ความเป็นมาของการสร้างอุโบสถ
วัดป่าธรรมชาติ
วัดป่าธรรมชาติ ได้เริ่มก่อตั้ง เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่ ๖.๕ เอเคอร์ โดยมีพระครูปลัดสุ-วัฒนญาณคุณ (พระมหาเหรียญ ธนลาโภ) เป็นเจ้าอาวาส ได้ดำเนินการขออนุญาตใช้สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา (Conditional UsedPermit)
จนกระทั่งได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๓๗ หลังจากได้รับอนุญาตในการใช้สถานที่เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว ทางวัดจึงได้ดำเนินการขออนุญาตปรับพื้นที่เพื่อก่อสร้างที่จอดรถและอุโบสถ-ศาลาอเนกประสงค์ จนกระทั่งได้รับอนุญาตเมื่อวันที่๑๒ เมษายน ๒๕๔๐ และได้ตกลงทำสัญญากับบริษัท AceBuilders ปรับพื้นที่ ซึ่งใช้เวลาในการดำเนินการจนเสร็จเรียบร้อยประมาณ ๒ ปีเศษ และสิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ ๒๘๐,๐๐๐ ดอลลาร์ โดยมีบริษัทเข้ามาร่วมรับผิดชอบดำเนินการ ๔ บริษัท ดังนี้
๑. ปรับพื้นที่ (Grading) บริษัท Camarenaland Clearing
๒. สร้างกำแพงกั้นดิน (Retaining Wall) บริษัท JVK Construction
๓. ท่อระบายน้ำเสีย ( Sewer ) บริษัท Fowler Construction
๔. ท่อระบายน้ำฝน (Storm Drain) บริษัท JVK Construction
หลังจากปรับพื้นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้เปิดประมูลเพื่อหาบริษัทที่เหมาะสมสร้างที่จอดรถ วางท่อไฟฟ้า และท่อน้ำประปา ในที่สุดได้คัดเลือก ๓ บริษัท ดังนี้
๑. ที่จอดรถ (Parking Lot) ได้แก่บริษัท Valinda Asphalt
๒. วางท่อไฟฟ้าใต้ดิน และเสาไฟที่จอดรถ ได้แก่บริษัท E.T. Construction
๓. วางท่อน้ำประปา ได้แก่บริษัท JVKConstruction
สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสามรายการประมาณ ๒๐๔,๐๐๐ ดอลลาร์
หลังจากได้รับอนุญาตในการปรับพื้นที่แล้ว ทางวัดได้เปิดประมูลบริษัทเขียนแบบสิ่งก่อสร้างซึ่งมี ๔หลัง ดังนี้
๑. อุโบสถ
๒. ศาลาอเนกประสงค์
๓. ศาลาพักร้อน
๔. ห้องสุขา
และได้พิจารณาเลือกบริษัท C.K. Wu Architectให้ดำเนินการเขียนแบบพร้อมกับการยื่นเรื่องขออนุญาตกับ Cityจนกระทั่งได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ขณะที่กำลังรอใบอนุญาตก่อสร้างจาก City อยู่ทางวัดจึงได้จัดงานวางศิลาฤกษ์อุโบสถ เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทรงพระสุหร่ายแผ่นศิลาฤกษ์ดังกล่าว พระราชทานให้กับวัดป่าธรรมชาติ โดยมีกงสุลใหญ่สุพจน์ ธีรเกาศัลย์ กงสุลใหญ่ประจำนครลอส แอง เจลิส เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ และคุณเฉลิมเกียรติ สุวรรณมาศ ผู้จัดการการบินไทย ประจำแอลเอ เป็นประธานจัดงาน ก่อนจะกล่าวถึงเรื่องการก่อสร้าง จะขอนำเอาปัญหาจนกว่ามาเป็นอุโบสถหลังนี้ได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวแบ่งได้เป็น ๒ ระยะ คือ
๑. ระยะการเขียนแบบ เนื่องจากต้องการให้อุโบสถหลังนี้มีขนาดใหญ่สามารถรองรับญาติโยมได้เพียงพอ แต่กฎหมายของผังเมืองบังคับว่า ถ้าสถานที่ใดอยู่ในเขตที่อยู่อาศัยหรือกสิกรรมห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน ๓๕ ฟุต วัดป่าธรรมชาตินี้ ตั้งอยู่ในเขตที่อยู่กสิกรรม ฉะนั้นอุโบสถที่จะสร้างต้องไม่ให้สูงเกิน ๓๕ ฟุต เมื่อถูกจำกัด ความสูงการเขียนแบบอุโบสถแบบทรงไทยจึงมีปัญหา คือ ถ้าต้องการเขียนแบบให้ได้ขนาดที่ต้องการ ความสูงไม่พอ หรือถ้าต้องการเขียนแบบให้สมส่วนต้องลดขนาดลง เมื่อประสพปัญหาดังกล่าว ทางวัดกับผู้เขียนแบบพยายามแก้ไข ปัญหาเรื่องนี้เป็นเวลาหลายเดือน จนกว่าได้รูปทรงไทยประยุคของอุโบสถหลังนี้ขึ้นมา นอกจากปัญหาเรื่อง การจำกัดความสูงดังกล่าวแล้ว ปัญหาที่สำคัญ คือ การขออนุญาตสร้างวัด และสิ่งก่อสร้างต้องประสพปัญหาเรื่อง กฎระเบียบของผังเมือง ซึ่งถ้าต้องการให้ได้ตามที่เราต้องการก็จะขัดกฎระเบียบของผังเมือง ก็จะไม่ได้รับอนุญาต หรือถ้าต้องการทำให้ถูกต้องตามกฎระเบียบก็ไม่ได้ตามที่เราต้องการเพราะฉะนั้นการเขียนแบบจึงเน้นถึงความถูก ต้องตามกฎระเบียบผังเมืองมากกว่าถูกใจเรา นอกจากนี้ก็มีปัญหาที่ผู้เขียนแบบ เป็นชาวจีน ดังนั้นความคิด จินตนาการรูปแบบทรงต่างๆ ก็ย่อมโน้มเอียงไปทางศิลปะของจีน
๒. ระยะการก่อสร้าง เนื่องจากในการเขียนแบบเราไม่สามารถทำได้ตามที่เราต้องการ จึงได้พยายามแก้ไขในช่วงการก่อสร้างเท่าที่สามารถทำได้ อันไม่ขัดกฎระเบียบของผังเมือง เนื่องจากเราได้ผู้รับเหมามีความรู้ความเข้าใจทางด้านกฎระเบียบของผังเมืองเป็นอย่างดี และเป็นคนมีจิตใจดี พร้อมที่แก้ไขให้ตามที่เราต้อง ในส่วนที่สามารถทำได้ จึงมีการแก้ไขส่วนต่าง ๆ ของอุโบสถ ดังรูปร่างที่เห็นอยู่ขณะนี้ ขอย้อนกลับมาถึงเรื่องการเปิดประมูลหาบริษัทที่เหมาะสมในการก่อสร้างอุโบสถและศาลาอเนกประสงค์ หลังจากที่ทางวัดได้ประกาศเปิดประมูล มีบริษัทยื่นซองประกวดราคามาเพียง ๒ บริษัท สาเหตุที่มีบริษัทยื่นซองมาประกวดราคาน้อย คงเพราะเรื่องรูปแบบของอุโบสถที่มีความซับซ้อนมากยากที่ชาติอื่นจะทำได้ ในที่สุดคณะกรรมการจึงได้นำข้อมูลของ ๒ บริษัทที่ยื่นซองประกวดราคามาพิจารณาเลือกเอาบริษัทที่ดีที่สุด โดยการพิจารณาเลือกตามขั้นตอนดังนี้
๑. พิจารณาประวัติที่น่าเชื่อถือ (Credit)และความมั่นคงของบริษัท
๒. ต้องมีประกันทั้งการก่อสร้าง และคนงานถ
๓. พิจารณาเรื่องราคา
ขั้นแรกทางวัดได้มอบหมายให้ ดร.แหลมทอง ศิลปานนท์ เป็นผู้ดำเนินการเรื่องหาข้อมูลประวัติที่น่าเชื่อถือ และประกันการก่อสร้างและคนงาน เมื่อได้ข้อมูลเป็นที่พอใจแล้ว ได้นำมาพิจารณาเรื่องราคา สุดท้ายคณะกรรมการจึงได้พิจารณาเลือกบริษัท Tan&Wang Construction, Inc.เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง โดยมีเหตุผลในการคัดเลือกดังนี้
๑. บริษัทที่มีฐานะมั่นคงและประวัติดีมาก
๒. มีประกันทั้งประเภทก่อสร้างและคนงาน
๓. ราคาอยู่ในระดับเหมาะสม
๔. เจ้าของบริษัทเป็นคนจีนไต้หวัน ซึ่งเป็นคนเอเซียด้วยกันคงจะทำงานได้สะดวก และเขาเป็นทั้งผู้รับเหมาและอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัย
๕. ที่สำคัญคือ ไม่ต้องวางเงินมัดจำในวันเซ็นสัญญา ลงมือก่อสร้างก่อนจึงจ่ายตามทีหลัง
เมื่อพิจารณาเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่ายแล้วจึงได้ตกลงเซ็นสัญญา เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ ๒๕๔๓ ในราคา ๑,๙๙๙,๙๙๙.๙๙ ดอลลาร์ กำหนดเวลาระยะการก่อสร้างประมาณ ๑ ปีเศษ หลังจากเซ็นสัญญาแล้วทางวัดได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมา ๑ ชุด ส่วนทางด้านผู้รับเหมาหลังจากเซ็นสัญญาแล้วใช้เวลาเตรียมการประมาณ ๒ เดือนเศษ จึงได้ลงมือตั้งเสาเอกเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๓ เวลา ๐๗.๐๙ น. และดำเนินการก่อสร้างต่อเนื่องมาจนกระทั่งแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ กล่าวถึงเรื่องการก่อสร้างซึ่งมีหลายคนสงสัยว่าทำไมจึงเสร็จรวดเร็วเกินความคาดหมายเหตุผลมี ๒ ประการ
๑. การเงิน ซึ่งถือเป็นเรื่องหลักเพราะงานจะเดินหรือหยุดอยู่ที่มีเงินเป็นเครื่องกระตุ้น แต่โชคดีที่เราได้ผู้รับเหมาก่อสร้างดี เขาให้ความเชื่อถือแก่เราแม้จะมีเงินให้พอหรือไม่ เขาก็จะดำเนินการก่อสร้างไปเรื่อย ๆ และยิ่งกว่านั้นผู้รับเหมาเองเป็นผู้หาแหล่งเงินกู้จากธนาคารเพื่อนำมาดำเนินการก่อสร้างจนสำเร็จสมบูรณ์ตามโครงการที่กำหนดไว้
๒. ผู้รับเหมา เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจ ความสามารถและรับผิดชอบในเรื่องการก่อสร้างอย่างดีและเป็นระบบ นอกจากทำงานอย่างเป็นระบบแล้ว เขาเลือกช่างที่มีความชำนาญเป็นพิเศษเฉพาะแต่ละส่วน ซึ่งช่างเหล่านี้เป็นทีมทำงานเฉพาะของเขา ยิ่งกว่านั้นผู้รับเหมาเองเป็นทั้งผู้รับเหมาและเป็นอาจารย์สอนเรื่องการก่อสร้างแก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยอีกด้วย จึงทำให้การก่อสร้างสำเร็จรวดเร็วดังที่ได้เห็น ส่วนที่ต้องสั่งจากประเทศไทย การทำสัญญาก่อสร้างมอบให้ทางบริษัทรับผิดชอบทั้งเรื่องวัสดุก่อสร้างและแรงงาน นอกจากบางรายการที่ต้องสั่งจากประเทศไทย ซึ่งมีรายการดังนี้
๑. พระประธาน
๒. กระเบื้องมุงหลังคา
๓. ช่อฟ้าใบระกา หางหงส์
๔. พรมปูพื้นอุโบสถ
เรื่องการเงิน
การเงินที่นำมาก่อสร้างได้รับมาจาก ๒ ทาง
๑. จากผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาค ซึ่งทางวัดได้จัดเป็นกองทุนบ้าง แบ่งส่วนต่าง ๆ ของอุโบสถ-ศาลาอเนกประสงค์ให้ร่วมบริจาคบ้าง จากการร่วมบริจาคทั่วไปบ้าง
๒. จากการกู้ยืมธนาคาร เนื่องจากโครงการก่อสร้างต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก และใบอนุญาตการก่อสร้างที่ได้รับจาก City มีเวลาจำกัด เฉพาะเงินจากการรับบริจาคไม่เพียงพอที่จะก่อสร้างให้เสร็จตามกำหนดได้ (ใบอนุญาตได้ต่ออายุมาครั้งหนึ่งแล้ว) ถ้าการก่อสร้างไม่สามารถเสร็จตามกำหนด ใบอนุญาตก็จะถูกยกเลิก ด้วยเหตุผลดังกล่าวทางวัดจึงจำเป็นต้องขอกู้เงินจากธนาคารมาเพื่อทำการก่อสร้างให้เสร็จตามกำหนด ขนาดแบบและประโยชน์ ของอุโบสถ-ศาลาอเนกประสงค์
๑. อุโบสถ
๑.๑ ขนาด ความกว้าง x ยาว ภายใน ๔๓ x ๗๘ = ๓,๓๕๔ ตารางฟุต สูงภายในจากพื้นถึงเพดาน ๒๕ ฟุต ภายนอกจากพื้นถึงสุดหลังคา ๓๕ ฟุต
๑.๒ แบบจตุรมุขหลังคาสามชั้นทรงไทยประยุค
๑.๓ ประกอบพิธีทำสังฆกรรม เช่น การบรรพชาอุปสมบท สวดปาติโมกข์ รับกฐินและสวดมนต์ทำวัตร เป็นต้น
๒. ศาลาอเนกประสงค์ ลักษณะ ๒ ชั้น
๒.๑ ชั้นบน
- ขนาดความ กว้าง x ยาว
๓๙ x ๖๑ = ๒,๓๗๙ ตารางฟุต
- ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ทำบุญตักบาตร พิธีแต่งงาน และพิธีงานศพ เป็นต้น
๒.๒ ชั้นล่าง
- ขนาดความกว้าง x ยาว
๗๕ x ๘๗ = ๖,๕๒๕ ตารางฟุต
- แบ่งเป็นห้องเรียนปริยัติธรรมและโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์สำหรับเยาวชน ๓ ห้อง ห้องประชุม-ห้องสมุด ๑ ห้อง และห้องสุขาชาย-หญิง ค่าก่อสร้าง ทั้ง ๓ รายการรวมทั้งสิ้นประมาณ ๒,๓๕๐,๐๐๐.๐๐ ดอลลาร์ ก่อนจะจบความเป็นมาจนกว่าเป็นอุโบสถวัดป่าธรรมชาติ กระผมขอถือโอกาสเป็นตัวแทนคณะศิษยานุศิษย์กล่าวสดุดี เทิดทูนและบูชา ท่านผู้อุทิศชีวิตเสียสละกำลังกาย กำลังสติปัญญา นำคณะสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกา พายานนาวาคือวัดป่าธรรมชาติ ฝ่าฟันมรสุม คือ อุปสรรคที่กระหน่ำเข้ามากระแทกยานนาวานี้ครั้งแล้วครั้งเล่าแทบจะเอาชีวิตไม่รอด บัดนี้ท่านได้พาพวกเรานำยานนาวา คือวัดป่าธรรมชาติมาเทียบท่าแล้ว ท่านขอร้องให้พวกเราทำหน้าที่ช่วยกันขนสัมภาระขึ้นจากเรือเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ กล่าวคือช่วยกันผ่อนชำระเงินที่ยังค้างธนาคารอยู่และใช้ประโยชน์บำรุงรักษา สถานที่ให้ดี เพื่ออนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป ท่านที่กล่าวถึงคือ พระภาวนาญาณวิเทศ หรือพระอาจารย์มหาเหรียญ ธนลาโภ ของเรานั้นเอง