พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
รัชกาลที่ ๙
ครองราชย์ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบัน
เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ณ มลรัฐแมซซาชูเซทส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นพระราชโอรสองค์เล็กของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
เมื่อพระชนมายุได้ ๑๑ พรรษา ได้เสร็จนิวัตสู่ประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ภายหลังจากที่สมเด็จพระราชบิดาเสด็จทิวงคตแล้วได้เสด็จกลับไปประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเข้ารับการศึกษา ณ ที่นั้น เมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบแทน เมื่อพระชนมายุได้ ๑๙ พรรษาโดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้วทรงเสด็จไปศึกษาต่อในวิชานิติศาสตร์ ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
พระองค์ได้เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและได้ทรงเข้าพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศ เป็น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร พระธิดาของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และได้ประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ได้มีพระบรมราชาภิเษกเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร์ รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓
ได้เสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๓ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงเสด็จนิวัติพระนคร ได้เสด็จออกผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๙ แล้วเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างที่ทรงผนวช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นเอนกประการ แผ่ไพศาลไปทั่วทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศทั้งในยุโรป เอเชีย และ อเมริกา เพื่อเจริญพระราชไมตรีอย่างกว้างขวาง ปรากฎพระเกียรติคุณอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้านในประเทศทรงเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบทที่อยู่ห่างไกล เพื่อรับทราบปัญหาต่างๆ โดยตรงและได้ทรงริเริ่มโครงการตามพระราชดำริ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น พร้อมทั้งพัฒนาให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถช่วยตนเองได้
พระราชกรณียกิจของพระองค์ ทั้งในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ และในฐานะส่วนพระองค์เป็นไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทรงเต็มเปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรม ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ ยากที่จะหาผู้เสมอเหมือน ทรงมีพระราชศรัทธาตั้งมั่น และแตกฉานในพระศาสนาและทรงถ่ายทอดแก่พสกนิกรของพระองค์ในทุกโอกาส ดังเราจะได้พบในพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ประชาชนในโอกาสต่าง ๆ อย่างมิรู้สิ้น