ธรรมศึกษา ชั้นโท
วิชา วินัย ธรรมศึกษาขั้นโท
ศีล
ศีล เป็นเครื่องควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา ให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อยดีงาม พ้นจากความเบียดเบียนและเป็นเครื่องรองรับกุศลธรรมชั้นสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนถึง มรรค ผลนิพพาน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชน ก่อนจะบำเพ็ญกุศลอย่างอื่น จึงต้องสมาทานศีลก่อน และก่อนแต่จะสมาทานศีล จะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ อุโบสถศีล หรือ ศีล ๑๐ ก็ตาม ล้วนต้องเปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัยว่าเป็น สรณะ ก่อนทั้งสิ้น
ดังนั้น ก่อนที่จะอธิบายอุโบสถศีล จึงขออธิบายพระรัตนตรัยโดยย่อ พอให้ผู้ศึกษาทราบความเป็นมา ความหมาย และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันบาปอกุศลที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติผิด และเพื่อเป็นบุญกุศลที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติชอบต่อพระรัตนตรัย
-----------------¿-----------------
พระรัตนตรัย
พระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ มีความสำคัญที่สุดสำหรับ พุทธศาสนิกชน เพราะเป็นเสมือนประตูที่จะเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา ผู้ที่เข้ามาสู่พระพุทธศาสนาจะเป็นมนุษย์หรือเทวดา จะเข้ามาในฐานะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกหรืออุบาสิกาก็ตาม ล้วนแต่ต้องเข้ามาทางพระรัตนตรัยทั้งสิ้น ด้วยความเคารพนับถือ บูชา และศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ จึงได้เข้ามาและการจะได้เป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกา ก็ล้วนแต่ต้องเปล่งวาจาว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น พระรัตนตรัยจึงเป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนควรศึกษา เพื่อความเข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้อง ตามหัวข้อดังต่อไปนี้
๑. ใครเป็นผู้กล่าวเป็นครั้งแรก
ถามว่า คำว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํสรณํ คจฺฉามิ ฯเปฯ ใครเป็นผู้กล่าวเป็นครั้งแรก ?
ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเป็นครั้งแรก ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ในโอกาสที่ทรงส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูป ไปประกาศพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นการให้บรรพชาอุปสมบทแก่ผู้ที่ศรัทธาปรารถนาใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนา ดังพระพุทธดำรัสว่า
ผู้มุ่งบรรพชาอุปสมบทอันภิกษุพึงให้ปลงผมและหนวดก่อน แล้วให้นุ่งห่มผ้ากาสายะ ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย แล้วพึงสอนให้ว่าตามว่า
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
๒. ความหมายของคำว่า พุทธะ ธรรมะ และสังฆะ
คำว่า พุทธะ โดยอรรถะ คือความหมาย ได้แก่บุคคลพิเศษที่มีขันธสันดานอันอบรมด้วยบารมีธรรมมายาวนาน อย่างต่ำที่สุด ๔ อสงไขย กับอีก ๑ แสนกัป จนได้บรรลุอนุตตรวิโมกข์ อันเป็นเหตุให้เกิดอนาวรณญาณ (ความรู้อะไรได้ตลอด) หรือได้รู้ยิ่งซึ่งสัจจะทั้งหลาย อันเป็นปทัฏฐานแห่งสัพพัญญุตญาณ
ส่วนโดยพยัญชนะ คำว่า พุทธะ แปลได้มากมายหลายนัย แต่ที่ทราบกันโดยมาก แปลว่า ผู้รู้ และทรงสอนให้ผู้อื่นรู้ ผู้ตื่น และทรงปลุกให้ผู้อื่นตื่น จากความหลับด้วยอำนาจของกิเลส ผู้เบิกบาน คือเป็นผู้รู้แล้วสามารถกำจัดกิเลสให้สิ้นไปจากขันธสันดานไปด้วย มิใช่รู้อย่างเดียว
คำว่า ธัมมะ ( ธรรม ) แปลว่า สภาพที่ทรงไว้ โดยความหมายสูงสุด ได้แก่ มรรค หรือวิราคธรรม ( นิพพาน ) เพราะมรรค หรือวิราคธรรม ทรงไว้ซึ่งผู้ที่เจริญมรรค และผู้ทำให้แจ้ง (บรรลุ) พระนิพพานไม่ให้ตกไปในอบายทั้งหลาย (สัตว์ดิรัจฉาน เปรต สัตว์นรกอสุรกาย) และทำให้โปร่งใจอย่างยิ่ง
ส่วนความหมายโดยอ้อม แม้ปริยัติธรรม คือการศึกษาพระพุทธพจน์ และปฏิบัติธรรม คือการฝึกหัดกาย วาจา ใจ ไปตามศีล สมาธิ และปัญญา ก็จัดเป็นธัมมะ ( ธรรม ) ได้ เพราะเป็นปฏิปทาเบื้องต้นอันจะนำไปสู่การบรรลุมรรค และทำให้แจ้งพระนิพพาน ดังกล่าวแล้ว
คำว่า สังฆะ แปลว่า กลุ่มบุคคลผู้รวมตัวกัน คำนี้เป็นชื่อของกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่ง ผู้รวมตัวกันด้วยคุณเครื่องรวมตัว คือ ทิฏฐิ และศีล สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้ว่า
ดูก่อนอานนท์ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแล้วเพื่อความรู้ยิ่ง สำหรับเธอทั้งหลาย คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ดูก่อนอานนท์ เธอจะไม่เห็นภิกษุแม้สองรูป มีวาทะต่างกันในธรรมเหล่านี้เลย
๓ . ความหมายของสรณะ
สรณะ มีความหมายว่า กำจัด บีบ ทำลาย นำออก และดับซึ่งภัย ความหวาดสะดุ้ง ความทุกข์ ทุคติ และความเศร้าหมอง (กิเลส) อธิบายว่า เมื่อบุคคลเข้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ โดยการปฏิบัติตามพระธรรม จนสามารถทำลายกิเลส มีความรัก โลภ โกรธ หลง เป็นต้นได้ ภัยเป็นต้นเหล่านั้นก็จะถูกกำจัด หรือถูกทำลายหมดสิ้นไป
พระพุทธเจ้า ชื่อว่า สรณะ เพราะเป็นผู้กำจัดภัยของสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการนำออกจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ แล้วได้บรรลุซึ่งสิ่งอันเป็นประโยชน์
พระธรรม ชื่อว่า สรณะ เพราะทรงไว้ซึ่งผู้ปฏิบัติตามไม่ให้ตกไปในอบาย คือ ไม่ให้กลายสภาพเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เปรต สัตว์นรก และอสุรกาย และช่วยให้ผู้ปฏิบัติตามได้รับความปลอดโปร่งใจ
พระสงฆ์ ชื่อว่า สรณะ เพราะเป็นเนื้อนาบุญของโลก หมายความว่า พระสงฆ์ ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ที่เรียกว่า อริยสงฆ์ ใครได้ถวายจตุปัจจัยแก่ท่าน การถวายนั้นย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก เกิดความรุ่งเรืองแผ่ไพศาล เพราะเป็นการสนับสนุนคนดีให้มีกำลังทำงานแก่สังคม
๔. ความหมายของคำว่า สรณะคมน์
ดวงใจที่มีความเลื่อมใส และมีความเคารพในพระรัตนตรัยนั้นว่า พระรัตนตรัยเป็นของเรา พระรัตนตรัยเป็นผู้นำทางชีวิตของเรา ซึ่งสามารถนำไปสู่การทำลายกิเลสได้ชื่อว่า สรณคมน์ (การถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ)
๕. วิธีถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ
วิธีถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะนั้นมีหลายอย่าง ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะที่ปรากฏ
โดยมาก ๕ วิธี คือ
๕.๑ วิธีสมาทาน ตัวอย่างเช่น พาณิชสองพี่น้อง ผู้มีนามว่า ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้เปล่งวาจาถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระธรรมเป็นสรณะว่า เอเต มยํ ภนฺเต ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉาม, ธมฺมญฺจ, อุปาสเก โน ภควา ธาเรตุ อชฺชตคฺเค ปาณุเปเต สรณํ คเต แปลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งสองนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระธรรมว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงจำข้าพระองค์ทั้งสอง ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะด้วยชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
๕.๒ วิธีมอบตนเป็นสาวก เช่น พระมหากัสสปเถระ ครั้งยังเป็นปิปผลิมาณพออกบวชอุทิศพระอรหันต์ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลก ได้ไปพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งสมาธิอยู่ที่โคนต้นพหุปุตตนิโครธ ( อรรถกถาว่า ต้นสีขาว ใบสีเขียว ผลสีแดง) ในระหว่างทางเมืองราชคฤห์ไปนาลันทา เข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ จึงน้อมกายเข้าไปเฝ้าด้วยความเคารพอย่างยิ่ง แล้วเปล่งวาจามอบตนเป็นสาวกว่า สตฺถา เม ภนฺเต ภควา, สาวโกหมสฺม แปลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก
๕.๓ วิธีทุ่มเทความเลื่อมใสในพระศาสดาหรือยอมนอบน้อม เช่น พรหมายุพราหมณ์ เป็นต้น ในพรหมายุสูตร มัชฌิมนิกาย กล่าวว่า พรหมายุพราหมณ์ เป็นพราหมณ์ผู้ใหญ่ เชี่ยวชาญไตรเวท รู้จักศาสตร์ว่าด้วยคดีโลก และมหาปุริสลักษณะได้ยินกิตติศัพท์ว่า พระพุทธเจ้าทรงมีมหาปุริสลักษณะครบ ๓๒ ประการ จึงส่งอุตตรมาณพผู้เป็นศิษย์เอกไปพิสูจน์ความจริง อุตตรมาณพรับคำของอาจารย์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๐ ประการหมดแล้ว ยังเหลืออีก ๒ ประการ ที่ยังไม่เห็น ครั้นเขาเห็นมหาปุริสลักษณะครบทั้ง ๓๒ ประการและความเป็นไปแห่งอิริยาบถทั้งปวงของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงกลับไปกราบเรียนให้อาจารย์ทราบ ครั้นอุตตรมาณพพรรณามหาปุริสลักษณะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบลง พรหมายุพราหมณ์ก็ได้ลุกขึ้นยืนห่มผ้าเฉวียงบ่า ผินหน้าไปทางทิศที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ประณมมือเปล่งวาจาว่า
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมมาสมฺพุทธสฺส ๓ ครั้ง
แปลว่า ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ๕.๔ วิธีมอบตน เช่นพระโยคีผู้มีศรัทธา ขวนขวายในการเจริญกรรมฐาน ก่อนแต่จะสมาทานกรรมฐาน ต้องกล่าวคำมอบตนต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อิมาหํ ภนฺเต ภควา อตฺตภาวํ ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ แปลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระองค์ ขอสละอัตตภาพร่างกายนี้แก่พระพุทธองค์
๕.๕ วิธีปฏิบัติหน้าที่ของพุทธบริษัท คือการกำจัดกิเลสทั้งหลาย ทำตนให้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เหมือนพระอริยสาวกบางท่านได้ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นต้น วิธีนี้จัดว่าเป็นวิธีถึงสรณคมน์ขั้นสูงสุดและมีความมั่นคงที่สุด เป็นโลกุตตรสรณคมน์
๖. การขาดสรณคมน์
บุคคลผู้ถึงสรณคมน์ มี ๒ ประเภท คือ ปุถุชนกับพระอริยบุคคล การขาดสรณคมน์ย่อมมีในปุถุชนเท่านั้น ส่วนพระอริยบุคคลจะไม่ยอมขาดสรณคมน์เด็ดขาดดังสุปปพุทธกุฏฐิ เป็นต้น
พระอรรถกถาจารย์เล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทว่า วันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่บริษัทที่วิหารเวฬุวัน สุปปพุทธกุฏฐิซึ่งเป็นโรคเรื้อน ยากจนเข็ญใจ ได้ไปฟังธรรมอยู่ข้างท้ายบริษัทเขาได้บรรลุโสดาบัน ประสงค์จะกราบทูลการบรรลุธรรมให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ แต่ไม่มีโอกาสเพราะบริษัทหนาแน่น จึงกลับไปที่อยู่ของตน ครั้นบริษัทกลับไปหมดแล้ว เขาจึงมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ท้าวสักกะเทวราชทราบเช่นนั้น จึงได้เสด็จลงมาตรัสกับเขาว่า สุปปพุทธะ ท่านเป็นคนขัดสน ท่านจงกล่าวคำว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้าแท้จริง พระธรรมไม่ใช่พระธรรมแท้จริง พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์แท้จริง พอกันทีพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ (เลิกนับถือ) เราจะให้ทรัพย์แก่ท่านมากมายนับประมาณไม่ได้ สุปปพุทธะ ถามว่า ท่านเป็นใคร ท้าวสักกะตอบว่า เราเป็นท้าวสักกะจอมเทพ
สุปปพุทธะกล่าวว่า ท่านท้าวสักกะผู้ไม่มีหิริ ท่านพูดว่า ข้าพเจ้าเป็นคนขัดสนจนยาก แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ขัดสนจนธรรม ไม่ได้จนความสุขเลย ท่านไม่สมควรจะพูดเช่นนี้กับข้าพเจ้า คนมีอริยทรัพย์สามารถมีความสุขได้ในสภาพที่คนอื่นเขารู้สึกเป็นทุกข์ ท้าวสักกะเมื่อไม่อาจจะให้สุปปพุทธกุฏฐิพูดอย่างนั้นได้ จึงเสด็จจากเขาไปเฝ้าองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบทูลถ้อยคำที่โต้ตอบกันให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ท้าวสักกะเช่นพระองค์จำนวนร้อยจำนวนพันก็ไม่สามารถจะให้สุปปพุทธกุฏฐิ พูดคำว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ (แท้จริง) เรื่องนี้แสดงให้เห็นทัศนะทางพุทธศาสนาว่า คนผู้บรรลุสัจจะแล้วจะไม่ยอมประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต เพราะเหตุแห่งทรัพย์ อวัยวะและแม้แต่ชีวิตอย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้น การขาดสรณคมน์จึงมีได้เฉพาะผู้เป็นปุถุชนเท่านั้น การขาดสรณคมน์มีเพราะเหตุ ๓ อย่าง คือ
๑. เพราะความตาย
๒. เพราะทำร้ายพระศาสดา
๓. เพราะไปนับถือศาสดาอื่น
การขาดสรณคมน์เพราะความตาย เป็นการขาดที่ไม่มีโทษ คือไม่ทำให้ไปสู่ทุคติภูมิ การขาดเพราะทำร้ายพระศาสดาเหมือนพระเทวทัตเป็นต้น ที่คิดทำร้ายพระศาสดาด้วยการสั่งนายขมังธนูไปลอบปลงพระชนม์ กลิ้งศิลาให้ทับ ให้ปล่อยช้างนาฬาคีรีไปทำร้าย และทำสังฆเภทแยกพระสงฆ์ไปจากพระองค์ จัดเป็นการขาดสรณคมน์ที่มีโทษเพราะทำให้พระเทวทัตหลังจากมรณภาพแล้วไปตกนรกอเวจี
ส่วนการขาดสรณคมน์ เพราะไปนับถือศาสดาอื่นนั้นมีมากทั้งในสมัยพุทธกาลและในปัจจุบันนี้ แม้จะไม่ทราบว่าผู้ประพฤติอย่างนั้นตายแล้วไม่ตกนรกเหมือนพระเทวทัตก็ตาม แต่ก็แสดงถึงความไม่น่าเชื่อถือของคนเหล่านั้น ที่พร้อมจะทรยศกับใครก็ได้เมื่อเขาได้ผลประโยชน์ที่มากกว่า ได้ทราบว่าผู้ที่อาศัยผ้าเหลืองบวชเรียนในพระพุทธศาสนาจนจบเปรียญธรรมสูงสุด จบปริญญาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ หรือบวชจนได้เป็นเจ้าคณะตำบล อำเภอแล้ว ได้ถูกศาสนาอื่นซื้อไปหวนกลับมาทำลายพระพุทธศาสนาก็มีไม่ใช่น้อย คนพวกนี้จริง ๆ แล้วเป็นคนไม่มีศาสนาบวชเป็นพระมักจะไม่เชื่อเรื่องบาปบุญ จะไม่ยอมทำกิจวัตร เช่นไหว้พระสวดมนต์จึงไม่รู้จักคำว่านิรามิสสุข วัน ๆ หนึ่งคิดแต่จะหาทรัพย์สินเงินทอง รูปเสียง กลิ่น รส สัมผัสที่น่าปรารถนาจึงมีค่าเหมือนคนตกนรกทั้งเป็น ครั้นพอมีใครมาเสนอเงินทองให้ก็รีบไปทันที มักจะไปสอนไปแนะเยาวชนว่า อย่าไปบวชเลยอาจารย์บวชแล้วไม่ได้เรื่องหรอก แต่น่าจะบอกด้วยว่า เมื่อครั้งอาจารย์บวชอยู่อาจารย์ไม่เคยเชื่อเรื่องบาป บุญ คุณโทษ ไม่เคยทำกิจวัตรของพระสงฆ์เลย
การขาดสรณคมน์ด้วยการไปนับถือศาสดาอื่น จึงเป็นเรื่องน่ากลัวมาก เพราะคนอย่างนั้นแน่นอนว่า เป็นคนไม่มีศาสนาพร้อมที่จะทำลายใครก็ได้ เมื่อตนได้ผลประโยชน์
๗. สรณคมน์เศร้าหมอง
ส่วนบุคคลผู้ที่ประพฤติด้วยความไม่รู้ ความรู้ผิด ความสงสัย และความไม่เอื้อเฟื้อในพระรัตนตรัย สรณคมน์ไม่ขาดแต่เป็นความเศร้าหมอง
ความไม่รู้ คือ ไม่ศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนาคิดเอาเอง ปฏิบัติเอาเอง แล้วนำไปสั่งสอนผู้อื่น
ความรู้ผิด คือ เรียนพระปริยัติธรรมแต่ไม่เชื่อพระไตรปิกฏ อรรถกถา ตั้งตัวเป็นศาสดาตีความเอาตามความพอใจ
ความสงสัย คือ สงสัยว่าพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์มีจริงหรือเปล่า ทำบุญได้บุญจริงหรือเปล่า ทำบาปแล้วบาปจริงหรือเปล่า ชาติหน้ามีจริงหรือเปล่า นรกสวรรค์มีจริงหรือเปล่า เป็นต้น
ความไม่เอื้อเฟื้อ คือ ไม่ประพฤติต่อพระรัตนตรัยด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่ประกอบด้วยเมตตาคือความปรารถนาดี เช่นตัดเศียรพระพุทธรูป ทำลายโบสถ์ พระเจดีย์ ขโมยพระพุทธรูปไปขาย ประพฤติการไม่สมควรเช่นไปแสดงความรักทางกามราคะตามบริเวณศาสนสถาน เช่น โบสถ์ และพระเจดีย์ เป็นต้น ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมคือคัดค้านพระธรรมว่าไม่สามารถจะให้คุณให้โทษได้จริง ไม่ศึกษาเล่าเรียน ไม่สนใจฟังเมื่อมีการแสดงธรรมตลอดถึงการเหยียบย่ำทำลายหนังสือหรือสิ่งอื่นใดที่จารึกพระธรรม ไม่เอื้อเฟื้อในพระสงฆ์ ด่าว่าพระสงฆ์ ยุยงให้แตกแยกกัน ไม่ทำบุญและขัดขวางผู้อื่นไม่ให้ทำบุญ เป็นต้น
๘. พระรัตนตรัยแยกกันไม่ได้
พระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ทั้ง ๓ นี้ แยกจากกันไม่ได้ ต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอยู่เสมอ พระอรรถกถาจารย์ท่าน อุปมาไว้ดังนี้
๑. พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนดวงจันทร์ พระธรรมเปรียบเหมือนกลุ่มรัศมีที่มีความสว่างและเย็นตาเย็นใจของดวงจันทร์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนสัตว์โลก ที่ได้รับความสุขสดชื่นจากแสงจันทร์นั้น ข้อนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าถ้ามีแต่ดวงจันทร์ไม่มีแสงจันทร์ คงไม่มีใครเห็นดวงจันทร์ว่าอยู่ที่ไหน หรือถ้ามีดวงจันทร์และมีแสงจันทร์ แต่ไม่มีสัตว์โลกก็คงไม่มีใครเห็นดวงจันทร์และได้รับผลประโยชน์จากดวงจันทร์ ดวงจันทร์กับแสงจันทร์จึงมีค่าเท่ากับไม่มีนั่นเอง
พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ก็เหมือนกัน ถ้ามีแต่พระพุทธเจ้า ไม่มีพระธรรม ก็คงเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ คงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะธรรมดาเหมือนเดิมหรือถ้ามีพระพุทธเจ้าและพระธรรม แต่ไม่มีพระสงฆ์ ก็ไม่มีใครเชื่อว่าเจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ จึงต้องเกี่ยวเนื่องกันอยู่เสมอ เกิดอะไรกับส่วนหนึ่งก็กระทบไปถึงอีก ๒ ส่วนด้วย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
๒. พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ พระธรรมเปรียบเหมือนแสงสว่างและความร้อนของดวงอาทิตย์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนสัตว์โลกที่ได้รับแสงสว่างและไออุ่นจากดวงอาทิตย์
๓. พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนก้อนเมฆ พระธรรมเปรียบเหมือนน้ำฝนอันเกิดจากก้อนเมฆ พระสงฆ์เปรียบเหมือนโลกพร้อมทั้งแมกไม้และกอหญ้าที่ได้รับความชุ่มชื่นจากน้ำฝน
๔. พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนสารถีผู้ชาญฉลาด พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายวิธีสำหรับฝึกม้า พระสงฆ์เปรียบเหมือนม้าที่ได้รับการฝึกหัดไว้ดีแล้ว
๕. พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ชี้ทาง พระธรรมเปรียบเหมือนหนทางที่ถูก ที่ตรงและมีความปลอดภัย พระสงฆ์เปรียบเหมือนคนเดินทางผู้ถึงที่หมายแล้ว
๖. พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ พระธรรมเปรียบเหมือนขุมทรัพย์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนคนที่ได้รับทรัพย์สมบัติไปใช้อย่างมีความสุข
๙. ผู้เข้าไปหาพระรัตนตรัยด้วยอกุศลจิตย่อมเกิดโทษ
พระมหาโมคคัลลาเถระ พระอัครสาวกเบื้องซ้าย ได้กล่าวกับมารที่เข้าไปหาพระพุทธเจ้าด้วยประสงค์ร้าย เช่นครั้งเสด็จออกผนวชก็ไปห้ามไว้โดยอ้างว่า จักรรัตนะจะเกิดขึ้นภายใน ๗ วัน ท่านจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิอยู่แล้ว จะไปบวชทำไม่ เมื่อตรัสรูแล้ว ก็ได้ไปทูลขอให้เสด็จดับขันธปรินิพพาน แต่พระพุทธองค์ทรงห้ามปรามมารว่า ขอให้บริษัทของเรารู้ปริยัติ ปฏิบัติได้ เข้าใจธรรม นำไปใช้เป็นเสียก่อน เราจึงจะนิพพาน ต่อจากนั้นพระยามารก็ติดตามรังควานทั้งพระศาสดาและพระสาวกมาตลอดเวลา แม้แต่พระมหาโมคคัลลาเถระก็ถูกรังควานด้วย ครั้งหนึ่ง พระเถระจึงได้กล่าวกับมารว่า
ไฟไม่ได้ตั้งใจเลยว่าเราจะเผาไหม้คนโง่ คนโง่ต่างหากที่เข้าไปหาไฟอันกำลังลุกโซน เขาเข้าไปหาไฟให้เผาไหม้ตัวเขาเอง ดูก่อนมารผู้ใจบาป ไฉนท่านจึงเข้าไปหาพระตถาคต เหมือนคนโง่เข้าไปหาไฟเล่า
คนโง่เข้าไปหาพระตถาคต แทนที่จะได้บุญกลับได้บาป ซ้ำยังสำคัญผิดว่า ไม่เห็นจะบาปอะไร
๑๐. พระรัตนตรัยเป็นสรณะที่ปลอดภัย
ผู้ที่มีจิตใจศรัทธาเลื่อมใส และเคารพนับถือบูชา เชื่อมั่นพระธรรมคำสั่งสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วปฏิบัติตามแม้ด้วยชีวิต ไม่ยอมให้สรณคมน์ขาดไป ย่อมได้รับผลที่น่าปรารถนา ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ชนเหล่านั้น ละกายมนุษย์ไปแล้วจักไม่เข้าถึงอบายภูมิ จักทำหมู่เทพให้บริบูรณ์ (ได้ไปเกิดในสวรรค์)
บุคคลใด ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แล้วเห็นอริยสัจ ๔ คือ เห็นทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิด ความดับทุกข์ และมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ ซึ่งทำให้ถึง ความดับทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ สรณะนั้นของบุคคลนั้น เป็นสรณะที่ปลอดภัย เป็นสรณะอันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั้น ย่อมพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้.
จากพระพุทธพจน์ที่ได้ยกมานี้ เป็นการรับประกันจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ผู้ที่ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะแล้วปลอดภัยพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้นั้น ต้องเห็นอริยสัจ ๔ หมายความว่า ต้องดำเนินชีวิตด้วยปัญญาอันชอบตามหลักอริยสัจ ๔ ไม่ใช่ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะแล้ว ยังกราบไหว้อ้อนวอนขอพรสิ่งอื่น เช่น แม่น้ำ ภูเขา ต้นไม้ เทพเจ้า เป็นต้น อันนอกเหนือไปจากพระรัตนตรัย ไม่ปฏิบัติตามหลักอริยสัจ ๔ ถ้าอย่างนี้จะมาโทษพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่า พึ่งอะไรไม่ได้ ย่อมไม่ยุติธรรมสำหรับพระรัตนตรัย
การที่ได้พบพระรัตนตรัย อันเป็นสรณะที่ให้ความปลอดภัย ทำลายความทุกข์ได้จริง แล้วไม่ยอมรับนับถือ ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน ก็เท่ากับคนผู้ปฏิเสธสิริที่เข้ามาหาตน สมกับที่พระมหาปันถกเถระ ได้กล่าวไว้ว่า
ผู้ที่ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ปล่อยโอกาสนั้นให้ผ่านไปโดยไม่สนใจศึกษาและปฏิบัติตามโอวาทของพระองค์ ผู้นั้นเป็นคนไม่มีบุญ เหมือนกับคนที่ใช้มือและเท้าปัดป้องสิริที่เข้ามาหาตนถึงที่นอน แล้วขับไล่ไสส่งออกไป
-----------------¿-----------------
อุโบสถศีล
อุโบสถ เป็นเรื่องของกุศลกรรมที่สำคัญประการหนึ่งของคฤหัสถ์ แปลว่า การเข้าจำ เพื่อหยุดการงานของฆราวาส เช่น ทำนา ทำไร่เป็นต้นไว้ชั่วคราวแล้วมาทำกิจกรรมทางศาสนา เป็นการขัดเกลากิเลสอย่างหยาบให้เบาบาง และเป็นทางแห่งความสงบระงับ อันเป็นความสุขสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกชนผู้เป็นฆราวาส จึงนิยมเอาใจใส่หาโอกาสประพฤติปฏิบัติตามสมควร
อุโบสถนั้น ปฏิบัติกันมาก่อนพุทธกาล ปรากฏที่มาในอรรถกถาคังคมาลชาดก อัฏฐกนิบาต และในอุโบสถขันธกะ ดังนี้
ในอรรถกถาคังคมาลชาดก มีใจความว่า สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน ตรัสเรียกคนรักษาอุโบสถมาแล้ว ตรัสว่า พวกเธอทั้งหลาย ทำความดีแล้วที่รักษาอุโบสถ พวกเธอรักษาอุโบสถ ควรให้ทาน รักษาศีล ไม่ควรทำความโกรธ ควรเจริญเมตตาภาวนา ควรอยู่จำอุโบสถในครบเวลา เพราะว่า บัณฑิตในปางก่อนอาศัยอุโบสถเพียงกึ่งเดียวยังได้ยศใหญ่มาแล้ว อันอุบาสกและอุบาสิกาเหล่านั้นทูลขอร้องแล้ว จึงได้นำเรื่องอดีตมาเล่าว่า
ในอดีตกาล มีเศรษฐีคนหนึ่ง มีทรัพย์มาก มีบริวารเป็นคนดี ชอบทำบุญบริจาคทาน ภรรยา บุตร ธิดา บริวารชน แม้กระทั่งคนเลี้ยงวัวของเศรษฐีนั้น ล้วนเป็นผู้เข้าจำอุโบสถ เดือนละ ๖ วัน ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เกิดในครอบครัวคนขัดสน มีอาชีพรับจ้าง เป็นอยู่อย่างอัตคัดขัดสน เขาไปยังบ้านของเศรษฐีเพื่อขอทำงาน เศรษฐีบอกว่า ทุกคนในบ้านนี้ ล้วนแต่เป็นผู้รักษาศีล ถ้าเธอรักษาศีลได้ ก็ทำงานได้ แต่ลืมบอกวิธีรักษาศีลแก่เขา
พระโพธิสัตว์เป็นคนว่าง่าย ทำงานแบบถวายชีวิต ไม่คำนึงถึงความยากลำบาก ตื่นก่อน นอนที่หลังเสมอ ต่อมาวันหนึ่ง มีมหรสพในเมือง เศรษฐีเรียกสาวใช้มาสั่งว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถ เธอจงหุงอาหารให้คนงานแต่เช้าตรู่ พวกเขารับประทานอาหารแล้ว จะได้รักษาอุโบสถฝ่ายพระโพธิสัตว์ ตื่นนอนแล้ว ได้ออกไปทำงานแต่เช้ามืด ไม่มีใครบอกว่าวันนี้เป็นวันอุโบสถ คนทั้งหมดรับประทานอาหารเช้าแล้วต่างรักษาอุโบสถ แม้เศรษฐีพร้อมภรรยาและบุตรธิดา ก็ได้อธิฐานอุโบสถ ไปยังที่อยู่ของตนแล้ว นั่งนึกถึงศีล
พระโพธิสัตว์ทำงานตลอดทั้งวัน เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน จึงได้กลับมา แม่ครัวนำอาหารไปให้ พระโพธิสัตว์ รู้สึกแปลกใจ จึงถามว่า วันอื่น ๆ เวลานี้มีเสียงดัง วันนี้คนเหล่านั้นไปไหนกันหมด ครั้นทราบว่าทุกคนสมาทานอุโบสถ ต่างอยู่ในที่ของตนจึงคิดว่า เราคนเดียวไม่มีศีลในท่ามกลางของผู้มีศีล จะอยู่ได้อย่างไร ? เราจะอธิษฐานอุโบสถ ในตอนนี้จะได้หรือไม่หนอ ? จึงเข้าไปถามเศรษฐี เศรษฐีบอกว่า เมื่อรักษาอุโบสถตอนนี้ จะได้อุโบสถกรรมครึ่งเดียว เพราะไม่ได้อธิษฐานแต่เช้า พระโพธิสัตว์ บอกว่า ครึ่งเดียวก็ได้ขอรับ จึงสมาทานศีลกับเศรษฐีอธิษฐานอุโบสถ เข้าไปยังที่อยู่ของตนนอนนึกถึงศีล ในปัจฉิมยาม หิวอาหารจนเป็นลม เพราะยังไม่ได้รับประทานอาหารเลยตลอดทั้งวัน เศรษฐีนำเอาเภสัชต่าง ๆ มาให้ ก็ไม่ยอมรับประทาน ยอมเสียชีวิต แต่ไม่ยอมเสียศีล ในขณะใกล้จะเสียชีวิต พระเจ้าพาราณสี เสด็จประทักษิณพระนครมาถึงที่นั้น เขาได้เห็นสิริแห่งพระราชา จึงปรารถนาราชสมบัติ ครั้นสิ้นชีวิตแล้ว ได้ถือปฏิสนธิในพระครรภ์อัครมเหสี เพราะผลแห่งอุโบสถกรรมกึ่งหนึ่ง ครั้นประสูติแล้ว ทรงได้รับขนานพระนามว่าอุทัยกุมาร
ในอุโบสถขันธกะ มหาวรรค วินัยปิฎก มีใจความว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ พวกปริพาชกผู้นับถือลัทธิอื่น ประชุมกล่าวธรรมในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำ คนจำนวนมากไปฟังธรรมของพวกเขาแล้ว ได้ความรัก ความเลื่อมใส และเป็นพวกกับปริพาชกเหล่านั้น
พระเจ้าพิมพิสาร ได้ทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว ทรงเกิดความคิดว่า แม้พระสงฆ์ก็สมควรจะประชุมกันในวันเช่นนั้นบ้าง จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลเรื่องนั้นแล้วเสด็จกลับ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เธอทั้งหลายประชุมพร้อมกัน ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ ภิกษุทั้งหลายได้ประชุมกันตามพุทธดำรัส แต่นั่งอยู่เฉย ๆ ชาวบ้านมาเพื่อจะฟังธรรมก็ไม่พูดด้วย จึงถูกติเตียนข้อนขอดว่า เหมือนพวกสุกรใบ้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เธอทั้งหลายประชุมกันกล่าวธรรมในวัน๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ ภิกษุทั้งหลายได้ทำตามนั้นแล้ว
ทั้ง ๒ เรื่องที่นำมากล่าวนี้ ย่อมเป็นเครื่องแสดงว่า อุโบสถนั้น มีปฏิบัติกันมาก่อนแล้ว และเป็นชื่อของวันที่เจ้าลัทธินั้น ๆ กำหนดไว้ เพื่อความสะดวกในการทำกิจกรรมตามลัทธิของตน ด้วยการงดอาหาร ต่อมา เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว จึงทรงบัญญัติอุโบสถศีล อันประกอบด้วยองค์ ๘ พร้อมทั้งสรณคมน์ เพราะฉะนั้น อุโบสถ จึงมี ๒ อย่าง คือ
๑. อุโบสถนอกพุทธกาล ได้แก่การเข้าจำด้วยการงดอาหาร ตั้งแต่เที่ยงวันไปแล้วในวันที่กำหนดไว้ ดังคำที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ ในอรรถกถาคังคมาลชาดกอัฏฐกนิบาตว่า บุตรและภรรยาก็ดี บริวารชนก็ดี ของเศรษฐีนั้น โดยที่สุดแม้คนเลี้ยงโคในเรือนนั้น ทั้งหมดล้วนเข้าจำอุโบสถเดือนละ ๖ วัน
๒. อุโบสถในสมัยพุทธกาล ได้แก่ อุโบสถที่เป็นพุทธบัญญัติ อันประกอบด้วยสรณคมน์ และองค์ ๘ มีปาณาติปาตา เวรมณี เป็นต้น
--------------------¿--------------------
อุโบสถศีลมี ๓ ประการ[
๑. ปกติอุโบสถ ได้แก่ อุโบสถที่รับรักษากันตามปกติ เฉพาะวันหนึ่งคืนหนึ่งอย่างที่อุบาสกอุบาสิการักษากันอยู่ทุกวันนี้ มีเดือนละ ๔ วัน คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ วันแรม ๘ ค่ำ วันแรม ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ
๒. ปฏิชาครอุโบสถ ได้แก่ อุโบสถที่รับรักษาเป็นพิเศษกว่าปกติ คือ รักษาคราวละ ๓ วัน คือวันรับวันรักษา และวันส่ง เช่นจะรับอุโบสถวัน ๘ ค่ำ ต้องรับและรักษามาแต่วัน ๗ ค่ำ ตลอดไปจนถึงวัน ๙ ค่ำ จนได้อรุณใหม่ของวัน ๑๐ ค่ำนั่นเองจึงหยุดรักษา
๓. ปาฏิหาริยอุโบสถ ได้แก่ อุโบสถที่รับรักษาตลอด ๔ เดือนฤดูฝน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงวันเพ็ญกลางเดือน ๑๒
ปาฏิหาริยอุโบสถ ถือตามคตินิยมของคนอินเดียในสมัยนั้น เทียบเคียงได้กับเรื่องบัญญัติการจำพรรษาของภิกษุ ในวัสสูปนายิกขันธกะ พระวินัยปิฎกว่า
สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นพระพุทธองค์ยังมิได้ทรงบัญญัติให้ภิกษุทั้งหลายอยู่จำพรรษา ภิกษุทั้งหลายเที่ยวจาริกไป ตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร จึงได้เที่ยวจาริกไปอย่างนี้ เหยียบย่ำข้าวกล้าที่เขียวสด เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตทำสัตว์เล็ก ๆ จำนวนมากให้ถึง ความวอดวายเล่า ก็พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ผู้กล่าวธรรมอันต่ำทราม ยังพักอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน ภิกษุทั้งหลาย จึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระพุทธองค์ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ปรารภเหตุนั้นแล้ว ตรัสว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอยู่จำพรรษา ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลาย คิดว่าพวกเราพึงจำพรรษาเมื่อไรหนอ ? จึงทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์รับสั่งว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จำพรรษาในฤดูฝน นี้เป็นคตินิยมของคนอินเดียในสมัยนั้น การรักษาปาฏิ-หาริยอุโบสถ อาจเกี่ยวเนื่องกับคตินิยมนี้ก็ได้
----------------------¿-----------------------
รักษาอุโบสถเพื่อข่มกิเลส
อุโบสถนี้เป็นวงศ์ของโบราณบัณฑิต ท่านเหล่านั้นได้เข้าจำอุโบสถ เพื่อข่มกิเลสมีราคะเป็นต้น สมดังที่พระอรรถกถาจารย์ได้กล่าวไว้ ในอรรถกถาปัญจุโปสถชาดกว่า
ครั้งหนึ่ง องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ท่ามกลางบริษัท ๔ในธรรมสภา ทรงทอดพระเนตรดูบริษัทด้วยพระทัยอ่อนโยน ทรงทราบว่า วันนี้เทศนาจะเกิดขึ้นเพราะอาศัยถ้อยคำของอุบาสกทั้งหลาย จึงตรัสเรียกพวกเขามาถามว่า เธอทั้งหลายกำลังรักษาอุโบสถกันหรือ ? เมื่อพวกเขาทูลตอบว่า พระพุทธเจ้าข้า จึงตรัสว่า พวกเธอทำดีแล้ว ชื่อว่าอุโบสถนี้ เป็นวงศ์แห่งโบราณบัณฑิต ด้วยว่าโบราณบัณฑิตทั้งหลาย ได้อยู่จำอุโบสถ เพื่อข่มกิเลสมีราคะเป็นต้น อุบาสกเหล่านั้นทูลวิงวอนแล้ว จึงได้นำอดีตนิทานมาตรัสว่า
ในอดีตกาล มีสถานที่อันเป็นป่าน่ารื่นรมย์ยิ่งแห่งหนึ่ง ระหว่างแคว้นทั้ง ๓ มีแคว้นมคธเป็นต้น พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในแคว้นมคธ ครั้นเจริญวัยแล้ว ละกามออกไปยังป่านั้น สร้างอาศรม บวชเป็นฤาษี ในที่ไม่ห่างจากอาศรมของฤาษีนั้น มีนกพิราบสองตัวผัวเมีย อยู่ที่ป่าไผ่แห่งหนึ่ง งูตัวหนึ่งอยู่ที่จอมปลวก สุนัขจิ้งจอกอยู่ที่พุ่มไม้ หมีอยู่ที่พุ่มไม้อีกแห่งหนึ่ง สัตว์ทั้ง ๔ นั้น เข้าไปหาพระฤาษีแล้วฟังธรรมตามเวลาอันสมควร
ครั้นต่อมาวันหนึ่ง นกพิราบสองผัวเมีย ออกจากรังไปหาอาหาร เหยี่ยวได้เฉี่ยวเอาลูกน้อยซึ่งบินตามหลังไป แล้วจิกกินทั้งที่ลูกนกส่งเสียงร้อง นกพิราบเสียใจมาก คิดว่าความรักนี้ทำให้เราทุกข์ใจเหลือเกิน จึงไปยังสำนักของดาบส สมาทานอุโบสถแล้วนอนอยู่ ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง เพื่อข่มความเสียใจ อันเกิดจากความรัก
ฝ่ายงู ออกจากที่อยู่ไปหากิน ได้ไปยังทางสัญจรของฝูงโค เพราะกลัวเสียงเท้าโค จึงหลบเข้าไปยังจอมปลวกแห่งหนึ่ง ครั้งนั้น โคอุสภะซึ่งเป็นโคมงคลของนายบ้าน เข้าไปเอาสีข้างถูจอมปลวก ได้เหยียบงูนั้น งูโกรธจัด จึงกัดโคอุสภะนั้นถึงแก่ความตาย พวกชาวบ้านทราบข่าวว่า โคตาย จึงพากันมาบูชาด้วยดอกไม้เป็นต้น ขุดหลุมฝังแล้วกลับไป งูคิดว่า เราฆ่าโคนี้ เพราะความโกรธ ทำให้คนเป็นจำนวนมาก ต้องเศร้าโศกเสียใจ ถ้าเรายังข่มความโกรธไม่ได้จะไม่ออกไปหากิน จึงไปยังอาศรมของฤาษี สมาทานอุโบสถเพื่อข่มความโกรธแล้ว
ฝ่ายสุนัขจิ้งจอก ออกไปหากินพบซากช้าง เข้าไปภายในท้อง ซากช้างนั้นได้ยุบลงสุนัขจิ้งจอกออกมาข้างนอกไม่ได้ ติดอยู่ในท้องช้างหลายวัน ได้รับความทุกข์ทรมานมาก ต่อมาวันหนึ่ง ฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้หนังของช้างเน่า จึงออกมาได้ คิดว่า เพราะความโลภเราจึงประสบความทุกข์นี้ ถ้ายังข่มความโลภไม่ได้ จะไม่ออกไปหากิน ไปยังอาศรมพระฤาษีสมาทานอุโบสถเพื่อข่มความโลภ
ฝ่ายหมี เกิดความโลภจัด ออกจากป่าไปยังหมู่บ้านชายแดน แคว้นมัลละ พวกชาวบ้านบอกต่อ ๆ กันว่า หมีเข้ามายังหมู่บ้าน ต่างถือธนูและท่อนไม้เป็นต้น ออกไปล้อมพุ่มไม้ที่หมีนั้นหนีเข้าไป ช่วยกันทุบตีจนศีรษะแตก เลือดไหล หมีนั้นคิดว่า ความทุกข์นี้เกิดแก่เราเพราะความโลภจัด ถ้าเรายังข่มความโลภนี้ไม่ได้ จะไม่ออกไปหากิน ไปยังอาศรมของพระฤาษีสมาทานอุโบสถ เพื่อข่มความโลภนั้น
แม้ฤาษีเอง ก็ตกอยู่ใต้อำนาจของมานะถือตัว เพราะอาศัยชาติตระกูล จึงไม่สามารถจะทำฌานให้เกิดขึ้นได้
ครั้งนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ทราบว่าเขาเป็นผู้ถือตัว คิดว่า ผู้นี้ไม่ใช่คนธรรมดา เป็นพุทธางกูร จะได้บรรลุสัพพัญญุตญาณในกัลป์นี้ เราจักทำการข่มมานะผู้นี้แล้วทำให้เขาได้ฌานสมาบัติ ในขณะที่ฤาษีกำลังนอน ในบรรณศาลา จึงมาจากป่าหิมพานต์ นั่งบนแท่นของฤาษี ฤาษีทราบว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านั่งบนอาสนะของตน มีความโกรธ เข้าไปหา ชี้หน้าด่าว่า เจ้าสมณะโล้นถ่อย กาฬกิณี จงฉิบหาย เจ้ามานั่งบนแผ่นหินที่นั่งของข้าทำไม่
พระปัจเจกพุทธเจ้าได้พูดกับฤาษีนั้นว่า ท่านสัตบุรุษทำไม ? จึงถือตัวนักเล่าอาตมาบรรลุปัจเจกพุทธญาณแล้ว ท่านก็จะเป็นพุทธสัพพัญญูในกัลป์นี้ ท่านเป็นหน่อเนื้อพุทธะบำเพ็ญความดีมาแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปเท่านี้ จะเป็นพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าสิทธัตถะ ได้ให้โอวาทว่า ท่านเป็นผู้ถือตัว หยาบคาย ร้ายกาจเพื่ออะไร ? ทำอย่างนี้ไม่สมควรแก่ท่านเลยฤาษีนั้น ก็ยังไหว้ท่าน และไม่ถามว่า ตนเองจะได้เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อไร ? พระปัจเจกพุทธเจ้าพูดกับเขาว่า ท่านไม่รู้หรอกว่า เราก็มีชาติสูงและมีคุณใหญ่เหมือนกัน ถ้าแน่จริง ก็เหาะให้ได้เหมือนเราสิได้เหาะขึ้นไปในอากาศโปรยฝุ่นที่เท้าของตนลงบนมวยของเขาแล้ว กลับไปยังป่าหิมพานต์
ฤาษีเกิดความสลดใจ หลังจากพระปัจเจกพุทธเจ้าไปแล้ว คิดว่า พระสมณะนี้มีร่างกายหนักแต่เหาะไปเหมือนปุยนุ่นที่ถูกลมพัด เราไม่ไหว้ท่าน ไม่ถามท่านด้วยความเย่อหยิ่งเพราะชาติ ขึ้นชื่อว่าชาติชั้นวรรณะ จะทำอะไรได้ การประพฤติศีลเท่านั้นเป็นคุณใหญ่ในโลกนี้แต่มานะนี้ของเราเมื่อเจริญขึ้น มีแต่จะนำไปสู่นรก ถ้าเรายังข่มมานะนี้ไม่ได้ จะไม่ไปหาผลาผลจึงเข้าสู่บรรณศาลา สมาทานอุโบสถเพื่อข่มมานะ
เรื่องปัญจอุโบสถชาดกนี้ แสดงให้เห็นว่า ความทุกข์และภัยอันตรายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์เป็นส่วนตัว หรือสังคมก็ตาม มักเกิดขึ้น เพราะความขาดศีลธรรม การแก้ไขความทุกข์และภัยอันตรายนั้น ควรแก้ด้วยศีลธรรม ไม่ควรแก้ด้วยกิเลส หรือ ด้วยอบายมุข เช่น เสพสิ่งเสพติดและเที่ยวเตร่เสเพล เป็นต้น เพราะยิ่งเพิ่มปัญหาให้มากและกว้างขวางออกไปอีก การเข้าจำอุโบสถสงบจิตใจ จะทำให้เกิดปัญญามองเห็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องได้
----------------------¿--------------------------
อุโบสถศีลมี ๘ สิกขาบท
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง และใช้ผู้อื่นให้ฆ่า
๒. อทินฺนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากลักฉ้อของเขาด้วยตนเอง และ ใช้ผู้อื่นให้ลักฉ้อ
๓. อพฺรหฺทจริยา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากประพฤติอสัทธรรม เป็นข้าศึกแก่ พรหมจรรย์
๔. มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากพูดเท็จคำไม่จริง ล่อลวงอำพรางท่านผู้อื่น
๕. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือ ดื่มกินซึ่งน้ำเมาคือสุราและเมรัย และเครื่องดองที่เป็นของทำใจให้คลั่งไคล้ต่าง ๆ
๖. วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาลคือตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงเวลาอรุณขึ้นใหม่
๗. นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี
สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม เครื่องประโคมต่าง ๆ
ดูการเล่นแต่บรรดาที่เป็นข้าศึกแก่กุศล และลูบทาทัดทรงประดับตกแต่งซึ่งร่างกาย ด้วยระเบียบดอกไม้และของหอม เครื่องทาเครื่องย้อม ผัดผิวต่าง ๆ
๘. อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากนั่งนอนบนเตียงตั่ง มีเท้าสูงเกินประมาณ และที่นั่งที่นอนอันใหญ่ และเครื่องปูลาดอันงามวิจิตรต่าง ๆ
--------------------------¿-------------------------
อธิบายอุโบสถศีล ๘ ข้อ โดยสังเขป
อุโบสถศีลทั้ง ๘ นั้น สิกขาบทที่ ๑ เว้นจากทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง คือ เว้นจากฆ่าสัตว์มีชีวิต คำว่า สัตว์ ในที่นี้ ประสงค์ทั้งมนุษย์และเดียรฉานยังเป็นอยู่ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนิด
สิกขาบทนี้มีองค์ ๕ คือ สัตว์มีชีวิต ๑ รู้ว่าสัตว์มีชีวิต ๑ จิตคิดจะฆ่า ๑ พยายามฆ่า ๑ สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น ๑
สิกขาบทที่ ๒ เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ กิริยาที่ถือเอาในที่นี้ หมายถึง ถือเอาด้วยอาการเป็นโจร สิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ในที่นี้ หมายถึง สิ่งของที่มีเจ้าของ ทั้งที่เป็นสวิญญาณกทรัพย์ ทั้งที่เป็นอวิญญาณกทรัพย์ อันเจ้าของไม่ได้ยกให้เป็นสิทธิ์ขาด อย่างหนึ่งสิ่งของที่ไม่ใช่ของใคร แต่มีผู้รักษาหวงแหน เช่น ของสงฆ์ ของส่วนรวมอันเป็นสาธารณะประโยชน์ อย่างหนึ่ง
สิกขาบทนี้มีองค์ ๕ คือ ของมีเจ้าของหวง ๑ รู้ว่ามีเจ้าของหวง ๑ จิตคิดจะลัก ๑พยายามลัก ๑ นำของมาด้วยความพยายามนั้น ๑
สิกขาบทที่ ๓ เจตนาเป็นเหตุก้าวล่วงฐานะ โดยประสงค์จะเสพอสัทธรรม ซึ่งเป็นไปทางกายทวาร ชื่อว่า อพรหมจรรย์ ได้แก่ ความลุอำนาจแก่ราคะแล้วเสพอสัทธรรมในมรรคใดมรรคหนึ่ง บรรดามรรคทั้ง ๓ (ทวารหนัก ทวารเบา ปาก)
สิกขาบทนี้มีองค์ ๔ คือ อัชฌาจรณียวัตถุ วัตถุที่จะพึงประพฤติล่วง (มรรคทั้ง ๓) ๑จิตคิดจะเสพในอัชฌาจรณียวัตถุนั้น ๑ ความพยายามในการเสพ ๑ มีความยินดี ๑
สิกขาบทที่ ๔ การแสดงความเท็จ เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิด คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี จัดเป็นมุสาวาท
สิกขาบทนี้มีองค์ ๔ คือ เรื่องไม่จริง ๑ จิตคิดจะพูดให้ผิด ๑ พยายามพูดออกไป ๑คนอื่นเข้าใจเนื้อความนั้น ๑
สิกขาบทที่ ๕ น้ำเมาที่เป็นแต่เพียงของดอง เช่น น้ำตาลเมาต่าง ๆ ชื่อเมรัย เมรัยนั้น เขากลั่นให้เข้มข้นขึ้นไปอีก เช่น เหล้าต่าง ๆ ชื่อสุรา สุราเมรัยนี้ ทำให้ผู้ดื่มเมาเสียสติ สามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง จึงได้ชื่อว่า เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
สิกขาบทนี้มีองค์ ๔ คือ ของทำให้เมา มีสุราเป็นต้น ๑ จิตใคร่จะดื่ม ๑ ทำพยายามดื่ม ๑ ดื่มให้ล่วงลำคอเข้าไป ๑
สิกขาบทที่ ๖ กาลที่ผู้รักษาอุโบสถศีลจะบริโภคอาหารได้ คือ ตั้งแต่อรุณขึ้นมาแล้วจนถึงเที่ยง เรียกว่า กาล ส่วนตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงก่อนอรุณขึ้น เรียกว่า วิกาล จะบริโภคอาหารในเวลานี้ไม่ได้
สิกขาบทนี้มีองค์ ๔ คือ เวลาตั้งแต่เที่ยงแล้วไปถึงก่อนอรุณขึ้น ๑ ของเคี้ยวของกินสงเคราะห์เข้าในอาหาร ๑ พยายามกลืนกิน ๑ กลืนให้ล่วงลำคอเข้าไป ด้วยความพยายามนั้น ๑
สิกขาบทที่ ๗ การดูที่ชื่อว่าเป็นข้าศึกศัตรูนั้น เพราะขัดแย้งต่อคำสอนของศาสนา การฟ้อนรำ การขับร้อง การดีดสีตีเป่า จะทำด้วยตนเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นทำก็ตาม ถ้าเป็นข้าศึกแก่กุศล จัดเป็นความผิดในสิกขาบทนี้ทั้งสิ้น
สิกขาบทนี้มีองค์ ๓ คือ การเล่นมีฟ้อนรำขับร้องเป็นต้น ๑ ไปเพื่อจะดูหรือฟัง ๑ ดูหรือฟัง ๑
สิกขาบทที่ ๘ การห้ามที่นั่งที่นอนอันเกินขนาด อันได้ชื่อว่า อุจจาสยนะ และเครื่องปูลาดที่ไม่สมควร อันได้ชื่อว่า มหาสยนะ นั้น เพื่อประสงค์ไม่ให้เป็นของโอ่โถงและยั่วยวนให้เกิดราคะความกำหนัดยินดี พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้เว้นจากที่นั่งที่นอนสูงและที่นั่งที่นอนใหญ่นั้น
สิกขาบทนี้มีองค์ ๓ คือ ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ ๑ รู้ว่าที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ ๑ นั่งหรือนอนลง ๑
--------------------¿------------------
วิธีสมาทานอุโบสถศีล
พระอรรถกถาจารย์ กล่าวไว้ว่า ในอรรถกถาอุโบสถสูตรว่า บุคคลผู้จะเข้าจำอุโบสถศีลนั้น พึงตั้งใจว่า พรุ่งนี้เราจักรักษาอุโบสถ ตรวจตราการทำอาหารเป็นต้นเสียแต่ในวันนี้ สั่งการงานให้เรียบร้อยว่า ท่านทั้งหลายจงทำสิ่งนี้และสิ่งนี้
ในวันอุโบสถ พึงเปล่งวาจาสมาทานองค์อุโบสถ ในสำนักของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกหรืออุบาสิกาก็ได้ ซึ่งเป็นผู้รู้จักลักษณะของศีล ๑๐ แต่เช้าตรู่ ถ้าไม่รู้บาลี พึงอธิษฐานว่าข้าพเจ้าอธิษฐานอุโบสถที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เมื่อไม่ได้ผู้อื่น พึงอธิฐานด้วยตนเองก็ได้ แต่ควรทำการเปล่งวาจาโดยแท้ เมื่อเข้าจำอุโบสถแล้ว ไม่ควรจัดแจงการงานที่เกี่ยวกับการเบียดเบียนผู้อื่น ควรให้เวลาผ่านไปด้วยการนับอายุและวัย
ส่วนพระฎีกาจารย์อธิบายว่า ตั้งแต่สมาทานศีลแล้ว ผู้รักษาอุโบสถไม่ควรทำกิจอะไรอย่างอื่น ควรให้เวลาผ่านไปด้วยการฟังธรรม หรือมนสิการกรรมฐาน
ระเบียบพิธี
เมื่อถึงวันอุโบสถ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ ผู้รักษาอุโบสถนำภัตตาหารคาวหวานไปทำบุญที่วัด ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน หรือที่ตนศรัทธาเลื่อมใส หลังจากที่พระสงฆ์ทำวัตรเช้าเสร็จแล้ว พึงเริ่มกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยว่า
ยมหํ สมฺมาสมฺพุทฺธํ ภควนฺตํ สรณํ คโต (หญิงว่า คตา)
พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด ตรัสรู้ดีโดยชอบ ข้าพเจ้าถึงแล้วว่าเป็นที่พึ่ง กำจัดภัยได้จริง
อิมินา สกฺกาเรน ตํ ภควนฺตํ อภิปูชยามิ
ข้าพเจ้าขอบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นด้วยเครื่องสักการะนี้
ยมหํ สฺวากฺขาตํ ภควตา ธมฺมํ สรณํ คโต (หญิงว่า คตา)
พระธรรมใดอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ข้าพเจ้าถึงแล้วว่าเป็นที่พึ่งกำจัดภัยได้จริง
อิมินา สกฺกาเรน ตํ ธมฺมํ อภิปูชยามิ
ข้าพเจ้าบูชาซึ่งพระธรรมนั้น ด้วยเครื่องสักการะนี้
ยมหํ สุปฏิปนฺนํ สงฺฆํ สรณํ คโต (หญิงว่า คตา)
พระสงฆ์หมู่ใด เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ข้าพเจ้าถึงแล้วว่าเป็นที่พึ่ง กำจัดภัยได้จริง
อิมินา สกฺกาเรน ตํ สงฺฆํ อภิปูชยามิ
ข้าพเจ้าบูชาซึ่งพระสงฆ์หมู่นั้น ด้วยเครื่องสักการะนี้
อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา พุทฺธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ (กราบ)
สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธมฺมํ นมสฺสามิ (กราบ)
สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สงฺฆํ นมามิ (กราบ)
ต่อจากนั้น ผู้เป็นหัวหน้า พึงนั่งคุกเข่าประนมมือ ประกาศอำอุโบสถ ดังนี้
อชฺช โภนฺโต ปกฺขสฺส อฏฺฐมีทิวโส (๑๔ ค่ำ ให้ว่า จาตุทฺทสีทิวโส ๑๕ ค่ำ ให้ว่า ปณฺณรสีทิวโส , (อมาวสีทิวโส) เอวรูโป โข โภนฺโต ทิวโส พุทฺเธน ภควตา ปญฺญตฺตสฺส ธมฺมสฺสวนสฺส เจว ตทตฺถาย อุปาสกอุปาสิกานํ อุโปสถกมฺมสฺส จ กาโล โหติ ฯ หนฺท มยํ โภนฺโต สพิเพ อิธ สมาคตา ตสฺส ภควโต ธมฺมานุธมิมปฏิปตฺติยา ปูชนตฺถาย อิมญิจ รตฺตึ อิมญิจ ทิวสํ อุโปสถํ อุปวสิสฺสามาติ กาลปริจฺเฉทํ กตฺวา ตํ ตํ เวรมณึ อารมฺมณํ กริตฺวา อวิกฺขิตฺตจิตฺตา หุตฺวา สกฺกจฺจํ อุโปสถงฺคานิ สมาทิเยยฺยาม อีทิสํ หิ อุโปสถกาลํ สมฺปตฺตานํ อมฺหากํ ชีวิตํ มา นิรตฺถกํ โหตุ ฯ
ข้าพเจ้า ขอประกาศเริ่มเรื่องความที่จะได้สมาทานรักษาอุโบสถ ตามกาลสมัยพร้อมด้วยองค์ ๘ ประการ ให้สาธุชนที่จะตั้งจิตสมาทานทราบทั่วกัน ก่อนแต่จะสมาทาน ณ บัดนี้
ด้วยวันนี้ เป็นวันอัฏฐมี ดิถีที่ ๘ (วันจาตุททสี ดิถีที่ ๑๔ วันปัณณรสี , (วันอมาวสี ดิถีที่ ๑๕ ) แห่งปักษ์มาถึงแล้ว ก็แลวันเช่นนี้ เป็นกาลที่จะฟังธรรมและทำการรักษาอุโบสถ เพื่อประโยชน์แห่งการฟังธรรม บัดนี้ขอกุศลอันยิ่งใหญ่ คือ ตั้งจิตสมาทานอุโบสถ จงเกิดมีแก่เราทั้งหลาย บรรดามาประชุม ณ ที่นี้ เราทั้งหลายพึงมีจิตยินดีว่าจะรักษาอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ วันหนึ่งคืนหนึ่ง ณ เวลาวันนี้แล้ว จงตั้งจิตคิดงดเว้นไกลจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป คือฆ่าสัตว์เองและใช้ให้คนอื่นฆ่า ๑ เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้ คือลักและฉ้อและใช้ให้ลักฉ้อ ๑ เว้นจากอพรหมจรรย์ ๑ เว้นจากพูดคำเท็จคำไม่จริง และล่อลวงอำพรางท่านผู้อื่น ๑ เว้นจากดื่มกินซึ่งสุราเมรัย สารพัดน้ำกลั่นน้ำดอง อันเป็นของให้ผู้ดื่มแล้วเมา ซึ่งเป็นเหตุที่ตั้งแห่งความประมาท ๑ เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ตั้งแต่พระอาทิตย์เที่ยงแล้ว ไปจนถึงเวลาอรุณขึ้นใหม่ ๑ เว้นจากฟ้อนรำขับร้องและประโคมดนตรี และดูการเล่นบรรดาเป็นข้าศึกแก่กุศล และทัดทรงระเบียบดอกไม้ ลูบไล้ทาตัวด้วยของหอม เครื่องย้อมเครื่องแต่งและประดับร่างกายด้วยเครื่องอาภรณ์วิจิตรงดงามต่าง ๆ ๑ เว้นจากนั่งนอนเหนือที่นั่งที่นอนอันสูง มีเตียงตั่งสูงกว่าประมาณ และที่นั่งที่นอนอันใหญ่ภายในมีนุ่นและสำลี และเครื่องลาดอันวิจิตรงดงาม ๑ จงทำความเว้นองค์ที่จะพึงเว้น ๘ ประการนี้ เป็นอารมณ์ อย่ามีจิตฟุ้งซ่านส่งไปอื่น จงสมทานองค์อุโบสถ ๘ ประการนี้โดยเคารพเถิดเพื่อบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ด้วยข้อปฏิบัติอย่างยิ่ง ตามกำลังของเราทั้งหลาย ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ ชีวิตแห่งเราทั้งหลายเป็นมาถึงวันอุโบสถนี้ จงอย่าล่วงไปปราศจากประโยชน์เลย
ต่อจากนั้น พึงกล่าวคำอาราธนาอุโบสถศีลพร้อมกัน ดังนี้
มยํ ภนฺเต ติสรเณน สห อฏฺฐงฺคสมนฺนาคตํ อุโปสถํ ยาจาม (ว่า ๓ จบ)
เสร็จแล้ว พึงตั้งใจรับสรณคมน์และอุโบสถศีลโดยเคารพ โดยว่าตามคำที่พระสงฆ์บอกดังนี้
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมมาสมฺพุทฺธสฺส (ว่า ๓ จบ)
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ฯลฯ ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ฯ
เมื่อพระสงฆ์ว่า ติสรณคมนํ นิฏฺฐิตํ พึงรับพร้อมกันว่า อาม ภนฺเต ต่อจากนั้น พึงรับอุโบสถศีลทั้ง ๘ ข้อ ดังกล่าวไว้แล้วข้างต้นต่อไปนี้
เมื่อรับศีลจบแล้ว พึงกล่าวตามพระสงฆ์ว่า อิมํ อฏฺฐงฺคสมนฺนาคตํ, พุทฺธปญฺญตฺตํ อุโปสถํ, อิมญฺจ รตฺตึ อิมญฺจ ทิวสํ, สมฺมเทว อภิรกฺขิตฺ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานอุโบสถ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ, นี้เพื่อจะรักษาไว้ให้ดี ไม่ให้ขาดไม่ให้ทำลาย ตลอดวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ณ เวลาวันนี้ พระสงฆ์บอกต่อว่า อิมานิ อฏฺฐ สิกฺขาปทานิ อชฺเชกํ รตฺตินฺทิวํ อุโปสถวเสน สาธุกํ รกฺขิตพฺพานิ ให้รับพร้อมกันว่า อาม ภนฺเต แล้วพระสงฆ์จะบอกอานิสงส์ของศีลต่อไป ดังนี้
สีเลน สุคตึ ยนฺติ, สีเลน โภคสมฺปทา, สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ, ตสฺมา สีลํ วิโสธเยฯ
จบพิธีสมาทานอุโบสถศีลเพียงเท่านี้ ต่อจากนั้น พึงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาหรือมนสิการกรรมฐานต่อไปนี้ เมื่อรักษาครบเวลาวันหนึ่งกับคืนหนึ่งแล้ว การสมาทานก็สิ้นสุดลง
-----------------------¿-----------------------
อุโบสถศีลมีผลน้อยและมีผลมาก
การบำเพ็ญบุญกุศลในพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ
อย่างต่ำ อย่างกลาง และอย่างสูง
การทำบุญด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสาอย่างต่ำ จัดเป็นบุญอย่างต่ำ
การทำบุญด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสาอย่างกลาง จัดเป็นบุญอย่างกลาง
การทำบุญด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสาอย่างสูง จัดเป็นบุญอย่างสูง
การทำบุญเพราะต้องการชื่อเสียง จัดเป็นบุญอย่างต่ำ
การทำบุญเพราะต้องการผลบุญ จัดเป็นบุญอย่างกลาง
การทำบุญเพราะสำคัญว่าเป็นสิ่งควรทำ จัดเป็นบุญอย่างสูง
แม้การสมาทานรักษาอุโบสถศีล ก็เช่นเดียวกัน อัธยาศัยของผู้สมาทานย่อมแตกต่างกันไป ทำให้ได้ผลไม่เหมือนกัน ผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสแก่นางวิสาขาในอุโบสถสูตร ติกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า ดูก่อนวิสาขา อุโบสถมี ๓ อย่าง คือ โคปาลกอุโบสถ ๑ นิคคัณฐอุโบสถ ๑ อริยอุโบสถ ๑
๑. โคปาลกอุโบสถ หมายถึง อุโบสถที่อุบาสกอุบาสิการักษา มีอาการเหมือนคนเลี้ยงโค ทรงอธิบายว่า คนเลี้ยงโค มอบโคทั้งหลายให้เจ้าของในเวลาเย็นแล้วคำนึงอย่างนี้ วันนี้ โคเที่ยวหากินในที่โน้น ๆ ดื่มน้ำในที่โน้น ๆ ทีนี้ พรุ่งนี้ โคจักเที่ยวหากินในที่โน้น ๆ จักดื่มน้ำในที่โน้น ๆ ฉันใด คนรักษาอุโบสถบางคน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คำนึงไปอย่างนี้ว่า วันนี้นะ เราเคี้ยวกินขาทนียะสิ่งนี้ ๆ บริโภคโภชนียะสิ่งนี้ ๆ พรุ่งนี้ เราจักเคี้ยวกินขาทนียะสิ่งนี้ ๆ จักบริโภคโภชนียะสิ่งนี้ ๆ คนรักษาอุโบสถ ผู้นั้นมีใจไปกับความยาก ใช้วันให้หมดไปด้วยความอยากนั้น การรักษาอุโบสถเช่นนี้ ย่อมไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ดังเรื่องเล่าของคนถือศีลไปเกิดเป็นเปรต แต่คนตกเบ็ดได้ขึ้นสวรรค์ ว่า
ในอุโบสถ มีคนกลุ่มหนึ่งไปถือศีลอยู่บนศาลาวัด ส่วนคนอีกคนหนึ่งไปนั่งตกปลาอยู่ที่ฝั่งคลองตรงข้ามศาลา วันนั้นปลากินเบ็ดดี คนตกเบ็ดวัดเอา ๆ ได้ปลามาก คนถือศีลอยู่บนศาลา มองไปที่คนตกปลา ก็เกิดความโลภอยากได้ปลา นึกว่าทำไมวันนี้ต้องเป็นวันอุโบสถถ้าไม่เช่นนั้นคงได้ปลากับเขาบ้าง จิตใจคิดถึงแต่ปลา ไม่เป็นอันคิดถึงศีล คิดถึงกรรมฐาน และฟังธรรมเลย ฝ่ายคนตกปลามองไปบนศาลาวัดเห็นคนนุ่งขาวห่มขาวถือศีลกัน แต่ตัวเองต้องมานั่งตกปลาไม่รู้จักว่าวันโกนวันพระ เกิดหิริโอตตัปปะ กลับไปถึงบ้าน หยุดการทำบาป เกิดสัมปัตตวิรัติขึ้นมาใจเลยสบาย ส่วนคนถือศีล ร้อนรนไปด้วยความโลภ เร่งวันเวลา ใจจึงมีแต่ความทุกข์ คนขึ้นสวรรค์คือคนที่ใจมีความสุข คนตกนรกคือคนที่ใจมีแต่ความทุกข์ ดังคำพูดที่ว่า สวรรค์อยู่ในอกนรกอยู่ในใจ การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ ย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะจิตใจไม่ได้เข้าถึงธรรมเลย
๒. นิคคัณฐอุโบสถ หมายถึง อุโบสถของนักบวชนอกพระพุทธศาสนา ทรงอธิบายว่าครั้นถึงวันอุโบสถ นิครนถ์จะเรียกพวกสาวกมาสอนว่า สูเจ้าจงเปลื้องผ้าออกให้หมดแล้วประกาศตนอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เกี่ยวข้องกับใคร ๆ ในที่ไหน ๆ และความกังวลในสิ่งอะไร ๆ และในที่ไหน ๆ ก็ไม่มี แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น พวกเขายังรู้จักญาติพี่น้องพวกพ้องของเขา และญาติพี่น้องพวกพ้องของเขา ก็รู้จักเขา และเขาก็ยังต้องรับอาหารจากคนอื่นอยู่ ดังนั้น สิ่งที่นิครนถ์
สอนนั้น จึงไม่เป็นความจริงได้
คนรักษาอุโบสถก็เช่นเดียวกัน บางคนเชื่อถือในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หลงอาจารย์หลงสำนักทิ้งพ่อแม่ ทิ้งลูก จนขาดความกตัญญูกตเวที และไม่ทำหน้าที่ของบุพพการี ทำให้เกิดปัญหาทางครอบครัว การถือศีลหรือการปฏิบัติธรรมอย่างนี้ย่อมไม่เกิดผลดีแต่อย่างใด เพราะเป็นความประพฤติที่เลยศีล เลยธรรม หรือทำลายระบบศีลธรรมนั่นเอง
๓. อริยอุโบสถ หมายถึง อุโบสถที่อุบาสกอุบาสิการักษา ประเสริฐพิเศษโดยข้อปฏิบัติ ทรงอธิบายว่า จิตของมนุษย์ที่เศร้าหมองด้วยอำนาจกิเลสนี้ สามารถชำระล้างให้สะอาดได้ด้วยความเพียร เหมือนศีรษะที่เปื้อน ทำให้สะอาดได้ด้วยเครื่องสนานศีรษะ ร่างกายที่เปื้อน ทำให้สะอาดได้ด้วยเครื่องชำระล้างร่างกาย ผ้าที่สกปรก ฟอกให้สะอาดได้ด้วยเครื่องซักผ้า แว่นที่มัวหมองทำให้ใสได้ด้วยน้ำมัน ทองคำที่หมองคล้ำ ทำให้สุกปลั่งได้ด้วยเครื่องมือของช่างทองและสิ่งที่จะทำจิตอันเศร้าหมองให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วได้นั้น คือ
๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณความดีของพระพุทธเจ้า
๒. ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณความดีของพระธรรม
๓. สังฆานุสสติ ระลึกถึงความดีของพระสงฆ์
๔. สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตน
๕. เทวตานุสสติ ระลึกถึงความดีที่ทำให้เป็นเทวดา มี ศรัทธา ศีล สุตะจาคะ และ ปัญญา เป็นต้น
เมื่อผู้รักษาอุโบสถระลึกถึงอนุสสติทั้ง ๕ นี้ ชื่อว่าประพฤติพรหมอุโบสถ ธัมมอุโบสถสังฆอุโบสถ สีลอุโบสถ และเทวตาอุโบสถ จิตของเธอปรารภพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ศีล และเทวดา ย่อมผ่องใส ความปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น เธอย่อมละอุปกิเลสเสียได้ การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว ย่อมมีได้ ด้วยความเพียรอย่างนี้แล
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไปว่า ดูก่อนวิสาขา อริยสาวกนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นด้วยตนเองอย่างนี้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลาย ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้น ขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความละอายบาป มีความเอ็นดู เกื้อกูล อนุเคราะห์สรรพสัตว์อยู่ตลอดชีพ แม้เราในวันนี้ก็เป็นเช่นนั้น ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่งนี้ด้วยองค์อุโบสถนี้ เราได้ชื่อว่าปฏิบัติตามพระอรหันต์ทั้งหลายอย่างหนึ่ง และอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว อย่างหนึ่ง
พระอรหันต์ทั้งหลาย ละอทินนาทานแล้ว เว้นขาดจากอทินนาทาน ถือเอาแต่ของที่เขาให้ หวังแต่ของที่เขาให้ มีตนอันไม่เป็นขโมย เป็นผู้เป็นอยู่สะอาดตลอดชีพ แม้เราในวันนี้ก็เป็นเช่นนั้น ตลอดคืนและวันหนึ่ง ด้วยองค์อุโบสถนี้ เราชื่อว่า ปฏิบัติตามพระอรหันต์ทั้งหลาย อย่างหนึ่ง และอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว อย่างหนึ่ง
พระอรหันต์ทั้งหลาย ละอพรหมจรรย์แล้ว เป็นพรหมจารี เว้นจากเมถุนอันเป็นธรรมของชาวบ้านตลอดชีพ แม้เราในวันนี้ก็เป็นเช่นนั้น ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่งนี้ ด้วยองค์อุโบสถนี้ เราชื่อว่า ปฏิบัติตามพระอรหันต์ทั้งหลาย อย่างหนึ่งและอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้วอย่างหนึ่ง
พระอรหันต์ทั้งหลาย ละมุสาวาทแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากมุสาวาท พูดแต่คำจริงพูดจริงเสมอ มีถ้อยคำมั่นคง เป็นที่วางใจได้ ไม่ลวงโลกตลอดชีพ แม้เราในวันนี้ก็เป็นเช่นนั้นตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่งนี้ ด้วยองค์อุโบสถนี้ เราชื่อว่า ปฏิบัติตามพระอรหันต์ทั้งหลาย อย่างหนี่งและอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว อย่างหนึ่ง
พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการดื่มสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทแล้วเป็นผู้เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาตลอดชีพ แม้เราในวันนี้ก็เป็นเช่นนั้นตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่งนี้ ด้วงองค์อุโบสถนี้ เราได้ชื่อว่า ปฏิบัติตามพระอรหันต์ทั้งหลายอย่างหนึ่ง และอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว อย่างหนึ่ง
พระอรหันต์ทั้งหลาย บริโภคอาหารครั้งเดียว งดอาหารในราตรี เว้นจากการบริโภคในเวลาวิกาลตลอดชีพ แม้เราในวันนี้ก็เป็นเช่นนั้น ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่งนี้เราได้ชื่อว่าปฏิบัติตามพระอรหันต์ทั้งหลาย อย่างหนึ่ง และอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้วอย่างหนึ่ง
พระอรหันต์ทั้งหลาย เว้นขาดจากการฟ้อนรำ การขับร้อง การประโคมดนตรี ดูการเล่น การประดับตกแต่งกายด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องทาผิวอันเป็นฐานแต่งตัวตลอดชีพ แม้เราในวันนี้ก็เป็นเช่นนั้น ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่งนี้ ด้วยองค์อุโบสถนี้ เราได้ชื่อว่าปฏิบัติตามพระอรหันต์ทั้งหลายอย่างหนึ่ง และ อุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว อย่างหนึ่ง
พระอรหันต์ทั้งหลาย ละที่นอนสูงที่นอนใหญ่แล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากที่นอนสูงที่นอนใหญ่ ใช้ที่นอนต่ำ บนเตียงบ้าง บนเครื่องลาดทำด้วยหญ้าบ้างตลอดชีพ แม้เราในวันนี้ก็เป็นเช่นนั้น ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่งนี้ ด้วยองค์อุโบสถนี้ เราได้ชื่อว่า ปฏิบัติตามพระอรหันต์ทั้งหลายอย่างหนึ่ง และอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว อย่างหนึ่ง
ดูก่อนวิสาขา อริยอุโบสถเป็นอย่างนี้แล อุโบสถที่รักษาแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแผ่ไพศาลมาก
ในคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น อริยอุโบสถซึ่งเป็นอย่างอุกฤษฏ์ ผู้ที่ปฏิบัติมักรักษาไม่ใคร่ได้ รักษาได้แต่เพียงโคปาลกอุโบสถโดยมาก ถ้าผู้ปฏิบัติสามารถรักษาให้เป็นอริยอุโบสถ หรืออย่างน้อยที่สุดให้ได้สักวันหนึ่ง จะรู้สึกว่าเป็นบุญกุศลอันพิเศษทั้งจะได้รับรสคือปีติปราโมทย์อย่างมาก ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา
--------------------¿--------------------
อานิสงส์ของอุโบสถศีล
ศีลทุกประเภทที่บุคคลรักษาด้วยจิตศรัทธา จะด้วยการสมาทาน หรือการงดเว้นเฉพาะหน้าก็ตาม ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความเจริญแผ่ไพศาลมาก เพราะศีลนั้น สามารถสร้างสวรรค์ สร้างความเสมอภาค และสร้างความปลอดภัยให้แก่มนุษย์ได้
๑. ศีลสร้างสวรรค์แก่มนุษย์
ศีลนั้น สามารถสร้างสวรรค์แก่มนุษย์ได้ ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่นางวิสาขา ในวิสาขาสูตร อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า
ดูก่อนวิสาขา อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อันบุคคลเข้าจำแล้ว ย่อมมีอานิสงส์มาก มีผลมาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความเจริญแผ่ไพศาลมาก ดูก่อนวิสาขา การที่สตรี หรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ หลังจากเขาแตกกายทำลายขันธ์แล้ว พึงได้อยู่ร่วมกับชาวสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิตชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัสดี ข้อนั้นย่อมเป็นไปได้แน่นอน
๒. ศีลนั้นสร้างความเสมอภาคแก่มนุษย์ได้
ศีลนั้นสร้างความเสมอภาคแก่มนุษย์ได้ ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับอุบาสกชื่อว่า วาเสฏฐะ ในอัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า
ดูก่อนวาเสฏฐะ แม้ถ้ากษัตริย์ทั้งหลาย พราหมณ์ทั้งหลาย แพศย์ทั้งหลายและศูทรทั้งหลาย พึงเข้าจำอุโบสถศีลอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ การเข้าจำนั้น พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่กษัตริย์ แก่พราหมณ์ แก่แพศย์ และแก่ศูทรทั้งหลาย เหล่านั้น ชั่วกาลนานเหมือนกัน (คือได้ไปเกิดในสุคติได้เท่าเทียมกัน)
๓. ศีลสร้างความปลอดภัยแก่มนุษย์
ศีลนั้นสร้างความปลอดภัยแก่มนุษย์ได้ ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในอภิสันทสูตร ในอัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย มีใจความว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในศาสนานี้ ละปาณาติบาต เป็นผู้เว้นจากปาณาติบาตละอทินนาทาน เป็นผู้เว้นขาดจากอทินนาทาน ละกาเมสุมิจฉาจาร เป็นผู้เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร ละมุสาวาท เป็นผู้เว้นขาดจากมุสาวาท ละสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน เป็นผู้เว้นจากสุราเมรย-มัชชปมาทัฏฐาน ชื่อว่า เขาได้ให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร และความไม่เบียดเบียน แก่สัตว์ทั้งหลาย หาประมาณมิได้ ตัวเขาเองก็ย่อมมีส่วน ( ได้รับ ) ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร และความไม่ถูกเบียดเบียนด้วย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทานทั้งห้านี้ เป็นมหาทาน รู้กันว่าเป็นเลิศ (กว่าทานทั้งหลาย) รู้กันมานาน รู้กันว่าเป็นวงศ์ (ของอริยะ) เป็นของเก่า อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูชนไม่คัดค้านไม่ลบล้าง
อนึ่ง แม้บุคคลผู้อำนวยความสะดวก และให้การสนับสนุนผู้รักษาศีล ด้วยการให้อาหารเป็นต้น ก็ย่อมได้ผล ได้อานิสงส์ ได้ความรุ่งเรือง และความเจริญแผ่ไพศาลมากเช่นเดียวกัน ดังเรื่องของปุโรหิตคนหนึ่ง
เล่ากันมาว่า ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์ ได้เป็นพระเจ้ากรุงพาราณสี เป็นผู้ไม่ประมาทในการบริจาคทาน รักษาศีล และอุโบสถกรรม ทรงชักชวนอำมาตย์เป็นต้น ให้บำเพ็ญกุศลเช่นนั้น คนทั้งหมดได้ทำตาม แต่มีปุโรหิตอยู่คนหนึ่งที่ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งผู้พิพากษา เป็นผู้หากินบนหลังคน ด้วยการกินสินบน จึงไม่สมาทานศีล
ในวันอุโบสถวันหนึ่ง ตอนกลางวัน เขารับสินบนทำคดีโกงแล้วไปเฝ้าพระราชาถูกตรัสถามว่า อาจารย์ ท่านรักษาอุโบสถด้วยหรือ จึงทูลเท็จว่า พระพุทธเจ้าข้า แล้วถวายบังคมลากลับไป อำมาตย์คนหนึ่งท้วงเขาว่า ท่านไม่ได้รักษาอุโบสถมิใช่หรือ เขาพูดว่า เราบริโภคอาหารในเวลาเท่านั้นไปบ้านแล้ว บ้วนปาก อธิฐานอุโบสถตอนเย็น จักรักษาศีลตอนกลางคืน เมื่อเป็นเช่นนี้อุโบสถกรรมกึ่งหนึ่งจักมีแก่เรา ครั้นไปถึงเรือนแล้ว ได้ทำอย่างนั้น
ในวันอุโบสถอีกวันหนึ่ง สตรีผู้หนึ่งคิดว่า จะต้องรักษาอุโบสถกรรมให้ได้เมื่อเวลาใกล้เข้ามา จึงเริ่มจะบ้วนปาก เขารู้ว่าสตรีนั้น เป็นผู้รักษาอุโบสถ จึงให้ผลมะม่วงแก่เธอ ความดีของเขามีเพียงเท่านี้ ครั้นเขาสิ้นชีวิต ได้เกิดเป็นเวมานิกเปรต ห้อมล้อมด้วยนางเทพกัญญามากมายเขาเสวยสมบัติเฉพาะในเวลากลางคืน ส่วนกลางวัน ต้องเข้าไปอยู่ในป่ามะม่วง อัตภาพอันเป็นทิพย์หายไป มีร่างกายที่น่าเกลียด ถูกไฟไหม้ลุกโชนทั้งตัว มือของเขามีนิ้วข้างละนิ้ว เล็บนิ้วมือขนาดเท่าจอบเล่มใหญ่ ๆ เขาเอาเล็บมือทั้งสองนั้นกรีดเนื้อหลังของตนควักออกมากิน ได้รับความเจ็บปวด ร้องลั่นป่า ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ร่างกายนั้นก็หายไปกายอันเป็นทิพย์เกิดขึ้นแทน กลับสู่วิมานดังเดิม เขาได้ทิพย์วิมานอันน่ารื่นรมย์ เพราะผลแห่งการให้ผลมะม่วงแก่หญิงผู้รักษาอุโบสถ เขาควักเนื้อหลังของตนเองออกมากิน เพราะผลแห่งการรับสินบนและตัดสินคดีโกงเขามียศใหญ่ ไปที่ไหนมีนางเทพกัญญาห้อมล้อม เพราะผลแห่งการรักษาอุโบสถกรรมกึ่งหนึ่ง
ศีล สร้างสวรรค์ให้แก่มนุษย์ สร้างความเสมอภาคให้แก่มนุษย์ สร้างความปลอดภัยให้แก่มนุษย์ และให้สมบัติที่นาปรารถนาแก่มนุษย์ ตามที่กล่าวมาจึงควรรักษาศีลให้ดี มิให้ขาดมิให้ด่างพร้อย ดังพรรณนามา ฉะนี้
-------------------¿---------------------
วิธีปฏิบัติตนของอุบาสก อุบาสิกา
บุคคลผู้สมาทานอุโบสถศีล จัดว่าเป็นผู้ใกล้ชิดพระรัตนตรัย เป็นบุรุษ เรียกว่า อุบาสก เป็นสตรีเรียกว่า อุบาสิกา ตามคำประกาศอุโบสถว่า ตทตฺถาย อุปาสกอุปาสิกานํ อุโปสถกมฺมสฺส กาโล โหติ แปลว่า วันนี้ เป็นเวลาที่จะรักษาอุโบสถ แห่งอุบาสก และอุบาสิกา เพื่อประโยชน์แก่การฟังธรรมนั้น ดังนั้น เพื่อความเข้าใจวิธีปฏิบัติตนของอุบาสกและอุบาสิกา จึงได้นำคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ผู้รจนาอรรถกถาที่ฆนิกาย สีลขันธวรรค ชื่อ สุมังคลวิลาสินี มาแสดง โดยท่านได้อธิบายด้วยวิธีตั้งเป็น กเถตุกัมยตาปุจฉา คือ ถามเองตอบเอง ดังนี้
๑. ถามว่าใครเป็นอุบาสก อุบาสิกา ตอบว่า คฤหัสถ์ ทุกคนผู้ถึงสรณะ (พระรัตนตรัย) ชื่อว่า อุบาสก อุบาสิกา สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรคว่า ดูก่อนมหานาม เพราะเหตุที่บุคคลผู้เป็นอุบาสก เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ดูก่อนมหานาม บุคคล ชื่อว่าเป็นอุบาสก เพราะเหตุเพียงเท่านี้แล
๒. ถามว่า บุคคลชื่อว่า เป็นอุบาสก อุบาสิกา เพราะเหตุไร ตอบว่า เพราะเป็นผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย อธิบายว่า ผู้ใดนั่งใกล้พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ผู้นั้น ชื่อว่าอุบาสก อุบาสิกา คำว่านั่งใกล้ หมายความว่า เข้าไปหา เพื่อต้องการจะฟังธรรม ถวายทานรักษาศีล เจริญภาวนา ถ้าเข้าไปหาเพื่อขอลาภ ขอความช่วยเหลือ ความกลัว หรือความเป็นญาติเป็นต้น ไม่ชื่อว่า นั่งใกล้ ในความหมายว่า อุบาสก อุบาสิกา นี้
๓. ถามว่า อะไรเป็นศีลของอุบาสก อุบาสิกา ตอบว่า เวรมณี (เจตนาขับไล่เวร) ๕ ข้อ เป็นศีลของอุบาสก อุบาสิกา สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรคว่า ดูก่อนมหานาม เพราะเหตุที่ผู้เป็นอุบาสก เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจาก อทินาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน ดูก่อนมหานาม เพราะเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสก ชื่อว่า เป็นผู้มีศีล
๔. ถามว่า อะไรเป็นอาชีวะของอุบาสก อุบาสิกา ตอบว่า การละเว้นมิจฉาวณิชชา คือ การค้าขายผิดศีลธรรม ๕ ประการ แล้วหาเลี้ยงชีพด้วยการงานที่ชอบธรรม ชื่อว่า อาชีวะของอุบาสก อุบาสิกา สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ อย่างนี้ อันผู้เป็นอุบาสก ไม่พึงทำ คือ ๑. การค้าขายศัสตรา ๒. การค้าขายมนุษย์ ๓. การค้าขายสัตว์
(ข้อ ๒ - ๓ แปลตามอรรถกถา อังคุตตรนิกาย) ๔. การค้าขายน้ำเมา
๕. การค้าขายยาพิษ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ อย่างนี้แล อัน
อุบาสกไม่พึงทำ
๕. ถามว่า อะไรเป็นวิบัติของอุบาสก อุบาสิกา ตอบว่า ศีลวิบัติ
และอาชีวะวิบัตินั่นเอง จัดเป็นวิบัติของอุบาสก อุบาสิกา
อีกอย่างหนึ่ง อุบาสก อุบาสิกา เป็นคนจัณฑาล (รับศีลแต่ปาก) เป็นคนใจสกปรก เป็นอุบาสกชั้นต่ำด้วยความปฏิบัติใด ความปฏิบัตินั้นพึงทราบว่า
เป็นความวิบัติของพวกเขา ความปฏิบัตินั้น ได้แก่ธรรม ๕ ประการ มีความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาเป็นต้น สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสก ผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นอุบาสกจัณทาล เป็นคนใจสกปรก เป็นอุบาสกชั้นต่ำ ธรรม ๕ ประการคือ ๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๒. เป็นผู้ไม่มีศีล ๓. เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว ๔. เป็นผู้เชื่อมงคล ไม่เชื่อกรรม ๕. แสวงหานักบุญนอกศาสนาและทำบุญในบุคคลนั้น
๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา หมายถึงไม่มีตถาคตโพธิศรัทธา คือ ความเชื่อใน
ความตรัสรู้ของพระตถาคต อันเกิดขึ้นภายหลังจากเข้ามานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว
เพราะเขาเข้ามานับถือด้วยความเชื่อที่ผิด ยกตัวอย่าง เช่น สุนักขัตตลิจฉวี เข้า
มาบวชในพระพุทธศาสนา เพราะมีความเชื่อที่ผิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอิทธิ
ปาฏิหาริย์ และสามารถบัญญัติสิ่งที่เป็นเลิศ คือ สามารถบอกสิ่งที่เป็นต้นเดิมของ
สิ่งทั้งหลายได้ เขาบวชแล้วได้ติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเวลา ๑๒ ปี แต่
กลับไม่เคยเห็นพระองค์ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เช่น เหาะเหินเดินอากาศ เป็นต้น และไม่เคยได้ยินพระองค์ทรงบอกว่าใครเป็นผู้สร้างมนุษย์และสรรพสิ่งในโลก มีแต่ทรงสอนว่า แม้พระองค์จะแสดงปาฏิหาริย์เช่นนั้นให้ดู ก็ไม่ช่วยให้มนุษย์พ้นทุกข์ได้เลย ในที่สุดเขาได้ละเพศภิกษุไป และเที่ยวพูดในที่ต่าง ๆ ว่า พระสมณะโคดมไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์แต่อย่างใด
แม้ในปัจจุบันนี้ การเข้าวัดด้วยความเข้าใจผิดอย่างนี้ ก็ยังมีอยู่ไม่น้อยเลย ซึ่งนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่ผู้เข้ามาแล้ว บางครั้งยังเป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนาด้วย บางทีพระสงฆ์ก็เป็นผู้ทำเรื่องนี้เสียเอง เช่นบางรูป หวังลาภสักการะ จึงอวดอิทธิปาฏิหาริย์ของตน หรือของสิ่งที่ตนสร้างขึ้นมา ครั้นผู้มีความทุกข์นำเอาไปใช้ แต่กลับไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์อย่างที่อวดอ้าง ไม่สามารถแก้ปัญหาให้เขาได้ จึงทำให้เกิด
การดูหมิ่นพระพุทธศาสนาในส่วนรวม บางคนถึงกับเอาพระพุทธรูปไปทำลาย แล้ว
เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นก็มี เพราะฉะนั้น ทั้งพระสงฆ์ที่อยู่ในวัด และพุทธศาสนิกชนที่เข้าวัด ควรทำความเข้าใจพระพุทธศาสนาให้ถูกต้องว่า พระสัมมาสัมพุทธ
เจ้าเป็นสรณะของชาวโลก ด้วยการแนะนำสั่งสอนให้เขาเลิกละสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
แล้วให้ประกอบแต่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ทรงใช้อิทธิปาฏิหาริย์ดลบันดาลอะไรให้แก่ใคร พระองค์ทรงสอนว่า ความหมดจดหรือความเศร้าหมองเป็นของเฉพาะตน คน
อื่นทำคนอื่นให้หมดจดหรือให้เศร้าหมองไม่ได้ บุคคลย่อมพ้นทุกข์เพราะความพากเพียรของตนเอง พระตถาคตทั้งหลาย เป็นผู้บอกเท่านั้น
๒. เป็นผู้ไม่มีศีล หรือทุศีล หมายความว่า รับศีลแต่ปาก หรือรับศีลแล้วไม่สามารถรักษาได้ เพราะอำนาจกิเลสมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ความกลัว เป็นต้น อันเกิดขึ้นเพราะลาภ ยศ ญาติ อวัยวะ และชีวิตเป็นเหตุ
๓. เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว หมายความว่า นิยมนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก เช่นเทพเจ้า ภูตผี ปีศาจ ต้นไม้ แม่น้ำ หรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเป็นต้น ว่าสิ่งนั้น ๆ สามารถทำให้เป็นเช่นนั้น เช่นนี้ ทั้งทางดี และทางร้าย ดังเรื่องเล่าว่า พระเจ้าปัณฑุราชทรงกำแก้วมุกดาไว้ในพระหัตถ์ ๓ ดวง แล้วตรัสถามหมอดูว่า อะไรอยู่ในกำมือนั้น หมอดูนั้นเหลียวดูข้างโน้นข้างนี้ เผอิญเวลานั้นแมลงวันหัวเขียวถูกจิ้งจกคาบแต่รอดจากปากจิ้งจกไปได้ เขาจึงกราบทูลว่า แก้วมุกดา ตรัสถามต่อไปอีกว่ากี่ดวง เผอิญเวลานั้นไก่ขัน ๓ ครั้ง จึงกราบทูลว่า ๓ ดวง หมอดูนั้นทำนายได้ถูกต้อง เพราะเสี่ยงเอาตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะเขารู้แจ้งเห็นจริง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดนั้นคนละอย่างกับความจริง อาจมีบางครั้งที่ไปตรงกันบ้าง แต่คงน้อยมาก ผู้คนนำเอาเรื่องนั้นไปพูดกันทำให้เกิดความเชื่อว่าหมอดูคนนั้นดูแม่น และทำให้เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ของวิชาหมอดูด้วย แต่ความจริงคราวนั้นเป็นเรื่องบังเอิญเท่านั้นเอง
อีกเรื่องหนึ่ง ท่านเล่าไว้ประมาณ ๑,๐๐๐ ปีเศษมาแล้วว่า ที่วัดแห่งหนึ่ง เขียนภาพจิตรกรรมเป็นรูปสัตว์เลื้อยคลานที่คนรังเกียจแล้วตั้งชื่อให้มันว่ามังกรทอง
กำลังพ่นไฟไว้ที่ฝาผนังวิหาร ปรากฏว่าตั้งแต่นั้นมาภิกษุทั้งหลายในวัดนั้นทะเลาะกันใหญ่
หาความสงบสุขไม่ได้ ต่อมามีพระอาคันตุกะรูปหนึ่งมาที่วัดนั้น จึงลบภาพนั้นทิ้งเสีย ไม่นานนักการทะเลาะในวัดนั้นก็ค่อย ๆ เบาบางลงไป ส่วนใหญ่จึงลงความเห็นว่าภาพนั้นเป็นอัปมงคล ให้เกิดความชั่วร้าย แต่ความจริงแล้ว อาจเป็นเพราะพระภิกษุชั่วร้ายในวัดนั้นมรณภาพ หรือย้ายไปอยู่ที่อื่นก็ได้ เรื่องมงคลหรืออัปมงคลที่เกิดขึ้นพร้อมกับเหตุการณ์แปลก ๆ เช่นนี้ จึงทำให้คนนำเอามาเป็นข้ออ้างให้คนเชื่อถือแล้วเกิดความกลัวหรือความอยากได้ จนกลายเป็นอาชีพหากินของคนลวงโลก เป็นสิ่งที่อุบาสกอุบา สิกาไม่ควรเชื่อถือ
๔. เป็นผู้เชื่อมงคล ไม่เชื่อกรรม หมายความว่า คิดหาแต่มงคลภาย
นอก ไม่คิดถึงกรรม คือเมื่อต้องการหรือกลัวอะไร ก็คอยคิดแต่จะหาผู้ที่ หรือ
สิ่งที่จะมาช่วยดลบันดาลให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น หรือหมดไปโดยไม่ต้องลงมือทำด้วยตนเอง
บุคคลผู้มีความเชื่อถืออย่างนี้ย่อมหาความเจริญได้ยาก หรือแม้ที่มีความเจริญอยู่ก่อนแล้ว ก็มีแต่จะเสื่อมไป ดังเรื่องของพระเจ้ากาลิงคะ แห่งกาลิงครัฐ เป็นอุทาหรณ์
ครั้งดึกดำบรรพ์ พระเจ้ากาลิคะ ครองราชย์ในทันตบุรี แคว้นกาลิงคะ พระเจ้าอัสสกะ ครองราชย์ในโปตลนคร แคว้นอัสสกะ พระเจ้ากาลิงคะ สมบูรณ์ด้วยอาณาจักร กองทหาร และเงินตรา ฝ่ายพระเจ้าอัสสกะ อาณาจักรไม่ใหญ่โต เงินตรามีไม่มาก ทหารมีน้อยแต่มีความกล้าหาญ สามัคคี ภักดีและมีปรีชาญาณ
พระเจ้ากาลิงคะมีพระทัยใฝ่สงคราม แต่ไม่มีแคว้นไหนจะสู้รบด้วย ต่าง
ยอมอ้อนน้อมส่งบรรณาการมาถวาย วันหนึ่งตรัสแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า เราอยาก
จะรบ แต่ไม่มีใครสู่รบด้วย จะทำประการใดดี อำมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลว่าพระองค์ทรงมีพระราชธิดาผู้เลอโฉม ๔ พระองค์ ขอทรงโปรดให้แต่งราชรถ แล้วให้พระ
ธิดาทั้ง ๔ ประทับนั่งแวดล้อมด้วยไพร่พล ไปยังแคว้นต่าง ๆ แล้วส่งสารให้ทราบว่า ถ้าใครต้องการจะสู้รบกับกาลิงคะให้เปิดประตูพระนครรับเอาราชธิดาไปอภิเษกเป็นมเหสี ถ้าไม่กล้าสู้รบให้ปิดประตูพระนครไว้ แต่ต้องส่งเครื่องบรรณาการมาถวาย
พระราชธิดา ราชรถพาราชธิดาไปเกือบทั่วชมพูทวีป โดยไม่มีแคว้นไหนเปิดประตูรับ
พระราชธิดา มีแต่ส่งเครื่องบรรณาการไปถวาย ซึ่งหมายถึงยอมเป็นเมืองขึ้นของ
กาลิงคะ
ราชรถของพระธิดาล่วงเข้าสู่ โปตลนครแห่งแคว้นอัสสกะ แม้พระเจ้าอัสสกะ
ก็รับสั่งให้ปิดประตูพระนคร แล้วส่งเครื่องบรรณาการไปถวายเหมือนกับนครต่าง ๆ ที่
ผ่านมา แต่อำมาตย์ของพระองค์มีนามว่า นนทเสน เป็นผู้จงรักภักดี มีปรีชา
สามารถกล้าหาญ และชาญฉลาดในกลอุบายการรบ คิดว่าราชรถของพระราชธิดาทั้ง
๔ แห่งพระเจ้ากาลิงคะ ผ่านไปทั่วชมพูทวีป มีแต่ผู้ส่งบรรณาการมาให้ ไม่มี
ใครสู้รบ เหมือนกับว่าชมพูทวีปว่างเปล่าจากผู้มีฝีมือที่กล้าหาญ เราจะรบกับพระ
เจ้ากาลิงคะ จึงไปยังประตูนคร สั่งให้ทหารเปิดประตูพระนคร รับพระราชธิดาทั้ง
๔ ไปถวายพระเจ้าอัสสกะราชาแห่งตน พร้อมกับกราบทูลว่า ขอพระองค์ทรงอภิเษก
ราชธิดาทั้ง ๔ เป็นมเหสีเถิด ไม่ต้องกลัวแสนยานุภาพของพระเจ้ากาลิงคะ ข้า
พระองค์จะสู้รบกับพระเจ้ากาลิงคะเอง แล้วกราบทูลให้พระเจ้าอัสสกะ ยกกองทัพ
ออกไปตั้งมั่นยังชายแดน ที่พระเจ้ากาลิงคะจะยกกองทัพมา
ฝ่ายพระเจ้ากาลิงคะ ครั้นทรงทราบข่าวว่าอัสสกะเปิดประตูเมืองรับพระราช
ธิดาไปอภิเษกเป็นมเหสี ซึ่งหมายถึงเป็นการประกาศสงครามกับกาลิงคะ ทรงดี
พระทัย เพราะจะได้ทำสงคราม จึงยกกองทัพซึ่งมีรี้พลมากกว่าอัสสกะหลายเท่า
มุ่งหน้าไปยังแคว้นอัสสกะ เมื่อกองทัพทั้งสองมาเผชิญหน้ากันที่ชายแดน ต่างฝ่ายตั้งค่ายอย่างมั่นคง
ครั้งนั้น มีพระฤาษีรูปหนึ่งตั้งอาศรมอยู่ระหว่างพระราชาทั้งสองนั้น พระเจ้ากาลิงคะทราบดั้งนั้น จึงทรงดำริว่า ธรรมดานักพรต มักจะมีญาณวิเศษรู้อะไรทั้งในอดีตและอนาคตได้ จึงปลอมพระองค์เป็นคนธรรมดาเข้าไปหาพระฤาษีถามถึงเรื่องการรบระหว่างกองทัพทั้งสองว่าใครจะแพ้ ใครจะชนะ พระฤาษีตอบว่า อาตมาภาพไม่ทราบ แต่เวลากลางคืนพระอินทร์มักเสด็จมาสนทนาธรรมด้วย จะถามเรื่องนี้ให้ พรุ่งนี้ให้มาฟังข่าว
ครั้นเวลาค่ำ พระอินทร์ได้เสด็จมายังอาศรมของพระฤาษี พระฤาษีได้ถามถึงเรื่องนั้น ได้ตรัสบอกว่า กองทัพฝ่ายกาลิงคะจะมีชัย ฝ่ายอัสสกะจะพ่ายแพ้ โดยกองทัพทั้งสองฝ่ายต่างก็มีเทวดามาช่วย เทวดาฝ่ายกาลิงคะจะปรากฏเป็นรูปโคสีดำ ของฝ่าย
อัสสกะจะปรากฏเป็นรูปโคสีขาว โคทั้งสองจะต่อสู่กันในที่สุดโคสีดำซึ่งมีพละกำลังมาก
กว่าจะมีชัย นั่นหมายถึง กองทัพฝ่ายกาลิงคะ จะได้รับชัยชนะ
วันรุ่งขึ้น พระเจ้ากาลิงคะไปหาพระฤาษีตามนัด ได้ทราบว่าฝ่ายพระองค์จะชนะ ทรงดีพระทัยไม่ได้ตรัสถามรายละเอียดว่าจะชนะด้วยวิธีใด รีบกราบลาพระฤาษี
กลับไปยังกองทัพของตน แจ้งข่าวแก่ทหารทั้งหลาย ข่าวสงครามแพร่ไปทั่วกองทัพทั้ง
สองฝ่ายว่า พระอินทร์ตรัสบอกว่า กองทัพฝ่ายกาลิงคะจะมีชัย ฝ่ายอัสสกะจะ
พ่ายแพ้
แม้พระเจ้าอัสสกะก็ทรงทราบข่าวนั้น จึงตรัสเรียก นนทเสนแม่ทัพใหญ่ของพระองค์มาปรึกษา นนทเสนทูลถามถึงที่มาของข่าว ได้ทราบว่ามาจากพระฤาษี จึงเข้าไปหาพระฤาษี แล้วถามถึงเรื่องการแพ้และชนะของกองทัพทั้งสอง พระฤาษีก็
บอกให้เหมือนกับที่ได้บอกแก่พระเจ้ากาลิงคะ นนทเสนได้ถามต่อว่ามีอะไรเป็นเหตุหรือเป็นตัวช่วยให้ฝ่ายกาลิงคะได้รับชัยชนะ พระฤาษีจึงบอกถึงเทวดาประจำทัพทั้งสองฝ่ายให้ทราบ และบอกว่าในขณะที่โคสองตัวนั้นต่อสู้กัน มีแต่พระเจ้ากาลิงคะกับพระเจ้า
อัสสกะเท่านั้นที่เห็น ทหารอื่น ๆ ไม่มีใครเห็น
นนทเสนครั้นทราบรายละเอียดแล้ว ได้กราบลาพระฤาษีกลับไปยังกองทัพของ
ตน กราบทูลพระเจ้าอัสสกะว่า เมื่ออยู่ในสนามรบพระองค์เห็นโคดำอยู่ที่ไหนให้ชัก
ม้าพระที่นั่งมุ่งไปยังที่นั้น และใช้พระแสงหอกทิ่มแทงไปที่โคดำนั้น ต่อจากนั้นสั่งให้
ทหารทุกคนเตรียมพร้อมตลอดเวลา แล้วได้พานายทหารผู้ใหญ่ขึ้นไปบนยอดเขา
กล่าวว่า ถ้าท่านทั้งหลาย ซื่อสัตย์ และภักดีต่อพระเจ้าอัสสกะราชาของพวกเรา
ก็ให้เสียสละชีวิตของตนกระโดดลงจากหน้าผานี้ ทหารทุกคนมุ่งตรงไปยังหน้าผา ตั้ง
ท่าจะกระโดดลงไป นนทเสนห้ามเอาไว้ และขอบใจทหารทุกคนที่พร้อมจะยอมตายเพื่อพระราชาของตน
ฝ่ายทหารของพระเจ้ากาลิงคะ หลังจากได้ทราบว่า พระอินทร์บอกว่าจะชนะ
สงครามแน่นอน จึงวางใจ อยู่กันตามสบาย ไม่เตรียมพร้อมจับกลุ่มกัน สนุก
สนานในเวลาที่ควรจะทำความเพียร ขาดระเบียบวินัยทั้งผู้น้อยและผู้ใหญ่
พระราชาทั้งสองฝ่าย ขึ้นทรงม้าศึกเข้าหากัน โคทั้งสอง คือ โคดำ และ
โคขาว ซึ่งเป็นเทวดาประจำทัพของทั้งสองออกมาต่อสู่กัน พระเจ้าอัสสกะทอดพระ
เนตรเห็นโคดำจึงมุ่งไปหา เอาพระแสงหอกทิ่มแทงเข้าใส่ ทหารทุกนายของพระองค์
ก็แสดงความกล้าหาญ เข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา พระราชา
เสด็จไปทางไหนก็ดาหน้าเข้าหาศัตรู ใช้อาวุธเข้าห้ำหันฟาดฟัน ในที่สุดทั้งโคดำ และทหารฝ่ายกาลิงคะ ต้านทานไม่ไหว แตกพ่ายไป
พระเจ้ากาลิงคะ ครั้นพ่ายแพ้แก่อัสสกะแล้วทรงกริ้วพระฤาษีมาก ตรง
ไปยังอาศรม ด่าว่าต่างๆ นานาแล้วกล่าวว่า ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ท่านพูด
ว่า พระเจ้ากาลิงคะจะชนะ พระเจ้าอัสสกะจะพ่ายแพ้ ทำไมคนตรงถึงพูดไม่จริง
แล้วได้เสด็จกลับไปยังพระนครของตน
ต่อจากนั้นสองสามวัน พระอินทร์ได้เสด็จมายังอาศรม พระฤาษีจึงได้
กล่าวกับพระองค์ว่า ธรรมดาเทวดาทั้งหลาย ย่อมไม่กล่าวเท็จ ถือความสัตย์
เป็นเลิศ ทำไมท่านจึงกล่าวเท็จ หรืออาศัยเหตุอะไร ท่านจึงได้กล่าวอย่างนั้น
พระอินทร์ตอบว่า ท่านผู้เป็นเหล่าก่อพระพรหม ท่านไม่เคยได้ยินคนเขา
พูดกันบ้างเลยหรือว่า เทวดาทั้งหลายกลั่นแกล้งความเพียรของมนุษย์ไม่ได้ ฝ่าย
อัสสกะมีชัยชนะ เพราะความฝึกตนไว้ดี มีน้ำใจมั่นคง มีความสามัคคีกัน
มีความกล้าหาญ พากเพียรพยายามถูกเวลา
กองทัพของพระเจ้ากาลิงคะ ซึ่งมีทั้งกำลังพล และยุทโธปกรณ์มากกว่า
ต้องพ่ายแพ้แก่กองทัพของพระเจ้าอัสสกะ เพราะเชื่อมั่นคำของเทวดาเกินไป จนขาด
ระเบียบวินัย และความเพียร เมื่อคนขาดความเพียรเสียแล้ว เทวดาที่ไหนก็ช่วยไม่ได้ เพราะฉะนั้น การหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากสิ่งที่ไม่มีตัวตน จึงเป็นสิ่งที่อุบาสก อุบาสิกาไม่ควรเชื่อถือ
๕. แสวงหานักบุญนอกศาสนา และทำบุญในบุคคลนั้น การทำบุญมีหลาย
ฐานะ เคยมีคนมาถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระสมณโคดมสอนว่า บริจาค
ทานในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เท่านั้นจึงได้บุญ บริจาคกับคนอื่นไม่ได้
บุญจริงหรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า อย่าว่าแต่บริจาคทานกับสมณพราหมณ์เหล่า
อื่นเลย แม้บุคคลผู้ล้างถาด ล้างจานภัตตาหารที่ท่าน้ำ มีใจกรุณาว่าเมล็ดข้าวที่ติด
ถาดติดจานนี้ จงเป็นประโยชน์แก่ปลาทั้งหลาย เพียงเท่านี้ก็ได้บุญมากแล้ว การ
ให้วัตถุทานมีข้าวน้ำเป็นต้นแก่บุคคลอื่น พระพุทธศาสนาจัดไว้ ๔ ฐานะ คือ
๑. ให้ในฐานะเป็นญาติมิตร ๒. ให้ในฐานะเป็นอาจารย์ ๓. ให้เพราะ
ความกลัว ๔. ให้ในฐานะที่เป็นทักขิไณยบุคคล
การที่อุบาสก อุบาสิกา จะให้วัตถุทานและทำสามีจิกรรมแก่บุคคลอื่นตาม
ฐานะ ๓ ประการข้างต้น แม้เป็นผู้นับถือศาสนาอื่น ท่านไม่ห้าม และย่อมได้
บุญกุศลตามสมควรแก่ฐานะ แต่ที่ศาสนาห้าม คือ การให้ด้วยความรู้สึก ว่าเป็นพระทักขิไณยบุคคล เพราะทุกคนย่อมมีสรณะของตนเอง ในสมัยครั้งพุทธกาลมีพระภิกษุคณะหนึ่ง ทูลลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปจำพรรษาเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม
โดยอาศัยหมู่บ้านแห่งหนึ่งเป็นที่โคจรบิณฑบาต ประชาชนหมู่บ้านนั้นใจกว้าง นักบวช
นักพรตคณะไหนมาก็ให้ความเคารพนับถือ เหมือนกันหมด ครั้นออกพรรษา
ภิกษุทั้งหลายกลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงถามถึงความเป็นอยู่ ได้กราบทูลว่า ไม่มีความลำบากเรื่องอาหารบิณฑบาต แต่ลำบากใจ เพราะคนที่นั่นนับถือหมดทุกสิ่ง
ทุกอย่าง จึงไม่ปรารถนาจะอยู่ที่นั่น พระพุทธองค์ตรัสว่า เธอทั้งหลายทำถูกแล้ว แม้เราในสมัยเป็นดิรัจฉานก็ไม่อยู่ในสถานที่เช่นนั้นมาแล้ว ได้ทรงเล่าอดีตนิทานว่า
ครั้งหนึ่งพระองค์เกิดเป็นหงส์ และมีหงส์ผู้น้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก
หนึ่ง ครั้นเติบโตเป็นหนุ่มแล้ว ได้พากันบินท่องเที่ยวไปจนถึงหิมวันตประเทศ ครั้ง
นั้นได้บินไปถึงภูเขาลูกหนึ่ง ซึ่งมีความแปลกประหลาดกว่าภูเขาทั้งหลาย คือเมื่อสัตว์ทั้งหลายเข้าไปที่ภูเขานั้นขนจะกลายเป็นสีทองทั้งหมด เช่น กาสีดำ นกยางสีขาว กาเหว่าขนลายเป็นต้น ก็จะกลายเป็นสีทองเหมือนกันทั้งหมด
ฝ่ายหงส์ผู้น้องชาย เข้าไปยังภูเขานั้นก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับความอัศจรรย์ของภูเขา
และการที่ขนของตนกลายเป็นสีทอง แต่หงส์ผู้พี่ชายกลับมองเห็นว่าภูเขาลูกนี้ช่างไม่เป็น
มงคลเสียเลย จึงชวนน้องชายให้รีบหนีไปให้ไกลจากภูเขาลูกนั้น โดยกล่าวสอนน้องชายว่า ณ ภูเขาลูกใด ผู้เกียจคร้านกับผู้ขยัน ผู้กล้าหาญกับผู้ขี้ขลาด ได้รับความนับถือบูชาเสมอกัน สัตบุรุษย่อมไม่อยู่ที่ภูเขาลูกนั้น ซึ่งไม่มีการแบ่งแยกคนดีคนชั่วให้ต่างกัน
การเป็นพุทธศาสนิกชน แต่นับถือทุกอย่าง ตั้งแต่พระรัตนตรัย เทพเจ้า
เจ้าป่า เจ้าเขา ภูตผี ต้นไม้ ต้นกล้วย จนกระทั่งปลาไหล และกบ จึง
ไม่เป็นมงคล คือเหตุแห่งความเจริญก้าวหน้าแก่ตนเอง
๖. ถามว่า อะไรเป็นสมบัติของอุบาสก ตอบว่า ความมีศีลที่สมบูรณ์
และความมีอาชีวะที่สมบูรณ์ จัดเป็นสมบัติของอุบาสก อุบาสิกา ข้อนั้นได้แก่
ธรรม ๕ อย่าง มีศรัทธาเป็นต้น ที่ทำความเป็นอุบาสกรัตนะ (อุบาสกแก้ว)
เป็นต้น สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสก ผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ จัดเป็นอุบาสก
รัตนะ อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก ธรรม ๕ ประการ คือ ๑. เป็นผู้มี
ศรัทธา ๒. เป็นผู้มีศีล ๓. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ๔. เชื่อกรรมไม่เชื่อ
มงคล ๕. ไม่แสวงหานักบุญนอกศาสนาและไม่ทำบุญในบุคคลนั้น
๑. มีศรัทธา หมายความว่า มี ตถาคตโพธิศรัทธา คือ เชื่อในความ
ตรัสรู้ของพระตถาคต หมายถึง เข้ามานับถือพระพุทธเจ้าแล้ว หลังจากนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตนเอง หรือแก่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะแก่พระสงฆ์ ก็ไม่มีกลับกลายเป็นอื่น หรือแม้แต่จะเกิดความหวั่นไหว ยกตัวอย่างเช่นอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เป็นต้น ดังท่านเล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทขุททกนิกายว่า
อนาบิณฑิกเศรษฐีนั้น ได้บริจาคทรัพย์เป็นอันมาก ซื้อที่และสร้างพระวิหาร
เชตวัน ถวายพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสงฆ์ หลังจากนั้นได้ถวายภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสงฆ์เป็นจำนวนมากทุกวัน และได้สมาทานศีลเป็นนิตย์
ครั้นเวลาผ่านไป เศรษฐีนั้นถูกโกงบ้าง ทรัพย์สินเงินทองถูกน้ำพัดลงแม่น้ำ
ไปบ้าง แม้จะตกอยู่ในสภาพหมดตัวอย่างนี้ เศรษฐีก็ยังทำบุญอยู่เสมอ แต่ว่า
ของที่ทำบุญนั้นเป็นของไม่ประณีตเหมือนแต่ก่อน วันหนึ่ง พระศาสดาตรัสถามว่า
ท่านเศรษฐี ยังบริจาคทานอยู่หรือ ทูลว่ายังบริจาคอยู่พระเจ้าข้า แต่ว่าของที่
บริจาคไม่ประณีต พระศาสดาตรัสว่า ท่านเศรษฐี ขออย่าได้คิดว่าของดีหรือไม่ดี
เมื่อท่านมีศรัทธาและได้พระทักขิไณยบุคคล ทั้งพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกเช่นนี้
ทานทุกชนิดเป็นของดีทั้งนั้น ท่านย่อมประสบบุญมาก
ครั้งนั้น เวลากลางคืน เทวดาตนหนึ่ง ซึ่งไม่พอใจพระพุทธเจ้ากับพระ
สงฆ์ ต้องการจะให้เศรษฐีเลิกนับถือมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้โอกาส เพราะก่อน
นั้นเศรษฐียิ่งทำบุญมากเท่าไร ยิ่งร่ำรวยมากเท่านั้น แต่เวลานี้เศรษฐีทำบุญแล้วจน
ลง ๆ ถ้ายุยงคงจะเชื่อง่าย ตกกลางคืน ๆ หนึ่ง จึงเข้าไปยังห้องของเศรษฐี แสดง
ตนให้ปรากฏ เศรษฐีถามว่า ท่านเป็นใคร เราเป็นเทวดา ท่านมาเพื่ออะไร เพื่อเตือนสติท่าน เตือนว่าอย่างไร กรุณาเตือนได้เลย
เทวดาบอกว่า ท่านเศรษฐี เมื่อก่อนท่านมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่
พอท่านมานับถือพระสมณโคดม และพระสงฆ์สาวก บริจาคทานเป็นอันมากตลอดมา ทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นก็ค่อย ๆ หมดไป จนบัดนี้ท่านหมดตัวแล้ว ขอให้ท่านเลิก
นับถือ และเลิกบริจาคแก่พระสมณโคดม กับพระสงฆ์ แล้วทำงานเก็บทรัพย์เอา
ไว้ใช้ในบั้นปลายชีวิตเถิด
เศรษฐีไม่เชื่อคำของเทวดานั้น จึงถามว่า นี่หรือคือคำเตือนสติของท่าน
ท่านพูดคำที่ไม่เหมาะสม ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อคำเตือนของท่านเด็ดขาด และขอเชิญ
ท่านออกไปจากบริเวณบ้านของข้าพเจ้าด้วย
บุคคลผู้มีศรัทธาต่อพระรัตนตรัย เหมือนกับอนาถบัณฑิกเศรษฐีนี้ ชื่อว่าผู้ มีศรัทธา
๒. เป็นผู้มีศีล หมายความว่า ไม่ได้รับศีลแต่พอเป็นพิธี หรือรับแล้วไม่
สามารถจะรักษาได้ เพราะเหตุแห่ง ลาภ ยศ ญาติ อวัยวะ และชีวิต แต่
ยึดมั่นในสับปุริสานุสติว่า พึงสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะ เพื่อ
รักษาชีวิต พึงสละทั้งทรัพย์อวัยวะและชีวิตเพื่อรักษาธรรม ดังพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ เป็นต้น
พระเจ้าสุตโสมเป็นกษัตริย์ ครองราชสมบัติในอินทปัตนคร แคว้นกุรุ วัน หนึ่งขณะลงสรงสนานในสระโบกขรณี อันเป็นมงคล ได้ถูกนายโปริสาท แปลว่า
มนุษย์กินคนจับไป เพื่อฆ่าบูชายัญ และกินเนื้อเป็นอาหาร
ก่อนจะถูกฆ่าบูชายัญ พระเจ้าสุตโสมได้ขอร้องนายโปริสาทว่า ข้าพเจ้าติด
ค้าง สัจวาจาที่ได้ให้ไว้กับพราหมณ์ท่านหนึ่งว่า อาบน้ำเสร็จแล้วจะกลับไปฟังธรรม
ของท่าน และบอกให้ท่านคอยอยู่ที่ประตูเมือง ขออนุญาตให้ข้าพเจ้าได้ไปทำตาม
สัจวาจานั้นก่อน แล้วจะกลับมาให้ท่านฆ่าบูชายัญ และรับประทานเนื้อเป็นอาหาร
นายโปริสาท กล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า คนผู้พ้นจากปากของมัจจุราชไป
มีความสุขแล้วจะกลับมาหามัจจุราชอีก
ข้าแต่พระเจ้าสุตโสม พระองค์ก็เช่นเดียวกัน พ้นจากเงื้อมมือของนายโปริสาท ได้ชีวิตอันเป็นที่รักกลับคืนแล้ว ก็คงจะเสด็จกลับไปยังพระราชวัง อันเพียบพร้อมไป
ไปด้วยความสุข ไฉนจะกลับมาหานายโปริสาท อันเปรียบเสมือนมัจจุราชของพระองค์ ข้าแต่พระเจ้าสุตโสม คนผู้มีความสุขคนไหนบ้างที่อยากตาย อย่าว่าแต่อยาก
ตายเลย แม้เพียงจะแบ่งความสุขเพียงเล็กน้อย จากความสุขที่มีอยู่อย่างมากมายของ
ตนให้แก่ผู้ยากไร้บ้าง ยังทำได้ยากแสนยาก
พระเจ้าสุตโสม ได้กล่าวตอบว่า ข้าแต่นายโปริสาท ถ้าคนดีมีศีลบริสุทธิ์
จะพึงปรารถนาความตาย ก็สมควรแท้ เพราะว่าเมื่อเขาตายไป เขาจะได้ไปเกิดใน
สุคติโลกสวรรค์
แต่คนชั่ว มีนิสัยเลวทราม ทำแต่ความชั่ว ถูกแช่งด่าทุกสารทิศ ไม่
สมควรปรารถนาชีวิต เพราะอยู่ไปนานเท่าไร ก็มีแต่จะสร้างความทุกข์ความเดือดร้อน
ให้แก่ผู้อื่น และขุดหลุมนรกฝังตนเองให้ยิ่งลึกลงไปทุกวัน จนยากที่จะปีนป่ายออกมาได้
ข้าแต่นายโปริสาท การพูดเท็จอาจจะช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากความตายในวันนี้
ได้ แต่จะทำให้ข้าพเจ้าต้องไปตกนรก นานหลายกัปหลายกัลป์ นับภพ นับชาติ
ไม่ถ้วน ไม่คุ้มกันเลย
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่า ท้องฟ้าจะถล่มทลายลงมา พื้นพสุธาจะพลิกคว่ำ
น้ำในมหาสมุทรจะแห้งเป็นโคลนตม ลมจะพัดภูเขาพระสุเมรุให้ลอยไปในอากาศ แต่
ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวมุสาวาทเป็นเด็ดขาด
นายโปริสาทได้ฟังคำรับรองของพระเจ้าสุตโสมมั่นคง หนักแน่นเช่นนั้น จึง
ยอมปล่อยพระองค์ไป ทั้งที่ในใจไม่ได้มีความเชื่อเลยว่า พระเจ้าสุตโสมจะกลับมา
ตามวาจาที่ได้ให้ไว้
ฝ่ายพระเจ้าสุตโสม ครั้นได้การปลดปล่อยจากนายโปริสาทแล้ว ได้รีบเสด็จ
กลับไปหาพราหมณ์ตามที่นัดไว้ ฟังธรรมและบูชาธรรมเสร็จแล้ว ได้รีบเสด็จกลับมาหานายโปริสาท ครั้นมาถึง ได้ตรัสกับเขาว่า
ข้าแต่นายโปริสาท ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามสัจวาจาทั้งสองแล้ว คือสัจวาจาที่
ได้ให้ไว้กับพราหมณ์ และสัจวาจาที่ได้ให้ไว้กับท่าน บัดนี้ขอเชิญท่านฆ่าข้าพเจ้าบู
ชายัญ และกินเนื้อเป็นอาหารได้แล้ว
นายโปริสาทได้เห็นพระเจ้าสุตโสมเสด็จกลับมาโดยไม่มีความกลัวตาย และ
ตรัสอย่างองอาจเช่นนั้น เกิดความสงสัยว่า เพราะอานุภาพของอะไร พระเจ้าสุต
โสมนี้จึงไม่กลัวความตาย จึงได้ถามว่า ทำไม ท่านจึงไม่กลัวตาย
เพราะข้าพเจ้าเห็นคุณค่าของสัจวาจา และเพราะข้าพเจ้าได้แผ้วถางทางสวรรค์เอาไว้แล้ว พระเจ้าสุตโสมตรัส
เขาถามว่า สัจวาจามีคุณค่าอย่างไร
พระเจ้าสุตโสมตรัสตอบว่า บรรดารสทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ ความสัตย์มีรสดีกว่ารสเหล่านั้น สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ข้ามฝั่งแห่งชาติ และมรณะได้ ก็เพราะตั้งอยู่ในความสัตย์
นายโปริสาทถามว่า ที่ท่านกล่าวว่า ได้แผ้วถางทางสวรรค์ไว้แล้ว ทางสวรรค์อยู่ที่ไหน
พระเจ้าสุตโสมตรัสตอบว่า อยู่ที่การทำหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ คือ
บิดามารดา ที่ได้ให้ชีวิตให้เลือดเนื้อแก่ข้าพเจ้า และได้เลี้ยงดูข้าพเจ้ามาจน
เจริญเติบโตทั้งทางร่างกาย จิตใจและสติปัญญา ข้าพเจ้าได้เลี้ยงดูท่านตอบแทนด้วย
ความเคารพ นับถือ บูชา และความกตัญญูกตเวที
ญาติพี่น้อง ผู้ตกทุกข์ได้ยาก เข้ามาขอพึ่งพาอาศัยข้าพเจ้าก็ได้ช่วยเหลือ
เกื้อกูลด้วยความสำนึกในญาติธรรม
มิตรสหายข้าพเจ้าก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูล จริงใจ และพูดแต่ความจริง เสมอต้นเสมอปลายไม่ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ
อาณาประชาราษฎร์ ข้าพเจ้าก็ปกครองด้วยทศพิศราชธรรม กำจัดทุกข์บำ รุงสุขโดยทั่วหน้า ไม่เคยเบียดเบียนผู้ใดให้ได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน
คนยากจน คนกำพร้า อนาถา ข้าพเจ้าก็ได้บริจาคทานด้วยการให้ข้าว
น้ำ เสื้อผ้า และของใช้ที่จำเป็นแก่ชีวิตตลอดมา
สมณพราหมณ์ ข้าพเจ้าก็ได้ให้ความคุ้มครองรักษาโดยธรรม และได้ถวาย
การอุปถัมภ์บำรุงด้วยปัจจัย ๔ ด้วยความเชื่อปรโลกว่า นี้เป็นบุญเขตของเรา
ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของผู้เป็นมนุษย์พึงกระทำ และเป็นหนทางไปสู่สวรรค์ของ
ผู้เดินทางไปปรโลก ข้าพเจ้าได้ทำไว้เสร็จแล้ว อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่าได้แผ้วถางทางสวรรค์เอาไว้แล้ว จึงไม่กลัวต่อความตาย
นายโปริสาทฟังพระดำรัสของพระเจ้าสุตโสมแล้ว มีความรู้สึกว่าถ้าเขากินเนื้อของพระราชานี้ ศีรษะของเขาคงจะต้องแตกเป็น ๗ เสี่ยง หรือแผ่นดินใหญ่นี้ คง
จะต้องสูบเขาทั้งเป็น จึงได้ทูลว่า ข้าแต่พระเจ้าสุตโสม พระองค์เป็นผู้ไม่สมควร
ที่ข้าพเจ้าจะกินเนื้อเลย เพราะผู้ใดกินเนื้อของผู้มีวาจาสัตย์เช่นกับพระองค์ ผู้นั้นชื่อว่า
กินยาพิษทั้งที่รู้ จับงูพิษร้ายทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าจะถูกงูกัด และศีรษะของผู้นั้น จะ
ต้องแตก ๗ เสี่ยง
ข้าแต่พระเจ้าสุตโสม ทั่วชมพูทวีปนี้ จะหาคนดีที่เสมอกับพระองค์ไม่มีอีกแล้ว
พระองค์พ้นจากเงื้อมมือของนายโปริสาทไปฟังธรรม สักการะธรรมแล้วยังกลับมาหาความตาย เพื่อรักษาสัจวาจา
ข้าแต่พระเจ้าสุตโสม ขอพระองค์ได้โปรดแสดงธรรม ที่ได้ทรงสดับมาแก่ข้าพ
เจ้าบ้าง เพราะคนทั้งหลายรู้จักความดีและความชั่ว แล้วยินดีละความชั่วประพฤติ
กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ก็เพาะการฟังธรรมนั่นเอง
พระเจ้าสุตโสม ทรงยึดมั่นในสัปปุริสานุสติว่า บุคคลพึงเสียสละ ทรัพย์
อวัยวะ และชีวิตเพื่อรักษาธรรม ด้วยอานุภาพแห่งความดีนั้น จึงทรงรอดพ้นจาก
ความตาย และทำให้นายโปริสาทเลิกทำบาปแล้วมาสมาทานศีล ดังกล่าวมา เพราะ
ฉะนั้น การคิดถึงสัปปุริสานุสติ จึงเป็นเหตุให้รักษาศีลไว้ได้ ผู้สมาทานศีลทุกคน
ควรคิดถึงอยู่เสมอ
๓. เป็นผู้ไม่ถือมงคลตื่นข่าว หมายความว่า เป็นผู้เชื่อความตรัสรู้ของพระ
พุทธเจ้า ไม่เชื่อมงคลภายนอก เช่นการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาอย่างไร้เหตุผล
เป็นต้น ตัวอย่างเช่น พระนางมัลลิกา พระมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล มี
เรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงบรรทมไม่หลับ ครั้นถึงมัชฌิม
ยามแห่งราตรี ทรงได้สดับเสียงประหลาดว่า ทุสะนะโส ตกพระทัยกลัวมาก
ครั้นรุ่งเช้า ตรัสเรียกพราหมณ์ปุโรหิตมาเฝ้า ตรัสเล่าถึงเสียงนั้นให้ฟัง แล้วตรัส
ถามว่า ภัยอะไรจะเกิดขึ้นกับพระองค์ พระมเหสี และราชสมบัติ หรือไม่
พราหมณ์นั้น ไม่รู้อะไรเลย แต่จะทูลว่าไม่รู้ก็กลัวจะเสื่อมลาภ จึงทำพิธีลงเลขยามแล้ว กราบทูลว่าเสียงนั้นเป็นลางร้ายอย่างใหญ่หลวง อันตรายจะเกิดแก่
ชีวิตของพระองค์
มีวิธีแก้ไขได้ไหม ตรัสถาม
พราหมณ์กราบทูลว่า มีพระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เป็นพราหมณ์รู้เวท ๓
ย่อมรู้วิธีแก้ลางร้ายนั้นได้
ต้องการอะไร ตรัสถาม
พราหมณ์กราบทูลว่า ต้องบูชายัญด้วยช้าง ม้า โคผู้ โคนม แพะ
แกะ ไก่ สุกร เด็กชาย เด็กหญิง ชนิดละร้อย
พระราชาทรงดำริว่า ชีวิตของพระองค์สำคัญที่สุด จึงทรงรับสั่งให้จับสัตว์และมนุษย์มาตามจำนวนที่พราหมณ์บอก เพื่อฆ่าบูชายัญ
มนุษย์และสัตว์จำนวนมากที่ถูกจับไปขัง และพันธนาการไว้ กลัวต่อมรณภัย
ต่างส่งเสียร้องคร่ำครวญอย่างน่าเวทนา บิดามารดา และญาติพี่น้องของผู้ที่ถูกจับไป
ก็ติดตามลูกหลานมา ร้องไห้เสียงระงมไปทั่ว เสียงร้องไห้ของมนุษย์ และเสียงร้อง
ของสัตว์ผู้ประสบมรณภัยดังประหนึ่งว่า เสียงทรุดแห่งแผ่นดิน
พระนางมัลลิกา ได้สดับเสียงนั้นจึงไปเฝ้าพระราชาทูลถามเหตุการณ์นั้น ทราบความทั้งหมดแล้วได้ทูลถามว่า ขอเดชะการเอาชีวิตของคนหนึ่ง ไปต่อให้อีกคน
หนึ่งทรงเคยเห็นมาหรือ ทำไมจึงทรงเชื่อคำของพราหมณ์โง่เขลา แล้วเอาความทุกข์
โยนให้มหาชน พระศาสดาผู้เป็นยอดคนของชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก ประทับอยู่ที่
พระวิหารใกล้ ๆ นี้ ทำไมจึงไม่เสด็จไปถามปัญหาแล้วปฏิบัติตามพระโอวาทเล่า
พระราชาทรงได้สติแล้ว เสด็จไปยังวิหารเชตวันพร้อมกับพระนางมัลลิกา
ทูลถึงเรื่องเสียงที่ทรงสดับ แล้วทูลถามว่า จะมีอันตรายอะไรแก่ข้าพระองค์ พระ
มเหสีหรือราชสมบัติหรือไม่ พระศาสดาตรัสว่า ไม่มีอันตรายใด ๆ แก่พระองค์เลย
เสียงนั้นเป็นเสียงร้องของสัตว์ผู้ทำบาปกรรมไว้มาก ร้องเพื่อระบายความทุกข์ของตนเอง
พระราชาทราบดังนั้นแล้ว สบายพระทัย ถวายบังคมลาพระศาสดาเสด็จ
กลับไป รับสั่งให้ปล่อยมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายจากพันธนาการ มนุษย์และสัตว์ทั้ง
หมดพร้อมด้วยญาติพี่น้องต่างดีใจ สรรเสริญและให้พรพระนางมัลลิกาว่า ขอให้พระ
แม่เจ้าผู้มีสติปัญญา และกรุณาคุณจงมีพระชนม์ยิ่งยืนนานเถิด และพระราชาก็ทรง
เกษมสำราญทุกประการ ไม่ได้มีอันตรายใด ๆ เกิดขึ้นตามที่พราหมณ์ทูลบอกเลย
พระนางมัลลิกา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าวได้ให้ชีวิตแก่
มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเป็นจำนวนมากดังกล่าวมาฉะนี้แล
๔. เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล หมายความว่า เมื่อคิดถึงเหตุแห่งความสุข
หรือความทุกข์ คิดไปที่กรรม คือ การกระทำของตนไม่คิดถึงอำนาจดลบันดาลใน
ภายนอก เช่น คิดอยากได้ทรัพย์ก็คิดไปที่หลักธรรม คือ ความขยัน ประ
หยัด คบคนดี ใช้จ่ายพอสมแก่ฐานะ และรายได้ ไม่คิดถึงผู้วิเศษ หรือสิ่ง-
วิเศษมี นางกวัก เต่า ปลาไหลเผือก เป็นต้น
๕. ไม่แสวงหานักบุญ และทำบุญนอกพระพุทธศาสนา หมายความว่า จะให้วัตถุสิ่งของ หรือทำสามีจิกรรม มีการไหว้เป็นต้น แก่บุคคลต่างศาสนาในฐานะเป็นญาติมิตร ครูอาจารย์ และผู้มีพระคุณ สามารถทำได้ และจัดเป็นกุศล
คือความดี แต่การให้หรือการทำในฐานะเป็นทักขิไณยบุคคล คือบุคคลผู้เป็นบุญเขตอันสูงสุด ย่อมไม่สมควร
ผู้สมาทานอุโบสถศีล จัดว่าเป็นผู้ใกล้ชิดพระรัตนตรัยมากกว่าผู้ที่ไม่ได้สมาทาน หากให้ความสนใจศึกษาและปฏิบัติตามคุณสมบัติของอุบาสก อุบาสิกา หรือของ
ชาวพุทธทั้ง ๕ ประการนี้ ก็จะทำได้เป็นชาวพุทธผู้พัฒนา และมีคุณค่าอย่าง
แท้จริง แต่ถ้าไม่ปฏิบิตตามเสียเลยก็คงมีค่าเพียงแต่เป็นผู้สรรเสริญพระพุทธศาสนา
เท่านั้น
บรรณานุกรม
๑. คังคมาลชาดก อัฏฐกนิบาต อรรถกถา
๒. อุโบสถขันธกะ มหาวรรค วินัยปิฎก
๓. มังคลัตถทีปนี อนวัชชกรรม
๔. วัสสูปนายิกขันธกะ มหาวรรค วินัยปิฎก
๕. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ
๖. อรรถกถาวิกาลโภชนสิกขาบท
๗. อรรถกถาอุโบสถสูตร
๘. อุโบสถสูตร ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย
๙. วิสาขาสูตร อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย
๑๐. วาเสฏฐสูตร อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย
๑๑. อภิสันทสูตร อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย
๑๒. สุมังคลวิลาสินี ทีฆนิกายอรรถกถา
[๑]ปฏิชาครอุโบสถ รักษาเดือนละ ๑๑ วัน คือ ข้างขึ้น ๕ วัน ได้แก่ วันขึ้น ๔ ค่ำ ๖ ค่ำ ๗ ค่ำ ๙ ค่ำ และข้างแรม ๖ วัน ได้แก่ วันแรม ๑ ค่ำ ๔ ค่ำ ๖ ค่ำ ๗ ค่ำ ๙ ค่ำ ๑๒ ค่ำ หรือ ๑๓ ค่ำ
ปาฏิหาริยอุโบสถ บางแห่งแสดงว่า ๕ เดือน คือ ตั้งแต่เดือน ๘ ถึงเดือน ๑๒ บางอาจารย์กล่าวว่า ๓ เดือน คือ เดือน ๘ เดือน ๑๒ เดือน ๔ บางพวกกล่าวว่า ๔ วัน คือ ๗ ค่ำ ๙ ค่ำ ๑๓ ค่ำ หรือ ๑๔ ค่ำ ๑ ค่ำ
วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม
ธรรมศึกษาชั้น โท
๑. อัตตวรรค คือ หมวดตน
๑. อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน พหุนาปิ น หาปเย
อตฺตทตฺถมภิญฺญาย สทตฺถปสุโต สิยา
บุคคลไม่ควรพล่าประโยชน์ของตน เพราะประโยชน์ผู้อื่นแม้มาก
รู้จักประโยชน์ของตนแล้ว พึงขวนขวายในประโยชน์ของตน
(พุทฺธ) ขุ.ธ.๒๕/๓๗.
๒. อตฺตานญฺเจ ตถา กยิรา ยถญฺญมนุสาสติ
สุทนฺโต วต ทเมถ ตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม.
ถ้าสอนผู้อื่นฉันใด พึงทำตนฉันนั้น ผู้ฝึกตนดีแล้ว
ควรฝึกผู้อื่น ได้ยินว่า ตนแลฝึกยาก
(พุทฺธ ) ขุ.ธ.๒๕/๓๖.
๓. อตฺตานเมว ปฐมํ ปฏิรูเป นิเวสเย
อถญฺญมนุสาเสยฺย น กิลิสฺเสยฺย ปณฺฑิโต
บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน
สอนผู้อื่นภายหลังจึงไม่มัวหมอง
(พุทฺธ) ขุ.ธ.๒๕ /๓๖.
๒. กัมมวรรค คือ หมวดกรรม
๔. อติสีตํ อติอุณฺหํ อติสายมิทํ อหุ
อิติ วิสฺสฏฺฐกมฺมนฺเต อตฺถา อจฺเจนฺติ มาณเว
ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลยคนผู้ทอดทิ้งการงาน
ด้วยอ้างว่าหนาวนัก ร้อนนัก เย็นเสียแล้ว.
(พุทฺธ) ที.ปาฏิ.๑๑/๑๙๙ .
๕. อถ ปาปานิ กมฺมานิ กรํ พาโล น พุชฌติ
เสหิ กมฺเมหิ ทุมฺเมโธ อคฺคิทฑฺโฒว ตปฺปติ
เมื่อคนโง่มีปัญญาทราม ทำกรรมชั่วอยู่ก็ไม่รู้สึก เขาเดือดร้อน
เพราะกรรมของตน เหมือนถูกไฟไหม้
(พุทฺธ) ขุ.ธ.๒๕/๓๓.
๖. ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ
บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดี
ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว
(พุทฺธ) สํ.ส.๑๕/๓๓๓.
๗. โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ กตตฺโถ นาวพุชฺฌติ
ตฺถา ตสฺส ปลุชฺชนฺติ เย โหนฺติ อภิปตฺถิตา
ผู้ใด อันผู้อื่นทำความดี ทำประโยชน์ให้ในกาลก่อน
แต่ไม่รู้สึก (คุณของเขา) ประโยชน์ที่ผู้นั้นปรารถนาย่อมฉิบหาย
(ทฬฺหธมฺมโพธิสตต) ขุ.ชา.สตฺตก.๒๗/๒๒๘ .
๘. โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ กตตฺโถ มนุพุชฺฌติ
อตฺถา ตสฺส ปวฑฺฒนฺติ เย โหนฺติ อภิปตฺถิตา
ผู้ใด อันผู้อื่นทำความดี ทำประโยชน์ให้ในกาลก่อน ย่อมสำนึก
(คุณของเขา) ได้ ประโยชน์ที่ผู้นั้นปรารถนาย่อมเจริญ
(ทฬฺหธมฺมโพธิสตต) ขุ.ชา.สตฺตก.๒๗/๒๒๘ .
๙. โย ปุพฺเพ กรณียานิ ปจฺฉา โส กาตุมิจฺฉติ
วรุณกฏฺฐํ ภญฺโชว ส ปจฺฉา อนุตปฺปติ
ผู้ใด ปรารถนาทำกิจที่ควรทำก่อนในภายหลัง ผู้นั้น ย่อมเดือด
ร้อนในภายหลัง ดุจมาณพ (ผู้ประมาทแล้วรีบ) หักไม้กุ่มฉะนั้น
(โพธิสตฺต) ขุ.ชา. เอก.๒๗/๒๓.
๑๐. สเจ ปุพฺเพกตเหตุ ขทุกฺขํ นิคจฺฉติ
โปราณกํ กตํ ปาปํ ตเมโส มุญฺจเต อิณํ
ถ้าประสพสุขทุกข์ เพราะบุญบาปที่ทำไว้ก่อนเป็นเหตุ
ชื่ อว่าเปลื้องบาปเก่าที่ทำไว้ ดุจเปลื้องหนี้ฉะนั้น
(โพธิสตฺต) ขุ.ชา.ปญฺญส.๒๘/๒๕.
๑๑. สุขกามานิ ภูตานิ โย ทณฺเฑน วิหึสติ
อตฺตโน สุขเมสาโน เปจฺจ โส น ลภเต สุขํ
สัตว์ทั้งหลายย่อมต้องการความสุข ผู้ใดแสวงหาสุขเพื่อตน
เบียดเบียนเขาด้วยอาชญา ผู้นั้นละไปแล้ว ย่อมไม่ได้สุข
(พุทฺธ) ขุ.ธ.๒๕/๓๒
๑๒. สุขกามานิ ภูตานิ โย ทณเฑน น หึสติ
อตฺตโน สุขเมสาโน เปจฺจ โส ลภเต สุขํ
สัตว์ทั้งหลายย่อมต้องการความสุข ผู้ใดแสวงหาสุขเพื่อตน
ไม่เบียดเบียนเขาด้วยอาชญา ผู้นั้นละไปแล้ว ย่อมได้สุข
(พุทฺธ) ขุ.ธ.๒๕/๓๒
๕. ขันติวรรค คือ หมวดอดทน
๑๓. อตฺตโนปิ ปเรสญฺจ อตฺถาวโห ว ขนฺติโก
สคฺคโมกฺขคมํ มคฺคํ อารุฬฺโห โหติ ขนฺติโก
ผู้มีขันติ ชื่อว่านำประโยชน์มาให้ทั้งแก่ตนทั้งแก่ผู้อื่น
ผู้ที่มีขันติชื่อว่าเป็นผู้ขึ้นสู่ทางไปสวรรค์และนิพพาน
ส.ม.๒๒๒.
๑๔. เกวลานํปิ ปาปานํ ขนฺติ มูลํ นิกนฺตติ
ครหกลหาทีนํ มูลํ ขนติ ขนติโก
ขันติ ย่อมตัดรากแห่งบาปทั้งสิ้น ผู้มีขันติชื่อว่าย่อมขุดรากแห่ง
ความติเตียนและการทะเลาะกันเป็นต้นได้
ส.ม. ๒๒๒
๑๕. ขนฺติโก เมตฺตวา ลาภี ยสสฺสี สุขสีลวา
ปิโย เทวมนุสฺสานํ มนาโป โหติ ขนฺติโก
ผู้มีขันตินับว่ามีเมตตา มีลาภ มียศ และมีสุขเสมอ
ผู้มีขันติเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ส.ม.๒๒๒
๑๖. สตฺถุโน วจโนวาทํ กโรติเยว ขนฺติโก
ปรมาย จ ปูชาย ชินํ ปูเชติ ขนฺติโก
ผู้มีขันติ ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระศาสดา
และผู้มีขันติชื่อว่าบูชาพระชินเจ้าด้วยบูชาอันยิ่ง
ส.ม. ๒๒๒
๑๗. สีลสมาธิคุณานํ ขนฺติ ปธานการณํ
สพฺเพปิ กุสลา ธมฺมา ขนฺตฺยาเยว วฑฺฒนฺติ เต
ขันติเป็นประธาน เป็นเหตุ แห่งคุณคือศีลและสมาธิ
กุศลธรรมทั้งปวงย่อมเจริญ เพราะขันติเท่านั้น
ส. ม. ๒๒๒
๔. ปัญญาวรรค คือ หมวดปัญญา
๑๘. อปฺปสฺสุตายํ ปุริโส พลิวทฺโทว ชีรติ
มํสานิ ตสฺส วฑฺฒนฺติ ปญฺญา ตสฺส น วฑฺฒติ
คนผู้สดับน้อยนี้ ย่อมแก่ไป เหมือนวัวแก่
อ้วนแต่เนื้อ แต่ปัญญาไม่เจริญ
(พุทฺธ) ขุ.ธ. ๒๕/๓๕.
๑๙. ชีวเตวาปิ สปฺปญฺโญ อปิ วิตฺตปริกฺขยา
ปญฺญาย จ อลาเภน วิตฺตวาปิ น ชีวติ
ถึงสิ้นทรัพย์ ผู้มีปัญญาก็เป็นอยู่ได้ แต่อับปัญญา
แม้มีทรัพย์ก็เป็นอยู่ไม่ได้
(มหากปฺปินเถร) ขุ. เถร. ๒๖/๓๕๐.
๒๐. ปญฺญวา พุทฺธิสมฺปนฺโน วิธานวิธิโกวิโท
กาลญฺญู สมยญฺญู จ ส ราชวสตึ วเส
ผู้มีปัญญา ถึงพร้อมด้วยความรู้ ฉลาดในวิธีจัด
การงานรู้กาลและรู้สมัยเขาพึงอยู่ในราชการได้
(พุทฺธ) ขุ.ชา. มหา. ๒๘/๓๓๙.
๒๑. ปญฺญา หิ เสฏฺฐา กุสลา วทนฺติ
นกฺขตฺตราชาริว ตารกานํ
สีลํ สิรี จาปิ สตญฺจ ธมฺโม
อนฺวายิกา ปญฺญวโต ภวนฺติ
คนฉลาดกล่าวว่า ปัญญาประเสริฐ เหมือนพระจันทร์ประเสริฐ
กว่าดาวทั้งหลาย แม้ศีลสิริและธรรมของสัตบุรุษย่อมไปตามผู้มีปัญญา
( สรภงฺคโพธิสตฺต ) ขุ. ชา. จตฺตาฬีส. ๒๗ / ๕๔๑.
๒๒. มตฺตาสุขปริจฺจาคา ปสฺเส เจ วิปุลํ สุขํ
จเช มตฺตาสุขํ ธีโร สมฺปสฺสํ วิปุลํ สุขํ
ถ้าพึงเห็นสุขอันไพบูลย์ เพราะยอมเสียสละสุขส่วนน้อย
ผู้มีปัญญาเล็งเห็นสุขอันไพบูย์ ก็ควรสละสุขส่วนน้อยเสีย
( พุทฺธ ) ขุ. ธ. ๒๕ / ๕๓.
๒๓. ยสํ ลทฺธาน ทุมฺเมโธ อนตฺถํ จรติ อตฺตโน
อตฺตโน จ ปเรสญฺ จ หึสาย ปฏิปชฺชติ
คนมีปัญญาทราม ได้ยศแล้วย่อมประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
แก่ตน ย่อมปฏิบัติเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น
( หตฺถาจริย ) ขุ.ชา. เอก. ๒๗ / ๔๐.
๒๔. ยาวเทว อนตฺถาย ญตฺตํ พาลสฺส ชายติ
หนฺติ พาลสฺส สุกฺกํสํ มุทฺธํ อสฺส วิปาตยํ
ความรู้เกิดแก่คนพาล ก็เพียงเพื่อความฉิบหาย มันทำสมอง
ของเขาให้เขว ย่อมฆ่าส่วนที่ขาวของคนพาลเสีย
(พุทฺธ) ขุ.ธ.๒๕/๒๔.
๒๕. โย จ วสฺสสตํ ชีเว ทุปฺปญฺโญ อสมาหิโต
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปญฺญวนฺตสฺส ฌายิโน
ผู้ใดมีปัญญาทราม มีใจไม่มั่นคง พึงเป็นอยู่ตั้งร้อยปี
ส่วนผู้มีปัญญาเพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ดีกว่า
(พุทฺธ ) ขุ.ธ.๒๕/๒๙.
๕. เสวนาวรรค คือ หมวดคบหา
๒๖. อสนฺเต นูปเสเวยฺย สนฺเต เสเวยฺย ปณฺฑิโต
อสนฺโต นิรยํ เนนฺติ สนฺโต ปาเปนฺติ สุคตึ
บัณฑิตไม่พึงคบอสัตบุรุษ พึงคบสัตบุรุษ เพราะอสัตบุรุษ
ย่อมนำไปสู่นรก สัตบุรุษย่อมให้ถึงสุคติ
(โพธิสตฺต) ขุ.ชา.วีส.๒๗/๔๓๗.
๒๗. ตครํ ว ปลาเสน โย นโร อุปนยฺหติ
ปตฺตาปิ สุรภี วายนฺติ เอวํ ธีรูปเสวนา
คนห่อกฤษณาด้วยใบไม้ แม้ใบไม้ก็หอมไปด้วยฉันใด
การคบกับนักปราชญ์ ก็ฉันนั้น
(โพธิสตฺต) ขุ.ชา.วีส.๒๙/๔๓๗.
๒๘. น ปาปชนสํเสวี อจฺจนฺตสุขเมธติ
โคธากุลํ กกณฺฏาว กลึ ปาเปติ อตฺตนํ
ผู้คบคนชั่ว ย่อมถึงความสุขโดยส่วนเดียวไม่ได้ เขาย่อมยังตน
ให้ประสบโทษ เหมือนกิ้งก่าเข้าฝูงเหี้ยฉะนั้น
( โพธิสตฺต ) ขุ. ชา.เอก.๒๗/๔๖.
๒๙. ปาปมิตฺเต วิวชฺเชตฺวา ภเชยฺยุตฺตมปุคฺคเล
โอวาเท จสฺส ติฏฺเฐยฺย ปตฺเถนฺโต อจลํ สุขํ
ผู้ปรารถนาความสุขที่มั่นคง พึงเว้นมิตรชั่วเสีย
คบแต่บุคคลสูงสุด และพึงตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน
( วิมลเถร ) ขุ. เถร. ๒๖ / ๓๐๙.
๓๐. ปูติมจฺฉํ กุสคฺเคน โย นโร อุปนยฺหติ
กุสาปิ ปูติ วายนฺติ เอวํ พาลูปเสวนา
คนห่อปลาเน่าด้วยใบหญ้าคา แม้หญ้าคาก็พลอยเหม็นเน่า
ไปด้วยฉันใด การคบกับคนพาลก็ฉันนั้น
( ราชธีตา ) ขุ. ชา.มหา. ๒๘ / ๓๐๓.
๓๑. ยาทิสํ กุรุเต มิตฺตํ ยาทิสญจูปเสวติ,
โสปิ ตาทิสโก โหติ สหวาโส หิ ตาทิโส
คบคนเช่นใดเป็นมิตร และสมคบคนเช่นใด
เขาก็เป็นคนเช่นนั้น เพราะการอยู่ร่วมกันย่อมเป็นเช่นนั้น
(โพธิสตฺต) ขุ. ชา.วีส. ๒๗/๔๓๗.
๓๒. สทฺเธน จ เปสเลน จ
ปญฺญวตา พหุสฺสุเตน จ
สขิตํ หิ กเรยฺย ปณฺฑิโต
ภทฺโท สปฺปุริเสหิ สงฺคโม
บัณฑิต พึงทำความเป็นเพื่อนกับคนมีศรัทธา มีศีลเป็นที่รัก
มีปัญญาและเป็นพหุสูต เพราะการสมาคมกับคนดี เป็นความเจริญ
(อานนฺทเถร) ขุ.เถร.๒๖/๔๐๔.
อักษรย่อบอกนามคัมภีร์
องฺ. อฏฺฐก. องฺคุตฺตรนิกาย อฏฺฐกนิปาต
องฺ. จตุกฺก. " จตุกฺกนิปาต
องฺ. ฉกฺก. " ฉกฺกนิปาต
องฺ. ติก. " ติกนิปาต
องฺ. ทสก. " ทสกนิปาต
องฺ. ปญฺจก. " ปญฺจกนิปาต
องฺ. สตฺตก. " สตฺตกนิปาต
ขุ. อิติ. ขุทฺทกนิกาย อิติวุตฺตก
ขุ. อุ. " อุทาน
ขุ. ขุ. " ขุทฺทกปาฐ
ขุ. จริยา. " จริยาปิฏก
ขุ. จู. " จูลนิทฺเทส
ขุ. ชา. อฏฺฐก.ขุทฺทกนิกาย ชาตก อฏฺฐกนิปาต
ขุ. ชา. อสีติ.ขุทฺทกนิกาย ชาตก อสีตินิปาต
ขุ. ชา. เอก. ขุทฺทกนิกาย ชาตก เอกนิปาต
ขุ. ชา. จตฺตาฬีส.ขุทฺทกนิกาย ชาตก จตฺตาฬีสนิปาต
ขุ. ชา. จตุกก.ขุทฺทกนิกาย ชาตก จตุกฺกนิปาต
ขุ. ชา. ฉกก. ขุทฺทกนิกาย ชาตก ฉกฺกนิปาต
ขุ. ชา. ตึส. ขุทฺทกนิกาย ชาตก ตึสนิปาต
ขุ. ชา. ติก. ขุทฺทกนิกายชาตก ติกนิปาต
ขุ. ชา. เตรส. ขุทฺทกนิกายชาตก เตรสนิปาต
ขุ. ชา. ทฺวาทส.ขุทฺทกนิกายชาตก ทฺวาทสนิปาต
ขุ. ชา. ทสก. ขุทฺทกนิกายชาตก ทสกนิปาต
ขุ. ชา. ทุก. ขุทฺทกนิกายชาตก ทุกนิปาต
ขุ. ชา. ทุก. ขุทฺทกนิกายชาตก ทุกนิปาต
ขุ. ชา. นวก. ขุทฺทกนิกายชาตก นวกนิปาต
ขุ. ชา. ปกิณฺณก.ขุทฺทกนิกายชาตก ปกิณฺณกนิปาต
ขุ. ชา. ปญฺจก.ขุทฺทกนิกายชาตก ปญฺจกนิปาต
ขุ. ชา. ปญฺญาส.ขุทฺทกนิกายชาตก ปญฺญาสนิปาต
ขุ. ชา. มหา. ขุทฺทกนิกายชาตก มหานิปาต
ขุ. ชา. วีส. ขุทฺทกนิกายชาตก วีสตินิปาต
ขุ. ชา. สฏฺฐิ.ขุททกนิกายชาตก สฏฺฐินิปาต
ขุ. ชา. สตฺตก.ขุทฺทกนิกายชาตก สตฺตกนิปาต
ขุ. ชา. สตฺตติ.ขุทฺทกนิกายชาตก สตฺตตินิปาต
ขุ. เถร. ขุทฺทกนิกาย เถรคาถา
ขุ. เถรี. “ เถรีคาถา
ขุ. ธ. “ ธมฺมปทคาถา
ขุ. ปฏิ. “ ปฏิสมฺภิทามคฺค
ขุ. พุ. “ พุทฺธวํส
ขุ. มหา. “ มหานิทฺเทส
ขุ. สุ. ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาต
ที. ปาฏิ. ทีฆนิกาย ปาฏิกวคฺค
ที. มหา. “ มหาวคฺค
ม. อุป. มชฺฌิมนิกาย อุปริปณฺณาสก
ม. ม. “ มชฺฌิมปณฺณาสก
สํ. นิ. สํยตฺตนิกาย นิทานวคฺค
สํ. มหา. " มหาวารวคฺค
สํ. ส. " สคาถวคฺค
สํ. สฬ. สํยตฺตนิกาย สฬายตนวคฺค
ส. ม. สวดมนต์ฉบับหลวง ( พิมพ์ครั้งที่ ๕ )
- / - เลขหน้าขีดบอกเล่ม เลขหลังขีดบอกหน้า
…………………………
วิชาอนุพุทธประวัติ ธ.ศ. ชั้นโท
บทนำ
อนุพุทธประวัติ คือ ประวัติของพระสาวกที่รับฟังคำสั่งสอนจากพระศาสดาแล้วเพียรพยายามปฏิบัติฝึกหัดกาย วาจา และใจตามนั้น จนได้บรรลุผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ พระอรหัตผล พระธรรมสังคาหกาจารย์ได้รวบรวมประวัติของท่านเหล่านั้นไว้ในพระบาลีโดยย่อ ๓ ด้าน คือ
๑. อปาทาน ว่าด้วยการสร้างสมความดี ตั่งแต่ได้รับการพยากรณ์จากสำนักพระพุทธเจ้า ในปางก่อนจนถึงชาติสุดท้าย แต่ละรูปใช้เวลาอย่างน้อยที่สุด ๑ แสนกัป
๒. เอตทัคคะ คือความเป็นผู้เลิศเพราะมีความชำนาญในด้านนั้น ๆ เช่น พระสารีบุตรเถระเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายด้านมีปัญญามาก
๓. เถรคาถา รวบรวมคำพูดที่พระเถระเหล่านั้น ได้กล่าวไว้ในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อคิดคติธรรมสำหรับ ปัจฉิมมาชนตาชน จะได้นำไปประพฤติปฏิบัติตามกุศลฉันทะของแต่ละบุคคล
ครั้นต่อมา พระอรรถกถาจารย์ ได้อธิบายบาลีเหล่านั้นให้กว้างขวางออกไป จึงทำให้ได้ประวัติความเป็นมา ของพระสาวกเหล่านั้นชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งในที่นี้ได้กำหนดเป็น ๙ หัวข้อด้วยกัน คือ
๑. สถานะเดิม หมายถึง ชื่อเดิมของแต่ละท่าน ชื่อบิดามารดา วรรณะ ประเทศที่เกิด
๒. ชีวิตก่อนบวช หมายถึง การศึกษา การประกอบอาชีพ การแต่งงาน และการดำเนินชีวิตอื่น ๆ เช่น เป็นนักบวช นักพรต เป็นต้น
๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา หมายถึง เหตุจูงใจที่จะทำให้ท่านเหล่านั้นทิ้งอาชีพการงาน และลัทธิเดิมเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา
๔. การบรรลุธรรม หมายถึง การที่ท่านเหล่านั้นได้บรรลุธรรมในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่โสดาปัตติผลจนถึงอรหัตผล ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง อันจะทำให้ผู้ศึกษาเห็นว่าการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนานั้นมีหลายวิธี จะทำให้คลายความยึดมั่น
๕. การประกาศพระพุทธศาสนา หมายถึง พระเถระเหล่านั้นได้เป็นกำลังในการช่วยพระศาสนา ประกาศ ศาสนาอย่างไรบ้าง ซึ่งจะทำให้เห็นได้ว่า การประกาศพระศาสนาของพระเถระแต่ละรูปนั้น แบ่งออกเป็น ๒ ภาค คือ
๑. ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เช่น พระสารีบุตรเถระ สามารถนำคนเข้ามานับถือพระพุทธศาสนาได้มากมาย จนพระศาสดายกย่องว่า “ เหมือนมารดาผู้ให้กำเนิดบุตร “
๒. หลังจากท่านปรินิพพานแล้ว ประกาศด้วยปฏิปทาของท่าน เช่น พระมหากัสสปเถระ มีคนเลื่อมใสในปฏิปทาของท่าน แล้วบวชตามอย่างท่าน ตามตำนานกล่าวว่ามีหลายแสนรูป
๖. เอตทัคคะ หมายถึง ตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุรูปอื่นในด้านต่าง ๆ เช่น มีปัญญามาก มีฤทธิ์มาก มีศรัทธามาก เป็นต้น อันพระศาสดาทรงยกย่องแต่ละท่าน ตามความเชี่ยวชาญที่ได้บำเพ็ญมาเป็นเวลานาน
๗. บุญญาธิการ หมายถึง ความดีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพาน และที่อุดหนุนเกื้อกูลความปรารถนาตำแหน่งนั้น ๆ ที่แต่ละท่านได้ว่างเอาไว้ ซึ่งต้องบำเพ็ญเป็นเวลายาวนาน หลังจากได้รับการพยากรณ์แล้ว ต้องใช้เวลาถึง ๑ แสนกัปเป็นอย่างน้อย
๘. ธรรมวาทะ หมายถึง คำพูดที่พระเถระแต่ละรูปได้กล่าวไว้ในโอกาสต่าง ๆ อันจะก่อให้เกิดความรู้สึก ถึงบาปบุญคุณโทษ และผิดชอบชั่วดี แก่ผู้ที่ได้อ่านและได้ยินได้ฟัง
๙. ปรินิพพาน หมายถึง การที่พระเถระเหล่านั้น ได้จากโลกนี้ไปด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ที่ไหน เมื่อไร และโดยวิธีใด
ในหนังสือนี้ แสดงประวัติพระเถระผู้ใหญ่ ๔๐ รูป เฉพาะท่านที่ได้รับเอตทัคคะจากพระศาสดาเท่านั้น และการที่พระสาวกจะได้รับเอตทัคคะนั้น พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า พระศาสดาทรงใช้หลักเกณฑ์ ๔ ประการ คือ
๑. อัตถุปปัตติโต ได้รับการยกย่องเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ครั้งที่พระศาสดาเสด็จลงจากดาวดึงส์ สัตว์โลก ทั้งเทวดาและมนุษย์ประชุมกันเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนั้นมีทั้งปุถุชน พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระมหาสาวกทั่วไป พระมหาโมคคัลลานเถระ และพระสารีบุตรเถระ ทรงถามปัญหากับปุถุชน และอริยบุคคลเหล่านั้น ปุถุชนแก้ปัญหาของปุถุชนได้ แต่แก้ปัญหาของพระอริยบุคคลไม่ได้ พระอริยบุคคลชั้นต่ำกว่า แก้ปัญหาของพระอริยบุคคลชั้นสูงไม่ได้ พระอริยบุคคลทั่วไป แก้ปัญหาของพระมหาโมคคัลลานเถระไม่ได้ พระมหาโมคคัลลานเถระ แก้ปัญหาของพระสารีบุตรเถระไม่ได้ พระสารีบุตรเถระ แก้ปัญหาของผู้อื่นได้ทั้งหมด แต่แก้ปัญหาอันเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าไม่ได้ เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น (อุตถุปปัตติ) นี้ จึงทรงยกย่องพระสารีบุตรเถระ ว่ามีปัญญามากว่าสาวกทั้งหลาย
๒. อาคมนโต ได้รับการยกย่องเพราะทำบุญมา คือแต่ละรูปที่ได้รับยกย่องว่าเลิศในทางนั้น ๆ ล้วนแต่เคยเห็นภิกษุอื่นได้รับตำแหน่งเช่นนั้นจากพระศาสดพระองค์ก่อน ๆ แล้วปรารถนาตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง จึงได้ทำบุญอันสามารถอำนวยผลนั้นมายาวนานท่านกล่าวว่าหลังได้รับพยากรณ์แล้ว ต้องบำเพ็ญบารมีถึงแสนกัปขึ้นไป
๓. จิณณวสิโต ได้รับการยกย่องเพราะมีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ โดยการฝึกฝนเรื่องที่ตนปรารถนาอย่างเดียว เช่น พระสารีบัตรเถระปรารถนาจะมีปัญญามากกว่าใคร เกิดภพใดชาติใดก็ฝึกฝนแต่ปัญญามาตลอด จนนับภพนับชาติไม่ถ้วนในที่สุดก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญา เป็นต้น
๔. คุณาดิเรกโต ได้รับการยกย่องเพราะมีคุณสมบัติด้านนั้นเหนือกว่ารูปอื่น เช่น ภิกษุที่มีฤทธิ์หลายรูปแต่ทุกรูปมีฤทธิ์สู้พระมหาโมคคัลลานเถระไม่ได้ เพราะพระมหาโมคคัลลานเถระ ท่านสร้างกุศลและฝึกฝนเรื่องฤทธิ์มามากกว่าภิกษุรูปอื่นทั้งหมด
ประวัติพระสาวกนี้ มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าประวัติของพระศาสดา เพราะพระศาสดา พระธรรม และพระสาวก ต้องอิงอาศัยกันตลอดเวลา ถ้ามีแต่อย่างใดอย่างหนึ่งก็จะไม่เกิดประโยชน์เลย เหมือนหมอยา และคนไข้ที่หายโรค มีแต่พระศาสดา ไม่มีพระธรรมและพระสาวก ก็เปรียบเหมือนมีแต่หมอ แต่ไม่มียา และไม่มีคนไข้ที่หายโรค จะรู้ว่าหมอเก่งได้อย่างไร มีแต่พระธรรม แต่ไม่มีพระศาสดาและพระสาวก ก็เปรียบเหมือนมียา แต่ไม่มีหมอผู้รู้จักยา และไม่มีคนไข้ที่หายโรคจากยาขนานนั้น หรือมีทั้งพระศาสดาและพระธรรม แต่ไม่มีพระสาวก ก็เปรียบเหมือนมีทั้งหมอและยา แต่ไม่เคยใช้รักษาใครเลย จะเชื่อได้อย่างไรว่า หมอนั้นเก่ง และยานั้นดี ฉะนั้น จึงได้กล่าวว่า ประวีติพระสาวกมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าประวัติของพระศาสดาศึกษาประวัติพระสาวกก็เท่ากับได้ศึกษาประวัติของพระศาสดา และศึกษาพระธรรมไปในตัวด้วย
หวังว่า เมื่อได้ศึกษาประวัติพระสาวกทั้ง ๔๐ รูปนี้แล้ว ผู้ศึกษาจะมีความรู้และความเข้าใจถึงแรงจูงใจที่ทำ ให้ท่านเหล่านั้นออกบวชในพระพุทธศาสนาปฏิปทา ที่ทำให้ท่านได้บรรลุธรรม ความเข้าใจ ความซาบซึ้งในพุทธธรรมของแต่ละท่าน ที่ถ่ายทอดออกมาจากใจ อันพระธรรมสังคาหกาจารย์รวบรวมเป็นเถรคาถาไว้บ้าง จากเรื่องอื่น ๆ บ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ผู้ศึกษามีทัศนคติที่กว้างขวาง ยอมรับฟังผู้อื่นที่มีปฏิปทาไม่เหมือนตน อันจะนำไปสู่ความสามัคคีปรองดอง เพื่อทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา และไม่ทำให้เกิดความเนิ่นช้าในการปฏิบัติธรรมเพราะมัวแต่วิวาทะกัน
๑. ประวัติพระอัญญาโกณฑัญญะ
๑. สถานะเดิม
ชื่อโกณฑัญญะ ส่วนที่มีคำว่า อัญญานำหน้านั้นเกิดจากพระศาสดาทรงเปล่งอุทานตอนท่านได้ดวงตาเห็นธรรมว่า อญญาสิ วต โภ โกณฑญฺโญ แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ คำว่า อัญญา จึงเป็นคำนำหน้าชื่อของท่านตั้งแต่นั้นมา
เกิดที่บ้านพราหมณ์ชื่อโทณวัตถุ อยู่ใกล้กรุงกบิลพัสด์ วรรณะพราหมณ์ การศึกษาจบไตรเพท และรู้ตำราทำนายลักษณะ
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
ท่านเป็น ๑ ในจำนวนพราหมณ์ ๘ คน ที่คัดจากพราหมณ์ ๑๐๘ คน เพื่อทำนายพระลักษณะของพระราชกุมาร ซึ่งท่านได้ทำนายว่า พระราชกุมารจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันต่างไปจากพราหมณ์อื่นอีก ๗ คนที่ทำนายว่า พระราชกุมารมีคติเป็น ๒ คือ ถ้าอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ถ้าออกบวชจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะเชื่อตำราทำนายลักษณะของตน เมื่อทราบข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบรรพชา จึงได้ออกบวชตาม
๓. การบรรลุธรรม
ท่านได้บรรลุโสดาปัตติผล เพราะฟังปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และบรรลุพระอรหัตผล เพราะฟังอนัตตลักขณสูตรที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันเช่นกัน เมื่อท่านได้บรรลุโสดา-ปัตติผลแล้ว ได้ทูลขอบวชกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด วิธีบวชแบบนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านเป็นพระสงฆ์สาวกรูปแรกในพระพุทธศาสนา
๔. งานประกาศพระศาสนา
พระอัญญาโกณฑัญญะ มีผลงานสำคัญคือ ให้นายปุณณะ บุตรของนางมันตานีน้องสาวของท่านบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งต่อมาได้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยประกาศศาสนา โดยมีกุลบุตรบวชในสำนักของท่านเป็นจำนวนมาก
๕. เอตทัคคะ
พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้รัตตัญญู แปลว่า ผู้รู้ราตรี หมายความว่ารู้ธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนก่อนใครทั้งหมด
๖. บุญญาธิการ ( การสร้างบารมี )
ในกาลแห่งพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้ปรารถนา ตำแหน่งรัตตัญญู คือรู้ธรรมก่อนใคร แล้วได้ทำบุญมาตลอดจนถึงกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี ได้เกิดเป็นกุฎุมพี ชื่อมหากาล ได้ถวายทานอันเลิศ ๗ ครั้ง จึงได้รับเอตทัคคะนี้
๗. ปรินิพพาน
ในบั้นปลายชีวิต ท่านได้ทูลลาพระศาสดาไปจำพรรษาในป่าหิมพานต์ ที่ฝั่งสระฉัททันต์ ๑๒ พรรษา เมื่อใกล้จะปรินิพพานได้มาทูลลาพระศาสดา แล้วกลับไปปรินิพพาน ณ สถานที่นั้น
นิพพานมี ๒ อย่างคือ สอุปาทิเสสนิพพาน แปลว่าดับกิเลสมีเบญจขันธ์เหลือ หมายถึงพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสด้วยเบญจขันธ์ดับด้วย หมายถึงพระอรหันต์ที่สิ้นชีวิต ดังนั้น อนุปาทิเสสนิพพานจึงน่าจะใช้คำว่า ปรินิพพาน จึงได้ใช้อย่างนี้
*********************************
๒. ประวัติพระอุรุเวลกัสสปเถระ
๑. สถานะเดิม
ท่านมีชื่อว่าตามโคตรว่า กัสสปะ ต่อมาบวชเป็นฤษี ตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา จึงได้นามว่า อุรุเวลกัสสปะ
เกิดที่เมืองพารณาสี ก่อนพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอุบัติ เป็นคนวรรณะพราหมณ์
การศึกษา เรียนจบไตรเพท
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
อุรุเวลกัสสปะ มีน้องชาย ๒ คน คนรองชื่อว่านทีกัสสปะ เพราะตั้งอาศรมอยู่ที่ทางโค้งแห่งแม่น้ำคงคา คนเล็ก ชื่อว่า คยากัสสปะ เพราะตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ
พี่น้องทั้ง ๓ ตั้งสำนักสอนไตรเพทแก่คนทั้งหลาย อุรุเวลกัสสปะ มีบริวาร ๕๐๐ คน นทีกัสสปะมี ๓๐๐ คน คยากัสสปะมี ๒๐๐ คน ต่อมาตรวจดูสาระประโยชน์ในคัมภีร์ของตน เห็นเพียงแต่ประโยชน์ในปัจจุบันเท่านั้น จึงชวนกันออกบวชเป็นฤษี บำเพ็ญพรตด้วยการบูชาไฟ ตั้งอาศรมอยู่ตามตำบลต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว
ครั้งนั้น พระศาสดา ทรงส่งพระสาวก ๖๐ รูป ไปประกาศพระศาสนา ส่วนพระองค์เองเสด็จไปแคว้นมคธ เสด็จไปโปรดอุรุเวลกัสสปะ ทรงขออาศัยพักในสำนักด้วย อุรุเวลกัสสปะ ไม่เต็มใจ จึงบอกให้ไปพักในโรงบูชาไฟ ซึ่งมีนาคดุร้ายอยู่ในนั้น พระศาสดาได้เสด็จเข้าไปพักตลอดทั้งคืนโดยไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แต่อุรุเวลกัสสปะก็ยังไม่ยอมรับ ยังมีมานะว่าตนเองเหนือกว่า พระศาสดาทรงใช้อุบายวิธีหลายอย่างเพื่อพิสูจน์ให้อุรุเวลกัสสปะรู้ตัวว่าไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ในที่สุดเขาจึงยอมรับความจริง ทิ้งลัทธิของตน ลอยบริขารชฎิลลงในแม่น้ำ ทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระศาสดา พร้อมด้วยบริวารทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด
๓. การบรรลุธรรม
เมื่ออุรุเวลกัสสปะ พร้อมทั้งบริวาร ลอยบริขารและเครื่องบูชาไปตามสายแม่น้ำ น้องชายทั้งสองทราบจึงพร้อมด้วยบริวารพากันมาขอบวชในสำนักของพระศาสดา ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุเช่นเดียวกับอุรุเวลกัสสปะกับบริวาร จึงรวมเป็นภิกษุทั้งสิ้น ๑๐๐๓ รูป ทรงพาภิกษุเหล่านั้นไปยังคยาสีสะตำบล ประทับนั่งบนแผ่นหิน ทรงให้สมณะทั้งหมดบรรลุพระอรหัตด้วยอาทิตตปริยายเทศนาใจความย่อว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นของร้อนเพราะไฟ ( กิเลส ) คือ ราคะ โทสะ โมหะ ความแก่ ความตาย ความเสียใจ ความคร่ำครวญ ความทุกข์ ความโทมนัส ความคับแค้นใจ
๔. งานประกาศพระศาสนา
พระอุรุเวลกัสสปเถระเป็นกำลังสำคัญยิ่ง ในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ โดยประกาศตนเป็นสาวกของพระศาสดาต่อหน้าชาวมคธที่ติดตามพระเจ้าพิมพิสารมาเฝ้าที่ลัฎฐิวัน ทำให้คนเหล่านั้นหมดความสงสัย ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาจนได้ดวงตาเห็นธรรม ๑๑ ส่วน อีกหนึ่งส่วนตั้งอยู่ในสรณคมน์ ตั้งแต่นั้นมา ชาวมคธได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก
๕. เอตทัคคะ
พระอุรุเวลกัสสปเถระ ได้รับยกย่องจากพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุ
ทั้งหลาย ผู้มีบริวารมาก
๖. บุญญาธิการ
ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ( องค์ที่ ๑๓ ) ท่านได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งมีบริวารมาก จึงสร้างความดีแล้วปรารถนาตำแหน่งเช่นนั้น พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่าจะได้สมปรารถนาในศาสนาของพระสมณโคดม
๗. ธรรมวาทะ
การบูชายัญ ล้วนแต่มุ่งหมายรูป เสียง กลิ่น รส และสตรี ข้าพระพุทธเจ้ารู้ว่า นั่นเป็นมลทินในขันธ์ทั้งหลาย จึงไม่ยินดีในการ เซ่นสรวงและการบูชายัญ
๘. ปรินิพพาน
พระอุรุเวลกัสสปะ ได้เป็นกำลังสำคัญช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาในแคว้นมคธ สุดท้ายได้ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ดุจดวงประทีปที่โชติช่วงชัชวาลแล้วมอดดับไป
**********************************
๓. ประวัติ พระสารีบุตรเถระ
๑. สถานะเดิม
พระสารีบุตรเถระ ชื่อเดิมว่า อุปติสสะ เป็นชื่อที่บิดามารดาตั้งให้ เพราะเป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในอุปติสสคาม
บิดา ชื่อ วังคันตพราหมณ์ มารดา ชื่อ นางสารี หรือรูปสารี
เกิดที่อุปติสสคาม ไม่ไกลพระนครราชคฤห์ ก่อนการอุบัติแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย
๒. มูลแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
อุปติสสะมีสหายคนหนึ่งชื่อ โกลิตะ เป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในโกลิตคาม ทั้งสองมีฐานะทางครอบครัวเสมอกัน จึงไปมาหาสู่และไปเที่ยวด้วยกันเป็นประจำ
อยู่มาวันหนึ่ง คนทั้งสองนั้นกำลังดูมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ เห็นมหาชนประชุมกัน ได้ความสังเวชว่าคนเหล่านี้ทั้งหมด ภายในร้อยปีเท่านั้นก็จะเข้าสู่ปากของมัจจุราช จึงตัดสินใจว่า ควรแสวงหาโมกขธรรม และเมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมนั้น ควรได้บรรพชาสักอย่างหนึ่ง จึงพากันไปบวช ในสำนักของสัญชัยปริพาชกพร้อมกับมาณพ ๕๐๐ คน
ทั้งสองนั้นเรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมดโดยเวลาไม่นานนัก ไม่เห็นสาระของลัทธินั้น จึงไปถามปัญหากับสมณพราหมณ์ที่เขาสมมติกันว่า เป็นบัณฑิตในที่นั้น ๆ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถูกคนทั้งสองถามแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ แต่คนทั้งสองนั้นแก้ปัญหาสมณพราหมณ์ทั้งหลายได้ เมื่อเป็นอย่างนั้น คนทั้งสองนั้น เมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมต่อไป จึงได้ทำกติกากันว่า ใครบรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง
วันหนึ่ง อุปติสสปริพาชกไปยังปริพาชการาม เห็นพระอัสสชิเถระเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์ คิดว่า บรรพชิตผู้สมบูรณ์ด้วยมรรยาทอย่างนี้ เราไม่เคยเห็น ชื่อว่าธรรมอันละเอียดน่าจะมีในบรรพชิตนี้ จึงเกิดความเลื่อมใสมองดูท่าน ได้ติดตามไปเพื่อจะถามปัญหา
ฝ่ายพระเถระได้บิณฑบาตแล้ว ไปยังโอกาสอันเหมาะสมเพื่อจะฉันอาหารปริพาชกได้ตั้งตั่งของตนถวาย เมื่อพระเถระฉันเสร็จแล้วได้ถามถึงศาสดา พระเถระอ้างเอาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปริพาชกถามอีกว่าศาสดาของท่านมีวาทะอย่างไร พระเถระตอบว่าธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และเหตุแห่งความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะตรัสอย่างนี้
อุปติสสปริพาชก ได้ดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุโสดาปัตติผล ด้วยการฟังธรรมนี้แล้วกลับไปบอกเพื่อน และแสดงธรรมให้ฟัง โกลิตะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเหมือน กันจึงพากันไปลาอาจารย์สัญชัยเพื่อไปเฝ้าพระศาสดา
พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นสองสหายพร้อมกับบริวารแต่ไกล ได้ตรัสว่านี้จะเป็นคู่สาวกชั้นเลิศของเรา ทรงแสดงธรรมตามจริยาแห่งบริวารของสหายทั้งสองให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พวกเขา พร้อมกับอุปติสสะและโกลิตะด้วย เมื่อทั้งสองบวชแล้ว ภิกษุทั้งหลายเรียก อุปติสสะว่า สารีบุตร เรียกโกลิตะว่า โมคคัลลานะ
๓. การบรรลุธรรม
พระสารีบุตรบวชได้กึ่งเดือน (๑๕ วัน ) อยู่ในถ้ำสุกรขตะ ( ส่วนมากเรียกสุกรขาตา ) กับพระศาสดา เมื่อพระศาสดาทรงแสดงเวทนาปริคคหสูตรแก่ทีฆนขปริพานชกผู้เป็นหลานของตน ส่งญาณไปตามพระธรรมเทศนาได้บรรลุพระอรหัตถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ เหมือนบุคคลบริโภคภัตที่เขาคดมาเพื่อผู้อื่น
พระอัครสาวกทั้งสองบรรลุพระอรหัต ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณในที่ใกล้พระศาสดาทั้งคู่ คือ พระสารีบุตรฟังเวทนาปริคคหสูตรในถ้ำสุกรขตะ พระโมคคัลลานะฟังธาตุกรรมฐานที่กัลลวาลมุตตคาม
๔. งานประกาศพระศาสนา
พระสารีบุตรเถระ นับว่าได้เป็นกำลังสำคัญยิ่งในการช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา มีคำเรียกท่านว่าพระธรรมเสนาบดี ซึ่งคู่กับคำเรียกพระศาสดาว่าพระธรรมราชา ท่านเป็นที่ไว้วางพระทัยของพระศาสดามากที่สุด ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเสพ จงคบ สารีบุตร และโมคคัลลานะเถิด ทั้ง ๒ รูปนี้เป็นบัณฑิต อนุเคราะห์เพื่อนพรหมจรรย์ สารีบุตร เปรียบเหมือนผู้ให้กำเนิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนผู้บำรุงเลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะย่อมแนะนำในผลชั้นสูงขึ้นไป
๕. เอตทัคคะ
พระสารีบุตรเถระ ภายหลังจากบรรลุพระอรหัตแล้วเป็นผู้มีปัญญามากสามารถแสดงธรรมได้ใกล้เคียงกับพระศาสดา และสามารถโต้ตอบกำราบปราบปรามพวกลัทธิภายนอกที่มาโต้แย้งคัดค้านพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาได้อย่างดี พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งพระอัครสาวกเบื้องขวา และเอตทัคคะว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญามาก ดังพระพุทธดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรนี้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญามาก
๖. บุญญาธิการ
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า อโนมทัสสี เสด็จอุบัติในโลก พระสารีบุตรเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ได้เห็นพระนิสภเถระ พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระองค์ได้กล่าวอนุโมทนา อาสนะดอกไม้ แก่ดาบสทั้งหลาย มีความเลื่อมใส ปรารถนาฐานันดรนั้นในใจว่า โอหนอ แม้เราก็พึงเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตเหมือนพระนิสภเถระนี้ จึงถวายบังคมพระศาสดา แล้วกระทำความปรารถนาอย่างนั้น พระศาสดาทรงเห็นว่า ความปรารถนาของเขาจะสำเร็จ โดยไม่มีอันตราย จึงพยากรณ์ว่า เมื่อเวลาล่วงไปหนึ่งอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปแต่กัปนี้ไป จักได้เป็นอัครสาวกของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า มีนามว่าสารีบุตร ท่านได้บำเพ็ญบารมี มีทานเป็นต้น มาตลอดมิได้ขาดจนชาติสุดท้ายได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางรูปสารีในอุปติสสคาม ไม่ไกลจากพระนครราชคฤห์ และได้รับเอตทัคคะตามความปรารถนาทุกประการ
๗. ธรรมวาทะ
คนที่ทูนของหนักไว้บนศีรษะตลอดเวลา ต้องลำบากด้วยภาระ ฉันใด ภาระที่เราแบกอยู่ก็ ฉันนั้น
เราถูกไฟ ๓ กอง เผาอยู่ เป็นผู้แบกภาระคือภพ เหมือนยกภูเขาพระสุเมรุมาวางไว้บนศีรษะ ท่องเที่ยวไปในภพ
คนผู้มีใจต่ำ เกียจคร้าน ทิ้งความเพียรมีสุตะน้อย ไม่มีมารยาท อย่าได้สมาคมกับเรา ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ
ส่วนคนผู้มีสุตะมาก มีปัญญา ตั้งมั่นในศีลเป็นผู้ประกอบด้วยความสงบใจ ขอจงตั้งอยู่บนกระหม่อมของเราตลอดเวลา
๘. ปรินิพพาน
พระสารีบุตรเถระปรินิพพานก่อนพระศาสดา โดยได้กลับไปปรินิพพานที่บ้านเกิดของท่าน ก่อนปรินิพพาน ท่านได้ไปทูลลาพระศาสดาแล้วเดินทางไปกับพระจุนทเถระน้องชาย ได้เทศนาโปรดมารดาของท่านให้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วปรินิพพานด้วยโรคปักขันทิกาพาธ พระจุนทเถระพร้อมด้วยญาติพี่น้องทำฌาปนกิจสรีระของท่านแล้วเก็บอัฐิธาตุไปถวายพระศาสดา ที่เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ทรงโปรดให้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ที่เชตวันมหาวิหารนั้น
****************************************
๔. ประวัติ พระโมคคัลลานเถระ
๑. สถานะเดิม
พระโมคคัลลานเถระ ชื่อเดิมว่า โกลิตะ เป็นชื่อที่บิดาและมารดาตั้งให้ เพราะเป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในโกลิตคาม
บิดา ไม่ปรากฏชื่อ กล่าวเพียงว่าเป็นหัวหน้าในโกลิตคาม
มารดา ชื่อโมคคัลลี หรือ มุคคลี ทั้งคู่เป็นวรรณะพราหมณ์
เกิดที่ บ้านโกลิตคาม ไม่ไกลจากนครราชคฤห์ ก่อนการอุบัติแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย (แก่กว่าพระพุทธเจ้า)
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
โกลิตะมีสหายที่รักใคร่สนิทสนมกันมากคนหนึ่งชื่อ อุปติสสะ เป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในอุปติสสคาม ไปมาหาสู่และเที่ยวด้วยกันเป็นประจำ
อยู่มาวันหนึ่ง สหายทั้งสองนั้นกำลังดูมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ เห็นมหาชนมาประชุมกันเพื่อชมมหรสพ จึงเกิดความคิดขึ้นโดยแยบคาย ว่าคนเหล่านี้ทั้งหมดภายในร้อยปีเท่านั้นก็จะเข้าสู่ปากของมัจจุราช จึงทำการตัดสินใจว่า เราทั้งสองควรแสวงหาโมกธรรมและเมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมนั้น ควรได้บรรพชาสักอย่างหนึ่ง จึงพากันไปบวชในสำนักของสัญชัยปริพาชก พร้อมกับมาณพ ๕๐๐ คน โกลิตะพร้อมกับสหายเรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมดโดยเวลาไม่นานนัก ไม่เห็นสาระของลัทธินั้น รู้สึกเบื่อหน่าย จึงคิดแสวงหาโมกขธรรมต่อไป โดยทำกติกากันว่าใครบรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง อุปติสสปริพาชกได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ ได้ดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุโสดาปัตติผล จึงกลับมาบอกโกลิตะผู้เป็นสหายและแสดงธรรมให้ฟังโกลิตะได้ดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุโสดาปัตติผลเช่นเดียวกันจึงพากันไปลาอาจารย์สัญชัยเพื่อไปเฝ้าพระศาสดาพระศาสดาทอดพระเนตรเห็นทั้งสองสหายพร้อมกับบริวารแต่ไกล ได้ตรัสว่า นี้จะเป็นคู่สาวกชั้นเลิศของเรา ทรงแสดงธรรมตามจริยาแห่งบริวารของสหายทั้งสองให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พวกเขาว่า เธอทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอทั้งหลาย จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด
๓. การบรรลุธรรม
ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ บวชได้ ๗ วัน เข้าไปอาศัยบ้านกัลลวาลคามในมคธรัฐ บำเพ็ญสมณธรรม ถูกถีนมิทธะ คือความท้อแท้และความโงกง่วงครอบงำไม่สามารถบำเพ็ญสมณธรรมได้ พระศาสดาได้เสด็จไปโปรดให้สลดใจ ด้วยพระดำรัสมี อาทิว่า โมคคัลลานะ ความพยายามของเธอ อย่าได้ไร้ผลเสียเลย แล้วสอนธาตุกรรมฐาน ให้ท่านพิจารณาร่างกายแยกออกเป็นธาตุ ๔ คือ ปฐวี ธาตุดิน อาโป ธาตุน้ำ เตโช ธาตุไฟ วาโย ธาตุลม เนื้อและหนังเป็นต้นเป็นธาตุดิน เลือดเป็นต้นเป็นธาตุน้ำ ความอบอุ่นในร่างกายเป็นธาตุไฟ ลมหายใจเป็นต้นเป็นธาตุลม แต่ละส่วนนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่ตัวตนของเรา ท่านกำจัดความท้อแท้และความโงกง่วงได้แล้ว ส่งใจไปตามกระแสเทศนา ได้บรรลุมรรคทั้ง ๓ เบื้องบนโดยลำดับแห่งวิปัสสนาแล้ว ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณในขณะได้บรรลุผลอันเลิศ คือ อรหัตผล
๔. งานประกาศพระศาสนา
พระมหาโมคคัลลานเถระทำงานประกาศพระศาสนาสัมพันธ์เป็นอันดีกับพระสารีบุตรเถระ ผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ดังจะเห็นได้จากพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิดแก่บุตร โมคคัลลานะเปรียบเหมือน นางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณที่สูงขึ้นไป
๕. เอตทัคคะ
พระมหาโมคคัลลานเถระ เมื่อสำเร็จพระอรหัตแล้ว เป็นผู้มีฤทธิ์มาก สามารถท่องเที่ยวไปยังเทวโลกและในนรกได้ ปราบผู้ร้ายทั้งหลาย เช่น นันโทปนันทนาคราชเป็นต้นได้ จึงได้รับการยกย่องจากพระศาสดา ว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางเป็นผู้มีฤทิธิ์
๖. บุญญาธิการ
ในอดีตกาลนานหนึ่งอสงไขยกับอีกแสนกัป ในพุทธุปบาทกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี พระมหาโมคคัลลานะบังเกิดในตระกูลคหบดีมหาศาลชื่อสิริวัฒนกุฏุมพี มีสหายชื่อสรทมาณพ
สรทมาณพ ออกบวชเป็นดาบสได้ทำบุญแล้วปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๑ ในศาสนาของพระสมณโคดม และไปชวนสิริวัฒนกุฏุมพีให้ปรารถนาตำแหน่ง สาวกที่ ๒ สิริวัฒนกุฏุมพีได้ตกลงตามนั้น แล้วได้ถวายมหาทานแก่พระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นเวลา ๗ วัน วันสุดท้ายได้ถวายผ้ามีราคามาก แล้วปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๒ เขาได้ทำกุศลกรรมตลอดมา จนถึงชาติสุดท้าย เกิดในครรภ์ของนางโมคคัลลีพราหมณี มีชื่อว่าโมคคัลลานะ ออกบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้รับตำแหน่งอัครสาวกตามปรารถนาที่ตั้งไว้
๗. ธรรมวาทะ
ไฟไม่ได้ตั้งใจเลยว่า เราจะเผาไหม้คนโง่เขลา คนโง่เขลาต่างหากเข้าไปหาไฟที่กำลังลุกอยู่แล้วให้ไฟไหม้ตนเอง ดูก่อนมารผู้ใจบาป ท่านเข้าไปหาพระพุทธเจ้าแล้วเผาตัวของท่านเอง เหมือนกับคนโง่ที่ไปจับไฟ ดูก่อนมารผู้ใจบาป ท่านเข้าไปหาพระพุทธเจ้า แต่กลับได้บาปกลับมาซ้ำยังเข้าใจผิดว่า ไม่เห็นจะบาปอะไร ( บาปแล้วยังโง่อีก )
๘. ปรินิพพาน
พระมหาโมคคัลลานเถระ ปรินิพพานที่ตำบลกาฬศิลา แคว้นมคธ ก่อนพระศาสดา แต่ภายหลังพระสารีบุตร ๑๕ วัน พระศาสดาเสด็จไปทำฌาปนกิจแล้วให้นำอัฐิธาตุมาก่อเจดีย์ บรรจุไว้ที่ใกล้ประตูเวฬุวันวิหาร
*****************************************
๕. ประวัติ พระมหากัสสปเถระ
๑. สถานะเดิม
พระมหากัสสปเถระ ชื่อเดิมว่า ปิปผลิ เป็นชื่อที่บิดาและมารดาตั้งให้ แต่มักเรียกกันตามโคตรว่า กัสสปะ
บิดาชื่อ กปิละ มารดาไม่ปรากฎชื่อ เป็นวรรณะพราหมณ์ตระกูลมหาศาลเชื้อสายกัสสปโคตร
ท่านเกิดที่หมู่บ้านพราหมณ์ ชื่อมหาติตถะ ตั้งอยู่ในเมืองราชคฤห์ ภายหลังพระมหาบุรุษเสด็จอุบัติ
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
พระมหากัสสปเถระ เป็นลูกพราหมณ์มหาศาล บิดาและมารดาจึงต้องการผู้สืบเชื้อสายวงค์ตระกูล ได้จัดการให้แต่งงานกับหญิงสาว ธิดาพราหมณ์มหาศาลเหมือนกัน ชื่อ ภัททกาปิลานี ในขณะท่านมีอายุได้ ๒๐ ปี นางภัททกาปิลานีมีอายุได้ ๑๖ ปี แต่เพราะทั้งคู่จุติมาจากพรหมโลกและบำเพ็ญเนกขัมมบารมีมา จึงไม่ยินดีเรื่องกามารมณ์เห็นโทษของการครองเรือนว่า ต้องคอยเป็นผู้รับบาปจากการกระทำของผู้อื่น ในที่สุดทั้งสองได้ตัดสินใจออกบวชโดยยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่ญาติและบริวาร พวกเขาได้ไปซื้อผ้ากาสาวพัสตร์และบาตรดินจากตลาด ต่างฝ่ายต่างปลงผมให้แก่กันเสร็จแล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์สะพายบาตร ลงจากปราสาทไปอย่างไม่มีความอาลัย
เมื่อปิปผลิและภัททกาปิลานีเดินทางไปด้วยกันได้ระยะหนึ่งแล้วปรึกษากันว่าการปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้ ผู้พบเห็นติเตียนได้ เป็นการไม่สมควร จึงแยกทางกัน นางภัททกาปิลานีไปถึงสำนักนางภิกษุณีแห่งหนึ่ง แล้วบวชเป็นนางภิกษุณีภายหลังได้บรรลุพระอรหัตผล
เมื่อทั้งสองคนแยกทางกัน พระศาสดาประทับอยู่ที่พระคันธกุฏี วัดเวฬุวันทรงทราบถึงเหตุนั้น จึงได้เสด็จไปประทับนั่งที่โคนต้นพหุปุตตนิโครธ ระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทา เพื่อรอรับการมาของเขา ต้นนิโครธนั้นมีลำต้นสีขาว ใบสีเขียวผลสีแดง ปิปผลิเห็นพระองค์แล้วคิดว่า ท่านผู้นี้ จักเป็นศาสดาของเรา เราจักบวชอุทิศพระศาสดาองค์นี้ จึงน้อมตัวลงเดินเข้าไปหา ไหว้ ๓ ครั้ง แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ลำดับนั้น พระศาสดาได้บวชให้ท่านด้วยทรงประทานโอวาท ๓ ข้อ คือ
๑. ดูก่อนกัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอาย และความเกรงใจในภิกษุทั้งที่เป็น เถระ ปานกลาง และบวชใหม่
๒. ธรรมใดเป็นกุศล เราจักเงี่ยโสตลงฟังธรรมนั้น พิจารณาเนื้อความนั้น (ของธรรมนั้น )
๓. เราจักไม่ทิ้งกายคตาสติ คือพิจารณาร่างกาย เป็นอารมณ์ ( อยู่เสมอ )
วิธีบวชอย่างนี้เรียกว่า โอวาทปฏิคคณูปสัมปทา แปลว่า การบวชด้วยการรับโอวาท
๓. การบรรลุธรรม
ครั้นบวชให้ท่านเสร็จแล้ว พระศาสดาทรงให้ท่านเป็นปัจฉาสมณะเสด็จไปตามทางได้หน่อยหนึ่ง ทรงแวะข้างทาง แสดงอาการจะประทับนั่ง พระเถระทราบดังนั้นจึงปูผ้าสังฆาฏิอันเป็นแผ่นผ้าผืนเก่าของตน เป็น ๔ ชิ้น ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง พระศาสดาประทับนั่งบนสังฆาฏินั้นเอาพระหัตถ์ลูบผ้าพลางตรัสว่า กัสสปะ สังฆาฏิอันเป็นแผ่นผ้าเก่าผืนนี้ของเธอ อ่อนนุ่ม พระเถระรู้ความประสงค์จึงกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงห่มผ้าสังฆาฏินี้เถิด พระเจ้าข้า แล้วเธอจะห่มผ้าอะไร พระศาสดาตรัสถาม พระเถระกราบทูลว่า เมื่อได้ผ้าสำหรับห่มของพระองค์ ข้าพระองค์จักห่มได้พระเจ้าข้า พระศาสดาได้ทรงประทานผ้าห่มของพระองค์แก่พระเถระ ๆ ได้ห่มผ้าของพระศาสดา มิได้ทำความถือตัวว่า เราจะได้จีวรเครื่องใช้สอยของพระพุทธเจ้าแต่คิดว่าตั้งแต่นี้ไปเราจะทำอะไรให้ดีกว่านี้อีก จึงได้สมาทานธุดงค์ ๑๓ ข้อ ในสำนักพระศาสดา หลังจากบวชได้ ๘ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา
๔. งานประกาศพระศาสนา
พระมหากัสสปเถระ เป็นพระสันโดษมักน้อย ถือธุดงค์เป็นวัตร ธุดงค์ ๓ ข้อที่ถือตลอดชีวิตคือ ๑. ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ๒. เที่ยวบินฑบาตเป็นวัตร ๓. อยู่ป่าเป็นวัตร การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของท่านจึงไปในทางเป็นแบบอย่างที่ดีของคนรุ่นหลังมากกว่าการแสดงธรรม ท่านได้แสดงคุณแห่งการถือธุดงค์ของท่านแก่พระศาสดา ๒ ประการคือ
๑. เป็นการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
๒. เพื่ออนุเคราะห์คนรุ่นหลัง จะได้ถือปฏิบัติตาม
พระศาสดาทรงประทานสาธุการแก่ท่าน แล้วตรัสว่า เธอได้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ตนแก่ชนเป็นอันมาก ทรงสรรเสริญท่านว่า เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ถือเป็นแบบอย่าง ดังนี้
๑. กัสสปะ เข้าไปสู่ตระกูล ชักกายและใจออกห่างประพฤติตนเป็นคน
ใหม่ไม่คุ้นเคยอยู่เป็นนิตย์ ไม่คะนองกายวาจาใจ จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลนั้น เพิกเฉย ตั้งจิตเป็นกลางว่า ผู้ใคร่ลาภจงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญ จงได้บุญ ตนได้ลาภมีใจฉันใด ผู้อื่นก็มีใจฉันนั้น
๒. กัสสปะ มีจิตประกอบด้วยเมตตา แสดงธรรมแก่ผู้อื่น
๓. ทรงสั่งสอนภิกษุให้ประพฤติดีประพฤติชอบ โดยยกท่านพระมหากัสสปะเป็นตัวอย่าง
งานประกาศพระศาสนาที่สำคัญที่สุดของพระมหากัสสปเถระ คือเป็นประธานการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ปฐมสังคายนานี้ มีความสำคัญมากได้ช่วยรักษาคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ดำรงมั่นคงมาจวบถึงทุกวันนี้
๕. เอตทัคคะ
พระมหากัสสปเถระ ได้รับการสรรเสริญจากพระศาสดาเป็นต้นว่า เปรียบเสมือนด้วยพระจันทร์ เข้าไปยังตระกูลทั้งหลายไม่คะนองกาย ไม่คะนองจิต เป็นผู้ใหม่อยู่เป็นนิตย์ ไม่เย่อหยิ่ง วันหนึ่ง เมื่อประทับนั่ง ในท่ามกลางหมู่พระอริยเจ้า ทรงตั้งพระเถระไว้ในตำแหน่งผู้เลิศแห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงธุดงค์และกล่าวสอนธุดงค์ว่า ภิกษุทั้งหลาย กัสสปะนี้ เป็นผู้เลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเรา ผู้ทรงธุดงค์และกล่าวสอนธุดงค์
๖. บุญญาธิการ
นับย้อนหลังไปแสนกัปแต่กัปนี้ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้เสด็จอุบัติในโลก พระมหากัสสปเถระนี้ได้เกิดเป็นกุฏุมพีนามว่า เวเทหะ ในพระนครหงสวดีนับถือรัตนตรัย ได้เห็นพระสาวกผู้เลิศทางธุดงค์นามว่า มหานิสภเถระ เลื่อมใส่ในปฏิปทาของท่าน จึงนิมนต์พระปทุมุตตรพุทธเจ้า พร้อมพระสงฆ์มาถวายภัตตาหารแล้วตั้งความปรารถนาตำแหน่งนั้น ได้กระทำบุญกรรมต่าง ๆ มาตลอดหลายพุทธันดร ในชาติสุดท้ายได้มาเกิดเป็นพระมหากัสสปเถระ ได้รับตำแหน่งสมดังปรารถนาทุกประการ
๗. ธรรมวาทะ
ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ ผู้นั้นย่อมอยู่ห่างพระสัทธรรมเหมือนแผ่นดินที่อยู่ห่างจากฟ้า
ผู้มีหิริและโอตตัปปะประจำใจตลอดเวลา ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมงอกงาม
ภพใหม่ย่อมไม่มี
ภิกษุผู้ฟุ้งซ่านง่อนแง่น ถึงจะห่มผ้าบังสุกุลก็ไม่งาม ไม่ต่างจากลิงห่มหนังเสือ
ภิกษุผู้ไม่ฟุ้งซ่านมั่นคง มีปัญญา สำรวมอินทรีย์ห่มผ้าบังสุกุล ย่อมงามเหมือนราชสีห์ บนยอดขุนเขา
๘. ปรินิพพาน
พระมหากัสสปเถระ เมื่อทำสังคายนาพระธรรมวินัยเรียบร้อยแล้ว ได้จำพรรษาอยู่ที่เวฬุวนาราม มีอายุประมาณ ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพาน ณ ระหว่างกลางกุกกุฏสัมปาตบรรพตทั้ง ๓ ลูก ในกรุงราชคฤห์
******************************************
๖. ประวัติ พระมหากัจจายนเถระ
๑. สถานะเดิม
พระมหากัจจายนเถระ เดิมชื่อว่า กัญจนมาณพ เป็นชื่อที่มารดาตั้งให้ เพราะทารกนั้นมีผิวกายเหมือนทองคำ แต่คนทั่วไปเรียกตามโคตรว่า กัจจานะ หรือ กัจจายนะ
บิดา ชื่อติริฏิวัจฉะ มารดาไม่ปรากฏชื่อ เป็นวรรณะพราหมณ์ กัจจายนโคตร บิดาเป็นปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต
เกิดที่เรือนปุโรหิต ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี แคว้นวันตี ครั้นบิดาถึงแก่กรรม ได้รับตำแหน่งปุโรหิตแทน
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
พระเจ้าจันฑปัชโชตได้ทรงสดับว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก จึงส่งกัจจายนะปุโรหิตไป เพื่อทูลอาราธนาพระศาสดาว่า ท่านอาจารย์ ท่านจงไปที่พระอารามนั้นแล้ว ทูลนิมนต์พระศาสดามาในวังนี้ ท่านปุโรหิตนั้นพร้อมกับบริวารอีก ๗ คน เดินทางออกจากนครอุชเชนีไปยังพระนครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหารพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมแก่พวกเขา กัจจายนปุโรหิต พร้อมกับคนทั้ง ๗ ได้บรรลุอรหัตผลพร้อมปฏิสัมภิทา ๔ แล้ว พร้อมกับคนทั้ง ๗ ได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระศาสดา ลำดับนั้นพระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุ มาเถิด ขณะนั้นเอง พวกเขาได้มีผมและหนวด ยาวประมาณ ๒ องคุลี ทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ได้เป็นเหมือนพระเถระบวชมา ๖๐ พรรษา ทั้ง ๗ องค์ได้บรรลุพระอรหัตผลก่อนบวช
๓. งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระมหากัจจายนเถระ ทำประโยชน์ของตนให้สำเร็จอย่างนี้แล้ว วันหนึ่งจึงกราบทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าจัณฑปัชโชต ปรารถนาจะไหว้พระบาทและฟังธรรมของพระองค์ พระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่า กัจจายนะ เธอนั่นแหละจงไปในวังนั้น เมื่อเธอไปถึงแล้วพระราชาจักทรงเลื่อมใส พระเถระพร้อมกับภิกษุอีก ๗ รูป ได้ไปยังพระราชวังนั้นตามพระบัญชาของพระศาสดา ได้ทำให้พระราชาทรงเลื่อมใส แล้วได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ในอวันตีชนบทเรียบร้อยแล้ว จึงได้กลับมาเฝ้าพระศาสดาอีก
เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระมหากัจจายนะเถระ อยู่ที่ป่าไม้คุนธา แขวงมธุรราชธานี พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรเข้าไปหาตรัสถามถึงเรื่องที่พวกพราหมณ์ถือว่า วรรณะพราหมณ์ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลว วรรณะพราหมณ์ขาว วรรณะอื่นดำ วรรณะพราหมณ์เป็นบุตรของพระพรหม เกิดจากปากพรหม อันพระพรหมสร้างเป็นทายาทของพระพรหม
พระเถระตอบว่า นั่นเป็นเพียงคำโฆษณาเท่านั้น แล้วได้อธิบายให้พระเจ้ามธุรราช อวันตีบุตร ยอมรับว่า วรรณะทั้ง ๔ เสมอกันตามความจริงที่ปรากฏ ๕ ประการ คือ
๑. วรรณะใดมั่งมี วรรณะอื่นก็ยอมเป็นคนรับใช้
๒. วรรณะใดประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ วรรณะนั้นเมื่อตายไป ย่อมตกนรกเสมอกัน
๓. วรรณะใดเว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ วรรณะนั้นเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกัน
๔. วรรณะใดประพฤติผิด เช่น ลักขโมย คดโกง ประพฤติผิดในกามเป็นต้น วรรณะนั้น ต้องถูกลงโทษเหมือนกัน
๕. วรรณะใดออกบวชประพฤติดีปฏิบัติชอบ ก็มีผู้อภิวาทต้อนรับนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ นิมนต์ให้รับปัจจัย ๔ หรือได้รับความคุ้มครองอันเป็นธรรมเสมอกัน
๔. เอตทัคคะ
พระมหากัจจายนเถระ เป็นผู้ฉลาดสามารถในการอธิบายคำที่พระศาสดาตรัสไว้โดยย่อให้พิสดาร ได้ตรงตามพุทธประสงค์ทุกประการ เช่น ครั้งหนึ่ง พระศาสดาทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตรโดยย่อ แล้วเสด็จลุกจากอาสนะเข้าสู่วิหารที่ประทับ ภิกษุทั้งหลายยังไม่เข้าใจเนื้อความ จึงอาราธนาพระเถระอธิบายให้ฟัง พระเถระอธิบายขยายความแห่งพระสูตรนั้นโดยพิสดารแล้วบอกว่า ถ้ารูปใดยังไม่แน่ใจก็ขอให้ไปทูลถามพระศาสดา ภิกษุทั้งหลายไปกราบทูลถามพระศาสดาตามที่ท่านได้อธิบาย พระศาสดาทรงสรรเสริญท่านแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัจจายนะ เป็นคนมีปัญญา ถ้าพวกเธอถามเนื้อความนั้นกับเรา แม้เราก็ต้องแก้อย่างนั้นเหมือนกัน เนื้อความแห่งธรรมที่เราแสดงไว้มีความหมายอย่างนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงทรงจำเนื้อความนั้นไว้เถิดเพราะฉะนั้น ท่านจึงได้รับแต่งตั้งจากพระศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อธิบายเนื้อความย่อให้พิสดาร ด้วยพระดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหากัจจายนะเป็นเลิศกว่าภิกษุสาวกทั้งหลายของเรา ผู้จำแนกเนื้อความที่เรากล่าวไว้โดยย่อให้พิสดาร
๕. บุญญาธิการ
ในกาลแห่งพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้เกิดในตระกูลคหบดีมหาศาล พอเจริญวัยแล้ว วันหนึ่งได้ฟังธรรม ในสำนักพระศาสดาเห็น
พระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งพระศาสดาทรงตั้งไว้ในตำแหน่งจำแนกเนื้อความ ที่ตรัสไว้โดยย่อให้พิสดาร เกิดกุศลฉันทะปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้ตั้งปณิธานทำบุญมีทานเป็นต้นไว้เป็นอันมากหลายพุทธันดร จนมาถึงพุทธุปบาทกาลแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนี้ จึงได้ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ สมปณิธานที่ได้ตั้งเอาไว้
๖. ธรรมวาทะ
วรรณะใดมั่งมี วรรณะอื่นก็ยอมเป็นคนรับใช้
วรรณะใดประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ วรรณะนั้นเมื่อตายไป ย่อมตกนรกเสมอกัน
วรรณะเว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ วรรณะนั้นเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์เหมือนกัน
วรรณะใดประพฤติผิด เช่น ลักขโมย คดโกง ประพฤติผิดในกามเป็นต้น วรรณะนั้นต้องถูกลงโทษเหมือนกัน
วรรณะใดออกบวชประพฤติดีปฏิบัติชอบ ก็มีผู้อภิวาทต้อนรับ นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ นิมนต์ให้รับปัจจัย ๔ หรือได้รับความคุ้มครองอันเป็นธรรมเสมอกัน
๗. ปรินิพพาน
พระมหากัจจายนเถระนิพพานภายหลังพระศาสดา ตามหลักฐานในมธุรสูตรว่า พระเจ้ามธุรราช ตรัสสรรเสริญพระธรรมเทศนาของท่านแล้วตรัสถามว่า ขณะนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ไหน ท่านกราบทูลว่า ปรินิพพานแล้ว
**************************************
๗. ประวัติ พระโมฆราชเถระ
๑. สถานะเดิม
พระโมฆราชเถระ เชื่อเดิม โมฆราช วรรณะพราหมณ์ เป็นชาวโกศล เพราะมีโรคประจำตัวที่รักษาไม่หาย ได้รับความทุกข์ทรมานมาก แม้จะเป็นคนใหญ่โตและมีทรัพย์สมบัติมากมายก็ช่วยไม่ได้ จึงได้ชื่อว่า โมฆราช แปลว่า ราชาผู้หาความสุขไม่ได้
เพราะท่านได้เห็นโทษของร่างกาย จึงออกบวชเป็นฤาษีมอบตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี พราหมณ์พาวรีนั้นมีศิษย์เป็นจำนวนมาก ท่านกล่าวว่ามีถึง ๑๖,๐๐๐ คน แต่ที่เป็นศิษย์ผู้ใหญ่มีอยู่ ๑๖ คน คือ อชิตะ ติสสะเมตเตยยะ ปุณณกะเมตตคู โธตกะ อุปสีวะ นันทะ เหมกะ โตเทยยะ กัปปะ ชตุกัณณี ภัทราวุธ อุทยะ โปสาละ โมฆราช ปิงคิยะ
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
พราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระสิทธัตถกุมารเสด็จออกบรรพชา ปฏิญาณว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ สนใจใคร่จะสอบสวนหาความจริง จึงเรียกศิษย์ทั้ง ๑๖ คนมี อชิตะเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวด ส่งไปเฝ้าพระศาสดาซึ่งประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ เพื่อทูลถามปัญหา ศิษย์ทั้ง ๑๖ คน ได้ปฏิบัติตามคำของอาจารย์เมื่อพระศาสดาแก้ปัญหาของพวกเขาจบลง ๑๕ คนได้บรรลุพระอรหัตผล ส่วนปิงคิยมาณพได้บรรลุเพียงโสดาปัตติผล เพราะจิตใจสับสนไม่แน่วแน่ ห่วงแต่พราหมณ์พาวรี ผู้ที่เป็นทั้งลุงและอาจารย์ ไม่ได้ส่งญาณตามเทศนาโดยตลอด
เฉพาะโมฆราชมาณพได้ทูลถามปัญหาว่า ข้าพระองค์จะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงจะไม่เห็น พระศาสดาได้ตรัสตอบว่า ดูก่อนโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่าตัวตนเสีย บุคคลพึงข้ามพ้นมัจจุราชไปได้ด้วยอุบายเช่นนี้ ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชจึงจะไม่เห็น
เมื่อโมฆราชมาณพฟังพระศาสดาแก้ปัญหาจบลง จิตของเขาก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน จึงได้ทูลของบรรพชาอุปสมบทกับพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอข้าพระองค์ พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค พระศาสดาตรัสแก่เขาว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด ท่านได้บรรลุพระอรหัตผลก่อนบวช
๓. งานประกาศพระศาสนา
นับว่าท่านเป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่ง ในการประกาศพระศาสนาด้วยปฏิปทาปอน ๆ ของท่านในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่และเป็นทิฏฐานุคติแก่คนที่เกิดมาภายหลังเมื่อท่านปรินิพพานแล้ว
๔. เอตทัคคะ
พระโมฆราชเถระนี้ ตั้งแต่บวชในพระพุทธศาสนา ได้ใช้จีวรที่ปอนมาตลอด ต่อมาพระศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวัน ทรงตั้งพระเถระทั้งหลายไว้ในฐานันดรต่าง ๆ ได้ตั้งท่านไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงจีวรอันเศร้าหมองในศาสนาของพระองค์
๕. บุญญาธิการ
พระโมฆราชเถระ ได้สร้างสมคุณความดีที่เป็นเหตุแห่งนิพพานมาสิ้นกาลนานในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงจีวรบังสุกุล จึงได้สร้างสมคุณความดีแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น ได้ทำบุญมาตลอดหลายพุทธันดร จนชาติสุดท้ายได้ถือกำเนิดในเรือนพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี ก่อนที่พระทศพลของเราทั้งหลายจะเสด็จอุบัติ และได้ถึงฝั่งแห่งสาวกบารมีญาณตามปณิธานที่ได้ตั้งเอาไว้ดังกล่าวแล้ว
๖. ธรรมวาทะ
เพราะกรรมคือการเอาไฟเผาลนพื้นหอฉัน เราจึงถูกทุกขเวทนาเบียดเบียนไหม้ในนรกพันปี
ด้วยเศษกรรมนั้นที่ยังเหลือ เราเกิดเป็นมนุษย์ ต้องมีรอยตำหนิในร่างกายถึง ๕๐๐ ชาติ
เพราะอำนาจของกรรมนั้น เราเป็นโรคเรื้อนอย่างหนัก เสวยมหันตทุกข์ถึง ๕๐๐ ชาติ
๗. ปรินิพพาน
พระโมฆราชเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์ตน และได้ช่วยพระศาสดาประกาศพุทธศาสนาตามความสามารถแล้ว ก็ได้ปรินิพพานไปตามสัจธรรมของชีวิต
*************************************
๘. ประวัติ พระราธเถระ
๑. สถานะเดิม
พระราธเถระ ชื่อเดิม ราธมาณพ บิดามารดาตั้งให้
บิดาและมารดา เป็นคนวรรณะพราหมณ์ แต่ไม่ปรากฏชื่อในตำนาน
เกิดที่บ้านพราหมณ์ ในเมืองราชคฤห์
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
พระราธเถระ ในสมัยเป็นฆราวาส บุตรและภรรยาไม่นับถือ ไม่เลี้ยงดู
จึงเข้าวัดตั้งใจว่าจะบวชแล้วอยู่รอวันตายไปวัน ๆ หนึ่ง ได้ขอบวชกับพระเถระทั้งหลาย
แต่ไม่มีใครบวชให้
วันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่งอันเป็นพุทธกิจอย่างหนึ่ง ทรงเห็นพราหมณ์นั้นเข้าไปในข่ายแห่งพระญาณ ได้เสด็จไปโปรดตรัสถามว่า พราหมณ์ท่านกำลังทำอะไร เขากราบทูลว่า ข้าพระองค์กำลังทำวัตรปฏิบัติภิกษุทั้งหลายอยู่พระเจ้าข้า ตรัสถามต่อว่า เธอได้รับการสงเคราะห์จากภิกษุเหล่านั้นหรือ เขาทูลว่าได้พระเจ้าข้า ได้เพียงอาหาร แต่ท่านไม่บวชให้ข้าพระองค์
พระศาสดารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์เกี่ยวกับเรื่องนั้น แล้วตรัสถามว่าใครระลึกถึงอุปการะของพราหมณ์นี้ได้บ้าง พระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า ท่านระลึกได้ครั้งหนึ่งเมื่อท่านเที่ยวบิณฑบาต ในพระนครราชคฤห์ พราหมณ์นี้ได้แนะนำให้คนถวายข้าวท่านทัพพีหนึ่ง พระศาสดาทรงประทานสาธุการแก่ท่านแล้ว ตรัสว่า สารีบุตร เธอเป็นสัตบุรุษที่มีความกตัญญูกตเวที แล้วทรงมอบหมายให้พระสารีบุตร เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ราธพราหมณ์นั้น
การบวชให้ราธพราหมณ์นี้ ตรัสให้ยกเลิกวิธีอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์ มาเป็นการบวชโดยสงฆ์รับผิดชอบ ซึ่งต้องมีพระภิกษุอย่างต่ำที่สุด ๕ รูปประชุมกันจึงบวชได้ โดยแบ่งกันทำหน้าที่ ๓ ฝ่าย คือ ๑. เป็นพระอุปฌาย์ ๑ รูป ๒. เป็นพระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์อย่างละ ๑ รูป ๓. นอกนั้นร่วมรับรู้ว่าการบวชนั้นถูกต้องหรือไม่ การบวชวิธีนี้ เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา แปลว่าการบวชด้วยกรรมมีญัตติเป็นที่ ๔ หมายความว่า มีการตั้งญัตติ คือการประกาศให้สงฆ์ทราบ ๑ ครั้ง มีอนุสาวนา คือการบอกให้สงฆ์ตรวจสอบว่าการบวชนั้นถูกต้องหรือไม่ ๓ ครั้ง พระราธเถระ เป็นรูปแรกในพระพุทธศาสนาที่บวชด้วยวิธีนี้
๓. การบรรลุธรรม
พระราธเถระ ครั้นบวชแล้ว ถึงแม้จะเป็นพระผู้เฒ่า เป็นหลวงตา แต่ก็เป็นผู้ว่าง่ายใคร่ศึกษา ใครแนะนำสั่งสอนอย่างไรไม่เคยโกรธ ยอมรับฟังและปฏิบัติตามด้วยความเคารพ แต่เพราะท่านมีบุญน้อย ทั้งอาหาร ทั้งที่อยู่อาศัย จึงมักไม่พอแก่การดำรงชีวิต จึงตกเป็นภาระของพระอุปฌาย์ ต้องช่วยสงเคราะห์ตลอดมา วันหนึ่งท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอให้แสดงธรรมย่อ ๆ พอให้ท่านเกิดกำลังใจยินดีในวิเวกไม่ประมาทและมีความเพียร เพื่อความพ้นทุกข์
พระศาสดาตรัสว่า ราธะ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเป็นมาร เธอจงละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจรักใคร่ในขันธ์ ๕ นั้นเสีย ท่านรับพุทธโอวาทแล้วจาริกไปกับพระอุปัชฌาย์ พยายามปฏิบัติตามพระโอวาทนั้น ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔
๔. งานประกาศพระศาสนา
พระราธเถระบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อท่านเป็นผู้เฒ่าแก่มากแล้ว คงช่วยงานพระศาสนาด้วยกำลังกาย กำลังวาจาเหมือนรูปอื่นไม่ได้ แต่ท่านได้ช่วยประกาศพระศาสนาด้วยปฏิปทาที่ดีงามของท่าน ด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย ใครแนะนำสั่งสอนอะไรยินดีรับฟังด้วยความเคารพ ไม่เคยโกรธ เป็นเหตุให้พระศาสดานำท่านมาเป็นอุทาหรณ์สั่งสอนภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุควร เป็นผู้ว่าง่ายเหมือนราธะ แม้อาจารย์ชี้โทษ กล่าวสอนอยู่ก็ไม่ควรโกรธ ควรเห็นบุคคลผู้ให้โอวาท เหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์ให้
๕. เอตทัคคะ
เพราะพระราธเถระ เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายใคร่การศึกษาทำให้พระศาสดาและ พระอุปัชฌาย์เป็นต้น มีแต่ความเมตตาสั่งสอนท่านเสมอ จึงทำให้ท่านมีปฏิภาณ คือปัญญาแจ่มแจ้งในเทศนา เพราะได้รับฟังบ่อย ๆ พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีปฏิภาณคือญาณแจ่มแจ้งในธรรมเทศนา
๖. บุญญาธิการ
ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตะ พระราธเถระนี้ได้เกิดเป็นพราหมณ์ ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งซึ่งมีปฏิภาณแตกฉานไว้ในเอตทัคคะได้เกิดกุศลฉันทะในตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้ทำสักการะบูชาพระศาสดาพร้อมกับภิกษุสงฆ์กราบลงแทบพระบาท ปรารถนาฐานันดรนั้น พระศาสดาทรงพยากรณ์แก่เขาแล้ว ได้ทำบุญกุศลมากมายหลายพุทธันดร จนชาติสุดท้ายเกิดเป็นพราหมณ์ในพระนครราชคฤห์ถึงฝั่งแห่งสาวกบารมีญาณดังกล่าวแล้ว
๗. ปรินิพพาน
พระราธเถระ ได้พากเพียรพยายามจนได้บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์สูงสุดของมนุษย์เรา และได้ปฏิบัติตนให้เป็นทิฏฐานุคติของประชุมชนที่เกิดมาในภายหลังแล้วสุดท้ายก็ได้ปรินิพพาน พ้นจากวัฏสงสาร อย่างสิ้นเชิง
*************************************
๙. ประวัติพระปุณณมันตานีบุตรเถระ
๑. สถานะเดิม
พระปุณณมันตานีเถระ ชื่อเดิม ปุณณะ เป็นชื่อที่ญาติทั้งหลายตั้งให้แต่เพราะเป็นบุตรของนางมันตานี คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ปุณณมันตานีบุตร
บิดา ไม่ปรากฏชื่อ มารดาชื่อนางมันตานี เป็นน้องสาวพระอัญญาโกณฑัญญะ วรรณะพราหมณ์
เกิดที่บ้านพราหมณ์ ชื่อ โทณวัตถุ อยู่ไม่ไกลจากนครกบิลพัสดุ์
๒. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระศาสดาประทับที่เมืองราชคฤห์ พร้อมกับพระอัญญาโกณฑัญญะและพระมหาสาวกอีกจำนวนมาก ปุณณมาณพไปเยี่ยมหลวงลุง จึงได้บรรพชาอุปสมบท พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นอุปัชฌาย์ แล้วกลับมายังกรุงกบิลพัสดุ์ อาศัยอยู่ที่ชาติภูมิ บำเพ็ญภาวนาไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นอรหันต์
๓. งานประกาศพระพุทธศาสนา
ท่านได้บวชให้กุลบุตรจำนวน ๕๐๐ รูป และสอนให้ปฏิบัติตามกถาวัตถุ ๑๐ ประการ จนได้บรรลุพระอรหัตผลทั้งหมด
ครั้งนั้นพระศาสดาได้เสด็จจากเมืองราชคฤห์ ไปยังเมืองสาวัตถี พระปุณณมันตานีได้ไปเฝ้าพระทศพลจนถึงพระคันธกุฎี พระชินสีห์ได้ทรงแสดงธรรมนำให้ให้เกิดปราโมทย์ จึงได้กราบลาพระตถาคตไปยังอันธวัน นั่งพักกลางวันสงบกายใจ ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง พระสารีบุตรเถระได้เข้าไปหา แล้วสนทนาไต่ถามข้อความในวิสุทธิ ๗ ประการ พระเถระวิสัชชนาอุปมาเหมือนรถเจ็ดผลัด จัดรับส่งมุ่งตรงต่อพระนิพพาน ต่างก็เบิกบานอนุโมทนาคำภาษิตที่ดื่มด่ำฉ่ำจิตของกันและกัน
๔. เอตทัคคะ
เพราะพระปุณณมันตานีเถระ มีวาทะในการแสดงธรรมลึกล้ำด้วยอุปมาภายหลัง พระศาสดา ประทับนั่ง ณ ท่ามกลางภิกษุบริษัท จึงได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุณณะนี้เป็นเลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเราผู้เป็นพระธรรมถึก
๕. บุญญาธิการ
แม้พระปุณณมันตานีเถระนี้ เห็นพระปทุมุตตรศาสดา มีพุทธบัญชาตั้งสาวกผู้ฉลาดไตรปิฏก ยกให้เป็นผู้ประเสริฐล้ำเลิศในด้านการเป็นพระธรรมกถึก จึงน้อมนึกจำนงหมายอยากได้ตำแหน่งนั้น พระศาสดาจารย์ทรงรับรองว่าต้องสมประสงค์ จึงมุ่งตรงต่อบุญกรรม ทำแต่ความดี มาชาตินี้จึงได้ฐานันดรสมดังพรที่ขอไว้
๖. ธรรมวาทะ
บุคคลควรสมาคมกับสัตบุรุษผู้ฉลาด ชี้แจงให้ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ นักปราชญ์ทั้งหลาย ย่อมไม่ประมาท เห็นแจ้งด้วยปัญญา จึงได้บรรลุประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ลึกซึ้ง ละเอียด สุขุม เห็นได้ยาก
๗. ปรินิพพาน
พระปุณณมันตานีบุตรเถระ ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาจนตลอดชีวิตแล้วได้ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน ไม่มีภพใหม่ อีกต่อไป
*****************************
๑๐. ประวัติ พระกาฬุทายีเถระ
๑. สถานะเดิม
พระกาฬุทายีเถระ ชื่อเดิม อุทายี เป็นชื่อที่บิดาและมารดาตั้งให้ เพราะเขาเกิดในวันที่ชาวพระนครทั้งสิ้นมีจิตเบิกบาน แต่เพราะเขามีผิวพรรณค่อนข้างดำ คนทั้งหลายจึงเรียกว่า กาฬุทายี
เกิดในตระกูลอำมาตย์ในกรุงกบิลพัสดุ์ เกิดวันเดียวกันกับพระโพธิสัตว์ อันผู้ที่เกิดวันเดียวกันกับพระโพธิสัตว์ที่เรียกว่า สหชาตินั้นมี ๗ คือ ๑. ต้นโพธิพฤกษ์ ๒. มารดาของพระราหุล ๓. ขุมทรัพย์ ๔ แห่ง ๔. พระอานนท์ ๕ ม้ากัณฐกะ ๖. นายฉันนะ ๗. กาฬุทายีอำมาตย์
๒. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
หลังจากที่พระมหาสัตว์เสด็จมหาเนษกรมพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา ทรงคอยสดับข่าวตลอดเวลา จนมาทราบว่าได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ กำลังประดิษฐานพระศาสนาอยู่ในแคว้นมธค ใคร่จะทอดพระเนตรพระโอรส จึงได้โปรดให้อำมาตย์พร้อมบริวาร นำข่าวสารไปกราบทูลพระศาสดา เพื่อเสด็จมายังกบิลพัสดุ์ แต่อำมาตย์เหล่านั้นได้สำเร็จพระอรหันต์ บวชในพระพุทธศาสนา มิได้กลับมาตามรับสั่งถึง ๙ ครั้ง สุดท้ายทรงส่งกาฬุทายีพร้อมกับบริวารไป ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วบรรลุพระอรหัตผลทั้งหมด จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบท
๓. งานประกาศพระศาสนา
กาฬุทายีอำมาตย์ เมื่อได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ครั้นถึงเวลาใกล้เข้าพรรษา เห็นว่าเป็นเวลาอันเหมาะสมที่จะทูลเชิญพระบรมศาสดาเสด็จมายังกบัลพัสดุ์ จึงได้ทูลพรรณนาหนทางที่จะเสด็จดำเนินให้เพลิดเพลินด้วยคาถา ๖๐ คาถา เป็นต้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ หมู่ไม้กำลังผลัดใบ ใบเก่าล่วงไป ใบใหม่เกิดแทนดูแล้วแสนเจริญตา สีแดงเจิดจ้าอุปมาดังถ่านเพลิง น่ารื่นเริงทั่วพนาวันไม้ดอกก็ออกดอกทั่วกัน บ้างก็บาน บ้างยังตูม เป็นที่ลุ่มหลงแห่งภมรกลิ่นเกษรหอมกระจายไปทั่วทิศ ชวนรื่นรมย์ดวงจิตทั้งมนุษย์และเทวดาที่ได้มาพบเห็น ไม้ผลก็ออกผล ให้ทั้งคนและสัตว์ป่า พอสืบชีวาอยู่ได้ตามวิสัยของผู้มีเมตตาไม่เบียดเบียนเข่นฆ่า ชีวิตใคร อากาศก็สบายไม่หนาวนักไม่ร้อนนัก จะหยุดพักหรือเดินทางก็ไม่สร้างปัญหา โรคไม่เบียดเบียน ขอเชิญพระพิชิตมารคมนาการสู่กบิลพัสดุ์ เพื่อตรัสเทศนาโปรดพระบิดาและประยูรญาติ ประกาศ ญาตัตถจริยา ตามธรรมดาของสัมมาสัมพุทธะ พระพุทธเจ้าข้า
เมื่อพระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาว่าเสด็จกบิลพัสดุ์นคร พระเถระได้ล่วงหน้าไปก่อน เพื่อถวายพระพรให้ทรงทราบ จอมกษัตริย์ทรงต้อนรับด้วยความเคารพเลื่อมใส ได้ถวายอาหารบิณฑบาต มิได้ขาดทุก ๆ วัน พร้อมกันนั้นพระประยูรญาติก็ศรัทธาเลื่อมใส เคารพพระรัตนตรัยโดยทั่วกัน สิ้นเวลา ๖๐ วัน พระศาสดาจารย์จึงเสด็จถึงกบิลพัสดุ์ โปรดจอมกษัตริย์และพระประยูรญาติ ประกาศพระพุทธศาสนาในสักกประเทศ แล้วได้เสด็จไปประทับอยู่ที่นิโครธาราม
๔. เอตทัคคะ
พระกาฬุทายีเถระ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายด้าน ทำตระกูลให้เลื่อมใส
๕. บุญญาธิการ
พระกาฬุทายีเถระนี้ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งที่พระศาสดาทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่ง ที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทำสกุลให้เลื่อมใส ได้ตั้งความปรารถนาไว้แล้วทำบุญตลอดมาจนได้สำเร็จสมปรารถนาในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย
๖. ธรรมวาทะ
บุรุษผู้มีความเพียรมีปัญญากว้างขวาง เกิดในสกุลใดย่อมทำสกุลนั้นให้บริสุทธิ์สะอาด
๗. ปรินิพพาน
พระกาฬุทายีเถระ ได้บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์สูงสุดของตนแล้วได้ช่วย พระศาสดาประกาศพระศาสนาตามความสามารถ ในที่สุดก็ได้ปรินิพพานไปตามกฎของธรรมดา คือ ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
**********************************
๑๑. ประวัติ พระนันทเถระ
๑. สถานะเดิม
พระนันทเถระ พระนามเดิมว่า นันทะ เป็นพระนามที่พระประยูรญาติ
ทรงขนานให้ เพราะความดีใจในวันที่พระกุมารประสูติ
พระบิดา ทรงพระนามว่า สุทโธทนะ พระมารดา ทรงพระนามว่า มหาปชาบดีโคตมี
๒. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระศาสดาเสด็จมายังกบิลพัสดุ์ วันแรกทรงกระทำฝนโบกขรพรรษให้ตกลงมา ให้เป็นต้นเรื่องที่จะเทศนาเวสสันดรชาดก วันที่ ๒ ทรงโปรดพระชนกให้เป็นโสดาบัน ด้วยพระคาถาว่า
“บรรพชิตไม่พึงประมาทในบิณฑบาตอันตนพึงลุกขึ้นยืนรับ บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต เพราะผู้ประพฤติธรรมอยู่เสมอ ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า แล้วได้เสด็จไปยัง พระราชนิเวศน์เทศนาโปรดพระนางมหาปชาบดีให้เป็นพระโสดาบัน และเลื่อนชั้นพระบิดาขึ้นเป็น สกทาคามี ด้วยพระอนุศาสนีว่า บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต อย่าประพฤติธรรมแบบทุจริต เพราะผู้ประพฤติธรรมอยู่เสมอ ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า”
ในวันที่ ๓ ทรงเสด็จยังพระราชนิเวศน์เพื่อบิณฑบาตในวโรกาสอาวาหมงคลของ นันทกุมาร ให้เธอรับบาตร ตรัสมงคลแก่เขาจบแล้ว ไม่รับเอาบาตรกลับมา เสด็จมุ่งหน้าไปยังวิหารให้นันทกุมารถือบาตรตามไปด้วยจิตใจร้อนรนคิดถึงคนที่ตนรัก ถึงสำนักนิโครธาราม ได้ตรัสถามว่าจะบวชหรือนันทะ พระกุมารไม่อาจปฏิเสธเพราะเหตุแห่งความเคารพและเกรงใจในพระศาสดา จึงทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะบวชจึงทรงประทานให้ภิกษุทั้งหลายบวชให้ ไม่นานนักก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล
๓. งานประกาศพระศาสนา
ปฏิปทาของพระนันทเถระ เป็นเหตุให้พระศาสดาทรงเปล่งอุทานว่า เปือกตมคือกาม ใครข้ามได้ หนามคือกามผู้ใดทำลายแล้ว ผู้นั้นสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวทั้งในความสุขและความทุกข์
๔. เอตทัคคะ
พระนันทเถระได้รับความทุกข์ทรมานในด้านจิตใจ เพราะความคิดถึงนางชนบท กัลยานี และได้รับความอับอายที่ถูกเพื่อนพรหมจารีล้อว่า ประพฤติพรหมจรรย์เพราะอยากได้นางอัปสร จึงคิดว่า ที่เราต้องประสบกับเรื่องแปลกประหลาดเช่นนี้ก็เพราะเราไม่สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ นั่นเอง ดังนี้แล้วเกิดความอุตสาหะมีหิริโอตตัปปะเป็นกำลัง ตั้งความสำรวมอินทรีย์อย่างสูงสุด พระศาสดาทรงทราบดังนั้น จึงทรงตั้งท่านในเอตทัคคะว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้สำรวมอินทรีย์
๕. บุญญาธิการ
แม้พระนันทเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในสำนักของพระพุทธเจ้ามากมายหลายพระองค์ ได้เห็นพระปทุมุตตรศาสดา ทางสถาปนาพระเถระรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเลิศกว่า ภิกษุทั้งหลายในด้านความสำรวมอินทรีย์ มีกุศลฉันทะปรารถนาตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง จึงได้ตั้งใจทำความดีที่เป็นอุปนิสัยปัจจัยแห่งตำแหน่งนั้นลุถึงกาลแห่งพระโคดม จึงได้สมควรความปรารถนา ใช้เวลาหนึ่งแสนกัป
๖. ธรรมวาทะ
เพราะไม่พิจารณาให้ลึกซึ้งถึงความจริงของชีวิต คนเราจึงติดอยู่กับร่างกาย ขวนขวายแต่การแต่งตัว ลุ่มหลงเมามัวในกามารมณ์ แต่พระโคดมทรงสอนให้รู้ซึ้งถึงชีวิตเราจึงเปลื้องจิตจากพันธนาการ พ้นสถานแห่งภพสาม ( สู่ความสุขอย่างแท้จริง )
๗. ปรินิพพาน
พระนันทเถระ ครั้นสำเร็จพระอรหันต์แล้ว ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาตามความสามารถ สุดท้ายได้ปรินิพพานด้วยอนุปทิเสสนิพพาน ดับสังขารอย่างสิ้นเชิง
***********************************
๑๒. ประวัติ พระราหุลเถระ
๑. สถานะเดิม
พระราหุลเถระ นามเดิม ราหุล เป็นพระนามที่ตั้งตามอุทานของพระสิทธัตถะ พระราชบิดา ที่ตรัสว่า ราหุลํ ชาตํ เครื่องผูกเกิดขึ้นแล้ว เมื่อทรงทราบข่าวว่า พระกุมารประสูติ
พระบิดา ทรงพระนามว่า สิทธัตถะ
พระมารดา ทรงพระนามว่า ยโสธรา หรือพิมพา
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทะศาสนา
พระศาสดาเสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ในวันที่ ๓ ทรงบวชให้นัทกุมารในวันที่ ๗ พระมารดาพระราหุลทรงให้พระกุมารไปทูลขอมรดกกับพระองค์ พระผู้มีพระภาค ทรงพระดำริว่า กุมารนี้อยากได้ทรัพย์ของบิดา แต่ว่าทรัพย์นั้นพันธนาใจให้เกิดทุกข์ไม่สุขจริง เราจะให้ทรัพย์ประเสริฐยิ่ง ๗ ประการ ที่เราชนะมารได้มา จึงรับสั่งหาท่านพระสารีบุตร มีพุทธดำรัสว่า สารีบุตร เธอจงจัดการให้ราหุลกุมารนี้บรรพชา พระเถระจึงทูลถามถึงวิธีบรรพชา พระศาสดาตรัสให้ใช้ตามวิธีติสรณคมนูปสัมปทา เปล่งวาจาถึง พระรัตนตรัยให้พระกุมารบวช วิธีนี้ได้ใช้กันสืบมาถึงทุกวันนี้ เรียกว่า บวชเณร
พระราหุลเถระนี้ได้เป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา ครั้นอายุครบ ๒๐ ปี จึงอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมในสมัยเป็นสามเณร ท่านสนใจใคร่ศึกษาพระธรรมวินัย ลุกขึ้นแต่เช้าเอามือทั้งสองกอบทรายได้เต็ม แล้วตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ตนได้รับโอวาทจากพระศาสดาหรือพระอุปัชฌาย์อาจารย์จดจำ และเข้าใจให้ได้จำนวนเท่าเม็ดทรายในกอบนี้
วันหนึ่งท่านอยู่ในสวนมะม่วงแห่งหนึ่ง พระศาสดาเสด็จเข้าไปหา แล้วตรัสจูฬราหุโลวาทสูตร แสดงโทษของการกล่าวมุสา อุปมาเปรียบกับน้ำที่ทรงคว่ำขันเททิ้งไปว่า ผู้ที่กล่าวมุสาทั้งที่รู้อยู่แก่ใจ ความเป็นสมณะ ของเขาก็ไม่ต่างอะไรกับน้ำในขันนี้ แล้วทรงชี้ให้เห็นว่า ไม่มีบาปกรรมอะไร ที่ผู้หมดความละอายใจกล่าวเท็จ ทั้ง ๆ ที่รู้จะทำไม่ได้
ต่อมาได้ฟังมหาราหุโลวาทสูตรใจความว่า ให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นธาตุ ๕ ประการ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา แล้วตรัสสอนให้อบรมจิตคิดให้เหมือนกับธาตุแต่ละอย่างว่า แม้จะมีสิ่งที่น่าปรารถนา หรือไม่น่าปรารถนา ถูกต้อง ก็ไม่มีอาการพอใจรักใคร่ หรือเบื่อหน่ายเกลียดชัง
สุดท้ายทรงสอนให้เจริญเมตตาภาวนา เพื่อละพยาบาท เจริญกรุณาภาวนาเพื่อละวิหิงสา เจริญมุทิตาภาวนา เพื่อละความริษยา เจริญอุเบกขาภาวนา เพื่อละความขัดใจ เจริญอสุภภาวนา เพื่อละราคะ เจริญอนิจสัญญาภาวนา เพื่อละอัสมิมานะ ท่านได้พยายามฝึกใจไปตามนั้น ในที่สุดได้สำเร็จพระอรหัตผล
๓. งานประกาศพระศาสนา
พระราหุลเถระนี้ ถึงแม้จะไม่มีในตำนานว่า ท่านได้ใครมาเป็นศิษย์บ้าง แต่ปฏิปทาของท่าน ก็นำมาซึ่งความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธสาสนาแก่บุคคลผู้ได้ศึกษาประวัติของท่านในภายหลัง ว่าท่านนั้นพร้อมด้วยสมบัติ ๒ ประการ คือ ชาติสมบัติและปฏิปัตติสมบัติ เป็นผู้ไม่ประมาทรักษาศีล สนใจใคร่ศึกษา เคารพอุปัชฌาย์อาจารย์ มีปัญญารู้ทั่วถึงธรรม มีความยินดีในพระศาสนา
๔. เอตทัคคะ
พระราหุลเถระนี้ เป็นผู้ใคร่ในการศึกษา ดังได้กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นท่านจึงได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ใคร่ในการศึกษา
๕. บุญญาธิการ
พระราหุลเถระนี้ ได้บำเพ็ญบุญญาธิการ อันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ได้บังเกิดในเรือนผู้มีสกุล ครั้นรู้เดียงสาแล้ว ได้ฟังธรรมของพระศาสดาเห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในฐานะที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ใคร่ต่อการศึกษา จึงปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง แล้วได้สร้างความดีมากมาย มีการทำความสะอาดเสนาสนะ และการทำประทีปให้สว่างไสวเป็นต้น ผ่านพ้นไปอีกหลายพุทธันดร สุดท้ายได้รับพรที่ปรารถนาไว้ ในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ดังได้กล่าวมา
๖. ธรรมวาทะ
สัตว์ทั้งหลาย เป็นดังคนตาบอด เพราะไม่เห็นโทษในกาม ถูกข่ายคือตัณหาปกคลุมไว้ ถูกหลังคาคือ ตัณหาปกปิดไว้ ถูกมารผูกไว้ด้วยเครื่องผูกคือความประมาทเหมือนปลาที่ติดอยู่ในลอบเราถอนกามนั้นขึ้นได้แล้ว ตัดเครื่องผูกของมารได้แล้ว ถอนตัณหาพร้อมทั้งรากขึ้นแล้ว เป็นผู้เยือกเย็น ดับแล้ว
๗. ปรินิพพาน
พระราหุลเถระ ครั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาตลอดอายุไขยของท่าน สุดท้ายได้ปรินิพพานดับสังขาร เหมือนกับไฟที่เผาเชื้อหมดแล้วก็ดับไป ณ แท่นกัมพลศิลาอาสน์ ที่ประทับของท้าวสักกเทวราช
****************************************
๑๓. ประวัติ พระอุบาลีเถระ
๑. สถานะเดิม
พระอุบาลีเถระ นามเดิม อุบาลี หมายความว่าใกล้ชิดกับกษัตริย์ทั้งหลาย เกิดในครอบครัวช่างกัลบก ของศากยกษัตริย์ในนครกบิลพัสดุ์
อุบาลีนั้น ครั้นเจริญวัยแล้วได้เป็นสหายรักแห่งกษัตริย์ทั้ง ๖ มีเจ้าอนุรุทธะเป็นต้น จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายภูษามาลาประจำพระองค์
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธสาสนา
เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวันแห่งมัลลกษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อพระโอรสของศากยกษัตริย์ทั้งหลายบวชกันเป็นจำนวนมาก เหล่าพระญาติเห็นศากยะ ๖ พระองค์เหล่านี้ คือ ภัททิยราชา อนุรุทธะ อานันทะ ภคุ กิมพิละ และเทวทัต ยังไม่ได้ออกบวช จึงสนทนากันว่า คนอื่นเขาให้ลูก ๆ บวชกัน คนจากตระกูลเรายังไม่ได้ออกบวชเลย เหมือนกับไม่ใช่ญาติของพระศาสดา ในที่สุดกษัตริย์ทั้ง ๖ จึงตัดสินพระทัยออกบวช โดยมีนายอุบาลีภูษามาลาตามเสด็จไปด้วย เมื่อเข้าสู่แว่นแคว้นกษัตริย์อื่นจึงให้นายอุบาลีกลับ นายอุบาลีกลับมาได้หน่อยหนึ่ง ได้ตัดสินใจบวชบ้าง แล้วได้ร่วมเดินทางไปกับกษัตริย์ทั้ง ๖ จึงรวมเป็น ๗ คนด้วยกัน เข้าไปเฝ้าพระศาสดาที่อนุปิยอัมพวัน กษัตริย์ทั้ง ๖ ได้กราบทูลว่า ขอพระองค์โปรดบวชให้อุบาลีก่อน ข้าพระองค์ทั้งหลายจะได้ทำสามีจิกรรม มีการอภิวาทเป็นต้นแก่เขา วิธีนี้จะทำให้มานะของพวกข้าพระองค์สร่างสิ้นไป พระศาสดาได้ทรงจัดการบวชให้พวกเขาตามประสงค์ พระอุบาลีเถระนั้น ครั้นบวชแล้ว เรียนกรรมฐานในสำนักพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงอนุญาตให้ข้าพระองค์อยู่ป่า พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เมื่ออยู่ป่า ธุระอย่างเดียวเท่านั้นจักเจริญงอกงาม แต่เมื่ออยู่ในสำนักของเรา ทั้งวิปัสสนาธุระ และคันถธุระจะบริบูรณ์ พระอุบาลีนั้นรับพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว กระทำวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต
๓. งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระศาสดาทรงสอนพระวินัยปิฎกทั้งสิ้นแก่พระอุบาลีนั้นด้วยพระองค์เอง ท่านจึงเป็นผู้ทรงจำ และชำนาญในพระวินัยปิฎก ครั้นพระศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้มีการทำสังคายนา พระธรรมวินัยครั้งแรกโดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน พระสงฆ์ได้เลือกท่านเป็นผู้วิสัชชนา พระวินัยปิฎก ทำให้พระพุทธศาสนาดำรงมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้
๔. เอตทัคคะ
พระอุบาลีเถระ ได้เรียนพระวินัยปิฎกทั้งหมดจากพระโอษฐ์ของพระศาสดาโดยตรง จึงมีความชำนาญในพระวินัย เป็นเหตุให้พระศาสดาทรงตั้งท่านไว้ในฐานะที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นวินัยธร ( ผู้ทรงพระวินัย )
๕. บุญญาธิการ
พระอุบาลีเถระนั้น ได้กระทำบุญญาธิการอันเป็นปัจจัยเกื้อกูลแก่พระนิพพานมานานแสนนาน จนกระทั่งถึงสมัยแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ อันสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ วันหนึ่งไปฟังธรรมของพระศาสดาได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงพระวินัย ศรัทธา เลื่อมใส ปรารถนาฐานันดรนั้น จึงสร้างสมบุญกุศลตลอดมาหลายพุทธันดร สุดท้ายได้สมปรารถนาในพระศาสนาของพระสมณโคดม ศาสดาแห่งพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้
๖. ธรรมวาทะ
ยาสำรอกของบุคคลบางพวก เป็นยาถ่ายของบุคคลบางพวก ยาพิษร้ายของบุคคลบางพวก เป็นยารักษาโรคของบุคคลบางพวก
ใคร ๆ เห็นผ้ากาสาวพัสดุ์อันเขาทิ้งไว้ที่หนทาง เปื้อนของไม่สะอาด เป็นธงชัยของฤาษี พึงประนมมือไหว้ เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยธงชัยนั้น
๗. ปรินิพพาน
พระอุบาลีเถระ ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาในขณะที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ และหลังจากที่พระองค์ปรินิพพานแล้ว ก็ได้ร่วมทำสังคายนาครั้งแรกโดยเป็นผู้วิสัชชนาพระวินัย สุดท้ายได้ปรินิพพาน ดังประทีปที่โชติช่วงชัชวาลเต็มที่แล้วค่อย ๆ มอดดับไป
**************************************
๑๔. ประวัติ พระภัททิยเถระ
๑. สถานะเดิม
พระภัททิยเถระ พระนามเดิม ภัททิยะ
พระมารดา พระนามว่า กาฬีโคธาราชเทวี เป็นพระนางศากยกัญญาในนครกบิลพัสดุ์
เกิดที่พระนครกบิลพัสดุ์ ในวรรณะกษัตริย์
พระภัททิยเถระ ก่อนบวชเป็นเจ้าชายเชื้อสายศากยะพระองค์หนึ่ง มีพระสหายสนิท คือ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภคุ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัตแห่งเมืองเทวทหะ
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อเจ้าภัททิยะทรงเจริญวัยแล้ว ได้เสวยราชสมบัติสืบศากยวงศ์ ต่อมา ถูกเจ้าชายอนุรุทธะ ซึ่งเป็นพระสหายสนิทชักชวนให้ออกบวช จึงได้ทูลลาพระมารดาสละราชสมบัติเสด็จออกไปเฝ้าพระศาสดา ที่อนุปิยนิคมแคว้นมัลละและได้ผนวชพร้อมด้วยพระราชกุมาร ๕ พระองค์ คือ อนุรุทธะ อานันทะ ภคุ กิมพิละ และเทวทัต รวมทั้งนายภูษามาลา นามว่า อุบาลีด้วย จึงเป็น ๗ คน
พระภัททิยะ บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน เป็นผู้ไม่ประมาท พากเพียรพยายามบำเพ็ญสมณธรรม ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลภายในพรรษาที่บวชนั่นเอง
๓. งานประกาศศาสนา
พระภัททิยะเถระนี้ ท่านจะอยู่ตามโคนไม้ ป่าช้าและเรือนว่าง จะเปล่งอุทานเสมอว่า สุขหนอๆ พระศาสดาทรงเรียกท่านมา แล้วตรัสถามว่า จริงหรือภัททิยะที่เธอเปล่งอุทานอย่างนั้น ท่านกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า เธอมีความรู้สึกอย่างไรจึงได้เปล่งอุทานเช่นนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต้องจัดการรักษาป้องกันทั้งภายใน และภายนอกทั่วอาณาเขต แม้ข้าพระองค์จัดการอารักขาอย่างนี้ก็ยังต้องหวาดสะดุ้งกลัวภัยอยู่เป็นนิตย์ แต่บัดนี้ข้าพระองค์ถึงจะอยู่ป่า โคนต้นไม้ หรือในเรือนว่าง ก็ไม่รู้สึกหวาดกลัว หรือสะดุ้งต่อภัยใด ๆ เลย อาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้เลี้ยงชีพวันละมื้อ จิตใจเป็นอิสระ ไม่มีพันธะใด ๆ ข้าพระองค์มีความรู้สึก อย่างนี้ จึงเปล่งอุทานอย่างนั้น พระเจ้าข้า พระศาสดาทรงทราบเช่นนั้น จึงชมเชยท่าน ปฏิปทาของท่านนำมาซึ่งความเลื่อมใสของคนทั้งหลายเป็นจำนวนมาก
๔. เอตทัคะ
พระภัททิยเถระนี้ ท่านเกิดในวรรณะกษัตริย์ และได้เสวยราชสมบัติเป็นราชาแล้ว ได้สละราชสมบัติออกบวชด้วยเหตุนั้น จึงได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เกิดในตระกูลสูง
๕. บุญญาธิการ
แม้พระภัททิยเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นอุปนิสัยปัจจัยแห่งพระนิพพาน ในพุทธุปบาทกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เกิดในตระกูลอันสมบูรณ์ ด้วยสมบัติ เจริญวัย ได้ภรรยาและบุตรธิดาแล้วมีจิตเลื่อมใสมีใจโสมนัส ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำเสด็จมาสู่เรือนของตน ได้ถวายภัตตาหารแล้วได้ถวายอาสนะที่ปูลาดด้วยเครื่องปูลาดอันงดงาม ต่อมาได้ทำบุญมีทาน ศีล และภาวนาเป็นประธาน ตลอดกาลยาวนาน จนได้บรรลุสาวกบารมีญาณในชาติสุดท้าย ฆราวาสวิสัยได้เป็นราชา ออกบรรพชาได้สำเร็จพระอรหันต์
๖. ธรรมวาทะ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนโน้น ข้าพระองค์ครองราชสมบัติ ได้จัดการอารักขาไว้อย่างดีในที่ทุกสถาน ถึงกระนั้นก็ยังอยู่ด้วยความกลัวภัย หลับไม่สนิทมีจิตคิดระแวง แต่บัดนี้ ข้าพระองค์บวชแล้ว อยู่อย่างไม่มีภัย ไม่มีเรื่องให้ต้องคิดระแวง
๗. ปรินิพพาน
พระภัททิยเถระนี้ ท่านได้บรรลุผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา สิ้นชาติ สิ้นภพ อยู่จบพรหมจรรย์ กิจส่วนตัวของท่านไม่มี มีแต่หน้าที่ประกาศศาสนา นำมาซึ่งประโยชน์และความสุขแก่สังคม สุดท้ายท่านได้ปรินิพพานตามธรรมดาของสังขารที่เกิดมาแล้วต้องดับไป
***********************************
๑๕. ประวัติ พระอนุรุทธะเถระ
๑. สถานะเดิม
พระอนุรุทธเถระ พระนามเดิม เจ้าชายอนุรุทธะ เป็นพระนามที่พระญาติทั้งหลายขนานให้
พระบิดา พระนามว่า อมิโตทนะ เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโะทนะ มีพี่น้องร่วมพระมารดาเดียวกัน ๒ พระองค์ คือ ๑. พระเชษฐา พระนามว่า เจ้าชายมหานามะ ๒. พระกนิษฐภคินี พระนามว่า โรหิณี
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระศาสดาทรงทำการสงเคราะห์ญาติ แล้วเสด็จจากกบิลพัสดุ์ไปประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน สมัยนั้น เจ้าชายมหานามะ เสด็จเข้าไปหาเจ้าชายอนุรุทธะ ตรัสว่า พ่ออนุรุทธะบัดนี้ ศากยกุมารผู้มีชื่อเสียงพากันบวชตามพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ตระกูลของเรายังไม่มีใครบวชเลย เธอหรือพี่จะต้องบวช ในที่สุดเจ้าชายอนุรุทธะตัดสินพระทัยบวชเองจึงพร้อมด้วยกษัตริย์อีก ๕ พระองค์คือ ภัททิยะ อานันทะ ภคุ กิมพิละ และเทวทัต พร้อมกับอุบาลีภูษามาลา ได้ไปเฝ้าพระศาสดาที่อนุปิยอัมพวัน ทูลขอบรรพชาอุปสมบท
๓. การบรรลุธรรม
พระอนุรุทธเถระนี้ ครั้นบวชแล้วได้เรียนกรรมฐานในสำนักพระธรรมเสนาบดีแล้วได้ไปประจำอยู่ที่ปาจีนวังสทายวัน ในเจติยรัฐ บำเพ็ญสมณธรรม ตรึกมหาปุริสวิตกได้ ๗ ข้อ คือ
๑. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความมักมาก
๒. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สันโดษยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ
๓. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่คณะ
๔. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน
๕. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีสติมั่นคง ไม่ใช่ของคนหลง
๖. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีใจมั่นคง ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่มั่นคง
๗. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของผู้ทรามปัญญา
พระศาสดาทรงทราบว่า ท่านลำบากในมหาปุริสวิตกข้อที่ ๘ จึงเสด็จไปยังที่นั้นตรัสอริยวังสปฏิปทา ว่าด้วยการอบรมความสันโดษในปัจจัย ๔ และยินดีในการเจริญกุศลธรรม แล้วตรัสมหา ปุริสวิตก ข้อที่ ๘ ให้ บริบูรณ์
๘. ธรรมนี้เป็นของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า
พอเมื่อพระศาสดาเสด็จไปยังเภสกลาวัน ท่านพระอนุรุทธเถระ ก็ได้เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ เป็นพระอรหันต์ มีวิชา ๓
๔. งานประกาศพระศาสนา
ชีวประวัติของท่านน่าศรัทธาเลื่อมใส จากผู้ที่เป็นสุขุมาลาชาติที่สุด ไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินคำว่า ไม่มี ต้องการอะไรได้ทั้งนั้น แต่เมื่อเข้าบวชในพระพุทธศาสนาแล้วกลับเป็นผู้มักน้อยสันโดษ เก็บผ้าจากกองขยะมาทำไตรจีวรนุ่งห่ม โดยไม่มีความรังเกียจ กลับมีความยินดีว่านั่นเป็นการ ปฏิบัติตามนิสัย คือที่พึงพาอาศัยของภิกษุ ๔ ประการ
๕. เอตทัคคะ
พระอนุรุทธเถระได้บรรลุพระอรหัตพร้อมวิชา ๓ คือ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพยจักขุญาณ และอาสวักขยญาณ ตามปกตินอกจากเวลาฉันภัตตาหารเท่านั้น นอกนั้นท่านจะพิจารณาตรวจดูสัตวโลกด้วยทิพยจักขุญาณ (เปรียบกับคนธรรมดาก็เหมือนกับ ผู้มีใจเอื้ออาทรคอยเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขของผู้อื่นตลอดเวลา) เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงยกย่องท่านว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ได้ทิพยจักษุญาณ
๖. บุญญาธิการ
พระอนุรุทธเถระนี้ ได้สร้างสมบุญกุศลที่จะอำนวยผลให้เกิดทิพยจักษุญาณในพุทธกาลเป็นอันมาก คือได้ทำการบูชาด้วยประทีปอันโอฬารที่พระสถูปเจดีย์ ด้วยผลบุญอันนี้จึงทำให้ได้บรรลุทิพยจักษุญาณ สมกับปณิธานที่ตั้งไว้
๗. ปรินิพพาน
พระอนุรุทธเถระ ครั้นได้เป็นพระขีณาสพ สิ้นชาติสิ้นภพ อยู่จบพรหมจรรย์เสร็จหน้าที่ส่วนตัวของท่านแล้วได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา จนถึงพระศาสดาปรินิพพาน ก็ได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย เป็นผู้ที่รู้ว่าพระศาสดานิพพานเมื่อไร อย่างไร สุดท้ายท่านเองก็ได้ละสังขารปรินิพพาน ไปตามสัจธรรม
************************************
๑๖. ประวัติ พระอานนทเถระ
๑. สถานะเดิม
พระอานนทเถระ นามเดิม อานนท์ มีความหมายว่า เกิดมาทำให้พระประยูรญาติต่างยินดี
พระบิดา พระนามว่า สุกโกทนะ พระกนิฏฐภาดาของพระเจ้าสุทโธทนะ( แต่อรรถกถาส่วนมากกว่าว่า เป็นโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ )
พระมารดา พระนามว่า กีสาโคตมี เกิดที่นครกบิลพัสดุ์ วรรณะกษัตริย์ เป็นสหชาติ กับพระศาสดา
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
พระอานนทเถระนี้ ได้บวชในพระพุทธศาสนาตามพระราชปรารภของพระเจ้า สุทโธทนะ ที่ประสงค์ จะให้ศากยกุมารทั้งหลายบวชตามพระพุทธองค์ จึงพร้อมด้วยพระสหายอีก ๕ พระองค์ และนายอุบาลี ผู้เป็นภูษามาลา มุ่งหน้าไปยังอนุปิยอัมพวันแคว้นมัลละ เฝ้าพระศาสดา ทูลขอบรรพชาอุปสมบท
๓. การบรรลุธรรม
พระอานนทเถระ บวชได้ไม่นานก็บรรลุโสดาปัตติผล แต่ไม่สามารถจะบรรลุพระอรหัตได้ เพราะต้องขวนขวายอุปัฏฐากพระพุทธองค์ ท่านได้บรรลุอรหัตผลก่อนทำปฐมสังคายนา ๑ คืน หลังพระศาสดาปรินิพพานแล้ว พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า ท่านบำเพ็ญเพียรอย่างหนักหวังจักสำเร็จพระอรหันต์ก่อนการสังคายนา แต่ก็หาสำเร็จไม่เพราะจิตใจฟุ้งซ่าน จึงหยุดจงกรม นั่งลงบนเตียง เอียงกายลงด้วยประสงค์จะพักผ่อนพอยกเท้าพ้นจากพื้นที่ ศีรษะยังไม่ถึงหมอน ตอนนี้เอง จิตของท่านก็วิมุติหลุดพ้นจากสรรพกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาน นับเป็นการบรรลุพระอรหันต์ แปลกจากท่านเหล่าอื่น เพราะไม่ใช่ เดิน ยืน นั่ง นอน
๔. งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระอานนทเถระนี้ เป็นกำลังที่สำคัญยิ่งของพระศาสดาในการประกาสพระศาสนาแม้แต่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงเลื่อมใสท่าน ตามตำนานเล่าว่า ครั้งปฐมโพธิกาลเวลา ๒๐ ปี พระศาสดาไม่มีพระผู้อุปัฏฐากเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่งได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า บัดนี้เราแก่แล้ว ภิกษุบางพวกเมื่อเราบอกว่าจะไปทางนี้กลับไปเสียทางอื่น บางพวกวางบาตรและจีวรของเราไว้ที่พื้น ท่านทั้งหลายจงเลือกภิกษุสักรูปหนึ่งเพื่อเป็นอุปัฏฐากประจำตัวเรา
ภิกษุทั้งหลายได้ฟังดังนั้นรู้สึกสลดใจ ตั้งแต่พระสารีบุตรเถระเป็นต้นไป ต่างก็กราบทูลว่า จะรับหน้าที่นั้น แต่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ คงเหลือแต่พระอานนทเถระเท่านั้นที่ยังไม่ได้กราบทูล
ภิกษุทั้งหลายจึงให้พระอานนทเถระรับตำแหน่งนั้น พระเถระลุกขึ้นแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
๑. จะไม่ประทานจีวรอันประณีตที่ทรงได้แก่ข้าพระองค์
๒. จะไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระองค์
๓. จะไม่ประทานให้อยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกัน
๔. จะไม่ทรงพาไปยังที่นิมนต์
๕. จะเสด็จไปยังที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์ได้รับไว้
๖. ข้าพระองค์จะนำบุคคลผู้มาจากที่อื่นเข้าเฝ้าได้ทันที
๗. เมื่อใดข้าพระองค์เกิดความสงสัย ขอให้ได้เข้าเฝ้าถามได้เมื่อนั้น
๘. ถ้าพระองค์จะทรงพยากรณ์ธรรมที่ทรงแสดงในที่ลับหลังแก่ข้าพระองค์
เมื่อเป็นอย่างนี้ข้าพระองค์จักอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า
การปฏิเสธ ๔ ข้อข้างต้นก็เพื่อจะปลดเปลื้องการติเตียนว่า อุปัฏฐากพระศาสดาเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว
การทูลขอ ๔ ข้อหลัง เพื่อจะปลดเปลื้องคำติเตียนว่า แม้เพียงเรื่องเท่านี้ก็ไม่ได้รับการอนุเคราะห์จากพระศาสดา และเพื่อจะทำขุนคลังแห่งธรรมให้บริบูรณ์
พระศาสดาทรงรับท่านเป็นพุทธอุปัฏฐาก ท่านจึงเปรียบเหมือนเงาที่ติดตามพระศาสดาไปทุกหนทุกแห่ง จนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้นำมาซึ่งความเลื่อมใสรอบด้านแก่พุทธบริษัททั้ง ๔ แม้พระศาสดาก็ทรงสรรเสริญท่านว่า เป็นพหุสูตร คือรู้พระธรรมวินัยทุกอย่าง เป็นผู้มีสติ คือมีความรอบคอบ ดังจะเห็นได้จากการทูลขอพร ๘ ประการ มีคติ คือเป็นผู้เป็นไปในอำนาจแห่งเหตุ (มีเหตุผล) ไม่ใช้อารมณ์ มีธิติ คือ มีปัญญา และเป็นพุทธอุปัฏฐาก
งานประกาศศาสนาที่สำคัญที่สุดของท่านคือ ได้รับคัดเลือกจากพระสงฆ์องค์อรหันต์ ๕๐๐ รูป ให้เป็นผู้วิสัชชนาพระธรรม คือ พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก เมื่อคราวทำสังคายนาครั้งแรก ซึ่งเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคงมาจนถึงสมัยแห่งเราทั้งหลายทุกวันนี้
๕. เอตทัคคะ
เพราะพระอานนทเถระ เป็นผู้ทรงธรรมวินัยมีความรอบคอบ หนักในเหตุผล มีปัญญาแก้ปัญหาต่าง ๆ และอุปัฏฐากพระศาสดา โดยไม่หวังประโยชน์ส่วนตน หวังให้ผลแก่พระพุทธศาสนา ในอนาคตกาลภายภาคหน้า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงสรรเสริญท่านโดยอเนกปริยาย และตั้งไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นพหุสูตร มีสติ มีคติ มีธิติ และเป็นพุทธอุปัฏฐาก
๖. บุญญาธิการ
แม้พระอานนทเถระนี้ ก่อสร้างบุญทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งพระนิพพานมานานแสนนาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ได้เห็นพระสุมนเถระผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากผู้สามารถจัดการให้คนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ดังประสงค์ จึงเกิดความพอใจอยากได้ตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้บำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ ผ่านมาหลายพุทธันดร จนมาถึงกาลแห่งพระโคดมจึงได้สมความปรารถนา
๗. ธรรมวาทะ
ผู้เป็นบัณฑิต ไม่ควรทำความเป็นสหายกับคนส่อเสียด คนมักโกรธ คนตระหนี่และคนชอบเห็นความวิบัติของคนอื่น การคบกับคนชั่วนั้นเป็นความต่ำช้า
ผู้เป็นบัณฑิต ควรทำความเป็นสหายกับคนมีศรัทธา มีศีล มีปัญญา และเป็นคนสนใจใคร่ศึกษา การคบกับคนดีเช่นนั้น เป็นความเจริญแก่ตน
๘. ปรินิพพาน
พระอานนทเถระ เมื่อพิจารณาเห็นว่า ถึงเวลาสมควรจะปรินิพพาน จึงไปยังแม่น้ำโรหิณี ซึ่งกั้นกลางระหว่างศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ แล้วเหาะขึ้นสู่อากาศปรินิพพานอธิฐานให้ร่างกายแตกออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งตกลงข้างพระญาติฝ่ายศากยวงศ์ อีกส่วนหนึ่งตกลงข้างพระญาติฝ่ายโกลิยวงศ์ เพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาทของพระญาติทั้ง ๒ ฝ่าย
*********************************
๑๗. ประวัติ พระโสณโกฬิวิสเถระ
๑. สถานะเดิม
พระโสณโกฬวิสเถระ นามเดิม โสณะ เพราะเป็นผู้มีผิวพรรณผุดผ่อง ส่วนโกฬิวิสะ เป็นชื่อ แห่งโคตร
บิดานามว่า อุสภเศรษฐี มีถิ่นฐานอยู่ในนครจำปา
เป็นคนสุขุมาลชาติมีโลมาที่ละเอียดอ่อน เกิดที่ฝ่าเท้าสองข้าง
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
โสณะนั้นเป็นคนสุขุมาลชาติ มีโลมาที่ละเอียดอ่อนเกิดที่ฝ่าเท้าทั้งสองข้าง พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินมคธ มีความประสงค์จะทอดพระเนตรโลมาที่ฝ่าเท้าของนายโสณะนั้น จึงรับสั่งให้เขาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏใกล้กรุงราชคฤห์
โสณโกฬิวิสะ พร้อมกับชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าตามรับสั่งได้ฟังพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ชาวบ้านเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย แสดงตนเป็นอุบาสกแล้วกลับไป
ฝ่ายโสณโกฬิวิสะ เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์ได้ฟังธรรมของพระองค์แล้วเห็นว่า พรหมจรรย์อันผู้ครองเรือนจะประพฤติปฏิบัติให้บริสุทธิ์และบริบูรณ์นั้น ทำยาก ขอพระองค์จงโปรดให้ข้าพระองค์บวชเถิด พระพุทธเจ้าได้บวชให้เขาตามประสงค์
๓. การบรรลุธรรม
พระโสณโกฬิวิสะ ครั้นบวชแล้ว ได้ไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าสีตวันใกล้เมืองราชคฤห์นั่นเอง เดินจงกรมด้วยเท้า ด้วยเข่า และมือ จนเท้า เข่า และมือแตก แต่ก็ไม่บรรลุผลอะไร เพราะความเพียรที่มากเกินไป ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน คิดน้อยใจตัวเองว่ามีความเพียรมากถึงเพียงนี้ ยังไม่ได้บรรลุมรรคผล พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของท่านจึงเสด็จไปแสดงธรรมโปรด โดยเปรียบเทียบกับพิณ ๓ สาย ว่า สายพิณที่ขึงตึงเกินไปและหย่อนเกินไป จะมีเสียงไม่ไพเราะ ต้องขึงให้ได้ระดับพอดี เวลาดีดจึงจะมีเสียงที่ไพเราะ
ครั้นได้รับคำสอนจากพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านปรับความเพียรกับสมาธิให้เสมอกันบำเพ็ญเพียรแต่พอดี ไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนัก ไม่นานท่านก็ได้บรรลุอรหัตผล
๔. งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระโสณโกฬิวิสเถระนี้ เป็นอุทาหรณ์สำคัญ สำหรับผู้ที่นิยมการปฏิบัติ
อัตตกิลมถานุโยคว่า วิธีนั้นไม่สามารถจะทำให้บุคคลบรรลุผลที่ต้องการได้เลย ครั้นสำเร็จเป็นอรหันต์แล้วได้แสดงคุณสมบัติของพระอรหัตน์ในสำนักของพระพุทธเจ้าว่าภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์นั้นจิตใจน้อมเข้าไปในคุณ ๖ ประการ คือ
๑. น้อมเข้าไปในบรรพชา
๒. น้อมเข้าไปในความสงัด
๓. น้อมเข้าไปในความสำรวมไม่เบียดเบียน
๔. น้อมเข้าไปในความไม่ถือมั่น
๕. น้อมเข้าไปในความไม่มีความอยาก
๖. น้อมเข้าไปในความไม่หลง
พระพุทธเจ้าทรงสดับแล้ว ตรัสสรรเสริญท่านว่า พยากรณ์พระอรหัต
กล่าวแต่เนื้อความ ไม่นำตนเข้าไปเปรียบเทียบ
๕. เอตทัคคะ
พระโสณโกฬิวิสเถระนี้ ครั้งยังไม่บรรลุพระอรหัตได้บำเพ็ญความเพียรอย่างแรงกล้า ดังได้กล่าวมา พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ปรารภความเพียร
๖. บุญญาธิการ
แม้พระโสณโกฬิวิสเถระ ก็ได้บำเพ็ญคุณงามความดีที่เป็นอุปนิสัยปัจจัยแห่งพระนิพพานมานานแสนนานหลายพุทธันดร จนได้รับพยากรณ์จากพระปทุมุตตรศาสดาว่า จะได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ ด้านปรารภความเพียรในพุทธกาลแห่งพระสมณโคดม ครั้นได้รับพยากรณ์แล้ว ท่านได้บำเพ็ญความดี ที่สามารถสนับสนุนความปรารถนานั้นอย่างอื่นอีกมากมายหลายพุทธันดร โดยไม่มีความท้อแท้ใจ คล้ายกับจะได้รับผลในวันพรุ่งนี้ ในที่สุดบารมีของตนก็สัมฤทธิ์ผลในศาสนาของพระทศพลพระนามว่า โคดม ดังกล่าวมา
๗. ธรรมวาทะ
ผู้ที่ทอดทิ้งสิ่งที่ควรทำ ไปทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ทุกข์โทษทั้งหลายย่อมประดังมาหาเขา ผู้มัวเมา ประมาท และเย่อหยิ่งจองหอง
ผู้ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ควรทำ พากเพียรพยายามทำแต่สิ่งที่ควรทำ มีสติสัมปชัญญะ ทุกข์โทษทั้งหลาย ย่อมสูญหายไปจากเขา
๘. ปรินิพพาน
พระโสณโกฬิวิสเถระนี้ ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนา จนถึงเวลาอายุขัย จึงได้ปรินิพพานจากโลกนี้ไป เปรียบเหมือนไฟที่หมดเชื่อแล้วมอดดับไป
************************************
๑๘. ประวัติ พระรัฐบาลเถระ
๑. สถานะเดิม
พระรัฐบาลเถระ นามเดิม รัฐบาล แปลว่า ผู้รักษาแว่นแคว้น เพราะต้นตระกูลของท่านได้ช่วย กอบกู้แคว้นที่อยู่อาศัย ซึ่งล่มสลายทางเศรษฐกิจเอาไว้ ท่านจึงได้ชื่ออย่างนั้นตามตระกูล
เกิดที่ถุลลโกฏฐิตนิคม แคว้นกุรุ วรรณะแพศย์
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังถุลลโกฏฐิตนิคม แคว้นกุรุ บ้านเกิดของท่าน ชาวกุรุได้พากันมาฟังธรรม รัฐบาลก็มาฟังธรรมด้วย หลังจากฟังธรรมแล้วประชาชนได้กลับไป ฝ่ายรัฐบาลเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลขอบวช พระพุทธเจ้าตรัสบอกเขาให้ไปขออนุญาตบิดาและมารดาก่อน
เขากลับไปบ้านขออนุญาตบิดาและมารดา เพื่อจะบวชแต่ไม่ได้รับอนุญาตจึงอดอาหาร บิดาและมารดา กลัวลูกตายสุดท้ายจึงอนุญาตให้บวชตามประสงค์ เขาไปเฝ้าพระพุทธองค์แล้วทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้บวชได้ โดยมอบหมายให้พระเถระรูปหนึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์
๓. การบรรลุธรรม
เมื่อพระรัฐบาลเถระบวชได้ประมาณ ๑๕ วัน พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากถุลลโกฏฐิตนิคม ไปประทับอยู่ที่กรุงสาวัตถี โดยมีพระรัฐบาลตามเสด็จไปด้วย ท่านได้พากเพียรเจริญภาวนา ใช้เวลาถึง ๑๒ ปี จึงบรรลุพระอรหัต
๔. งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระรัฐบาลเถระนั้น ครั้นบรรลุพระอรหันต์แล้วได้กลับไปยังแคว้นกุรุบ้านเกิดของท่าน โปรดโยมบิดาและมารดาให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ท่านพักอยู่ที่มิคจิรวันอันเป็นพระราชอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ เจ้าผู้ครองแคว้นกุรุ
ต่อมาวันหนึ่ง พระเจ้าโกรัพยะเสด็จประพาสพระราชอุทยานทอดเนตรเห็นท่านทรงจำได้เพราะเคยรู้จักมาก่อน จึงเสด็จเข้าไปหาเพื่อสนทนาธรรม ได้ตรัสถามว่า บุคคลบางพวกประสบความเสื่อม ๔ อย่าง คือ ๑. ความชรา ๒. ความเจ็บ ๓. ความสิ้นโภคทรัพย์ ๔. ความสิ้นญาติ จึงออกบวช แต่ท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น ท่านรู้เห็นอย่างไรจึงได้ออกบวช
พระเถระได้ทูลตอบว่า ถวายพระพรมหาบพิตร ธรรมุทเทศ ( หัวข้อธรรม ) ๔ ประการ พระศาสดาจารย์ทรงแสดงไว้แล้ว อาตมภาพรู้เห็นตามธรรมนั้น จึงออกบวชธรรมุทเทศ ๔ ประการนั้น มีใจความว่า
๑. โลกคือหมู่สัตว์ อันชรานำเข้าไปใกล้ความตายไม่ยั่งยืน
๒. โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่มีใครเป็นใหญ่เฉพาะตน
๓. โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีอะไรเป็นของ ๆ ทุกคน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป
๔. โลกคือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา
พระเจ้าโกรัพยะทรงเลื่อมใสธรรมะของท่าน ตรัสชมเชยท่านอย่างมาก แล้วได้ทรงลากลับไป
๕. เอตทัคคะ
พระรัฐบาลเถระ เป็นผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสตั้งใจบวชในพระพุทธศาสนาแต่กว่าจะบวชได้ก็แสนจะลำบาก ต้องเอาชีวิตเข้าแลก ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้บวชด้วยศรัทธา
๖. บุญญาธิการ
แม้พระรัฐบาลเถระนี้ ก็ได้สร้างสมบุญบารมีไว้มากมายหลายพุทธันดร จนมาได้รับพยากรณ์ว่า จะสมประสงค์ในสมัยพระพุทธองค์ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ต่อจากนั้นก็มีศรัทธาสร้างความดี ไม่มีความย่อท้อ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย จึงได้ถึงที่สุดสาวกบารมีญาณ มีประการดังกล่าวมา
๗. ธรรมวาทะ
บุตรธิดา ภรรยาสามี ทรัพย์และแว่นแคว้นติดตามคนตายไปไม่ได้
เงินซื้อชีวิตไม่ได้ ช่วยให้พ้นความแก่ไม่ได้
ทั้งคนจนและคนมี ทั้งคนดีและคนชั่ว ล้วนถูกต้องผัสสะ (เห็นได้ยิน เป็นต้น) ทั้งนั้น คนชั่วย่อมหวั่นไหว เพราะความเป็นคนพาล แต่คนดีย่อมไม่มีหวั่นไหว
๘. ปรินิพพาน
พระรัฐบาลเถระ ครั้นจบกิจส่วนตัวของท่านแล้ว ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา ดังกล่าวมา สุดท้ายก็ได้ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสลนิพพาน หยุดวัฏฏสงสารโดยสิ้นเชิง
**********************************
๑๙. ประวัติ พระปิณโฑลภารทวาชเถระ
๑. สถานะเดิม
พระปิณโฑลภารทวาชเถระ นามเดิม ภารทวาชะ
บิดาเป็นปุโรหิตของพระเจ้าอุเทน
เกิดในแคว้นวังสะ วรรณะพราหมณ์
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
ภารทวาชะนั้น ครั้นเจริญวัย ได้ศึกษาแบบพราหมณ์จบไตรเพท แล้วได้เป็นอาจารย์สอนมนต์แก่มาณพ ๕๐๐ คน ต่อมาถูกศิษย์ทอดทิ้งเพราะกินจุ จึงไปยังเมืองราชคฤห์สอนมนต์อยู่ที่นั่น เขาได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระมหาสาวกมีลาภมาก มีความปรารถนาจะได้ลาภเช่นนั้นบ้าง จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ทรงบวชให้เขาด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
๓. การบรรลุธรรม
พระปิณโฑลภารทวาชเถระ ครั้นบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้เที่ยวบิณฑบาตโดยไม่รู้จักประมาณ เนื่องจากฉันอาหารจุถึงถูกขนานนามเพิ่มว่า ปิณโฑลภารทวาชะ พระศาสดาทรงทราบเช่นนั้น จึงทรงใช้อุบายวิธีแนะนำท่านให้เป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ท่านค่อย ๆ ฝึกฝนตนเองไปจึงกลายเป็นผู้รู้ประมาณ ต่อจากนั้นไม่นานได้พยายามบำเพ็ญสมณธรรม ก็ได้บรรลุอรหัตผล พร้อมอภิญญา ๖
๔. งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระปิณโฑลภารทวาชเถระ ได้เป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งของพระศาสดา ได้
รับคำท้าประลองฤทธิ์ กับพวกเดียรถีย์ที่บ้านของเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ โดยเหาะขึ้นไปเอาบาตรไม้จันทน์ที่เศรษฐีนั้น แขวนเอาไว้ในที่สูงพอประมาณ เพื่อทดสอบว่ามีพระอรหันต์ในโลกจริงหรือไม่
เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านไปยังแคว้นวังสะ นั่งพักอยู่ที่โคนต้นไม้ในพระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน พระเจ้าอุเทนเสด็จมาพบ และได้สนทนากันเกี่ยวกับเรื่องพระหนุ่ม ๆ ในพระพุทธศาสนาบวชอยู่ได้อย่างไร ท่านได้ทูลว่า พระเหล่านั้น ปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสดา คือระวังอินทรีย์ไม่ให้ยินดียินร้าย ไม่ยึดถืออะไรที่ผิดจากความจริง พระเจ้าอุเทนทรงเข้าใจ และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประกาศพระวาจานับถือพระรัตนตรัย
๕. เอตทัคคะ
พระปิณโฑลภารทวาชเถระ มีความมั่นใจตนเองมาก เมื่ออยู่ในหมู่ภิกษุหรือแม้แต่หน้าพระพักตร์ของพระศาสดาก็จะเปล่งวาจาบันลือสีหนาทว่า ผู้ใดมีความสงสัยในมรรคและผล ผู้นั้นจงถามข้าพเจ้า เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้บันลือสีหนาท
๗. บุญญาธิการ
พระปิณโฑลภารทวาชเถระนี้ ในพุทธุปบาทกาลของพระปทุมุตตระได้เกิดเป็นราชสีห์อยู่ในถ้ำแห่งภูเขาแห่งหนึ่ง เวลาออกไปหาเหยื่อ พระพุทธเจ้าได้เสด็จเข้าไปประทับนั่งในถ้ำของเขา แล้วทรง เข้านิโรธสมาบัติ ราชสีห์กลับมาเห็นดังนั้น ทั้งร่าเริงและยินดี บูชาด้วยดอกไม้ ทำใจให้เลื่อมใส ล่วง ๗ วันไป พระพุทธเจ้าออกจากนิโรธสมาบัติเหาะขึ้นสู่อากาศกลับไปยังวิหาร ราชสีห์นั้นหัวใจสลายแตกตายไป เพราะความพลัดพรากจากพระพุทธเจ้า ได้บังเกิดเป็นลูกเศรษฐีในพระนครหังสวดี ครั้นเจริญวัยแล้วได้ทำบุญ คือทาน ศีล ภาวนา ตลอดมา เขาได้ทำบุญอย่างนั้นอีกนับภพและชาติไม่ถ้วน สุดท้ายได้ถึงฝั่งแห่งสาวกบารมีญาณในพุทธุปบาทกาลแห่งพระโคดม ดังได้กล่าวมา
๗. ธรรมวาทะ
การไหว้และการบูชาจากผู้คนในตระกูลทั้งหลาย นักปราชญ์ กล่าวว่า เป็นเปือกตม เป็นลูกศร ที่เล็กนิดเดียว แต่ถอนได้ยากที่สุด
คนชั้นต่ำ ยากที่จะละสักการะได้
๘. ปรินิพพาน
แม้พระปิณโฑลภารทวาชเถระนี้ เมื่อได้บรรลุอรหัตผล แล้วได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา ไปถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแล้วได้ปรินิพพานดับไป
*********************************
๒๐. ประวัติ พระมหาปันถกเถระ
๑. สถานะเดิม
พระมหาปันถกเถระ นามเดิม ปันถกะ เพราะเกิดในระหว่างทาง ต่อมามีน้องชายจึงเติมคำว่า มหาเข้ามา เป็นมหาปันถกะ
บิดาเป็นคนวรรณะศูทร
มารดาเป็นคนวรรณะแพศย์
ตระกูลตาและยายเป็นชาวเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
พระมหาปันถกเถระ เพราะบิดาของท่านเป็นทาส มารดาเป็นธิดาของเศรษฐีจึงอยู่ในฐานะจัณฑาล เพราะการแบ่งชั้นวรรณะของคนอินเดียในสมัยนั้น ครั้นรู้เดียงสา จึงรบเร้ามารดาให้พาไปเยี่ยมตระกูลของคุณตา มารดาจึงส่งไปให้คุณตาและคุณยายจึงได้รับการเลี้ยงดูจนเจริญเติบโตในบ้านของธนเศรษฐี
คุณตาของเด็กชายปันถกะนั้นไปยังสำนักของพระพุทธเจ้าเป็นประจำ และได้พาเขาไปด้วย เขาเกิดศรัทธาในพระพุทธเจ้าพร้อมกับการเห็นครั้งแรก ต่อมามีความประสงค์จะบวชในพระพุทธศาสนา จึงเรียนให้คุณตาทราบ คุณตาจึงพาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบ พระพุทธองค์จึงสั่งให้ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งบรรพชาให้
๓. การบรรลุธรรม
สามเณรปันถกะนั้น เรียนพุทธพจน์ได้มาก ครั้นอายุครบจึงได้อุปสมบทได้ทำการพิจารณาอย่างแยบคายจนได้อรูปฌาน ๔ เป็นพิเศษ ออกจากอรูปฌานนั้นแล้วเจริญวิปัสสนา ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นผู้เลิศแห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้ฉลาดในการพลิกปัญญา คือเปลี่ยนอรูปฌานจิตให้เป็นวิปัสสนา
๔. งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระมหาปันถกเถระครั้นบรรลุพระอรหัตผลแล้ว คิดว่าสมควรจะรับภาระรับใช้สงฆ์จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์กราบทูลรับอาสาทำหน้าที่เป็นพระภัตตุทเทศก์จัดพระไปในกิจนิมนต์ พระทศพลทรงอนุมัติตำแหน่งนั้นแก่ท่าน และท่านได้ทำงานสำเร็จเรียบร้อยด้วยดี
๕. เอตทัคคะ
พระมหาปันถกเถระ ก่อนสำเร็จพระอรหันต์ ท่านได้อรูปฌานซึ่งเป็นฌานที่ไม่มีรูปมีแต่นาม คือสัญญาที่ละเอียดที่สุด ออกจากอรูปฌานนั้นแล้ว เจริญวิปัสสนามี
อรูปฌานเป็นอารมณ์ จนได้สำเร็จพระอรหัตผล ซึ่งเป็นวิธีที่ยาก เพราะฉะนั้นพระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในการพลิกปัญญา
๖. บุญญาธิการ
แม้พระมหาปันถกเถระนี้ ก็ได้สร้างสมบุญกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานานแสนนาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในการเปลี่ยนแปลงสัญญา (จากอรูปฌานให้สำเร็จวิปัสสนาญาณ) จึงปรารถนาตำแหน่งนั้น แล้วได้ทำกุศลอันอุดหนุนเกื้อกูลความปรารถนานั้นมากอีก ๑ แสนกัป ในที่สุดจึงได้บรรลุผลนั้นตามความปรารถนาในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนี้
๗. ธรรมวาทะ
ผู้ที่พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว แต่ปล่อยโอกาสนั้นให้ผ่านไป โดยไม่
สนใจโอวาทของพระองค์ ผู้นั้นเป็นคนไม่มีบุญ เปรียบเหมือนคนทำร้ายสิริที่เข้ามาหาตนถึงบนที่นอนแล้วขับไล่ไสส่งออกไป
๘. ปรินิพพาน
มหาปันถกเถระ เมื่อถึงอายุขัยก็ได้ปรินิพพานจากโลกไป เป็นที่น่าสลดใจสำหรับบัณฑิตชน
*********************************
๒๑. ประวัติพระจูฬปันถกเถระ
๑. สถานะเดิม
พระจูฬปันถกเถระ นามเดิมว่า ปันถกะ เพราะเกิดในระหว่างทางขณะที่มารดาเดินทางกลับไปยังบ้านเศรษฐีผู้เป็นบิดา และเพราะเป็นน้องชายของมหาปันถกะ จึงมีชื่อว่า จูฬปันถกะ
บิดาเป็นคนวรรณะศูทร
มารดาเป็นคนวรรณะแพศย์ หรือไวศยะ
เด็กชายจูฬปันถกะ เพราะบิดาและมารดาต่างวรรณะกัน จึงอยู่ในฐานะเด็กจัณฑาลตามคำสอนของพราหมณ์ แม้ช่วงเวลาหนึ่งจะได้รับความลำบาก เพราะบิดาและมารดายากจนมาก แต่ต่อมาอยู่กับเศรษฐีผู้เป็นตาและยาย ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
หลังจากที่พระมหาปันถกเถระบวชในพระพุทธศาสนาและได้บรรลุพระอรหัตแล้วพิจารณาเห็นว่า ความสุขอันเกิดจากมรรคผลนิพพานนั้น เป็นความสุขชั้นสูงสุด
อยากให้น้องชายได้รับความสุขเช่นนั้นบ้าง จึงไปขออนุญาตธนเศรษฐีผู้เป็นตาพาน้องชาย
มาบวช ซึ่งเศรษฐีก็ยินดีอนุญาต จูฬปันถกะจึงได้บวชในพระพุทธศาสนา
๓. การบรรลุธรรม
พระจูฬปันถกเถระนั้นครั้นบวชแล้ว พระมหาปันถกเถระผู้เป็นพี่ชาย ได้พยายามอบรมสั่งสอน แต่ท่านมีปัญญาทึบ พี่ชายให้ท่องคาถา ๔ บาท ใช้เวลา ๔ เดือนยังท่องไม่ได้ จึงถูกขับไล่ออกจากวัด ท่านเสียใจยืนร้องไห้อยู่ที่ซุ้มประตู พระศาสดาทรงทราบเหตุการณ์นั้น จึงเสด็จมาปลอบเธอ แล้วได้ประทานผ้าขาวผืนหนึ่งให้แล้วตรัสสอนให้บริกรรมว่า รโชหรณํ รโชหรณํ (ผ้าเช็ดธุลี) พร้อมกับให้เอามือลูบผ้านั้นไปมา ท่านได้ปฏิบัติตามนั้น ไม่นานนักผ้าขาวผืนนั้นก็ค่อย ๆ หมองไปสุดท้ายก็ดำเหมือนกับผ้าเช็ดหม้อข้าว ท่านเกิดญาณว่า แม้ผ้าขาวบริสุทธิ์อาศัยร่างกายของมนุษย์ยังต้องกลายเป็นสีดำอย่างนี้ จิตของมนุษย์เดิมทีเป็นของบริสุทธิ์ อาศัยกิเลสจรมาก็ย่อมเกิดความเศร้าหมอง เหมือนกับผ้าผืนนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยงแท้ ท่านบริกรรมผ้านั้นไป จนจิตสงบแล้วได้บรรลุฌาณแต่นั้นเจริญวิปัสสนาต่อก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาและอภิญญา
๔. งานประกาศพระศาสนา
พระจูฬปันถกเถระ หลังจากที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว แม้ในตำนานจะไม่ได้กล่าวว่า ท่านได้ช่วยพระศาสดาประกาศศาสนา จนได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกก็ตาม แต่ปฏิปทาของท่านก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษา สำหรับคนที่เกิดมาในภายหลัง ท่านมีปัญญาทึบถึงเพียงนั้น แต่อาศัยพระศาสดาผู้ฉลาดในอุบาย และอาศัยท่านเป็นผู้มีความเพียร จิตใจแน่วแน่ ไม่ย่นย่อท้อถอย ก็กลับเป็นคนฉลาดสามารถบรรลุผลที่สูงสุดของชีวิตได้ เพราะฉะนั้นอย่าด่วนสรุปว่าใครโง่ แต่ควรคิดก่อนว่าผู้สอนฉลาดจริงหรือเปล่า
๕. เอตทัคคะ
พระจูฬปันถกเถระ เป็นผู้มีฤทธิ์ทางใจ สามารถเนรมิตกายที่สำเร็จด้วยใจได้และฉลาดในการพลิกแพลงจิต ( จากสมาธิให้เป็นวิปัสสนา ) พระศาสดาจึงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เนรมิตกายอันสำเร็จด้วยฤทธิ์และผู้พลิกแพลงจิต
๖. บุญญาธิการ
แม้พระจูณปันถกเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาช้านาน จนในกาลแห่งพระทุมุตตรพุทธเจ้า ได้เห็นพระพุทธองค์ทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เนรมิตรกายอันสำเร็จด้วยฤทธิ์และผู้ฉลาดในการพลิกแพลงจิต ได้ตั้งความปรารถนาเพื่อจะเป็นเช่นนั้นบ้าง ได้ก่อสร้างบุญกุศล สมเด็จพระทศพลทรงพยากรณ์ว่าจะได้ในสมัยแห่งพระโคดม จึงสร้างสมบุญกุศลอีกหลายพุทธันดร มาสมคำพยากรณ์ในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายจริงทุกประการ
๗. ปรินิพพาน
พระจูฬปันถกเถระนี้ก็เหมือนกับอสีติมหาสาวกทั่วไป เมื่อบรรลุพระอรหัตแล้วก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาตามความสามารถ สุดท้ายก็ได้ปรินิพพานดับสังขารและการเวียนว่ายอย่างสิ้นเชิง
***********************************
๒๒. ประวัติ พระโสณกุฎิกัณณเถระ
๑. สถานะเดิม
พระโสณกุฎิกัณณเถระ นามเดิม โสณะ แต่เพราะเขาประดับเครื่องประดับหูมีราคาถึงหนึ่งโกฏิ จึงมีคำต่อท้ายว่า กุฏิกัณณะ
มารดาเป็นอุบาสิกาชื่อ กาฬี เป็นพระโสดาบัน ผู้ถวายความอุปภัมภ์บำรุงพระมหากัจจายนเถระ
เกิดในตระกูลคหบดีในเมืองกุรุรฆระ แคว้นอวันตี เป็นคนวรรณะแพศย์
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เพราะมารดาท่านเป็นผู้อุปัฏฐากพระมหากัจจายนะ เวลาที่พระเถระมาจำพรรษาที่ภูเขาปวัตตะ จึงได้นำเด็กชายโสณะไปวัดด้วย จึงทำให้มีความรู้จักและคุ้นเคย
กับพระเถระมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ต่อมาครั้นเจริญวัยมีศรัทธาใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนาจึงขอบรรพชาอุปสมบทกับพระเถระ ๆ อธิบายให้ฟังว่า การบวชนั้นมีความทุกข์ยากลำบากอย่างไร แต่เขาก็ยืนยันจะบวชให้ได้ พระเถระจึงบวชให้ได้แค่เป็นสามเณร เพราะในอวันตีชนบทหาพระครบองค์สงฆ์ ๑๐ องค์ไม่ได้ ท่านบวชเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี จึงได้พระครบ ๑๐ องค์ แล้วได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ครั้นบวชแล้ว ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนในสำนักพระอุปัชฌาย์พากเพียรบำเพ็ญภาวนาในไม่ช้าก็สำเร็จพระอรหัตผล
๓. งานประกาศพระศาสนา
ครั้งหนึ่ง โยมมารดาของท่านทราบว่าท่านแสดงธรรมให้พระพุทธเจ้าสดับได้ปลื้มปิติใจ จึงนิมนต์ให้แสดงธรรมให้ฟังบ้าง ท่านก็ได้แสดงให้ฟังตามอาราธนา โยมมารดาเลื่อมใสตั้งใจฟังอย่างดี แต่ในขณะฟังธรรมอยู่นั้น พวกโจรเข้าไปปล้นทรัพย์ในบ้าน คนใช้มารายงาน ท่านก็ไม่มีความเสียดาย บอกว่าโจรต้องการอะไร ก็ให้ขนเอาไปตามปรารถนาเถิด ส่วนเราจะฟังธรรมของพระลูกชาย พวกท่านอย่าทำอันตรายต่อการฟังธรรมเลย
พวกโจรทราบความนั้นจากคนใช้ รู้สึกสลดใจว่าเราได้ทำร้ายผู้มีคุณธรรมสูงส่งถึงเพียงนี้ เป็นความไม่ดีเลย จึงพากันไปยังวัด เมื่อการฟังธรรมสิ้นสุดลง ได้เข้าไปหาโยมมารดาของท่านขอขมาโทษแล้วขอบวชในสำนักของพระเถระ ๆ ก็บวชให้พวกเขาตามประสงค์
๔. เอตทัคคะ
พระโสณกุฏิกัณณเถระนี้มีความสามารถในการแสดงธรรมแบบสรภัญญะ ด้วยเสียงอันไพเราะต่อพระพักตร์ของพระศาสดา ดังนั้น ท่านจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ
๕. บุญญาธิการ
แม้พระโสณกุฏิกัณณเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานานแสนนาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดาได้เห็นพระพุทธองค์ทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในเอตทัคคะว่าเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ จึงปรารถนาฐานันดรเช่นนั้นบ้าง แล้วได้ก่อสร้างความดีที่สามารถสนับสนุนค้ำจุนความปรารถนานั้น อันพระปทุมุตตรศาสดาทรงพยากรณ์ว่าจะสำเร็จสมดังใจสมัยแห่งพระพุทธโคดม จึงสร้างสมบารมีอีกหลายพุทธันดร จนถึงชาติสุดท้ายมาได้สมปรารถนาในสมัยพระศาสดาของเราทั้งหลาย สมดังพุทธพยากรณ์ทุกประการ
๖. ปรินิพพาน
พระโสณกุฏิกัณณเถระนี้ก็เหมือนกับพระอสีติมหาสาวกทั้งหลาย เมื่ออยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตในที่สุดก็ปรินิพพานดับเบญจขันธ์หยุดการหมุนเวียนแห่งกิเลสกรรมและวิบากอย่างสิ้นเชิง
*****************************
๒๓. ประวัติ พระลกุณฎกภัททิยะ
๑. สถานะเดิม
พระลกุณฏกภัททิยะ นามเดิม ภัททิยะ แต่เพราะร่างกายของเขาเตี้ยและเล็กจึงเรียกว่า ลกุณฏกภัททิยะ
เป็นคนวรรณะแพศย์ ชาวเมืองสาวัตถี
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทะศาสนา
เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวันแสดงพระธรรมเทศนาโปรดมหาชน ลกุณฏกภัททิยะเติบโตแล้วได้ไปยังวิหารฟังธรรมเทศนา เกิดศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนา จึงทูลขอบวชกับพระศาสดา ซึ่งก็ทรงบวชให้ตามประสงค์
เมื่อท่านได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ได้เรียนกรรมฐาน พากเพียรภาวนาเจริญวิปัสสนา ในไม่ช้าก็บรรลุพระอรหัตผล
๓. เอตทัคคะ
พระลกุณฏกภัททิยะนี้ เป็นผู้มีเสียงไพเราะ เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีเสียงอันไพเราะ
๔. บุญญาธิการ
แม้พระลกุณฏกทภัททิยะเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบารมีที่เป็นอุปนิสัยแห่งมรรคผลนิพพานมาช้านาน ในพุทธุปบาทกาลแห่งพระศาสดาทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีเสียงไพเราะ จึงเกิดกุศลฉันทะว่า ไฉนหนอ ในอนาคตกาลเราพึงเป็นผู้มีเสียงไพเราะเหมือนภิกษุรูปนี้บ้าง ในศาสนาของพระพุทธเจ้าสักองค์หนึ่ง แล้วได้ทำบุญต่าง ๆ มากมาย และได้เปล่งวาจาตั้งความปรารถนาอย่างนั้น พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่าจะสำเร็จในศาสนาของพระศาสดาพระนามว่าโคดม จึงได้สร้างความดีตลอดมาแล้วได้สมปรารถนาตามประสงค์ ดังคำของพุทธองค์ทุกประการ
๕. ธรรมวาทะ
คนบางพวกเขารื่นเริงกันด้วยเสียงตะโพน พิณ และบัณเฑาะว์ ส่วนเรายินดีในพระพุทธศาสนา จึงรื่นรมย์อยู่ที่โคนต้นไม้
ถ้าพระพุทธองค์ จะทรงประทานพรแก่เรา และเราก็สามารถได้พรนั้นสมมโนรถ เราจะเลือกเอาพรว่า ขอให้ชาวโลกทั้งหมดเจริญกายคตาสติกัน
๖. ปรินิพพาน
พระลกุณฏกภัททิยะ ได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลกตามสมควรแก่เวลา ก็
ได้ปรินิพพานหยุดการหมุนเวียนของวัฏฏะอย่างสิ้นเชิง
******************************
๒๔. ประวัติ พระสุภูติเถระ
๑. สถานะเดิม
พระสุภูติเถระ นามเดิม สุภูติ เพราะร่างกายของท่านมีความรุ่งเรือง (ผุดผ่อง) อย่างยิ่ง
บิดานามว่า สุมนเศรษฐี ชาวเมืองสาวัตถี
เกิดที่เมืองสาวัตถี เป็นคนวรรณะแพศย์
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระศาสดาทรงอาศัยเมืองราชคฤห์ เป็นสถานที่ทำการประกาศพระพุทธศาสนา อนาถบิณฑิกเศรษฐีจากพระนครสาวัตถี ได้มาเยี่ยมราชคหเศรษฐีผู้เป็นสหายที่เมืองราชคฤห์ ได้ทราบข่าวการเสด็จอุบัติแห่งพระศาสดา จึงเข้าไปเฝ้าที่สีตวันแล้วได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลพร้อมกับการเข้าเฝ้าเป็นครั้งแรก จึงได้กราบทูลอาราธนาพระศาสดาเพื่อเสด็จมายังสาวัตถี ได้สร้างพระเชตวันมหาวิหารถวายเป็นที่ประทับ
ในวันฉลองมหาวิหาร สุภูติกุฎุมพีไปกับอนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังธรรมของพระศาสดา เกิดศรัทธาจึงทูลขอบวช พระศาสดาจึงบวชให้ตามประสงค์
เมื่อเขาได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยจนเข้าใจแตกฉาน ต่อจากนั้นได้เรียนกรรมฐาน บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่า เจริญวิปัสสนากรรมฐานทำเมตตาฌานให้เป็นบาท แล้วได้บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นาน
๓. งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระสุภูติเถระเมื่อสำเร็จพระอรหัตผลแล้ว ท่านมีปฏิปทาที่พิเศษกว่าผู้อื่น คือเมื่อแสดงธรรมก็จะไม่ออกไปนอกจากนิยาม ( กำหนด ) ที่พระศาสดาทรงแสดงไว้ ไม่พูดถึงคุณหรือโทษของใคร เวลาเที่ยวไปบิณฑบาต ก่อนจะรับอาหารบิณฑบาต ท่านจะเข้าเมตตาฌานก่อน ออกจากฌานแล้วจึงรับอาหารบิณฑบาต ทำอย่างนี้ทุก ๆ เรือน ด้วยตั้งใจว่าทำอย่างนี้ผู้ถวายอาหารบิณฑบาตจะได้ผลบุญมาก ประกอบร่างกายของท่านสง่างามและผิวพรรณผุดผ่อง จึงนำมาซึ่งความเลื่อมใสแก่บุคคลเป็นจำนวนมาก
๔. เอตทัคคะ
พระสุภูติเถระ อยู่อย่างไม่มีกิเลส แม้แต่การแสดงธรรมก็ไม่พูดถึงคุณหรือโทษของใคร จะเข้าเมตตาฌานอยู่ตลอดเวลา แม้ขณะไปเที่ยวบิณฑบาตดังกล่าวแล้ว เพราะอาศัยเหตุการณ์ทั้งสองนี้ พระชินสีห์จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่อย่างไม่มีกิเลสและเป็นพระทักขิไณยบุคคล
๕. บุญญาธิการ
แม้พระสุภูติเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาช้านานในพุทธุปบาทกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติสองอย่างคือ อรณวิหาร ( รณ แปลว่า กิเลส ) การอยู่อย่างไม่มีกิเลส และความเป็นพระทักขิไณยบุคคลจึงเกิดศรัทธาปรารถนาจะเป็นเช่นนั้นบ้าง จึงได้สร้างบุญกุศลถวายพระทศพลมากมายแล้วได้ตั้งความปรารถนา พระศาสดาทรงเห็นว่าจะสำเร็จแน่นอน จึงทรงพยากรณ์ว่า จะได้ในสมัยของพระพุทธโคดม ในที่สุดก็ได้สมปรารถนาทุกอย่างดังกล่าวมา
๖. ธรรมวาทะ
ควรพูดแต่สิ่งที่ตนทำได้
ไม่ควรพูดสิ่งที่ตนทำไม่ได้
ผู้พูดสิ่งที่ตนทำไม่ได้
ย่อมถูกผู้รู้เขาดูหมิ่นเอา
๗. ปรินิพพาน
พระสุภูติเถระ ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาตลอดอายุของท่าน สุดท้ายได้ ดับขันธปรินิพพาน เหมือนไฟที่ดับโดยหาเชื้อไม่ได้
******************************
๒๕. ประวัติ พระกังขาเรวตเถระ
๑ สถานะเดิม
พระกังขาเรวตเถระ นามเดิม เรวตะ แต่เพราะท่านมีความสงสัยในสิ่งที่เป็นกัปปิยะ ( สมควร ) มากเป็นพิเศษจึงได้รับขนานนามว่า กังขาเรวตะ แปลว่า เรวตะผู้มีความสงสัย
เป็นชาวสาวัตถี วรรณะแพศย์
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระศาสดาได้ตรัสรู้และประกาศพระพุทธศาสนา ส่วนมากจะประทับอยู่ที่พระนครสาวัตถีเป็นเวลาถึง ๒๕ พรรษา ทรงแสดงธรรมโปรดมหาชน วันหนึ่งเรวตะได้ไปยังพระเชตวันพร้อมกับมหาชน ยืนอยู่ท้ายบริษัทฟังธรรมกถาของพระทศพล เกิดศรัทธาปรารถนาจะบวช เมื่อมหาชนกลับไปหมดแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระศาสดาทรงบวชให้เขาตามปรารถนา
ครั้นได้บวชแล้ว ทูลขอให้พระศาสดาตรัสสอนกรรมฐาน ทำบริกรรมในฌาน ครั้นได้ฌานแล้ว ทำฌานนั้นให้เป็นบาท เจริญวิปัสสนาพิจารณาฌานนั้น ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นความสุขอันเกิดจากฌานนั้น ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ซึ่งเป็นผลอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา
๓. เอตทัคคะ
เพราะพระกังขาเรวตเถระ เป็นผู้ชำนาญในการเข้าฌาน พระศาสดาจึงทรงถือเอาคุณข้อนี้ตั้งท่านไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยินดีในการเข้าฌาน
๔. บุญญาธิการ
แม้พระกังขาเรวตเถระนี้ ก็ได้สร้างความดีที่เป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน ในพุทธกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยินดีในการเข้าฌาน จึงได้บำเพ็ญกุศลเป็นการใหญ่แล้วตั้งความปรารถนาโดยมีพระศาสดาเป็นพยานว่า ที่ทำบุญนี้ข้าพระองค์มิได้ประสงค์สมบัติอื่น หวังจะได้ตำแหน่งแห่งภิกษุผู้ยินดีในการเข้าฌาน ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในภายหน้า พระศาสดาทรงเห็นความสำเร็จของเขา จึงได้พยากรณ์ว่าจะสำเร็จในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม และเขาก็ได้สมปรารถนาตามพระพุทธวาจาทุกประการ
๕. ปรินิพพาน
พระกังขาเรวตเถระ ถึงแม้จะเชี่ยวชาญเรื่องเข้าฌาน ก็หนีมัจจุมารไม่พ้น สุดท้ายก็ได้ปรินิพพานเหลือเพียงชื่อไว้ในตำนานให้ได้ศึกษากันสืบต่อมา
๒๖. ประวัติ พระโกณฑธานเถระ
๑. สถานะเดิม
พระโกณฑธานเถระ นามเดิม ธานะ ต่อมามีภาพลวงตาเป็นสตรีติดตามท่านเพราะผลบาปในชาติก่อน ภิกษุและสามเณรทั้งหลายเห็นภาพนั้นเป็นประจำจึงตั้งชื่อ
ท่านเพิ่มว่า กุณฑธานะ ( ธานะชั่ว )
เป็นคนวรรณะพราหมณ์ ชาวเมืองสาวัตถี
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
ครั้นอายุย่างเข้าปัจฉิมวัย เขาไปฟังธรรมของพระศาสดาเป็นประจำ เกิดศรัทธาอยากบวชในพระพุทธศาสนา จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระพุทธองค์ ซึ่งก็ทรงประทานให้ตามปรารถนา ตั้งแต่วันที่ท่านบวชแล้ว เพราะบาปกรรมในชาติก่อนของท่าน เวลาท่านอยู่ที่วัดก็ดี เข้าบ้านเช่นไปบิณฑบาตก็ดี จะมีคนเห็นภาพสตรีคนหนึ่งตามหลังท่านไปเสมอ แต่ตัวท่านเองไม่ทราบ และไม่เคยเห็นสตรีนั้นเลย เวลาคนใส่บาตบางคนก็บอกว่า ส่วนนี้ของท่าน ส่วนนี้สำหรับหญิงสหาย
พระภิกษุและสามเณรก็เห็นภาพนั้นเป็นประจำ วันหนึ่งพากันไปล้อมกุฏิของท่าน พูดเยาะเย้ยว่า พระธานะเป็นคนชั่ว ท่านอดกลั้นไว้ไม่อยู่จึงได้ตอบโต้ไปว่า พวกท่านก็เป็นคนชั่ว ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นจึงไปฟ้องพระพุทธเจ้า ๆ ตรัสเรียกท่านไปพบแล้วแสดงธรรมว่า เธออย่ากล่าวคำหยาบต่อใคร ๆ เพราะผู้ที่ถูกเธอด่า ย่อมด่าตอบเธอบ้าง จะกลายเป็นการแข่งดีกันไป (สุดท้าย) ก็มีการทำร้ายกัน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ท่านลำบากใจ และลำบากเรื่องอาหารบิณฑบาตมาก ต่อมามีการพิสูจน์ความจริง โดยมีพระะเจ้าปเสนทิโกศลเป็นประธาน ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องไม่จริง เป็นเรื่องเวรกรรมของท่าน ๆ จึงได้รับความอุปถัมภ์จากพระราชา เมื่อท่านได้ความอุปถัมภ์จากพระราชา ได้อาหารเป็นที่สัปปายะ พากเพียรภาวนาเจริญวิปัสสนาไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับอภิญญา ๖
๓. เอตทัคคะ
พระโกณฑธานเถระเป็นผู้มีบุญในเรื่องของการจับสลากเพื่อไปในกิจนิมนต์ ท่านจะเป็นผู้ได้จับสลากก่อนเสมอ พระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้จับสลากก่อน
๔. ธรรมวาทะ
ผู้เห็นภัย
ตัดบ่วงผูกเข้าเท้า ๕ อย่าง ( สังโยชน์เบื้องต้น ๕ )
แก้บ่วงผูกคอ ๕ อย่าง ( สังโยชน์เบื้องสูง ๕ )
เจริญธรรม ๕ อย่าง ( สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา )
พ้นกิเลสเครื่องข้อง ๕ อย่าง ( ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ )
ท่านเรียกว่า ผู้ข้ามพ้นห้วงกิเลส
๕. ปรินิพพาน
พระโกณฑธานเถระ ได้บรรลุผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา ดำรงชีวิตต่อมาจนถึงอายุขัย แล้วดับขันธปรินิพพาน เหมือนกับไฟที่หมดเชื้อแล้วดับไป
*******************************
๒๗. ประวัติ พระวังคีสเถระ
๑. สถานะเดิม
พระวังคีสเถระ นามเดิม วังคีสะ เพราะเกิดในวังคชนบท และเพราะ
เป็นใหญ่ในถ้อยคำ
บิดาเป็นพราหมณ์ ไม่ปรากฏนาม
มารดาเป็นปริพาชิกา ไม่ปรากฏนาม ทั้ง ๒ เป็นคนวรรณะพราหมณ์
เกิดที่วังคชนบท เมืองสาวัตถี
๒. ชีวิตก่อนบวช
วังคีสมานพครั้นเจริญวัยสมควรจะได้รับการศึกษาเล่าเรียน จึงเรียนลัทธิพราหมณ์ จบไตรเพท เขาเป็นที่รักของอาจารย์ จึงได้เรียนมนต์พิเศษโดยใช้เล็บดีดกะโหลกศีรษะของผู้ตายภายในเวลา ๓ ปี แล้วสามารถรู้ได้ว่า ไปเกิดที่ไหน พราหมณ์ทั้งหลายเห็นอุบายจะหาทรัพย์ได้ จึงพาเขาไปยังสถานที่ต่าง ๆ ดีดกะโหลกศีรษะของผู้ที่ตายแล้วให้กะโหลกนั้นบอกแก่ญาติของตนว่าไปเกิดที่ไหน พวกเขาได้ลาภเป็นอันมาก
๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
วันหนึ่งเขาได้สดับพระคุณของพระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสอยากจะไปเฝ้า พราหมณ์ทั้งหลายคัดค้านเขา กลัวจะเปลี่ยนใจไปนับถือพระศาสดา แต่เขาไม่เชื่อพราหมณ์เหล่านั้น ไปเฝ้าพระศาสดาที่พระเชตวัน ทรงทำปฏิสันถารอย่างดี ตรัสถามถึงความสามารถของเขา ครั้นทรงทราบแล้ว จึงทรงนำเอากะโหลกศีรษะคนตายมา ๔ กะโหลก ในวังคีสะดีดดู เขาดีดกะโหลกที่ ๑ บอกว่าไปเกิดในนรก ที่ ๒ บอกว่าไปเกิดเป็นมนุษย์ ที่ ๓ บอกว่าไปเกิดเป็นเทวดา ทรงประทานสาธุการแก่เขา พอดีดกะโหลกที่ ๔ ซึ่งเป็นของพระอรหันต์ เขาไม่ทราบว่าไปเกิดที่ไหน นั่งเหงื่อไหล พระศาสดาตรัสถามว่า เธอลำบากใจหรือวังคีสะ เธอยอมรับว่าพระพุทธเจ้าข้า แล้วทูลถามว่าพระองค์ทราบมนต์นี้หรือ ตรัสว่าทราบ เขาจึงขอเรียน แต่ทรงปฏิเสธว่าสอนให้ไม่ได้ จะสอนได้เฉพาะแก่คนที่มีเพศเหมือนเราเท่านั้น เขาจึงทูลขอบวชกับพระศาสดา ตรัสให้พระนิโครธกัปปเถระเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้
๔. การบรรลุธรรม
วังคีสะ ครั้นบวชแล้ว ทรงบอกกรรมฐานคือ อาการ ๓๒ และวิปัสสนากรรมฐานแล้ว เมื่อท่านกำลังสาธยายอาการ ๓๒ และเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ พวกพราหมณ์เข้าไปถามว่า เรียนมนต์ของพระโคดมจบหรือยัง ท่านตอบว่าจบแล้ว พวกพราหมณ์พูดว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไปได้แล้ว ท่านตอบว่า อาตมาไม่ไปแล้ว พวกพราหมณ์ไม่สามารถจะทำอย่างไรได้จึงไปตามกรรมของตน พระวังคีสะเจริญวิปัสสนาไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล จบกิจบรรพชิตของตน
๕. เอตทัคคะ
พระวังคีสเถระ เป็นผู้มีปฏิภาณสามารถกล่าวเป็นคำประพันธ์ ( ฉันท์ ) สรรเสริญคุณพระศาสดา เวลาท่านเข้าไปเฝ้าได้ทุกครั้ง พระศาสดาจึงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีปฏิภาณ
๖. ปรินิพพาน
พระวังคีสเถระ ครั้นถึงที่สุดประโยชน์ส่วนตนคือบรรลุพระอรหัตผลแล้ว
ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาตลอดเวลาอายุของท่าน แล้วได้ดับขันธปรินิพพานไปตามสัจธรรมของชีวิต
*********************************
๒๘. ประวัติ พระปิลินทวัจฉเถระ
๑. สถานะเดิม
พระปิลินทวัจฉเถระ นามเดิม ปิลินทะ วัจฉะเป็นชื่อของโคตรต่อมาได้ชื่อว่า ปิลินทวัจฉะ โดยนำเอาชื่อโคตรไปรวมด้วย
บิดาและมารดาเป็นพราหมณ์ไม่ปรากฏนาม เป็นชาวเมืองสาวัตถี
๒. ชีวิตก่อนบวช
ก่อนที่จะมาบวชในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นผู้ที่มากไปด้วยความสังเวช (ความสลดใจที่ประกอบกับโอตตัปปะ) จึงบวชเป็นปริพาชก สำเร็จวิชา ชื่อว่า จูฬคันธาระ เหาะเหินเดินอากาศได้และรู้ใจของผู้อื่น มีลาภและยศมาก อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์
๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระศาสดาของเราทั้งหลายได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จไปประทับในเมืองราชคฤห์อานุภาพแห่งวิชาของเขาก็เสื่อมไป ลาภยศของเขาก็หมดไปด้วย เขาคิดว่าพระสมณโคดมต้องรู้คันธารวิชาอย่างแน่นอน จึงไปยังสำนักของพระศาสดาขอเรียนวิชา พระศาสดาตรัสว่า ท่านต้องบวชในสำนักของเราจึงจะเรียนได้ เขาก็ยอมบวชตามพระพุทธดำรัส
๔. การบรรลุธรรม
เมื่อท่านบวชแล้ว พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เขาและได้ประทานกรรมฐานอันสมควรแก่จริยา เพราะท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยที่สมบูรณ์ เริ่มตั้งความเพียรในกรรมฐาน
ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล
๕. งานประกาศพระพุทธศาสนา
เพราะผู้ที่ตั้งอยู่ในโอวาทของท่านสมัยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ได้ไปเกิดเป็นเทวดามากมาย เทวดาเหล่านั้นอาศัยความกตัญญู มีความนับถือท่านมาก เข้าไปหา ท่าน ทั้งเช้าเย็น แต่ท่านมักจะมีปัญหากับภิกษุและชาวบ้าน เพราะท่านชอบใช้วาจาไม่ไพเราะ ต่อมาพระศาสดาทรงแก้ไขให้ทุกคนเข้าใจ ก็ไม่มีใครถือสา กลับศรัธาเลื่อมใสยิ่งขี้นท่านเป็นพระที่มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ เล่ากันว่า ชายคนหนึ่งถือถาดดีปลีมา ท่านถามว่าถาดอะไรไอ้ถ่อย ชายคนนั้นโกรธคิดว่าพระอะไรพูดคำหยาบ จึงตอบไปว่า ถาดขี้หนู พอผ่านท่านไปดีปลีเป็นขี้หนูจริง ๆ ต่อมามีคนแนะนำเขาว่าให้เดินสวนทางกับท่านใหม่ ถ้าท่านถามอย่างนั้น จงตอบท่านว่าดีปลี ก็จะกลายเป็นดีปลีดังเดิม เขาได้ทำตามคำแนะนำปรากฏว่ามูลหนูกลับเป็นดีปลีดังเดิม
๖. เอตทัคคะ
ก็เพราะเทวดาผู้ตั้งอยู่ในโอวาทของท่านในชาติก่อน แล้วเกิดในสวรรค์เป็นอันมาก เทวดาเหล่านั้นมีความกตัญญูมีความเคารพนับถือบูชา จึงมาหาท่านทั้งเช้าเย็น เพราะฉะนั้นพระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในฐานะที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย
๗. ปรินิพพาน
พระพระปิลินทวัจฉเถระ ครั้นดำรงเบญจขันธ์พอสมควรแก่กาล ก็ได้ปรินิพพานดับไปโดยไม่มีอาลัย
*****************************
๒๙. ประวัติ พระกุมารกัสสปเถระ
๑. สถานะเดิม
พระกุมารกัสสปเถระ นามเดิม กัสสปะ เป็นนามที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงตั้งให้ ต่อมาท่านบวชในพระพุทธศาสนา เวลาพระศาสดาตรัสเรียกภิกษุชื่อกัสสปะ จะถูกทูลถามว่ากัสสปะไหน จึงตรัสว่า กุมารกัสสปะ เพราะท่านบวชมาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ
บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ เป็นชาวเมืองสาวัตถี มารดาของท่านศรัทธาจะบวชตั้งแต่ยังไม่ได้แต่งงาน แต่บิดาและมารดาไม่อนุญาต หลังจากแต่งงานแล้วขออนุญาตสามี ในที่สุดสามีอนุญาตให้บวช เธอจึงเป็นภิกษุณีโดยไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ครั้นอยู่มาครรภ์ได้ใหญ่ขึ้น ภิกษุณีทั้งหลายรังเกียจเธอ จึงนำไปให้พระเทวทัตตัดสิน พระเทวทัตตัดสินว่า เธอศีลขาด แม้เธอจะชี้แจงเหตุผลอย่างไรก็ไม่ยอมรับฟัง ภิกษุณีทั้งหลายจึงพาไปเฝ้าพระศาสดา ๆ ทรงมอบหมายให้พระอุบาลีเถระตัดสิน พระอุบาลีเชิญตระกูลใหญ่ ๆ ชาวสาวัตถีและนางวิสาขามาพิสูจน์ได้ว่า นางตั้งครรภ์มาก่อนบวช ศีลของนางบริสุทธิ์
๒. ชีวิตก่อนบวช
นางภิกษุณีนั้นคลอดบุตรชาย หน้าตาน่ารัก ผิวพรรณดุจทองคำ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงให้เลี้ยงดูไว้ และทรงตั้งชื่อให้ว่า กัสสปะ อีกย่างหนึ่ง คนทั้งหลายรู้จักท่านในนามว่า กุมารกัสสปะ เพราะเป็นเด็กที่พระราชาทรงชุบเลี้ยงอย่างราชกุมาร
๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อเขาเจริญวัยแล้ว พระราชาทรงประดับประดาเขาอย่างสมเกียรติ แล้วนำไปบวชยังสำนักของพระศาสดา ตั้งแต่ท่านบวชแล้ว ก็ได้เจริญวิปัสสนาและเรียนพุทธพจน์ แต่ไม่ได้บรรลุมรรคผลแต่อย่างใด
๔. การบรรลุธรรม
ครั้งนั้น สหายของท่านเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาส เห็นท่านลำบากในการเจริญวิปัสสนา จึงผูกปัญหา ๑๕ ข้อ แล้วบอกว่า นอกจากพระศาสดา ไม่มีใครสามารถแก้ปัญหานี้ได้ รุ่งขึ้นท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามปัญหาเหล่านั้น พระศาสดาทรงแก้ให้ท่านจนถึงพระอรหัต พระเถระเรียนตามที่พระศาสดาตรัส เข้าไปยังป่าอัมพวันเจริญวิปัสสนาไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต
๕. งานประกาศพระศาสนา
พระกุมารกัสสปะเถระ กล่าวธรรมกถาได้อย่างวิจิตร สมบูรณ์ด้วยอุปมาและเหตุผล เช่น การโต้ตอบกับพระเจ้าปายาสิผู้ไม่เชื่อว่าโลกอื่นมีจริง เป็นต้น
พระเจ้าปายาสิเห็นว่านรกไม่มี เพราะไม่เคยเห็นญาติคนไหนตกนรกแล้วมาบอก พระเถระอุปมาว่า เหมือนคนทำความผิดร้ายแรง ถูกตัดสินจำคุกจะออกมานอกคุกได้อย่างไร
พระเจ้าปายาสิเห็นว่าสวรรค์ไม่มี เพราะไม่มีญาติที่ขึ้นสวรรค์กลับมาบอกพระ เถระอุปมาว่า เหมือนคนพลัดตกลงไปในหลุมคูถ ครั้นขึ้นมาได้ ชำระร่างกายสะอาดแล้วคงไม่มีใครอยากลงไปนอนในหลุมคูถอีก
พระเจ้าปายาสิตรัสว่า เคยฆ่าคนโดยเอาใส่ในหม้อ แล้วปิดฝาจนสนิทถมทั้งเป็น ให้คนช่วยดูรอบ ๆ หม้อ ก็ไม่เห็นชีวะของผู้นั้นออกมา พระเถระอุปมาว่า เหมือนพระองค์เคยบรรทมหลับท่ามกลางผู้อารักขาและนางสนม แล้วทรงสุบินว่าเสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ แต่ก็ไม่เคยมีใครเห็นชีวะของพระองค์ที่ออกไป
พระเจ้าปายาสิตรัสว่า เคยฆ่าคนโดยไม่ทำลายอินทรีย์ทั้ง ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ) ครั้นแล้ว ทรงตรวจดู ไม่พบว่าทั้ง ๖ นั้นรู้สึกอะไรเลย พระเถระอุปมาว่า เหมือนคนเป่าสังข์ คนโง่ได้ยินเสียงสังข์ จึงมาขอดูเสียงของสังข์ ค้นหาอย่างไรไม่พบเสียงในตัวสังข์ จึงบอกว่าสังข์ไม่มีเสียง
ยังมีเรื่องอีกมากมายที่แสดงถึงความฉลาดสามารถของพระกุมารกัสสปะเถระใน การอธิบายหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ท่านสามารถโต้ตอบกับผู้ที่มาโต้แย้งคัดค้านคำสอนได้อย่างดี จึงนับว่าเป็นกำลังที่สำคัญรูปหนึ่งในการประกาศพระพุทธศาสนา
๖. เอตทัคคะ
เพราะพระกุมารกัสสปะเถระ กล่าวธรรมกถาได้อย่างวิจิตรสมบูรณ์ด้วยการอุปมาและเหตุผล พระทศพลจึงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ใช้ถ้อยคำอันวิจิตร (กล่าวถ้อยคำไพเราะ)
๗. ปรินิพพาน
พระกุมารกัสสปเถระ ครั้นอยู่จบพรหมจรรย์ของท่านแล้ว ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนา อยู่มาตามสมควรแก่เวลาของท่าน แล้วได้ปรินิพพานจากโลกไป
****************************
๓๐. ประวัติ พระมหาโกฏฐิตเถระ
๑. สถานะเดิม
พระมหาโกฏฐิตเถระ นามเดิม โกฎฐิตะ มีความหมายว่า ทำให้คนหนีหน้าเพราะเขาเป็นผู้ฉลาดในศาสตร์ต่าง ๆ จึงเที่ยวทิ่มแทงคนอื่นด้วยหอกคือปากของตน
บิดาชื่อ อัสสลายนพราหมณ์
มารดาชื่อ จันทวดีพราหมณี ทั้งคู่เป็นชาวเมืองสาวัตถี
๒. ชีวิตก่อนบวช
เขาเจริญวัยแล้วได้เล่าเรียนไตรเพทจนถึงความสำเร็จในศิลปะของพราหมณ์ เป็นผู้ฉลาดในทางเวทางคศาสตร์ ตักกศาสตร์ นิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ ในประเภทแห่งอักษรสมัยของตน และในการพยากรณ์ทั้งหมด เขาชอบพูดหักล้างคนอื่น ใครพบเขาจึงพากันหลบหน้า ไม่อยากสนทนาด้วย
๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
โกฏฐิตมานพ เข้าไปเฝ้าและฟังธรรมจากพระศาสดา แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะบวช จึงทูลขอบวชกับพระองค์ ๆ ทรงบวชให้เขาตามประสงค์ ตั้งแต่เขาบวชแล้ว ก็พากเพียรศึกษาพระธรรมวินัย และตั้งใจบำเพ็ญวิปัสสนา ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลพร้อมกับปฏิสัมภิทา ๔ มีความเชี่ยวชาญในปฏิสัมภิทาญาณ กล้าหาญ แม้จะเข้าไปหาพระมหาเถระหรือแม้แต่พระศาสดาก็จะถามปัญหาในปฏิสัมภิทา ๔ จึงมีนามเพิ่มอีกว่า มหาโกฏฐิตะ
๔. งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระมหาโกฏฐิตเถระ เป็นพระเถระรูปหนึ่งที่ได้แสดงหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไว้มาก เช่น ในมหาเวทัลลสูตร ท่านได้ชักถามพระสารีบุตรเถระเพื่อเป็นการวางหลักธรรมในพระพุทธศาสนา จะนำมาเฉพาะบางเรื่อง ดังนี้
ผู้มีปัญญาทราม คือ ผู้ไม่รู้อริยสัจ ๔ ตามเป็นจริง
ผู้มีปัญญา คือ ผู้รู้อริยสัจ ๔ ตามเป็นจริง
วิญญาณ คือ ธรรมชาติที่รู้จริง ได้แก่รู้แจ้ง สุข ทุกข์ และ ไม่ทุกข์ไม่สุข
ปัจจัยในการเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิมี ๒ อย่าง คือ การประกาศของผู้อื่น (ปรโตโฆสะ ) ๑ การทำไว้ในใจโดยแยบคาย ( โยนิโสมนสิการ ) ๑
การเกิดในภพใหม่มีได้ เพราะความยินดีในภพนั้น ๆ ของสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นนิวรณ์ (เครื่องกั้น) มีตัณหาเป็นสังโยชน์ ( เครื่องผูกมัด ) การไม่เกิดในภพใหม่มีได้ เพราะเกิดวิชชาและเพราะดับตัณหา
คนตายกับผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธต่างกัน คือ คนตายสิ่งปรุงแต่งกาย วาจา จิตดับ อายุสิ้น ไออุ่นดับ และอินทรีย์แตก ผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สิ่งปรุงแต่งกาย วาจา จิตดับ แต่อายุยังไม่สิ้น ไออุ่นยังไม่ดับ อินทรีย์ผ่องใส
๕. เอตทัคคะ
เพราะอาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ระหว่างท่านกับพระสารีบุตรเถระ ในมหาเวทัลลสูตรนี้ พระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บรรลุปฏิสัมภิทา
๖. ปรินิพพาน
พระมหาโกฏฐิตเถระได้ทำหน้าที่ของท่านและหน้าที่ต่อพระศาสนาในฐานะที่เป็นพระสงฆ์แล้ว ได้ดำรงอยู่ตามสมควรแก่เวลา สุดท้ายก็ได้ปรินิพพานดับไป
*******************************
๓๑. ประวัติพระโสภิตเถระ
๑. สถานะเดิม
พระโสภิตเถระ นามเดิม โสภิตมาณพ
บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม เป็นพราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถี
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
โสภิตมาณพ วันหนึ่งได้ไปเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรมเทศนาแล้ว เกิด
ศรัทธาปรารถนาจะบวช จึงได้ทูลขอบวชกับพระพุทธองค์ ๆ ได้ทรงบวชให้เขาตามประสงค์ ครั้นบวชแล้ว ได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้บรรลุอภิญญา ๖ เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์เป็นผู้ชำนาญในบุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ การระลึกชาติในอดีต
๓. เอตทัคคะ
เพราะพระโสภิตเถระมีความชำนาญเป็นพิเศษในบุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือญาณในการระลึกชาติในอดีต พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ระลึกบุพเพสันนิวาส
๔. ปรินิพพาน
พระโสภิตเถระ ได้บรรลุประโยชน์สูงสุดส่วนตน คือ พระอรหัตผลแล้วได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ผู้ดำรงพระพุทธศาสนา ตามสมควรแก่เวลาของท่าน จึงได้ปรินิพพานจากโลกไปโดยหาความอาลัยไม่ได้
๓๒. ประวัติ พระนันทกเถระ
๑. สถานะเดิม
พระนันทกเถระ นามเดิม นันทกะ
บิดาและมารดา ไม่ปรากฏนาม เป็นพราหมณ์ ชาวเมืองสาวัตถี
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
นันทกมาณพ ได้ยินกิตติศัพท์ของพระศาสดาว่า เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง ทรงแสดงธรรมไพเราะ ชี้แจงประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้าได้อย่างแจ่มแจ้ง วันหนึ่ง เมื่อมีโอกาศจึงไปเฝ้าพระศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนา เกิดศรัทธาปรารถนาจะบวช จึงทูลขอบวชกับพระพุทธองค์ ๆ ได้ทรงบวชให้เขาตามความประสงค์ ครั้นบวชแล้ว ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและพากเพียรปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นผู้ชำนาญในญาณระลึกรู้บุพเพนิวาส
๓. งานประกาศพระศาสนา
ในตำนานไม่ได้บอกว่าท่านได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกบ้าง บอกว่าท่านเป็นผู้ฉลาดในการสอนนางภิกษุณี มีเรื่องเล่าว่า นางมหาปชาบดีโคตมีได้พาภิกษุณี ๕๐๐ รูป มาฟังธรรม พระศาสดาจึงมอบให้ภิกษุเปลี่ยนกันแสดงธรรมแก่ภิกษุณี ภิกษุรูปอื่นแสดงธรรม ภิกษุณีทั้งหลายก็ไม่ได้บรรลุอะไร เมื่อถึงวาระของพระนันทกะแสดงธรรมภิกษุณีเหล่านั้นจึงได้บรรลุอรหัตผล
๔. เอตทัคคะ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยเหตุที่ท่านสามารถแสดงธรรมให้แก่ภิกษุณีทั้งหลายได้บรรลุอรหัตผลนี้เอง จึงได้ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทแก่นางภิกษุณี
๕. ธรรมวาทะ
ม้าอาชาไนยชั้นดีพลาดล้มลงไป ยังกลับลุกขึ้นยืนใหม่ได้ ครั้นได้ความสลดใจไม่ย่อท้อ ย่อมแบกภาระได้หนักยิ่งขึ้นอีก ฉันใด ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นบุรุษชาติอาชาไนย ฉันนั้น เหมือนกัน
๖. ปรินิพพาน
พระนันทกเถระ ได้บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์สูงสุดของตน แล้วได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ผู้ดำรงพระพุทธศาสนา อยู่มาตามสมควรแก่เวลาของท่าน สุดท้ายได้ปรินิพพานจากไป
********************************
๓๓. ประวัติ พระมหากัปปินเถระ
๑. สถานะเดิม
พระมหากัปปินเถระ นามเดิม กัปปินะ ต่อมาได้ครองราชย์จึงมีนามว่า มหากัปปินะ เป็นวรรณะกษัตริย์
พระบิดาพระมารดา ไม่ปรากฏพระนาม เป็นเจ้าเมืองกุกกุฏวดีในปัจจันตชนบท
๒. ชีวิตก่อนบวช
เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้ว ก็ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อสันตติวงค์ ทรงพระนามว่า พระเจ้ามหากัปปินะ ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอโนชาเทวี พระราชธิดาของพระเจ้าสาคละ แห่งแค้วนมัททะ ทั้ง ๒ พระองค์ทรงสนพระทัยเรื่องศาสนา คอยสดับตรับฟังข่าวการอุบัติของพระพุทธเจ้าตลอดเวลา
๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
วันหนึ่ง ทรงทราบข่าวจากพ่อค้าชาวเมืองสาวัตถีว่า พระพุทธเจ้า พระ
ธรรมและพระสงฆ์อุบัติขึ้นแล้วในโลก ทรงดีพระทัยอย่างยิ่ง พร้อมกับบริวารจำนวนหนึ่ง ได้เสด็จมุ่งหน้าไปยังเมืองสาวัตถี
พระพุทธเจ้าทรงทราบข่าวการเสด็จมาของพระเจ้ามหากัปปินะ จึงเสด็จไปรับที่ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา ประทับนั่งอยู่ที่โคนต้นพหุปุตตนิโครธ ท้าวเธอพร้อมด้วยบริวารได้เสด็จเข้าไปเฝ้า ณ ที่นั้น ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ครั้นจบพระธรรมเทศนาพระราชาพร้อมด้วยบริวารได้บรรลุพระอรหัตผลแล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท ทรงให้พวกเขาอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา
๔. งานประกาศพระศาสนา
เมื่อบวชในพระพุทธศาสนา และแม้จะสำเร็จพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ไม่สอนใคร มีความขวนขวายน้อย ต่อมาพระศาสดาทรงทราบ จึงรับสั่งให้ท่านสอนผู้อื่นบ้าง ท่านทูลรับด้วยเศียรเกล้า ได้แสดงธรรมแก่อันเตวาสิกของท่านประมาณพันรูปให้บรรลุอรหัตผล
๕. เอตทัคคะ
พระศาสดาทรงอาศัยเหตุที่ท่านแสดงธรรมแก่อันเตวาสิกนั้น จึงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ
๖.ธรรมวาทะ
มีปัญญา แม้ไม่มีทรัพย์ ยังพออยู่ได้ ขาดปัญญา แม้มีทรัพย์ ก็อยู่ไม่ได้ ปัญญาเป็นตัวชีขาดศาสตร์ที่เรียนมา ปัญญาทำให้เจริญไปด้วยเกียรติ และความสรรเสริญผู้มีปัญญาย่อม
ได้รับความสุข แม้ในสิ่งที่คนอื่นเขาทุกข์กัน
๗. ปรินิพพาน
พระมหากัปปินเถระ ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ผู้ดำรงพระพุทธศานา ตามสม
ควรแก่เวลาของท่าน แล้วได้ปรินิพพานจากไป
*****************************
๓๔. ประวัติ พระสาคตเถระ
๑. สถานะเดิม
พระสาคตเถระ นามเดิม สาคตะ
บิดาและมารดา เป็นพราหมณ์ ชาวเมืองสาวัตถีทั้ง ๒ ไม่ปรากฏนาม
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
สาคตมาณพเป็นผู้สนใจใคร่ศึกษา ได้รับทราบข่าวพระศาสดาว่า เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ทรงแสดงธรรมไพเราะ ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์โลกนี้และประโยชน์โลกหน้าได้แจ่มแจ้ง วันหนึ่ง มีโอกาสจึงเข้าไปเฝ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาเกิดศรัทธา จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบท ครั้นบวชแล้ว เจริญฌานได้สมาบัติ ๘ มีความชำนาญในฌานสมาบัติ
๓. การบรรลุธรรม
พระสาคตเถระได้ปราบอัมพติตถนาคราช จนสิ้นฤทธิ์เดช ด้วยเตโชธาตุสมาบัติของท่าน ชาวบ้านที่เคยได้รับความทุกข์จากนาคราชนั้น ดีใจ เลื่อมใสท่าน ทุกบ้านได้จัดสุราถวายเวลาท่านไปบิณฑบาต ท่านจิบสุราบ้านละน้อย เพื่อฉลองศรัทธา ครั้นหลายบ้านเข้าจึงเกิดเมาสุรา ไปล้มหมดสติที่กองขยะ พระศาสดาทรงทราบจึงทรงให้พระมาประคองเอาไป ทรงติเตียนและชี้โทษของสุรา หลังจากนั้นท่านเกิดความสลดใจ ปฏิบัติสมณธรรม ไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตผล
๔. งานประกาศพระศาสนา
เพราะท่านเป็นผู้ชำนาญเตโชธาตุสมาบัติ สามารถแสดงฤทธิ์เกี่ยวกับไฟได้หลายอย่าง เช่นทำให้เกิดแสงสว่างในที่มืด และทำให้เกิดความมืดในที่สว่าง เป็นต้น จึงทำให้ประชาชนผู้พบเห็นเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก
๕. เอตทัคคะ
พระศาสดาทรงปรารภความสามารถในการเข้าเตโชธาตุสมาบัติของท่าน จึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า พระสาคตเถระเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในการเข้าเตโชสมาบัติ
๖. ธรรมวาทะ
ต้นไม้ทุกชนิด ย่อมงอกงามบนแผ่นดินฉันใด สัตว์ผู้มีปัญญา ก็ย่อมงอกงามในศาสนาของพระชินเจ้า ฉันนั้น องค์พระสัพพัญญู ผู้ทรงนำหมู่ของผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงถอนคนเป็นอันมากออกจากทางที่ผิด แล้วตรัสบอกทางที่ถูกให้
๗. ปรินิพพาน
พระสาคตเถระ ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาตลอดเวลาที่เป็นภิกษุ สุดท้ายก็ได้ปรินิพพานจากโลกไปตามสัจธรรมของชีวิต
****************************
๓๕. ประวัติ พระอุปเสนเถระ
๑. สถานะเดิม
พระอุปเสนเถระ นามเดิม อุปเสนมาณพ หรือ อุปเสนวังคันตบุตร
บิดาชื่อ วังคันตพราหมณ์
มารดาชื่อ สารีพราหมณี
เกิดที่หมู่บ้านนาลันทา แคว้นมคธ เป็นคนวรรณะพราหมณ์
๒. ชีวิตก่อนบวช
อุปเสนมาณพมีพี่ชาย ๒ คน คือ อุปติสสะและจุนทะ น้องชาย ๑ คน คือ เรวตะ น้องสาว ๓ คน คือ นางจาลา นางอุปจารา และนางสุปจารา ครั้นเติบโตแล้วได้ศึกษาไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์
๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
อุปเสนมาณพก็เหมือนกับพระสาวกโดยมาก คือ ได้ฟังกิตติศัพท์ของพระศาสดาจึงเข้าไปเฝ้าฟังพระธรรมเทศนาแล้ว เกิดศรัทธา ปรารถนาจะบวชในพระพุทธศาสนา พระศาสดาทรงบวชให้ตามประสงค์
๔. การบรรลุธรรม
ครั้นได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังไม่ทันได้พรรษา คิดว่าจะสร้างพระอริยะให้พระศาสนาให้มากที่สุด จึงบวชให้กุลบุตรคนหนึ่ง แล้วพาไปเฝ้าพระศาสดา ถูกพระศาสดาติเตียนว่าไม่เหมาะสม เพราะอุปัชฌาย์ก็ยังไม่ได้พรรษา สิทธิวิหาริกก็ยังไม่ได้พรรษา ท่านคิดว่าเราอาศัยบริษัทจึงถูกพระศาสดาติเตียน แต่เราก็จะอาศัยบริษัทนี่แหละทำให้พระศาสดาเลื่อมใส จึงพากเพียรภาวนา ในไม่ช้าได้สำเร็จพระอรหัตผลสมาทานธุดงค์และสอนผู้อื่นให้สมาทานด้วย มีสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกมากมายคราวนี้พระศาสดาทรงสรรเสริญท่าน
๕. งานประกาศพระศาสนา
พระอุปเสนเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตผลแล้ว ได้สมาทานประพฤติธุดงคธรรมทั้งหมด และสอนผู้อื่นให้สมาทานประพฤติธุดงคธรรมนั้นด้วย จึงเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของประชาชนทุกชั้นวรรณะ และพากันบวชในสำนักของท่าน
๖. เอตทัคคะ
พระศาสดาทรงอาศัยความที่ท่านเป็นที่เลื่อมใสของคนทุกชั้นวรรณะนั้น จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใสโดยรอบด้าน
๗. ธรรมวาทะ
ในที่ชุมชน ผู้เป็นบัณฑิต พึงแสดงตนที่ไม่โง่ ที่ไม่ได้เป็นใบ้ เหมือนกับคนโง่และคนเป็นใบ้ ( ในบางครั้ง ) ไม่ควรพูดยืดยาวเกินเวลา คนที่ไม่เสียใจกับสิ่งที่ผ่านไป ไม่เพ้อฝันถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ดำเนินชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ผู้นั้นท่านเรียกว่า สันโดษ
๘. ปรินิพพาน
พระอุปเสนเถระ ได้เป็นพระขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ เสร็จกิจส่วนตัวของท่านแล้วได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชน ตามสมควรแก่เวลา แล้วได้ปรินิพพานดับไปเหมือนกับไฟที่หมดเชื้อ
*************************************
๓๖. ประวัติ พระขทิรวนิยเรวตเถระ
๑. สถานะเดิม
พระขทิรวนิยเรวตเถระ นามเดิม เรวตะ แต่เมื่อบวชแล้วท่านพำนักอยู่ในป่าไม้ตะเคียน จึงมีชื่อว่า ขทิรวนิยเรวตะ
บิดาชื่อ วังคันตพราหมณ์
มารดาชื่อ นางสารีพราหมณี
เกิดที่บ้านลันทา แคว้นมคธ เป็นคนวรรณะพราหมณ์
๒. ชีวิตก่อนบวช
เรวตะ เป็นบุตรชายคนเล็กของครอบครัว เหลืออยู่คนเดียว ส่วนคนอื่นบวชกันหมดแล้ว บิดาและมารดาจึงหาวิธีผูกมัด โดยจัดให้แต่งงานตั้งแต่มีอายุได้ ๘ ขวบ
๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
ครั้นถึงวันแต่งงาน บิดาและมารดาแต่งตัวให้เรวตะอย่างภูมิฐาน นำไปยังบ้านของนางกุมาริกา ขณะทำพิธีมงคลสมรสรดน้ำสังข์ ได้นำญาติผู้ใหญ่ทั้ง ๒ ฝ่ายไปอวยพร ถึงลำดับยายแห่งนางกุมาริกา ซึ่งมีอายุ ๑๒๐ ปี เข้ามาอวยพร คนทั้งหลายให้พรคู่สมรสทั้งสองว่า ขอให้มีอายุมั่นขวัญยืนเหมือนกับยายนี้
เรวตะได้ฟังดังนั้น มองดูคุณยาย ผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยว หลังโกง เนื้อตัวสั่นเทา รู้สึกสลดใจกับการที่ตนเองจะต้องอยู่ในสภาพเช่นนั้นในวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อเสร็จพิธีญาติจึงพาเขากลับบ้าน ในระหว่างทางเขาได้หาอุบายหนีไปยังสำนักของภิกษุผู้อยู่ป่า ขอบรรพชากับท่าน ภิกษุนั้นก็จัดการบวชให้ เพราะพระสารีบุตรได้สั่งไว้ว่า ถ้าน้องชายของท่านมาขอบวชให้บวชได้เลย เพราะโยมบิดาและมารดาของท่านเป็นมิจฉาทิฏฐิ
๔. การบรรลุธรรม
สามเณรเรวตะ ครั้นอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ เรียนกรรมฐานในสำนักอุปัชฌาย์อาจารย์แล้ว ได้ไปอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเตียน บำเพ็ญเพียรภาวนา ในไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์
๕. งานประกาศพระศาสนา
พระเรวตเถระนี้ แม้ตำนานไม่ได้กล่าวว่าท่านได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกก็ตาม แต่ปฏิปทาเกี่ยวกับการอยู่ป่าของท่าน ก็นำมาซึ่งความเลื่อมใสของผู้ที่ได้รู้จักในสมัยนั้น และได้ศึกษาประวัติของท่านในภายหลังต่อมา แม้แต่องค์พระศาสดาและมหาสาวกยังไปเยี่ยมท่านถึงป่าไม้ตะเคียนที่ท่านจำพรรษาอยู่
๖. เอตทัคคะ
เพราะท่านพระขทิรวนิยเรวตเถระนี้ชอบอาศัยอยู่ในป่า องค์พระศาสดาจึงทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า
๗. ธรรมวาทะ
ตั้งแต่อาตมภาพ สละเรือนออกบวช ยังไม่เคยรู้จักความคิดอันเลวทรามประกอบด้วยโทษ ไม่เคยรู้จักความคิดว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงเดือดร้อน จงถูกฆ่า จงประสบความทุกข์ อาตมภาพรู้จักแต่การเจริญเมตตาจิต อย่างหาประมาณมิได้ ซึ่งอาตมภาพค่อย ๆ สะสมมาโดยลำดับ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
๘. ปรินิพพาน
พระขทิรวนิยเรวตเถระ ครั้นสำเร็จพระอรหัตผลแล้ว ได้ปฏิบัติหน้าที่ของพระสงฆ์เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชนตามสมควรแก่เวลา แล้วได้ปรินิพพานจากไปตามสัจธรรมของชีวิต
*********************************
๓๗. ประวัติ พระสีวลีเถระ
๑. สถานเดิม
พระสีวลีเถระ นามเดิม สีวลี
บิดาไม่ปรากฏนาม
มารดา พระนางสุปปวาสา พระธิดาเจ้าเมืองโกลิยะ
เขาอยู่ในครรภ์มารดาถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ทำให้มารดามีลาภสักการะมากและคลอดง่ายที่สุด
๒. ชีวิตก่อนบวช
ย้อนไปถึงก่อนที่ท่านจะประสูติ พระมารดาเสวยทุกขเวทนาหนักมาก จึงให้พระสวามีไปบังคมทูลพระศาสดา พระศาสดาตรัสประทานพรให้ว่า ขอพระธิดาแห่งโกลิยวงศ์จงมีความสุข ปราศจากโรคาพยาธิ ประสูติพระโอรสหาโรคมิได้เถิด พระนางก็ประสูติพระโอรสสมพุทธพรทุกประการ แล้วได้ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน
๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อสีวลีกุมารประสูติ พระมารดาและพระประยุรญาติได้ถวายมหาทาน ๗ วัน ในวันที่ ๗ พระสารีบุตรเถระจึงชวนเธอบวช เธอตอบว่าถ้าบวชได้ก็จะบวช พระมารดาทรงทราบก็ดีใจ อนุญาตให้พระเถระบวชกุมารได้ตามประสงค์ พระเถระจึงนำกุมารไปบวชเป็นสามเณร ตั้งแต่กุมารบวชแล้ว ลาภสักการะได้เกิดแก่ภิกษุทั้งหลายมากมาย
๔. การบรรลุธรรม
พระสีวลีได้ฟังตจปัญจกกรรมฐานจากพระสารีบุตรเถระ แล้วบรรลุพระอรหัตผลในเวลาปลงผม ท่านกล่าวว่า จดมีดโกนครั้งแรกบรรลุโสดาปัตติผล ครั้งที่ ๒ บรรลุสกิทาคามิผล ครั้งที่ ๓ บรรลุอนาคามิผล พอปลงผมเสร็จบรรลุพระอรหัตผล
๕. งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระสีวลีนั้นเป็นพระที่มนุษย์และเทวดาเคารพนับถือบูชามาก จึงเป็นพระที่มีลาภมาก แต่มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องของบุญเก่า แต่ถึงอย่างไรก็ตามเหตุการณ์อย่างนี้ก็ต้องถือว่าท่านมีส่วนสำคัญในการประกาศพระศาสนา เพราะทำให้คนที่ยังไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาเกิดศรัทธา เพราะยากจะหาพระที่มีบุญญาธิการเหมือนท่าน
๖. เอตทัคคะ
เพราะเหตุที่ท่านเป็นผู้มีลาภมาก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือจะไปที่ไหนช่วยให้ภิกษุทั้งหลาย ไม่ขัดสนปัจจัยลาภไปด้วย พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีลาภมาก
๗. ปรินิพพาน
พระสีวลีเถระได้บรรลุประโยชน์สูงสุดของตนแล้ว ได้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อมหาชน จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต จึงได้ปรินิพพานดับสังขารสู่บรมสุขอย่างถาวร
**************************************
๓๘. ประวัติ พระวักกลิเถระ
๑. สถานะเดิม
พระวักกลิเถระ นามเดิม วักกลิ
บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม เป็นพราหมณ์ชาวสาวัตถี
๒. ชีวิตก่อนบวช
เมื่อเติบโตเขาได้ศึกษาลัทธิพราหมณ์ เรียนจบเวท ๓ แต่ไม่ได้ตั้งตัวเป็นคณาจารย์สั่งสอนใคร
๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
วันหนึ่ง เขาเห็นพระศาสดาแวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จดำเนินไป ในพระนคร สาวัตถี ไม่อิ่มด้วยการดูพระรูปสมบัติ จึงติดตามพระองค์ไปทุกหนทุกแห่ง ในที่สุดตัดสินใจว่าต้องบวชจึงจะได้เห็นพระศาสดาตลอดเวลา เขาจึงขอบวช แล้วได้บวชในสำนักพระศาสดา
๔. การบรรลุธรรม
ตั้งแต่บวชแล้ว พระวักกลิติดตามดูพระศาสดาตลอดเวลา เว้นเวลาฉันอาหารเท่านั้น พระศาสดาทรงรอคอยความแก่กล้าแห่งญาณของเธอ จึงไม่ตรัสอะไร ครั้นทราบว่าญาณของเธอแก่กล้าแล้ว จึงได้ตรัสแก่เธอว่า วักกลิ จะมีประโยชน์อะไรกับการดูร่างกายที่เปื่อยเน่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นย่อมเห็นธรรม ดูก่อนวักกลิบุคคลผู้เห็นธรรมชื่อว่าเห็นเรา บุคคลผู้เห็นเราชื่อว่า ย่อมเห็นธรรม แม้พระศาสดาตรัสอย่างนี้ ท่านก็ยังไม่เลิกดูพระศาสดา ทรงพระดำริว่า ภิกษุนี้ถ้าไม่ได้ความสังเวชคงไม่บรรลุธรรม จึงทรงขับไล่ว่า วักกลิเธอจงหลีกไป ท่านเสียใจมากขึ้นไปบนภูเขาจะฆ่าตัวตาย พระองค์ทรงเปล่งพระรัศมีไปโปรด ตรัสเรียกเธอว่า วักกลิ เธอรู้สึกปลื้มใจมาก นึกถึงพระดำรัสของพระศาสดา ข่มปีติได้แล้วบรรลุพระอรหัตผล
๕. เอตทัคคะ
เพราะพระวักกลิเถระบรรลุพระอรหัตผลด้วยศรัทธาในพระศาสดา ฉะนั้นจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นเลิศแห่งภิกษุผู้เป็นสัทธาวิมุตติ ( พ้นจากกิเลสเพราะสัทธา )
๖. ปรินิพพาน
พระวักกลิเถระ ครั้นดำรงอยู่ตามสมควรแก่เวลาของท่าน ก็ได้ปรินิพพานจากไป เหลือไว้แต่ปฏิปทาที่ควรค่าแก่การศึกษาของปัจฉิมชนตาชนผู้สนใจพระพุทธศาสนาต่อไป
****************************
๓๙. ประวัติ พระพาหิยทารุจีริยเถระ
๑. สถานะเดิม
พระพาหิยทารุจีริยเถระ นามเดิม พาหิยะ ภายหลังเขานุ่งเปลือกไม้ จึงได้ชื่อว่า พาหิยทารุจีริยะ
บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม เป็นชาวพาหิยรัฐ วรรณะแพศย์
๒. ชีวิตก่อนบวช
เมื่อเติบโต เขามีอาชีพค้าขาย วันหนึ่งนำสินค้าลงเรือไปขายยังจังหวัดสุวรรณภูมิ เรืออับปาง คนในเรือเสียชีวิตทั้งหมด เหลือแต่เขาคนเดียว เกาะไม้กระดานแผ่นหนึ่งไว้ได้ ลอยคอไปขึ้นที่ท่าเรือชื่อสุปารกะ ผ้านุ่งผ้าห่มถูกคลื่นซัดหลุดหายไปหมด จึงเอาใบไม้บ้าง เปลือกไม้บ้าง ถักพอปิดร่างกาย ถือภาชนะกระเบื้องดินเผาเที่ยวขอทานเลี้ยงชีพ คนทั้งหลายเห็นเขาแต่งตัวแปลก ๆ คิดว่าเป็นพระอรหันต์ จึงนำอาหารไปให้มากมาย บางคนนำเอาผ้าไปให้ แต่เขาไม่ยอมนุ่งผ้า คงนุ่งผ้าเปลือกไม้ต่อไป และสำคัญผิดคิดว่าเป็นพระอรหันต์
๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
ครั้งนั้น เทวดาตนหนึ่ง ผู้เคยบำเพ็ญสมณธรรมร่วมกันมาในชาติก่อน
แล้วได้ไปเกิดเป็นพรหมชั้นสุทธาวาส ได้ลงมาให้สติแก่เขาว่า พาหิยะ ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ดอก แม้แต่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้บรรลุพระอรหัตผลท่านก็ยังไม่รู้เลย ผู้เป็นพระอรหันต์และรู้ข้อปฏิบัติที่จะทำให้บรรลุพระอรหัตผล อยู่ที่พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถีเขาสลดใจ ได้ไปเฝ้าพระศาสดาตามคำของเทวดา พบพระศาสดากำลังทรงดำเนินบิณฑบาตอยู่ รีบร้อนวิงวอนจะฟังพระธรรมเทศนาให้ได้ พระศาสดาทรงปฏิเสธถึง ๓ ครั้ง ครั้นทรงทราบว่า ญาณของเขาแก่กล้าแล้ว และปีติของเขาสงบลงแล้วจึงได้ตรัสว่า พาหิยะ ขอให้เธอศึกษาดังนี้ เมื่อเห็นขอให้เป็นเพียงการเห็น ( ทิฏเฐ
ทิฏฐมตตํ ภวิสสติ )
ในเวลาจบเทศนา เขายืนอยู่กลางถนนนั่นเอง ส่งญาณไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับปฏิสัมภิทา ได้ทูลขอบรรพชากับพระศาสดา แต่มีบาตรและจีวรยังไม่ครบ จึงไปหาบาตรและจีวร กำลังดึงท่อนผ้าเก่าจากกองขยะ อมุนษย์คู่เวรกันเข้าสิงในร่างแห่งแม่โคตัวหนึ่ง ทำร้ายท่านจนถึงสิ้นชีวิต จึงไม่ทันได้บวช
๔. งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระพาหิยะรุจีริยเถระแม้ท่านจะยังไม่ได้บวชตามพิธีอุปสมบทกรรมตามพระวินัย แต่ท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตผล จัดเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้ และมีประวัติอยู่ในจำนวนพระอสีติมหาสาวก พระศาสดาเสด็จออกจากเมืองสาวัตถี ทอดพระเนตรเห็นศพของพระพาหิยะล้มอยู่ในกองขยะ จึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายนำไปทำการฌาปนกิจ แล้วให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ที่ทางสี่แพร่ง ภิกษุทั้งหลายสงสัยว่าท่านบรรลุมรรคอะไรเป็นสามเณรหรือเป็นภิกษุ พระศาสดาตรัสว่า พาหิยะปรินิพพานแล้วทุกสิ่งทุกอย่างจึงจบลงด้วยดี ประวัติพระพาหิยะทารุจีริยเถระจึงเป็นการประกาศหลักการทางพระพุทธศาสนาว่า เมื่อปฏิบัติจนได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว จะบวชตามพระวินัยหรือ ไม่ก็ตาม ก็จัดเป็นพระสงฆ์ได้ทั้งนั้น คือเป็น อริยสงฆ์
๕. เอตทัคคะ
เพราะพระพาหิยทารุจีริยเถระ ได้บรรลุธรรมเร็วพลัน เพียงฟังพระพุทธพจน์ว่า ทิฏเฐ ทิฏฐมตตํ ภวิสสติ ( เมื่อเห็นขอให้เป็นเพียงการเห็น ) พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้รู้เร็วพลัน
๖. บุญญาธิการ
แม้พระพาหิยทารุจีริยเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน ในกาลเวลาแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เห็นพระพุทธองค์ทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้รู้เร็วพลัน จึงได้บำเพ็ญกุศลแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น อันพระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า จะได้สมประสงค์ในสมัยแห่งพระพุทธองค์ทรงพระนามว่า โคดม และก็ได้สมตามความปรารถนา ดังพุทธวาจาทุกประการ
๗. ธรรมวาทะ
ผู้ท่องเที่ยวไปในสงสาร ไม่เคยได้อาหาร คือ คำข้าว เลยหรือ ? ข้าพระองค์ไม่รู้อันตรายแห่งชีวิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า หรือของข้าพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด
๘. ปรินิพพาน
พระพาหิยทารุจีริยเถระ ได้ถูกอมนุษย์ผู้มีเวรต่อกันเข้าสิงในร่างแม่โคชนในขณะกำลังเก็บผ้าบังสุกุลในกองขยะแล้วปรินิพพาน
**************************
๔๐. ประวัติ พระพากุลเถระ
๑. สถานะเดิม
พระพากุลเถระ นามเดิม พากุล แปลว่า คนสองตระกูล
บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม เป็นเศรษฐีชาวเมืองโกสัมพี
๒. ชีวิตก่อนบวช
เมื่อพระพากุละเกิดได้ ๕ วัน มีการทำมงคล โกนผมไฟและตั้งชื่อ พี่เลี้ยงได้พาไปอาบน้ำที่ท่าน้ำแม่น้ำคงคา ปลาได้กินทารกนั้น แล้วแหวกว่ายไปตามแม่น้ำ แต่เด็กนั้นเป็นผู้มีบุญ ทางศาสนาเรียก ปัจฉิมภวิกสัตว์ แปลว่า ผู้เกิดในภพสุดท้าย ถ้ายังไม่บรรลุพระอรหัตทำอย่างไรก็ไม่ตาย
ปลานั้นว่ายไปตามแม่น้ำ ไปติดข่ายชาวประมงในพระนครพาราณสี ชาวประมงนั้นจึงนำเอาปลานั้นไปขาย ในที่สุดเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่ง ได้ซื้อเอาไว้ เมื่อแหวะท้องปลาก็พบทารกน่ารักเพศชายนอนอยู่ เพราะเศรษฐีนั้นไม่มีบุตรและธิดา จึงรู้สึกรักเด็กนั้นมาก ได้เลี้ยงดูไว้อย่างดี
ครั้นต่อมา เศรษฐีผู้เป็นบิดาและมารดาเดิมได้ทราบเรื่องนั้น จึงไปยังบ้านของเศรษฐีชาวพาราณสี พบเด็กจำได้ว่าเป็นลูกของตน จึงได้ขอคืน แต่เศรษฐีชาวพาราณสีไม่ยอม เมื่อตกลงกันไม่ได้จึงถวายฎีกาต่อพระเจ้าพาราณสี พระองค์จึงทรงวินิจฉัยให้ตระกูลทั้งสองผลัดเปลี่ยนกันเลี้ยงเด็กนั้นคนละ ๔ เดือน เด็กนั้นค่อย ๆ เติบโตขึ้นโดยลำดับ
๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระศาสดา เสด็จไปประกาศพระพุทธศาสนาในพระนครพาราณสี พากุลเศรษฐีพร้อมด้วยบริวารได้พากันไปเฝ้า แล้วได้ฟังพระธรรมเทศนาเกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระศาสดาทรงประทานให้ตามประสงค์
๔. การบรรลุธรรม
พระพากุละ ครั้นบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ตั้งใจรับฟังพระโอวาทจากพระศาสดา ไม่ประมาท พากเพียรภาวนา เจริญวิปัสสนากรรมฐานเพียง ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์
๕. งานประกาศพระศาสนา
พระพากุลเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตผลจบกิจส่วนตัวของท่านแล้ว ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา ในฐานะเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ท่านเป็นผู้ที่มีอายุยืนที่สุด บวชเมื่ออายุ ๘๐ ปี เป็นพระอีก ๘๐ พรรษา ตามนี้ท่านจึงต้องมีอายุ ๑๖๐ ปี ตำนานกล่าวว่า ท่านไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ไม่ต้องฉันยารักษาโรคเลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะท่านได้สร้างเว็จจกุฎีถวายสงฆ์ และได้บริจาคยาให้เป็นทาน ท่านเป็นพระรูปหนึ่งในจำนวน ๕๐๐ รูป ที่เข้าร่วมสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก
๖. เอตทัคคะ
เพราะพระพากุลเถระ เป็นผู้ที่มีโรคน้อย และมีอายุยืนดังกล่าวมา พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีโรคาพาธน้อย
๗. บุญญาธิการ
แม้พระพากุลเถระนี้ ก็ได้สร้างสมบุญญาธิการอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีโรคาพาธน้อย อยากได้ตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง จึงได้สร้างบุญกุศลอันจะอำนวยผลให้เป็นเช่นนั้น แล้วตั้งความปรารถนา พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า จะสำเร็จสมปณิธานในพุทธกาลแห่งพระสมณโคดม และก็ได้สมจริงทุกประการ
๘. ธรรมวาทะ
ผู้ผลัดวันประกันพรุ่ง ย่อมทำลายเหตุแห่งความสุข และย่อมเดือดร้อนในภายหลัง บุคคลพูดอย่างไรพึงทำอย่างนั้น อย่าเป็นคนพูดอย่างทำอย่าง เพราะบุคคลผู้พูดอย่างทำอย่าง ผู้รู้ย่อมดูหมิ่นได้
พระนิพพานอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ไม่มีความโศก ไม่มีธุลี คือ กิเลส เกษม ( ไม่ถูกกิเลสรบกวน ) ดับความทุกข์ทั้งสิ้น เป็นสุขที่แท้จริง
๙. ปรินิพพาน
พระพากุลเถระ ครั้นได้สำเร็จอรหัตผลแล้ว ได้ปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ แก่พระศาสนาและชาวโลกจนถึงอายุขัยของท่านแล้วได้ปรินิพพานจากไป ตามตำนานกล่าวว่าก่อนปรินิพพานได้เข้าเตโชสมาบัติ นั่งปรินิพพานในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ เมื่อปรินิพพานแล้วไฟได้ไหม้สรีระร่างของท่านหมดไป ณ ที่นั่นเอง
*******************************
วิชาธรรม ธ.ศ. โท
ทุกกะ คือ หมวด ๒
กัมมัฏฐาน ๒
สมถกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานเป็นอุบายสงบใจ
วิปัสสนากัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา
อง. ทุก. ๒๐/๗๗
อธิบาย : กัมมัฏฐานเนื่องด้วยบริกรรม อันเป็นอุบายทำใจให้สงบ ไม่เกี่ยวกับปัญญา จัดเป็นสมถกัมมัฏฐาน. กัมมัฏฐานเนื่องด้วยทัศนะทางใจในคติของธรรมดา ปรารภสภาวธรรมและสามัญญลักษณะ จัดเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ภาวนา ๒ ก็เรียก
กาม ๒
กิเลสกาม กิเลสเป็นเหตุใคร่
วัตถุกาม พัสดุอันน่าใคร่.
ขุ. มหา. ๒๙/๑
อธิบาย : กิเลสกาม ได้แก่กิเลสให้ใคร่ คือ ราคะ โลภะ คือความอยากได้ อิสสา คือความริษยาหรือความหึง อรติ ความไม่ยินดีด้วย อสันตุฏฐิ ความไม่สันโดษ เป็นต้น วัตถุกาม ได้แก่กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ
บูชา ๒
อามิสบูชา บูชาด้วยอามิส ( คือสิ่งของ )
ปฏิปัตติบูชา บูชาด้วยปฏิบัติตาม.
อง. ทุก. ๒๐/๑๑๗
ปฏิสันถาร ๒
อามิสปฏิสันถาร ปฏิสันถารด้วยอามิส (คือสิ่งของ)
ธัมมปฏิสันถาร ปฏิสันถารโดยธรรม
อง. ทุก. ๒๐/๑๑๖
อธิบาย : ปฏิสันถาร ได้แก่ การต้อนรับแขกผู้มาถึงถิ่น อามิสปฏิสันถารได้แก่ต้อนรับด้วยให้สิ่งของ เช่น ให้น้ำร้อนหมากพลู อาหารเป็นต้น ธัมมปฏิสันถาร แก้กันมาว่า กล่าวธรรมให้ฟังหรือแนะนำกันในทางธรรม ข้าพเจ้าเห็นไม่ใช่อาการรับแขก มติของข้าพเจ้า ได้แก่ต้อนรับโดยควรแก่ฐานะของแขกผู้มา ควรลุกรับกราบไหว้ก็ทำ ไม่ควรทำอย่างนั้น ก็ทำความเอื้อเฟื้อด้วยประการอื่น แม้เจ้าถิ่นมีปรารถนาดี แต่ทำไม่ควรแก่ฐานะของแขก การปฏิสันถารนั้นอาจเสีย เช่นแขกเป็นคนชั้นสูง เจ้าถิ่นทำการต้อนรับอย่างคนสามัญ ดูเป็นไม่สำคัญในแขกผู้นั้นเลย อีกผ่ายหนึ่ง แขกเป็นคนสามัญ เจ้าถิ่นต้อนรับแข็งแรง อย่างทำแก่แขกชั้นสูง ดูเป็นตื่นหรือเซอะไป ธัมมปฏิสันถาร หมายเอาการต้อนรับที่ทำพอดีสมแก่ฐานะของแขก
สุข ๒
กายิกสุข สุขทางกาย (สุขเกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส)
เจตสิกสุข สุขทางใจ. ( สุขเกิดจากการปฏิบัติธรรม )
อง. ทุก. ๒๐/๑๐๑
ติกะ หมวด ๓
อกุศลวิตก ๓
กามวิตก ความตริในทางกาม
พยาบาทวิตก ความตริในทางพยาบาท
วิหิงสาวิตก ความตริในทางเบียดเบียน
อง. ฉกก. ๒๒/๔๙๖.
อธิบาย : ความตริประกอบด้วยกามราคะ เช่นคิดแส่ไปในการทำกาเมสุมิจฉาจาร และทำทุราจารผิดประเพณี และประกอบด้วยอภิชฌา เช่นคิดแส่ไปในทางหาลาภอันไม่ชอบธรรม จัดเป็นกามวิตก ความตริประกอบด้วยพยาบาท มีโทสะเป็นมูล คือคิดทำลายหรือตัดรอนผู้อื่น จัดเป็นพยาบาทวิตก ความตริประกอบด้วยเจตนาเป็นเหตุทำความลำบากให้แก่ผู้อื่น มีโมหะเป็นมูล เช่นใช้คนหรือสัตว์พาหนะเกินพอดี ไม่ปรานีไม่คิดถึงความลำบากของเขา ของมัน หรือแสวงหาความสนุกเพื่อตนเองในทางลำบากของผู้อื่น จัดเป็นวิหิงสาวิตก
กุศลวิตก ๓
เนกขัมมวิตก ความตริในทางพรากจากกาม
อพยาบาทวิตก ความตริในทางไม่พยาบาท
อวิหิงสาวิตก ความตริในทางไม่เบียดเบียน
อธิบาย : ความตริเป็นไปเพื่อทำใจไม่ให้ลุอำนาจแก่กิเลสกามและไม่ติดอยู่ในวัตถุกาม จัดเป็นเนกขัมมวิตก แต่เนกขัมมศัพท์นี้ท่านหมายเอาออกบวช เพราะความมุ่งหมายของผู้บวช ย่อมเป็นไปในทางนั้น ความตริเป็นไปด้วยอำนาจเมตตาในผู้อื่น ปรารถนาความดีความงามเพื่อเขา จัดเป็น อพยาบาทวิตก ความตริเป็นไปด้วยอำนาจกรุณาในผู้อื่น จะทำอะไร ๆ เนื่องด้วยผู้อื่น เป็นต้นว่าจะใช้คนหรือสัตว์ มีปรานีคิดถึงความลำบากของเขาของมัน ไม่ใช้ตรากตรำ ไม่ทำความลำบากให้แก่เขาแก่มันโดยไม่จำเป็น จัดเป็นอวิหิงสาวิตก
อัคคิ ( ไฟ ) ๓
ราคัคคิ ไฟคือราคะ
โทสัคคิ ไฟคือโทสะ
โมหัคคิ ไฟคือโมหะ.
ขุ. อุ. ๒๕/๓๐๑.
อธิบาย : กิเลส ๓ ประเภทนี้ จัดเป็นอัคคิ เพราะเป็นสภาพเผาลนสันดานให้ร้อน.
อธิปเตยยะ ๓
อัตตาธิปเตยยะ ความมีตนเป็นใหญ่
โลกาธิปเตยยะ ความมีโลกเป็นใหญ่
ธัมมาธิปเตยยะ ความมีธรรมเป็นใหญ่.
องฺ ติก. ๒๐/๑๐๑.
อธิบาย : อัตตาธิปเตยยะนั้น พึงเห็นเช่นคนจะทำบุญ ปรารภภาวะของตนผู้เป็นอิสระ ทำด้วยมุ่งให้สมภาวะของตน ผู้ทำมุ่งผลอันจะได้แก่ตน หรือมุ่งความสะดวกแห่งตนก็เช่นนั้น โลกาธิปเตยยะนั้น พึงเห็นเช่นผู้นั้นทำบุญ ด้วยมุ่งจะให้ผู้อื่นสรรเสริญ หรือไม่ทำ เกรงเขาจะนินทา หรือทำตามความนิยมของเขาทั้งหลายธัมมาธิปเตยยะนั้น พึงเห็นเช่นผู้ทำไม่มุ่งอย่างอื่น เป็นแต่เห็นสมควรเห็นว่าถูกก็ทำหรือทำด้วยอำนาจเมตตากรุณาเป็นอาทิ
ญาณ ๓
สัจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้อริยสัจ
กิจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันควรทำ
กตญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันทำแล้ว.
สํ มหา. ๑๙/๕๓๐
อธิบาย : ปรีชาหยั่งรู้ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา จัดเป็นสัจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกข์เป็นธรรมชาติที่ควรกำหนดรู้ ทุกขสมุทัย เป็นสภาพที่ควรละเสีย ทุกขนิโรธ เป็นสภาพที่ควรทำให้แจ้ง ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นธรรมชาติที่ควรทำให้เกิด จัดเป็นกิจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจ ๔ อย่าง นั้นว่าทำสำเร็จแล้ว จัดเป็นกตญาณ ญาณ ๓ นี้ เป็นไปในสัจจะ ๔ อย่างละ ๓ จึงเป็น ๑๒ เรียกว่าอริยสัจมีอาการ ๑๒
ตัณหา ๓
กามตัณหา ตัณหาในกาม
ภวตัณหา ตัณหาในภพ
วิภวตัณหา ตัณหาในปราศจากภพ.
องฺ ฉกฺก. ๒๒/๔๙๔.
อธิบาย : ความอยากได้อยากพ้นอย่างแรง ที่เรียกว่าทะยาน ว่าดิ้นรน จัดเป็นตัณหา ความอยากได้วัตถุกามอันยังไม่ได้ และความหมกมุ่นอยู่ในวัตถุกามอันได้แล้ว จัดเป็นกามตัณหา ความอยากเป็นอยู่ในภพที่เกิดด้วยอำนาจความอาลัย และความอยากเกิดในภพที่ปรารถนาต่อไป จัดเป็นภวตัณหา ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ สงเคราะห์เข้าในประเภทนี้ด้วย ความอยากไม่เป็นอยู่ในภพที่เกิด คือความอยากตายเสีย ด้วยอำนาจความเบื่อหน่ายและความอยากดับสูญไม่เกิดในภพนั้น ๆ อีก จัดเป็นวิภวตัณหา ความไม่อยากเป็นนั่นเป็นนี่ สงเคราะห์เข้าในประเภทนี้ด้วย
ปาฏิหาริยะ ๓
อิทธิปาฏิหาริยะ ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์
อาเทสนาปาฏิหาริยะ ดักใจเป็นอัศจรรย์
อนุสาสนีปาฏิหาริยะ คำสอนเป็นอัศจรรย์.
ที. สี. ๒/๒๗๓.
อธิบาย : การแสดงฤทธิ์ได้พ้นวิสัยของสามัญมนุษย์ เช่นนิรมิตตัวได้ต่าง ๆ ล่อง หนได้ ดำดินได้ เดินน้ำได้ เหาะได้ ท่านจัดเป็นปาฏิหาริยะอย่างหนึ่ง แต่หมายเอาการแสดงฤทธิ์โต้ง ๆ อย่างนี้ หรือหมายเอาการแสดงฤทธิ์เป็นธรรมาธิษฐาน เปรียบด้วยบุคลาธิษฐาน ขอฝากปราชญ์ไว้เพื่อสันนิษฐาน. การดักใจทายใจคนได้ ท่านจัดเป็นปาฏิหาริยะอย่างหนึ่ง. คำสั่งสอนอันอาจจูงใจคนให้นิยมไปตาม ท่านจัดเป็นปาฎิหาริยะอย่างหนึ่ง. ปาฏิหาริยะ ๓ นี้ ท่านว่ามีในสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า และยกย่องอนุสาสนีปาฏิหาริยะว่า เป็นอัศจรรย์ยิ่งกว่า ๒ อย่างข้างต้น
ปิฎก ๓
พระวินัยปิฎก หมวดพระวินัย
พระสุตตันปิฎก หมวดพระสุตตันตะ ( หรือพระสูตร )
พระอภิธรรมปิฎก หมวดพระอภิธรรม.
วิ. ปริวาร. ๘/๑๒๔.
อธิบาย : ศัพท์ว่าปิฎก เป็นชื่อแห่งกระจาดหรือตระกร้า เอามาใช้ในที่นี้ ด้วยหมายเอาความว่าเป็นหมวดที่รวบรวม ดุจกระจาดเป็นที่รวมสิ่งของต่าง ๆ มีผักต่าง ๆ ที่ซื้อมาจากตลาดเป็นต้น. ปาพจน์ในที่นี้ท่านแบ่งเป็น ๓ พระวินัยคงที่ พระธรรมแบ่งออกเป็น ๒ หมวด ที่แสดงโดยบุคลาธิษฐาน หรือเจือด้วยบุคลาธิษฐาน จัดเป็นพระสุตตันตะ ๑ หมวดที่แสดงโดยธรรมาธิษฐานล้วน จัดเป็นพระอภิธรรม ๑ ทั้ง ๓ นี้ เป็นหมวดหนึ่ง ๆ ที่รวบรวมปกรณ์มีประเภทเดียวกัน จึงจัดเป็นปิฎกหนึ่ง ๆ
พุทธจริยา ๓
โลกัตถจริยา ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก
ญาตัตถจริยา ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่พระญาติ
หรือโดยฐานเป็นพระญาติ
พุทธัตถจริยา ทรงประพฤติประโยชน์ โดยฐานเป็นพระพุทธเจ้า.
มโน. ปุ. ปฐม. ๑๐๔.
อธิบาย : โลกัตถจริยานั้น ได้แก่ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่มหาชนที่นับว่าสัตว์โลกทั่วไป เช่นทรงแผ่พระญาณเล็งดูสัตว์โลกทุกเช้าค่ำ ผู้ใดปรากฏในข่ายพระญาณ เสด็จไปโปรดผู้นั้น กล่าวสั้นทรงสงเคราะห์คนทั้งหลายโดยฐานเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นับเข้าในข้อนี้
ญาตัตถจริยา ได้แก่ทรงสงเคราะห์พระญาติโดยฐานเป็นพระญาติ เช่นทรงพระอนุญาตให้พวกศากยะผู้เป็นพระญาติและเป็นเดียรถีย์ จะเข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ๔ เดือนก่อน เหมือนพวกเดียรถีย์อื่น นี้เป็นญาตัตถจริยาโดยเฉพาะ เมื่อเพ่งถึงพระพุทธจริยาอันเป็นไปเพื่อสงเคราะห์พระญาติ การเสด็จไปเทศนาโปรดพระญาติ ณ นครกบิลพัสดุ์ก็ดี การเสด็จไปห้ามพระญาติฝ่ายศากยะและโกลิยะผู้วิวาทกันด้วยแย่งน้ำเข้านาก็ดี จัดเข้าในข้อนี้ก็ได้
พุทธัตถจริยานั้น ได้แก่พระพุทธกิจที่ทรงบำเพ็ญให้เป็นประโยชน์แก้มหาชนโดยฐานเป็นพระพุทธเจ้า เช่นทรงบัญญัติสิกขาบท อันเป็นอาทิพรหมจรรย์บ้าง อันเป็นอภิสมาจารบ้าง เพื่อนิคคหะ พวกภิกษุหน้าด้านไม่ละอาย ซึ่งเรียกว่าทุมมังกุผู้เก้อยาก คือผู้ไม่ค่อยรู้จักอายบ้าง เรียกว่าอลัชชี ผู้ไม่มียางอายบ้าง และเพื่อวางระเบียบนำความประพฤติแห่งพวกภิกษุผู้รักดีรักงาม ซึ่งเรียกว่าเปสละบ้าง ผู้มีอายเรียกว่าลัชชีบ้าง และทรงแสดงธรรมประกาศพระศาสนา ให้บริษัททั้งคฤหัสถ์บรรพชิตรู้ทั่วถึงธรรม ประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบมา กล่าวสั้น ทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า นับเข้าในข้อนี้
วัฏฏะ ( วน ) ๓
กิเลสวัฏฏะ วนคือกิเลส
กัมมวัฏฏะ วนคือกรรม
วิปากวัฏฏะ วนคือวิบาก.
อภิ. สงฺ. ๔๖.
อธิบาย : สภาพ ๓ นี้ ได้ชื่อว่า วน เพราะหมุนเวียนกันไป คือกิเลสเกิดขึ้นแล้วให้ทำกรรม ครั้นทำกรรมแล้ว ย่อมได้รับวิบากแห่งกรรม เมื่อได้รับวิบาก กิเลสเกิดขึ้นอีก วนกันไปอย่างนี้ จนกว่าพระอรหัตตมรรคจะตัดให้ขาดลง ทั้ง ๓ นี้เรียกว่า ไตรวัฏฏะ
สิกขา ๓
อธิสีลสิกขา สิกขาคือศีลยิ่ง
อธิจิตตสิกขา สิกขาคือจิตยิ่ง
อธิปัญญาสิกขา สิกขาคือปัญญายิ่ง.
องฺ. ติก. ๒๐/๒๙๔.
อธิบาย : ปฏิปทาที่ตั้งไว้เพื่อศึกษา คือฝึกหัดไตรทวารไปตามชื่อว่าสิกขา.ในเบื้องต้น ควรหัดปฏิบัติรักษามารยาทกายวาจาให้เรียบร้อยปราศจากโทษสมควรแก่หมู่ก่อน นี้จัดเป็นสีลสิกขา. ในลำดับนั้น ควรหัดรักษาจิตให้อยู่ในอำนาจ อาจทำให้แน่แน่วควรแก่การงานในคราวต้องการ นี้จัดเป็นจิตตสิกขา ในที่สุด ควรหัดใช้ปัญญา ให้รอบรู้สภาวธรรม อันเป็นไปด้วยความเป็นเหตุและผลแห่งกันและกัน จัดเป็นปัญญาสิกขา. เพ่งธรรมอันอุกฤษฏ์ เรียกว่า อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
จตุกกะ หมวด ๔
อบาย ๔
นิรยะ นรก
ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน
ปิตติวิสัย มิแห่งเปรต
อสุรกาย พวกอสุระ
ขุ. อิติ. ๒๕/๓๐๑.
อธิบาย : ภูมิกำเนิด หรือพวกอันหาความเจริญมิได้ จัดเป็นอบายนิรยะ ท่านว่าเป็นภูมิที่ลงโทษคนผู้ทำบาปตายแล้วไปเกิดขึ้น ณ ที่นั้น มีนายนิรยบาลเป็นผู้ทำกรรมกรต่าง ๆ ให้ได้ความเดือดร้อน แสดงโดยบุคลาธิษฐานด้วยถูกไฟลวกและถูกประหารดุจความเข้าใจของพวกพราหมณ์ครั้งเวทิกสมัย คือยุคถือลัทธิตามพระเวทว่า คนบาปตายไปแล้วถูกพระยมชำระแล้วลงโทษให้ตกนรก และต้องเสวยกรรมกรณ์ต่าง ๆ แต่ในปูนหลังกล่าวเพียงนรกและคนทำบาปไปเกิดเองในภูมินั้น การถูกเพลิงลวกหรือถูกประหารก็เป็นอยู่ในภูมินั้นเอง ไม่กล่าวถึงนายนิรยบาล เป็นกลเม็ดอยู่ กำเนิดดิรัจฉานที่ไม่มีภูมิเป็นที่ต่างหาก ต้องอาศัยมนุษยโลก ปรากฏแล้ว นอกจากนี้ยังมีนาคและครุฑมีพิภพเป็นที่อยู่ มีพระราชาในพวกกันเอง เป็นสัตว์ผู้บริบูรณ์ แม้อย่างนั้น ท่านก็จัดเป็นอบายเพราะไม่เป็นภัพพบุคคลเหมือนมนุษย์ ศัพท์ว่า เปรต แปลว่า ผู้ละไปแล้ว หมายเอาผีผู้เคยเป็นมนุษย์มาก่อนยังไม่ได้ถือกำเนิดอื่น ได้ในศัพท์สัมภเวสี ผู้แสวงหาที่เกิดในเมตตสูตร ภายหลังหมายเอาเฉพาะจำพวกทำบาปมีโทษไม่ถึงตกนรก แต่มีรูปร่างทรวดทรงไม่สมประกอบ ตกยาก ได้ความอดอยากเป็นล้นเหลือ เดือดร้อนไปในทางเป็นอยู่ของตนเอง พวกเปรตนี้ ดูเหมือนอาศัยมนุษยโลกก็มี พึงเห็นอย่างพวกเปรตพระญาติเก่าของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งกล่าวถึงในติโรกุฑฑสูตร และในอรรถกถาแห่งสูตรนั้น ดูเหมือนมีภูมิสำหรับเปรตเหล่านั้นก็มี พึงเห็นอย่างพวกเปรตซึ่งกล่าวถึงในชาณุสโสณีสูตร นอกจากนี้ ยังมีเปรตอีกจำพวหนึ่ง อยู่ปลีกตามลำพังในมนุษยโลก ได้เสวยสุขเสวยทุกข์ปนกัน มีวิมานอยู่ มีสมบัติ ได้เสวยสุขในวิมานตลอดกลางวัน ครั้นค่ำลง ต้องออกจากวิมานไปรับกรรมกรเหมือนสัตว์นรกตลอดกลางคืน พอสว่างก็กลับวิมานได้อีก
อสุรกาย ในบาลีไม่กล่าวถึงเลย ในอรรถกถาก็ได้พบเพียงสักว่าชื่อ ในปทานุกรมสํสกฤต แก้อสุรศัพท์ว่าผู้เป็นอยู่ อธิบายว่า ได้แก่ผีเป็นอทิสสมานกาย ประเภทที่ชั่ว ตรงกับผีไม่มีชื่อผู้เที่ยวหลอกมนุษย์ให้ตกใจกลัว ผีแปลกจากเปรตเพราะเที่ยวหลอก เปรตไม่หลอก เป็นแต่คนไปพบเข้าเอง หรือเมื่อจะร้องทุกข์แก่คน ก็แสดงตัวให้เห็นเป็นอทิสสมานกายหรือไม่ ไม่ชัดนัก แต่กล่าวถึงทั้ง ๒ อย่าง อาหารของสัตว์นรก ท่านกล่าวว่ากรรม อาหารของสัตว์ดิรัจฉาน เป็นตามประเภทของมัน ที่เป็นส่วนใหญ่ ของเกิดในสรีระแห่งสัตว์ด้วยกันเป็นต้นว่า เนื้อและเลือดก็มี ของนับเข้าในภูตคาม เป็นต้นว่า หญ้าและใบไม้ก็มี อาหารของเปรต ท่านกล่าวว่ากรรมด้วย ผลทานอันญาติมิตรผู้ยังเป็นอยู่ในมนุษยโลกบริจาคแล้วอุทิศไปถึงด้วย อาหารของอสุรกายไม่ได้ระบุไว้ชัด เทียบอาหารของยักษ์เลว ๆ ของเกิดในสรีระแห่งสัตว์ด้วยกันไม่เลือกว่าดีหรือเสีย สกปรกหรือไม่ ข้าพเจ้าจักเปรียบสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เพื่อเป็นทางสันนิษฐาน สัตว์นรก เช่นคนโทษถูกรับอาญาแผ่นดิน ต้องเสวยกรรมกรณ์อยู่ในพันธนาคาร แต่รัฐบาลให้อาหารกินไม่อดอยากมากนัก เปรต เช่น คนตกทุกข์ได้ยากหากินในทางเที่ยวขอทาน อสุรกาย เช่น คนอดอยากอย่างนั้นแล้ว เที่ยวลอบทำโจรกรรมในค่ำคืน ตลอดถึงการหลอกลวงเอาทรัพย์ของผู้อื่น.
อปัสเสนธรรม ๔
พิจารณาแล้วเสพของอย่างหนึ่ง
พิจารณาแล้วอดกลั้นของอย่างหนึ่ง
พิจารณาแล้วเว้นของอย่างหนึ่ง
พิจารณาแล้วบรรเทาของอย่างหนึ่ง.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๓๖.
อธิบาย : ข้อต้น เสพของอันสบาย ต่างโดยเป็นจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช บุคคลและธรรมเป็นต้น ที่เสพเข้ากุศลเกิดขึ้นและเจริญขึ้น อกุศลไม่เกิด ที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมสิ้นไป ข้อที่ ๒ อดกลั้นอารมณ์อันไม่เป็นที่เจริญใจ ต่างโดยหนาว ร้อน หิว กระหาย ถ้อยคำเสียดแทง และทุกขเวทนาอันแรงกล้า ข้อที่ ๓ เว้นของไม่สบาย ต่างโดยประเภทอย่างนั้น ที่เสพเข้า อกุศลเกิดขึ้นและเจริญขึ้น กุศลไม่เกิด ที่เกิดแล้วเสื่อมสิ้นไป ข้อที่ ๔ บรรเทาอกุศลวิตกอันสัมปยุตด้วยกาม ด้วยพยาบาท ด้วยวิหิงสา
อัปปมัญญา ๔
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ที. สี. ๙/๓๑๐
อัปปมัญญา แปลว่า ภาวนามีสัตว์หาประมาณมิได้เป็นอารมณ์ เพราะแผ่ไปโดยไม่เจาะจง ไม่จำกัด ว่าเป็นมิตรหรือศัตรูเป็นต้น
เมตตา โดยพยัญชนะ ได้แก่ความสนิทสนม คือ รักใคร่ เว้นจากราคะ โดยอรรถ ได้แก่ปรารถนาความสุขความเจริญเพื่อผู้อื่น. กรุณา โดยพยัญชนะ ได้แก่ความหวั่นใจ เมื่อเห็นผู้อื่นได้ทุกข์ร้อน โดยอรรถ ได้แก่ความปรารถนาเพื่อจะปลดเปลื้องทุกข์ของเขา. มุทิตา โดยพยัญชนะ ได้แก่ความชื่นบาน โดยอรรถ ได้แก่ความพลอยยินดีด้วย ในเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี. อุเบกขาโดยพยัญชนะ ได้แก่ความวางเฉย โดยอรรถ ได้แก่ความวางตนเป็นกลาง ในเมื่อจะแผ่เมตตากรุณาไปไม่บังควร เช่นเอาใจช่วยโจรเป็นตัวอย่าง หรือในเมื่อจะพลอยยินดีด้วยสมบัติของอีกฝ่ายหนึ่ง จำจะยินดีด้วยวิบัติของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ๒ ฝ่ายเป็นความกัน จะพลอยยินดีด้วยฝ่ายชำนะก็จำจะยินดีด้วยความแพ้ของอีกฝ่ายหนึ่ง. ธรรม ๔ อย่างนี้ ที่แผ่โดยเจาะตัวก็ดี โดยไม่เจาะตัวแต่ยังไม่จำกัดมุ่งเอาหมู่นี้หมู่นั้นก็ดี จัดเป็น พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม โดยอธิบายว่าพรหมโดยอุบัติก็ดี พรหมโดยสมมติ คือ ผู้ใหญ่ก็ดี ย่อมอยู่ด้วยธรรมเหล่านี้. ที่แผ่โดยไม่เจาะตัวไม่มีจำกัด จัดเป็นอัปปมัญญา แปลว่า ภาวนามีสัตว์หาประมาณมิได้เป็นอารมณ์ เป็นปฏิปทาของภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
โอฆะ ๔
กาโมฆะ โอฆะคือกาม
ภโวฆะ โอฆะคือภพ
ทิฏโฐฆะ โอฆะคือทิฏฐิ
อวิชโชฆะ โอฆะคืออวิชชา.
สํ. มหา. ๑๙/๘๘.
กาม ภพ มิจฉาทิฏฐิ และอวิชชา ชื่อว่า โอฆะ เพราะเป็นเหมือนห้วงน้ำที่ท่วมใจสัตว์ให้จมลงในวัฏฏทุกข์
อธิบาย : กาม ภพ อวิชชา พึงรู้โดยนัยอันกล่าวแล้วในอาสวะ ๓ ทิฏฐิ หมายเอามิจฉาทิฏฐิ สภาพ ๔ นี้ ได้ชื่อว่าโอฆะ เพราะเป็นดุจกระแสน้ำอันท่วมใจสัตว์ ได้ชื่อว่าโยคะ เพราะประกอบสัตว์ไว้ในภพ ได้ชื่อว่าอาสวะเพราะเป็นสภาพหมักหมมอยู่ในสันดาน
กิจในอริยสัจ ๔
ปริญญา กำหนดรู้ทุกขสัจ
ปหานะ ละสมุทัยสัจ
สัจฉิกรณะ ทำให้แจ้งนิโรธสัจ
ภาวนา ทำมัคคสัจให้เกิด.
สํ. มหา. ๑๙/๕๓๙.
อธิบาย : อริยมรรคเมื่อเกิดขึ้นย่อมทำกิจ ๔ นี้ในขณะเดียวกัน
บริษัท ๔
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
อง จตุก ก. ๒๑/๑๗๘
บุคคล ๔
อุคฆฏิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมพอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง
วิปจิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น
เนยยะ ผู้พอแนะนำได้
ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง
อง จตุก ก. ๒๑/๑๘๓
อธิบาย : บุคคลที่ ๑ เป็นผู้มีปฏิภาณเป็นอย่างดี ท่านผู้เทศนายกเพียงหัวข้อขึ้นแสดง ก็เข้าใจแล้ว ตัวอย่างเช่น พระอัสสชิแสดงแก่พระสารีบุตรครั้งยังเป็นปริพาชกว่า ความเกิดและดับแห่งธรรมทั้งหลายเพราะเหตุ พระสารีบุตรเข้าใจดีว่า หัวใจพระพุทธศาสนาถือว่า สิ่งนั้น ๆ สารพัดทุกอย่างเป็นเหตุและผลแห่งกันและกัน เกิดขึ้นเพราะเหตุ ดับก็เพราะสิ้นเหตุ บุคคลที่ ๒ มีปฏิภาณไม่ถึงอย่างนั้น ต่อได้ฟังอธิบายความจึงเข้าใจได้ ตัวอย่างเช่น พระปัญจวัคคีย์ได้ฟังพระศาสดาตรัสว่า ปัญจขันธ์ เป็น อนัตตา แล้วทรงอธิบายว่าถ้าปัญจขันธ์เป็นอัตตาแล้วไซร้ ปัญจขันธ์นั้นก็จะไม่พึงเป็นไปเพื่อความลำบาก และจะพึงปรารถนาได้ตามใจว่า ขอจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ท่านเข้าใจแล้ว บุคคลที่ ๓ ได้แก่ผู้พอจะฝึกสอนอบรมได้ต่อไป อย่างคนสามัญ บุคคลที่ ๔ ได้แก่บุคคลผู้สักว่าฟัง ไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จเพราะการฟัง
มรรค ๔
โสดาปัตติมรรค
สกทาคามิมรรค
อนาคามิมรรค
อรหัตตมรรค
วิ. ญาณทสสน. ตติย. ๓๑๙
อธิบาย : ญาณคือความรู้เป็นเหตุละสังโยชน์ได้เด็ดขาด เรียกว่ามรรค มรรคนั้นจำแนกเป็น ๔ ด้วยอำนาจกำจัดสังโยชน์แต่เพียงเอกเทศบ้าง สิ้นเชิงบ้าง
๑. โสดาปัตติมรรค เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ ๓ คือสักกายทิฏฐิ
วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
๒. สกทาคามิมรรค เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ ๓ เหมือนโสดาปัตติมรรค
กับทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาลง
๓. อนาคามิมรรค เป็นเหตุละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ทั้ง ๕.
๔. อรหัตตมรรค เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐
ผล ๔
โสดาปัตติผล
สกทาคามิผล
อนาคามิผล
อรหัตตผล
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๔๐
อธิบาย : ธรรมารมณ์อันเกิดสืบเนื่องมาแต่มรรค เสวยกำไรที่มรรคได้ทำไว้นั้น เรียกว่าผล ผลนั้นก็มีชื่อเป็น ๔ ตามมรรค จักแสดงข้ออุปมาเปรียบมรรคกับผลพอเล็งเห็น. สังโยชน์เหมือนโรคในกาย มรรคเหมือนการรักษาโรคให้หาย ผลเหมือนความสุขสบายอันเกิดแต่ความสิ้นโรค. อีกอุปมาหนึ่ง สังโยชน์เหมือนโจรในป่า มรรคเหมือนกิริยาปราบโจร ผลเหมือนความสงบราบคาบเกิดมีเพราะหมดโจร
พระอริยบุคคล ๔
พระโสดาบัน
พระสกทาคามี
พระอนาคามี
พระอรหันต์
ที. สี. ๙/๑๙๙.
ปัญจกะ คือ หมวด ๕
อนุปุพพีกถา ๕
ทานกถา กล่าวถึงทาน
สีลกถา กล่าวถึงศีล
สัคคกถา กล่าวถึงสวรรค์
กามาทีนวกถา กล่าวถึงโทษแห่งกาม
เนกขัมมานิสังสกถา กล่าวถึงอานิสงส์แห่งความออกจากกาม
มหาวคค. ปฐม. ๔/๓๐.
อธิบาย : เทศนาที่แสดงไปโดยลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของเวไนยสัตว์ให้หมดจดเป็นชั้น ๆ เรียกอนุปุพพีกถา มีนิยมเป็นพิเศษ ๕ อย่างนี้ ท่านกล่าวว่า เป็นพระธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงในคราวที่ผู้ฟังมีอุปนิสัยสามารถจะบรรลุธรรมพิเศษ ก่อนแต่ทรงแสดงอริยสัจ มีอรรถาธิบายว่า ในเบื้องต้น ทรงแสดงประโยชน์แห่งการให้ เพื่อละความเห็นแก่ตัวและความตระหนี่เสียแล้ว มีใจเผื่อแผ่สงเคราะห์ผู้อื่นด้วยกำลังทรัพย์ของตนเอง ในลำดับนั้น ทรงแสดงประโยชน์แห่งศีล คือความประพฤติเรียบร้อย เพื่อเว้นจากเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำภัยอันตรายให้เกิดขึ้นในหมู่ที่ตนเข้าอยู่ด้วย และเพื่อรู้จักนับถือเขา ในลำดับนั้น ทรงแสดงสมบัติคือความดีความงามอันคนผู้ให้และคนผู้มีศีลจะพึงได้พึงถึงในมนุษยโลก ตลอดขึ้นไปถึงสวรรค์ เป็นอัสสาทะ คือรสอร่อยแห่งกาม เพื่อเห็นอานิสงส์แห่งทานและศีลยิ่งขึ้น ในลำดับนั้น ทรงแสดงอาทีนพแห่งกามว่า แม้ให้สุขโดยประการต่าง ๆ แต่ก็ยังเจือด้วยทุกข์ ไม่ควรเพลิดเพลินโดยส่วนเดียว ควรเบื่อหน่ายด้วยเหมือนกัน ในที่สุดทรงแสดงอานิสงส์แห่งความออกจากกาม คือทำจิตไม่ให้หมกมุ่นอยู่ในกาม เพื่อยังฉันทะให้เกิด คนผู้ไม่เห็นแก่ตัว ให้ทรัพย์ของตนเกื้อกูลผู้อื่น มีศีลประพฤติเรียบร้อย ไม่ทำร้ายเขา และไม่เย่อหยิ่ง ตั้งตนได้ในกามสมบัติแล้ว ไม่เพลิดเพลินหมกมุ่นอยู่ในนั้น ยังแลเห็นโทษและเบื่อหน่าย มุ่งสุขอันสงบยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก เป็นผู้ควรรับเทศนาอย่างสูง คืออริยสัจ เหมือนผ้าอันฟอกหมดจดแล้ว ควรรับน้ำย้อมมีประการต่าง ๆ สุดแต่ผู้ย้อมจะน้อมไปฉะนั้น
มัจฉริยะ ๕
อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่
กุลมัจฉริยะ ตระหนี่สกุล
ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ
วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ
ธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรม
อง นวก. ๒๓/๔๘๑
อธิบาย : ความหวงถิ่น ไม่พอใจให้คนต่างด้าว ต่างชาติ ต่างนิกาย เข้ามาอยู่แทรกแซง จัดเป็นอาวาสมัจฉริยะ ความหวงสกุลไม่ยอมให้สกุลอื่นเข้ามาเกี่ยวดองด้วย จัดเป็นกุลมัจฉริยะ ความหวงสกุลอุปัฏฐากของภิกษุ ไม่พอใจให้บำรุงภิกษุอื่น คอยกีดกันเสีย จัดเป็นกุลมัจฉริยะในฝ่ายบรรพชิต ความหวงทรัพย์พัสดุไม่ให้ผู้อื่น จัดเป็นลาภมัจฉริยะ ความหวงคุณความดี ไม่ปรารถนาให้คนอื่นสู้ได้ จัดเป็นวัณณมัจฉริยะ. อีกอย่างหนึ่ง วัณณะแปลว่า สีกาย ความหวงสวยหวงงามอันเป็นกิเลสของหญิงสาว ก็นับเข้าในวัณณมัจฉริยะ. ความหวงธรรม หวงศิลปวิทยา ไม่ปรารถนาจะแสดงจะบอกแก่คนอื่นเกรงว่าเขาจะรู้เทียมตน จัดเป็นธัมมมัจฉริยะ
มาร ๕
ขันธมาร มารคือปัญจขันธ์
กิเลสมาร มารคือกิเลส
อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขาร
มัจจุมาร มารคือมรณะ
เทวปุตตมาร มารคือเทวบุตร
วิ. ฉยนุสสติ. ปฐม. ๒๗๐
อธิบาย : ปัญจขันธ์ ได้ชื่อว่ามาร เพราะบางทีทำความลำบากให้ อันเป็นเหตุเบื่อหน่าย จนถึงฆ่าตัวตายเสียเองก็มี กิเลสได้ชื่อว่ามาร เพราะตกอยู่ในอำนาจแห่งมันแล้ว มันย่อมผูกรัดไว้บ้างย่อมทำให้เสียคนบ้าง อภิสังขารคือกรรมฝ่ายอกุศล ได้ชื่อว่ามาร เพราะทำให้เป็นผู้ทุรพล มัจจุ คือมรณะ ได้ชื่อว่ามาร เพราะตัดชีวิตเสีย. เทวบุตรผู้มุ่งร้าย ได้ชื่อว่ามาร เพราะเป็นบุคลาธิษฐานแห่งสภาวะอันทำลายล้าง ขึ้นชื่อว่าเทวบุตรไม่ใช่เป็นมารทุกองค์ เป็นเฉพาะผู้มุ่งร้าย โดยนัยนี้ ปัญจขันธ์ก็ดี กิเลสก็ดี อภิสังขารก็ดี น่าจะหมายเอาเฉพาะส่วนอันให้ร้าย มัจจุ น่าจะหมายเอาในเวลาที่ชีวิตกำลังเป็นประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน เช่นถ้ายังเป็นอยู่ต่อไปจะได้บรรลุธรรมพิเศษ เช่นพระศาสดาทรงปรารภถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส เมื่อครั้งทรงพระดำริหาผู้สมควรรับปฐมเทศนา หรือจักได้สั่งสอนมหาชน เช่น พระศาสดาทรงอธิษฐานพระชนมายุเมื่อแรกจะทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ข้าพเจ้าจึงแก้ไว้อย่างนี้
เวทนา ๕
สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา.
สํ. สฬ. ๑๘/๒๘๗.
อธิบาย : สุขไม่มาเป็นคู่กับโสมนัส เช่นสุขมาในเวทนา ๓ หมายเอาทั้งสุขกายสุขใจ สุขมาเป็นคู่กับโสมนัส เช่นสุขในเวทนา ๕ นี้ หมายเอาเฉพาะสุขกาย ทุกข์ไม่มาเป็นคู่กับโทมนัส หมายอาทั้งทุกข์กายทั้งทุกข์ใจ ทุกข์มาคู่กับโทมนัส หมายเอาเฉพาะทุกข์กาย โสมนัสหมายเอาสุขใจ โทมนัสหมายเอาทุกข์ใจ อุเบกขาหมายเอาความเฉยแห่งใจ เพราะอุเบกขาทางกายไม่มี กายเป็นปกติอยู่จัดว่าเป็นสุข
ฉักกะ หมวด ๖
จริต ๖
๑. ราคจริต มีราคะเป็นปกติ
๒. โทสจริต มีโทสะเป็นปกติ
๓. โมหจริต มีโมหะเป็นปกติ
๔. วิตักกจริต มีวิตกเป็นปกติ
๕. สัทธาจริต มีศรัทธาเป็นปกติ
๖. พุทธิจริต มีความรู้เป็นปกติ
วิ. กมมฏฐานคคห. ปฐม. ๑๒๗.
อธิบาย : คนที่ ๑ มีปกติรักสวยรักงาม จะพึงแก้ด้วยพิจารณากายคตาสติ หรืออสุภกัมมัฏฐาน
คนที่ ๒ มีปกติหงุดหงิดโกรธง่าย จะพึงแก้ด้วยเจริญเมตตา
คนที่ ๓ มีปกติเขลางมงาย จะพึงแก้ด้วยเรียน ถาม ฟังธรรม และสนทนาธรรมโดยกาลด้วยอยู่กับครู
คนที่ ๔ มีปกตินึกพล่าน จะพึงแก้ด้วยสะกดอารมณ์ เช่นเพ่งกสิณหรือเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน
คนที่ ๕ มีปกติเชื่อง่าย จะพึงนำไปด้วยกถาเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส เช่น กล่าวถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
คนที่ ๖ เรียกว่าญาณจริตก็มี มีปกติใช้ความคิด จะพึงนำไปด้วยแนะให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบ เช่นให้คำนึงถึงไตรลักษณ์.
ธรรมคุณ ๖
๑. สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
๒. สนฺทิฏฺฐโก อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง
๓. อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล
๔. เอหิปสฺสิโก ควรเรียกให้มาดู
๕. โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา
๖. ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
อง. ติก. ๒๐/๒๙๔.
อธิบาย : บทว่า สฺวากฺขาโต หมายความกว้าง ท่านพรรณาว่า ได้ใน ๒ สัทธรรม คือ ปริยัติ กับปฏิเวธ ปริยัติ ได้ชื่ออย่างนั้นเพราะตรัสไม่วิปริต คือตรัสได้จริง เพราะแสดงข้อปฏิบัติโดยลำดับกันที่ท่านเรียกว่า ไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด มีทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง และเพราะประกาศพรหมจรรย์ อย่างนั้น ปฏิเวธ ได้ชื่ออย่างนั้น เพราะปฏิปทากับพระนิพพานย่อมสมควรแก่กันและกัน. ตั้งแต่บทว่า สนฺทิฏฺฐิโก เป็นต้นไป ได้ในปฏิเวธอย่างเดียว
บทว่