อมด้วย พระภิกษุสงฆ์ ไปทรงอังคาสที่พระราชนิเวศน์    พระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว ทรงบริจาคไทยธรรมต่าง ๆ  รวมทั้งผ้าด้วยแก่ พระภิกษุสงฆ์  แล้วทรงอุทิศบุรพบิดร  คือ  บรรพบุรุษผู้ล่วงลับวายชนม์

              พระศาสดาทรงอนุโมทด้วยคาถา  มีคำว่า   อทาสิ   เม    อกาสิ    เม  เป็นต้น  แปลว่า  ญาติก็ดี  มิตรก็ดี  ระลึกถึงอุปการะอันท่านทำแล้วในกาลก่อนว่า  ท่านได้ให้สิ่งนี้แก่เรา  ได้ทำสิ่งนี้แก่เรา  เป็นญาติ  เป็นมิตร  เป็นสขา  (สหาย)  ของเรา  พึงให้ทักษิณา  เพื่อชนผู้ล่วงลับไปแล้ว  ไม่พึงทำการร้องไห้   เศร้าโศก   รำพันถึง     (เพียงอย่างเดียว)  เพราะการอย่างนั้นไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ญาติผู้ล่วงลับไป  แต่ญาติทั้งหลายก็มักเป็นอย่างนี้  (คือร้องไห้  เป็นต้น)  ส่วนทักษิณานี้ที่ท่านทั้งหลายบริจาคในสงฆ์     ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้วนั้นโดยพลัน   ท่านทั้งหลาย   (ชื่อว่า)   ได้แสดงออกซึ่ง ญาติธรรมด้วย  ได้ทำบูชาญาติผู้ล่วงลับอย่างยิ่งด้วย  ได้เพิ่มกำลังให้แก่ภิกษุทั้งหลายด้วย  เป็นอันได้บุญ ไม่น้อยเลย

              การทำปุพพเปตพลี  ย่อมบำรุงความรัก  ความนับถือ  ในบรรพบุรุษของตน  ให้เจริญกุศล ส่วน กตัญญูกตเวทิตาเป็นทางมาแห่งความรุ่งเรืองแห่งสกุลวงศ์  พระศาสดาจึงได้ทรงอนุมัติ  ด้วยประการฉะนี้

ทรงมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ในกิจ

              วันหนึ่ง พระศาสดาประทับอยู่ที่วิหารเชตวัน อารามของอนาถปิณฑิกเศรษฐี  เมืองสาวัตถี  แคว้น โกศล  มีพราหมณ์ชราคนหนึ่งศรัทธามาขอบวช    จึงทรงมอบให้พระสารีบุตรบวชให้   โดยทำพิธีเป็นการสงฆ์    ในมัธยมชนบทต้องประชุมภิกษุ ๑๐ รูป  ในปัจจันตชนบทมีพระน้อยประชุมภิกษุ ๕  รูป  ภิกษุรูป หนึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์  คือ  เป็นผู้รับรอง (รับผิดชอบ) ผู้จะอุปสมบท   รูปหนึ่งประกาศสงฆ์ให้รู้เรื่อง  แต่ในปัจจุบันนี้นิยมใช้ ๒ รูป  เรียกว่า   กรรมวาจาจารย์   กับอนุสาวนาจารย์    แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า  คู่สวด   ครั้นประกาศสงฆ์ให้รู้เรื่อง ๓ ครั้ง   ถ้าไม่มีภิกษุคัดค้านผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ    ถ้าถูกคัดค้าน แม้เสียงเดียวเป็นอันไม่ยอมรับ  อุปสมบทชนิดนี้เรียก  ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา  แปลว่า  อุปสมบท ด้วยการสงฆ์  มีวาจาประกาศเป็นที่ ๔ เมื่อทรงอนุญาตวิธีอุปสมบทนี้แล้ว  ทรงยกเลิกการ อุปสมบทแบบไตรสรณคมน์ที่ทรงอนุญาตไว้เดิม

ทรงสอนพระศาสนาผ่อนลงมาถึงคดีโลก

              วันหนึ่ง  พระศาสดาเสด็จไปบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์  พบชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ  สิงคารมาณพ  กำลังไหว้ทิศอยู่จึงตรัสถาม  เขาทูลว่าไหว้ทิศพระเจ้าข้า    บิดาของข้าพระองค์ก่อน ตายได้สั่ง เอาไว้  ข้าพระองค์เคารพคำสั่งของท่านจึงไหว้ทิศ

              พระพุทธองค์ตรัสแก่เขาว่า  ในแวดวงของอารยชน  เขาไม่ไหว้ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก  เป็นต้น  อย่างนี้หรอก  เขาไหว้ทิศ  ๖  แต่ก่อนจะไหว้ทิศต้องทำกิจเบื้องต้นให้สมบูรณ์ด้วย  คือ  ต้องเว้นกรรมกิเลส  ๔  ไม่ทำบาปกรรมเพราะอคติ  ๔  และไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข  ๖  ต่อจากนั้นจึงไหว้ทิศ  ๖  คือ

              ๑.   ทิศบูรพา  อันเป็นทิศเบื้องหน้า  ได้แก่  มารดา  บิดา

              ๒.   ทิศทักษิณ  อันเป็นทิศเบื้องขวา  ได้แก่  อาจารย์

              ๓.   ทิศปัจจิม  อันเป็นทิศเบื้องหลัง  ได้แก่  บุตรภรรยา

              ๔.   ทิศอุดร  อันเป็นทิศเบื้องซ้าย  ได้แก่  มิตรอมาตย์

              ๕.   ทิศเบื้องล่าง  ได้แก่  บ่าวและลูกจ้าง

              ๖.   ทิศเบื้องบน  ได้แก่  สมณพราหมณ์

              ส่วนความละเอียดแห่งเทศนานี้  มีอยู่ในวิชาธรรมแผนกคิหิปฏิบัติ

ทรงแสดงวิธีทำเทวตาพลี

              ครั้งหนึ่ง    พระศาสดาเสด็จจาริกไปถึงบ้านปาฏลิคาม   แคว้นมคธ   คราวนั้นสุนีธพราหมณ์  และวัสสการพราหมณ์  มหาอำมาตย์มคธ  มาอยู่ที่นั่น กำลังสร้างนครเพื่อป้องกันชาววัชชี   สองอำมาตย์นั้นมาเฝ้า   เชิญเสด็จรับภัตตาหารที่เมืองใหม่นั้น    พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์  เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว  พระศาสดาทรงอนุโมทนาด้วยคาถา  มีคำว่า  ยสฺมึ  ปเทเส กมฺเปติ วาสํ ปณฺฑิตชาติโย    เป็นต้น  มีความว่า  กุลบุตรผู้มีชาติแห่งบัณฑิต  สำเร็จการอยู่ในประเทศใด  พึงนิมนต์พรหมจารี    ผู้มีศีลสำรวมดีให้ฉัน ณ  ที่นั้นแล้ว  อุทิศทักษิณาเพื่อเทวดาผู้สถิตย์  ณ  ที่นั้น   เทวดาทั้งหลายนั้นอันกุลบุตรนั้นบูชาแล้ว  ย่อมบูชาตอบ   อันกุลบุตรนั้นนับถือแล้ว   ย่อมนับถือตอบ  แต่นั้นย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้นด้วยเมตตา  ดุจมารดากับบุตร  กุลบุตรนั้นอันเทวดาอนุเคราะห์แล้ว  ย่อมเห็น  (ได้)  ผลอันเจริญทุกเมื่อ

ปัจฉิมโพธิกาล

ปลงอายุสังขาร

              เมื่อพระศาสดาตรัสรู้แล้ว  และได้เสด็จพระพุทธดำเนินสัญจรสั่งสอนเวไนยสัตว์ในคาม  นิคม  ชนบท  ราชธานี  มีเมืองราชคฤห์  แคว้นมคธ  เป็นต้น  จนประดิษฐานพระพุทธศาสนามี  ภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  และอุบาสิกา  ซึ่งเรียกว่า  บริษัท   ๔  นับเวลาแต่อภิสัมโพธิสมัยล่วงได้   ๔๔   พรรษา  ครั้น  ณ  พรรษากาลที่   ๔๕   เสด็จจำพรรษา  ณ บ้านเวฬุวคาม  เขตพระนครไพสาลี  ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ จนเวลาล่วงไปถึงเดือนที่  ๓  แห่งฤดูเหมันต์   อันได้แก่   มาฆมาส   (เดือน  ๓)   วันบุรณมี   ทรงปลงอายุสังขาร   ณ ปาวาลเจดีย์ว่า   อีก   ๓   เดือนต่อแต่นี้ไปตถาคตจักปรินิพพาน

ทรงแสดงอภิญญาเทสิตธรรม

              เมื่อพระศาสดา ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวันตรัสประทานโอวาทสอนภิกษุสงฆ์ด้วย อภิญญาเทสิตธรรมว่า    ธรรมทั้งหลายที่เราแสดงด้วยปัญญายิ่ง  คือ  สติปัฏฐาน   ๔   สัมมัปปธาน   ๔   อิทธิบาท   ๔   อินทรีย์   ๕  พละ  ๕  โพชฌงค์   ๗  มรรคมีองค์  ๘  ชื่ออภิญญาเทสิตธรรม  ท่านทั้งหลายพึงเรียนให้ดี  และส้องเสพเจริญทำให้มากในสันดานเถิด

ทรงแสดงอริยธรรม  ๔  ประการ

              เมื่อพระศาสดาประทับอยู่  ณ  บ้านภัณฑุคาม  ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุสงฆ์ว่า  เพราะไม่ หยั่งรู้ธรรม   ๔   ประการ  คือ  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  และวิมุตติ  อันเป็นอริยธรรม

              นี้แลเป็นเหตุ   เราและท่านทั้งหลาย   จึงได้ท่องเที่ยวไปในกำเนิดและคติ  สิ้นกาลนานนัก อย่างนี้  แต่บัดนี้เราและท่านทั้งหลายได้ตรัสรู้ธรรมทั้ง  ๔  นั้นแล้ว  ตัดตัณหาได้  ภพใหม่จึงไม่มี

ทรงแสดงมหาปเทส   ฝ่ายพระสูตร    ๔

              เมื่อพระศาสดาประทับอยู่  ณ  อานันทเจดีย์   ในเขตโภคนคร    ตรัสเทศนามหาปเทส   ๔   ฝ่ายพระสูตรว่า  ถ้ามีผู้มาอ้างพระศาสดา  สงฆ์  คณะ  หรือบุคคล  แล้วแสดงว่านี้ธรรม  นี้วินัย  นี้สัตถุศาสน์  อย่าด่วนรับหรือปฏิเสธ  พึงสอบดูกับพระสูตรและพระวินัย  ถ้าไม่ตรงกัน  พึงเข้าใจว่านั่น ไม่ใช่คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ถ้าตรงกันพึงทราบว่า  นั่นเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า    มหาปเทส  แปลว่า  ที่อ้างใหญ่

นายจุนทะถวายปัจฉิมบิณฑบาต

              ครั้นใกล้ถึงวันปรินิพพาน  ตามที่ทรงปลงอายุสังขารไว้    สมเด็จพระโลกนาถพร้อมภิกษุสงฆ์ พุทธบริวาร  ได้เสด็จถึงปาวานคร  ประทับอยู่  ณ  อัมพวัน   สวนมะม่วงของนายจุนทะ   บุตรช่างทอง   นายจุนทะทราบข่าว   จึงไปเฝ้า  ฟังธรรมเทศนาแล้ว  กราบทูลเชิญเสด็จเพื่อทรงรับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น      ทรงรับนิมนต์และเสด็จไปตามนั้น  ซึ่งวันนั้นเป็นวันก่อนวันปรินิพพานหนึ่งวัน  (ขึ้น  ๑๔  ค่ำ)  นายจุนทะได้ถวายสูกรมัทวะแก่พระศาสดา  ทรงรับสั่งให้ถวายเฉพาะพระองค์เท่านั้น  ส่วนภิกษุสงฆ์ให้ถวาย อาหารอย่างอื่นและให้เอาสูกรมัทวะที่เหลือจากที่เสวยฝังเสียในบ่อ  หลังจากทรงเสวยสูกรมัทวะได้ทรง ประชวรลงพระโลหิต  เกิดเวทนากล้าใกล้ต่อมรณทุกข์  จึงตรัสเรียกพระอานนท์มาว่า  จักเสด็จเมืองกุสินารา  พระอานนท์ได้ปฏิบัติตามนั้น

ผิวกายพระตถาคตผ่องใสยิ่ง   ๒   กาล

              ระหว่างทางเสด็จไปเมืองกุสินารา  บุตรแห่งมัลลกษัตริย์นามว่า  ปุกกุสะ  เป็นสาวก ของอาฬารดาบส   กาลามโคตร  ได้ถวายผ้าคู่สิงคิวรรณ   ตรัสให้ถวายพระอานนท์ผืนหนึ่ง  เมื่อปุกกุสะหลีก ไปแล้ว  พระอานนท์ได้ถวายผ้าของท่านแก่พระศาสดา  ทรงนุ่งผืนหนึ่งห่มผืนหนึ่ง  พรรณแห่งผิว พระกายผุดผ่องยิ่งนัก  สมดังที่ตรัสว่า  ดูก่อนอานนท์  กายแห่งพระตถาคตย่อมบริสุทธิ์  ผิวพรรณผุด ผ่องยิ่ง  ๒  เวลา  คือ  ในราตรีที่จะตรัสรู้ ๑  ในราตรีที่จะปรินิพพาน   ๑

บิณฑบาตทาน  ๒  คราว  มีผลเสมอกัน

              ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์บิณฑบาต  ๒ อย่างนี้   มีผลเท่ากัน    มีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตอย่างอื่น  คือ  บิณฑบาตที่ตถาคตบริโภคแล้วได้ตรัสรู้   ๑  บิณฑบาตที่ตถาคตบริโภคแล้วปรินิพพาน ๑

ประทมอนุฏฐานไสยา

              ครั้งนั้น   สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า   พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์   เสด็จพุทธดำเนินข้ามแม่ น้ำหิรัญญวดี  ถึงเมืองกุสินาราบรรลุถึงสาลวัน  ตรัสสั่งพระอานนท์ว่า   เธอจงแต่งตั้งปูลาดซึ่งเตียง  ให้มีเบื้องศีรษะ ณ ทิศอุดร ณ ระหว่างแห่งไม้รังทั้งคู่  เราเป็นผู้เหน็ดเหนื่อยนัก  จักนอนระงับความลำบาก พระเถระได้ทำตามพุทธอาณัติโดยเคารพ  สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงสำเร็จสีหไสยาโดยข้างเบื้องขวา  ตั้งพระบาทเหลื่อมด้วยพระบาท  มีสติสัมปชัญญะ  แต่มิได้มีอุฏฐานสัญญามนสิการ  เพราะเหตุเป็น ไสยาอวสาน  เรียกว่า  อนุฏฐานไสยา

              ข้อสังเกต  อนุฏฐานไสยา  การนอนโดยไม่มีสัญญามนสิการว่าจะเสด็จลุกขึ้น  อุฏฐานไสยา  การนอนโดยมีสัญญามนสิการว่า  จะเสด็จลุกขึ้น  ทรงประทับโดยข้างเบื้องขวา  ตั้งพระบาทเหลื่อมกันทั้ง   ๒   อย่าง  ไม่มีความต่างกัน

ทรงปรารภสักการบูชา

              สมัยนั้น   เทวดาทั้งหลายได้บูชาสักการะพระศาสดา     ด้วยเครื่องบูชา    มีดอกไม้  ของหอม  ดนตรีทิพย์  สังคีตทิพย์  เป็นต้น  มากมาย  ทรงทราบด้วยจักษุทิพย์และทิพยโสต   จึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า พระตถาคตเจ้าไม่ชื่อว่าอันบริษัทสักการะนบนอบ  นับถือ  บูชา  คำนับด้วยสักการะพิเศษเพียงเท่านี้ แต่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม  ปฏิบัติชอบยิ่ง  ประพฤติธรรมสมควรแล้ว  จึงชื่อว่าสักการะ  เคารพ  นบนอบ  นับถือ  พระตถาคตเจ้าด้วยบูชาอย่างยิ่ง

ทรงแสดงสังเวชนียสถาน    ๔    ตำบล

              ครั้งนั้น  พระโลกนาถทรงแสดงสถาน   ๔  ตำบลแก่พระอานนท์ว่า  เป็นที่ควรจะดู  ควรจะเห็น  คือ

              ๑.   สถานที่พระตถาคตประสูติ

              ๒.   สถานที่พระตถาคตตรัสรู้

              ๓.   สถานที่พระตถาคตแสดงพระธรรมจักร

              ๔.   สถานที่พระตถาคตปรินิพพาน

ทรงแสดงถูปารหบุคคล    ๔

                  สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถูปารหบุคคล  คือ  ผู้ควรแก่การประดิษฐานพระสถูป  ๔  ประเภท  คือ

              ๑.   พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

              ๒.   พระปัจเจกพุทธเจ้า

              ๓.   พระอรหันตสาวก

              ๔.   พระเจ้าจักรพรรดิราช

โปรดสุภัททปริพาชก

              สมัยนั้น  ปริพาชกผู้หนึ่งชื่อ  สุภัททะ  อาศัยอยู่  ณ  เมืองกุสินารา  มีความสงสัยมานานว่า    ครูทั้ง ๖ คือ  ปูรณกัสสป  มักขลิโคศาล  อชิตเกสกัมพล  ปกุทธกัจจายนะ   สัญชยเวลัฎฐบุตร     นิครนถนาฏบุตร  ซึ่งคนเป็นอันมากสมมติกันว่าเป็นผู้ประเสริฐ  ทั้ง  ๖  ท่านได้ตรัสรู้จริงหรือไม่  จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาเพื่อทูลถามปัญหานั้น

              พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่เขาว่า    อริยมรรคมีองค์   ๘   ไม่มีในธรรมวินัยใด  สมณะที่  ๑  (คือ  พระโสดาบัน)  สมณะที่  ๒  (คือ  พระสกิทาคามี)  สมณะที่  ๓  (คือ  พระอนาคามี)  สมณะที่  ๔  (คือ  พระอรหันต์)  ย่อมไม่มีในธรรมวินัยนั้น

              สุภัททปริพาชกได้ทูลขออุปสมบท  จึงทรงมอบหมายให้พระอานนท์ว่า  ถ้ากระนั้น  ท่านทั้งหลาย จงให้สุภัททะบวชเถิด  พระอานนท์ได้ทำตามพุทธประสงค์  สุภัททปริพาชก  ชื่อว่าได้อุปสมบท ในสำนัก แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า  ไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตผล

ทรงตั้งพระธรรมวินัยเป็นศาสดา

              ลำดับนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า  ตรัสเรียกพระอานนท์ให้เป็นผู้รับเทศนา ประทานโอวาทแก่  ภิกษุบริษัท   เพื่อจะให้มีความเคารพต่อพระธรรมวินัย    ตั้งไว้ในที่แห่งพระศาสดาว่า  ดูก่อนอานนท์  ความดำริดังนี้  จะพึงมีบ้างแก่ท่านทั้งหลายว่า    ศาสนามีศาสดาล่วงแล้ว  พระศาสดาแห่งเราทั้งหลายไม่มี  ดูก่อนอานนท์  ท่านทั้งหลายไม่พึงเห็นอย่างนั้น   ธรรมก็ดี   วินัยก็ดี   อันใด   อันเราได้แสดงแล้ว   ได้บัญญัติไว้แล้วแก่ท่านทั้งหลาย  ธรรมและวินัยนั้น  จักเป็นศาสดาแห่งท่านทั้งหลาย  โดยกาลที่ล่วง ไปแล้วแห่งเรา

ปัจฉิมโอวาท

                  ลำดับนั้น   สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา ประทานปัจฉิมโอวาทว่า  ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมความสิ้นไปเป็นธรรมดา  ท่านทั้งหลาย จงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยไม่ประมาทเถิด พระวาจานี้เป็นที่สุดของ พระตถาคตเจ้า  ซึ่งรวมเอาพระโอวาทที่ได้ประทานแล้วตลอด   ๔๕   พรรษา  ไว้ในความไม่ประมาท

ปรินิพพาน

              หลังจากตรัสปัจฉิมโอวาทแล้ว  พระองค์ไม่ได้ตรัสอะไรอีกเลย        ทรงทำปรินิพพานบริกรรม  (เตรียมปรินิพพาน)  ด้วยอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง  ๙   คือ  รูปฌาณ  ๔    อรูปฌาณ   ๔    สัญญาเวทยิตนิโรคสมาบัติ  ดับจิตสังขาร  คือ  สัญญาและเวทนา  ๑  พระพุทธองค์ได้เสด็จ ดับขันธปรินิพพาน       ในปัจฉิมยามแห่งราตรีวิสาขปุรณมีดิถีเพ็ญกลางเดือน  ๖

อปรกาล

ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

                  เมื่อพระศาสดาปรินิพพานได้  ๗  วัน  มัลลกษัริย์ทั้งหลายได้อัญเชิญพระสรีระไปประดิษฐาน  ณ  มกุฏพันธนเจดีย์  เพื่อที่จะทำการถวายพระเพลิง  เมื่อพระมหากัสสปะซึ่งเป็นสังฆเถระมาถึง  จึงได้ ถวายพระเพลิง

                  ในการถวายพระเพลิงนั้น   หนัง   เนื้อ   เอ็น   ไขข้อ      ถูกเพลิงเผาไหม้หมดสิ้น  ส่วนพระอัฐิ   พระเกสา    พระโลมา   พระนขา    พระทันตา  ทั้งหมดยังเหลืออยู่  กับผ้าคู่หนึ่งเหลือเป็นปกติอยู่  เพื่อเป็น เครื่องห่อพระบรมสารีริกธาตุ

แจกพระบรมสารีริกธาตุ

              พระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  มี   ๓   ขนาด    ขนาดใหญ่เท่ากับเมล็ด ถั่วเขียวแตก  (ครึ่ง)  ขนาดกลางเท่ากับเมล็ดข้าวสารแตก  ขนาดเล็กเท่ากับเมล็ดผักกาด   ขนาดใหญ่    ๕    ทะนาน  ขนาดกลาง  ๕   ทะนาน   ขนาดเล็ก  ๖  ทะนาน  โทณพราหมณ์  ได้แบ่งให้กษัตริย์ และพราหมณ์ที่มาขอท่านละ   ๒   ทะนาน    เอาไปประดิษฐานในสถูป  ณ  เมืองของตน   ๘   แห่ง   คือ   ๑.  พระนครราชคฤห์     ๒.  พระนครเวสาลี  ๓.  พระนครกบิลพัสดุ์  ๔.  อัลลกัปปนคร  ๕.  รามคาม  ๖.  นครเวฏฐทีปกะ  ๗.  นครปาวา  ๘.  นครกุสินารา

              ฝ่ายโทณพราหมณ์ก็ได้เชิญตุมพะ  คือ  ทะนานตวงพระธาตุไปก่อพระสถูปบรรจุไว้    มีชื่อว่า    ตุมพสถูป

              กษัตริย์เมืองปิปผลิวัน  เชิญพระอังคาร  คือ  เถ้าถ่านที่ถวายพระเพลิงไปทำพระสถูปบรรจุไว้    มีชื่อว่า    พระอังคารสถูป

              จึงรวมพระสถูปเจดีย์สถานเมื่อปฐมกาล  ๑๐  แห่งด้วยประการฉะนี้

ประเภทแห่งเจดีย์

              ในปฐมกาล หลังจากพระศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานใหม่ ๆ คงมีเจดีย์ ๒ ประเภท คือ

              ๑.   พระสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  ๘  ส่วน  ที่โทณพราหมณ์แบ่งให้  เรียกว่า     ธาตุเจดีย์

              ๒.   ตุมพสถูป   อังคารสถูป  และสังเวชนียสถาน  ๔  ตำบล  เรียกว่า  บริโภคเจดีย์

              ครั้นต่อมา  พระพุทธศาสนาแผ่กว้างออกไป  พุทธศาสนิกชนหาพระธาตุไม่ได้  จึงได้สร้างสถูป แล้วนำเอาคัมภีร์พระธรรมไปบรรจุไว้  เรียกว่า  ธรรมเจดีย์

              ต่อมา  เมื่อโลกเจริญขึ้น  จึงมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นกราบไหว้บูชา  เรียกว่า  อุทเทสิกเจดีย์  รวมทั้งหมดจึงเป็นเจดีย์   ๔   ประเภท  เป็นที่เคารพนับถือบูชาแทนองค์พระศาสดา  แห่งพุทธศาสนิกชน

ความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัย

สังคายนาครั้งที่  ๑

              เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสว่า  ดูก่อนอานนท์  ธรรมก็ดี  วินัยก็ดี  อันใด  อันเราแสดงแล้วบัญญัติไว้แล้ว  แก่ท่านทั้งหลาย  ธรรมและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาแห่งท่านทั้งหลาย  โดยกาล ที่ล่วงไปแล้วแห่งเรา  ดังนั้น  การสังคายนา  คือ  รวบรวมพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงไว้ในที่นั้น ๆ ตลอดเวลา  ๔๕  ปี  ให้เป็นหมวดหมู่  เพื่อเป็นหลักฐานในการประพฤติปฏิบัติ  จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

              เมื่อถวายพระเพลิงพระสรีระของพระศาสดาแล้ว  ท่านพระมหากัสสปะได้นำเรื่องหลวงตาสุภัททะ กล่าวล่วงเกินพระธรรมวินัยว่า  บัดนี้พระสมณโคดมนิพพานแล้ว  พวกเราอยากจะทำอะไรก็ทำ  พูดเหมือน กับไม่เคารพพระธรรมวินัย  ปรารถนาจะทำอะไรตามใจตนเอง  โดยไม่ต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย  เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอันตรายที่จะเกิดแก่พระพุทธศาสนา

                  พระมหากัสสปะ จึงชักชวนภิกษุทั้งหลายให้ทำการสังคายนาพระธรรมวินัย  ได้คัดเลือกภิกษุสงฆ์  องค์อรหันต์  ๕๐๐  รูป  ไปทำสังคายนาที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา  ข้างภูเขาเวภารบรรพต  แขวงเมืองราชคฤห์  เป็นสังคายนาครั้งแรก  เมื่อพระศาสดาปรินิพพานได้ ๓ เดือน โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์ กระทำอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ

สังคายนาครั้งที่  ๒

              เมื่อพระศาสดาปรินิพพานได้  ๑๐๐  ปี  ภิกษุวัชชีบุตร  ชาวเมืองเวสาลี  แสดงวัตถุ  ๑๐  ประการ   อันผิดพระธรรมวินัย  มีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์เห็นดีเห็นชอบด้วยจำนวนมาก   ยากที่จะแก้ไข   องค์พระอรหันต์   ๗๐๐   รูป  มีพระยสกากัณฑกบุตรเป็นประธาน  ได้ประชุมกันที่วาลิการาม  เมืองเวสาลี  ชำระวัตถุ  ๑๐  ประการ  ประดิษฐานธรรมวงศ์ให้บริสุทธิ์สืบมา ทำอยู่ ๘ เดือนจึงสำเร็จ

สังคายนาครั้งที่  ๓

              เมื่อพระศาสดาปรินิพพานได้   ๒๑๘   ปี  ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช  แห่งปาฏลีบุตร  เดียรถีย์ปลอมบวชในพระพุทธศาสนาจำนวนมาก  ประพฤติผิดแปลกแตกต่างไปจากพระธรรมวินัย  พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ  ได้พึ่งราโชปถัมถ์ในพระเจ้าอโศกมหาราช  กำจัดเดียรถีย์เหล่านั้นออก จากสังฆมณฑล แล้วพร้อมด้วยพะอรหันต์ ๑,๐๐๐ องค์ชำระวาทะซึ่งเป็นมลทิน แห่งพระธรรมวินัย ออกได้แล้วประดิษฐานธรรมวงศ์ให้ดำรงสืบมา กระทำอยู่ ๙ เดือนจึงสำเร็จ

 

คิหิปฏิบัติ

     ประโยชน์ปัจจุบัน

        ๑. อุฏฐานสัมปทา   ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ในการประกอบกิจการเครื่องเลี้ยงชีพก็ดี

                           ในดารศึดษาเล่าเรียนก็ดี  ในการทำหน้าที่ของนเองก็ดี

        ๒. อารักขสัมปทา  ถึงพร้อมด้วยการรักษา  คือรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความหมั่น

                          ไม่ให้เป็นอันตรายก็ดี  รักษาการงานของตนไม่ให้เสื่อมเสียไปก็ดี

        ๓. กัลยาณมิตตตา  ความมีเพื่อนเป็นคนดี  ไม่คบคนชั่ว
        ๔. สมชีวิตา       ความเลี้องชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่ทำ  ได้ไม่ให้ฝึดเคืองนัก 

                         ไม่ให้ฟูมฟายนัก

    ประโยชย์ภายหน้า  ๔

       ๑. สัทธาสัมปทา  ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ เช่นเชื่อว้า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
       ๒. สีลสัมปทา    ถึงพร้อมด้วยศีล  คือรักษากายวาจาเรียบร้อยดีไม่มีโทษ
       ๓.  จาคสัมปทา   ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน  เป็นการเฉลี่ยสุขให้แก่ผู้อื่น
       ๔. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา  รู้จักบาป  บุญ  คุณโทษ ประโยน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น

 

    ลักษณะของมิตรที่จะเลือกคบด้วย (เพื่อน)

         ๑. มิตรเทียม (เพื่อนไม่ดี) มี  ๔  จำพวก

(๑.)    ปอกลอก

(๒)   คนดีแต่พูด

(๓)  คนหัวประจบ

(๔)  คนชวนในทางฉิบหาย

 

คนปอกลอก มีลักษณะ  ๔

               ๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว

               ๒. เสียให้น้อย คิดเอาให้ได้มาก

               ๓. เมื่อมีภัยแก่ตัว  จึงรับทำกิจของเพื่อน

               ๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว

               คนดีแต่พูด  มีลักษณะ  ๔

               ๑. เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย

               ๒. อ้างเอาของที่ยังไม่มีมาปราศรัย

               ๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้

               ๔. ออกปากพึ่งมิได้

              คนหัวประจบ  มีลักษณะ  ๔

               ๑. จะทำชั่วก็คล้อยตาม

               ๒. จะทำดีก็คล้อยตาม

               ๓. ต่อหน้าว่าสรรเสริญ

               ๔. ลับหลังตั้งนินทา

            คนชักชวนในทางฉิบหาย มีลักษณะ มี  ๔

               ๑. ชักชวนดื่มน้ำเมา

               ๒. ชักชวนเที่ยวกลางคืน

               ๓. ชักชวนให้มัวเมาในการเล่น

               ๔. ชักชวนเล่นการพนัน

 

      มิตรแท้ (เพื่อนแท้) มี  ๔  จำพวก

               ๑. มิตรมีอุปการะ

               ๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์

               ๓. มิตรแนะประโยชน์

               ๔. มิตรมีความรักใคร่

      มิตรมีอุปการะมี  ลักษณ  ๔

               ๑. ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว

               ๒. ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว

               ๓. เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้

               ๔. เมื่อมีธุระ ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก

       มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีลักษณะ  ๔

               ๑. ขยายความลับของตนแก่เพื่อน

               ๒. ปิดความลับของเพื่อนไม่ให้แพร่งพราย

               ๓. ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ

               ๔. แม้ชีวิตก็อาจสละแทนได้

        มิตรแนะนำประโยชน์ มีลักษณะ  ๔

               ๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว

               ๒. แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี

               ๓. ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง

               ๔. บอกทางสวรรค์ให้

        มิตรมีความรักใคร่  มีลักษณะ ๔

               ๑. ทุกข์  ๆ  ด้วย

               ๒. สุข  ๆ  ด้วย

               ๓. โต้เถียงคนที่พูดติเตียนเพื่อน

               ๔. รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน

 

          สังคหวัตถุ  ๔  อย่าง

                ๑.  ทาน  ให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน

                ๒. ปิยวาจา เจรจาวาจาที่อ่อนหวาน

                ๓. อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

                ๔. สมานัตตา     ความเป็นคนมีตนเสมอไม่ถือตัว

 

          สุขของคฤหัสถ์  ๔  อย่าง

               ๑. สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์

               ๒. สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค

               ๓. สุขเกิดแต่ความไม่ต้องเป็นหนี้

               ๔. สุขเกิดแต่ประกอบการงาานที่ปราศจากโทษ

      ความปรารถนาของบุคคลในโลกที่ได้สมหมายโดยยาก  ๔  อย่าง

               ๑. ขอสมบัติจงเกิดมีแก่เราโดยทางที่ชอบ

               ๒. ขอยศจงเกิดมีแก่เราและญาติพวกพ้อง

               ๓. ขอเราจงรักษาอายุให้ยืนนาน

               ๔. เมื่อสิ้นชีพแล้ว ขอเราไปบังเกิดในสวรรค์

      ธรรมเป็นเหตุให้สมหมาย  มีอยู่  ๔  อย่าง

               ๑.  สัทธาสัมปทา   ถึงพร้อมด้วยศรัทธา

               ๒. สีลสัมปทา      ถึงพร้อมด้วยศีล

               ๓. จาคสัมปทา     ถึงพร้อมด้วยการบริจาค

               ๔. ปัญญาสัมปทา  ถึงพร้อมด้วยปัญญา

       ตระกูลอันมั่งคั่งจะตั้งอยู่นานไม่ได้  เพราะสถาน  ๔

               ๑. ไม่แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว

               ๒. ไม่บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่า

               ๓. ไม่รู้จักประมาณในหารบริโภคสมบัติ

               ๔. ตั้งสตรีหรือบุรุษทุศีลให้เป็นแม่เรือนพ่อเรือน

       ธรรมของฆราวาส  ๔

               ๑.  สัจจะ    สัตย์ซื่อแก่กัน

               ๒. ทมะ      รู้จักข่มจิตของตน

               ๓. ขันติ      อดทน

               ๔. จาคะ      สละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน

       สมบัติของอุบาสก  ๕  ประการ

               ๑. ประกอบด้วยศรัทธา

               ๒. มีศีลบริสุทธิ์

               ๓. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือเชื่อกรรม  ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว

               ๔. ไม่แสวหาเขตบุญนอกพระพุทธศาสนา

               ๕. บำเพ็ญบุญแต่ในพุทธศาสนา

 

          ทิศ  ๖

                ๑.  ทิศเบื้องหน้า   ได้แก่มารดา บิดา

                ๒. ทิศเบื้องขวา   ได้แก่ อาจารย์

                ๓.  ทิศเบื้องหลัง ได้แก่บุตรภรรยา

                ๔.  ทิศเบื่องซ้าย  ได้แก่มิตร

                ๕.  ทิศเบื้องต่ำ  ได้แก่บ่าว

                ๖.  ทิศเบื้องบน  ได้แก่ สมณพราหมณ์

 

          ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ มารดา บิดา บุตรพึงบำรุงสถาน  ๕

                ๑. ท่านได้เลียงมาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ

                ๒. ทำกิจของท่าน

                ๓. ดำรงวงศ์สกุล

                ๔. ประพฤติตนให้เป็นคนควรรับมรดก

                ๕. เมื่อท่านล่วงลีบไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

          มารดาบิดาได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน  ๕

                ๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว

                ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี

                ๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา

                ๔. หาภรรยาที่สมควรให้

                ๕. มอบทรัพย์ให้ในสมัย

         ทิศเบื้องขวาได้ แก่ อาจารย์  ศิษย์พึงบำรุงด้วยสถาน ๕

                ๑. ด้วยการลุกขึ้นยืนรับ

                ๒. ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้

                ๓. ด้วยเชื่อฟัง

                ๔. ด้วยอุปปัฏฐาก

                ๕. ด้วยเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ

        อาจารย์ได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราพห์ศิษย์ด้ายสถาน ๕

                ๑. แนะนำดี

                ๒. ให้เรียนดี

                ๓. บอกศิลป์ให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง

                ๔. ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง

                ๕. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย

         ทิศเบื้องหลัง ภรรยา  สามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕

                ๑. ด้วยยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา

                ๒. ด้วยไม่ดูหมิ่น

                ๓. ด้วยไม่ประพฤติล่วงใจ

                ๔. ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้

                ๕. ด้วยให้เครื่องแต่งต้ว

       ภรรยาได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕

                ๑. จัดการงานดี

                ๒. สงเคระห์คนข้างเคียงของสามีดี

                ๓. ไม่ประพฤติล่วงใจสามี

                ๔. รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้

                ๕. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง

       ทิศเบื้องซ้าย มิตร กุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕

               ๑. ด้วยให้ปัน

               ๒. ด้วยเจรจาถ้อยคำไพเราะ

               ๓. ด้วยประพฤติประโยชย์

               ๔. ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ

               ๕. ด้วยไม่แกล้งกล่าวไห้คลาดจากความเป็นจริง

       มิตร ได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว  ย่อมอนุเคระห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕

              ๑.รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว

              ๒. รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว

              ๓. เมื่อมีภัย เอาเป็นที่พึ่งพำนักได้

              ๔. ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ

              ๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ของมิตร

      ทิศเบื้องต่ำ บ่าว นายพึงบำรุงด้วยสถาน ๕

             ๑. ด้วยจัดการงานไห้ทำตามสมควรแก่กำลัง

             ๒. ด้วยให้อาหารและรางวัล

             ๓. ด้วยรักษาพยาบาลในเวลาเจ็บไข้

             ๔. ด้วยแจกของมีรสแปลกประปลาดให้กิน

             ๕. ด้วยปล่อยในสมัย

     บ่าวได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว  ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕

             ๑. ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย

             ๒. เลิกการงานที่หลังนาย

             ๓. ถือเอาแต่ของนายให้

             ๔. ทำการงานไห้ดีขึ้น

             ๕. นำคุณของนายไปสรรเสริญในที่นั้น  ๆ

       ทิศเบื้องบน สมณพราหมณ์ กุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕

             ๑. ด้วยกายกรรม คือทำอะไร ๆ ประกอบด้วยเมตตา

             ๒. ด้วยวจีกรรม   คือพูดอะไร  ๆ ประกอบด้วยเมตตา

             ๓. ด้วยมโมกรรม  คือ คิดอะไร ๆ ประกอบเมตตา

             ๔. ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู คือมิได้ห้ามเข้าบ้านเรีอน

             ๕. ด้วยไห้อามิสทาน

        สมณพราหมณ์ได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคระห์กุลบุตรด้วยสถาน ๖

            ๑. ห้ามไม่ให้กระทำความชั่ว

            ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี

            ๓. อนุเคระห์ด้วยน้ำใจอันงาม

            ๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยได้ฟัง

            ๕. สิ่งที่เคยได้ฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง

            ๖. บอกทางสวรรค์ให้

        อบายมุข  คือเหตุเครื่องฉิบหาย

            ๑. ดื่มน้ำเมา

            ๒. เที่ยวกลางคืน

            ๓. เที่ยวดูการเล่น

            ๔. เล่นการพนัน

            ๕. คบคนชั้วเป็นมิตร

            ๖. เกียจคร้านทำการงาน

       ดื่มน้ำเมา มีโทษ  ๖

             ๑. เสียทรัพย์

             ๒. ก่อการทะลาะวิวาท

             ๓. เกิดโรค

             ๔. ต้องติเตียน

             ๕. ไม่รู้จักอาย

             ๖. ทอนกำลังปัญญา

       เทียวกลางคืน มีโทษ  ๖

             ๑. ชื่อว่าไม่รักษาตัว

             ๒. ช่ือว่าไม่รักษาลูกเมีย

             ๓. เชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ

             ๔. เป็นที่ระแวงของคนทั้งหลาย

             ๕. มักถูกใส่ความ

             ๖. ได้รับความลำบากมาก

       เที่ยวดูการละเล่น มีโทษตามวัตถุที่ไปดู ๖

             ๑. รำที่ไหนไปที่นั้น

             ๒. ขับร้องที่ไหนไปที่นั้น

             ๓. ดีดสีตีเป่าที่ไหนไปที่นัน

             ๔. เสภาที่ไหนไปที่นั้น

             ๕. เพลงที่ไหนไปที่นั้น

             ๖. เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั้น

       เล่นการพนัน มีโทษ ๖

             ๑. เมื่อชนะย่อมก่อเวร

             ๒. เมื่อแพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป

             ๓. ทรัพย์ย่อมฉิบหาย

             ๔. ไม่มีใครเชื่อถือถ้อยคำ

             ๕. เป็นหมิ่นประมาทของเพื่อน

             ๖. ไมมีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย

        คบคนชั่วเป็นมิตร มีโทษตามบุคคลที่คบ ๖

             ๑. นำให้เป็นนักเลงการพนัน

             ๒. นำให้เป็นนักเลงการพนัน 

             ๓. นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้

             ๔. นำให้ป็นนักเลงเหล้า

             ๕. นำไให้เป็นลวงเขาซึ่งหน้า

             ๖. นำให้เป็นคนหัวไม้

      เกียจคร้านทำการงาน   มีโทษ ๖

             ๑. มักอ้างว่า หนาวนัก  แล้วไม่ทำการงาน

             ๒. มักอ้างว่า  ร้อนนัก  แล้วไม่ทำงาน

             ๓. มักอ้างว่า เย็นแล้ว  ไม่ทำการงาน

             ๔. มักอ้างว่า  เช้าอยู่  แล้วไม่ทำการงาน

             ๕. มักอ้างว่า หิวนัก  แล้วไม่ทำการงาน

             ๖. มักอ้างว่า  ระหายนัก  แล้วไม่ทำการงาน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วิชาธรรม

ธรรมศึกษา  ชั้นตรี

********

บทนำ

              มนุษย์ทุกรูปทุกนามล้วนปรารถนาความสุขด้วยกันทั้งนั้น และเป็นที่รับรองต้องกันของวิญญูชนว่า  เหตุหรือทางมาแห่งความสุขของมนุษย์นั้น  ที่สำคัญมี ๓  อย่าง  คือ  ๑. วิชาความรู้     ๒. อาชีพการงาน   ๓. ธรรม  คือ ศีลธรรมแต่ส่วนมากมักจะให้ความสำคัญเพียง ๒  อย่าง  คือ  วิชาความรู้กับอาชีพ การงานเพราะมองเห็นชัดว่า คนที่มีความรู้ดีย่อมมีอาชีพการงานที่ดี อาชีพการงานที่ดีก่อให้เกิดทรัพย์    ทรัพย์ย่อมนำมาซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรารถนาและต้องการ เลยพากันทิ้งธรรม  คือ  ศีลธรรม  มนุษย์ จึงไม่ได้รับความสุขที่แท้จริง

              การขาดธรรม   คือ  ศีลธรรม  สร้างปัญหาให้กับสังคมมนุษย์มากมาย ดังตัวอย่างที่ได้เห็น และได้ยินอยู่เสมอ  บางคนบางครอบครัว  มีความรู้สูง มีทรัพย์สินเงินทองมาก แต่ไม่มีความสุข เลยทำร้าย กันถึงกับฆ่ากันก็มี  หรือบางสังคม  บางประเทศขาดธรรมคือความเมตตากรุณา  มีแต่ความอาฆาตพยาบาท  ทำลายล้างกันตลอดเวลา  ทั้งที่มีเศรษฐกิจดี  ก็หาความสุขไม่ได้    

              ดังนั้น  ธรรม  คือศีลธรรม   จึงมีความจำเป็นสำหรับมนุษย์  ไม่น้อยไปกว่าวิชาความรู้     และอาชีพการงาน  การที่นักเรียน นักศึกษา  มาสนใจศึกษาธรรมเพื่อนำเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน  และอาชีพการงาน  จึงเท่ากับเป็นการหาอุบายสร้างความสุขให้แก่ตน   เพราะธรรมนั้นสามารถนำความสุขมา ให้แก่ผู้ประพฤติ  ทั้งในปัจจุบันและในภายภาคหน้า ดังพระพุทธพจน์ว่า  ธมฺมจารี  สุขํ     เสติ   อสฺมิ  โลเก ปรมฺหิ  จ.   ผู้ประพฤติอย่างสม่ำเสมอ ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า                                                                                                                                                                       

ทุกะ  หมวด  ๒

ธรรมมีอุปการะมาก  ๒  อย่าง

                         สติ  ความระลึกได้

                         . สัมปชัญญะ  ความรู้ตัว

              สติ  ความระลึกได้  หมายความว่า  ก่อนจะทำจะพูด  คิดให้รอบคอบก่อน  แล้วจึงทำจึงพูดออกไป

              สัมปชัญญะ  ความรู้ตัว  หมายความว่า  ขณะทำ  ขณะพูดมีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา  ไม่ใช่ทำหรือพูดเรื่องหนึ่งใจคิดอีกเรื่องหนึ่ง

              ธรรมทั้ง  ๒  นี้    ช่วยรักษาจิตจากอกุศลธรรมและช่วยให้จิตประกอบด้วยกุศลธรรมทุกอย่าง  เหมือนมหาอำมาตย์ผู้มีความรู้ความสามารถ  ทำราชกิจทุกอย่างให้สำเร็จเรียบร้อย

เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า  ธรรมมีอุปการะมาก

ธรรมเป็นโลกบาล  คือคุ้มครองโลก  ๒  อย่าง

                         ๑.  หิริ  ความละอายแก่ใจ

                         ๒.  โอตตัปปะ  ความเกรงกลัว

              หิริ  ความละอายแก่ใจ  หมายความว่ารู้สึกรังเกียจทุจริต  มีกายทุจริต  เป็นต้น  เหมือนคนเกลียดสิ่งโสโครกมีอุจจาระ  เป็นต้น  ไม่อยากจับต้อง

              โอตตัปปะ  ความเกรงกลัว  หมายความว่า  สะดุ้งกลัวต่อทุจริตมีกายทุจริต  เป็นต้น

เหมือนคนกลัวความร้อนของไฟ  ไม่กล้าไปจับไฟ

              คนดีทั้งหลายย่อมเคารพตน    คือคิดถึงฐานะของตนมีชาติและตระกูลเป็นต้น ด้วยหิริ  ย่อมเคารพผู้อื่น คือคิดถึงเทวดาที่คุ้มครองรักษาตนเป็นต้น ด้วยโอตตัปปะแล้ว  งดเว้นจากการทำบาป  รักษาตนให้บริสุทธิ์  เพราะฉะนั้น  ธรรมทั้ง  ๒  นี้  จึงชื่อ  ธรรมคุ้มครองโลก และธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ เรียกว่า “เทวธรรม”เพราะทำจิตใจของมนุษย์ให้สูงเยี่ยงเทวดา

ธรรมอันทำให้งาม ๒ อย่าง

               ขันติ  ความอดทน

               โสรัจจะ ความเสงี่ยม

              ขันติ  ความอดทน หมายความว่า ทนได้ไม่พ่ายแพ้  ความหนาว  ร้อน  หิว  กระหายทุกขเวทนา อันเกิดจากความเจ็บป่วย ความบาดเจ็บ ถ้อยคำด่าว่าเสียดสีดูถูกดูหมิ่น และการถูกทำร้าย

              โสรัจจะ  ความเสงี่ยม  หมายความว่า  เป็นผู้ไม่มีอาการผิดแปลกไปจากปกติประหนึ่งว่า  ไม่เห็น  ไม่ได้ยิน  ไม่รับรู้ความหนาว  ความร้อนเป็นต้นเหล่านั้น

              อนึ่ง การไม่แสดงอาการเห่อเหิมจนเป็นที่บาดตาบาดใจคนอื่น เมื่อเวลาได้ดีก็ควรจัดเป็นโสรัจจะด้วย

              บุคคลผู้มีขันติและโสรัจจะ ย่อมประคองใจให้อยู่ในปกติภาพที่ดีอย่างสม่ำเสมอ ไม่พลุ่งพล่าน หรือซบเซาในยามมีความทุกข์  ไม่เห่อเหิมหรือเหลิงในยามมีความสุข  เพราะฉะนั้น ขันติและ   โสรัจจะ  จึงชื่อว่า  ธรรมอันทำให้งาม

บุคคลหาได้ยาก ๒ อย่าง

           . บุพพการี  บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน

           . กตัญญูกตเวที  บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว  และตอบแทน

          บุพพการี  บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน  หมายความว่า  เป็นผู้ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นโดยไม่คิดถึงเหตุ  ๒  ประการ คือ  ๑. ผู้นั้นเคยช่วยเหลือเรามาก่อน  ๒.  ผู้นั้นจะทำตอบแทนเราในภายหลัง  ยกตัวอย่าง  เช่น  บิดามารดาเลี้ยงดูบุตรธิดา  และครูอาจารย์สั่งสอนศิษย์เป็นต้น

          กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและตอบแทน หมายความว่า ผู้ได้รับการช่วยเหลือ จากใครแล้วจดจำเอาไว้  ไม่ลืม  ไม่ลบล้าง ไม่ทำลายจะด้วยเหตุใดก็ตาม  คอยคิดถึงอยู่เสมอ  และทำตอบ แทนอย่างเหมาะแก่อุปการะที่ตนได้รับมา

          บุพพการี  ชื่อว่าหายาก  เพราะคนทั่วไปถูกตัณหาครอบงำ  คืออยากได้มากกว่าอยากเสีย

          กตัญญูกตเวที ชื่อว่า หายากเพราะคนส่วนมากถูกอวิชชา ได้แก่กิเลสที่ทำลายความรู้  เช่นความโลภ  ความโกรธ และความตระหนี่เป็นต้น ครอบงำ คือปิดบังความรู้สึกที่ดีนั้นเสีย       

 

ติกะ คือ หมวด  ๓

รตนะ ๓ อย่าง

พระพุทธ ๑ พระธรรม ๑ พระสงฆ์ ๑

              .  ท่านผู้สอนให้ประชุมชนประพฤติชอบด้วย  กาย  วาจา  ใจ  ตามพระธรรมวินัยที่เรียกว่า พระพุทธศาสนา  ชื่อพระพุทธเจ้า

              ๒.  พระธรรมวินัยที่เป็นคำสอนของท่าน  ชื่อพระธรรม

              ๓.  หมู่ชนที่ฟังคำสั่งสอนของท่านแล้ว  ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ชื่อพระสงฆ์

              รตนะ  แปลว่า  สิ่งที่ให้เกิดความยินดี  หมายถึงสิ่งที่มีราคาแพง  เช่น  เพชร  พลอย  ทองคำ  หรือสิ่งอื่นใดก็ตามที่ชาวโลกเขานิยมกัน   หรือของวิเศษ  เช่น   รตนะ   ๗   อย่าง     ของพระเจ้าจักรพรรดิ คือ  ช้างแก้ว ม้าแก้ว ขุนพลแก้ว  ขุนคลังแก้ว  นางแก้ว  จักรแก้ว  แก้วมณี

              พระพุทธเจ้า  พระธรรม  และพระสงฆ์  ทรงจัดว่าเป็นรตนะ  เพราะเป็นผู้มีค่ามาก โดยตนเองเป็นผู้สงบจากบาปแล้ว  สอนผู้อื่นให้ละชั่วประพฤติชอบ  ถ้าคนในโลกไม่ละชั่วประพฤติชอบแล้ว  สิ่งมีค่าทั้งหลายก็จะกลายเป็นศัตรูนำภัยอันตรายมาสู่ตนเอง  เพราะฉะนั้น  พระพุทธเจ้า

พระธรรม  และพระสงฆ์  จึงชื่อว่า  รตนะ  คือเป็นสิ่งที่มีค่า  น่ายินดี

คุณของรตนะ ๓ อย่าง

              พระพุทธเจ้ารู้ดีรู้ชอบด้วยพระองค์เองก่อนแล้ว  สอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วย

              พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว

              พระสงฆ์   ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว    สอนให้ผู้อื่นกระทำตามด้วย

โอวาทของพระพุทธเจ้า ๓ อย่าง

              ๑. เว้นจากทุจริต  คือประพฤติชั่วด้วยกาย  วาจา  ใจ

              ๒. ประกอบสุจริต  คือประพฤติชอบ  ด้วยกาย  วาจา  ใจ

              ๓. ทำใจของตนให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองใจ มีโลภ โกรธ หลง  เป็นต้น

ทุจริต ๓ อย่าง

               ๑. ประพฤติชั่วด้วยกาย เรียกกายทุจริต

               ๒. ประพฤติชั่วด้วยวาจา  เรียกวจีทุจริต

               ๓. ประพฤติชั่วด้วยใจ  เรียกมโนทุจริต

กายทุจริต ๓ อย่าง

ฆ่าสัตว์ ๑ ลักฉ้อ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑

วจีทุจริต ๔ อย่าง

พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑

มโนทุจริต ๓ อย่าง

โลภอยากได้ของเขา ๑ พยาบาทปองร้ายเขา ๑ เห็นผิดจากคลองธรรม ๑

              ทุจริต (ความประพฤติชั่ว) ๓ อย่างนี้ เป็นสิ่งไม่ควรทำ ควรละเสีย

สุจริต ๓ อย่าง

                 ๑. ประพฤติชอบด้วยกาย เรียกกายสุจริต

                 ๒. ประพฤติชอบด้วยวาจา เรียกวจีสุจริต

                 . ประพฤติชอบด้วยใจ เรียกมโนสุจริต

กายสุจริต ๓ อย่าง

เว้นจากฆ่าสัตว์ ๑ เว้นจากลักฉ้อ ๑ เว้นจากประพฤติผิดในกาม ๑

วจีสุจริต ๔ อย่าง

เว้นจากพูดเท็จ ๑ เว้นจากพูดส่อเสียด ๑ เว้นจากพูดคำหยาบ ๑ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ ๑

มโนสุจริต ๓ อย่าง

ไม่โลภอยากได้ของเขา ๑ ไม่พยายามปองร้ายเขา ๑ เห็นชอบตามคลองธรรม ๑

              สุจริต (ความประพฤติชอบ) ๓ อย่างนี้ เป็นกิจควรทำ ควรประพฤติ

อกุศลมูล  ๓  อย่าง

              รากเหง้าของอกุศล  เรียกอกุศลมูล  มี  ๓  อย่าง  คือ โลภะ  อยากได้ ๑  โทสะ       คิดประทุษร้ายเขา  ๑   โมหะ  หลงไม่รู้จริง  ๑

              เมื่ออกุศลทั้ง  ๓  นี้  ก็ดี  ข้อใดข้อหนึ่งก็ดีมีอยู่ในใจ  อกุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้นที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น  เหตุนั้น  จึงชื่อว่า  อกุศลมูล  คือรากเหง้าของอกุศล  ท่านสอนให้ละเสีย

 

กุศลมูล  ๓  อย่าง

              รากเหง้าของกุศล    เรียกกุศลมูล    มี    ๓   อย่าง  คือ     อโลภะ     ไม่อยากได้  ๑   อโทสะ    ไม่คิดประทุษร้ายเขา  ๑  อโมหะ  ไม่หลง  ๑

              เมื่อกุศลทั้ง ๓  นี้ก็ดี  ข้อใดข้อหนึ่งก็ดีมีอยู่ในใจ  กุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้นที่เกิด ขึ้นแล้วก็เจริญมากขึ้น เหตุนั้นจึงชื่อว่ากุศลมูลคือรากเหง้าของกุศล ท่านสอนว่าควรให้เกิดขึ้นใน ใจอย่างต่อเนื่อง

สัปปุริสบัญญัติ

คือข้อที่ท่านสัตบุรุษตั้งไว้  ๓  อย่าง

                        ๑.  ทาน  สละสิ่งของของตน  เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

                        ๒.  ปัพพัชชา   ถือบวช   เป็นอุบายเว้นจากการเบียดเบียนกันและกัน

                        ๓.  มาตาปิตุอุปัฏฐาน  ปฏิบัติมารดา  บิดาของตนให้เป็นสุข

              สัตบุรุษ    แปลว่าคนดีมีความประพฤติทางกาย  วาจาและใจอันสงบ   กายสงบ   คือเว้นจากกายทุจริต  ๓  วาจาสงบ  คือเว้นจากวจีทุจริต   ๔   ใจสงบ    คือเว้นจากมโนทุจริต  ๓ และเป็นผู้ทรงความรู้

              ทาน  แปลว่า  การให้  หมายถึงการให้สิ่งของของตน  มีข้าว  น้ำเป็นต้น  แก่บุคคลอื่นด้วยวัตถุประสงค์  ๒  อย่าง  คือ  ๑.  เพื่อบูชาคุณของผู้มีคุณความดี  เช่นการทำบุญ แก่พระสงฆ์เป็นต้น  ๒  เพื่อช่วยเหลือบุคคลผู้ขาดแคลน  เช่นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นต้น

              ปัพพัชชา  แปลว่า  การถือบวช  หมายถึง  นำกายและใจออกห่างจากกามคุณ อันเป็นเหตุแห่งการเบียดเบียนกัน  แม้ผู้เป็นฆราวาสจะทำเช่นนี้บางครั้งบางคราวก็เกิดประโยชน์ได้

              มาตาปิตุอุปัฏฐาน แปลว่า การปฏิบัติบิดาและมารดา หมายถึงการเลี้ยงดูท่าน ช่วยท่านทำงาน รักษาชื่อเสียงวงศ์ตระกูล รักษาทรัพย์มรดก และเมื่อท่านถึงแก่กรรมทำบุญให้ท่าน

บุญกิริยาวัตถุ  ๓  อย่าง

สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ  เรียกบุญกิริยาวัตถุโดยย่อมี ๓ อย่าง

                   ทานมัย  บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน

                   สีลมัย   บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล

                   ภาวนามัย  บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา

              บุญ มีความหมาย ๒ ประการ  คือ 

                    ๑.  เครื่องชำระสิ่งที่ไม่ดีที่นอนเนื่องอยู่ในใจ 

                    ๒.  สภาพที่ก่อให้เกิดความน่าบูชา

              บุญนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ จึงชื่อว่า บุญกิริยา

              บุญที่ควรทำนั้น  เป็นที่ตั้งแห่งสุขวิเศษ  จึงชื่อว่า  บุญกิริยาวัตถุ

              ทาน คือเจตนาที่เสียสละสิ่งของ  หมายถึง  เสียสละเพื่อทำลายกิเลสคือความโลภในใจของตน

              ศีล  คือเจตนาที่ตั้งไว้ดีโดยห้ามกายกรรมและวจีกรรมที่มีโทษ  แล้วให้สมาทานกรรมดีไม่มีโทษ และเป็นที่ตั้งของกุศลธรรมชั้นสูง  มีสมาธิและปัญญาเป็นต้น

              ภาวนา คือ  เจตนาที่ทำให้กุศลเจริญ  หมายความว่า  ทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และทำกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เพิ่มพูนมากขึ้น

จตุกกะ คือ หมวด ๔

วุฑฒิ คือ ธรรมเป็นเครื่องเจริญ ๔ อย่าง

๑. สัปปุริสสังเสวะ  คบท่านผู้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ  ที่เรียกว่า  สัตบุรุษ

๒. สัทธัมมัสสวนะ  ฟังคำสอนของท่านโดยเคารพ

๓. โยนิโสมนสิการ  ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือชั่วโดยอุบายที่ชอบ

๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ  ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมที่ได้ตรองเห็นแล้ว

              วุฑฒิ  คือธรรมเป็นเครื่องเจริญ  หมายความว่า  ถ้าทางคดีโลก  ก็เป็นเหตุให้เจริญด้วย  วิชาความรู้  ทรัพย์สินเงินทองและคุณความดี  ถ้าเป็นคดีธรรมก็เป็นเหตุให้เจริญด้วยศีล  สมาธิ  และปัญญา

              สัตบุรุษ  คือ  คนดีมีความรู้ดังได้อธิบายแล้วในสัปปุริสสบัญญัติ

              การคบ  คือ  การเข้าไปหาคนดีด้วยมุ่งหวังจะซึมซับเอาความดีจากท่านมาสู่ตน ฟังคำสอนของ ท่านโดยเคารพ  คือให้ความสำคัญต่อคำสอนและผู้สอน    ไม่ใช่ฟัง พอเป็นมารยาท  ไม่สนใจที่จะนำเอา ไปปฏิบัติ

              โยนิโสมนสิการ  คือ  พิจารณาด้วยปัญญาถึงสิ่งที่ท่านสอนว่า  ชั่วนั้นชั่วจริงไหมและที่ท่าน สอนว่า  ดีนั้นดีจริงไหม  ชั่ว  คือเป็นเหตุให้เกิดทุกข์เกิดโทษ  ดี  คือเป็นเหตุให้เกิดประโยชน์เกิดความสุข  ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ  คือ

                 ๑. ธัมมะ  มายถึง เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

                 ๒. อนุธัมมะ หมายถึง วิธีการที่จะทำให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

                 ๓. ปฎิปัตติ  หมายถึง  การปฏิบัติ  คือการลงมือทำรวมกันแล้วเป็น 

ธัมมานุธัมมปฏิบัติ  ท่านแปลว่า ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมที่ได้ตรองเห็นแล้ว  ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนต้องการจะมีงานทำที่ดี  นักเรียนจะต้องขยันเอาใจใส่  ตั้งใจเรียน  ไม่เอาแต่เที่ยวเตร่เสเพล

จักร ๔

                    ๑. ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในประเทศอันสมควร

                    ๒. สัปปุริสูปัสสยะ คบสัตบุรุษ

                     ๓. อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ

                     ๔.  ปพเพกตบุญญตา  ความเป็นผู้ได้กระทำความดีไว้ในปางก่อน

              จักร  หรือ  บางแห่งเรียกว่า จักรธรรม แปลว่า ธรรมที่เปรียบเหมือนล้อรถอันสามารถ นำพาชีวิตของผู้ปฏิบัติตามไปสู่ความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม

              การอยู่ในประเทศอันสมควร  หมายถึง  อยู่ในสังคมของคนที่มีศีลธรรม  มีความรู้

              การคบสัตบุรุษ  มีอธิบายเหมือนในวุฑฒิธรรม

     การตั้งตนไว้ชอบ  หมายถึง  ประพฤติตนในศีลธรรมเคารพกฎหมายบ้านเมือง  รักษาวัฒนธรรม และประเพณีที่ดีงาม

              ปุพเพกตบุญญตา  ความเป็นผู้ได้กระทำความดีไว้ในปางก่อน  หมายถึง  ได้สร้างเหตุแห่ง ประโยชน์และความสุขไว้ในชาติก่อน  ปีก่อน  เดือนก่อน  หรือวันก่อน  เช่นนักเรียนตั้งใจเรียนในวันนี้  จะเป็นเหตุให้ได้หน้าที่การงานที่ดีในวันหน้า  เป็นต้น

อคติ ๔

                         ๑.  ลำเอียง  เพราะรักใคร่กัน  เรียกฉันทาคติ

                         ๒.  ลำเอียง  เพราะไม่ชอบกัน  เรียกโทสาคติ

                         ๓.  ลำเอียง  เพราะเขลา  เรียกโมหาคติ

                         ๔ลำเอียง  เพราะกลัว  เรียกภยาคติ

อคติ ๔ ประการนี้ ไม่ควรประพฤติ

              อคติ  แปลว่า  การถึงฐานะที่ไม่ควรถึง  ท่านแปลเอาใจความว่า  ความลำเอียง

              ในสิคาลสูตรตรัสเรียกว่า เหตุให้ทำบาป บาปธรรมทั้ง ๔ นี้โดยมากเกิดกับผู้มีอำนาจ

              คนที่ตนรัก   ผิดก็หาทางช่วยเหลือไม่ลงโทษ  ไม่มีความรู้  ความสามารถ  ก็แต่งตั้งให้เป็นใหญ่ เป็นต้น  ชื่อว่ามีฉันทาคติ

              คนที่ตนเกลียด  คอยจ้องจับผิด  คอยขัดขวางความเจริญก้าวหน้าและทำลายล้างเป็นต้น   ชื่อว่ามีโทสาคติ

              ไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริง  ทำโทษหรือยกย่องคนไปตามคำบอกเล่าของผู้ประจบสอพลอ  เป็นต้น   ชื่อว่ามีโมหาคติ

              หวังเกาะผู้มีอำนาจ กลัวเขาจะไม่ช่วยเหลือจึงทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องอันผิดกฎหมายผิดศีลธรรม  เป็นต้น   ชื่อว่ามีภยาคติ

              ผู้ประพฤติอคติ ๔ ประการนี้  ย่อมเป็นผู้ไร้เกียรติ ดังพระพุทธพจน์ว่า ผู้ล่วงละเมิดธรรม เพราะความรัก  ความชัง  ความหลง  และความกลัว  เกียรติยศของผู้นั้นย่อมเสื่อมจากใจคน  เหมือน ดวงจันทร์ข้างแรม

ปธาน คือความเพียร ๔ อย่าง

                      ๑. สังวรปธาน  เพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นในสันดาน

                      ปหานปธาน  เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว

                       ภาวนาปธาน  เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน

                       อนุรักขนาปธาน  เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม

ความเพียร ๔ อย่างนี้  เป็นความเพียรชอบควรประกอบให้มีในตน

              ปธาน เป็นชื่อของความเพียรที่แรงกล้าไม่ย่นย่อท้อถอย  ดังพระพุทธพจน์ว่า แม้เนื้อและเลือด ในร่างกายจะเหือดแห้งไป  เหลืออยู่แต่หนัง  เอ็น  และกระดูกก็ตาม  เมื่อยังไม่บรรลุผลที่จะพึง บรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย  ความหยุดยั้งแห่งความเพียรจะไม่มี

              ความเพียรมีอย่างเดียวแต่ทำหน้าที่ ๔ อย่าง  คือ ๑. เพียรระวังความชั่วที่ยังไม่เคยทำไม่เคยพูด ไม่เคยคิด อย่าให้เกิดขึ้น ๒  พียรละความชั่วที่เคยเผลอตัวทำ  พูดและคิดมาแล้ว  โดยจะไม่ทำอย่างนั้นอีก  ๓. เพียรสร้างความดีที่ยังไม่เคยทำไม่เคยพูด ไม่เคยคิด ๔. เพียรรักษา ความดีที่เคยทำ เคยพูด เคยคิดมาแล้ว  โดยการทำ พูด และคิดความดีนั้นบ่อย ๆ

อธิษฐานธรรม ๔

คือธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อย่าง

                         ๑. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้

                         ๒. สัจจะ ความจริงใจ  คือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง

                         ๓. จาคะ  สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ

                         ๔อุปสมะ สงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ

              อธิษฐานธรรม  ท่านแปลว่า  ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ  หมายความว่า  ให้แสวงหาธรรมทั้ง  ๔  นี้มาเก็บไว้ในใจตน  โดยการฝึกฝนปฏิบัติตามให้ได้  จะทำให้เป็นคนมีค่าแก่สังคม  และมีความสุขใจ แก่ตนเองด้วย

              ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้  ในทางธรรมหมายถึง  รู้สภาวธรรม  มีขันธ์เป็นต้นตามความจริงว่า  ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป  ไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่นให้เกิดทิฎฐิมานะ  แบ่งชั้นวรรณะ  เป็นต้น  ในทางโลกหมายถึงรู้เหตุแห่งความเสื่อมและความเจริญ ตลอดถึงรู้วิชาการต่าง ๆ   อันเป็นเหตุเกิดของทรัพย์  เกียรติ  และความสุข  เป็นต้น

              สัจจะ ความจริงใจ  หมายความว่า  รู้ว่าอะไรไม่ดีก็ละให้ได้จริง  รู้ว่าอะไรดีมีประโยชน์ ก็ตั้งใจทำให้ได้จริง  สัจจะนี้นำความดีทุกชนิดมาสู่ตน  ดังโพธิสัตว์ภาษิตว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ข้ามพ้นชราและมรณะได้  เพราะตั้งอยู่ในสัจจะ

              จาคะ  สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ  หมายความว่า  รู้จักกลับตัวกลับใจจากความ ไม่ดีทั้งหลายที่เคยทำ  เคยพูด  เคยคิด  และเคยยึดติดมาก่อน 

              อุปสมะ  สงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ  หมายความว่า  รู้จักดับความขุ่นข้องหมองใจ  ความวิตกกังวลต่าง ๆ   อันเกิดจากกิเลสมีนิวรณ์ ๕ เป็นต้น

 

อิทธิบาท

คือ  คุณเครื่องให้สำเร็จความประสงค์ ๔ อย่าง

                       ๑. ฉันทะ พอใจรักใคร่ ในสิ่งนั้น

                       ๒. วิริยะ เพียรประกอบสิ่งนั้น

                       ๓. จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ

                       ๔. วิมังสา หมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น

              คุณ ๔ อย่างนี้  มีบริบูรณ์แล้วอาจชักนำบุคคลให้ถึงสิ่งที่ต้องประสงค์  ซึ่งไม่เหลือวิสัย

              อิทธิ  แปลว่า  ความสำเร็จ  บาท  หรือ  ปาทะ  แปลว่า  เหตุที่ทำให้ถึง  อิทธิบาท จึงแปลว่า  เหตุที่ให้ถึงความสำเร็จ  หมายถึง  เหตุที่มีกำลังในการบรรลุความสำเร็จ

              ฉันทะ  คือ  ความปรารถนา  ความต้องการ  ความประสงค์  หวามมุ่งหมาย  เมื่อต่อเข้ากับอิทธิบาท  จึงมีความหมายว่า  ความปรารถนา  ความต้องการ  ความประสงค์  ความมุ่งหมายที่มีกำลังในการบรรลุความสำเร็จ

              อิทธิบาท   คือ  ฉันทะ   ย่อมพาเอาความคิดจิตใจทั้งหมดไปรวมอยู่กับสิ่งที่ปรารถนา

ที่พอใจ   เหมือนกระแสน้ำที่ไหลมาอย่างแรง  ย่อมพัดพาเอาต้นไม้  กอไผ่  กอหญ้า  เป็นต้น

ไปกับกระแสน้ำด้วย  วิริยะอิทธิบาท  จิตตะอิทธิบาท  และวิมังสาอิทธิบาท  ก็มีอธิบายเหมือนอย่างนี้

              วิริยะ  คือ  ความอาจหาญในการงาน  ย่อมสำคัญงานใหญ่ว่างานเล็ก  งานหนักว่างานเบา  งานยากว่างานง่าย  ทางไกลว่าทางใกล้  เป็นต้น

              จิตตะ  คือ  ความคิดถึงการงานนั้น  แบบใจจดใจจ่อ  เปรียบเหมือนคนกระหายน้ำจัด  ใจคิดถึงแต่น้ำตลอดเวลา

              วิมังสา  ความไตร่ตรอง  ใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผลและวิธีการที่จะทำงานนั้นให้สำเร็จลงให้ได้

ควรทำความไม่ประมาทในที่ ๔ สถาน

              ๑. ในการละกายทุจริต  ประพฤติกายสุจริต

              ๒. ในการละวจีทุจริต  ประพฤติวจีสุจริต

              ๓. ในการละมโนทุจริต   ประพฤติมโนสุจริต

              ๔. ในการละความเห็นผิด  ทำความเห็นให้ถูก

อีกอย่างหนึ่ง

              ระวังใจไม่ให้กำหนัด  ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

              ๒ระวังใจไม่ให้ขัดเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง

              ๓ระวังใจไม่ให้หลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง

              ๔ระวังใจไม่ให้มัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา

              ความประมาท  คือความขาดสติอันก่อให้เกิดผลเสีย  ๓  ประการ  คือ

              ให้เกิดการทำความชั่ว

              ๒ให้หลงลืมทำความดี

              ๓ไม่ทำความดีอย่างต่อเนื่อง

              ความไม่ประมาท  คือความมีสติกำกับใจอยู่เสมอ ให้เกิดความคิดเป็นกุศล  ดังนี้

              ไม่ทำความชั่ว

              ๒ไม่ลืมทำความดี

              ๓ทำความดีให้ดียิ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง

              เมื่อสรุปคำสอนทั้ง  ๒  นัย  นี้  ย่อมได้ความไม่ประมาท  ๓  ประการ  คือ

              ระวังอย่าไปทำความชั่ว

              ๒. อย่าลืมทำความดี

              ๓. อย่าปล่อยใจให้ไปคิดเรื่องบาปเรื่องอกุศล

พรหมวิหาร  ๔

              ๑. เมตตา ความรักใคร่  ปรารถนาจะให้เป็นสุข

              ๒กรุณา ความสงสาร  คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์

              ๓มุทิตา ความพลอยยินดี  เมื่อผู้อื่นได้ดี

              ๔อุเบกขา ความวางเฉย ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ

              คำว่า  พรหม  แปลว่า  ประเสริฐ  เป็นใหญ่  โดยบุคคลาธิษฐาน หมายถึง บุคคลผู้อยู่ด้วยฌานสมาบัติ ไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องกามารมย์ โดยธรรมาธิษฐาน หมายถึงจิตใจที่ประกอบด้วย    

               เมตตา  กรุณา  มุทิตา  อุเบกขา  หรือดับนิวรณ์ได้

              พรหมวิหาร  แปลว่า  ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม  หรือผู้ประเสริฐ  ผู้เป็นใหญ่

              ความรักด้วยความปรารถนาดี  คือต้องการให้เขามีความสุข  โดยไม่มีความใคร่อยากจะได้อะไร จากเขามาเป็นของตน  ชื่อว่า  เมตตา

              ความเอื้อเฟื้อ  ความเอาใจใส่  ความห่วงใยต่อผู้ตกทุกข์ประสพภัย  อดอยากหิวโหย  เป็นต้น  เข้าช่วยเหลือ  ด้วยกำลังกายและทรัพย์  ชื่อว่า  กรุณา

              ความยินดีด้วยกับบุคคลที่ได้ลาภ  ได้ยศ  ได้เกียรติ  ได้รับความสำเร็จในอาชีพการงาน  เป็นต้น  ชื่อว่า  มุทิตา

              ความวางเฉย  คือมีใจเป็นกลาง  ไม่ดีใจเมื่อผู้ที่เป็นศัตรูแก่ตน  ประสบทุกข์ภัยอันตราย  และได้รับความวิบัติ   ไม่เสียใจเมื่อผู้ที่ตนรัก  ประสบทุกข์  เป็นต้นนั้น  ในเมื่อตนได้ช่วยเห  

              ลืออย่างเต็ม ที่แล้ว แต่ช่วยไม่ได้   ชื่อว่า  อุเบกขา

อริยสัจ ๔

              ๑. ทุกข์  ความไม่สบายกาย  ไม่สบายใจ

              ๒. สมุทัย  คือเหตุให้ทุกข์เกิด

              ๓. นิโรธ  คือความดับทุกข์

              ๔. มรรค  คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

              ความไม่สบายกาย  ไม่สบายใจ  ได้ชื่อว่าทุกข์  เพราะเป็นของทนได้ยาก

              ตัณหา  คือความทะยานอยาก ได้ชื่อว่า สมุทัย เพราะเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด

              ตัณหานั้น  มีประเภทเป็น ๓ คือ 

              ตัณหา  ความอยากในอารมณ์ที่น่ารักใคร่  เรียกว่ากามตัณหาอย่าง  ๑   

              ตัณหาความอยากเป็นโน่นเป็นนี่  เรียกว่าภวตัณหาอย่าง  ๑

              ตัณหาความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่   เรียกว่าวิภวตัณหาอย่าง  ๑

              ความดับตัณหาได้สิ้นเชิง  ทุกข์ดับไปหมดได้ชื่อว่า  นิโรธ  เพราะเป็นความดับทุกข์

              ปัญญาอันเห็นชอบว่าสิ่งนี้ทุกข์  สิ่งนี้เหตุให้ทุกข์เกิด  สิ่งนี้ความดับทุกข์  สิ่งนี้ทางให้ถึงความดับทุกข์  ได้ชื่อว่า  มรรค  เพราะเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

              มรรคนั้นมีองค์  ๘  ประการ  คือ  ปัญญาอันเห็นชอบ  ๑  ดำริชอบ  ๑  เจรจาชอบ  ๑  ทำการงานชอบ  ๑  เลี้ยงชีวิตชอบ  ๑  ทำความเพียรชอบ  ๑   ตั้งสติชอบ  ๑  ตั้งใจชอบ  ๑

              อริยสัจ  แปลว่า  ความจริงอันประเสริฐ  หมายความว่า  เป็นความจริงที่หนีไม่พ้น  เช่นความแก่  ความตาย  เป็นต้น    มนุษย์ทุกรูปทุกนามเกิดมาแล้วสุดท้ายต้องแก่  และต้องตาย 

              ทั้งสิ้น  หรือเป็นกฎเกณฑ์ ที่แน่นอน  คือ  เมื่อดับตัณหาได้ความทุกข์ทั้งหลายก็ดับไป  และตัณหานั้นก็มีวิธีดับโดยการปฏิบัติตาม มรรคมีองค์  ๘

              ทุกข์  ท่านให้ความหมายว่า  ความไม่สบายกาย  ไม่สบายใจ  อธิบายว่า  ทุกข์ในอริยสัจ  ต่างจากทุกข์ในสามัญลักษณะ  ทุกข์ในอริยสัจหมายเอาทุกข์ที่เกิดกับสิ่งที่มีวิญญาณ

              ครอง โดยเฉพาะ คือ มนุษย์ เช่น แก่ เจ็บ ตาย ผิดหวัง เป็นต้น  ส่วนทุกข์ในสามัญลักษณะ หมายถึงสภาพที่ทนอยู่ไม่ได้ เพราะถูกสิ่งที่เป็นข้าศึกกันเบียดเบียนทำลาย  เช่นผิว

              คล้ำเพราะถูกแสงแดด  อาคารบ้านเรือนเก่า  เพราะถูก แดดและฝน  ตลิ่งพังเพราะถูกน้ำเซาะ  เป็นต้น  ส่วนอริยสัจข้ออื่น ๆ   มีอธิบายชัดเจนแล้ว

ปัญจกะ หมวด ๕

อนันตริยกรรม ๕

              ๑. มาตุฆาต  ฆ่ามารดา

              ๒. ปิตุฆาต  ฆ่าบิดา

              ๓. อรหันตฆาต  ฆ่าพระอรหันต์

              ๔.โลหิตุปบาท  ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป

              ๕สังฆเภท  ยังสงฆ์ให้เแตกจากกัน

              กรรม ๕ ย่างนี้ เป็นบาปหนักที่สุด   ห้ามสวรรค์  ห้ามนิพพาน  ตั้งอยู่ในฐานปาราชิก  ผู้นับถือพระพุทธศาสนาห้ามไม่ให้ทำเป็นอันขาด

              อนันตริยกรรม   แปลว่า   กรรมที่ให้ผลในภพที่ติดต่อกันทันที    อธิบายว่า  ผู้ทำอนันตริยกรรม  ทั้ง  ๕  นี้  ข้อใดข้อหนึ่ง  หลังจากตายแล้วต้องไปตกนรกชั้นอเวจี

              ทันที  ไม่มีกุศลกรรมอะไรจะมาช่วยได้  เช่นพระเทวทัต  เป็นต้น

              กรรมทั้ง  ๕  นี้  ท่านกล่าวว่า  ตั้งอยู่ในฐานปาราชิก  หมายความว่า  ผู้ทำกรรมนี้ เป็นผู้พ่ายแพ้ต่อความดี เป็นผู้อาภัพคือหมดโอกาสที่จะได้   มนุษย์สมบัติ  สวรรคสมบัติ  และ

              นิพพานสมบัติ  เพราะต้องตกนรกอเวจีสถานเดียว

อภิณหปัจจเวกขณะ ๕

              ๑. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา  ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้

              ๒. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา  ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้

              ๓. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา  ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้

              ๔. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น

              ๕. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตัว   เราทำดีจักได้ดี   ทำชั่วจักได้ชั่ว

              อภิณหะ  แปลว่า  เนือง ๆ   เสมอ  หรือเป็นประจำ

              ปัจจเวกขณะ  แปลว่า  การพิจารณา  คือเก็บเอามาคิดเพื่อให้เข้าใจความจริง

              อภิณหปัจจเวกขณะ    จึงมีความหมายว่า    การพิจารณา     หรือการคิดเนือง ๆ เพื่อให้เข้าใจความจริง

              พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า  สตรีก็ตาม  บุรุษก็ตาม  คฤหัสถ์ก็ตาม  บรรพชิตก็ตาม

              ควรพิจารณาเนือง ๆ  ถึงความแก่  ความเจ็บ  ความตาย  ความพลัดพรากจากบุคคล  และของรัก  และผู้ที่ทำความดีความชั่วแล้วได้รับผลดีและผลร้าย

              เห็นคนแก่ชราภาพ  ให้นึกว่า  เราก็จะต้องแก่อย่างนั้น  จะช่วยบรรเทาความมัวเมาในวัย

              เห็นคนเจ็บทุกข์ทรมาน  ให้นึกว่าเราก็จะต้องเจ็บอย่างนั้น  จะช่วยบรรเทาความมัวเมา ว่าตนไม่มีโรค

              เห็นคนตาย  ให้นึกว่า   เราก็จะต้องตายอย่างมากไม่เกิน  ๑๐๐  ปี  จะช่วยบรรเทา ความมัวเมาในชีวิต  คิดว่าตัวเองจะอยู่ค้ำฟ้า

              เห็นคนประสบความวิบัติจากคนรักและทรัพย์สินเงินทอง  ให้นึกว่า  ความจากกันนั้นมีแน่  ไม่เขาจากเรา  ก็เราจากเขา  จะช่วยบรรเทาความยึดติดผูกพันในคนรักและของรัก

              เห็นคนผู้ทำความดีและความชั่วแล้ว  ได้รับผลดีและผลร้าย  ให้นึกว่า  ทุกคนมีกรรมเป็นของตน  จะช่วยบรรเทาความทุจริตต่าง ๆ ได้

ธัมมัสสวนานิสงส์

คือ อานิสงส์แห่งการฟังธรรม ๕ อย่าง

              ๑. ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง

              ๒. สิ่งใดได้เคยฟังแล้ว  แต่ยังไม่เข้าใจชัด  ย่อมเข้าใจสิ่งนั้นชัด

              ๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้

              ๔.  ทำความเห็นให้ถูกต้องได้

              ๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส

              การฟังธรรม  เป็นอุบายวิธีที่สำคัญอย่างหนึ่ง  ซึ่งสามารถทำให้บุคคลบางประเภทละชั่วประพฤติ ชอบได้  และเป็นเหตุให้บุคคลบางประเภทแม้เป็นคนดี  มีความฉลาดอยู่แล้วบรรลุ

              ผลอันสูงสุดของชีวิตได้  เช่น  อุปติสสปริพพาชก  เป็นต้น  พระพุทธองค์จึงตรัสสอนว่า  บุคคลในโลกนี้มี  ๓  ประเภท  คือ

              ๑.บางคนจะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าและพระสาวกหรือไม่ก็ตาม  ก็ละชั่วประพฤติชอบไม่ได้  เปรียบเหมือนคนไข้บางคนจะได้อาหาร  ที่อยู่และหมอที่ดีหรือไม่โรคก็ไม่หายตาย 

               สถานเดียว

              ๒.บางคนจะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และพระสาวกหรือไม่ก็ละชั่วประพฤติชอบได้เองเปรียบ เหมือนคนไข้บางคนจะได้อาหาร    ที่อยู่และหมอที่ดีหรือไม่   โรคก็หายเอง

              ๓.บางคนต้องได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกเท่านั้นจึงละชั่วประพฤติชอบเปรียบเหมือนคนไข้บางคนต้องได้อาหาร      ยาและหมอที่ดี โรคจึงหาย     เมื่อไม่ได้ไม่หาย

              การฟังธรรม  จึงเป็นประโยชน์โดยตรงแก่บุคคลประเภทที่  ๓  แต่บุคคลประเภทที่  ๑  ก็ควรฟังเพื่อเป็นอุปนิสัยในภายหน้า  และบุคคลประเภทที่  ๒  ก็ควรฟังเพื่อความรู้ ความเข้า

              ใจ ภูมิธรรมที่สูงขึ้น

              เพื่อจำง่าย  ย่ออานิสงส์  ๕  ดังนี้  ได้ฟังเรื่องใหม่เข้า  ใจเรื่องเก่า  บรรเทาความสงสัย  ทำลายความเห็นผิด  ดวงจิตผ่องใส

พละ  คือธรรมเป็นกำลัง  ๕  อย่าง

              ๑. สัทธา ความเชื่อ

              ๒วิริยะ ความเพียร

              ๓สติ ความระลึกได้

              ๔สมาธิ  ความตั้งใจมั่น

              ๕ปัญญา  ความรอบรู้

              อินทรีย์ ๕ ก็เรียกเพราะเป็นใหญ่ในกิจของตน

              พละ  แปลว่าธรรมมีกำลัง  มีความหมาย  ๒  อย่าง  คือ  ๑  ครอบงำ  ย่ำยีธรรม ที่เป็นข้าศึกที่เกิดขึ้นแล้วได้   เปรียบเหมือนช้างสามารถเหยียบมนุษย์  หรือเอางวงจับฟาดตามสบาย 

              เพราะมีกำลังมากกว่า  ๒. อันธรรมที่เป็นข้าศึกให้หวั่นไหวไม่ได้  เปรียบเหมือนภูเขาอันมนุษย์ หรือสัตว์ ทั้งหลายมีช้าง  เป็นต้น ทำให้หวั่นไหวไม่ได้ เพราะมีความแข็งแกร่งกว่า     

              สภาพที่ข้าศึก คือความไม่มีศรัทธา (อสัทธิยะ)  ให้หวั่นไหวไม่ได้  ชื่อว่า สัทธาพละ

              สภาพที่ข้าศึก   คือ  ความเกียจคร้าน  (โกสัชชะ)  ให้หวั่นไหวไม่ได้ ชื่อว่า วิริยพละ

              สภาพที่ข้าศึก   คือ  ความขาดสติ  (สติวิปวาสะ)  ให้หวั่นไหวไม่ได้ ชื่อว่า สติพละ

              สภาพที่ข้าศึก  คือ  ความฟุ้งซ่าน  (อุทชัจจะ)  ให้หวั่นไหวไม่ได้ ชื่อว่า สมาธิพละ

              สภาพที่ข้าศึก  คือ  ความไม่รู้  (อวิชชา)  ให้หวั่นไหวไม่ได้   ชื่อว่า  ปัญญาพละ

              อีกนัยหนึ่ง กุศลธรรมที่ครอบงำ อสัทธิยะ  โกสัชชะ สติวิปวาสะ  อุทชัจจะ และอวิชชาได้ชื่อว่า  สัทธาพละ  วิริยพละ   สติพละ    สมาธิพละ และ   ปัญญาพละ  ตามลำดับ

ขันธ์ ๕

              กายกับใจนี้  แบ่งออกเป็น ๕ กอง เรียกว่า ขันธ์ ๕ คือ ๑รูป  ๒. เวทนา

              ๓สัญญา ๔สังขาร  ๕วิญญาณ

              ธาตุ  ๔  คือ  ดิน  น้ำ  ไฟ  ลม  ประชุมกันเป็นกาย  นี้เรียกว่า รูป

              ความรู้สึกอารมณ์ว่า  เป็นสุข  คือสบายกาย  สบายใจ  หรือเป็นทุกข์  คือ  ไม่สบายกายไม่สบายใจ  หรือเฉย ๆ  คือไม่ทุกข์ไม่สุข  เรียกว่า วทนา

              ความจำได้หมายรู้  คือจำรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฎฐัพพะ  และอารมณ์ที่เกิดกับใจได้  เรียกว่า สัญญา

              เจตสิกธรรม  คือ  อารมณ์ที่เกิดกับใจ  เป็นส่วนดีเรียกกุศล  เป็นส่วนชั่วเรียกอกุศล  เป็นส่วนกลาง ๆ   ไม่ดีไม่ชั่วเรียก  อัพยากฤต  (ทั้งหมด)  เรียกว่า สังขาร

              ความรู้อารมณ์ในเวลามีรูปมากระทบตา  เป็นต้น  เรียกว่า  วิญญาณ

              ขันธ์  ๕ นี้  ย่น  เรียกว่า  นาม  รูป  คือ  เวทนา  สัญญา  สังขาร  และวิญญาณ  รวมเข้าเป็นนาม  รูปคงเป็นรูป

              คำว่า  ขันธ์  แปลว่า  กอง  หมายถึงกองธรรม  ๕  กอง  ที่รวมกันเข้าแล้วเป็นชีวิต  พระพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อให้เข้าใจว่า  ชีวิตมนุษย์ก็คือ  การประชุมรวมกันของกองธรรมทั้ง ๕   

             นี้  ได้เหตุได้ปัจจัยก็รวมกันเรียกว่ามีชีวิต  สิ้นเหตุสิ้นปัจจัยก็แตกสลาย  เรียกว่า  ตาย  ไม่มีใครที่ไหนมาสร้างมาดลบันดาลให้เกิดขึ้นหรือให้ตายไป

ฉักกะ หมวด ๖

คารวะ ๖ อย่าง

              ความเอื้อเฟื้อ  ในพระพุทธเจ้า ๑ ในพระธรรม ๑ ในพระสงฆ์ ๑ ในความศึกษา ๑ ในความไม่ประมาท ๑ ในปฏิสันถารคือต้อนรับปราศรัย ๑

              คารวะ  แปลว่า  ความเคารพ  หมายถึงการให้ความสำคัญต่อบุคคล  หรือสิ่งที่มีคุณความดีมีค่าควรแก่การให้เกียรติ  ให้การสนับสนุน  และการคุ้มครองรักษา

              การกระทำที่แสดงออกซึ่งความเคารพ  คือการไหว้  การกราบ  การก้มศีรษะ  การลุกขึ้นต้อนรับ  การให้ที่นั่ง  การหลีกทางให้  การให้สิ่งของ  การนับถือ  การบูชา  เป็นต้น

              ความเคารพในพระพุทธเจ้าในปัจจุบันนี้  คือ  เชื่อความตรัสรู้ของพระองค์     ไม่แสดงอาการไม่สุภาพต่อพระปฏิมาและศาสนสถาน  มีเจดีย์  เป็นต้น

              ความเคารพในพระธรรม  คือ  ตั้งใจศึกษาและปฏิบัติตาม  ศีล  สมาธิ  ปัญญา

              ความเคารพในพระสงฆ์  คือการกราบไหว้  นับถือ  ถวายไทยธรรม  มีอาหารบิณฑบาต  เป็นต้น

              ความเคารพในการศึกษา  คือ  เห็นคุณค่าของการศึกษาว่าจะทำให้มีความรู้ดี  มีความประพฤติดี  มีอาชีพการงานดี  แล้วตั้งใจศึกษาเล่าเรียน  ไม่เที่ยวเตร่  เสเพล

              ความเคารพในความไม่ประมาท  คือ  ระวังตัวไม่ให้ไปทำความชั่ว  ไม่ลืมทำความดี  ไม่ปล่อย ใจให้คิดเรื่องบาป  อกุศล

              ความเคารพในปฏิสันถาร คือ ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยการให้ที่พัก น้ำ อาหาร และสนทนา ปราศรัยด้วยปิยวาจา  เป็นต้น

สาราณิยธรรม ๖ อย่าง

ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง เรียก สาราณิยธรรม มี ๖ อย่าง  คือ

              ๑. เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตา  ในเพื่อนภิกษุสามเณร  ทั้งต่อหน้าและลับหลัง  คือช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนด้วยกายมีพยาบาลภิกษุไข้ เป็นต้น ด้วยจิตเมตตา

              ๒. เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนภิกษุสามเณร  ทั้งต่อหน้าและลับหลัง  คือช่วย ขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนด้วยวาจา  เช่นกล่าวสั่งสอน  เป็นต้น

              ๓.  เข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร  ทั้งต่อหน้าและลับหลัง  คือคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกัน

              ๔.  แบ่งปันลาภที่ตนได้มาโดยชอบธรรม  ให้แก่เพื่อนภิกษุสามเณร  ไม่หวงไว้บริโภค จำเพาะผู้เดียว

              ๕.  รักษาศีลให้บริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนภิกษุสามเณรอื่น ๆ   ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น

              ๖.  มีความเห็นร่วมกันกับภิกษุสามเณรอื่น ๆ  ไม่วิวาทกับใคร ๆ  เพราะมีความเห็นผิดกัน

              ธรรม  ๖  อย่างนี้  ทรงแสดงแก่ภิกษุจึงดูเหมือนเป็นเรื่องเฉพาะพระ  แต่ความจริงแล้วทุกคนนำ ไปใช้ได้กับทุกคน  ทุกเพศทุกวัย  เช่นอยู่กับบิดามารดาก็ใช้ว่า  เข้าไปตั้ง 

              กายกรรม วจีกรรม  มโนกรรม  อันประกอบด้วยเมตตาทั้งต่อหน้าและลับหลัง  ช่วยท่านทำงาน  พูดกับท่านด้วยปิยวาจา   มีจิตใจเคารพ นับถือท่าน  เป็นต้น

สัตตกะ  หมวด  ๗

อริยทรัพย์  ๗

              ทรัพย์  คือ   คุณความดีที่มีในสันดานอย่างประเสริฐ  เรียกอริยทรัพย์  มี  ๗  อย่าง  คือ

              ๑.  สัทธา   เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ

              ๒.  ศีล  รักษากาย  วาจา  ให้เรียบร้อย

              ๓.  หิริ  ความละอายต่อบาปทุจริต

              ๔. โอตตัปปะ สะดุ้งกลัวต่อบาป

              ๕. พาหุสัจจะ  ความเป็นคนเคยได้ยินได้ฟังมามาก คือทรงจำธรรม และรู้ศิลปวิทยามาก

              ๖. จาคะ  สละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน

              ๗. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์

              อริยทรัพย์  ๗  ประการนี้  ดีกว่าทรัพย์ภายนอก  มีเงินทอง  เป็นต้น  ควรแสวงหา ไว้ให้มีในสันดาน

              ทรัพย์ภายนอก  จะเป็นสังหาริมทรัพย์  อสังหาริมทรัพย์  สวิญญณกทรัพย์ อวิญญณกทรัพย์  ก็ตาม  มีไว้เพื่อให้เกิดความสุข  ถ้าขาดทรัพย์แล้วย่อมมีความทุกข์  ตามธรรมภาษิต

              ว่า  ทลิททลิยํ ทุกขํ โลเก  ความจนเป็นทุกข์ในโลก แต่ถึงจะมีทรัพย์ภายนอกมากมายอย่างไร  ถ้าขาดทรัพย์ภายใน  คือ อริยทรัพย์  เช่นขาดศีล หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น 

              โลกก็จะลุกเป็นไฟหาความสุขไม่ได้เลย

              อนึ่ง  เมื่อคนมีทรัพย์ภายใน  คือ  อริยทรัพย์แล้ว  ย่อมหาทรัพย์ภายนอกได้ง่าย  ทั้งทำให้ทรัพย์ ภายนอกนั้นมีความมั่นคง  และก่อให้เกิดความสุขอย่างแท้จริง  สมดังที่นักปราชญ์ 

              สอนไว้ว่า  ความพยายาม ทุกอย่างของมนุษย์  ก็เพื่อความสุข  แต่ถ้าขาดธรรมเสียแล้ว  ความสุขจะเกิดไม่ได้เลย

สัปปุริสธรรม ๗ อย่าง

ธรรมของสัตบุรุษ เรียกว่า สัปปุริสธรรม มี ๗ อย่าง  คือ

              . ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่นรู้จักว่า สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุขสิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์

              ๒อัตถัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักผล  เช่นรู้จักว่าสุขเป็นผลแห่งเหตุอันนี้  ทุกข์เป็นผล แห่งเหตุ อันนี้

              ๓อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตนว่า เราว่าโดยชาติ ตระกูล ยศศักดิ์ สมบัติ บริวาร ความรู้ และคุณธรรมเพียงเท่านี้  แล้วประพฤติตนให้สมควรแก่ที่เป็นอยู่ อย่างไร

              ๔. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้ประมาณในการแสวงหาเครื่องเลี้ยง ชีวิตแต่โดยทางที่ชอบ  และรู้จักประมาณในการ บริโภคแต่พอสมควร

              ๕. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาอันสมควรในอันประกอบกิจนั้น ๆ

              ๖. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน และกิริยาที่จะต้องประพฤติต่อประชุมชนนั้น ๆ  ว่า  หมู่นี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้  จะต้องพูดอย่างนี้  เป็นต้น

              ๗.   ปุคคลปโรปรัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคลว่า  ผู้นี้เป็นคนดีควรคบ  ผู้นี้เป็นคน ไม่ดีไม่ควรคบ  เป็นต้น

              สัตบุรุษ  คือคนดีมีความประพฤติ  ทางกาย  วาจา  ใจ  อันสงบ  และทรงความรู้  หรือจะกล่าวว่า  ผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้  คือ รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ   รู้จักกาลเวลา  รู้จักเข้าหาชุมชน  รู้จักเลือกคนที่ควรคบ  เรียกว่า สัตบุรุษ ก็ได้

              รู้ว่า  จุดไฟทิ้งไว้ในบ้าน  ไฟจะไหม้บ้าน  ชื่อว่า  รู้เหตุ

              รู้ว่าไฟไหม้บ้านพร้อมทั้งทรัพย์สินต่าง ๆ  หมดสิ้น  ก็เพราะจุดไฟทิ้งไว้  ชื่อว่า  รู้ผล

              การรู้เหตุ  ทำให้รู้จักสร้างเหตุดี  หลีกหนีเหตุร้าย

              การรู้ผล  ทำให้เป็นคนมีประสบการณ์  แล้วไม่ทำอย่างนั้นอีก

              สัปปุริสธรรมข้ออื่น ๆ   ท่านอธิบายไว้ชัดเจนแล้ว 

อัฏฐกะ คือ หมวด ๘

โลกธรรม ๘

ธรรมที่ครอบงำสัตว์โลกอยู่  และสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามธรรมนั้น  เรียกว่า โลกธรรม

              โลกธรรมนั้น มี ๘ อย่าง  คือ  มีลาภ ๑  ไม่มีลาภ ๑  มียศ ๑  ไม่มียศ  ๑  นินทา  ๑  สรรเสริญ  ๑  สุข  ๑  ทุกข์  ๑

              ในโลกธรรม  ๘  ประการนี้  อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นควรพิจารณาว่า  สิ่งนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว  ก็แต่ว่ามันไม่เที่ยง  เป็นทุกข์    มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา        ควรรู้ตามที่เป็นจริง  

              อย่าให้มันครอบงำจิตได้  คืออย่ายินดีในส่วนที่ปรารถนา  อย่ายินร้ายในส่วนที่ไม่น่าปรารถนา

              โลกธรรม  ๘  นี้  ท่านแบ่งออกเป็น  ๒  ฝ่าย  ที่ดี  คือ  มีลาภ  มียศ  สรรเสริญ  สุข  เรียกว่า   อิฏฐารมณ์  แปลว่า  อารมณ์ที่น่าปรารถนา  ๑ ที่ไม่ดี    คือ  ไม่มีลาภ  ไม่มียศ  นินทา 

              ทุกข์  เรียกว่า  อนิฏฐารมณ์ แปลว่า อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา  ๑

              ที่ว่าครอบงำสัตว์โลก  และสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามธรรมนั้น  หมายความว่า เมื่อได้รับโลกธรรม ฝ่ายดี  จิตใจก็ฟูเบิกบาน  หรือเรียกว่า  หน้าชื่นตาบาน  เมื่อได้รับ

              โลกธรรมฝ่ายไม่ดี  จิตใจก็ฟุบเหี่ยวแห้ง  หรือที่เรียกว่า  หน้าเศร้าอกตรม ความรู้สึกทั้ง  ๒  นี้  พระพุทธศาสนาสอนว่า  ล้วนเป็นภัยต่อระบบ ศีล ธรรมทั้งนั้น     คือ   เ

               ป็นเหตุให้จิตใจเหินห่าง จากศีล สมาธิ และปัญญา

ทสกะ คือ หมวด ๑๐

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐  ย่าง

              ๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน

              ๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล

              ๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา

              ๔. อปจายนมัย  บุญสำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตนแก่ผู้ใหญ่

              ๕  เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ

              ๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ

             ๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ

             ๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม

             ๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม

             ๑๐.ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง

              ความหมายของคำว่า  บุญกิริยาวัตถุ  ได้อธิบายแล้วในบุญกิริยาวัตถุ  ๓

              ในหมวดนี้  เพียงแต่ให้ตั้งข้อสังเกตว่า  คนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงการทำบุญ  ก็จะคิดว่าตนไม่มี ทรัพย์  เลยไม่มีโอกาสได้ทำบุญกับเขา  แต่ความจริงแล้ว  ทรัพย์ไม่ใช่อุปกรณ์สำหรับทำบุญที่สำคัญเลย  จะเห็นว่าทั้ง  ๑๐  ข้อนี้ที่ต้องใช้ทรัพย์มีข้อเดียว  คือ  ทานมัยเท่านั้นเอง  นอกจากนั้นเป็นเรื่องของ  กาย  วาจา  ใจ  ทั้งสิ้น

              ดังนั้น  จึงทำให้เข้าใจได้ว่า  อุปกรณ์สำหรับทำบุญที่สำคัญที่สุด  ก็คือ  กาย  วาจา  และ  ใจ  ของตนนี่เองกาย  และ  วาจาของตนงดเว้นจากการทำ  การพูด  ที่สร้างความทุกข์  ความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นศีรษะของตน ใช้ก้มให้กับผู้ใหญ่  มือของตนใช้ไหว้ท่านผู้เจริญด้วยวัยวุฒิ  คุณวุฒิ  และชาติวุฒิ ร่างกายของตน  ร่วมด้วยช่วยกันทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคม

ปาก  ใช้พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์  มีคุณค่าแก่ชีวิตจิตใจของผู้ฟังหู  ใช้ฟังคำสอนของบิดามารดา  ครูอาจารย์  และองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น  ใจ  ใช้คิดและรับรู้  แต่สิ่งที่เป็นความรู้  เป็นกุศล  ไม่โลภอยากได้ของใคร  ไม่คิดประทุษ ร้ายใคร  มีความคิดเห็นที่ส่งเสริมระบบศีลธรรมเพียง    การทำ    การพูด   และการคิด   อย่างนี้   กาย   วาจา   และใจของเรา

ก็สามารถสร้างมนุษยสมบัติ   สวรรคสมบัติ   และนิพพานสมบัติ   ให้แก่เราได้แล้ว

คิหิปฏิบัติ

จตุกกะ

ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์  คือ  ประโยชน์ในปัจจุบัน  ๔  อย่าง

              ๑.   อุฏฐานสัมปทา    ถึงพร้อมด้วยความหมั่น    ในการประกอบกิจ  เครื่องเลี้ยงชีวิตก็ดี  ในการ ศึกษาเล่าเรียนก็ดี  ในการทำธุระหน้าที่ของตนก็ดี

              ๒.   อารักขสัมปทา    ถึงพร้อมด้วยการรักษา  คือรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความหมั่น  ไม่ให้เป็นอันตรายก็ดี  รักษาการงานของตน   ไม่ให้เสื่อมเสียไปก็ดี

              ๓.   กัลยาณมิตตตา   ความมีเพื่อนเป็นคนดี  ไม่คบคนชั่ว

              ๔.   สมชีวิตา    ความเลี้ยงชีวิตตามสมควร แก่กำลังทรัพย์ที่หาได้    ไม่ให้ฝืดเคืองนัก  ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก

สัมปรายิกัตถประโยชน์  คือ   ประโยชน์ภายหน้า  ๔  อย่าง

              ๑.   สัทธาสัมปทาถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ  เช่นเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว  เป็นต้น

              ๒.   สีลสัมปทา   ถึงพร้อมด้วยศีล  คือ  รักษา  กาย  วาจาเรียบร้อยดี ไม่มีโทษ 

              ๓.   จาคสัมปทา  ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน  เป็นการเฉลี่ยสุขให้แก่ผู้อื่น

              ๔.   ปัญญาสัมปทา  ถึงพร้อมด้วยปัญญา  รู้จัก  บาป  บุญ  คุณ   โทษ ประโยชน์  มิใช่ประโยชน์  เป็นต้น

มิตตปฏิรูป  คือ  คนเทียมมิตร  ๔  จำพวก

              ๑.   คนปลอกลอก

              ๒.   คนดีแต่พูด

              ๓.   คนหัวประจบ

              ๔.   คนชักชวนในทางฉิบหาย

   คน  ๔  จำพวกนี้  ไม่ใช่มิตร  เป็นแต่คนเทียมมิตร  ไม่ควรคบ

๑.  คนปลอกลอก   มีลักษณะ  ๔

               ๑.   คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว

               ๒.   เสียให้น้อย  คิดเอาให้ได้มาก

               ๓.   เมื่อมีภัยแก่ตัว  จึงรับทำกิจของเพื่อน

               ๔.   คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว

              ๒.  คนดีแต่พูด    มีลักษณะ  ๔

                ๑.   เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย

                ๒.   อ้างเอาของที่ยังไม่มีมาปราศรัย

                ๓.   สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้

                ๔.   ออกปากพึ่งมิได้

              .  คนหัวประจบ  มีลักษณะ  ๔

                 ๑.   จะทำชั่วก็คล้อยตาม

                 ๒.   จะทำดีก็คล้อยตาม

                 ๓.   ต่อหน้าว่าสรรเสริญ

                 ๔.   ลับหลังตั้งนินทา

              คนชักชวนในทางฉิบหาย  มีลักษณะ  ๔

                  ๑.    ชักชวนดื่มน้ำเมา

                  ๒.   ชักชวนเที่ยวกลางคืน

                  ๓.   ชักชวนให้มัวเมาในการเล่น

                  ๔.   ชักชวนเล่นการพนัน

              มิตรแท้   ๔    จำพวก

                   ๑.   มิตรมีอุปการะ

                   ๒.   มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์

                   ๓.   มิตรแนะประโยชน์

                   ๔.   มิตรมีความรักใคร่

         มิตร  ๔  จำพวกนี้  เป็นมิตรแท้  ควรคบ

              ๑.  มิตรมีอุปการะ   มีลักษณะ  ๔

                     ๑.   ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว

                     ๒.   ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว

                     ๓.   เมื่อมีภัย  เป็นที่พึ่งพำนักได้

                     ๔.   เมื่อมีธุระ  ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก

              .   มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์   มีลักษณะ  ๔

                      ๑.   ขยายความลับของตนแก่เพื่อน

                      ๒.   ปิดความลับของเพื่อนไม่ให้แพร่งพราย

                      ๓.   ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ

                      ๔.   แม้ชีวิตก็อาจสละแทนได้

              .   มิตรแนะประโยชน์   มีลักษณะ   ๔

                      ๑.   ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว

                      ๒.   แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี

                      ๓.   ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง

                      ๔.   บอกทางสวรรค์ให้

              .   มิตรมีความรักใคร่   มีลักษณะ   ๔

                      ๑.   ทุกข์ ๆ  ด้วย

                      ๒.   สุข  ๆ  ด้วย

                      ๓.   โต้เถียงคนที่พูดติเตียนเพื่อน

                      ๔.   รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน

๕.   สังคหวัตถุ  ๔  อย่าง

                       ๑.   ทาน   ให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน

                       ๒.   ปิยวาจา   เจรจาวาจาที่อ่อนหวาน

                       ๓.    อัตถจริยา   ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

                       ๔.   สมานัตตตา    ความเป็นคนมีตนเสมอไม่ถือตัว

              คุณทั้ง  ๔  อย่างนี้  เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจของผู้อื่นไว้ได้

๖.   ธรรมของฆราวาส    ๔

                        ๑.   สัจจะ      สัตย์ซื่อต่อกัน

                        ๒.   ทมะ        รู้จักข่มจิตของตน     (หมายถึงปัญญา)

                        ๓.   ขันติ        อดทน     (หมายถึงความเพียร)

                        ๔.   จาคะ       สละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน

ปัญจกะ

              ๑.   มิจฉาวณิชชา    คือการค้าขายไม่ชอบธรรม  ๕  อย่าง

                        ๑.   ค้าขายเครื่องประหาร

                        ๒.   ค้าขายมนุษย์

                        ๓.   ค้าขายสัตว์เป็นสำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร

                        ๔.   ค้าขายน้ำเมา

                        ๕.   ค้าขายยาพิษ

      การค้าขาย  ๕  อย่างนี้  เป็นข้อห้ามอุบาสกไม่ให้ประกอบ

                 .   สมบัติของอุบาสก  ๕  ประการ   

                        ๑.   ประกอบด้วยศรัทธา

                        ๒.   มีศีลบริสุทธิ์

                        ๓.   ไม่ถือมงคลตื่นข่าว  คือเชื่อกรรม   ไม่เชื่อมงคล

                        ๔.   ไม่แสวงหาเขตบุญนอกพุทธศาสนา

                        ๕.   บำเพ็ญบุญแต่ในพระพุทธศาสนา

     อุบาสกพึงตั้งอยู่ในสมบัติ  ๕  ประการ  และเว้นจากวิบัติ  ๕  ประการ  ซึ่งวิปริต

จากสมบัตินั้น

ฉักกะ

ทิศ   ๖

               ๑.   ปุรัตถิมทิส     คือทิศเบื้องหน้า  มารดาบิดา

               ๒.   ทักขิณทิศ      คือทิศเบื้องขวา   อาจารย์

               ๓.    ปัจฉิมทิส        คือทิศเบื้องหลัง   บุตรภรรยา

               ๔.   อุตตรทิส        คือทิศเบื้องซ้าย   มิตร

               ๕.   เหฏฐิมทิส      คือทิศเบื้องต่ำ   บ่าว

               ๖.   อุปริมทิส       คือทิศเบื้องบน   สมณพราหมณ์

๑.   ปุรัตถิมทิส     คือทิศเบื้องหน้า ได้แก่ มารดาบิดา  บุตรพึงบำรุงด้วยสถาน  ๕

                ๑.   ท่านได้เลี้ยงมาแล้ว  เลี้ยงท่านตอบ

                ๒.   ทำกิจของท่าน

                ๓.   ดำรงวงศ์สกุล

                ๔.   ประพฤติตนให้เป็นคนควรรับทรัพย์มรดก

                ๕.   เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว  ทำบุญอุทิศให้ท่าน

            มารดาบิดาได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว  ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน  ๕

              ๑.   ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว

              ๒.   ให้ตั้งอยู่ในความดี

              ๓.   ให้ศึกษาศิลปวิทยา

              ๔.   หาภรรยาที่สมควร

              ๕.   มอบทรัพย์ให้ในสมัย

.   ทักขิณทิศ      คือทิศเบื้องขวา ได้แก่  อาจารย์  ศิษย์พึงบำรุงด้วยสถาน   ๕

              ๑.   ด้วยลุกขึ้นยืนรับ

              ๒.   ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้

              ๓.   ด้วยเชื่อฟัง

              ๔.   ด้วยอุปัฏฐาก

              ๕.   ด้วยเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ

อาจารย์ได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว  ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน   ๕

             ๑.   แนะนำดี

             ๒.   ให้เรียนดี

             ๓.   บอกศิลปให้สิ้นเชิง  ไม่ปิดบังอำพราง

             ๔.   ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง

             ๕.   ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย    (คือจะไปทางทิศไหนก็ไม่อดอยาก)

๓.    ปัจฉิมทิส  คือทิศเบื้องหลัง ได้แก่  ภรรยา   สามีพึงบำรุงด้วยสถาน  ๕

             ๑.   ด้วยยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา

             ๒.   ด้วยไม่ดูหมิ่น

             ๓.   ด้วยไม่ประพฤติล่วงใจ

             ๔.   ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้

             ๕.   ด้วยให้เครื่องแต่งตัว

ภรรยาได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว  ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน  ๕

              ๑.   จัดการงานดี

              ๒.   สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดี

              ๓.   ไม่ประพฤติล่วงใจสามี

              ๔.   รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้

              ๕.   ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง

.   อุตตรทิส        คือทิศเบื้องซ้าย ได้แก่  มิตร  กุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน  ๕

             ๑.    ด้วยให้ปัน

             ๒.   ด้วยเจรจาถ้อยคำไพเราะ

             ๓.   ด้วยประพฤติประโยชน์

             ๔.   ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ

             ๕.   ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความเป็นจริง

มิตรได้บำรุงฉะนี้แล้ว  ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน  ๕

               ๑.   รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว

               ๒.   รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว

               ๓.   เมื่อมีภัย  เอาเป็นที่พึ่งพำนักได้

               ๔.   ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ

               ๕.   นับถือตลอดถึงวงศ์ของมิตร

.   เหฏฐิมทิส      คือทิศเบื้องต่ำ ได้แก่  บ่าว  นายพึงบำรุงด้วยสถาน   ๕

               ๑.   ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง

               ๒.   ด้วยให้อาหารและรางวัล

               ๓.   ด้วยรักษาพยาบาลในเวลาเจ็บไข้

               ๔.   ด้วยแจกของมีรสประหลาดให้กิน

               ๕.   ด้วยปล่อยในสมัย

บ่าวได้บำรุงฉะนี้แล้ว  ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน   ๕

             ๑.   ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย

             ๒.   เลิกการงานทีหลังนาย

             ๓.   ถือเอาแต่ของที่นายให้

             ๔.   ทำการงานให้ดีขึ้น

             ๕.  นำคุณของนายไปสรรเสริญในที่นั้น ๆ

๖.   อุปริมทิส   คือทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณพราหมณ์  กุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน  ๕

              ๑.   ด้วยกายกรรม  คือทำอะไร ๆ  ประกอบด้วยเมตตา

              ๒.   ด้วยวจีกรรม   คือพูดอะไร ๆ  ประกอบด้วยเมตตา

              ๓.   ด้วยมโนกรรม  คือคิดอะไร ๆ  ประกอบด้วยเมตตา

              ๔.   ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู  คือมิได้ห้ามเข้าบ้านเรือน

              ๕.   ด้วยให้อามิสทาน

สมณพราหมณ์ได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว  ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน  ๖

              ๑.   ห้ามไม่ให้กระทำความชั่ว

              ๒.   ให้ตั้งอยู่ในความดี

              ๓.   อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม

              ๔.   ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง

              ๕.   ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง

              ๖.   บอกทางสวรรค์ให้

อบายมุข  คือเหตุเครื่องฉิบหาย  ๖

               .   ดื่มน้ำเมา

               ๒    เที่ยวกลางคืน

               .   เที่ยวดูการเล่น

               .   เล่นการพนัน

               .   คบคนชั่วเป็นมิตร

               .   เกียจคร้านการทำงาน

 

.   ดื่มน้ำเมา  มีโทษ  ๖

              ๑.   เสียทรัพย์

              ๒.   ก่อการทะเลาะวิวาท

              ๓.   เกิดโรค

              ๔.   ต้องติเตียน

              ๕.   ไม่รู้จักอาย

              ๖.   ทอนกำลังปัญญา

๒    เที่ยวกลางคืน  มีโทษ  ๖

              ๑.   ชื่อว่าไม่รักษาตัว

              ๒.   ชื่อว่าไม่รักษาลูกเมีย

              ๓.   ชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ

              ๔.   เป็นที่ระแวงของคนทั้งหลาย

              ๕.   มักถูกใส่ความ

              ๖.  ได้ความลำบากมาก

 

.   เที่ยวดูการเล่น  มีโทษตามวัตถุที่ไปดู    ๖

              ๑.   รำที่ไหนไปที่นั่น

              ๒.   ขับร้องที่ไหนไปที่นั่น

              ๓.   ดีดสีตีเป่าที่ไหนไปที่นั่น

              ๔.   เสภาที่ไหนไปที่นั่น

              ๕.   เพลงที่ไหนไปที่นั่น

              ๖.   เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั่น

 

.   เล่นการพนัน  มีโทษ   ๖

              ๑.   เมื่อชนะย่อมก่อเวร

              ๒.   เมื่อแพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป

              ๓.   ทรัพย์ย่อมฉิบหาย

              ๔.   ไม่มีใครเชื่อถือถ้อยคำ

              ๕.   เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อน

              ๖.   ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย

 

.   คบคนชั่วเป็นมิตร  มีโทษตามบุคคลที่คบ   ๖

              ๑.   นำให้เป็นนักเลงการพนัน

              ๒.   นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้

              ๓.   นำให้เป็นนักเลงเหล้า

              ๔.   นำให้เป็นคนลวงเขาด้วยของปลอม

              ๕.   นำให้เป็นคนลวงเขาซึ่งหน้า

              ๖.  นำให้เป็นคนหัวไม้

 

๖.   เกียจคร้านการทำงาน  มีโทษ   ๖

              ๑.   มักให้อ้างว่า    หนาวนัก         แล้วไม่ทำการงาน

              ๒.   มักให้อ้างว่า    ร้อนนัก          แล้วไม่ทำการงาน

              ๓.   มักให้อ้างว่า    เวลาเย็นแล้ว    แล้วไม่ทำการงาน

              ๔.   มักให้อ้างว่า    ยังเช้าอยู่        แล้วไม่ทำการงาน

              ๕.   มักให้อ้างว่า    หิวนัก           แล้วไม่ทำการงาน

              ๖.   มักให้อ้างว่า    กระหายนัก      แล้วไม่ทำการงาน

ผู้หวังความเจริญด้วยโภคทรัพย์  พึงเว้นเหตุเครื่องฉิบหาย  ๖  ประการนี้เสีย

วิดีโอ

WatpaLA-Youtube

Copyright ©2554 วัดป่าธรรมชาติ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา