ธรรมศึกษา ชั้นเอก
หลักสูตรวิชาวินัย
ธรรมศึกษาชั้นเอก
พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สอนเรื่องกรรมว่า สัตว์ทั้งหลายล้วนเป็นไปตามกรรม หมายความว่า กรรมนั้นสามารถที่จะทำให้สัตว์โดยเฉพาะมนุษย์เรากลายสภาพเป็นอะไรก็ได้ คือทำให้ไปสู่ทุคติ ได้แก่ ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นเปรต เป็นสัตว์นรก เป็นอสุรกายก็ได้ ทำให้ไปสู่สุคติคือ ไปเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม จนถึงเป็นพระอรหันต์ก็ได้
ดังนั้น เรื่องของกรรมจึงเป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนจำเป็นจะต้องศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจเพื่อจะได้พัฒนาตนเองให้พ้นจากทุคติ และดำเนินไปสู่สุคติซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างปรารถนา กรรมที่จะนำไปสู่ทุคติและสุคตินั้น ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า กรรมบถ โดยแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ที่นำไปสู่ทุคติ เรียกว่า กุศลกรรมบถ และที่นำไปสู่สุคติ เรียกว่า กุศลกรรมบถ
อกุศลกรรมบถ ๑๐
๑. ปาณาติบาต ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง คือฆ่าสัตว์
๒. อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย
๓. กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม
ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นกายกรรม เพราะเกิดขึ้นทางกายทวารโดยมาก
๔. มุสาวาท พุดเท็จ
๕. ปิสุณวาจา พูดส่อเสียด
๖. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ
๗. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ
ทั้ง ๔ นี้ จัดเป็นวจีกรรม เพราะเกิดขึ้นทางวจีทวารโดยมาก
๘. อภิชฌา โลภอยากได้ของเขา
๙. พยาบาท ปองร้ายเขา
๑๐. มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากคลองธรรม
ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นมโนกรรม เพราะเกิดขึ้นทางโนทวารโดยมาก
อธิบายอกุศลกรรมบถ โดยอาการ ๕
๑. โดยธรรม คือ โดยสภาวธรรม
กรรมบถ ๗ คือ กายกรรม ๓ และวจีกรรม ๔ โดยสภาวธรรม ได้แก่ เจตนา อธิบายว่า ต้องมีเจตนาในการทำ การพูด จึงจะเป็นกรรมบถได้ ถ้าไม่มีเจตนาไม่เป็นกรรมบถ ส่วนมโนกรรม ๓ มีอภิชฌาเป็นต้น เกิดร่วมกับเจตนา จึงจะเป็นมโนกรรมได้ มีแต่เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่จัดเป็นมโนกรรม
๒. โดยโกฏฐาสะ คือ โดยเป็นส่วนแห่งธรรมต่าง ๆ
อกุศลกรรมบถ ๘ คือ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มิจฉาทิฏฐิ ๑ เป็นกรรมบถอย่างเดียว ไม่เป็นมูลคือรากเหง้าแห่งอกุศลเหล่าอื่น ส่วนอภิชฌา ได้แก่โลภะ พยาบาท ได้แก่โทสะ ดังนั้น ทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นทั้งอกุศลกรรมบถ เป็นทั้งมูลคือรากเหง้าของอกุศลเหล่าอื่นด้วย
๓. โดยอารมณ์ คือ สิ่งที่ใจเข้าไปยึดแล้ว เป็นเหตุให้ทำกรรมนั้น ๆ
ปาณาติบาต มีสังขารคือชีวิตของสัตว์เป็นอารมณ์ หมายความว่า การฆ่าสัตว์ เป็นการทำลายชีวิตของผู้อื่น ถ้าทำลายสิ่งไม่มีชีวิต ก็ไม่จัดเป็นการฆ่าสัตว์
อทินนาทาน มีสัตว์หรือสังขารเป็นอารมณ์ หมายความว่า สิ่งที่ถูกลักขโมยนั้นอาจเป็นมนุษย์ สัตว์ หรือสิ่งของก็ได้
กาเมสุมิจฉาจาร มีสังขารคือผัสสะเป็นอารมณ์ หมายความว่า กาเมสุมิจฉาจาร จะสำเร็จได้ต้องมีการสัมผัสทางกาย
มุสาวาท ปิสุณวาจา และสัมผัปปลาปะ มีสัตว์หรือสังขารเป็นอารมณ์ หมายความว่า เรื่องที่พูดเท็จ พูดส่อเสียด และพูดเพ้อเจ้อนั้น อาจเป็นเรื่องของคนสัตว์ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ได้
ผรุสวาจา มีสัตว์เป็นอารมณ์ หมายความว่า การพูดคำหยาบนั้น ต้องพูดกับผู้ที่เข้าใจความหมายเท่านั้น จึงจัดเป็นกรรมบถ ถ้าพูดกับผู้ที่ไม่เข้าใจ ไม่จัดเป็นกรรมบถ
อภิชฌา มีสัตว์และสังขารเป็นอารมณ์ หมายความว่า สิ่งที่โลภอยากได้นั้น เป็นมนุษย์ สัตว์ หรือสิ่งของก็ได้
พยาบาท มีสัตว์เป็นอารมณ์ หมายความว่า การปองร้ายที่จัดเป็นพยาบาทนั้น ต้องปองร้ายมนุษย์ หรือสัตว์ทั้งหลายเท่านั้น
มิจฉาทิฏฐิ มีสังขารคือธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ เป็นอารมณ์ ได้แก่ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ และอรูปาวจรภูมิ หมายความว่า ความเห็นที่จัดเป็นมิจฉาทิฏฐินั้น ต้องเห็นผิดไปจากความเป็นจริง เช่น โลกอื่นไม่มี บาปไม่มี บุญไม่มี เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าเป็นของเที่ยง เป็นต้น
๔. โดยเวทนา คือ เวทนา ๓ อย่าง ได้แก่ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อุเบกขาเวทนา ๑
ปาณาติบาต มีทุกขเวทนาอย่างเดียว หมายความว่า ในขณะฆ่าสัตว์ จิตใจของผู้กระทำ ย่อมประกอบด้วยความโกรธ
อทินนาทาน มีเวทนา ๓ หมายความว่า ในขณะลักทรัพย์ จิตใจของผู้ลักขโมย อาจจะมีความสุข ความทุกข์ หรือรู้สึกเฉย ๆ ก็ได้
กาเมสุมิจฉาจาร มีเวทนา ๒ คือ สุขเวทนากับอุเบกขาเวทนา หมายความว่า จิตใจของผู้กำลังประพฤติผิดในกามนั้น มีแต่ความสุข หรือรู้สึกเฉย ๆ เท่านั้น
มุสาวาท ปิสุณวาจา และสัมผัปปลาปะ มีเวทนา ๓ หมายความว่า ในขณะที่พูดเท็จ พูดส่อเสียด หรือพูดเพ้อเจ้อนั้น จิตใจของผู้พูด อาจมีความรู้สึกดีใจเสียใจ หรือเฉย ๆ ก็ได้
ผรุสวาจา มีทุกขเวทนาอย่างเดียว หมายความว่า คำพูดที่จะจัดว่า หยาบคายนั้น ผู้พูดต้องพูดด้วยจิตที่โกรธ หากพูดด้วยจิตเมตตาปรารถนาดี ไม่จัดเป็นผรุสวาจา
อภิชฌา มิจฉาทิฏฐิ มีเวทนา ๒ คือ สุขเวทนากับอุเบกขาเวทนา หมายความว่า ในขณะที่โลภอยากได้ของผู้อื่น หรือมีความเห็นผิดนั้น จิตใจของผู้นั้น จะมีแต่ความสุข หรือรู้สึกเฉย ๆ ไม่รู้สึกโกรธหรือเสียใจเลย
พยาบาท มีทุกขเวทนาอย่างเดียว หมายความว่า ในขณะที่ปองร้ายผู้อื่นนั้น จิตใจของผู้ปองร้าย ย่อมมีแต่ความโกรธอย่างเดียว
๕. โดยมูล คือ อกุศลมูล ๓ ได้แก่ โลภมูล ๑ โทสมูล ๑ โมหมูล ๑
ปาณาติบาต มีมูล ๒ คือ โทสมูล โมหมูล
ทินนาทาน มีมูล ๒ คือ โทสมูล โมหมูล หรือ โลภมูล โมหมูล
กาเมสุมิจฉาจาร มีมูล ๒ คือ โลภมูล โมหมูล
มุสาวาท ปิสุณวาจา และสัมผัปปลาปะ มีมูล ๒ คือ โทสมูล โมหมูล หรือ โลภมูล โมหมูล
ผรุสวาจา มีมูล ๒ คือ โทสมูล โมหมูล
อภิชฌา พยาบาท มีมูล ๑ คือ โมหมูล
มิจฉาทิฏฐิ มีมูล ๒ คือ โลภมูล โมหมูล
ปาณาติบาต
คำว่า ปาณะ ในคำว่า ปาณาติบาต โดยสมมติสัจจะ ได้แก่ สัตว์ โดยปรมัตถสัจจะ ได้แก่ ชีวิตินทรีย์ ๒ อย่าง คือ รูปชีวิตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการทำให้รูปมีชีวิตอยู่ได้ และอรูปชีวิตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการทำให้นามธรรม ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ มีชีวิตอยู่ได้ ชีวิตินทรีย์ทั้งสองนี้ มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน เมื่ออย่างหนึ่งถูกทำลาย อีกอย่างหนึ่งก็ถูกทำลายไปด้วย
เจตนาฆ่าของบุคคลผู้รู้อยู่ว่า สัตว์นั้นมีชีวิต อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจา เป็นเหตุให้เกิดความพยายามในการเข้าไปตัดอินทรีย์คือชีวิตทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่า ปาณาติบาต
ปาณาติบาต จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. สัตว์มีชีวิต
๒. รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. จิตคิดจะฆ่า
๔. พยายามเพื่อจะฆ่า
๕. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
ปาณาติบาตนั้น มีโทษมาก เพราะเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. สัตว์ใหญ่
๒. สัตว์นั้นมีคุณ
๓. ความพยายามของผู้ฆ่ามีมาก
๔. กิเลสของผู้ฆ่ารุนแรง
ปาณาติบาตที่ตรงกันข้าม ชื่อว่ามีโทษน้อย
โทษของปาณาติบาต
โทษของปาณาติบาต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้ในทุจริตวิปากสูตร อังคุตตรนิกายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปาณาติบาต อันบุคคลส้องเสพ (ทำ) เจริญ (ทำด้วยวิธีการต่าง ๆ) ทำให้มาก (ทำบ่อย ๆ ทำเป็นประจำ) ย่อมทำให้ไปเกิดในนรก ในกำเนิดแห่งสัตว์ดิรัจฉาน ในแดนแห่งเปรต ผลร้ายแห่งปาณาติบาต อย่างเบาที่สุด ย่อมทำให้เป็นผู้มีอายุสั้นแก่ผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า ผู้ทำปาณาติบาตบางคนแม้จะไม่ตกนรก เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือเกิดในแดนแห่งเปรตก็ตาม อันกุศลกรรมบางอย่างที่ได้ทำเอาไว้ส่งผลให้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเป็นผู้มีอายุสั้น บางคนพอถือปฏิสนธิในครรภ์มารดา ไม่ทันจะได้ลืมตาดูโลก ก็ตายเสียก่อน หรือบางคนคลอดจากครรภ์มารดามาแล้ว อยู่ได้ไม่นานก็เสียชีวิต ผู้ได้รับผลร้ายจากการทำปาณาติบาตด้วยจิตใจที่อำมหิต พึงเห็นนายโคฆาต ชื่อนันทะ เป็นอุทาหรณ์
เล่ากันมาว่า ในครั้งพุทธกาล ในพระนครสาวัตถี มีชายคนหนึ่ง ชื่อนันทะ มีอาชีพฆ่าโคเอาเนื้อขายเลี้ยงชีพ ตลอด ๕๕ ปีที่เขาทำอาชีพนี้ ไม่เคยบริจาคทานและรักษาศีลเลย ถ้าขาดเนื้อจะไม่ยอมรับประทานอาหาร
วันหนึ่ง ในเวลาเย็น เขามอบเนื้อให้ภรรยาเพื่อทำกับข้าว เสร็จแล้วไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ บังเอิญเพื่อนของเขาคนหนึ่งมีแขกมาที่บ้าน ไม่มีกับข้าวต้อนรับ จึงไปยังบ้านนายนันทะ พบภรรยาของเขา จึงได้ขอซื้อเนื้อ แต่ไม่มีเนื้อสำหรับขาย มีแต่เนื้อที่เตรียมไว้สำหรับทำกับข้าวตอนเย็น ภรรยาของนายนันทะ จึงไม่ขายให้ เพราะทราบดีว่าถ้าขาดเนื้อแล้ว สามีจะไม่ยอมรับประทานอาหาร แต่ชายผู้นั้นก็ไม่ฟังเสียง ได้ฉวยหยิบเอาเนื้อนั้นไปโดยพลการ
นายนันทะกลับมาจากท่าน้ำ ภรรยาได้ยกอาหารที่ปราศจากเนื้อมาให้ได้ เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟัง เขาไม่ยอมรับประทานอาหาร ฉวยมีดอันคมกริบ เดินเข้าไปหาโคตัวหนึ่ง สอดมือเข้าไปในปาก ดึงลิ้นออกมาแล้วใช้มีดเชือดจนขาด นำมาให้ภรรยาทำกับข้าว โคตัวนั้นสิ้นใจตายด้วยความเจ็บปวดทรมาน
เมื่อกับข้าวเสร็จแล้ว นายนันทะจึงรับประทานอาหาร ทันทีที่เขาใส่ชิ้นเนื้อนั้นเข้าไปในปาก ลิ้นของเขาได้ขาดตกลงไปในชามข้าว ได้รับผลกรรมทันตาเห็น เพราะการทำปาณาติบาตด้วยจิตใจอันเหี้ยมโหด เลือดไหลออกจากปาก ร้องครวญครางเสียงเหมือนโค ตายแล้วไปตกนรกอเวจี ฯ
อทินนาทาน
คำว่า อทินนะ ในคำว่า อทินนาทาน หมายถึง ของที่เจ้าของหวงแหนไม่ได้ให้ด้วยกายหรือวาจา จะอยู่ในบ้าน ในป่า ทำตก หรือหลงลืม ก็ตาม
เจตนาอันเป็นเหตุขโมย ของบุคคลผู้รู้อยู่ว่า เจ้าของหวงแหน อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจา ให้เกิดความพยายามในการถือเอาของนั้น ชื่อว่า อทินนาทาน
อทินนาทาน จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. ของมีเจ้าของหวง
๒. รู้ว่ามีเจ้าของหวง
๓. จิตคิดจะลัก
๔. พยายามเพื่อจะลัก
๕. ลักมาได้ด้วยความพยายามนั้น
อทินนาทานนั้น มีโทษมาก เพราะเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. ของนั้นเป็นของประณีต หรือมีความสำคัญ
๒. ของนั้นเป็นของบุคคลผู้มีคุณธรรม
๓. ผู้ลักมีความพยายามมาก
๔. กิเลสของผู้ลักแรงกล้า
อทินนาทานที่ตรงกันข้าม ชื่อว่ามีโทษน้อย
โทษของอทินนาทาน
โทษของอทินนาทาน ทรงแสดงไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อทินนาทาน อันบุคคลส้องเสพ เจริญ ทำให้มาก ย่อมทำให้ไปเกิดในนรก ในกำเนิดแห่งดิรัจฉาน ในแดนแห่งเปรต ผลร้ายแห่งอทินนาทาน อย่างเบาที่สุด ย่อมทำทรัพย์สินเงินทองให้พินาศ แก่ผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า บุคคลผู้ประพฤติผิดศีลข้ออทินนาทานหากได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ทรัพย์สินเงินทองของเขาก็จะถึงความพินาศย่อยยับไป จนหมดตัวหรือล้มละลาย ส่วนโทษของอทินนาทานที่เห็นได้ในปัจจุบันทันตา พึงเห็นพราหมณ์ชื่อสีลวิมังสนะเป็นอุทาหรณ์
ครั้งพุทธกาล ในพระนครสาวัตถี มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ สีลวิมังสนะ ถึงสรณะ ๓ และรักษาศีล ๕ รับราชการอยู่กับพระเจ้าโกศล พระราชาพร้อมด้วยข้าราชการใหญ่น้อย ต่างให้ความนับถือพราหมณ์นั้น
เขาคิดว่า ที่คนเขานับถือเรานี้ เขานับถืออะไร ชาติ โคตร สกุล ความรู้ หรือศีลกันแน่ ต้องการจะทดลอง วันหนึ่ง เมื่อกลับจากที่ทำงาน ได้แอบหยิบเอาเงินของหลวงไปจำนวนหนึ่ง เจ้าหน้าที่การเงินไม่ว่าอะไร วันที่ ๒ ได้ทำอย่างนั้นอีก ก็ไม่มีใครว่าอะไร วันที่ ๓ จึงหยิบเอาเงินไปกำมือหนึ่ง เจ้าหน้าที่การเงินโกรธ ร้องตะโกนให้คนช่วยกันจับตัว เมื่อจับตัวได้แล้ว ก็ทุบตีคนละสองสามที แล้วพันธนาการไปกราบทูลให้พระราชารับสั่งลงอาญาหลวงแก่เขา
พราหมณ์ทราบชัดว่า ที่คนเขานับถือตนนั้น เพราะการรักษาศีล จึงได้กล่าวว่า เรื่องชาติและชนชั้น เป็นเรื่องไร้สาระ ศีลนี่แหละ สูงที่สุด บุคคลขาดศีลเสียแล้ว วิชาความรู้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย
------------------v---------------------
กาเมสุมิจฉาจาร
คำว่า กาม ในคำว่า กาเมสุมิจฉาจาร ได้แก่ เมถุนสมาจาร ๒ อย่าง คือ สทารสันโดษ ความพอใจในเฉพาะคู่ครองของตน ๑ ปรทารคมนะ การละเมิดคู่ครองคนอื่น ๑ ส่วนความผิดที่จัดเป็นกาเมสุมิจฉาจารนั้น ได้แก่ ความผิดที่เกิดขึ้นเพราะนอกใจคู่ครองของตน และละเมิดคู่ครองของคนอื่น
เจตนาที่ล่วงละเมิดฐานะที่ตนไม่ควรละเมิด อันเป็นไปทางกายทวาร โดยประสงค์อสัทธรรม ชื่อว่า กาเมสุมิจฉาจาร
กาเมสุมิจฉาจาร จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
๑. วัตถุที่จะพึงประพฤติล่วง
๒. จิตคิดจะเสพในวัตถุที่พึงประพฤติล่วงนั้น
๓. พยายามในอันจะเสพ
๔. มีความยินดี
กาเมสุมิจฉาจาร มีโทษมาก เพราะเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. กระทำในบุคคลผู้มีคุณธรรม
๒. เป็นการข่มขืนใจ
๓. มีความพยายามมาก
๔. มีกิเลสแรงกล้า
กาเมสุมิจฉาจารที่ตรงกันข้าม ชื่อว่ามีโทษน้อย
โทษของกาเมสุมิจฉาจาร
โทษของกาเมสุมิจฉาจาร ทรงแสดงไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กาเมสุมิจฉาจาร อันบุคคลส้องเสพ เจริญ ทำให้มาก ย่อมทำให้ไปเกิดในนรก ในกำเนิดแห่งดิรัจฉาน ในแดนแห่งเปรต ผลร้ายแห่งกาเมสุมิจฉาจารอย่างเบาที่สุด ย่อมทำให้เป็นผู้มีศัตรูคู่เวรมาก เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์
พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า ผู้ประพฤติผิดในกาม ถึงแม้จะไม่ตกนรกเป็นต้นนั้น หากได้เกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะเป็นคนมีศัตรูมาก คือ ใครพบเขาย่อมเกิดการจองเวร (ไม่ชอบหน้า) หรือถึงขั้นทำร้าย ทั้งที่ไม่ได้ทำผิดอะไรแก่เขา
ส่วนโทษของกาเมสุมิจฉาจารที่เห็นได้ในปัจจุบันทันตา พึงเห็นหญิงสาวคนหนึ่งที่คิดนอกใจสามีเป็นอุทาหรณ์
ครั้งดึกดำบรรพ์ ได้มีชายหนุ่มชาวพาราณสีคนหนึ่ง นามว่าจูฬธนุคคหบัณฑิต เรียนวิชากับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ที่เมืองตักกสิลา เขาเป็นชายหนุ่มหน้าตาดี มีความประพฤติเรียบร้อย เรียนเก่ง เป็นที่รักใคร่ของอาจารย์ เมื่อเรียนศิลปะวิทยาจบแล้ว จึงลาอาจารย์กลับบ้าน อาจารย์ได้ยกลูกสาวคนหนึ่งให้เป็นภรรยา ในระหว่างทาง ได้เกิดการต่อสู้กับพวกโจรด้วยมือเปล่า บอกให้ภรรยานำดาบมาให้ แต่ภรรยากลับเกิดความรักในตัวโจรที่ตนเพิ่งจะพบเห็นเดี๋ยวนั้นเอง จึงส่งดาบไปให้โจร ฆ่าชายหนุ่มตาย
โจรพานางไปถึงแม่น้ำสายหนึ่ง คิดว่า หญิงคนนี้พบชายอื่นเข้า คงจะให้ฆ่าเราเหมือนกับให้เราฆ่าสามีเธอ เราไม่ต้องการผู้หญิงคนนี้ จึงออกอุบายหลอกลวงเอาทรัพย์สินเงินทองของเธอจนหมดสิ้น แล้วก็จากไป โดยทิ้งคำพูดไว้กับเธอว่า แม่คนงามเธอเอาสามีที่เคยเชยชิดกันมานาน แลกกับฉันซึ่งมิใช่สามีที่ไม่เคยเชยชิด วันหลังเธอคงจะเอาฉันแลกกับชายอื่นอีก ฉันจะหนีเธอไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้ หญิงสาวคนนั้นไม่มีใครคบหาสมาคมด้วย เพราะประพฤติผิดศีลข้อที่ ๓ นี้นั่นเอง
-----------------------v--------------------------
กายกรรมเป็นไปในทวาร ๒
กรรม ๓ อย่าง คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน และกาเมสุมิจฉาจาร เรียกว่า กายกรรม เพราะเป็นไปทางกายทวารโดยมาก บางครั้ง ปาณาติบาตและอทินนาทาน ก็เป็นไปทางวจีทวารบ้าง ตัวอย่าง นาย ก. สั่งให้นาย ข. ไปฆ่าคน หรือไปลักทรัพย์ นาย ข. ทำงานสำเร็จตามที่นาย ก. สั่ง การฆ่าคน หรือการลักทรัพย์ของนาย ก. จัดเป็นกายกรรม แต่ทวาร จัดเป็นวจีทวาร ส่วนกาเมสุมิจฉาจาร จัดเป็นกายกรรม เพราะเป็นไปทางกายทวารอย่างเดียว
ปาณาติบาต อทินนาทาน และกาเมสุมิจฉาจาร ที่จัดเป็นกายกรรมนั้น เพราะมีการกระทำด้วยกาย กรรมนั้น จึงจะสำเร็จดังตัวอย่างที่ยกมา ถ้ามีเพียงแต่การสั่งอย่างเดียว ไม่มีคนลงมือทำ จะสั่งต่อๆ กันไปกี่คนก็ตาม การฆ่าหรือการลักนั้นจะสำเร็จไม่ได้เลย
ในการทำปาณาติบาต อทินนาทาน และกาเมสุมิจฉาจารนั้น จิตใจของผู้กระทำ ต้องมีอภิชฌาคือโลภะ พยาบาทคือโทสะ และมิจฉาทิฏฐิ เกิดขึ้นด้วยตามสมควร แต่กายกรรมนี้ เน้นตัวเจตนาคือความจงใจเป็นสำคัญ ดังนั้น อภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ ในกายกรรมนี้ จึงจัดเป็นอกุศลกรรมฝ่ายสนับสนุนเจตนา ไม่ได้จัดเป็นกรรมบถ เปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย สมมติว่ามีผู้ร้าย ๔ คน คือ นายเจตนา นายอภิชฌา นายพยาบาท และนายมิจฉาทิฏฐิ สมคบกันฆ่าคน นายอภิชฌา นายพยาบาท นายมิจฉาทิฏฐิ เป็นผู้คิดอุบาย นายเจตนาเป็นผู้ลงมือฆ่า โทษหนักจึงไปอยู่ที่นายเจตนา
มุสาวาท
คำว่า มุสา แปลว่า เท็จ เจตนาทำให้พูดเท็จ ชื่อว่า มุสาวาท ได้แก่ อกุศลเจตนา ที่ก่อให้เกิดความพยายามทางกายและทางวาจาของคนโกง โดยมุ่งจะหลอกลวงคนอื่น การพูดเท็จนั้น หากทำให้คนอื่นเสียประโยชน์ จัดเป็นกรรมบถ ถ้าไม่เสียประโยชน์ ก็เป็นเพียงกรรม
กรรมบถ ต่างกันกับ กรรม กรรมบถ หมายถึง กรรมที่ส่งผลในปฏิสนธิกาล เช่น ส่งผลให้ไปเกิดในนรก เกิดเป็นมนุษย์ เกิดในสวรรค์ เป็นต้น ส่วนกรรม หมายถึง กรรมที่ส่งผลใน ปวัตติกาล คือหลังจากเกิดในภพนั้น ๆ แล้วเช่น ส่งผลให้เห็นรูป ฟังเสียง ลิ้มรส ที่ดีหรือไม่ดี เป็นต้น
มุสาวาท จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
๑. เรื่องไม่จริง
๒. จิตคิดจะพูดให้ผิด
๓. พยายามจะพูดออกไป
๔. คนอื่นเข้าใจเนื้อความนั้น
มุสาวาทมีโทษมาก เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. ประโยชน์ที่ถูกทำลายมีมาก
๒. ผู้เสียประโยชน์เป็นผู้มีคุณมาก
๓. กิเลสของผู้กล่าวมุสาวาทมีกำลังแรงกล้า
มุสาวาทที่ตรงกันข้าม ชื่อว่ามีโทษน้อย
โทษของมุสาวาท
โทษของมุสาวาท ทรงแสดงไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มุสาวาท อันบุคคลเสพ เจริญ ทำให้มาก ย่อมทำให้เกิดในนรก ในกำเนิดดิรัจฉาน ในแดนแห่งเปรต ผลร้ายแห่งมุสาวาทอย่างเบาที่สุด ย่อมทำให้เป็นผู้ถูกใส่ความ แก่ผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า ผู้กล่าวมุสา ถึงแม้จะไม่ไปตกนรกเป็นต้นนั้น หากได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็มักจะถูกใส่ความด้วยเรื่องอันไม่เป็นจริง คือใครทำความผิดอะไรไว้ คนทั้งหลายมักจะโทษว่าเขาเป็นผู้ทำ
ส่วนโทษของมุสาวาทที่เห็นได้ในปัจจุบันทันตา พึงเห็นสตรีผู้หนึ่งที่พูดมุสาเพื่อทำลายผลประโยชน์ของหมอรักษาตา เป็นอุทาหรณ์
อดีตกาล ในพระนครพาราณสี ได้มีจักษุแพทย์คนหนึ่ง เที่ยวรักษาคนตามหมู่บ้าน ตำบลต่าง ๆ ต่อมา ได้พบผู้หญิงคนหนึ่ง กำลังทุกข์ทรมานด้วยโรคตาจนเกือบจะมองไม่เห็น หมอตรวจดูอาการ แล้วบอกว่าพอจะรักษาให้หายเป็นปกติได้ นางจึงตอบว่า ถ้าคุณหมอรักษาตาดิฉันให้หายเป็นปกติได้ ดิฉันกับลูกชาย ลูกสาว จะยอมเป็นทาสรับใช้ไปตลอดชีวิต หมอจึงตกลงรักษาให้ ต่อมาไม่นาน ดวงตาของเธอก็หายเป็นปกติ เธอกลัวว่าจะต้องเป็นทาสของหมอตามที่ให้สัญญาไว้ เมื่อหมอมาถามอาการ จึงแกล้งพูดโกหกว่า ก่อนนี้ดวงตาดิฉันเจ็บปวดเพียงเล็กน้อย แต่พอหยอดยาของท่านแล้ว กลับเจ็บปวดมากกว่าเดิม หมอรู้ทันว่า หญิงผู้นี้หลอกลวงเรา เพราะต้องการจะไม่ให้ค่ารักษา หมอโกรธมาก จึงปรุงยาขนานใหม่ให้ เมื่อหญิงนั้นใช้ยาหยอดตาแล้ว ตาทั้ง ๒ ข้างได้บอดสนิท สตรีนั้น ตาบอดเพราะกล่าวเท็จ ดังนี้แล
ปิสุณวาจา
เจตนาของผู้มีจิตเศร้าหมอง พยายามกระทำหรือพูด เพื่อต้องการให้คนอื่นมารักตน ก็ดี เพื่อต้องการทำลายคนอื่น ก็ดี ชื่อว่า ปิสุณวาจา
การพูดให้ร้ายลับหลัง โดยมุ่งให้คนอื่นเกิดความแตกแยก เมื่อคนอื่นแตกแยกกัน จัดเป็น ปิสุณวาจา สำเร็จเป็นกรรมบถ ถ้าไม่เกิดความแตกแยกกันก็เป็นเพียงกรรมเท่านั้น
ปิสุณวาจา จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
๑. คนอื่นพึงถูกทำลาย
๒. จิตคิดจะพูดส่อเสียด
๓. พยายามจะพูดออกไป
๔. คนอื่นเข้าใจเนื้อความนั้น
ปิสุณวาจา มีโทษมาก เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. บุคคลผู้ถูกทำลายให้แตกแยกกันนั้นเป็นผู้มีคุณมาก
๒. คนเหล่านั้นแตกแยกกัน
๓. ผู้พูดมีกิเลสแรงกล้า
ปิสุณวาจาที่ตรงกันข้าม ชื่อว่ามีโทษน้อย
โทษของปิสุณวาจา
โทษของปิสุณวาจา ทรงแสดงไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปิสุณวาจา อันบุคคลส้องเสพ เจริญ ทำให้มาก ย่อมทำให้ไปเกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในแดนแห่งเปรต ผลร้ายแห่งปิสุณวาจาอย่างเบาที่สุด ย่อมทำให้เกิดความแตก จากมิตร แก่ผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า บุคคลผู้พูดปิสุณวาจา ถึงแม้จะไม่ตกนรกเป็นต้นนั้น หากได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็จะแตกจากมิตร คือผู้ที่เป็นมิตรนั่นแหละจะกลับกลายมาเป็นศัตรูแก่เขา
ส่วนโทษของปิสุณวาจา พึงเห็นผลกรรมที่พระธรรมกถึกรูปหนึ่งได้รับ เป็นอุทาหรณ์
ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ มีพระมหาเถระ ๒ รูป รูปหนึ่งมีพรรษา ๖๐ อีกรูปหนึ่งมีพรรษา ๕๙ สนิทรักกันมาก จำพรรษาอยู่ในอาวาสแห่งหนึ่ง สมบูรณ์ด้วยลาภ ต่อมา มีพระธรรมกถึกรูปหนึ่ง มาขออยู่ในอาวาสนั้นด้วย เพราะเห็นว่าเป็นวัดที่มีลาภสักการะมาก อยู่ได้ไม่นาน ก็คิดขับไล่พระเถระทั้ง ๒ รูปนั้น จึงเข้าไปหาทีละรูปแล้ว พูดว่า เมื่อวันกระผมมาที่นี่ พระเถระรูปนั้น บอกผมว่า คุณเป็นคนดี จะคบหาสมาคมกับพระมหาเถระ ต้องพิจารณาให้ดีก่อน พูดเหมือนกับรู้ความลับความเสียหายของท่าน เสร็จแล้ว ก็เข้าไปหาอีกรูปหนึ่ง พูดอย่างเดียวกันนั้น แรก ๆ ทั้ง ๒ รูปไม่เชื่อ แต่นานไป เกิดบาดหมางกันแล้ว ในที่สุดก็แตกกัน ต่างคนต่างออกจากวัด พระธรรมกถึก จึงได้ครองวัดนั้นแต่เพียงรูปเดียว เมื่อพระธรรมกถึกนั้นมรณภาพแล้ว ไปเกิดในนรกชั้นอเวจี พ้นจากนรกนั้นแล้วไปเกิดเป็นเปรต ร่างกายเหมือนมนุษย์ มีศีรษะเหมือนสุกร ต้องเสวยทุกข์อยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ การพูดทำให้คนแตกสามัคคีกัน เป็นบาปหนัก ดังนี้แล
ผรุสวาจา
เจตนาแผ่ไปเผาผลาญจิตของผู้ฟัง ชื่อว่า ผรุสา
เจตนาเป็นเหตุประทุษร้าย ก่อให้เกิดความพยายามทางกายและทางวาจาอันเป็นเหตุทำลายไมตรีของผู้อื่น ชื่อว่า ผรุสวาจา อีกอย่างหนึ่ง เจตนาในการพูดมุ่งทำลาย แผ่ไปเผาผลาญจิตใจของผู้ฟัง ชื่อว่า ผรุสวาจา
ผรุสวาจานั้น ขึ้นอยู่กับเจตนาที่มุ่งประทุษร้าย และพูดต่อหน้า จึงจัดเป็นกรรมบถ ส่วนคำด่าที่พูดด้วยเจตนาดี เหมือนบิดา มารดา และครูอาจารย์ ดุด่าบุตร ธิดา และศิษย์ เป็นต้น ไม่จัดเป็นผรุสวาจา
ดังได้สดับมา เด็กคนหนึ่ง ไม่เชื่อคำของมารดา เข้าไปในป่า เมื่อมารดาไม่สามารถบังคับให้เด็กนั้นกลับได้ จึงด่าว่า ขอแม่กระบือดุ จงไล่ตามมัน ทันใดนั้น แม่กระบือปรากฏแก่เด็กนั้นในป่าจริง ๆ เด็กได้ตั้งสัจจอธิษฐานว่า มารดาของข้าพเจ้าพูดเรื่องใดด้วยปาก เรื่องนั้นจงอย่ามี แต่มารดาคิดเรื่องใดด้วยจิต ขอเรื่องนั้นจงมีเถิด แม่กระบือได้หยุดอยู่ เหมือนถูกผูกในที่นั้นนั่นเอง
ผรุสวาจาที่จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๓ คือ
๑. คนอื่นที่พึงถูกด่า
๒. จิตคิดจะพูดคำหยาบ
๓. พูดคำหยาบออกไป
ผรุสวาจามีโทษมาก เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. ผรุสวาจานั้น ถึงความเป็นกรรมบถ
๒. คนที่ถูกด่าเป็นคนมีคุณธรรมมาก
๓. ผู้พูดมีกิเลสแรงกล้า
ผรุสวาจาที่ตรงกันข้าม ชื่อว่ามีโทษน้อย
โทษของผรุสวาจา
โทษของผรุสวาจา ทรงแสดงไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผรุสวาจาอันบุคคลส้องเสพ เจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำให้ไปเกิดในนรก ในกำเนิดดิรัจฉาน ในแดนแห่งเปรต ผลร้ายแห่งผรุสวาจาอย่างเบาที่สุด เมื่อเขาได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้ผู้นั้นได้ยินแต่ คำพูดที่ไม่สบอารมณ์อยู่เสมอ
พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า ผู้พูดผรุสวาจา ถึงแม้จะไม่ไปตกนรกเป็นต้นนั้น หากได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะได้ยินแต่คำพูดที่ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจตลอดเวลา คือ เวลาไปที่ไหนจะได้ยินแต่คำพูดชนิดที่ระคายหู บาดหู เผ็ดร้อน สะเทือนใจ ทำลายความรู้สึก
ส่วนโทษของผรุสวาจาที่ได้รับในปัจจุบันทันตา พึงเห็นเจ้าศากยะทั้งหลาย เป็นอุทาหรณ์
ในสมัยพุทธกาล พระราชกุมารทรงพระนามว่าวิฑูฑภะ เป็นโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศล กับพระนางวาสภขัตติยาชาวศากยะ พระญาติขององค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระธิดาของพระเจ้ามหานามะกับนางกำนัล พระเจ้ามหานามะได้ถวายพระนางแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ที่ส่งคนมาขอโดยประสงค์จะเป็นพระญาติกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขณะที่ยังทรงพระเยาว์ พระเจ้าวิฑูฑภะ เห็นพระกุมารอื่น ๆ ได้รับของขวัญจากสกุลของพระเจ้าตา จึงถามพระมารดาว่า แม่ไม่มีพระเจ้าตาพระเจ้ายายหรือ เมื่อพระมารดา ตอบว่า มีสิลูก ได้ถามกลับไปว่า ทำไม พระเจ้าตาพระเจ้ายาย จึงไม่ส่งของเล่นให้ชายบ้าง คำถามนี้ทำให้พระมารดาหนักพระทัยที่สุด เพราะรู้จักมานะของพวกศากยะดี จึงตอบเลี่ยงไปว่า ท่านอยู่ไกลและไม่มีเวลา
วิฑูฑภราชกุมารรบเร้าพระมารดา ต้องการจะไปเยี่ยมสกุลพระเจ้าตา พระนางไม่สามารถจะขัดขืนได้ จึงส่งข่าวไปให้พระเจ้ามหานามะทราบ ในวันที่วิฑูฑภราชกุมารไปถึงเมืองกบิลพัสดุ์ พวกศากยะให้พระกุมารที่มีอายุน้อยกว่าเสด็จออกประพาสป่าหมด วิฑูฑภราชกุมารต้องเป็นผู้ไหว้พวกศากยะฝ่ายเดียว จึงถามว่า เจ้าศากยะที่มีอายุน้อยกว่าไม่มีเลยหรือ พวกเจ้าศากยะตอบว่า มีจ้ะ พ่อ แต่ออกไปประพาสป่ากันหมด วิฑูฑภราชกุมารเยี่ยมสกุลพระเจ้าตาพอสมควรแก่เวลา จึงลากลับ เดินทางไปได้ระยะหนึ่ง มหาดเล็กคนหนึ่งลืมของไว้ จึงกลับไปเอา พบพวกศากยะกำลังเอาน้ำนมล้างตั่งที่วิฑูฑภราชกุมารนั่ง ปากก็ด่าว่า ล้างเสนียดจัญไรที่ลูกนางทาสีนั่ง มหาดเล็กนำความนั้นมาทูลพระราชกุมาร พระราชกุมารโกรธจัด ตรัสว่า วันนี้ พวกศากยะเอาน้ำนมล้างตั่งไปก่อนเถอะ ภายหน้าเมื่อเราได้ครองราชย์ จะเอาเลือดในลำคอของพวกนั้นล้างท้องพระโรงให้ได้
เมื่อวิฑูฑภราชกุมาร ได้ครองราชย์หลังจากพระเจ้าปเสนทิโกศลสวรรคตแล้วจึงยกกองทัพมาฆ่าพวกศากยะจนหมดสิ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กที่ยังดื่มนม สกุลของพวกเจ้าศากยะได้ถูกพระเจ้าวิฑูฑภะทำลายจนหมดสิ้น เพราะการกล่าวคำหยาบด่าว่าผู้อื่นด้วยจิตใจที่หยาบคาย ดังนั้น จึงไม่ควรพูดคำหยาบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
สัมผัปปลาปะ
เจตนาเป็นเหตุกล่าวถ้อยคำอันหาประโยชน์มิได้ คือ กำจัดทางแห่งประโยชน์อันสัตบุรุษพึงได้รับ ชื่อว่า สัมผัปปลาปะ
ความแตกต่างระหว่างมุสาวาทกับสัมผัปปลาปะ
มุสาวาท ได้แก่ อกุศลเจตนา อันเป็นเหตุพยายามทางกาย ทางวาจาของคนผู้มุ่งจะหลอกลวงคนอื่น ส่วนสัมผัปปลาปะ ได้แก่ อกุศลเจตนา อันเป็นเหตุกล่าวถ้อยคำปราศจากอรรถธรรม ไม่แสดง อรรถ ธรรม และวินัย เพื่อให้เข้าใจประโยชน์ในภพนี้และภพหน้า
สัมผัปปลาปะที่ประกอบด้วยอกุศลเจตนาเป็นเหตุพยายามทางกาย ทางวาจาเพื่อแสดงสิ่งไร้สาระ จนคนหลงเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง จัดเป็นกรรมบถ
ส่วนดิรัจฉานกถา ผู้พูดด้วยความชอบใจ ย่อมเป็นเพียงกรรม ไม่ถึงกรรมบถ หากพูดโดยอิงอาศัยอรรถ ธรรม หรือวินัย ก็เกิดประโยชน์ได้
สัมผัปปลาปะ จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๒ คือ
๑. จิตคิดจะพูดเรื่องเพ้อเจ้อ
๒. พูดเรื่องเช่นนั้นออกไป
สัมผัปปลาปะ มีโทษมาก เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. ผู้พูดมีอาเสวนะ ( ความเสพคุ้น ) มาก
๒. คนอื่นเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง
๓. ผู้พูดมีกิเลสแรงกล้า
สัมผัปปลาปะที่ตรงกันข้าม ชื่อว่ามีโทษน้อย
โทษของสัมผัปปลาปะ
โทษของสัมผัปปลาปะ ทรงแสดงไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมผัปปลาปะ อันบุคคล เสพ เจริญ ทำให้มาก ย่อมทำให้ไปเกิดในนรก ในกำเนิดเดียรัจฉาน ในแดนแห่งเปรต ผลร้ายแห่งสัมผัปปลาปะอย่างเบาที่สุด ย่อมทำให้เป็นคนมีวาจาที่ไม่น่าเชื่อถือแก่ผู้ที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์
พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า ผู้พูดสัมผัปปลาปะ ถึงแม้จะไม่ไปตกนรกเป็นต้นนั้น หากได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็จะไม่มีใครเชื่อถือวาจา ถึงแม้จะสั่งสอนบุตรธิดา หรือศิษย์ก็ไม่เชื่อฟัง เป็นต้น
ส่วนโทษของการพูดสัมผัปปลาปะ โดยการพูดแบบไม่รู้กาละเทศะ พึงเห็นเต่าตัวหนึ่ง เป็นอุทาหรณ์
ในสมัยดึกดำบรรพ์ มีเต่าช่างพูดตัวหนึ่ง ได้ผูกมิตรกับหงส์ ๒ ตัว ที่มาหากินในหนองน้ำที่เต่าอาศัยอยู่ เมื่อหงส์ทั้งสองมาที่หนองน้ำนั้น ก็สนทนากับเต่าอย่างมีความสุข สมกับคำที่นักปราชญ์สอนไว้ว่า จะมีใครในโลกนี้ที่มีความสุขเท่ากับผู้มีมิตรสหายไว้สนทนาปรับทุกข์ ร่วมสุขซึ่งกันและกัน เต่าได้พูดกับหงส์ว่า สหายทั้งสองนับว่าโชคดี มีปีกบินได้ จึงไปหากิน และไปเที่ยวต่างถิ่นได้ตามใจชอบ ส่วนข้าพเจ้ากี่เดือนกี่ปี ก็อยู่แต่ที่หนองน้ำแห่งนี้ ไม่มีโอกาสได้ไปภูมิประเทศอื่นอันสวยงามกับเขาเลย เพราะเป็นสัตว์เดินช้า
หงส์ทั้งสองสงสารเพื่อน จึงบอกว่า ถ้าสหายต้องการจะไปหากินยังหนองน้ำอื่น และเที่ยวชมภูมิประเทศที่สวยงามละก็ ข้าพเจ้าทั้งสองสามารถพาไปได้ แต่กลัวว่าสหายจะอดพูดไม่ได้ เต่าถามวิธี จึงบอกว่าข้าพเจ้าทั้งสองจะคาบไม้ที่ปลายทั้งสอง ให้สหายคาบตรงกลาง เพียงเท่านี้ ก็สามารถพาสหายไปที่ไหนก็ได้ แต่ระหว่างเดินทาง สหายต้องไม่พูดเด็ดขาด ถ้าพูดจะทำให้ตกลงมาถึงแก่ความตาย เต่ารับคำของหงส์ว่าจะทำตามนั้น
หงส์ทั้งสองพาเต่าบินไป ผ่านทุ่งนาแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเด็กเลี้ยงวัวหลายคนกำลังจับกลุ่มเล่นกัน เด็กคนหนึ่งเห็นเช่นนั้นจึงบอกเพื่อนว่า ดูสิ หงส์ ๒ ตัวคาบปลายไม้พาเต่าบินไป ข้าว่าเดี๋ยวก็ตกลงมาตาย พวกเราตามไปเก็บเต่าตายมาแกงกินกันเถอะ แล้วก็พากันวิ่งตามไป เต่าได้ยินดังนั้น อยากจะพูดกับเด็กให้สะใจว่า ไอ้เด็กโง่เอ๋ยพวกเองไม่มีวันจะได้กินเนื้อของข้าหรอก อ้าปากจะพูด จึงหลุดจากไม้ที่คาบไว้ ตกลงมาที่แผ่นดิน จนกระดองแตก ถึงแก่ความตาย การพูดไม่รู้จักกาลเวลามีโทษอย่างนี้
วจีกรรมเป็นไปในทวาร ๒
กรรม ๔ อย่าง มีมุสาวาทเป็นต้นนี้ จัดเป็นวจีกรรม เพราะเป็นไปทางวจีทวารโดยมาก บางครั้ง กรรม ๔ อย่างนี้ ก็เกิดขึ้นทางกายทวารได้ เช่น การเขียนหนังสือหลอกลวงคนอื่น เป็นต้น
อนึ่ง ในขณะที่พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อนั้น อกุศลธรรม ๓ อย่าง มีอภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ ย่อมเกิดร่วมด้วยตามสมควร แต่ก็ไม่เรียกว่าวจีกรรม เพราะในที่นี้มุ่งเอาเจตนาเป็นใหญ่ ดังพระพุทธพจน์ว่า เจตนาหํ ภิกขเว กมมํ วทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม และอกุศลธรรมทั้ง ๓ นั้น ก็ไม่ชื่อว่า มโนกหรรม เพราะละเมิดออกมาทางวาจาแล้ว ดังนั้น อกุศลธรรมทั้ง ๓ นั้น จึงเป็นเพียงตัวสนับสนุนเจตนา ส่วนอธิบายผู้ศึกษาพึงทราบเหมือนกับอธิบายในกายกรรมที่แสดงไว้แล้ว
อภิชฌา
เจตนาเป็นเหตุละโมบ ในเมื่อเห็นสิ่งของ ๆ ผู้อื่นแล้ว เพ่งเล็ง โดยน้อมเข้ามาหาตนว่า ทำอย่างไรหนอ ของนี้จะพึงเป็นของเรา ชื่อว่า อภิชฌา ที่ถึงความเป็นกรรมบถ แต่ถ้าเห็นสมบัติของคนอื่นแล้ว ไม่คิดเอามาเป็นของตน เพียงแต่ยินดีว่า ผู้ใช้สอยสมบัติเช่นนี้มีบุญหนอ เราควรได้ใช้สอยสักชั่วคราว หรือว่า เราควรได้รับของเช่นเดียวกันนี้ อย่างนี้ เป็นเพียงกรรมเท่านั้น ไม่ถึงกรรมบถ สมกับคำของพระอรรถกถาจารย์ว่า แม้ความโลภจะเกิดขึ้นในสมบัติของผู้อื่น ก็ยังไม่จัดเป็นกรรมบถ ตลอดเวลาที่ยังไม่น้อมเข้ามาเป็นของตนว่า ไฉนหนอ ของนี้พึงเป็นของเรา
อภิชฌา จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๒ คือ
๑. สิ่งของ ของบุคคลอื่น
๒. การน้อมมาเพื่อเป็นของตน
อภิชฌานั้นมีโทษมาก เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. สิ่งของที่เพ่งเล็งมีค่ามาก
๒. เจ้าของมีคุณมาก
๓. ผู้เพ่งเล็งมีกิเลสแรงกล้า
อารมณ์ภายนอกเป็นเหตุเกิดอภิชฌาได้
มีเศรษฐีใหม่คนหนึ่ง ได้รับมรดกหลังจากบิดามารดาถึงแก่กรรม ผู้รักษาเรือนคลังของเศรษฐีนั้น ได้เปิดห้องสำหรับเก็บทรัพย์แจ้งจำนวนให้ทราบว่า ทรัพย์ของบรรพบุรุษมีปู่เป็นต้น มีจำนวนเท่านี้ ของบิดาท่านมีจำนวนเท่านี้ เศรษฐีใหม่ดูทรัพย์เหล่านั้นแล้ว ถามว่า ทำไมบรรพบุรุษของเรา จึงไม่เอาทรัพย์เหล่านี้ไปด้วย ผู้รักษาเรือนคลังตอบว่า เจ้านายไม่มีใครถือเอาทรัพย์ไปปรโลกได้หรอก สัตว์ทั้งหลายพาเอาไปได้แต่บุญกับบาปที่ตนทำไว้เท่านั้น
เศรษฐีใหม่คิดว่า บรรพบุรุษของเรา สะสมทรัพย์สินเงินทองเอาไว้มากมายมหาศาล ที่สุดก็เอาไว้ให้คนอื่น เพราะความโง่แท้ ๆ ส่วนเราจะเอาทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นไปให้หมด จึงสั่งให้สร้างคฤหาสน์หรูราคาแพง สร้างประรำสำหรับรับประทานอาหาร เพื่อประกาศความร่ำรวย ให้ชาวเมืองได้เห็น การรับประทานอาหารแต่ละมื้อใช้จ่ายมากมีทั้งอาหาร สาวงามคอยปรนนิบัติขับกล่อม โดยเฉพาะวันเพ็ญ ได้จ่ายทรัพย์เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นค่าอาหาร จ้างคนไปประกาศให้ชาวเมืองมาดูการรับประทานอาหารของตน ประชาชนได้พากันมาดูเป็นจำนวนมาก
ในที่นั้นมีคนยากจน ๒ คน เป็นเพื่อนกัน คนหนึ่งอยู่ในเมือง คนหนึ่งอยู่บ้านนอก มีอาชีพหาฟืนขาย พอเศรษฐีเปิดภาชนะบรรจุอาหาร กลิ่นของอาหารหอมฟุ้งตลบไปทั่ว จนชาวบ้านนอกคนนั้นเกิดความอยากรับประทาน อดใจไว้ไม่อยู่ เพราะตั้งแต่เกิดมา อย่าว่าแต่ได้รับประทานเลย แม้แต่กลิ่นอย่างนี้ก็ไม่เคยได้รับ จึงบอกแก่เพื่อนว่า เพื่อนเอ๋ย เราอยากกินอาหารนั้นเหลือเกิน เพื่อนจึงตอบว่า อย่าปรารถนาเลยเพื่อน เราทำงานไปตลอดชีวิต ก็ไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสอาหารอย่างนี้ เขาขอร้องว่า เพื่อนเอ๋ย ถ้าไม่ได้กินอาหารนี้ ต้องตายแน่ เมื่อไม่สามารถห้ามได้ จึงตะโกนด้วยเสียงอันดังว่า นายครับ ผมไหว้ท่าน ขออาหารในถาดให้เพื่อนผมกินสักคำเถิด เศรษฐีตอบว่า ไม่ได้ จึงหันมาถามเพื่อนว่า ท่านได้ยินเศรษฐีพูดไหม เขาตอบว่า ได้ยินแล้ว แต่ยังยืนยันว่า ถ้าไม่ได้รับประทานอาหารนี้ ต้องตายแน่ ท่านขอรับ เพื่อนของผมบอกว่า ถ้าเขาไม่ได้อาหาร ชีวิตของเขาต้องตายแน่นอน เขาจึงบอกเศรษฐีอีกว่าโปรดให้ชีวิตแก่เขาเถิด ได้รับคำตอบว่า อาหารนี้ราคาแพงมาก ถ้าคนอื่นมาอ้างเหมือนเพื่อนของแกฉันจะเอาที่ไหนมาให้ ถ้าเพื่อนของแกอยากกินอาหารจานนี้จริง ๆ ต้องทำงานในบ้านฉัน ๓ ปี ในที่สุดชาวบ้านนอกคนนั้น ก็ยอมทิ้งครอบครัวมาทำงานในบ้านเศรษฐี ๓ ปี เพื่อแลกข้าวจานเดียว
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้อย่างรุนแรงนั้นเกิดขึ้นจากสิ่งล่อใจภายนอกก็ได้ ชาวบ้านนอกคนนั้น มีชีวิตอยู่ในโลกด้วยความอดอยากยากจนมานานแล้ว เมื่อไม่ได้เห็นความหรูหรา ไม่ได้กลิ่นอาหารดี ๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อได้มาเห็นความหรูหรา และได้กลิ่นอาหารดี ๆ ของเศรษฐี จึงเกิดความอยากได้อย่างรุนแรง ถึงกับเอาชีวิตเข้าแลก สมกับคำที่นักปราชญ์สอนเอาไว้ว่า ระหว่างอารมณ์กับยาพิษ อารมณ์มีพิษร้ายแรงกว่ายาพิษ เพราะยาพิษต้องกินเข้าไปมันถึงจะฆ่าชีวิตได้ แต่อารมณ์แค่คิดถึงก็ทำให้คนเราถึงตายได้ ดังนั้น คนเราจะทำอะไรก็ตาม ควรคิดถึงจิตใจของคนอื่นบ้าง อย่าเอาทรัพย์สมบัติ หรือสังขารร่างกายของเราไปอวดสาธารณชน จนคนอื่นเกิดความอยากได้อย่างรุนแรง เป็นเหตุนำภัยอันตรายมาสู่ตัวเองได้
พยาบาท
เจตนาเป็นเหตุปองร้าย คือ ความคิดกระทำให้ผู้อื่นประสบความพินาศ ชื่อว่า พยาบาท
ความคิดปองร้าย ของผู้มุ่งจะทำร้ายชีวิตของสัตว์อื่น ตั้งแต่มดและยุงไปจนถึงมนุษย์ว่า ขอให้สัตว์เหล่านี้จงพินาศ จงวิบัติ ทำอย่างไรหนอ สัตว์เหล่านี้ พึงพินาศ พึงวิบัติ ไม่พึงเจริญรุ่งเรือง ไม่พึงมีชีวิตอยู่ได้นาน ดังนี้ จัดเป็นกรรมบถ ส่วนความโกรธที่ไม่คิดร้ายผู้อื่น เป็นเพียงกรรมเท่านั้น สมกับคำพระอรรถกถาจารย์ว่า แม้ความโกรธที่มีสัตว์อื่นเป็นเหตุเกิดขึ้น ก็ไม่ล่วงกรรมบถ ตราบใดที่ยังไม่คิดร้ายเขาว่า ทำอย่างไรหนอ ผู้นี้จะพึงพินาศตายไป
พยาบาท จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๒ คือ
๑. มีสัตว์อื่น
๒. คิดจะให้สัตว์นั้นถึงความพินาศ
พยาบาท มีโทษมาก เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ
๑. ผู้ที่ถูกปองร้ายมีคุณมาก
๒. ผู้ปองร้ายมีกิเลสรุนแรง
ความพยาบาทเกิดเพราะความคิด ๑๐ ประการ
ความพยาบาทย่อมเกิดเพราะความคิด ๑๐ ประการ คือ เพราะคิดว่า
๑. เขาได้ประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่เรา
๒. เขากำลังประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่เรา
๓. เขาจะประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่เรา
๔. เขาได้ประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่คนที่รักที่พอใจของเรา
๕. เขากำลังประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่คนที่รักที่พอใจของเรา
๖. เขาจะประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่คนที่รักที่พอใจของเรา
๗. เขาได้บำเพ็ญประโยชน์แก่คนที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของเรา
๘. เขากำลังบำเพ็ญประโยชน์แก่คนที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของเรา
๙. เขาจะบำเพ็ญประโยชน์แก่คนที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของเรา
๑๐. บุคคลบางคนย่อมโกรธโดยไม่มีเหตุผล
ความพยาบาทนั้น นอกจากจะทำลายประโยชน์สุขของผู้อื่นแล้ว ยังทำลายตนเองอีกด้วย ดังเรื่องที่พระอรรถกถาจารย์เล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทว่า
มีเศรษฐีคนหนึ่ง เก็บเอาเด็กทารกที่มารดาทิ้งไว้ที่กองขยะ นำมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เพราะเชื่อโหราศาสตร์ว่า เด็กที่เกิดมาในช่วงระยะวันเดือนนั้น จะมีวาสนาดี ได้เป็นเศรษฐี พอดีภรรยาของเขา ก็จะคลอดในช่วงเวลานั้นด้วย คิดว่า ถ้าภรรยาคลอดทารกออกมาเป็นหญิง ก็จะให้แต่งงานกับเด็กคนนั้น ถ้าคลอดออกมาเป็นชายก็จะฆ่าเด็กนั้นทิ้งเสีย เผอิญภรรยาคลอดทารกออกมาเป็นชาย จึงคิดจะฆ่าเด็กนั้น ตามความพยาบาทข้อที่ ๖ ว่า เขาจะประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่คนที่รัก ที่พอใจ ของเรา
เศรษฐีพยายามฆ่าเด็กนั้น ตั้งแต่เป็นทารกแบเบาะ จนถึงโตเป็นหนุ่มถึง ๕ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ เอาไปวางไว้ที่ประตูคอกโค ซึ่งมีโคหลายร้อยตัวที่จะเดินแออัดแย่งกันออกจากคอกแล้วเหยียบเด็ก แต่ปรากฏว่า โคตัวจ่าฝูงไปยืนกันเด็กเอาไว้ จนโคออกจากคอกหมด ทำให้เด็กรอดตายในครั้งนั้น
ครั้งที่ ๒ เอาไปวางไว้ที่ทางเกวียน เวลากลางคืน เพื่อให้หมู่เกวียนที่นำสินค้าไปขายหลายร้อยหลายพันเล่มทับเด็กตาย แต่โคลากเกวียนเล่มหน้าสุด เดินไปถึงที่นั้นได้สลัดแอกทิ้ง ไม่ยอมลากเกวียนต่อไป เจ้าของเกวียนลงไปจัดการกับโค ได้พบเด็กเข้าจึงนำไปคืนให้เศรษฐี
ครั้งที่ ๓ เอาเด็กไปทิ้งในป่าช้าผีดิบ เพื่อให้สัตว์ร้ายและอมนุษย์ที่มาหากินในเวลากลางคืนทำร้ายเด็ก แต่ก็ไม่มีสัตว์ร้ายอะไรทำร้ายเด็กได้ จนมีคนมาพบแล้วนำไปคืนเศรษฐี
ครั้งที่ ๔ นำเอาเด็กไปโยนเหว แต่ปรากฏว่าเด็กตกไปค้างอยู่บนยอดพุ่มไม้ ซึ่งมีเถาวัลย์สอดประสานกันอย่างหนาแน่น จึงไม่เป็นอันตราย จนมีคนไปพบแล้วนำไปคืนเศรษฐี
เศรษฐีพยายามฆ่าเด็กถึง ๔ ครั้ง แต่เด็กไม่ตาย ยังมีชีวิตอยู่ต่อมาจนเป็นหนุ่ม เศรษฐีมองดูเด็กนั้นครั้งใด หน้าของเด็กนั้นเหมือนกับหนามแทงตาแทงใจ ดังพระพุทธพจน์ว่า อปฺปิเยหิ สมฺปโยโค ทุกฺโข การได้ประสบกับบุคคลไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์ สุดท้ายเศรษฐี จึงวางแผนฆ่าเด็กด้วยการส่งเด็กไปยังบ้านนายช่างหม้อเพื่อนตนเอง เขียนหนังสือให้เด็กถือไป มีข้อความว่า ให้ฆ่าเด็กคนนี้แล้วเผาทิ้งเสีย เพราะเด็กไม่รู้หนังสือ จึงรับคำของบิดา เดินทางออกจากบ้านมุ่งหน้าไปยังบ้านของนายช่างหม้อ บังเอิญไปพบกับบุตรชายแท้ ๆ ของเศรษฐี กำลังเล่นอยู่กับเพื่อน ๆ และพ่ายแพ้มาตลอด จึงรบเร้าให้พี่ชายเล่นแทน และขออาสาเอาจดหมายของพ่อไปให้นายช่างหม้อแทน จึงถูกนายช่างหม้อฆ่าตาย นายช่างเผาทำลายหลักฐาน ตามคำสั่งของเศรษฐีแล้ว ส่งข่าวไปให้ทราบว่า งานที่สั่งให้ทำ ได้จัดการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ครั้นตกเย็น เด็กหนุ่มกลับมาบ้าน พอเศรษฐีเห็นหน้าเขาเท่านั้น ก็รู้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น เสียใจอย่างหนักถึงกลับอาเจียนออกมาเป็นเลือด และถึงแก่ความตายในที่สุด สมกับที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ผู้ประทุษร้ายต่อบุคคลผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้ประทุษร้ายต่อบุคคลผู้ไม่มีความผิด ย่อมประสบความทุกข์ ๑๐ ประการ คือ
๑. ต้องเจ็บปวด อย่างหนัก ยากรักษา
๒. ทรัพย์โภคา เสื่อมถอย ค่อยหดหาย
๓. อวัยวะ แตกหัก จากร่างกาย
๔. โรคร้าย เกาะเกี่ยว สุดเยียวยา
๕. เกิดโรค ทางจิต คิดฟุ้งซ่าน
๖. มีการ อื้อฉาว ถูกกล่าวหา
๗. อุปสรรค มากมี เข้าบีฑา
๘. ญาติกา ที่รัก ต้องจากไป
๙. ทรัพย์สิน ย่อยยับ อย่างฉับพลัน
ข้อ ๑๐ นั้น บ้านเรือน ถูกไฟไหม้
ใน ๑๐ ข้อ ไม่ข้อใดข้อหนึ่ง เป็นต้องได้ ประสบ พบแน่นอน
ความพยาบาทปองร้าย เป็นเหตุนำทุกข์ภยันตรายมาสู่ตนและคนอื่น ดังกล่าวมา ฉะนั้น จึงควรมีเมตตากรุณา รักใคร ช่วยเหลือซึ่งกันและกันดีกว่า เพื่อให้โลกของเราอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และพึ่งอาศัยกันได้ต่อไป
มิจฉาทิฏฐิ
เจตนาเป็นเหตุให้เห็นผิด เพราะไม่มีการถือเอาตามความเป็นจริง คัดค้านข้อประพฤติปฏิบัติของสัตบุรุษทั้งหมด โดยนัยเป็นต้นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ
นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ อย่าง
๑. นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่าผลกรรมไม่มี เช่นเห็นว่า ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี บิดามารดาไม่มีบุญคุณต่อบุตรธิดา เป็นต้น
๒. อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ คือ เหตุแห่งความเศร้าหมอง ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายไม่มี สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองเอง บริสุทธิ์เอง ทุกข์เอง สุขเอง ไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียรอะไร ที่จะสามารถทำให้สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองและบริสุทธิ์ได้ ดังนั้น อเหตุกทิฏฐิ ก็คือ ความเห็นว่ากรรมไม่มีนั่นเอง
๓. อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ หมายความว่า เมื่อคนทำบาป มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็ไม่จัดว่าเป็นการทำบาป เมื่อคนให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น ก็ไม่จัดว่า เป็นการทำบุญ ดังนั้น อกิริยทิฏฐิ ก็คือความเห็นว่ากรรมและผลของกรรมไม่มี นั่นเอง
มิจฉาทิฏฐิ ๓ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ล้วนปฏิเสธกรรมและผลของกรรมอย่างสิ้นเชิง จัดเป็นกรรมบถ ส่วนมิจฉาทิฏฐินอกจากนี้ มีสักกายทิฏฐิ ๒๐ หรือทิฏฐิ ๖๒ เป็นต้น เป็นเพียงกรรมเท่านั้น
มิจฉาทิฏฐิ จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๒ คือ
๑. เรื่องไม่จริง
๒. เรื่องไม่จริงนั้น ไม่เป็นไปตามที่มิจฉาทิฏฐิยึดถือ
มิจฉาทิฏฐินั้น มีโทษมาก เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ
๑. เพราะมีอาเสวนะ (ความเสพคุ้น) มาก
- เพราะเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ
โทษของมิจฉาทิฏฐิ
โทษของมิจฉาทิฏฐิ แม้จะไม่ถึงเป็นนิยตะ คือ ดิ่งจนไม่สามารถจะแก้ไขได้ทั้ง ๓ ประการ ดังกล่าวมา ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีโทษมาก ทำให้ผู้ประพฤติถึงความพินาศได้ เหมือนชาวกาลิงครัฐ เป็นอุทาหรณ์
เล่ากันมาว่า ครั้งดึกดำบรรพ์ พระเจ้าทัณฑกีครองราชย์ในกุมภวดีบุรี แคว้นกาลิงคะ ครั้งนั้นพระองค์ทรงถอดตำแหน่งหญิงนครโสเภณีคนหนึ่ง นางได้วิ่งเต้นทุกวิถีทางเพื่อได้ตำแหน่งกลับมา วันหนึ่ง ไปพักผ่อนหย่อนใจในราชอุทยาน พบดาบสรูปหนึ่งนั่งเข้าฌานอยู่ เธอคิดว่านั่นเป็นภาพกาฬกิณี จึงให้คนใช้เอาน้ำมาล้างตา เสร็จแล้วถ่มน้ำลายรดดาบส หลังจากนั้นสองสามวันเธอได้รับตำแหน่งกลับคืนดังเดิม
ต่อจากนั้นไม่นาน ปุโรหิตคนหนึ่งถูกถอดจากตำแหน่งอีก เขาไปถามหญิงนั้นว่า ทำอย่างไรจึงได้ตำแหน่งกลับคืน เธอตอบว่า เพราะไปถ่มน้ำลายรดดาบส ปุโรหิตไปทำตามนั้น หลังจากนั้นสองสามวันเขาได้รับพระราชทานตำแหน่งดังเดิมเช่นกัน
ต่อจากนั้นไม่นาน เกิดจราจลที่หัวเมืองชายแดน พระราชาทรงเชื่อปุโรหิตนั้นจึงให้ประชาชนไปถ่มน้ำลายรดดาบส ไม่นานก็สามารถปราบปรามหัวเมืองให้สงบลงได้ ต่างร่าเริงยินดีว่าถ่มน้ำลายรดดาบสแล้วโชคดี
หญิงนครโสเภณี ปุโรหิต และชาวกาลิงครัฐ ได้รับความสำเร็จโดยบังเอิญ หลังจากที่ไปถ่มน้ำลายรดดาบส จึงเกิดความเห็นผิดว่า ทำชั่วได้ดี ต่างก็พากันเห็นดีเห็นงามกับการทำความชั่ว เทวดาโกรธชาวเมืองนั้นมาก จึงดลบันดาลให้ฝนเพลิงและฝนทราย ตกลงมาในแว่นแคว้นนั้น ทำให้คนเหล่านั้นถึงแก่ความตายทั้งหมด
จากเรื่องดังกล่าวนี้ ให้ข้อคิดทางคติธรรมว่า ความบังเอิญบางอย่างทางดีก็ตาม ทางร้ายก็ตาม ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์บางอย่าง เป็นสาเหตุอันสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเกิดมิจฉาทิฏฐิได้ ผู้เป็นวิญญูชนควรมีวิจารณญาณในเรื่องอย่างนี้ให้มาก เพื่อสร้างสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้น และไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของทรชน
มโนกรรมเป็นไปทางทวาร ๓
อภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นมโนกรรม เพราะเป็นไปทางมโนทวารโดยมาก แม้ไม่มีการเคลื่อนไหวทางกาย ทางวาจา เพียงแต่คิดในใจ ก็สำเร็จเป็นกรรมบถได้ บางครั้ง อกุศลธรรมทั้ง ๓ นี้ ย่อมเกิดขึ้นทางกายทวารและวจีทวาร เช่น บางคนมีใจละโมบอยากได้ของคนอื่น จึงยื่นมือไปหยิบของนั้น มีใจโกรธแค้นหยิบมีดหยิบไม้เพื่อทำร้ายเขา หรือมีความเห็นผิดไปไหว้กระบือ ๕ ขา เพื่อขอเลข เป็นต้น กรรมนั้นของเขา จัดเป็นมโนกรรม ส่วนทวาร จัดเป็นกายทวาร ถามว่าทำไม่ จึงไม่จัดเป็นกายกรรม แก้ว่า เพราะตรงนี้ ท่านมุ่งถึงอภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิเป็นใหญ่ ไม่ได้มุ่งเจตนาเป็นใหญ่ ถ้ามุ่งเจตนาที่เป็นเหตุให้กระทำทางกายก็จัดเป็นกายกรรมได้
บางคนมีใจละโมบ พูดออกมาว่า ทำอย่างไรหนอ ของนั้นสิ่งจะพึงเป็นของเรา มีใจโกรธแค้น พูดแช่งว่า ทำอย่างไรหนอ คนนี้ จะพึงตายเสียที มีความเห็นผิด พูดว่า ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี เช่นนี้ กรรมของเขา จัดเป็นมโนกรรม ส่วนทวาร จัดเป็นวจีทวาร
บางคนไม่มีการกระทำทางกาย หรือพูดทางวาจา คิดละโมบอยากได้ คิดพยาบาทปองร้าย และเห็นผิดจากทำนองคลองธรรมอย่างเดียว กรรมของเขา จัดเป็นมโนกรรม แม้ทวารก็เป็นมโนทวาร มโนกรรมที่เป็นอกุศล ย่อมเกิดได้ทางทวารทั้ง ๓ ดังพรรณนามาฉะนี้ ฯ
อธิบายเป็นปุคลาธิษฐาน เรื่องมโนกรรม ดังนี้ มีโจรอยู่ ๓ กลุ่ม
กลุ่มที่ ๑ หัวหน้าชื่อนายอภิชฌา
กลุ่มที่ ๒ ชื่อนายพยาบาท
กลุ่มที่ ๓ ชื่อนายมิจฉาทิฏฐิ
ส่วนลูกน้องของทั้ง ๓ กลุ่ม มี ๒ คือ นายกาย กับ นายวาจา บางครั้งเวลาทำงาน เช่น ฆ่าคนหรือปล้นจี้ เป็นต้น หัวหน้าเป็นผู้คิดอุบาย นายกาย นายวาจา ซึ่งเป็นลูกน้องเป็นผู้ลงมือทำงาน จึงต้องได้รับโทษหนัก แต่บางครั้งหัวหน้าลงมือเอง ลูกน้องคอยสนับสนุน เช่น คอยดูต้นทาง เป็นต้น หัวหน้าจึงมีโทษหนักกว่า
โทษของอกุศลกรรมบถ ๑๐
บุคคลผู้ประกอบ คือ ประพฤติ หรือ กระทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ อย่างนี้ ย่อมตกนรก เหมือนกับถูกจับเอาไปวางไว้ ดังพระพุทธองค์ตรัสไว้ในปฐมนิรยสัคคสูตร ปัญจมปัณณาสก์ ทสกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อม
ตกนรกเหมือนถูกจับเอาไปวางไว้ ธรรม ๑๐ ประการอะไรบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ มีมือเปื้อนเลือด คิดแต่ประหัตประหาร ไม่มีความเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งปวง
๒. มักเป็นผู้ถือเอา สิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่ว่าของนั้นจะอยู่ในบ้านของเขา หรือที่ไหน ๆ ก็ตาม เป็นผู้ถือเอาสิ่งนั้นด้วยจิตคิดขโมย
๓. เป็นผู้มักประพฤติผิดในกาม จะเป็นผิดเพราะการนอกใจคู่ครองของตน ผิดเพราะล่วงละเมิดคู่ครองของผู้อื่น หรือผิดเพราะล่วงละเมิดต่อบุคคลที่ตนไม่มีสิทธิ์ที่จะทำเช่นนั้นก็ตาม
๔. เป็นผู้มักกล่าวเท็จ คือ ตนไม่รู้บอกว่ารู้ ไม่เห็นบอกว่าเห็น หรือรู้บอกว่าไม่รู้ เห็นบอกว่าไม่เห็น เป็นผู้กล่าวเท็จทั้ง ๆ ที่รู้ เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งบุคคลอื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้าง
๕. เป็นผู้พูดทำลายความสามัคคี ฟังจากฝ่ายนี้ไปบอกฝ่ายโน้น หรือฟังจากฝ่ายโน้นมาบอกฝ่ายนี้ เพื่อให้เขาแตกสามัคคีกัน หรือเพื่อจะทำตนให้เป็นที่รักของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ชอบสร้างความแตกแยก หรือส่งเสริมให้คนแตกแยก ชอบตั้งพรรคตั้งพวก พูดแต่ถ้อยคำที่จะทำให้แบ่งพรรคแบ่งพวก
๖. เป็นผู้พูดวาจาที่แผ่ไปเผาผลาญหัวใจของผู้ฟัง เป็นคำพูดบาดหู หยาบคาย เผ็ดร้อน กระทบกระเทียบเปรียบเปรย ทำให้ผู้ฟังเกิดความโกรธและฟุ้งซ่าน
๗. เป็นผู้พูดทำลายความสุข และประโยชน์ที่สัตบุรุษพึงได้รับ คือ พูดคำที่กำจัดทางแห่งประโยชน์และความสุขนั้น ไม่รู้กาลเทศะ พูดปราศจากอรรถ ธรรม หรือวินัย อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องแสดงเหตุผลเพื่อให้เข้าใจประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า
๘. เป็นผู้มากไปด้วยความละโมบ จ้องหาทางเอาของคนอื่นมาเป็นของตน
๙. เป็นผู้มีใจพยาบาท มีความคิดประทุษร้ายว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า ถูกจองจำ จงหายสาบสูญ จงพินาศ จงอย่าอยู่ในโลกนี้
๑๐. เป็นผู้มีความเห็นผิด มีทัศนะที่วิปริต ว่าการให้ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากของกรรมดีและกรรมชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มีโลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ โอปปาติกสัตว์ไม่มี สมณะพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ รู้แจ้งเองแล้ว แสดงโลกนี้ และโลกหน้าได้แจ่มแจ้ง ไม่มี
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการเหล่านี้ ย่อมตกนรก เหมือนถูกจับเอาไปวางไว้
พฤติกรรมที่เป็นบาป ๔ อย่าง
ผู้ที่ทำกายกรรมอันเป็นอกุศล ๓ อย่าง พูดวจีกรรม อันเป็นอกุศล ๔ อย่าง คิดมโนกรรมอันเป็นอกุศล ๓ อย่าง ดังกล่าวมาเท่านั้น จึงเป็นบาปทำให้ไปตกนรกก็หาไม่ แม้ผู้ชักชวน ผู้ยินดี ผู้ยกย่องสรรเสริญ อกุศลกรรม หรือบุคคลผู้ประพฤติอกุศลกรรมเหล่านั้น ก็ล้วนทำให้ไปตกนรกได้เหมือนกัน ดังนั้น ตามหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาจึงสรุปพฤติกรรมที่เป็นบาป สามารถนำไปสู่นรกได้ ๔ อย่าง คือ
๑. การทำ การพูด การคิด สิ่งที่เป็นอกุศลด้วยตนเอง
๒. การชักชวนผู้อื่นให้ทำ ให้พูด ให้คิดสิ่งที่เป็นอกุศลเหล่านั้น
๓. การยินดีกับบุคคลผู้ทำ ผู้พูด ผู้คิดสิ่งที่เป็นอกุศลเหล่านั้น
๔. การพูดยกย่องสรรเสริญ บุคคลผู้ทำ ผู้พูด ผู้คิด สิ่งที่เป็นอกุศลเหล่านั้น
สมจริงดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในกรรมปถวรรค อังคุตตรนิกาย ซึ่งขอยกมากล่าวแต่ใจความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมตกนรก เหมือนถูกเขาจับเอาไปวางไว้ ธรรม ๔ ประการคือ ๑. เป็นผู้ทำเอง พูดเอง คิดเอง ๒. เป็นผู้ชักชวนผู้อื่นให้ทำ ให้พูด ให้คิด ๓. เป็นผู้ยินดีกับบุคคลผู้ทำ ผู้พูด ผู้คิด ๔. เป็นผู้พูดสรรเสริญ ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมตกนรก เหมือนถูกเขาจับเอาไปวางไว้
คนชั่วยิ่งกว่าคนชั่ว
อนึ่ง บุคคลผู้ทำ ผู้พูด ผู้คิด กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม อันเป็นอกุศลทั้ง ๑๐ นี้ ถึงแม้ว่า จะทำให้ตกนรกก็จริง ถึงอย่างนั้น องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสว่า เป็นคนชั่วธรรมดาเท่านั้น แต่บางคนนอกจาก ทำ พูด และคิดอกุศลด้วยตนเองแล้ว ยังชักชวน หรือบีบบังคับผู้อื่นให้ทำ ให้พูด ให้คิดอกุศลเหล่านั้นด้วย บุคคลเช่นนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นคนชั่วยิ่งกว่าคนชั่ว ตามพระพุทธพจน์ในทสกรรมสูตรว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ โลภอยากได้ของผู้อื่น คิดร้ายทำลายผู้อื่น เป็นมิจฉาทิฏฐิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เราเรียกว่า คนชั่ว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่บุคคลบางคนในโลกนี้ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประ พฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ โลภอยากได้ของผู้อื่น คิดร้ายทำลายผู้อื่น เป็นมิจฉาทิฏฐิด้วยตนเองแล้ว ยังชักชวนบุคคลอื่นให้ทำ ให้พูด ให้คิดอย่างนั้นด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เราเรียกว่า คนชั่วยิ่งกว่าคนชั่ว
กุศลกรรมบถ ๑๐
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง
๒. อทินฺนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
ด้วยอาการแห่งขโมย
๓. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม
ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นกายกรรม เพราะเป็นไปทางกายทวารโดยมาก
๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ
๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียด
๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ
๗. สมฺผปฺปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ
ทั้ง ๔ นี้ จัดเป็นวจีกรรม เพราะเป็นไปทางวจีทวารโดยมาก
๘. อนภิชฺฌา ไม่โลภอยากได้ของเขา
๙. อพฺยาปาท ไม่พยาบาทปองร้ายเขา
๑๐. สมฺมาทิฏฺฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม
ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นมโนกรรม เพราะเป็นไปทางมโนทวารโดยมาก
คำว่า กุศลกรรมบถ แปลได้ ๒ นัย
๑. แปลว่า ทางเกิดแห่งกุศลกรรมที่ส่งผลในปฏิสนธิกาลได้
๒. แปลว่า กุศลกรรมที่เป็นเหตุเกิดในสุคติภูมิ และความสุขในสุคติภูมินั้น
กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ทรงแสดงไว้ในพระสูตรมากมาย เฉพาะใน อังคุตตรนิกาย มีอยู่หลายสูตร มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป ดังนี้
ในสาธุสูตร เรียกว่า สาธุธรรม (ธรรมดี)
ในอริยธรรมสูตร เรียกว่า อริยธรรม (ธรรมของอารยชน)
ในกุศลสูตร เรียกว่า อรรถธรรม (ธรรมที่ทำลายความชั่ว)
ในอรรถสูตร เรียกว่า อนาสวธรรม (ธรรมที่ไม่มีกิเลส)
ในวัชชสูตร เรียกว่า อนวัชชธรรม (ธรรมที่ไม่มีโทษ)
ในตปนียสูตร เรียกว่า อตปนียธรรม (ธรรมที่สร้างความร่มเย็น)
ในอาจยคามิสูตร เรียกว่า อปจยคามิธรรม (ธรรมที่ไม่ก่อให้เกิดความทุกข์)
ในสาเลยยกสูตร ปัญจมวรรค แห่งมูลปัณณาสก์ ทรงเรียกว่า ธรรมจริยสมจริยา
ธรรมจริยา แปลว่า การประพฤติที่เป็นธรรม
สมจริยา แปลว่า การประพฤติกรรมที่ถูกต้อง
ทรงแสดงผลดีที่พึงจะได้รับ จากการประพฤติธรรมและการประพฤติกรรมที่ถูกต้องนี้ว่า ใครปรารถนาอะไร จะเป็นมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ มรรค ผล และนิพพาน ล้วนสำเร็จสมประสงค์ทั้งสิ้น ดังข้อความในสาเลยยกสูตรว่า
ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายจากโลกนี้แล้ว ย่อมบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุแห่งธรรมจริยาและสมจริยา ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมจริยาและสมจริยา ทางกายมี ๓ ทางวาจามี ๔ ทางใจมี ๓
ธรรมจริยาและสมจริยา ทางกายมี ๓ คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้ละการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไปเว้นขาดจากการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป เป็นผู้มีท่อนไม้และศัสตราอันวางแล้ว มีความละอายประกอบด้วยความเอ็นดู เป็นผู้เกื้อกูล อนุเคราะห์สัตว์ทุกจำพวก
๒. เป็นผู้ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน ขึ้นชื่อว่า ทรัพย์ของผู้อื่นจะอยู่ในบ้าน หรืออยู่ในป่าก็ตาม ย่อมเป็นผู้ไม่ถือเอาทรัพย์นั้นที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยจิตคิดขโมย
๓. เป็นผู้ละกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร
ธรรมจริยาและสมจริยา ทางวาจามี ๔ คือ
๑. บุคคลในโลกนี้ เป็นผู้ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท ไปในสภาก็ดี ในบริษัทก็ดี ในท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี ในท่ามกลางเสนาก็ดี ในท่ามกลางแห่งราชตระกูลก็ดี ถูกอ้างเป็นพยาน ซักถามว่า แน่ะพ่อชาย ท่านจงมา ท่านรู้อย่างไร จงเบิกอย่างนั้น บุคคลนั้นเมื่อไม่รู้ ก็บอกว่า ข้าพเจ้าไม่รู้ หรือรู้อยู่ก็บอกว่า ข้าพเจ้ารู้ เมื่อไม่เห็นก็บอกว่า ข้าพเจ้าไม่เห็น หรือเห็นก็บอกว่า ข้าพเจ้าเห็น ย่อมไม่กล่าวเท็จทั้งที่รู้ เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งคนอื่น หรือเพราะเหตุแห่งอามิสสินจ้าง
๒. เป็นผู้ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากกล่าวส่อเสียด ฟังข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกคนหมู่นี้ เพื่อทำ
ลายคนหมู่โน้น เป็นผู้สมานคนทั้งหลายที่แตกกันแล้ว หรือสนับสนุนหมู่คนที่สามัคคีกันอยู่แล้ว เป็นผู้มีความชื่นชมยินดีในหมู่คนผู้สามัคคีกัน เป็นผู้กล่าววาจาที่ทำให้คนสามัคคีกัน
๓. เป็นผู้ละคำหยาบ เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบ เป็นผู้กล่าววาจาไม่มีโทษ เสนาะโสต เป็นที่รักจับใจ เป็นคำสุภาพ เป็นที่ชอบใจ พอใจของคนจำนวนมาก
๔. เป็นผู้ละการกล่าวเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากการกล่าวเพ้อเจ้อ พูดในเวลาที่ควรพูด พูดคำจริง พูดอิงอรรถ อิงธรรม อิงวินัย มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง ไม่พูดมาก พูดแต่คำที่มีประโยชน์
ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมจริยาและสมจริยาทางวาจามี ๔ อย่างนี้แล
ธรรมจริยาและสมจริยา ทางใจมี ๓ อย่าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มากไปด้วยความไม่เพ่งเล็ง ไม่ละโมบอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน
๒. เป็นผู้มีใจไม่พยาบาท ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น คิดแต่ในทางที่ดีว่า ขอสัตว์ทั้งหลาย จงมีความสุข อยู่รอดปลอดภัยเถิด
๓. เป็นผู้มีความเห็นชอบ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การเซ่นสรวงบูชามีผล ผลวิบากของกรรมดีและกรรมชั่วมีจริง โลกนี้มีจริง โลกหน้ามีจริง มารดามีบุญคุณ บิดามีบุญคุณ โอปปาติกะมีจริง สมณพราหมณ์ผู้รู้แจ้งโลกนี้และโลกหน้ามีจริง
ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมจริยาและสมจริยาทางใจมี ๓ อย่างนี้แล
ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะการประพฤติธรรมและการประพฤติกรรมอันชอบเหล่านี้แล
ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติธรรมและประพฤติกรรมอันชอบ พึงหวังว่า หลังจากที่เราตายแล้ว พึงเกิดเป็น
๑. กษัตริย์มหาศาล
๒. พราหมณ์มหาศาล
๓. เทวดาชั้นจาตุมมหาราช
๔. เทวดาชั้นดาวดึงส์
๕. เทวดาชั้นยามา
๖. เทวดาชั้นดุสิต
๗. เทวดาชั้นนิมมานรดี
๘. เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี
๙. พรหมชั้นพรหมปาริสัชชา
๑๐. พรหมชั้นพรหมปุโรหิตา
๑๑. พรหมชั้นมหาพรหมา
๑๒. พรหมชั้นปริตตาภา
๑๓. พรหมชั้นอัปปมาณาภา
๑๔. พรหมชั้นอาภัสสรา
๑๕. พรหมชั้นปริตตสุภา
๑๖. พรหมชั้นอัปปมาณสุภา
๑๗. พรหมชั้นสุภกิณหา
๑๘. พรหมชั้นอสัญญีพรหม
๑๙. พรหมชั้นเวหัปผลา
๒๐. พรหมชั้นอวิหา
๒๑. พรหมชั้นอตัปปา
๒๒. พรหมชั้นสุทัสสา
๒๓. พรหมชั้นสุทัสสี
๒๔. พรหมชั้นอกนิฏฐา
๒๕. อรูปพรหมชั้นอากาสานัญจายตนะ
๒๖. อรูปพรหมชั้นวิญญาณัญจายตนะ
๒๗. อรูปพรหมชั้นอากิญจัญญายตนะ
๒๘. อรูปพรหมชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ
๒๙. การบรรลุเจโตวิมุตติ ในชาติปัจจุบัน
๓๐. การบรรลุปัญญาวิมุตติ ในชาติปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นไปได้ ถามว่า เพราะเหตุไร ตอบว่า เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติธรรมและเป็นผู้ประพฤติกรรมอันชอบ
พระสูตรนี้แสดงว่า บุคคลผู้ปฏิบัติตามกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ จะปรารถนามนุษยสมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ ก็ตาม ล้วนสมประสงค์ทั้งนั้น
มนุษยสมบัติ ทรงแสดงด้วยคำว่า พึงเกิดเป็นกษัตริย์มหาศาลและพราหมณ์มหาศาล
สวรรคสมบัติ ทรงแสดงด้วยคำว่า พึงเกิดเป็นเทวดาชั้นจาตุมมหาราช จนถึงรูปพรหมชั้น เนวสัญญานาสัญญายตนะ
นิพพานสมบัติ ทรงแสดงด้วยคำว่า การบรรลุเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ
กุศลกรรมบถ ๑๐
ทำให้ได้มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ และนิพพานสมบัติ
กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ จัดว่าเป็นศีล บุคคลผู้รักษาศีล กระทำให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ย่อมได้รับอานิสงส์ ดังนี้
๑. สีเลน สุคตึ ยนฺติ คนทั้งหลายไปสู่สุคติได้ เพราะศีล
๒. สีเลน โภคสมฺปทา คนทั้งหลายถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์ เพราะศีล
๓. สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ คนทั้งหลายบรรลุนิพพานได้ เพราะศีล
ศีลเป็นเหตุให้ได้ไปสู่สุคติ เพราะผลของกุศลกรรมบถ ๑๐ โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัย โดยตรง ให้ได้เกิดเป็นมนุษย์ ๑, กามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น, และให้ได้เกิดในพรหมโลก ๒๐ ชั้น
อุปนิสัยมี ๓ อย่าง
๑. ทานุปนิสัย อุปนิสัยคือทาน การเสียสละ คนผู้มีอุปนิสัยนี้ย่อมกำจัดความโลภหรือทำความโลภให้เบาบางลงได้
๒. สีลุปนิสัย อุปนิสัยคือศีล การเว้นจากเบียดเบียนสัตว์อื่นคนผู้มีนิสัยนี้ ย่อมไม่มีการเบียดเบียนสัตว์อื่น
๓. ภาวนุปนิสัย อุปนิสัยคือภาวนา การสั่งสมความดี คนผู้มีอุปนิสัยนี้ ย่อมเพียรพยายาม เพื่อทำความดีให้สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป
กุศลกรรมบถ ๑๐ นี้ จัดเป็นศีล ดังนั้น จึงเป็นสีลุปนิสัย ที่จะช่วยสนับสนุนให้ได้บรรลุสมาธิ ปัญญาและวิมุตติ ตามพระบาลีว่า สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส แปลว่า สมาธิที่ถูกบ่มด้วยศีล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก อธิบายว่า บุคคลผู้มีศีลบริสุทธิ์ เมื่อบำเพ็ญสมาธิ ย่อมสามารถทำฌานให้เกิดได้ง่าย ครั้นได้ฌานแล้ว ตายไป ย่อมเกิดเป็นพรหม อย่างนี้ ชื่อว่ากุศลกรรมบถ เป็นเหตุให้ได้ไปเกิดในพรหมโลก
ส่วนผู้ได้ฌานบางท่าน ทำฌานให้เป็นบาทแห่งการเจริญวิปัสสนา ย่อมรู้แจ้งเห็นจริงได้ง่าย ตามพระบาลีว่า
สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา
แปลว่า ปัญญาที่ถูกบ่มด้วยสมาธิ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
จิตของบุคคลผู้มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ตามพระบาลีว่า ปญฺญปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ
เสยฺยถีทํ กามาสวา ภวาสวา อวิชฺชาสวา
แปลว่า จิตที่ถูกอบรมด้วยปัญญา ย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ โดยชอบ อย่างนี้ ชื่อว่ากุศลกรรมบถ เป็นเหตุให้ได้บรรลุเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ
สีลุปนิสัย คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นเหตุให้บุคคลได้บรรลุฌาน มรรค ผล และนิพพาน ดังพรรณนามาฉะนี้ เปรียบได้กับส่วนของต้นไม้ สีลุปนิสัย เป็นเสมือนรากไม้ สมาธิ เป็นเสมือนลำต้น ปัญญา เป็นเสมือนกิ่งก้านและใบ วิมุตติ ความหลุดพ้นเป็นเสมือนดอกและผลของต้นไม้
ศีลคือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ทำให้ผู้ปฏิบัติได้มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ และนิพพานสมบัติ ตามขั้นตอนดังได้อธิบายมานี้
อธิบายกุศลกรรมบถ ๑๐ โดยอาการ ๕
๑. โดยธรรม คือ โดยสภาวธรรม
กุศลกรรมบถ ๗ คือ
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี
๒. อทินฺนาทานา เวรมณี
๓. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี
๔. มุสาวาทา เวรมณี
๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี
๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี
๗. สมฺผปฺปลาปา เวรมณี
แม้มีชื่อต่างกันก็จริง แต่เมื่อว่าโดยสภาวธรรม ได้แก่ เจตนา หรือวิรัติ หมายความว่า ถ้าไม่ตั้งใจจะงดเว้น หรือไม่มีการงดเว้น กรรมบถทั้ง ๗ นี้ ย่อมสำเร็จไม่ได้เลย
มโนกรรม ๓ คือ อนภิชฌา โดยสภาวธรรม ได้แก่อโลภะ อพยาบาท โดยสภาวธรรม ได้แก่อโทสะ สัมมาทิฏฐิ โดยสภาวธรรม ได้แก่ อโมหะ ที่วประกอบด้วยเจตนา
๒. โดยโกฏฐาสะ คือ โดยส่วนแห่งธรรมต่าง ๆ
กุศลกรรมบถ ๗ คือ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ เป็นกรรมบถอย่างเดียว ไม่เป็นรากเหง้าของกุศลเหล่าอื่น ส่วนมโนกรรม ๓ อย่าง คืออนภิชฌา อพยาบาท และสัมมาทิฏฐิ เป็นทั้งกรรมบถ เป็นทั้งรากเหง้าของกุศลเหล่าอื่น เพราะทั้ง ๓ นี้ ก็คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ที่เป็นกุศลมูลนั่นเอง
๓. โดยอารมณ์ คือ สิ่งที่ใจเข้าไปยึดแล้ว เป็นเหตุให้งดเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า อารมณ์แห่งอกุศลกรรมบถ ๑๐ นั่นแหละ เป็นอารมณ์แห่งกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการ เปรียบเหมือนน้ำที่สามารถทำให้เรือลอยก็ได้ ทำให้จมลงก็ได้
๔. โดยเวทนา คือ ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ และเฉย ๆ พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า ในขณะทำกุศล ทุกขเวทนา คือความเสียใจ ความไม่สบายใจ ย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น ในขณะประพฤติกุศลกรรมบถ จึงมีเพียงเวทนา ๒ คือ สุขเวทนา และอุเบกขาเวทนา
๕. โดยมูล คือ โดยกุศลมูล ๓ อย่าง ได้แก่ อโลภมูล ๑ อโทสมูล ๑ อโมหมูล ๑
กุศลกรรมบถ ๗ คือ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ ที่บุคคลประพฤติด้วยปัญญามีมูล ๓ คือ อโลภมูล อโทสมูล อโมหมูล ที่ประพฤติโดยขาดปัญญามีมูล ๒ คือ อโลภมูล อโทสมูล
อนภิชฌาที่ประพฤติด้วยปัญญา มีมูล ๒ คือ อโทสมูล อโทหมูล ที่ประพฤติโดยขาดปัญญามีมูลเดียว คือ อโมหมูล
อพยาบาทที่ประพฤติด้วยปัญญา มีมูล ๒ คือ อโลภมูล อโมหมูล ที่ประพฤติโดยขาดปัญญามีมูลเดียว คือ อโลภมูล
สัมมาทิฏฐิ มีมูล ๒ คือ อโลภมูล อโทสมูล
อานิสงส์ของกุศลกรรมบถ ๑๐
กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ พระพุทธองค์ตรัสไว้ ในจุนทสูตร ทสกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า ดูก่อนจุนทะ ความสะอาดทางกายมี ๓ ทางวาจามี ๔ ทางใจมี ๓ ดูก่อนจุนทะ ความสะอาดทางกาย ๓ อย่าง มีอะไรบ้าง ดูก่อนจุนทะ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ละปาณาติบาท เว้นขาดจากปาณาติบาท วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความสะอาดใจ มีความเอ็นดู มีความเมตตากรุณาต่อสัตว์ทุกหมู่เหล่า
๒. เป็นผู้ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน ไม่ถือเอาสิ่งที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตอันเป็นขโมย ไม่ว่าของนั้นจะอยู่ในบ้านของเขา อยู่ในป่า หรือที่ไหน ๆ ก็ตาม
๓. เป็นผู้ละกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร
ดูก่อนจุนทะ ความสะอาดทางวาจา ๔ อย่าง มีอะไรบ้าง ดูก่อนจุนทะ บุคคลบางคน ในโลกนี้
๑. เป็นผู้ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ในท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่ในท่ามกลางเสนา หรืออยู่ในท่ามกลางราชสำนัก ก็ตาม ถูกเขาอ้างเป็นพยาน ซักถามว่า พ่อชายผู้เจริญ พ่อรู้อย่างไร จงเบิกความอย่างนั้น ผู้นั้น เมื่อไม่รู้ ก็บอกว่าไม่รู้ หรือเมื่อรู้ ก็บอกว่ารู้ เมื่อไม่เห็น ก็บอกว่าไม่เห็น หรือเมื่อเห็น ก็บอกว่าเห็น จะไม่เป็นผู้กล่าวมุสาวาท ทั้งที่รู้ตัว เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งผู้อื่น หรือเพราะเหตุแห่งอามิสสินจ้าง
๒. เป็นผู้ละวาจาส่อเสียด เว้นขาดจากวาจาส่อเสียด ฟังฝ่ายนี้แล้ว ไม่ไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายคนฝ่ายนี้ หรือฟังฝ่ายโน้นแล้ว ไม่มาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายคนฝ่ายโน้น เป็นผู้สมานคนที่แตกสามัคคี และสนับสนุนคนที่สามัคคีกันอยู่ ชื่นชมยินดีคนที่สามัคคีกัน พูดแต่วาจาที่สร้างความสามัคคี
๓. เป็นผู้ละวาจาหยาบ เว้นขาดจากวาจาหยาบ เป็นผู้พูดแต่วาจาอันไม่มีโทษ เสนาะโสต เป็นที่รัก ซึ้งใจ เป็นคำพูดของผู้ดี เป็นที่รักและชอบใจของคนทั่วไป
๔. เป็นผู้ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ เป็นผู้พูดถูกกาลเวลา พูดแต่คำจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงวินัย พูดถ้อยคำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่สุด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยสมควรแก่เวลา
ดูก่อนจุนทะ ความสะอาดทางใจ ๓ อย่าง มีอะไรบ้าง ดูก่อนจุนทะ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ไม่มากไปด้วยความเพ่งเล็ง ไม่เพ่งเล็งคิดเอาของผู้อื่น มาเป็นของตนว่า ทำอย่างไรหนอ ทรัพย์ของผู้อื่นนั้น จะพึงเป็นของเรา
๒. เป็นผู้มีใจไม่พยาบาท มีใจไม่คิดประทุษร้ายผู้อื่นว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงอย่าจองเวรกัน อย่าเบียดเบียนกัน อย่ามีความทุกข์ จงมีแต่ความสุข อยู่รอดปลอดภัยเถิด
๓. เป็นผู้มีความเห็นชอบ มีทัศนะอันไม่วิปริตว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล การบูชามีผล ผลวิบากของกรรมดีและกรรมชั่วมีจริง โลกนี้มีจริง โลกหน้ามีจริง มารดาบิดามีบุญคุณต่อบุตรธิดาจริง โอปปาติกสัตว์มีจริง สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ รู้แจ้งประจักษ์ทั้งโลกนี้และโลกหน้าแล้ว สั่งสอนผู้อื่นมีจริง
ดูก่อนจุนทะ กุศลกรรมบถมี ๑๐ ประการ ดังนี้แล ดูก่อนจุนทะ บุคคลประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการเหล่านี้ ลุกขึ้นจากที่นอน แต่เช้าตรู่ จะจับต้องแผ่นดิน โคมัยสด หญ้าอันเขียวขจี หรือไม่จับต้องก็ตาม จะประนมไหว้พระอาทิตย์หรือไม่ก็ตาม จะลงอาบน้ำเช้าเย็นหรือไม่ก็ตาม จะบูชาไฟหรือไม่ก็ตาม ย่อมเป็นผู้สะอาดอย่างแท้จริง ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ดูก่อนจุนทะ เพราะกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เป็นพฤติกรรมอันสะอาดและเป็นเครื่องสร้างพฤติกรรมอันสะอาด ดูก่อนจุนทะ เทวคติ มนุษยคติ หรือสุคติอื่นใด บรรดามี ย่อมปรากฏ เพราะเหตุแห่งการประกอบกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการเหล่านี้แล
-------------------v-------------------
สรุปกุศลกรรมบถ
เครื่องมือสร้างความดี
จากการที่ได้ศึกษาเรื่องกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ผู้ศึกษาจะเห็นได้ว่า ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เครื่องมือที่จะใช้ทำกุศลของมนุษย์ ที่สำคัญที่สุด คือ กาย วาจา และใจ ของตนนี่เอง
กาย งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม อันเกิดขึ้น เพราะหิริและโอตตัปปะ
วาจา งดเว้นจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ ไม่รู้กาละเทศะ อันเกิดขึ้นเพราะหิริและโอตตัปปะ
ใจ ไม่โลภอยากได้ของใคร ไม่คิดร้ายทำลายใคร มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม (สิ่งที่สัตบุรุษมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นสอนไว้) เพียงการปฏิบัติอย่างนี้ ก็สามารถสร้างมนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติและนิพพานสมบัติให้แก่ตนได้แล้ว ดังคำสอนในสาเลยยกสูตรเป็นต้น
อีกอย่างหนึ่ง กายที่ใช้ทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม วาจาใช้พูดในทางที่ดี ใจใช้คิดในทางที่ดี ก็สามารถสร้างมนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติได้ ดังอุทาหรณ์ต่อไปนี้
กายที่ใช้ทำประโยชน์ อุทาหรณ์ เช่น นายมฆะเป็นตัวอย่าง ท่านเล่าว่า ครั้งดึกดำบรรพ์ในหมู่บ้านอจลคาม แคว้นมคธ ชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อว่า มฆะ ชอบทำสถานที่ต่าง ๆ ให้เป็นรัมณียสถานสำหรับคนทั่วไป โดยมีความคิดว่า คนทั้งหลายอาศัยพักในสถานที่นี้แล้ว ล้วนมีความสุข และเราเองเมื่อเห็นผู้อื่นมีความสุข ก็มีความสุขใจเช่นเดียวกัน
ครั้นถึงฤดูหนาว เขาได้ก่อไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ชาวบ้าน ฤดูร้อนหาน้ำมาให้ผู้อดน้ำ เขาได้สร้างรัมณียสถานเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง ต่อมามีคนอื่นอีก เห็นว่าการทำอย่างนั้นเป็นความดี จึงมาร่วมด้วย พวกเขาได้สร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม กว้างขวางออกไป เช่น สร้างถนน สร้างสะพาน สร้างศาลพักร้อน เป็นต้น
ครั้งนั้น นายบ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนัน) เห็นพวกเขาแล้วคิดว่า คนพวกนี้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เราเลย ถ้าพวกเขาไปหาปลา หาเนื้อ ซื้อสุรามารับประทานและแบ่งให้เราบ้าง น่าจะเกิดประโยชน์ดีกว่า อีกอย่างหนึ่ง ถ้าปล่อยให้คนพวกนี้ทำความดีต่อไป ประชาชนก็จะรักใคร่ เป็นอันตรายต่อตำแหน่งของตน เขาคิดกำจัดคนเหล่านั้น จึงไปยังราชสำนัก กราบทูลว่า ข้าพระองค์เห็นคนกลุ่มหนึ่ง ส้องสุมผู้คนเป็นจำนวนมาก อาจคบคิดกันเป็นกองโจรปล้นราชสมบัติ พระราชา ไม่ทันสอบสวนความจริง รับสั่งว่า จงไปจับตัวพวกมันมาประหารชีวิต โดยให้ช้างเหยียบให้ตาย
เขาดีใจมากที่อุบายกำจัดคนดีของเขาสำเร็จอย่างง่ายดาย จึงนำเจ้าหน้าที่ไปจับตัวคนเหล่านั้นมา พันธนาการแน่นหนา ให้นอนในพระลานหลวง แล้วไสช้างให้เหยียบพวกเขา แต่จะบังคับอย่างไร ช้างก็ไม่ยอมเหยียบ พระราชารับสั่งว่า ช้างเห็นคนคงเกิดความกลัว จงไปเอาเสื่อลำแพนมาคลุมพวกมันไว้ก่อน แม้จะทำตามนั้น ช้างก็ไม่กล้าเข้าใกล้อย่างเดิม
พระราชาทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นั้น ทรงได้พระสติว่า เรื่องนี้น่าจะมีเหตุอะไรสักอย่าง จึงรับสั่งให้นำตัวพวกเขามาเฝ้า แล้วตรัสถามว่า พวกเจ้าอาศัยเราแล้ว ไม่ได้อะไรหรือ จึงคิดทำร้ายเรา
นายมฆะทูลถามว่า ขอเดชะ พระองค์ตรัสถามเรื่องอะไร
เขาว่า พวกเจ้าส้องสุมผู้คนเป็นกองโจร หลบซ่อนอยู่ในป่า
ใครกราบทูลอย่างนั้น พระเจ้าข้า
นายบ้าน เขาบอก
ขอเดชะพวกข้าพระองค์ไม่ได้เป็นโจร พวกข้าพระองค์แผ้วทางไปสู่สวรรค์ ด้วยการสร้าง รัมณียสถาน สร้างถนน สร้างสะพาน สร้างศาลาพักร้อน เป็นต้น แต่นายบ้านพยายามซักนำพวกข้าพระองค์ในทางอกุศล พวกข้าพระองค์ไม่ยอมทำตาม เขาโกรธ จึงได้กราบทูลอย่างนั้นเพื่อต้องการกำจัดพวกข้าพระองค์ พระเจ้าข้า
พระราชาทรงสดับความจริงแล้ว ทรงถึงความโสมนัส ตรัสว่า พ่อทั้งหลาย ฉันขอโทษด้วย ช้างเป็นสัตว์ดิรัจฉานยังรู้จักความดีของพวกเจ้า เราเป็นมนุษย์เสียอีกยังไม่รู้เลย ได้ทรงมอบหมู่บ้านนั้นให้พวกเขาปกครอง และช้างเชือกนั้นให้เป็นพาหนะ
นายมฆะได้เห็นผลของความดีในปัจจุบัน ดีใจมากจึงชักชวนพรรคพวกให้ทำความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เขาได้บำเพ็ญวัตตบท ๗ ประการ คือ
- บำรุงบิดามารดา
- ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่
- พูดคำสัตย์
- ไม่พูดคำหยาบ
- ไม่พูดส่อเสียด
- กำจัดความตระหนี่
- ไม่โกรธ
ในเวลาสิ้นชีวิตได้ไปเกิดเป็นท้าวสักกะเทวราชในภพดาวดึงส์ แม้สหายของเขาก็ไปเกิดในที่นั้นเหมือนกัน นี้คือ กาย สร้างสวรรค์สมบัติให้แก่ตน
วาจา หรือปาก ก็สามารถสร้างสวรรคสมบัติได้ มีสุนัขตัวหนึ่ง เป็นอุทาหรณ์ พระอรรถกถาจารย์เล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทว่า มีสุนัขแสนรู้ตัวหนึ่ง ของนายโคบาล ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระปัจเจกพุทธเจ้า เวลาที่มันยังเล็กอยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อฉันอาหารเอาข้าวสุกปั้นเป็นก้อนให้ก้อนหนึ่งทุกครั้ง มันมีความสนิทสนม และจงรักภักดีพระปัจเจกพุทธเจ้ามาก
นายโคบาล ไปยังบรรณศาลาของพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกวัน ๆ ละ ๒ ครั้ง คือ ก่อนเที่ยง ไปกราบเรียนเวลาฉันภัตตาหาร เวลาหลังเที่ยงเอาน้ำปานะไปถวาย สุนัขนั้นตามนายไปด้วยทุกวัน และทุกครั้ง ขณะเดินไปตามทางมีพุ่มไม้ กอไม้ตรงไหนที่น่าสงสัยว่าจะมีสัตว์ร้าย เขาเอาไม้ฟาด และส่งเสียงไล่ สุนัขนั้นกำหนดจดจำอาการนั้นได้อย่างแม่นยำ
วันหนึ่งนายของมันเรียนกับพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า ถ้าวันไหนกระผมไม่ว่าง จะส่งเจ้าตัวนี้มาเพื่อเรียนเวลาภัตตาหารให้ทราบ ขอพระผู้เป็นเจ้าได้โปรดไปตามเวลาที่เจ้าตัวนี้ส่งสัญญาณ แล้วเขาก็ได้ทำตามนั้น
เมื่อได้เวลาภัตตาหาร นายของมันส่งสัญญาณให้รู้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น มันรีบวิ่งมุ่งหน้าไปยังบรรณศาลา ครั้นไปถึงแล้ว ส่งเสียงเห่า ๓ ครั้ง เพื่อให้พระปัจเจกพุทธเจ้าทราบ แล้วไปนอนคอยอยู่ที่แห่งหนึ่ง เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้า กำหนดเวลาที่เหมาะสมแล้ว จึงออกจากบรรณศาลา สุนัขวิ่งนำหน้าไปยังบ้านของนาย ครั้นถึงสถานที่ที่นายเคยระแวงภัยแต่สัตว์ร้าย เอาไม้ฟาดพุ่มไม้ส่งเสียงไล่ มันก็ส่งเสียงเห่าเพื่อขับไล่สัตว์ร้าย ได้ทำอย่างนี้ทุกวัน
สุนัขนั้นใช้ปากของตนให้เป็นกุศล ช่วยบอกเวลาภัตตาหาร และคุ้มครองป้องกันภัยแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยการส่งเสียงเห่า ด้วยความซื่อสัตย์ และจงรักภักดีต่อผู้มีศีลธรรม ครั้นสิ้นชีวิตได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรผู้มีศักดิ์ใหญ่ ในดาวดึงส์เทวโลก นามว่า โฆสกเทพบุตร นี้คือ วาจา หรือปาก สร้างสวรรคสมบัติให้แก่ตนได้ดังนี้แล
ใจ หรือความคิด ก็สามารถสร้างสวรรคสมบัติได้ พึงเห็นมาณพคนหนึ่งเป็นอุทาหรณ์ พระอรรถกถาจารย์เล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทว่า มีเด็กหนุ่มคนหนึ่ง
ชื่อมัฏฐกุณฑลี เป็นบุตรของพราหมณ์ยอดตระหนี่ เมื่อเขามีอายุ ๑๖ ปี ได้ป่วยเป็นโรคผอมเหลือง พราหมณ์ผู้บิดาไปเก็บรากไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านมาต้มยาให้รับประทาน โรคของเขากำเริบมากขึ้นทุกที ญาติมิตรทราบข่าวต่างพากันมาเยี่ยม พราหมณ์กลัวคนจะเห็นทรัพย์สมบัติ จึงนำบุตรชายออกมานอนที่นอกชาน
ครั้งนั้น พระศาสดาทรงเข้ามหากรุณาสมบัติเพื่อตรวจดูสัตว์โลก เด็กหนุ่มนั้นได้ปรากฏในข่ายแห่งพระญาณของพระองค์ จึงได้เสด็จไปโปรด โดยเสด็จพระดำเนินผ่านหน้าบ้าน เขาเห็นพระศาสดาเกิดศรัทธาเลื่อมใส แต่ไม่มีอะไรจะทำบุญ หรือแม้แต่จะยกมือทั้งสองขึ้นถวายบังคมก็ไม่สามารถจะทำได้ เพราะขณะนั้นเขาเหลือเพียงแต่ความรู้สึกในใจเท่านั้น จึงได้ทำใจให้เลื่อมใสในพระศาสดาด้วยความเคารพนับถือบูชา ปรารถนาจะทำบุญ เมื่อพระศาสดาเสด็จผ่านไปไม่นาน เขาก็สิ้นชีวิตลง แล้วได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร ในดาวดึงส์เทวโลก นี้คือ ใจ สร้างสวรรค์สมบัติให้แก่ตน
ภายหลังพระศาสดาทรงปรารภถึงเทพบุตรนั้น แสดงธรรมแก่มหาชนว่า การทำกรรมอันเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม ใจเป็นหัวหน้า ใจเป็นใหญ่ในการทำกรรมนั้น ๆ และกรรมที่ได้ทำไว้แล้วย่อมติดตามผู้ทำไปทุกหนทุกแห่ง เหมือนกับเงาตามตัว ใจ คือ ความคิดแม้เพียงแต่คิดเท่านั้น หากคิดในทางที่ดี ก็สามารถสร้างสวรรคสมบัติได้ เหมือนกับเด็กหนุ่ม ชื่อมัฏฐกุณฑลีนี้แล
พฤติกรรมที่เป็นบุญ ๔ อย่าง
ผู้ที่งดเว้นจากกายกรรมอันเป็นอกุศล ๓ อย่าง วจีกรรมอันเป็นอกุศล ๔ อย่าง มโนกรรมอันเป็นอกุศล ๓ อย่างเท่านั้น จึงจัดว่าเป็นผู้ทำกุศลส่งผลให้ไปเกิดในสุคติก็หาไม่ แม้ผู้ที่ชักชวน ยินดี และพูดสรรเสริญ บุคคลอื่นในการประพฤติกุศลกรรมเหล่านั้น ก็จัดเป็นกุศลกรรมนำไปสู่สุคติได้ทั้งสิ้น
ดังนั้น ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา จึงสรุปพฤติกรรมที่จัดเป็นกุศลได้ ๔ อย่างคือ
๑. การทำ การพูด การคิด สิ่งเป็นกุศลด้วยตนเอง
๒. การชักชวนผู้อื่น ให้ทำ ให้พูด ให้คิด สิ่งที่เป็นกุศล
๓. การยินดีกับบุคคลผู้ทำ ผู้พูด ผู้คิดสิ่งที่เป็นกุศล
๔. การยกย่องสรรเสริญ ให้กำลังใจ ให้การสนับสนุนบุคคลผู้ทำ ผู้พูด ผู้คิดสิ่งที่เป็นกุศล
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ในกรรมปถวรรคอังคุตตรนิกาย ซึ่งขอยกมากล่าวแต่ใจความโดยย่อว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมได้ขึ้นสวรรค์ เหมือนมีคนอุ้มไปวางไว้ ธรรม ๔ ประการคือ ๑. เป็นผู้ทำเอง พูดเอง คิดเอง ๒. เป็นผู้ชักชวนผู้อื่นให้ทำ ให้พูด ให้คิด ๓. เป็นผู้ยินดีกับบุคคลผู้ทำ ผู้พูด ผู้คิด ๔. เป็นผู้สรรเสริญ การงดเว้นและผู้งดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมได้ขึ้นสวรรค์ เหมือนมีคนมาอุ้มไปวางไว้
คนดียิ่งกว่าคนดี
อนึ่ง บุคคลผู้ทำ ผู้พูด ผู้คิด กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันเป็นกุศล ๑๐ ประการนี้ แต่ลำพังตนเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนว่า เป็นคนดี (ธรรมดา) ส่วนบุคคลใด ตนเองก็ประพฤติกุศลกรรม ๑๐ ประการนี้ และยังชักชวน ยินดี หรือพูดสรรเสริญบุคคลอื่นในการประพฤติกุศลกรรม ๑๐ ประการนี้ด้วย บุคคลนั้นจัดว่าเป็นคนดียิ่งกว่าคนดี ตามพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในทสกรรมสูตรว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เราเรียกว่า เป็นคนดี
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ตนเองงดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ แล้วยังชักชวนบุคคลอื่นให้งดเว้นจากอกุศลกรรมเหล่านั้น ยินดีกับบุคคลผู้งดเว้น จากอกุศลกรรมเหล่านั้น หรือ พูดสรรเสริญบุคคลผู้งดเว้นจากอกุศลกรรมเหล่านั้น อีกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เราเรียกว่า เป็นคนดียิ่งกว่าคนดี
-------------------v-------------------
ปฐมสมโพธิ์
พุทธานุพุทธประวัติ
หลักสูตร ธรรมศึกษาชั้นเอก
ชาติกถา กัณฑ์ที่ ๑
คำปรารภ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกอบด้วยสัมปทาคุณ ๓ ประการ คือ เหตุสัมปทา ๑ ผลสัมปทา ๑ สัตตูปการสัมปทา ๑
เหตุสัมปทา ได้แก่ การที่ทรงบำเพ็ญโพธิญาณ พุทธการกบารมีธรรมสิ้นกาลนาน นับประมาณเป็นโกฎิกัปตั้งแต่ได้รับพยากรณ์จากสำนักพระทีปังกรพุทธเจ้าเป็นต้นมา
ผลสัมปทา ได้แก่ การที่ทรงได้รับความสำเร็จจากพุทธการกบารมีธรรมที่ทรงบำเพ็ญ มี ๔ ประการ คือ
๑. รูปกายสัมปทา ได้แก่ การที่พระองค์ทรงมีรูปกาย ประกอบด้วย มหาปุริสลักษณะ ๓๒ และอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ
๒. ปหานสัมปทา ได้แก่ การที่พระองค์ทรงสามารถละกิเลสพร้อมทั้งวาสนาได้
๓. ญาณสัมปทา ได้แก่ การที่พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยญาณทั้งหลาย มีทศพลญาณ เป็นต้น
๔. อานุภาวสัมปทา ได้แก่ การที่พระองค์ทรงมีอำนาจในการที่จะทำสิ่งที่ทรงประสงค์ให้สำเร็จตามปรารถนาได้
สัตตูปการสัมปทา ได้แก่ การที่พระองค์ทรงมีพระกรุณาคุณในการช่วยเหลือเวไนยสัตว์ด้วยคุณสมบัติประจำพระองค์ ๒ ประการ คือ
๑. อาสยะ ได้แก่ การรอคอย หมายถึง ทรงรู้จักรอคอยความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ (สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) แห่งบุคคลที่พระองค์จะเสด็จไปโปรด
๒. ปโยคะ ได้แก่ การที่พระองค์ทรงมีความเพียรพยายามในการที่จะทรงสั่งสอนผู้อื่น ด้วยน้ำพระทัยที่ประกอบด้วยความกรุณา โดยไม่หวังผลตอบแทนจากผู้นั้น และไม่ทรงหวาดกลัวภัยอันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น
พระพุทธองค์เสด็จอุบัติในโลกเพื่อเป็นพระศาสดาสั่งสอนเวไนยสัตว์ ให้ดำเนินตามข้อปฏิบัติคือ หนทางแห่งประโยชน์ทั้ง ๓ คือ ประโยชน์ชาตินี้ ๑ ประโยชน์ชาติหน้า ๑ ปรมัตถประโยชน์ คือ พระนิพพาน ๑
ทรงแสดงธรรมและทรงบัญญัติพระวินัยเพื่อให้สัทธรรมทั้ง ๓ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ เป็นไปในโลกโดยชอบ
ทรงประกาศมรรคาทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ อันเป็นหนทางแห่งความสุขในสุคติภพ และสุขคือพระนิพพานให้เป็นวิสัยแห่งปัญญาญาณของเวไนยสัตว์ เกิดมีบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ประกาศพระพุทธศาสนาแพร่หลายไปในโลกแล้วได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน เปรียบเหมือนดวงประทีปที่ชัชวาลเต็มที่แล้วมอดดับไป คงเหลือแต่พระธรรมวินัย คือ พระพุทธศาสนาไว้ในโลก
แม้กาลเวลาที่พระองค์ทรงประสูติ ตรัสรู้ ประกาศพระพุทธศาสนา และเสด็จดับขันธปรินิพพานจะผ่านมานานแล้วก็ตาม แต่เมื่อพุทธมามกบริษัทผู้ศรัทธาเลื่อมใส ตั้งใจศึกษาพระประวัติของพระองค์ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า เวลานั้นไม่ได้ผ่านไปไกลเลย ยังเหมือนกับพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ความเลื่อมใสที่มีคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอารมณ์เช่นนี้ย่อมเป็นไปเพื่ออิฏฐวิบุลผลทางสุคติสวรรค์ และพระนิพพานอันเป็นวิบากสมบัติที่มนุษย์ทุกรูปทุกนามต่างปรารถนา
ความเกิดของพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีได้ยาก
พระพุทธภาษิตในมหาปทานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรคว่า ๙๑ กัป มี พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติ ๗ พระองค์ คือ ๑. พระวิปัสสีพุทธเจ้า ๒. พระสิขีพุทธเจ้า ๓. พระเวสสภูพุทธเจ้า ๔. พระกกุสันธพุทธเจ้า ๕. พระโกนาคมนพุทธเจ้า ๖. พระกัสสปพุทธเจ้า ๗. พระโคตมพุทธเจ้า
การเกิดของพระพุทธเจ้ามี ๒ สมัย คือ เกิดโดยรูปกาย ๑ เกิดโดยธรรม ๑
การเกิดโดยรูปกายมี ๒ สมัย คือ การเสด็จลงสู่พระครรภ์มารดา เรียก โอกกันติสมัย ๑ การประสูติจากพระครรภ์ เรียก นิกขมนสมัย ๑
การเกิดโดยธรรม ได้แก่ การตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์
พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จอุบัติในโลก เพราะทรงบริบูรณ์ด้วยเหตุสัมปทา ได้แก่ ทรงบำเพ็ญพุทธการกบารมีธรรมมาครบถ้วนแล้ว
ก่อนพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายจะเสด็จอุบัติประมาณ ๑,๐๐๐ ปี พวกฤษีได้แต่งตำรามหาปุริสลักษณะเอาไว้
มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ
๑. มีฝ่าเท้าไม่แหว่งเว้า
๒. ฝ่าเท้ามีลายกงจักร
๓. มีส้นเท้ายาว
๔. มีนิ้วมือ นิ้วเท้ายาว
๕. มีฝ่ามือ ฝ่าเท้าอ่อนนุ่ม
๖. ฝ่ามือ ฝ่าเท้า มีลายตาข่าย
๗. ข้อเท้าลอยอยู่เบื้องบน (ไม่ติดกับหลังเท้า)
๘. มีแข้งเรียวเหมือนของเนื้อทราย
๙. ยืนตามปกติ (ไม่ต้องก้ม) มือทั้งสองจับถึงหัวเข่า
๑๐. มีอวัยวะเพศซ่อนอยู่ในฝัก
๑๑. มีผิวดั่งทองคำ
๑๒. มีผิวละเอียด ฝุ่นละอองไม่ติด
๑๓. มีขนขุมละเส้น
๑๔. มีปลายขนขึ้นเบื้องบน
๑๕. มีลำตัวตรงดุจพระพรหม
๑๖. มีเนื้อเต็มในที่ ๗ สถาน คือ หลังมือทั้ง ๒ หลังเท้าทั้ง ๒ จะงอยบ่าทั้ง ๒ และลำคอ
๑๗. มีลำตัวเบื้องหน้าเหมือนของราชสีห์
๑๘. มีแผ่นหลังเต็ม (มองไม่เห็นสะบักทั้งสอง)
๑๙. ร่างกายกับวา (แขนทั้งสองกางออก) เท่ากัน
๒๐. ลำคอกลม
๒๑. เส้นเอ็นสำหรับรับรส ๗๐๐ รวมอยู่ที่คอ
๒๒. มีคางเหมือนราชสีห์
๒๓. มีฟัน ๔๐ ซี่
๒๔. มีฟันเรียบเสมอกัน
๒๕. มีฟันไม่ห่าง ชิดสนิทกัน
๒๖. มีเขี้ยวอันขาวงาม
๒๗. มีลิ้นอ่อนและกว้างใหญ่ (ปิดหน้าผากได้ ทำให้เล็กสอดเข้าไปในช่องจมูก และช่องหูได้)
๒๘. มีเสียงดังพรหม
๒๙. มีตาดำดำสนิท
๓๐. มีดวงตาเหมือนตาของโค
๓๑. มีอุณาโลมสีขาวเกิดระหว่างคิ้วทั้งสอง
๓๒. มีศีรษะเป็นปริมณฑลเรียบร้อย
ผู้มีมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ครบสมบูรณ์มีคติ เป็น ๒ คือ ถ้าอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกในโลก
พระเจ้าจักรพรรดิ์มีของคู่บุญเรียกว่า รัตนะ ๗ ประการ คือ ช้างแก้ว ๑ ม้าแก้ว ๑ ดวงแก้วมณี ๑ นางแก้ว ๑ คฤหบดีแก้ว ๑ ปริณายกแก้ว ๑ จักรแก้ว ๑
พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายก่อนจะถือปฏิสนธิในพระครรภ์พระมารดา เกิดเป็นเทวบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต
เมื่อพระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในพระครรภ์แล้ว พระมารดาทรงมีศีล ๕ บริสุทธิ์ ไม่มีจิตปฏิพัทธ์เรื่องกามารมณ์ และบุรุษใด ๆ ล่วงละเมิดไม่ได้
พระโพธิสัตว์อยู่ในพระครรภ์พระมารดา ๑๐ เดือน
เวลาพระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์พระมารดาประทับยืน ไม่ใช่นอนคลอดเหมือนสตรีทั่วไป
เมื่อคนทำความสะอาดร่างกายแล้ว ปล่อยมือ (เพื่อให้เด็กนอน) พระโพธิสัตว์ยืนด้วยพระบาท ผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดร (เหนือ) ดำเนิน ๗ ก้าว (พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า หมายถึง โพชฌงค์ ๗ จะเกิดขึ้นในโลก)
ทรงหยุดทอดพระเนตรทิศทั้งปวงแล้วเปล่งพระวาจาว่า เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ชาติใหม่ไม่มี
พระโพธิสัตว์ทรงมีรูปกายสมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ พราหมณาจารย์ทั้งหลายจึงทำนายว่ามีคติเป็น ๒ ดังกล่าวแล้ว แต่บางท่านก็ทำนายว่า จะต้องออกบวชเป็นศาสดาเอกแน่นอน
เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๗ วัน พระมารดาสิ้นพระชนม์ ข้อนี้เป็นธรรมดาอีกเช่นกัน เพราะพระครรภ์นั้นไม่สมควรจะเป็นที่ปฏิสนธิของสัตว์อื่นอีกต่อไป
ผลจากการทำนายของพราหมณาจารย์ทำให้พระโพธิสัตว์ได้รับการเคารพนับถือ และอภิบาลรักษาเป็นอย่างดีจากพระประยูรญาติ
เมื่อมีพระชนม์ ๗ พรรษา เมื่อพระบิดาทรงทำวัปปมงคล พระพี่เลี้ยงให้พระโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นหว้าใหญ่ ทรงนั่งสมาธิกำหนดลมหายใจเข้าออกได้ปฐมฌาน จิตที่ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
พระโพธิสัตว์ทรงได้รับการอภิบาลรักษาเป็นอย่างดีจากพระประยูรญาติ ประทับอยู่แต่ในปราสาทอันเหมาะแก่ฤดูทั้ง ๓ พร้อมไปด้วยกามคุณที่น่าปรารถนาน่าบันเทิงใจ เป็นนิตยกาล ตลอดเวลา ๒๙ ปี
การได้เสวยกามสุขของพระโพธิสัตว์ ทำให้เกิดประโยชน์แก่พระองค์ในภายหลัง เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วแสดงธรรมแก่ผู้อื่น จะได้ทรงชี้ให้เห็นโทษของกามทั้งหลายว่า มีโทษอย่างนั้น ๆ และทรงเป็นตัวอย่างให้โลกิยมหาชนเชื่อว่า กามทั้งหลายถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ปรารถนา น่าใคร่ สำหรับโลกิยชนก็จริง แต่อาศัยการทำในใจโดยอุบายอันชอบก็สามารถละได้ จนถึงออกบรรพชาแล้วได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อันเป็นนิรามิสสุข
อภิสัมโพธิกถา กัณฑ์ที่ ๒
เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงเจริญวัยได้ ๒๙ พรรษา ทรงรู้สึกสลดพระทัยด้วยคิดถึง ชรา พยาธิ และมรณะ อันมีประจำแก่สรรพสัตว์ และพระองค์จะต้องได้รับอย่างแน่นอน
การคิดถึง ชรา พยาธิ และมรณะ เป็นเหตุให้ทำลายความเมา ๓ อย่าง คือ ความเมาในวัย หลงคิดว่าตนยังหนุ่มยังสาว ความเมาในความไม่มีโรค หลงคิดว่าตนยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และความเมาในชีวิต ความลืมคิดถึงความตาย
ความเมาทั้ง ๓ อย่างนี้ เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนประพฤติทุจริต หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นเหตุให้ลืมทำความดี
การบรรพชาเป็นวิธีที่ดีอย่างหนึ่ง สามารถทำลายความทั้ง ๓ นั้นได้ หรือทำให้บรรเทาเบาบางลง เมื่อถึงเวลาแก่ เจ็บ หรือตาย ก็จะไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ เหมือนคนทั่วไป ที่เรียกว่า หลงตาย
เพราะทรงเห็นประโยชน์แห่งการบรรพชาอย่างนี้จึงเกิดกุศลฉันทะน้อมใจไปในบรรพชา ในที่สุดได้เสด็จออกบรรพชา ทั้งที่ยังทรงพระเยาว์ดรุณกุมาร มีพระเกศายังดำสนิท
เมื่อเสด็จออกบรรพชา ถือเพศเป็นนักพรตแล้ว ได้เสด็จสัญจรจาริกเที่ยวเสาะหาสันติวรบท คือ ทางเครื่องบรรลุถึงธรรมอันระงับดับกิเลส
สมัยนั้น แคว้นสักกะมีคณาจารย์ใหญ่ ๒ ท่าน คือ อาฬารดาบส กาลามาโคตร ๑ อุทกดาบส รามบุตร ๑ ประชุมชนเคารพนับถือโดยคุณธรรม
พระโพธิสัตว์เสด็จเข้าไปยังสำนักของอาฬารดาบส ทรงศึกษาลัทธิสมัยได้สมาบัติ ๗ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓ เว้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ
ต่อจากนั้นเสด็จเข้าไปยังสำนักของอุทกดาบส ทรงศึกษาลัทธิสมัยได้สมาบัติ ๘ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔
ทรงเห็นว่า ลัทธิสมัยของอาจารย์ทั้งสองเป็นเพียงสันติวิหาร คือ อุบายเครื่องอยู่เป็นสุขทางใจเท่านั้น ก่อให้เกิดปปัญจธรรม คือ ธรรมเป็นเหตุเนิ่นช้ากับการเวียนว่ายในวัฏทุกข์ ได้แก่ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ
จากนั้น ทรงเสาะหาอนุตรสันติวรบททางเครื่องพ้นจากกิเลสอย่างยอดเยี่ยมต่อไป ได้เสด็จเข้าสู่แคว้นมคธ จนลุถึงอุรุเวลาเสนานิคม อันน่ารื่นรมย์สำราญจิต สมควรจะเป็นสถานที่บำเพ็ญสัมมัปปธานวิริยะ จึงประทับอยู่ ณ ที่นั้น
ณ สถานที่นั้น อุปมา ๓ ข้อ อันเป็นอนวัศวริยะ (ไม่เคยสดับมาก่อน) ได้มาแจ่มแจ้งเป็นวิสยญาณโคจร (อารมณ์แห่งญาณวิสัย) แก่พระโพธิสัตว์ว่า
๑. ไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง ทั้งแช่อยู่ในน้ำ จะพยายามอย่างไรก็สีให้เกิดไฟไม่ได้
๒. ไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง แม้จะวางไว้บนบก ก็สีให้เกิดไฟไม่ได้เช่นเดียวกัน
๓. ไม้แห้งที่ปราศจากยาง และวางไว้บนบก หากพยายามเต็มที่และถูกวิธี ก็ย่อมสีให้เกิดไฟได้
อุปมาข้อที่ ๑ เปรียบได้กับสมณพราหมณ์ผู้บริโภคกามคุณ ทั้งใจก็ยังยินดีในกามคุณนั้นอยู่
อุปมาข้อที่ ๒ เปรียบได้กับสมณพราหมณ์ผู้ออกบำเพ็ญพรต แต่ใจยังรักใคร่ปรารถนาจะได้กามคุณอยู่
อุปมาข้อที่ ๓ เปรียบได้กับสมณพราหมณ์ผู้ออกบำเพ็ญพรต ด้วยใจที่เบื่อหน่ายในกาม ถ้าหากพากเพียรอย่างถูกวิธี ก็สามารถบรรลุธรรมพิเศษได้
ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา
พระมหาบุรุษทรงกลัวอกุศลธรรมมีกามวิตกเป็นต้นจะครอบงำจิต จึงทรงตั้งความเพียรอย่างแรงกล้า ๓ วาระ ดังนี้
วาระที่ ๑ ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุ (เพดาน) ด้วยพระชิวหา แม้เกิดทุกขเวทนาหลายอย่างก็ยังมีพระสติตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน มีความเพียรไม่ย่อหย่อน
วาระที่ ๒ ทรงประพฤติอปาณกฌาน การเพ่งไม่มีลมปราณ คือ ทรงกลั้นลมหายใจไม่ให้เดินทางช่องพระนาสิก และพระโอษฐ์
วาระที่ ๓ ทรงเสวยอาหารลดลงทีละน้อย จนเหลือมาเสวยครั้งละเท่าเยื่อในเมล็ดบัว ทำให้พระสรีรกายซูบผอม พระมังสะหายแฟบ จนพระตจะแนบกับพระอัฐิ
ประโยชน์จากการบำเพ็ญทุกรกิริยา
พระมหาบุรุษแม้จะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเหตุสัมปทาที่ทรงบำเพ็ญมาหลายอสงไขยกัป แต่ต้องมาประพฤติทุกรกิริยาเช่นนี้ ทั้งที่ไม่ใช่เป็นหนทางแห่งการตรัสรู้ ก็มิใช่ว่าจะไร้ประโยชน์เสียทีเดียว การประพฤติเช่นนี้จะเกิดประโยชน์แก่พระองค์ภายหลังจากตรัสรู้แล้ว คนบางพวกที่ศรัทธาเชื่อถืออัตตกิลมถานุโยคปฏิปทาว่าเป็น หนทางตรัสรู้และพ้นทุกข์ จะได้คลายความสำคัญผิดมิจฉาปฏิบัติยอมรับฟังธรรมคำสอนของพระองค์ แล้วนำตนไปสู่ความสวัสดีได้
ทรงเลิกทุกรกิริยา
พระมหาสัตว์ทรงปรารภถึงทุกขเวทนาอันเกิดจากการบำเพ็ญเพียรของพระองค์ว่า สมณพราหมณ์ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน ที่ได้รับทุกขเวทนาอันเกิดจากการบำเพ็ญเพียรอย่างมากที่สุดก็เท่ากับที่เราได้รับนี้เท่านั้น จะไม่มีใครได้รับมากไปกว่านี้ แต่วิธีนี้ก็ไม่ใช่ทางตรัสรู้เลย หรือจะมีหนทางอื่นจากการประพฤติทุกรกิริยานี้บ้าง
ครั้งนั้น สตานุสารีวิญญาณ คือ ความรู้แจ้งไปตามสติที่ระลึกถึงสมาธิซึ่งเคยได้ที่โคนต้นหว้าในสมัยทรงพระเยาว์ คราวที่พระราชบิดาทรงทำวัปปมงคล ว่า สมาธินั้นน่าจะเป็นทางตรัสรู้
พระมหาบุรุษจึงทรงเลิกประพฤติทุกรกิริยาเสียแล้วทรงเสวยพระกระยาหารตามปกติ เพื่อให้ร่างกายมีกำลัง จะได้บำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป
ครั้งนั้น เบญจวัคคีย์ คือ นักบวช ๕ รูป ที่ตามเสด็จออกบวชคอยเฝ้าปรนนิบัติเพื่อหวังคำสั่งสอนหลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้ว ได้เห็นพระมหาสัตว์เสวยพระกระยาหาร จึงเกิดอาการเบื่อหน่าย ว่าคงจะไม่ได้ตรัสรู้จึงหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
การที่พวกเบญจวัคคีย์หนีไปเช่นนั้น ก่อให้เกิดผลดีแก่พระมหาสัตว์ ภายหลังจากตรัสรู้แล้วว่าการประพฤติทุกรกิริยาไม่ใช่หนทางตรัสรู้ โดยมีเบญจวัคคีย์เป็นประจักษ์พยาน
ตรัสรู้
เมื่อพระมหาสัตว์เสวยพระกระยาหารตามปกติ พระกายมีกำลังแล้ว จึงทรงบำเพ็ญเพียรทางจิต เจริญฌานจนได้บรรลุจตุตถฌาน ทรงทำให้ชำนาญเป็นวสีพร้อมที่จะเป็นบาทให้เกิดอภิญญา แต่นั้นทรงปล่อยเวลาให้ผ่านไประยะหนึ่ง
ครั้นถึงวันวิสาขปุรณมี เพ็ญกลางเดือน ๖ เวลาพลบค่ำ ขณะนั่งคู้บัลลังก์บนภูมิภาคที่ลาดด้วยหญ้า ภายใต้มหาโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ผินพระพักตร์ไปทางทิศบูรพา
ณ สถานที่นั้น พระมหาสัตว์ทรงอธิษฐานจาตุรงคมหาปธาน แปลว่าความเพียรมีองค์ ๔ คือ เนื้อและเลือดในกายนี้จงเหือดแห้งไป ๑ หนัง ๑ เอ็น ๑ กระดูก ๑ จงเหลืออยู่ ถ้ายังไม่ได้บรรลุผลที่จะพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย เราจะไม่ลุกไปจากบัลลังก์นี้
จตุตถฌานเป็นบาทแห่งอภิญญา
พระมหาสัตว์ทำจิตให้ตั้งมั่นในจตุตถฌาน ควรแก่การงานแล้ว อันดับแรกทรงน้อมไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ ก็สามารถระลึกถึงขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เคยทรงอาศัยในกาลก่อนได้ ทรงบรรลุญาณนี้ในปฐมยาม
ต่อจากนั้นทรงพระประสงค์จะทราบจุติ และอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย จึงน้อมไปเพื่อจุตูปปาตญาณก็ทรงได้บรรลุในมัชฌิมยาม ทำให้ทรงทราบจุติ และอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย ญาณนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทิพพจักขุญาณ
จตุตถฌาน (อภิญญา) เป็นบาทแห่งวิปัสสนา
เมื่อพระมหาสัตว์มีจิตตั้งมั่นด้วยจตุตถฌาน เป็นเหตุให้เกิดอภิญญาญาณทั้ง ๒ ประการดังกล่าวแล้ว จึงน้อมจิตไปสู่วิปัสสนา โดยพิจารณาปฏิจจสมุปบาทว่า
ชรา ความแก่ พยาธิ ความเจ็บ มรณะ ความตาย โสกะ เศร้าใจ ปริเทวะ ความคร่ำครวญ ทุกข์ ไม่สบายกายไม่สบายใจ โทมนัส เสียใจอกเสียใจ อุปายาส ตรอมใจ มาจากไหน
ทรงพิจารณาด้วยวิปัสสนาปัญญาว่า มาจากชาติ
ชาติมาจากไหน
มาจากภพ คือ กัมมภพ ได้แก่ การสร้างกรรม
ภพมาจากไหน
มาจากอุปาทาน (ความยึดถือด้วยอำนาจ ตัณหา และมิจฉาทิฏฐิ)
อุปาทานมาจากไหน
มาจากตัณหา (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา)
ตัณหามาจากไหน
มาจากเวทนา (สุข ทุกข์ อุเบกขา)
เวทนามาจากไหน
มาจากผัสสะ (จักขุสัมผัส ฯลฯ มโนสัมผัส)
ผัสสะมาจากไหน
มาจากอายตนะ (บ่อเกิดอารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
อายตนะ มาจากไหน
มาจากนามรูป (เวทนา สัญญา สังขาร ภูตรูป ๔ วัตถุรูป ๖ ชีวิตรูป ๑)
นามรูปมาจากไหน
มาจากวิญญาณ (วิปากวิญญาณ และอวิปากวิญญาณ)
วิญญาณมาจากไหน
มาจากสังขาร (กุศลกรรม อกุศลกรรม)
สังขารมาจากไหน
มาจากอวิชชา (ความไม่รู้อริยสัจ ๔)
เพราะฉะนั้น เมื่อจะดับกองทุกข์ทั้งปวงให้หมดสิ้น ก็ต้องสร้างวิชชา คือ ความรู้อริยสัจ ๔ ให้เกิดขึ้น เพราะเมื่อวิชชาเกิดขึ้นแล้ว กองทุกข์ทั้งปวงย่อมดับไปโดยสิ้นเชิง
เมื่อวิชชาเกิดขึ้นแก่พระมหาสัตว์อย่างนี้ อวิชชาก็ถูกทำลาย จิตของพระองค์ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง พระองค์จึงได้บรรลุญาณที่ ๓ ชื่ออาสวักขยญาณ ญาณที่ทำความสิ้นอาสวะ ในปัจฉิมยามแห่งราตรีนั้น
อรหัตมรรคญาณเป็นที่มาแห่งญาณทั้งปวง
เมื่อพระมหาบุรุษตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระคุณทั้งหลายแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มีที่สิ้นสุด พระองค์ทรงบรรลุพระญาณมีสัพพัญญุตญาณเป็นต้น หาประมาณมิได้ ด้วยอำนาจอรหัตมรรคญาณนั่นเอง ประหนึ่งพระราชอำนาจทั้งปวงสำเร็จแก่พระมหากษัตริยาธิราชเจ้า พร้อมกับการได้รับมุรธาภิเษกเป็นกษัตริย์
ธัมมเทสนาธิฏฐานกถา กัณฑ์ที่ ๓
เมื่อพระตถาคตเจ้าได้ตรัสรู้แล้วได้ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้อัสสัตถพฤกษ์ ๗ วัน ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลมแล้วทรงเปล่งอุทานว่า
เมื่อใดธรรมทั้งหลายคือ โพธิปักขิยธรรมหรืออริยสัจ ๔ มาปรากฏชัดแก่พราหมณ์ผู้เพียรเพ่งอยู่ด้วยฌาน ๒ อย่าง คือ อารัมมณุปนิชฌาน (สมาบัติ ๘) และลักขณุปนิชฌาน (วิปัสสนาญาณ) เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะเขาได้ทราบชัดธรรมคือ กองทุกข์มีสังขาร เป็นต้น พร้อมทั้งเหตุมีอวิชชา เป็นต้น
ครั้นมัชฌิมยามทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทอย่างเดียวกันนั้น แล้วทรงเปล่งอุทานว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏชัดแก่พราหมณ์ผู้เพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะเขาได้รู้แจ้งความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย
ครั้นปัจฉิมยาม ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทอย่างเดียวกันนั้น แล้วทรงเปล่งอุทานว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้เพียรเพ่งอยู่ พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารพร้อมทั้งเสนาเสียได้ สถิตย์อยู่ในโลกด้วยปรีชาอันชัชวาล เหมือนพระอาทิตย์ทำท้องฟ้าให้สว่างไสว ฉะนั้น
จากต้นอัสสัตถพฤกษ์ได้เสด็จไปประทับโคนต้นอชปาลนิโครธ ๗ วัน ณ ที่นั้นทรงปรารภพราหมณ์ผู้มักตวาดคนอื่นว่า หึ หึ แล้วทรงเปล่งอุทานว่า ผู้ใดมีบาปธรรมอันลอยเสียแล้วไม่ตวาดใครด้วยคำหยาบ ไม่มีกิเลสย้อมใจ สำรวมตน ถึงที่สุดแห่งเวท (ปุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ) ผู้นั้นจึงควรกล่าวว่าตนเป็นพราหมณ์โดยธรรม
จากโคนต้นอชปาลนิโครธ ได้เสด็จไปยังต้นมุจจลินท์ ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข ๗ วัน ทรงเปล่งอุทานว่า ความสงัดเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข สำหรับบุคคลผู้สันโดษ ผู้ได้สดับและเห็นธรรม ความไม่เบียดเบียน คือ ความสำรวมระวังในสัตว์ทั้งหลาย เป็นความสุขในโลก ความสิ้นราคะ คือ ความก้าวล่วงกามทั้งหลาย เป็นความสุขในโลก การกำจัดอัชมิมานะเสียได้เป็นความสุขอย่างยิ่ง
จากต้นมุจจลินท์ได้เสด็จไปยังต้นราชายตนะ (ไม้เกต) ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข ๗ วัน ณ ที่นั้น พาณิช ๒ คนพี่น้องชื่อ ตปุสสะ ๑ ภัลลิกะ ๑ เดินทางไปจากอุกกลชนบท ได้นำสัตตุผง สัตตุก้อน เข้าไปถวาย แต่เป็นธรรมเนียมว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงรับอาหารบิณฑบาตด้วยพระหัตถ์ และบาตรของพระองค์ก็ไม่มี ท้าวจาตุมมหาราชจึงนำบาตรศิลามาถวาย ทรงรับสัตตุผง สัตตุก้อน ของพาณิชทั้ง ๒ ด้วยบาตรนั้น เสร็จแล้วทั้ง ๒ ได้แสดงตนเป็นอุบาสก ถึงรัตนะ ๒ คือ พระพุทธเจ้าและพระธรรมว่าเป็นสรณะ เป็นอุบาสกคนแรกในพระพุทธศาสนา เรียกว่า เทฺววาจิกอุบาสก
จากต้นราชยตนะนั้น ได้เสด็จกลับไปยังต้นอชปาลนิโครธอีก ณ ที่นั้น ทรงดำริถึงธรรมที่ทรงตรัสรู้ว่า เป็นของลึกซึ้ง ยากที่ผู้ยินดีในกามคุณจะรู้ตามได้ แต่ในที่สุดทรงเห็นด้วยพุทธจักษุ คือ อินทริยปโรปริยัตตญาณ ปรีชาหยั่งรู้อินทรีย์ (สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) แห่งสัตว์ทั้งหลายและอาสยานุสยญาน ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัยและอนุสัยของสัตว์ทั้งหลายว่า คนในโลกมี ๔ จำพวก คือ ๑. อุคฆติตัญญู ผู้รู้ผู้เข้าใจได้เร็ว เปรียบเหมือนดอกบัวที่โผล่พ้นน้ำ พอได้สัมผัสแสงพระอาทิตย์ก็จะบานได้ทันที ๒. วิปจิตัญญู บุคคลผู้ที่ต้องอธิบายเล็กน้อยจึงเข้าใจ เปรียบเหมือนดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอน้ำคอยเวลาพ้นจากน้ำนิดหน่อยจึงจะบาน ๓. เนยยะ บุคคลผู้ต้องอาศัยกัลยาณมิตรและการสดับตรับฟังพากเพียรพยายามฝึกฝน จึงเข้าใจเปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังอยู่ภายใต้น้ำ ที่ต้องคอยดูแลรักษาแล้วสามารถบานในวันต่อไป ๔. ปทปรมะ บุคคลผู้ยากที่จะให้เข้าใจ เพราะประกอบด้วยอันตรายิกธรรม คือ วิบาก กรรม และกิเลส เปรียบเหมือนดอกบัว (๓ ชนิดนั้น) แต่ได้รับอันตรายจากเต่าและปลา เป็นต้น เสียก่อน จึงไม่มีโอกาสบาน
เมื่อทรงเห็นว่า บุคคลผู้ที่จะตรัสรู้ธรรมมีมากกว่า จึงตัดสินพระทัยแสดง พระธรรมเทศนาโปรดเวไนยสัตว์ เรียกว่า ทรงทำธรรมเทศนาธิษฐาน
เมื่อทรงทำธรรมเทศนาธิษฐานแล้วทรงตั้งพระทัยว่า บริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ยังไม่มีครบถ้วน และพรหมจรรย์คือพระธรรมวินัย ยังไม่กว้างขวางเพียงไร ในระหว่างนี้พระองค์จะยังไม่ปรินิพพาน เรียกว่า ทรงทำอายุสังขาราธิษฐาน
พระธรรมจักกัปปวัตนสูตร กัณฑ์ที่ ๔
เมื่อทรงตัดสินพระทัยว่าจะแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ อันดับแรกทรงคิดถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส แต่ทั้ง ๒ ท่านเสียชีวิตแล้ว จึงทรงคิดถึงปัญจวัคคีย์
หลังจากที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมตามอภิรมย์แล้ว ได้เสด็จไปเมืองพาราณสี ครั้นถึงสถานที่ระหว่างแม่น้ำกับมหาโพธิ์ อุปกาชีวกเห็นพระองค์ทรงมีพระฉวีผุดผ่อง จึงถามว่าใครเป็นศาสดาของท่าน ได้ตรัสตอบว่า อาจารย์ของเราไม่มี เราเป็นผู้ตรัสรู้ชอบเองแต่ผู้เดียว กำลังจะไปแคว้นกาสี เพื่อขับเคลื่อนล้อธรรมให้หมุนไปในโลก เราจะตีกลองอมตเภรีแก่เวไนยชนผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย เราเป็นอนัตชินะ อุปกาชีวก กล่าวว่า อาวุโส นั่นพึงเป็นได้แต่ชื่อ สั่นศีรษะแล้วหลีกไป
ครั้นเสด็จไปถึงเมืองพาราณสี ได้เสด็จไปหาปัญจวัคคีย์ แต่ทั้ง ๕ คน ไม่เคารพ พูดกับพระองค์โดยใช้คำว่า อาวุโส พระองค์ทรงห้ามและแสดงเหตุผลหลายอย่าง จนทั้ง ๕ ยอมฟังธรรม จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก มีชื่อว่า ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ใจความโดยย่อว่า
ที่สุด ๒ อย่าง (ทางไม่ดี) คือ ๑. กามสุขัลลิกานุโยค การหมกติดอยู่กับกามสุข (การละกิเลสด้วยวิธีสนองตัณหาของตน) ๒. อัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนให้ได้รับความลำบาก (การละกิเลสด้วยวิธีทรมานตน) อันบรรพชิตไม่ควรทำ
ข้อปฏิบัติสายกลาง ๘ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา การเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ สัมมาสติ การระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ซึ่งห่างไกลจากส่วนสุด ๒ อย่างนั้น อันพระตถาคตตรัสรู้แล้วทำให้เกิดดวงตา ทำให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อความดับทุกข์
ต่อจากนั้นทรงแสดงอริยสัจ คือ ของจริงอย่างประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ว่า ความเกิด ความแก่ ความตาย ความเสียใจ ความคร่ำครวญ ความเจ็บกาย ความเจ็บใจ ความตรอมใจ ความต้องอยู่ร่วมกับคนหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ความต้องพลัดพรากจากคนหรือสิ่งอันเป็นที่รัก ความผิดหวัง ล้วนเป็นความทุกข์ เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ขันธ์ ๕ (ร่างกายและจิตใจ) ที่ยึดถือด้วยอุปาทาน (ตัณหา และทิฏฐิ) ก่อให้เกิดความทุกข์ ทั้งหมดนี้คือทุกขอริยสัจ ความจริงอย่างประเสริฐ คือ ทุกข์
กามตัณหา ความอยากได้กามารมณ์ ภวตัณหา ความอยากได้รูปภพ หรืออยากมี อยากเป็นที่ตนเองไม่มีไม่เป็น วิภวตัณหา ความอยากได้อรูปภพ หรือความอยากจะไม่มี ไม่เป็น ในสิ่งที่ตนมีและเป็นอยู่แล้ว ทั้ง ๓ นี้คือ ทุกขสมุทัยอริยสัจ แปลว่า ของจริงอย่างประเสริฐ คือ เหตุที่ให้เกิดความทุกข์
ความดับไปอย่างไม่มีส่วนเหลือแห่งตัณหาทั้ง ๓ นั้น นี้คือ ทุกขนิโรธอริยสัจ แปลว่า ของจริงอย่างประเสริฐ คือ ความดับทุกข์
อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้คือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ แปลว่า ของจริงอย่างประเสริฐ คือ ข้อปฏิบัติที่ให้ดำเนินไปถึงความดับทุกข์
ทรงแสดงต่อไปว่า จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ทั้งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า
ทุกขอริยสัจ เป็นปริญเญยยธรรม คือ ธรรมที่ควรทำความเข้าใจให้ชัดเจน (เพื่อจะได้แก้ไขได้ถูกต้อง) พระองค์ได้เข้าใจชัดเจนแล้ว
ทุกขสมุทัยอริยสัจ เป็นปหาตัพพธรรม คือ เป็นธรรมที่จะต้องละหรือทำลายให้ได้ พระองค์ทรงละหรือทำลายได้แล้ว
ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นสัจฉิกาตัพพธรรม คือ เป็นธรรมที่ต้องทำให้แจ้ง หมายถึง ต้องเข้าใจและไปให้ถึง พระองค์ได้ทรงทำให้แจ้งแล้ว
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นภาเวตัพพธรรม คือ สิ่งต้องบำเพ็ญให้เกิด ให้มี ให้เจริญ จนถึงที่สุด พระองค์ก็ได้บำเพ็ญให้เจริญจนถึงที่สุดแล้ว
ท่านโกณฑัญญะได้ฟังปฐมเทศนาดังกล่าวมานี้ ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง (สังขาร) มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับเป็นธรรมดา ท่านได้บรรลุโสดาบัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบเช่นนั้นจึงทรงเปล่งอุทานว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญโญ แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ คำว่า อัญญา จึงเป็นคำนำหน้าชื่อของท่านตั้งแต่นั้นมา
อนัตตลักขณสูตร กัณฑ์คำรบ ๕
ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พระเบญจวัคคีย์
เมื่อท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม หมดความสงสัย แน่ใจ ไม่หวั่นไหว ไม่ต้องเชื่อใครในคำสอนของพระศาสดา จึงขอบรรพชาอุปสมบท ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด วิธีนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่อจากนั้น ทรงสั่งสอน ๔ รูปที่เหลือด้วยปกิณกเทศนา ท่านวัปปะ และภัททิยะ ได้ดวงตาเห็นธรรมทูลขอบวชพร้อมกัน ต่อจากนั้น มหานามะ และอัสสชิ ได้ดวงตาเห็นธรรมทูลขอบวชเป็นสุดท้าย ทรงอนุญาตให้ทั้งหมดเป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
เมื่อภิกษุเบญจวัคคีย์ดำรงอยู่ในเสขภูมิ เป็นพระโสดาบันอริยบุคคลแล้ว มีอินทรีย์แก่กล้าสมควรเจริญวิปัสสนาเพื่ออรหัตผล จึงตรัสเรียกมารับพระธรรมเทศนา อนัตตลักขณสูตร โดยไวยากรณภาษิต ใจความโดยย่อว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ขันธ์ ๕) เป็นอนัตตา คือว่างเปล่าจากตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะถ้าเป็นอัตตา คือมีตัวตน บังคับบัญชาได้ ก็ต้องได้ตามความปรารถนา ว่าจงอย่าเจ็บไข้ จงเป็นอย่างนี้ คือเป็นอย่างที่เราต้องการ จงอย่าเป็นอย่างนั้น คือ อย่าเป็นอะไรที่เราไม่ต้องการ
ทรงแสดงต่อไปว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จึงไม่ควรเข้าใจว่า นั่น (ขันธ์ ๕) เป็นของเรา นั่น (ขันธ์ ๕) เป็นเรา นั่น (ขันธ์ ๕) เป็นตัวตนของเรา
สุดท้ายทรงสอนเบญจวัคคีย์ให้เห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งในอดีต อนาคต ปัจจุบัน อันต่างโดยดีเลวเป็นต้นทุกชนิด ล้วนแต่ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา
เมื่อเบญจวัคคีย์เห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ จึงเกิดความเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ครั้นเบื่อหน่ายจึงคลายกำหนัด ได้บรรลุอรหัตมรรคปราศจากกิเลสเครื่องย้อมจิตทั้งหมด
ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ เบญจวัคคีย์ ๕ ด้วยประการฉะนี้
จาริกกัณฑ์ กัณฑ์คำรบ ๖
ในเมืองพาราณสี มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่งชื่อว่า ยศ มีปราสาท ๓ หลัง อยู่ท่ามกลางแห่งสตรีผู้บำเรอกามคุณ คืนหนึ่งเขาตื่นขึ้นมาในขณะที่สตรีทั้งหลายนอนหลับด้วยอาการต่าง ๆ กัน เหมือนกับซากศพที่นอนตายระเกะระกะ รู้สึกเบื่อหน่าย จึงหนีไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
เวลานั้นเป็นเวลาใกล้รุ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ได้สดับเสียงอุทานของยศกุลบุตรว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ จึงตรัสเรียกให้เขาเข้าไปหา แล้วทรงแสดงอนุปุพพีกถา เทศนาที่แสดงโดยลำดับ พรรณา ทาน ศีล สวรรค์ โทษแห่งกาม อานิสงส์แห่งการออกจากกาม จบแล้วทรงแสดงสามุกกังสิกเทศนา แปลว่า เทศนาที่ทรงยกขึ้นแสดงเอง ได้แก่ ทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ยศกุลบุตรได้บรรลุโสดาปัตติผล
พระธรรมเทศนาอนุปุพพีกถา และสามุกกังสิกเทศนานี้ จะทรงแสดงแก่บุคคลผู้ประกอบด้วย องค์ ๓ คือ ๑. เป็นมนุษย์ ๒. เป็นคฤหัสถ์ ๓. มีอุปนิสัยแก่กล้า ควรบรรลุโลกุตรคุณ
ต่อมาทรงแสดงอนุปุพพีกถา และสามุกกังสิกเทศนานี้แก่เศรษฐีบิดาของเขา ผู้ออกมาตามหาบุตรชาย เศรษฐีได้บรรลุโสดาบัน แสดงตนเป็นอุบาสกถึงรัตน ๓ เป็นสรณะ คนแรกในพระพุทธศาสนา ส่วนยศกุลบุตรฟังธรรมซ้ำอีกครั้งหนึ่งได้บรรลุอรหัตผล
เศรษฐีครั้นฟังธรรมแล้วได้บอกลูกชายว่า แม่คิดถึงมากให้กลับบ้าน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกเขาว่า ยศกุลบุตรบรรลุพระอรหัตผลแล้ว ไม่สามารถจะครองเรือนได้ เศรษฐีจึงอนุโมทนา และขออาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับยศกุลบุตรรับถวายภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น แล้วกลับสู่บ้านของตน
หลังจากเศรษฐีกลับไปแล้ว ยศกุลบุตรได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระศาสดา ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด
ครั้นรุ่งขึ้นอีกวัน เวลาปุพพัณหสมัย พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระยศเป็นปัจฉิมสมณะ ได้เสด็จไปยังนิเวศน์ของเศรษฐี มารดา และภรรยาของพระยศมาเฝ้า จึงทรงแสดงอนุปุพพีกถา และอริยสัจโปรดทั้งสองได้บรรลุโสดาบัน และแสดงตนเป็นอุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนา
เสร็จภัตกิจที่นิเวศน์ของเศรษฐีแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จกลับไปประทับที่ป่าอิสิ ปตนมฤคทายวัน ครั้งนั้นสหายพระยศชาวเมืองพาราณสี ๔ คน ชื่อ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ ควัมปติ ได้ทราบข่าวว่าสหายออกบวชจึงมายังสำนักพระยศ พระยศได้พาพวกเขาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ฟังอนุปุพพีกถา และอริยสัจ บรรลุโสดาปัตติผลแล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท ครั้นได้บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล
สหายของพระยศอีก ๕๐ คน เป็นลูกเศรษฐีชาวชนบทได้ทราบข่าวว่า ยศกุลบุตรออกบวช จึงพากันมายังสำนักของพระยศ ท่านได้พาสหายเหล่านั้นไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงอนุปุพพีกถา และอริยสัจ ๔ พวกเขาได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท แล้วได้บรรพชาอุปสมบทและบรรลุธรรมตามนัยหนหลัง
ครั้งนั้นมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖๑ องค์ พระผู้มีพระภาคทรงเจ้า ทรงส่งพระอรหันต์ ๖๐ องค์ ไปประกาศศาสนา ด้วยพระดำรัสว่า เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่มวลชน เพื่ออนุเคราะห์ เพื่อสิ่งที่ต้องประสงค์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ครั้งนั้น มารมาคุกคามพระองค์ว่า ท่านถูกเราพันธนาการไว้ด้วยบ่วงกามทั้งที่เป็นของเทวดาและมนุษย์ และใจของท่านก็จะต้องติดบ่วงราคะ (ความกำหนัดยินดี) ของเรา ดูก่อนสมณะท่านจะไม่พ้นมือของเราไปได้
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบมารว่า ดูก่อนมาร ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ของเราหมดไปแล้ว ท่านไม่สามารถจะผูกเราด้วยบ่วงราคะได้หรอก มารจึงอันตรธานหายไป (มั่นใจว่าจะไม่ไปติดกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และลาภยศ)
ทรงอนุญาตติสรณคมนุปสัมปทา
ครั้งนั้น เมื่อพระอรหันต์ ๖๐ องค์ออกไปประกาศพระศาสนา เมื่อคนศรัทธาต้องการบวชจึงนำมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงบวชให้ ทรงเห็นว่าเป็นความลำบากทั้งแก่พระสงฆ์และผู้ศรัทธา จึงทรงอนุญาตวิธีบรรพชาอุปสมบทว่า
ก็แล กุลบุตรนั้น ๆ อันท่านทั้งหลายพึงให้ปลงผมและหนวด ให้ครองผ้าย้อมด้วยน้ำฝาดแบบเฉวียงบ่า ให้ไหว้เท้าภิกษุ แล้วให้นั่งกระโหย่ง ประนมมือเปล่งวาจาว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ฯเปฯ ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ วิธีบรรพชาอุปสมบทแบบนี้เรียกว่า ติสรณคมนุปสัมปทา
ราชคหภัณฑ์ กัณฑ์ที่ ๗
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพิจารณาเห็นว่าประชาชนชาวมคธเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัยที่จะรับธรรมเทศนาได้ จึงตั้งพระทัยที่จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธก่อน แต่จำเป็นต้องอาศัยพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินมคธ และอุรุเวลกัสสปะ ซึ่งเป็นเจ้าลัทธิผู้มีอายุมาก โลกสมมติกันว่าเป็นผู้ประเสริฐมานาน เป็นกำลังช่วย จึงเสด็จออกจากพาราณสีเสด็จพุทธดำเนินไปยังอุรุเวลาประเทศ ในระหว่างทางทรงแวะพักที่กัปปาสิกวัน ป่าฝ้าย ทรงโปรดภัททวัคคีย์สหาย ๓๐ คน ให้บรรลุผลเบื้องต่ำ ๓ บวชให้แล้วส่งไปประกาศพระพุทธศาสนา
โปรดชฎิลพันหนึ่ง
ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยังอุรุเวลาประเทศเพื่อโปรดชฏิล ๓ พี่น้อง คือ พี่ชายใหญ่นามว่า อุรุเวลกัสสปะ มีบริวาร ๕๐๐ คนกลางนามว่า นทีกัสสปะ มีบริวาร ๓๐๐ คนเล็กนามว่าคยากัสสปะ มีบริวาร ๒๐๐
ทรงทรมานอุรุเวลกัสสปะด้วยอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทสนาปาฏิหาริย์ให้สิ้นพยศ เกิดความสลดใจ ได้ความเลื่อมใส ลอยชฏิลบริขาร แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท พร้อมกับบริวาร
ฝ่ายนทีกัสสปะ และคยากัสสปะ เห็นบริขารของพี่ชายคิดว่าเกิดอันตรายจึงพากันมายังสำนักของพี่ชาย ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วพร้อมกับบริวารทูลขอบรรพชาอุปสมบท
เมื่อประทับอยู่ที่อุรุเวลาตามพระพุทธอัธยาศัยแล้ว พร้อมด้วยภิกษุปุราณชฎิล ๑,๐๐๐ องค์ ได้เสด็จไปยังคยาสีสะประเทศ ณ ที่นั้น ได้ตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นมาแล้ว ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตร เป็นไวยากรณภาษิตว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของร้อน อะไรคือทุกสิ่งทุกอย่างที่ร้อน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่มาถูกต้องกาย) ธรรมารมณ์ (เรื่องที่ใจคิด) การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การได้สัมผัสถูกต้อง การคิดนึก ทั้ง ๓ อย่าง (ตา + รูป + จักขุวิญญาณ ฯลฯ ใจ + ธรรมารมณ์ + มโนวิญญาณ) มาประจวบกันทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ นี้แหละชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ร้อนเพราะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ร้อนเพราะความเสียใจ การร้องไห้ ความทุกข์ ความโทมนัส ความตรอมใจ
สรุปพระธรรมเทศนานี้ว่า อายตนะภายใน ๖ ประการ อายตนะภายนอก ๖ ประการ วิญญาณ ๖ อย่าง ผัสสะคือการกระทบกันของสภาวธรรม ๓ อย่างนั้น ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ เพราะมีอุปาทาน คือ ความยึดติดอยู่กับความสุข ความทุกข์ หรือความไม่สุขไม่ทุกข์นั้น จึงถูกกิเลสมีราคะเป็นต้น หรือถูกกองทุกข์มีชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น เผาใจให้เร่าร้อน
สมเด็จพระนราสภทศพลทรงแสดงอานิสงส์แห่งวิปัสสนาปัญญา ที่รู้แจ้งเห็นจริงความเร่าร้อนอันเกิดจากกิเลสและกองทุกข์ว่า อริยสาวกผู้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ และเวทนา คือ ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ อันเกิดจากสภาวธรรมทั้ง ๓ นั้น มาประจวบกัน
เมื่อท่านเบื่อหน่าย จิตย่อมหมดความกำหนัด เมื่อหมดความกำหนัดย่อมหลุดพ้น ครั้นหลุดพ้นจากกิเลสแล้ว ชาติ คือความเกิดในปัญจโวการภพ (มีขันธ์ ๕) จตุโวการภพ (มีขันธ์ ๔) เอกโวการภพ (มีขันธ์ ๑) ย่อมสิ้นไป ชื่อว่าเป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์และทำกิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลง ภิกษุหนึ่งพันรูปก็มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ได้บรรลุอรหัตผล เป็นอเสขบุคคลทั้งหมดด้วยประการฉะนี้
โปรดพระเจ้าพิมพิสาร
เมื่อภิกษุปุราณชฏิลบรรลุอรหัตผลแล้ว ทรงประทับอยู่ที่คยาสีสะประเทศตามอภิรมย์พุทธอัธยาศัยแล้ว อันวิสุทธิสงฆ์องค์อรหันต์หนึ่งพันเป็นพุทธบริวารแวดล้อมเสด็จไปประทับ ณ ลัฏฐิวโนทยานสวนตาลหนุ่มสุปติฏฐเจดีย์ พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับข่าวนั้น พร้อมพราหมณ์ คฤหบดีชาวมคธ ๑๒ นหุต เสด็จไปเฝ้า
คนเหล่านี้มีอาการทางกายและวาจาต่างกันเป็น ๕ ประเภท
- บางพวกถวายอภิวาทกราบไหว้
- บางพวกเพียงแต่ทักทายปราศัย
- บางพวกประนมมือไหว้
- บางพวกประกาศชื่อและโคตรของตน
- บางพวกนั่งนิ่งไม่ทำประการใดทั้งสิ้น เพราะยังไม่แน่ใจว่าระหว่างอุรุเวลกัสสปะกับพระสมณโคดม ใครเป็นอาจารย์ ใครเป็นศิษย์
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความคิดของคนเหล่านั้น จึงตรัสถามพระอุรุเวลกัสสปะว่า ท่านผู้ปาโมกข์แห่งคณาจารย์ทั้งหลาย ท่านเห็นอะไรจึงเลิกละการบูชาไฟเสีย
พระอุรุเวลกัสสปะทูลว่า ยัญทั้งหลายล้วนมุ่งหมายกามคุณ และสตรี ซึ่งล้วนแต่เป็นมลทิน ข้าพระองค์ทราบอย่างนี้แล้วจึงเลิกละการบูชายัญเสีย แต่บัดนี้ ข้าพระองค์ได้เห็นพระนิพพานอันสงบ ไม่มีอุปธิ คือ ขันธ์ กิเลส และอภิสังขาร ใจของข้าพเจ้าจึงยินดีในพระนิพพานนั้น แล้วท่านได้ลุกขึ้นกราบลงที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วประกาศต่อหน้าชาวมคธว่า สตฺถา เม ภนฺเต ภควา, สาวโกหมสฺสมิ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ พระองค์เป็นศาสดา ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก
พราหมณ์และคฤหบดีชาวมคธ ได้เห็นและได้ยินพระอุรุเวลกัสสปะเช่นนั้นแล้วหมดความสงสัย ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา อนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๑๑ นหุต ได้บรรลุโสดาปัตติผล ๑ นหุต ตั้งอยู่ในสรณคมน์
พระเจ้าพิมพิสารครั้นบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ได้กราบทูลพระศาสดาให้ทรงทราบถึงความปรารถนาในกาลก่อนของพระองค์ ๕ ข้อว่า
๑. ขอให้ข้าพเจ้าได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์ในแคว้นมคธ
๒. ขอพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จงเสด็จมายังแว่นแคว้นของข้าพเจ้า
๓. ขอให้ข้าพเจ้าได้เข้าไปนั่งใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
๔. ขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า
๕. ขอให้ข้าพเจ้าได้รู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
บัดนี้ ความปรารถนาทั้ง ๕ ประการของข้าพระองค์ได้สำเร็จเรียบร้อยแล้วทุกประการ แล้วได้ทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมทั้งพระสงฆ์ทั้งหมด รับถวายภัตตาหารในพระราชนิเวศน์ในวันรุ่งขึ้น
วันรุ่งขึ้น พระศาสดาพร้อมด้วยพระปุราณชฎิล ๑ พันองค์ ได้เสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสารทรงอังคาสพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยขัชชโภชนาหารอันประณีต ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ เป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพตามสัปปุริสวิสัย
เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว ทรงคิดถึงสถานที่ประทับของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงเห็นว่าเวฬุวันอุทยานเป็นสถานที่ไม่พลุกพล่าน หนทางไม่ไกลแต่โคจรคามเพื่อเที่ยวบิณฑบาต ควรเป็นสถานที่มีวิเวกสุขตามสมณวิสัย จึงทรงจับพระเต้าทองอันเต็มไปด้วยน้ำหลั่งลงเป็นนิมิตหมายแห่งการถวายเวฬุวันอุทยานแด่พระศาสดา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับแล้ว ทรงกระทำอนุโมทนาแล้วเสด็จไปประทับ ณ อารามนั้น และทรงอาศัยอัตถุปปัตติ คือ เหตุเกิดเรื่องนี้อนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายรับถวายอารามตามปรารถนา เวฬุวนามรามจึงเป็นอารามแรกที่เกิดขึ้นในพุทธุปบาทกาลนี้
ทรงได้อัครสาวก
เตน โข ปน สมเยน สมัยนั้น ปริพาชกคนหนึ่งนามว่า สญชัย อาศัยอยู่ ณ เมืองราชคฤห์ กับปริพาชกบริษัทจำนวนมาก พราหมณ์มาณพ ๒ คน ชื่อ สารีบุตร และโมคคัลลานะ ออกแสวงหาโมกขธรรมได้ไปบวชประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสญชัยนั้น
สองสหายไม่พอใจลัทธิสมัยของสญชัย จึงได้ทำกติกากันว่า ถ้าใครได้อมตธรรมก่อนจงบอกแก่กัน ครั้งนั้น สารีบุตรปริพาชกได้พบพระอัสสชิกำลังเที่ยวภิกษาจารในเมืองราชคฤห์ กิริยามารยาทน่าเลื่อมใส จึงเข้าไปหาถามถึงศาสดาและอาราธนาให้แสดงธรรม
พระเถระแสดงอริยสัจ ๔ โดยย่อว่า ธรรมทั้งหลายล้วนเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และตรัสความดับของธรรมเหล่านั้น (ว่าต้องดับที่เหตุ) พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้
สารีบุตรปริพาชกฟังธรรมแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุโสดาปัตติผล จึงกลับไปบอกแก่โมคคัลลานปริพาชก พร้อมกับแสดงธรรมให้ฟัง โมคคัลลานปริพาชกฟังธรรมแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม จึงชวนกันลาอาจารย์สญชัยไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่เวฬุวัน พร้อมปริพาชกที่เป็นบริวารของตน
สมเด็จพระบรมศาสดา ได้โปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พวกเขา ภิกษุผู้เป็นบริวารได้รับฟังธรรมของพระศาสดาได้บรรลุอรหัตผลอยู่ในพรหมจรรย์
พระโมคคัลลานเถระ หลังจากบวชได้ ๗ วัน ไปทำความเพียรอยู่ที่กัลลวาลมุตตคาม นั่งโงกง่วงเพราะถูกถีนมิทธนิวรณ์เข้าครอบงำ พระองค์ทรงทราบจึงเสด็จไปสอน ท่านฟังโอวาทแล้วบรรลุอรหัตผล
ฝ่ายพระสารีบุตรเถระ บวชได้ ๑๕ วัน เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตาแสดงเวทนาปริคคหสูตรโปรดทีฆนขปริพาชก ท่านไปถวายงานพัดอยู่ฟังธรรมไปด้วย จึงได้สำเร็จอรหัตผล ณ สถานที่นั้น
ข้อสังเกต พระสาวกทั้งสองล้วนแต่ได้บรรลุพระอรหัตผลในสำนักของพระศาสดา
ทรงบัญญัติอุปัชฌายวัตรและอาจริยวัตร
เมื่อภิกษุบริษัทถึงความไพบูลย์ขึ้นโดยลำดับ พระองค์ทรงปรารภอากัปปาจารพิบัติแห่งภิกษุใหม่บางจำพวก จึงทรงอนุญาตให้ถือนิสัยเนื่องด้วยอุปัชฌาย์และอาจารย์ และทรงบัญญัติอุปัชฌายวัตรและอาจริยวัตร เป็นต้น ตามอัตถุปปัตติเกิดเรื่องนั้น ๆ
พุทธกิจกถา กัณฑ์ที่ ๘
ทรงเตรียมพระองค์เพื่อบำเพ็ญสัตตูปการกิจ
สมเด็จพระบรมโลกนาถ ผู้ประกอบด้วยพระกรุณาคุณอันใหญ่หลวง มีพระทัยใฝ่หาประโยชน์แก่เวไนยสัตว์ด้วยพระอัธยาศัยอันบริสุทธิ์ พุทฺโธ ทรงเป็นผู้ตื่นแล้วจึงมาปลุกผู้อื่นให้ตื่น ทนฺโต ทรงฝึกพระองค์ดีแล้วจึงมาฝึกผู้อื่น สนฺโต ทรงสงบระงับสรรพกิเลสเหตุเร่าร้อนทั้งปวงแล้ว จึงทรงสั่งสอนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ปรินิพฺพุโต ทรงเย็นสนิทจากเพลิงกิเลสแล้ว จึงทรงสอนให้คนอื่นดับเพลิงกิเลส
ทรงบำเพ็ญสัตตูปการกิจ ๒ ประการ
พระองค์ทรงเสด็จจาริกไปในคามนิคมและราชธานีต่าง ๆ เพื่อทรงประกอบสัตตูปการกิจ ๒ ประการ
๑. ธมฺมํ เทเสติ ทรงแสดงธรรมด้วยสามารถแห่งข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์และบรรพชิต
๒. วินยํ ปญฺญาเปติ ทรงบัญญัติวินัยอุบายเครื่องฝึกสหธรรมิกบริษัท เป็นสิกขาบท และขันธกะนั้น ๆ ตั้งเขตแดนขอบขัน เพื่อให้เกิดการปฏิบัติดีงามด้วยกายและวาจา
อาการที่ทรงแสดงธรรม
พระองค์ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ด้วยประโยชน์ทั้ง ๓ คือ
๑. ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ผลดีที่จะพึงได้ประสบในปัจจุบันภพทันตาเห็น ธรรมที่ทรงสอน คือ อุฏฐานสัมปทา ความขยันหมั่นเพียร อารักขสัมปทา การรู้จักดูแลรักษา กัลยาณมิตตตา มีกัลยาณมิตร สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตแต่พอเหมาะสม
๒. สัมปรายิกัตถประโยชน์ ผลดีที่จะพึงได้รับในชาติหน้า ธรรมที่ทรงสอน คือ ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา
๓. ปรมัตถประโยชน์ ผลดีสูงสุดในพระพุทธศาสนา ธรรมที่ทรงสอนคือ ศีล สมาธิ และปัญญา ที่มีความลุ่มลึกไปโดยลำดับ ครอบคลุมหลักธรรมคำสอนที่มีอยู่ทั้งสิ้น
วิธีฝึกคน ๓ ประการ
อนึ่ง เวไนยสัตว์ที่ควรฝึกก็เป็นต่าง ๆ กันโดยลัทธิวาท (การยึดถือลัทธิ) ทิฏฐิวาท (การถือทิฏฐิ) เป็นพราหมณชาติ เดียรถีย์ ปริพาชก พาหิรบรรพชิต ชฏิลดาบส ยักษ์ เทวดา พรหม ที่มีอัธยาศัยวิปริตถือผิดต่าง ๆ บางครั้ง ทรงใช้อิทธิปาฏิหาริย์ บางครั้งทรงใช้อาเทศนาปาฏิหาริย์ บางครั้งทรงใช้อนุศาสนีปาฏิหาริย์ ทรมานฝึกสอนให้เสื่อมพยศ
วิธีสอนคฤหัสถ์ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า
เมื่อจะทรงสอนคฤหัสถ์ซึ่งไม่ใช่บรรพชิตทั้งในและนอกศาสนา ผู้มีอุปนิสัยอินทรีย์แก่กล้าควรสำเร็จมรรคผล ณ อาสนะที่ฟังธรรมนั้น สรุปแล้วผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ คือ ๑. เป็นมนุษย์ ๒. เป็นคฤหัสถ์ ๓. มีอินทรีย์แก่กล้า สำหรับบุคคลเช่นนี้จะทรงแสดงอนุปุพพีกถา ๕ และอริยสัจ ๔
อุบายวิธีแสดงธรรม ๔ ประการ
และการที่จะทรงสั่งสอนคฤหัสถ์บริษัทเช่นนั้น จะทรงแสดงธรรมด้วยอุบายวิธี ๔ ประการ คือ
๑. สันทัสสนา ทรงชี้แจงให้ผู้ฟังเห็นโทษและคุณชัดเจน เหมือนเห็นด้วยตาของตนเอง
๒. สมาทปนา ชักชวนหรือโน้มน้าวให้ผู้ฟังเห็นว่าสิ่งนั้นไม่ดี ควรละ สิ่งนั้นดี ควรประพฤติ
๓. สมุตเตชนา ชี้แจงให้ผู้ฟังเกิดความกล้าหาญที่จะละความชั่ว ประพฤติความดี
๔. สัมปหังสนา พรรณนาคุณแห่งการละความชั่ว และบำเพ็ญความดี เป็นต้นนั้นให้ผู้ฟังรื่นเริงบันเทิงใจ
ธรรมที่เป็นเหตุให้พรหมจรรย์ตั้งอยู่ได้นานและเป็นประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์
ธรรม ๓๗ ประการ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ เป็นอภิญญาเทสิตธรรม ธรรมที่ทรงแสดงด้วยพระปัญญาอันยิ่ง หรือธรรมที่ทรงแสดงเพื่อให้เกิดปัญญาอันยิ่ง
ธรรม ๓๗ ประการนี้ ภิกษุทั้งหลายเล่าเรียนให้ดี เห็นประโยชน์ปฏิบัติเป็นประจำ ทำให้มาก ก็จะพึงทำให้พรหมจรรย์ (ศาสนา) ตั้งอยู่ได้นาน ทั้งเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
ปัญญาที่กำหนดนามรูปโดยลักษณะทั้ง ๓
เป็นคุณเบื้องสูงแห่งพรหมจรรย์
คำสอนที่เป็นไปโดยมากในพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า พหุลานุศาสนี คือ ทรงสอนพุทธบริษัทให้เห็นด้วยปัญญาว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันย่อลงเป็น ๒ คือ รูป เรียกว่ารูป ส่วน เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ รวมกันเรียกว่า นาม เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ปัญญาที่รอบรู้ในลักษณะทั้ง ๓ นี้เรียกว่า ธัมมฐิติญาณ (รู้ความดำรงอยู่แห่งสภาวธรรม) หรือเรียกว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ (ปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง) เป็นเหตุให้เกิดนิพพานญาณ (การรู้หรือการบรรลุนิพพาน)
ยถาภูตญาณทัสสนะเป็นเครื่องถอนคาหะความยึดถือ ๓ ประการ
ยถาภูตญาณทัสสนะ ความรู้เห็นตามความเป็นจริง เป็นเครื่องถอนคาหะความยึดถือผิด ๓ ประการ คือ
๑. เมื่อเห็นตามเป็นจริงว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ย่อมถอนตัณหาคาหะ ความถือมั่นด้วยอำนาจ ตัณหาเสียได้
๒. เมื่อเห็นตามเป็นจริงว่า สภาพนั่นไม่เป็นเรา ย่อมถอนมานคาหะ
ความถือมั่นด้วยอำนาจมานะ (เย่อหยิ่ง) เสียได้
๓. เมื่อเห็นตามเป็นจริงว่า สภาพนั่นไม่ใช่ตัวตนแก่นสารของเรา ย่อมถอนทิฏฐิคาหะ ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ (ความเห็นผิด) เสียได้
ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เป็นปปัญจธรรม
ตัณหา มานะ และทิฏฐิ ทั้ง ๓ นี้จัดว่าเป็น ปปัญจธรรม ธรรมที่ทำให้เกิดความเนิ่นช้า อธิบายว่า ถ้าสัตว์ยังมีความอยากได้ ถือตัว และเห็นผิดอยู่ ก็ย่อมไม่มีปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถจะพ้นจากความทุกข์ได้
อนัตตานุปัสสนาละอัตตวาทุปาทาน
สัตว์ทั้งหลายล้วนยินดีในธรรมเครื่องเนิ่นช้าทั้ง ๓ นี้ แม้ผู้เป็นคณาจารย์บางคน จะสอนให้ละอุปาทาน ก็ละได้เฉพาะกามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน และสีลพตุปาทาน เท่านั้น แต่ไปยึดมั่นอยู่กับอัตตวาทุปาทาน ว่ามีอาตมันตัวตนอยู่ จึงเห็นความจริงแต่เพียง ๒ ประการ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีใครเห็นอนัตตา นานเข้าจึงเวียนมาหาปปัญจธรรมด้านเดิม คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิอีก ย่อมไม่พ้นจากวัฏฏสงสาร
ส่วนพระตถาคตทั้งหลาย ทรงทราบความจริงทั้ง ๓ ประการ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และความเป็นอนัตตา ของสังขารทั้งหลาย ถอนอุปาทานทั้ง ๔ คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน เสียได้ จึงเป็นผู้ไม่มีธรรมเครื่องเนิ่นช้า ได้บรรลุอมตมหานิพพาน
เพราะทรงมุ่งผลคือ ความพ้นจากวัฏฏทุกข์ของเวไนยสัตว์ พระองค์จึงทรงสั่งสอนให้พิจารณาสังขาร โดยลักษณะ ๓ ประการ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา เป็นพหุลานุศาสนี คำสอนที่มากกว่าคำสอนอย่างอื่นในพระพุทธศาสนา
พระธรรมชื่อว่า สฺวากฺขาโต (ตรัสไว้ดี)
พระองค์ทรงแสดงธรรมสอนเวไนยสัตว์ด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ
๑. อภิญฺญาย ธมฺมํ เทเสติ ทรงแสดงธรรมหวังจะให้เวไนยสัตว์ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ไม่มีปิดบังอำพราง หรือเปิดเผยแก่สาวกบางองค์ ปกปิดสำหรับสาวกบางองค์
๒. สนิทานํ ธมฺมํ เทเสติ ทรงแสดงธรรมประกอบด้วยเหตุ ควรที่ผู้ฟังจะตรองตามให้เห็นจริงได้
๓. สปฺปาฏิหาริยํ ธมฺมํ เทเสติ ทรงแสดงธรรมมีความอัศจรรย์ ที่ผู้ปฏิบัติตามได้ผลดีจริง
ดังนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงจึงชื่อว่า สฺวากฺขาโต คือ ตรัสไว้ดีแล้ว และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมนั้น จึงชื่อว่า สุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
อาการที่ทรงบัญญัติพระวินัย
เพื่อจะเป็นที่รองรับอธิกุศล ให้บุคคลได้บำเพ็ญสัมมาปฏิบัติทางพระนิพพานโดยง่าย และให้ห่างไกลจากอกุศลธุลีต่าง ๆ จึงทรงบัญญัติพระวินัยสำหรับใช้กับ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี ไม่ทั่วไปในคฤหัสถ์บริษัทมณฑล
ความเป็นมาของ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี
เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สำเร็จอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงประกาศพระศาสนาเริ่มตั้งแต่ทรงแสดงพระธรรมจักร โปรดปัญจวัคคีย์ ๕ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม ทูลขอบรรพชาอุปสมบทจึงทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด เพียงเท่านี้ท่านโกณฑัญญะ ก็ได้เป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา วิธีนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา ใช้แต่ลำพังพระศาสดาพระองค์เดียวเท่านั้น
ครั้นต่อมา เมื่อมีพระอรหันตสาวกเกิดขึ้นในโลก ๖๐ องค์ คือ ภิกษุปัญจวัคคีย์ ๕ รูป พระยสเถระและสหายของท่านอีก ๕๔ รูป ทรงส่งท่านเหล่านั้นไปประกาศพระศาสนา มีผู้ศรัทธาต้องการบวชจึงนำมาเฝ้าเพื่อประทานอุปสมบท ทรงเห็นว่าเป็นความลำบาก จึงทรงอนุญาตให้พระสาวกบวชกุลบุตรได้เอง เฉพาะตัวต่อตัว โดยให้เขาปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมน้ำฝาด กราบภิกษุ นั่งกระโหย่งประนมมือ ว่าตามพระสงฆ์ ว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิฯเปฯตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เพียงเท่านี้ ผู้นั้นก็ได้สำเร็จเป็นภิกษุ วิธีนี้เรียกว่า ติสรณคมนูปสัมปทา แปลว่า อุปสมบทด้วยการรับไตรสรณคมน์
ครั้นต่อมา เมื่อพระองค์ประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ตรัสให้พระสารีบุตรเถระเป็นพระอุปัชฌาย์บวชพราหมณ์คนหนึ่งเป็นการสงฆ์ด้วยวิธีสวดกรรมวาจา ๓ ครั้ง พร้อมทั้งญัตติ ๑ เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรมวาจาอุปสัมปทา และทรงให้ยกเลิกวิธีบวชด้วยการรับไตรสรณคมน์เสีย
ทรงอนุญาตการบรรพชาเป็นสามเณร
เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จยังนครกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระประยูรญาติ ทรงรับสั่งให้พระสารีบุตรเถระบรรพชาให้พระราหุล โดยวิธีรับไตรสรณคมน์ เรียกว่า บรรพชาเป็นสามเณร เพราะขณะนั้นท่านยังเป็นเด็กมาก ยังไม่เหมาะสมจะเป็นภิกษุ
ทรงอนุญาตให้สตรีอุปสมบทเป็นภิกษุณี
ครั้งหนึ่ง พระองค์เสด็จอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองไพศาลี ทรงอนุญาตอุปสมบทเป็นภิกษุณี แก่พระนางมหาปชาบดี ด้วยวิธีรับครุธรรม ๘ ประการ ทรงอนุญาตอุปสมบทแก่นางสากิยาณี ๕๐๐ นาง โดยภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว ทรงตั้งภิกษุณีบริษัทขึ้นในพระพุทธศาสนา
ต่อมาเมื่อมีภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ จึงทรงอนุญาตอัฏฐวาจิกาอุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยกรรมวาจา ๘ คือ ญัตติจตุตถกรรมวาจาฝ่ายภิกษุสงฆ์ และญัตติจตุตถกรรมวาจาฝ่ายภิกษุณีสงฆ์แก่ผู้ที่จะบวชเป็นภิกษุณี
วิธีบวชสามเณรี
ต่อมาทรงอนุญาตให้ภิกษุณีบรรพชาให้สตรีผู้มีอายุยังน้อยเป็นสามเณรี ด้วยวิธีรับไตรสรณคมน์ เหมือนกับภิกษุให้บรรพชาสามเณร
สิกขมานา
ต่อมาทรงอนุญาตให้ภิกษุณีสงฆ์ให้สิกขาสมมติแก่สามเณรี ประพฤติให้บริบูรณ์ ๒ ปีก่อน จึงอุปสมบทเป็นนางภิกษุณีได้ ผู้ประพฤติสิกขาสมมตินี้เรียกว่า สิกขมานา
สหธรรมิกบรรพชิต ๕
ภิกษุ ๑ ภิกษุณี ๑ สามเณรีสิกขมานา ๑ สามเณร ๑ สามเณรี ๑ เป็นสหธรรมิกบรรพชิต ๕ จำพวก ด้วยประการฉะนี้
ทรงอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ
บัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุ และภิกษุณี
พระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทเฉพาะภิกษุบ้าง เฉพาะภิกษุณีบ้าง สาธารณะทั่วไปแก่ทั้งสองพวกบ้าง ซึ่งเรียกว่า วินัย เพราะทรงอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
๑. เพื่อให้สงฆ์ยอมรับว่าดีแล้ว ชอบแล้ว
๒. เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์
๓. เพื่อข่มบุคคลผู้ไม่ละอายใจ
๔. เพื่ออยู่สบายแห่งผู้มีศีล
๕. เพื่อป้องกันความเสียหายในปัจจุบัน
๖. เพื่อกำจัดเหตุแห่งความเสียหายในสัมปรายภพ
๗. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
๙. เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม
๑๐. เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย (สนับสนุนให้คนมีระเบียบวินัย)
ประโยชน์ที่มุ่งหมายแห่งพระธรรมวินัย
ธรรมและวินัยที่ทรงแสดงและทรงบัญญัติไว้แม้จะมีมากมาย แต่เมื่อจะกล่าวถึงผลมุ่งหมายสูงสุดก็เพื่อ วิมุตติ คือ ความหลุดพ้นวิเศษจากสรรพกิเลส
เครื่องเศร้าหมองใจอย่างเดียว เปรียบเหมือนน้ำในมหาสมุทรทั้งหลายที่กว้างใหญ่จะกี่มหาสมุทรก็ตาม ล้วนมีรสเดียวกันคือ มีรสเค็ม
ทรงแสดงธรรมและบัญญัติวินัยเพื่อประกาศสัทธรรม ๓ ประการ
พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมและทรงบัญญัติวินัย เพื่อประกาศสัทธรรม ๓ ประการ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ให้เป็นไปในพุทธบริษัทสาวกมณฑลทั้งเทวดา มนุษย์ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ บรรพชิต ตามสมควร
คำสอนอันแสดงข้อปฏิบัติคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ชื่อว่า ปริยัติสัทธรรม
การปฏิบัติตามศีล สมาธิ ปัญญา ชื่อว่า ปฏิปัตติสัทธรรม
มรรค ผล นิพพาน ที่ได้บรรลุเพราะการปฏิบัติตามศีล สมาธิ ปัญญา ชื่อว่า ปฏิเวธสัทธรรม
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้สัทธรรม ๓ ประการนี้ เป็นไปในมนุษย์พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จนบริษัททั้ง ๔ นั้นทรงคุณธรรมดำรงใน เอตทัคคสถานตามอภิสมัยสมบัติ ดังนี้
บริษัท ๔ ผู้ตั้งอยู่ในเอตทัคคสถาน
ฝ่ายภิกษุบริษัท พระสารีบุตรอัครสาวกท่านทรงปัญญาอันพิเศษ ให้อนุตรธรรมจักรที่พระตถาคตเจ้าให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามได้โดยชอบ ดังปรินายกรัตน์แห่งบรมจักรพรรดิฉะนั้น ท่านเป็นผู้เลิศกว่า ภิกษุผู้มีปัญญามาก
พระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกที่ ๒ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่มีอิทธิฤทธิ์
พระอัญญาโกณฑัญญะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้รู้ราตรีนาน
พระมหากัสสปะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงธุดงคคุณ
พระอนุรุทธะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ได้ทิพยจักษุญาณ
พระภัททิยกาฬิโคธายบุตร เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เกิด ณ ตระกูลสูง
พระลกุณฏกภัททิยะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีเสียงเพราะ
พระปิณโฑลภารทวาชะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บันลือสีหนาททั้งปวง
พระปุณณมันตานีบุตร เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นธรรมกถึก
พระมหากัจจายนะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แจกเนื้อความแห่งคำย่อออกโดยพิสดารได้
พระจุลลปันถกเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายอันนิรมิตได้ซึ่งมโนมยกาย และเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในเจโตวิวัฏ การพลิกปัญญา
พระมหาปันถกเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในปัญญาวิวัฏฏ์ เจโตวิวัฏฏ์ การพลิกจิต
พระสุภูติเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ด้วยอรณวิหาร ไม่มีกิเลส และเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นทักขิเณยยะ ควรรับทักขิณาทานเครื่องเจริญสุขสมปีติ
พระขทิรวนิยะเรวตเถระ อันอยู่ในป่าไม้กระถินก็ว่า ไม้ตะเคียนก็ว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า
พระกังขาเรวตเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เพ่งด้วยฌาน
พระโสณโกฬิวิสเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีความเพียรปรารภแล้ว
พระโสณกุฏิกัณณเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีวาจาอันไพเราะ
พระสีวลีเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีลาภมาก
พระวักกลิเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้น้อมลงด้วยศรัทธา
พระราหุล เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ใคร่ซึ่งสิกขา
พระรัฏฐปาลเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บวชด้วยศรัทธา
พระกุณฑธานเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ถือเอาซึ่งสลากเป็นประถม
พระวังคีสเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปฏิภาณ
พระอุปเสนวังคันตบุตร เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใสโดยรอบ
พระทัพพมัลลบุตร เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แต่งตั้งปูลาดเสนาสนะ
พระปิลินทวัจฉเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่รักเจริญจิตของเทวดา
พระพาหิยทารุจีริยะ เลิศกว่าท่านที่เป็นขิปปาภิญญาบุคคลตรัสรู้พลัน
พระกุมารกัสสปเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้กล่าวธรรมกถาวิจิตร
พระมหาโกฏฐิตเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ถึงซึ่งปฏิสัมภิทา
พระอานนทเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายโดยคุณพิเศษถึง ๕ สถาน คือ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่เป็นพหุสูต เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่มีธิติปัญญาจำทรง เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้อุปฐาก
พระอุรุเวลกัสสปเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่มีบริษัทใหญ่บริวารมาก
พระพากุลเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีโรคน้อย
พระโสภิตเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ระลึกได้ซึ่งปุพเพนิวาส
พระอุบาลีเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงไว้ซึ่งวินัย
พระนันทกเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทนางภิกษุณี
พระนันทเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีความเกื้อกูลในปฏิภาณ
พระโมฆราชเถระ เลิศกว่าภิกษุ ทั้งหลายผู้ทรงจีวรเศร้าหมองในภิกษุบริษัทมีท่านผู้ทรงคุณพิเศษนั้น ๆ ซึ่งพระศาสดาทรงสรรเสริญในเอตทัคคสถานโดยนิยมดังนี้
ในฝ่ายภิกษุณีบริษัทเล่า
พระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งได้รับครุธัมมปฏิคคหณุปสมบทก่อนเป็นประถมกว่าภิกษุณีทั้งหลาย เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายบรรดาผู้รู้ราตรี คือเป็นนางภิกษุณีก่อนกว่านางภิกษุณีทั้งปวง
นางเขมาเถรี เป็นอัครสาวิกา เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้มีปัญญามาก
นางอุบลวัณณาเถรี อัครสาวิกาที่ ๒ เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้มีฤทธิ์
นางปฏาจาราเถรี เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายอันทรงไว้ซึ่งวินัย
นางธัมมทินนาเถรี เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายบรรดาที่เป็นธรรมกถึก
นางนันทาเถรี เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้เพ่งด้วยฌานสมาบัติ
นางโสณาเถรี เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้มีความเพียรปรารภแล้ว
นางสกุณเถรี เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายที่บรรลุทิพยจักษุญาณ
นางภัททากุณฑลเกสีเถรี เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้เป็นขิปปาภิญญามีความตรัสรู้พลัน
นางภัททกาปิลานีเถรี เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายที่ระลึกได้ซึ่งปุพเพนิวาส
นางภัททากัจจานาเถรี เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายที่ถึงซึ่งอภิญญาอันใหญ่แล้ว
นางกิสาโคตมีเถรี เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ทรงไว้ซึ่งจีวรอันเศร้าหมอง
นางสิงคาลมาตาเถรี เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายที่น้อมลงแล้วด้วยศรัทธา
ภิกษุณีพุทธบริษัททรงคุณสมบัติดำรงในเอตทัคคสถาน ด้วยประการฉะนี้
ฝ่ายอุบาสกบริษัท
พาณิชทั้ง ๒ คือ ตปุสสะ ๑ ภัลลิกะ ๑ ผู้ได้สรณะเป็นเทฺววาจิกอุบาสก เมื่อเสด็จอยู่ ณ ควงไม้ราชายตนพฤกษ์นั้น เลิศกว่าสาวกอุบาสกผู้ถึงสรณะก่อน
สุทัตตคฤหบดีอนาถบิณฑิกเศรษฐีโสดาบัน เลิศกว่าอุบาสกผู้ทายกทั้งหลาย
จิตตคฤหบดี อนาคามีอริยสาวก อยู่เมืองมัจฉิกาสัณฑนคร เลิศกว่าอุบาสกทั้งหลายผู้เป็นธรรมกถึก
หัตถอาฬวกอนาคามีอริยสาวกเป็นอุบาสกเลิศกว่าอุบาสกทั้งหลาย ผู้สงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔
ท้าวมหานามสักกะผู้พระสกทาคามีอริยสาวก เลิศกว่าอุบาสกทั้งหลายผู้ให้ซึ่งปัจจัยลาภอันประณีต
อุคคคฤหบดีอนาคามีอริยสาวกอยู่ ณ เมืองไพศาลี เลิศกว่ามนาปทายกอุบาสกผู้ให้สิ่งของอันให้เจริญจิต
อุคคตคฤหบดีอนาคามีอริยสาวก อยู่ ณ บ้านหัตถีคาม เลิศกว่าสังฆุปัฏฐากอุบาสก ผู้ปฏิบัติสงฆ์
ปุรพันธเศรษฐีบุตรโสดาบันอริยสาวก เลิศกว่าอุบาสกผู้เลื่อมใสมั่นคง
ชีวกโกมารภัจ เลิศกว่าอุบาสกที่เลื่อมใสในบุคคล
นังกุลบิดาคฤหบดีโสดาบัน เลิศกว่าอุบาสกทั้งหลายผู้มีความคุ้นเคยในพระพุทธเจ้า อุบาสกพุทธบริษัทคฤหัสถ์สาวกมีคุณสมบัติดำรงในเอตทัคคสถาน ด้วยประการฉะนี้
ฝ่ายอุบาสิกาบริษัท
นางสุชาดาเสนิยธิดาโสดาบันอริยสาวิกาได้ถึงสรณะก่อน เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้ถึงสรณะก่อน
นางวิสาขามิคารมาตาโสดาบัน เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายที่เป็นทายิกาบริจาคทาน
นางขุชชุตตราโสดาบันอริยสาวิกา เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้เป็นธรรมกถึก
นางสามาวดีโสดาบันอริยสาวิกา เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้อยู่ด้วยเมตตาวิหาร
นางอุตรานันทมาตาโสดาบันอริยสาวิกา เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้เพ่งด้วยฌานสมาบัติ
นางสุปปวาสาโกลิยธิตาโสดาบันอริยสาวิกา เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้ให้ซึ่งปัจจัยลาภอันประณีต
นางสุปปิยาอุบาสิกาโสดาบันอริยสาวิกา เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้ปฏิบัติภิกษุไข้
นางกาติยานีโสดาบันอริยสาวิกา เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้ได้เลื่อมใสมั่นคง
นางคฤหปตานีนังกุชมาตาโสดาบันอริยสาวิกา เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้มีความคุ้นเคยในพระพุทธเจ้า
นางกาฬีอุบาสิกากุลฆริกาโสดาบันอริยสาวิกา เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้ได้เลื่อมใสแล้วด้วยได้ยินตาม
อุบาสิกาพุทธบริษัทคฤหัสถ์สาวิกา มีคุณสมบัติดำรงอยู่ในเอตทัคคสถาน ด้วยประการฉะนี้
มหาปรินิพพานสูตร กัณฑ์ที่ ๙
พรรษาที่ ๔๕ พรรษาสุดท้าย ทรงจำพรรษา ณ บ้านเวฬุวคาม เขตเมืองไพศาลี ทรงพระประชวรขราพาธแล้ว เกิดทุกขเวทนาใกล้ปรินิพพาน ภายในพรรษานั้น
ได้ตรัสสอนพระอานนทเถระที่มีความวิตกกังวลกับการประชวรของพระองค์ว่า ดูก่อนอานนท์ สมัยใด พระตถาคตเจ้าเข้าอนิมิตตเจโตสมาธิ คือ ไม่ใส่ใจถึงนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่า สมัยนั้น กายของพระตถาคตเจ้า ย่อมมีความผาสุก เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีบุคคลหรือสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ทรงอธิบายว่ามีตนเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ธรรมนั้นได้แก่ เอกายนมรรค คือ สติปัฏฐานทั้ง ๔
ครั้นออกพรรษา ประทับอยู่ที่ปาวาลเจดีย์ ทรงรับอาราธนาพระยามารว่าอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน เรียกว่า ทรงปลงอายุสังขาร พระอรรถถกาจารย์ ถือตามพระบาลีนี้จึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปลงอายุสังขารวันมาฆปุรณมี
ทรงแสดงบริษัท ๘ คือ กษัตริย์ ๑ พราหมณ์ ๑ คฤหบดี ๑ สมณะ ๑ หมู่เทพชั้นจาตุมหาราชิกา ๑ ชั้นดาวดึงส์ ๑ หมู่มาร ๑ หมู่พรหม ๑ ซึ่งพระองค์ทรงเคยเข้าไปสนทนาและแสดงธรรมีกถาสั่งสอน
ทรงแสดงสถานที่ ๑๖ ตำบล ที่ทรงทำนิมิตโอภาสอันหยาบเพื่อให้พระอานนท์ทูลขอให้ทรงอยู่แสดงธรรม เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชน คือ ที่เมืองราชคฤห์ ๑๐ แห่ง เมืองเวสาลี ๖ แห่ง
เมืองราชคฤห์ ๑๐ แห่ง คือ ภูเขาคิชฌกูฏ ๑ โคตมนิโครธ ๑ โจรัปปปาตะ ๑ สัตตบัณณคูหา ๑ กาฬสิลา ๑ สัปปิโสณฑิกา ๑ ตโปทาราม ๑ เวฬุวัน ๑ ชีวกัมพวัน ๑ มัททกุจฉิมิคทายวัน ๑
เมืองเวสาลี ๖ แห่ง คือ อุเทนเจดีย์ ๑ โคตมกเจดีย์ ๑ สัตตัมพเจดีย์ ๑ พหุปุตตเจดีย์ ๑ สารันทเจดีย์ ๑ ปาวาลเจดีย์ ๑
ทรงสั่งสอนพุทธบริษัทด้วยสังเวคกถาและอัปปมาทธรรม
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วทรงสอนว่า คนทั้งหลาย ทั้งที่เป็นคนหนุ่มสาว คนแก่ ทั้งที่เป็นคนโง่ คนฉลาด ทั้งที่เป็นคนมั่งมี และคนยากจน ล้วนแต่มีความตายรอคอยอยู่ข้างหน้า เหมือนภาชนะดินที่นายช่างหม้อกระทำไว้ สุดท้ายก็ต้องแตกทำลาย ท่านทั้งหลาย จงให้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นถึงพร้อมบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด
เวสาลีนาคาวโลก ทรงเหลียวกลับมาทอดพระเนตรเมืองไพศาลี
ครั้งนั้น เวลาเช้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนครไพศาลี ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต ได้ทอดพระเนตรเมืองไพศาลีเป็นนาคาวโลก คือ กลับเยื้องพระกายมาทั้งพระองค์เป็นมหาปุริสอาการอย่างหนึ่ง แล้วตรัสกับพระอานนท์ว่า การดูเมืองไพศาลีครั้งนี้เป็นปัจฉิมทัศนะ (การดูครั้งสุดท้าย) ของตถาคต เราไปบ้านภัณฑุคามกันเถิด
ทรงแสดงอริยธรรม ๔ ประการ
ณ บ้านภัณฑุคามนั้น ทรงแสดงธรรม ๔ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ ว่าเป็นอริยธรรม (ธรรมทำความเป็นอริยะ) ทรงอธิบายว่าเพราะไม่ได้ตรัสรู้ธรรม ๔ ประการนี้ เราและท่านทั้งหลายจึงได้ท่องเที่ยวไปในภพกำเนิด ได้รับความทุกข์อันวิจิตรเป็นอเนกประการ แต่บัดนี้ เราและท่านทั้งหลายตรัสรู้ธรรม ๔ ประการนี้แล้ว จึงทำลายโมหะ และดับตัณหาเสียได้ การเกิดในภพใหม่จึงไม่มี
ทรงแสดงไตรสิกขาว่าเป็นปฏิปทาแห่งวิมุตติ
ทรงแสดงอานิสงส์ (คุณ) แห่งศีลว่า เป็นที่ตั้งอันใหญ่แห่งคุณพิเศษชั้นสูง เหมือนแผ่นดินเป็นที่อาศัยทำงานของมนุษย์ ศีลเมื่อบริบูรณ์ดี ย่อมก่อให้เกิดสมาธิ สมาธิที่เกิดจากศีลอันบริสุทธิ์ย่อมมีอานิสงส์ใหญ่ยิ่ง สมาธิเมื่อมั่นคงดีแล้วย่อมก่อให้เกิดปัญญา ปัญญาที่เกิดมาจากสมาธิอันแน่วแน่และบริสุทธิ์ ย่อมมีอานิสงส์ใหญ่ยิ่ง คือ จะทำให้จิตมีความรู้แจ้งเห็นจริง เมื่อจิตรู้แจ้งเห็นจริงด้วยอำนาจปัญญาแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะ คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ ทั้ง ๓ อย่างไม่มีเชื้อเหลือ (นิรินธนพินาศ)
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่อานันทเจดีย์ เขตโภคนคร ตรัสมหาประเทศ (เครื่องกำหนดรู้ภาษิตของพระองค์) ฝ่ายพระสูตร เรียกว่า สุตตันติกมหาปเทส ๔ ใจความย่อว่า ถ้ามีผู้อื่นมาอ้างพระศาสดา สงฆ์ คณะ หรือบุคคล แล้วแสดงว่านี้เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์ อย่าพึงด่วนรับรองหรือด่วนปฏิเสธ พึงสอบสวนดูกับพระวินัยและพระสูตร ถ้าขัดแย้งกัน พึงทราบว่า นั่นไม่ใช่ธรรม วินัย และสัตถุศาสน์ ถ้าตรงกันทั้งพระวินัยและพระสูตร พึงทราบว่านั่นเป็นธรรม วินัย และสัตถุศาสน์
วันที่นายจุนทะถวายปัจฉิมบิณฑบาต
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่โภคนครนั้นตามสมควรแก่เวลา จึงเสด็จไปถึงปาวานคร ประทับอยู่ที่ป่าไม้มะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร นายจุนทะได้เข้าไปเฝ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนา เชื่อกรรมและวิบากแล้ว จึงทูลอาราธนาพระองค์พร้อมทั้งพระสงฆ์เพื่อรับอาหารบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น พระองค์ทรงรับโดยดุษณียภาพ
วันรุ่งขึ้นที่นายจุนทะได้ถวายภัตตาหารปัจฉิมบิณฑบาตทานนั้น เป็นวันที่พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ซึ่งพระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า วันวิสาขปุรณีดิถีเพ็ญเดือน ๖
เสด็จสู่กุสินารานคร
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเสวยภัตตาหารของนายจุนทะแล้ว ทรงพระประชวรลงพระโลหิตอย่างหนัก แต่ทรงอดกลั้นไว้ด้วยอธิวาสนขันติธรรม ครั้งนั้นได้ตรัส
เรียกพระอานนท์มาสั่งว่า จะเสด็จไปยังเมืองกุสินารา
ในระหว่างทางได้พบกับบุตรแห่งมัลลกษัตริย์คนหนึ่ง ชื่อ ปุกกุสะ เป็นสาวกของอาฬารดาบส กาลามโคตร ทรงแสดงธรรมเทศนาแก่เขา ทำให้เขาเกิดศรัทธาเลื่อมใส ได้ถวายผ้าคู่เนื้อดี เรียกว่า ผ้าสิงคิวรรณ รับสั่งให้ถวายพระอานนท์เถระผืนหนึ่ง แต่พระเถระได้ถวายให้พระองค์ทรงนุ่งผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง ทำให้ผิวพรรณพระกายบริสุทธิ์ผุดผาดผ่องใส จนพระอานนท์กราบทูลสรรเสริญ จึงตรัสแก่พระเถระว่า กายแห่งพระตถาคตย่อมบริสุทธิ์ พรรณแห่งผิวผุดผ่องยิ่งนัก ๒ ครั้ง คือ เวลาราตรีที่จะตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และเวลาราตรีที่จะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ประทมอุฏฐานไสยา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จพุทธดำเนินไปถึงแม่น้ำกกุธานที ได้เสด็จลงสรงและเสวยแล้ว เสด็จไปประทับยังอัมพวัน ตรัสเรียกพระจุนทกเถระให้ปูผ้าสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้นถวาย ทรงสำเร็จสีหไสยาโดยข้างเบื้องขวา ตั้งพระบาทให้เหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะทำพระทัยซึ่งอุฏฐานสัญญา ความตั้งใจจะเสด็จลุกขึ้น โดยมีพระจุนทกเถระนั่งเฝ้าอยู่
ทรงดับความเดือดร้อนใจของนายจุนทะ
ณ สถานที่นั้น ได้ตรัสเรียกพระอานนทเถระมาตรัสว่า บิณฑบาต ๒ อย่าง มีผลเท่ากัน ทั้งมีผลมาก มีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตอื่น ๆ คือ บิณฑบาตที่พระตถาคตบริโภคแล้วตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑ ที่พระตถาคตบริโภคแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑
ทรงเปล่งอุทาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภการบำเพ็ญกุศลของนายจุนทะ ได้เปล่งอุทานว่า บุญกุศลย่อมเจริญแก่ผู้บริจาคทาน ผู้สำรวมในศีล (รักษาศีล) ย่อมไม่ก่อเวร คนฉลาดย่อมละบาปได้ เพราะความสิ้นราคะ โทสะ และโมหะ ย่อมเป็นผู้มีความเย็นใจ
มหาปรินิพพานสูตร กัณฑ์ที่ ๙
ภาคหลัง
เสด็จถึงเมืองกุสินารา ประทมอนุฏฐานไสยา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จพุทธดำเนินข้ามแม่น้ำหิรัญญวดี ถึงเมืองกุสินารา ประทับ ณ สาลวัน ตรัสสั่งให้พระอานนท์เถระตั้งเตียงระหว่างไม้รังทั้งคู่ ผินศีรษะไปทางทิศอุดร ทรงสำเร็จสีหไสยาโดยข้างเบื้องขวา วางพระบาทเหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ แต่มิได้มีอุฏฐานสัญญามนสิการ เพราะเป็นไสยาอวสาน เรียกว่า อนุฏฐานไสยา
ทรงยกย่องปฏิบัติบูชา
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงปรารภการสักการบูชาของเทวดาทั้งหลาย ได้ตรัสแก่พระอานนทเถระว่า พระตถาคตไม่เป็นอันบริษัทบูชาด้วยสักการะพิเศษเพียงเท่านี้ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมบทหน้า หมายถึง วิธีการ ธรรมบทหลัง หมายถึง เป้าหมาย ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติตามธรรม (โลกุตตรธรรม) จึงชื่อว่าบูชาพระตถาคตด้วยการบูชาอย่างยิ่ง
ทรงแสดงสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล
พระโลกนาถทรงแสดงสถานที่ ๔ ตำบล แก่พระอานนทเถระว่า เป็นที่ควรจะดู ควรจะเห็น ควรให้เกิดสังเวชแห่งกุลบุตรผู้มีศรัทธา คือ สถานที่ประสูติจากพระครรภ์ ๑ สถานที่ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑ สถานที่แสดงพระอนุตรธรรมจักร (ปฐมเทศนา) ๑ สถานที่ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑
การบูชาพระพุทธสรีระเป็นกิจของคฤหัสถ์
พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พระอานนทเถระว่า ดูก่อนอานนท์ สหธรรมิกบริษัท จงอย่าขวนขวายเพื่อจะบูชาสรีระแห่งพระตถาคตเลย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรมุ่งต่อที่สุดแห่งพรหมจรรย์อยู่ทุกอิริยาบถเถิด กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี ทั้งหลาย ผู้เป็นบัณฑิต เลื่อมใสในพระตถาคตมีอยู่ เขาเหล่านั้น จักทำสักการบูชาสรีระแห่งพระตถาคตเอง
วิธีปฏิบัติในพระพุทธสรีระ
พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนทเถระ ผู้ทูลถามถึงวิธีปฏิบัติในพระพุทธสรีระว่า ชนทั้งหลายพันซึ่งสรีระของจักรพรรดิราชด้วยผ้าใหม่ แล้วซับด้วยสำลี แล้วห่อด้วยผ้าใหม่โดยอุบายนี้ห้าร้อยชั้น แล้วเชิญพระสรีระลงประดิษฐาน ณ รางเหล็กอันเต็มไปด้วยน้ำมัน ปิดครอบด้วยรางเหล็กอันเป็นฝา ทำจิตกาธาร ล้วนแต่ด้วยไม้หอม ทำฌาปนกิจแล้ว เชิญพระอัฏฐิธาตุบรรจุทำสถูปไว้ ณ ที่ประชุมแห่งถนนใหญ่ทั้ง ๔ ฉันใด พึงปฏิบัติในพระตถาคตเจ้าฉันนั้นเถิด
ถูปารหบุคคล ๔
ครั้นทรงแสดงอัจฉริยบุรุษรัตน์ ๒ ประเภทดังนี้แล้ว จึงได้ทรงแสดงถูปารหบุคคลผู้ควรแก่การประดิษฐานสถูป ๔ ประเภท คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ๑ พระตถาคตสาวกอรหันต์ ๑ พระเจ้าจักรพรรดิราช ๑
ทรงแสดงข้ออัศจรรย์ ๔ ประการ ในพระอานนท์
พระพุทธองค์ทรงแสดงข้ออัศจรรย์ ๔ ประการในพระอานนท์เถระว่า เมื่อภิกษุบริษัท ภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท หรืออุบาสิกาบริษัท เข้าไปหาเพื่อจะพบพระอานนท์ บริษัทนั้นได้เห็นเธอแล้วก็มีจิตยินดี ถ้าอานนท์แสดงธรรม บริษัทนั้นก็มีจิตชื่นชมด้วยภาษิตของอานนท์ ไม่อิ่ม ไม่เบื่อธรรมกถาคตที่อานนท์แสดงนั้นเลย ครั้นอานนท์นิ่งหยุดธรรมกถา บริษัท ๔ ซึ่งได้สดับนั้น ก็มีจิตยินดี ไม่อิ่ม ไม่เบื่อ
ตรัสให้แจ้งข่าวปรินิพพานแก่พวกมัลลกษัตริย์
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสั่งพระอานนท์ให้เข้าไปบอกพวกมัลลกษัตริย์ให้ทราบว่า พระตถาคตจักปรินิพพาน ณ ยามสุดท้ายแห่งราตรีวันนี้ เพื่อให้มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย จะได้ไม่ต้องเดือดร้อนในภายหลังว่า พระตถาคตเจ้าได้ปรินิพพานในคามเขตของเรา
โปรดสุภัททปริพาชก
ครั้งนั้น ปริพาชกคนหนึ่งชื่อว่า สุภัททะ อาศัยอยู่ในเมืองกุสินารา มีความเชื่อเรื่องที่อาจารย์เก่า ๆ เล่ากันต่อ ๆ มาว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมเกิดขึ้นในโลกเป็นบางครั้งบางคราว และพระองค์ก็จะปรินิพพานในราตรีนี้ ตนเองยังมีความสงสัยในเรื่องครูทั้ง ๖ มีปุรณกัสสป เป็นต้น ซึ่งคนทั้งหลายสมมติกันว่าเป็นคนดี ประเสริฐ ครูทั้ง ๖ นั้นได้ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งของตนจริงหรือไม่ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลถามปัญหานั้น
พระพุทธองค์ตรัสว่า ดูก่อนสุภัททะ การที่ครูทั้ง ๖ จะได้ตรัสรู้หรือไม่ได้ตรัสรู้นั้น อย่าสนใจเลย ตถาคตจะแสดงธรรมแก่เธอ ดูก่อนสุภัททะ อริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่มีในธรรมวินัยใด สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ย่อมไม่มีในธรรมวินัยนั้น อริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นมีอยู่ในธรรมวินัย (องเรา) นี้เท่านั้น ทั้งที่เป็นปฏิปทา (เอปฏิบัติ) และอภิสมัย (การตรัสรู้) ดังนั้น สมณะที่ ๑ (พระโสดาบัน) สมณะที่ ๒ (พระสกิทาคามี) สมณะที่ ๓ (พระอนาคามี) สมณะที่ ๔ (พระอรหันต์) ย่อมมีจริงในธรรมวินัยนี้เท่านั้น
ปัจฉิมสักขิสาวก
เมื่อพระศาสดาตรัสพระธรรมเทศนานี้แล้ว สุภัททะได้ทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา แต่ในฐานะที่เคยเป็นเดียรถีย์อยู่ก่อน จึงต้องอยู่ติตถิยปริวาส ๔ เดือน สุภัททะทูลว่าแม้จะต้องอยู่ถึง ๔ ปี ก็ยินดี เมื่อทรงทราบความจริงใจเช่นนี้ จึงตรัสแก่พระอานนทเถระว่า ถ้าเช่นนั้นท่านทั้งหลายจงบวชให้สุภัททะเถิด พระสุภัททะจึงได้ชื่อว่า ปัจฉิมสักขิสาวก คือ เป็นสาวกรูปสุดท้ายที่ได้บวชในสำนักของพระศาสดา ต่อมาไม่นานท่านก็ได้บรรลุอรหัตผล
ทรงตั้งพระธรรมวินัยเป็นศาสดา
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์เถระว่า ดูก่อนอานนท์ ต่อไปภายหน้าท่านทั้งหลายพึงมีความวิตกว่า ศาสนาไม่มีพระศาสดา ข้อนั้นมิชอบมิควรเลย ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี อันใดที่เราได้แสดงแล้ว ได้บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นเป็นศาสดาแห่งท่านทั้งหลายโดยกาลล่วงไปแห่งเรา
ประทานปัจฉิมโอวาท
ลำดับนั้น พระพุทธองค์ได้ประทานปัจฉิมโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราตถาคตขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงให้กิจทั้งปวงถึงพร้อมบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด นี้เป็นวาจาที่สุดแห่งพระตถาคตเจ้า
พระวาจานี้แสดงให้เห็นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้รวบรวมโอวาททั้งปวงที่ได้ประทานแล้วเป็นเวลา ๔๕ พรรษา ลงในความไม่ประมาทอย่างเดียวเท่านั้น
ปรินิพพาน
หลังจากทรงประทานปัจฉิมโอวาทแล้ว พระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสอะไรอีกเลย ทรงเข้าอนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญเวทยิตนิโรธ ดับจิตตสังขาร คือ สัญญา และเวทนา ทรงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว ทรงเข้าสมาบัติ ๘ ถอยหลังกลับมาจากเนวสัญญานาสัญญายตนะถึงปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน จนถึงจตุตถฌาน ครั้นออกจากจตุตถฌานแล้ว จึงดับขันธปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันวิสาขปุรณมี
ผู้กล่าวคาถาแสดงธรรมสังเวช
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น มีผู้กล่าวคาถาแสดงธรรมเวช ความสลดใจกับเหตุการณ์ ๔ ท่าน คือ
๑. ท้าวสหับมบดีพรหม กล่าวว่า พระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาหาบุคคลเปรียบไม่ได้ในโลก ทรงมีพลังแห่งญาณ มาดับขันธปรินิพพานในโลกใด สัตว์โลกทุกรูปทุกนามจักต้องทอดทิ้งร่างกายของตน (ถมทับ) ไว้ในโลกนั้น (แน่นอน)
๒. ท้าวโกสีย์เทวราช กล่าวว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเกิดและความดับเป็นธรรมดา (ปกติ) เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป ความที่สังขาร (เบญจขันธ์) เหล่านั้น ระงับไป (ไม่เกิด) นำมาซึ่งความสุข (ไม่ต้อง แก่ เจ็บ ตาย)
๓. พระอนุรุทธเถระ กล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระทัยมั่นคง ทรงสิ้นลมปราณแล้ว พระมุนีมิได้หวั่นไหวต่อโลกธรรม มุ่งแต่สันติอย่างเดียว ไม่ทรงระย่อต่อมรณะใด ๆ ทรงอยู่เหนือเวทนาทุกอย่าง การปรินิพพานและความหลุดพ้นแห่งใจของพระองค์ เปรียบเหมือนประทีปอันไพโรจน์ชัชวาลเต็มที่แล้วดับไป
๔. พระอานนท์เถระ กล่าวว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เพียบพร้อมไปด้วยความดี เสด็จดับขันธปรินิพพาน เวลานั้นความน่าสะพรึงกลัว ความสยดสยอง ได้เกิดมีแล้วแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย (ว่าความตายไม่ละเว้นใครเลย)
ธาตุวิภัชชนกถา กัณฑ์ที่ ๑๐
ปรินิพพานได้ ๘ วัน ถวายพระเพลิง
พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๘ วัน จึงได้ทำการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ตามนัยนี้ คือ วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ที่ทำเช่นนี้ เพราะรอพระมหากัสสปเถระ ผู้เป็นสาวกผู้ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น
ส่วนที่ไม่ถูกเพลิงไหม้
ครั้นพระมหากัสสปเถระพร้อมกับภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป เดินทางมาถึง จึงได้ทำการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระฉวีหนังผิวภายนอก พระจัมมะหนังภายใน พระนหารุ เส้นเอ็น พระลสิกา ไขข้อ พระมังสะ เนื้อทั้งหมดถูกเพลิงไหม้ไม่เหลือแม้แต่เถ้าและเขม่า
ส่วนพระอัฐิ พระเกสา พระโลมา พระนขา พระทนต์ กับผ้า ๒ ผืน ยังเหลืออยู่ เพลิงมิได้ไหม้
กษัตริย์และพราหมณ์ส่งทูตมาขอพระธาตุ
ครั้งนั้น กษัตริย์และพราหมณ์ ๗ หัวเมืองได้ส่งทูตมาขอพระสารีริกธาตุ คือ
๑. พระเจ้าอชาตศัตรู แห่งแคว้นมคธ
๒. กษัตริย์ลิจฉวี แห่งพระนครไพศาลี
๓. กษัตริย์ศากยะ แห่งกบิลพัสดุ์นคร
๔. ถูลีกษัตริย์ ในอัลลกัปปนคร
๕. โกลิยกษัตริย์ ในรามคาม
๖. มหาพราหมณ์ เจ้าเมืองเวฏฐทีปกนคร
๗. มัลลกษัตริย์ แห่งปาวานคร
แต่มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารานครไม่ยอมแบ่งให้ และทูตานุทูตจากพระนครทั้ง ๗ นั้นก็ไม่ยอมท้อถอย จวนจะเกิดวิวาทเป็นสงครามสัมประหารใหญ่
โทณพราหมณ์แจกพระบรมสารีริกธาตุ
ครั้งนั้น มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ โทณะ เป็นผู้ใหญ่ มีความรู้ทั้งคดีโลก คดีธรรม เป็นที่เชื่อถือของประชุมชน เห็นว่าจะเกิดสงครามเพราะพระสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นการไม่สมควร จึงได้มาเจรจาให้มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารายินยอม โดยกล่าวในท่ามกลางกษัตริย์และพราหมณ์เหล่านั้นว่า องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นขันติวาทะกล่าวสรรเสริญความอดทนอดกลั้น การปรารภส่วนพระสรีระของพระองค์ แล้วประหัดประหารกันด้วยอาวุธ เป็นการไม่ดีเลย ขอให้เราทั้งปวงสามัคคีปรองดอง ยิ้มแย้มแจ่มใสเข้าหากัน แบ่งพระสารีริกธาตุเป็น ๘ ส่วน ให้เท่ากันทุกพระนครเถิด
โทณพราหมณ์ได้กล่าวถ้อยคำแสดงขันติวาทะและสามัคคีธรรมจบลงแล้ว กษัตริย์และพราหมณ์ทั้งหลายได้สามัคคีพร้อมเพรียงกันแบ่งพระธาตุเป็น ๘ ส่วน แล้วนำกลับไปสร้างสถูปบรรจุไว้เป็นที่เคารพสักการะยังพระนครของตน
โทณพราหมณ์ขอทะนานตวงพระธาตุ
เมื่อกษัตริย์และพราหมณ์ทั้งหลายยินยอมแบ่งพระธาตุนั้น โทณพราหมณ์ได้ถือเอาตุมพะ คือ ทะนานทอง ตวงพระธาตุแจกให้ เสร็จแล้วได้ขอตุมมะนั้นไปสร้างสถูปบรรจุไว้ให้ประชาชนสักการะบูชา
โมริยกษัตริย์เชิญพระอังคารไปบรรจุ
ครั้งนั้น โมริยกษัตริย์เมืองปิปผลิวัน ได้ส่งทูตมาขอแบ่งพระสารีริกธาตุ แต่มาไม่ทัน มัลลกษัตริย์จึงให้เชิญพระอังคาร (เถ้าถ่าน) ไปทำสถูปบรรจุไว้สักการะบูชา
ประเภทแห่งสัมมาสัมพุทธเจดีย์
กษัตริย์และพราหมณ์ ๗ หัวเมือง ดังกล่าวมา และมัลลกษัตริย์แห่งกุสินารานคร ต่างสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระสารีริกธาตุส่วนที่ตนได้ไปไว้ในเมืองของตน ๆ จึงรวมเป็นพระธาตุเจดีย์ ๘ แห่ง
โทณพราหมณ์สร้างสถูปบรรจุทะนานตวงพระธาตุ เรียก ตุมพสถูป
โมริยกษัตริย์แห่งปิปผลิวัน นำเอาพระอังคารไปสร้างสถูปบรรจุไว้ เรียกว่า อังคารสถูป
รวมทั้งหมดจึงมีพระสถูปเจดียสถานหลังประถมกาลแห่งปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๑๐ ตำบลด้วยกัน ด้วยประการฉะนี้
สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล เป็นพุทธเจดีย์ด้วย
อนึ่ง สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล คือ สถานที่พระตถาคตประสูติ ๑ สถานที่ตรัสรู้ ๑ สถานที่แสดงพระธรรมจักร ๑ สถานที่ปรินิพพาน ๑ ทรงแสดงแก่พระอานนทเถระว่า เป็นสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรจะดู ควรจะเห็น ควรจะให้เกิดความสังเวช ฉะนั้น จึงจัดเป็นเจดีย์ด้วย
พระพุทธรูปเป็นอุทเทสิกเจดีย์
ต่อมาพุทธศาสนิกบัณฑิต ได้คิดสร้างพระพุทธรูปปฏิมา เป็นเครื่องระลึกถึงองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ให้เกิดพุทธารมณ์ปีติใจ พระพุทธรูปปฏิมานี้ เรียกว่า อุทเทสิกเจดีย์
ธรรมเจดีย์
อนึ่ง วิญญูชนบางพวก ไม่สามารถจะสร้างพระพุทธรูปปฏิมาได้ หรือสร้างได้แต่ไม่นิยม จึงได้สร้างพระสถูปขึ้นแล้ว นำเอาใบลานที่จดจารึกพุทธวจนปริยัติธรรม มีปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น บรรจุไว้ภายใน เพื่อกราบไหว้บูชา สถูปนี้เรียกว่า ธรรมเจดีย์
เจดีย์ ๒ ประเภท
เจดีย์ครั้งประถมกาลแห่งปรินิพพานของพระบรมศาสดามี ๒ ประเภท คือ ธาตุเจดีย์ ๑ บริโภคเจดีย์ ๑
๑. ธาตุเจดีย์ ได้แก่ เจดีย์บรรจุพระธาตุ ๘ แห่ง
๒. บริโภคเจดีย์ ได้แก่ เจดีย์บรรจุตุมพะ คือ ทะนานตวงพระธาตุ และเจดีย์บรรจุพระอังคารของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เจดีย์ทั้งหมดมี ๔ ประเภท
เพราะฉะนั้น เมื่อรวมเจดีย์ซึ่งแสดงไว้ในพระบาลี คัมภีร์อรรถกถาและฎีกากล่าวรวมเป็นอันเดียวกัน ก็ได้เจดีย์เป็น ๔ ประเภท คือ ธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ ธรรมเจดีย์ และอุทเทสิกเจดีย์
ความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัย
เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนทเถระในวันจะปรินิพพานว่า เมื่อเราผู้ตถาคตปรินิพพานล่วงไปแล้ว ธรรมและวินัยจักเป็นศาสดาแห่งเธอทั้งหลาย ในวันที่โทณพราหมณ์แจกพระสารีริกธาตุ ภิกษุเป็นอันมากมาสันนิบาตประชุมกัน ท่านมหากัสสปะซึ่งเป็นเถระในสงฆ์ จึงได้นำการติเตียนพระธรรมวินัยอันสุภัททวุฑฒบรรพชิตเจรจากับภิกษุทั้งหลาย มาบอกกล่าวแก่พระสงฆ์ แล้วชักชวนให้ทำสังคายนาพระธรรมวินัย เพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา
พระเถระคัดเลือกพระอริยสงฆ์องค์อรหันต์ได้ ๕๐๐ รูป แล้วได้พรักพร้อมกัน ณ เมืองราชคฤห์ ทำสังคายนาครั้งแรกเมื่อพระศาสดาปรินิพพานได้ ๓ เดือน (กลางเดือน ๙) ใช้เวลา ๗ เดือนจึงแล้วเสร็จปฐมสังคายนา
สังคายนาครั้งที่ ๒
เมื่อพระศาสดาปรินิพพานได้ ๑๐๐ ปี เหล่าภิกษุวัชชีบุตร ชาวเมืองไพศาลี ละเมิดพระธรรมวินัย ได้ทั้งสหธรรมิกและคฤหัสถ์จำนวนมากเป็นฝักฝ่าย พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป มีพระยสกากัณฑบุตรเถระเป็นประธาน ได้พรักพร้อมกัน ณ วาลิการาม เมืองไพศาลี ชำระเสี้ยนหนามพระธรรมวินัยให้สูญไปโดยอาณาสงฆ์ ประดิษฐานธรรมวงศ์บริสุทธิ์สืบมาในมัธยมชนบทสิ้นกาลนาน
สังคายนาครั้งที่ ๓
ครั้นพระพุทธศาสนาผ่านมาได้ ๒๑๘ ปี สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชครองราชสมบัติ ณ ปาตลีบุตรนคร เกิดเสี้ยนหนามแก่พระธรรมวินัยอีก เพราะเหล่าเดียรถีย์ปลอมเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ ได้พึงราโชปถัมภ์ในพระเจ้าอโศกมหาราช กำจัดเดียรถีย์เหล่านั้นออกจากสังฆมณฑลได้แล้ว พรักพร้อมกับภิกษุสงฆ์องค์อรหันต์ผู้ทรงธรรมวินัยชำระวาทะซึ่งเป็นมลทินแห่งพระพุทธศาสนาเรียบร้อยแล้ว ประดิษฐานธรรมวงศ์ให้ดำรงสืบมา
ตั้งแต่พระศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานมาเป็นเวลาประมาณ ๔๕๐ ปี พุทธบริษัทได้ทรงจำพระธรรมวินัยมาโดยมุขปาฐะ คือ การท่องจำ ไม่ได้จดบันทึกด้วยตัวอักษร
ครั้นเวลาผ่านมา ท่านกำหนดว่าประมาณ ๔๕๐ ปี แต่พุทธปรินิพพาน พุทธบริษัทชาวสิงหล ซึ่งรับพระพุทธศาสนาจากพระมหินทเถระ แต่ปี ๒๓๖ หลังพุทธปรินิพพาน ประชุมกันในอาโลกเลณสถาน ในมลัยชนบท ลังกาทวีป ได้เขียนพระปริยัติธรรมเป็นอักษรจารึกลงไว้ในใบลาน คล้ายกับการสังคายนาครั้งที่ ๔
สังคายนาครั้งที่ ๔
พระธรรมวินัย คือ คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แพร่หลายมาจนถึงเราทั้งหลาย โดยวิธีการดังได้พรรณนามาฉะนี้แล ฯ
ประวัติพระเถระ ๑๖ รูป
ผู้เคยเป็นศิษย์พราหมณ์พาวรี
มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อพาวรี ซึ่งออกไปบวชประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและอาฬกะ เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ ได้ทราบว่าพระโอรสของศากยราช เสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนประชุมชน มีคนเชื่อและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกปฏิบัติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก
พาวรีคิดหลากใจใคร่จะสืบสวนให้ได้ความแน่ จึงเรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คนมีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวด ๆ ให้ไปทูลถามลองดู มาณพทั้ง ๑๖ คนลาอาจารย์แล้ว พามาณพที่เป็นบริวารไปเฝ้าพระศาสดาที่ปาสาณเจดีย์แว่นแคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหาคนละหมวด ๆ ครั้นพระศาสดาทรงอนุญาตแล้ว อชิตมาณพทูลถามปัญหาเป็นคนแรก ๔ ข้อ ดังนี้ว่า โลกคือหมู่สัตว์ อันอะไรปิดบังไว้ จึงหลงดุจอยู่ในที่มืด, เพราะอะไรเป็นเหตุ จึงไม่มีปัญญาเห็นปรากฏ, พระองค์ตรัสว่า อะไรเป็นเครื่องฉาบไล้สัตว์โลกนั้นให้ติดอยู่, และตรัสว่าอะไรเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า โลกคือหมู่สัตว์ อันอวิชชาคือความไม่รู้แจ้ง ปิดบังไว้แล้ว จึงหลงดุจอยู่ในที่มืด, เพราะความอยากมีประการต่าง ๆ และความประมาทเลินเล่อ จึงไม่มีปัญญาเห็นปรากฏ, เรากล่าวว่าความอยากเป็นเครื่องฉาบไล้สัตว์โลกให้ติดอยู่, และเรากล่าวว่าทุกข์เป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น
อ. พระองค์จงตรัสบอกว่า อะไรเป็นเครื่องห้าม เป็นเครื่องกันความอยาก ซึ่งเป็นดุจกระแสน้ำ หลั่งไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง ความอยากนั้น จะละได้เพราะ ธรรมอะไร
พ. เรากล่าวว่า สติเป็นเครื่องห้ามเป็นเครื่องกั้นความอยากนั้น และความอยากนั้น จะละได้เพราะปัญญา
อ. ปัญญา สติ กับนามรูปนั้น จะดับไป ณ ที่ไหน ข้าพเจ้าทูลถามแล้ว ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนี้แก่ข้าพเจ้า
พ. เราจะแก้ปัญหาที่ท่านถามถึงที่ดับนามรูปสิ้นเชิง ไม่มีเหลือแก่ท่าน เพราะวิญญาณดับไปก่อน นามรูปจึงดับไป ณ ที่นั้นเอง
อ. ชนผู้มีธรรมได้พิจารณาเห็นแล้ว และชนผู้ยังต้องศึกษาอยู่สองพวกนี้ มีอยู่ในโลกเป็นอันมาก ข้าพเจ้าขอทูลถามถึงความประพฤติ ของชนสองพวกนั้น พระองค์มีพระปัญญาแก่กล้า ขอจงตรัสบอกแก่ข้าพเจ้า
พ. ภิกษุผู้มีธรรมได้พิจารณาเห็นแล้ว และชนผู้ยังต้องศึกษาอยู่ ต้องเป็นผู้ไม่กำหนัดในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง มีสติอยู่ในทุกอิริยาบถ
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหาที่อชิตมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว โมฆราชมาณพปรารภจะทูลถามปัญหา ได้ยินว่า โมฆราชมาณพนั้นถือตัวว่าเป็นคนมีปัญญากว่ามาณพทั้ง ๑๕ คน คิดจะทูลถามก่อนแต่เห็นว่า อชิตมาณพเป็นผู้ใหญ่กว่า จึงยอมให้ทูลถามก่อน ครั้นอชิตมาณพถามแล้ว จึงปรารภจะทูลถามเป็นที่ ๒ พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นอาการอย่างนั้นแล้วตรัสห้ามว่า โมฆราชท่านยอมให้มาณพอื่นถามก่อนเถิด โมฆราชมาณพก็หยุดนิ่งอยู่
ดับนั้น ติสสเมตเตยยมาณพ ทูลถามปัญหาเป็นที่ ๒ ว่า ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ คือ เต็มความประสงค์ในโลกนี้ ความอยากซึ่งเป็นเหตุทะเยอทะยานดิ้นรนของใครไม่มี ใครรู้ส่วนข้างปลายทั้งสอง (คืออดีตกับอนาคต)
ด้วยปัญญาแล้ว ไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง ( คือปัจจุบัน ) พระองค์ตรัสว่า ใครเป็นมหาบุรุษ ใครล่วงความอยากอันผูกใจสัตว์ไว้ในโลกนี้ ดุจด้ายเป็นเครื่องเย็บผ้าให้ติดกันไปได้.
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า ภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์ สำรวมในกามทั้งหลาย ปราศจากความอยากแล้ว มีสติระลึกได้ทุกเมื่อ พิจารณาเห็นโดยชอบแล้ว ดับเครื่องร้อนกระวนกระวายเสียได้แล้ว ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ คือ เต็มความประสงค์ในโลกนี้ ความอยากซึ่งเป็นเหตุทะเยอทะยานดิ้นรนของภิกษุนั่นแลไม่มี ภิกษุนั้นแลรู้ส่วนข้างปลายทั้งสองด้วยปัญญาแล้ว ไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง เรากล่าวว่าภิกษุนั้นแลเป็นมหาบุรุษ ภิกษุนั้นแลล่วงความอยากอันผูกใจสัตว์ไว้ในโลกนี้ ดุจด้ายเป็นเครื่องเย็บผ้าให้ติดกันไปได้
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหาที่ติสสเมตเตยยมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว ปุณณกมาณพ ทูลถามปัญหาเป็นที่ ๓ ว่า บัดนี้มีปัญหามาถึงพระองค์ผู้หาความหวาดหวั่นมิได้ รู้เหตุที่เป็นรากเหง้าของสิ่งทั้งปวง ข้าพเจ้าขอทูลถาม หมู่มนุษย์ในโลกนี้ คือ ฤาษี กษัตริย์ พราหมณ์เป็นอันมาก อาศัยอะไรจึงบูชายัญบวงสรวงเทวดา ขอพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพเจ้า
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า หมู่มนุษย์เหล่านั้น อยากได้ของที่ตนปรารถนา อาศัยของที่ชราทรุดโทรม จึงบูชายัญบวงสรวงเทวดา
ป. หมู่มนุษย์เหล่านั้น ถ้าไม่ประมาทในยัญของตน จะข้ามพ้นชาติชราได้บ้างหรือไม่.
พ. หมู่มนุษย์เหล่านั้น มุ่งลาภที่ตนหวัง จึงพูดสรรเสริญการบูชายัญ รำพันสิ่งที่ตัวใคร่ดังนั้น ก็เพราะอาศัยลาภ เรากล่าวว่าผู้บูชายัญเหล่านั้น ยังเป็นคนกำหนัดยินดีในภพ ไม่ข้ามพ้นชาติชราไปได้
ป. ถ้าผู้บูชายัญเหล่านั้น ข้ามพ้นชาติชรา เพราะยัญของตนไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในเทวโลกหรือในมนุษยโลก ข้ามพ้นชาติชรานั้นได้แล้ว
พ. ความอยากซึ่งเป็นเหตุทะเยอทะยานดิ้นรน ในโลกไหน ๆ ของผู้ใดไม่มี เพราะได้พิจารณาเห็นธรรมที่ยิ่งและหย่อนในโลก เรากล่าวว่าผู้นั้นซึ่งสงบระงับได้ไม่มีทุจริตความประพฤติชั่ว อันจะทำให้มัวหมองดุจควันไฟอันจับเป็นเขม่า ไม่มีกิเลสอันจะกระทบจิต หาความอยากทะเยอทะยานมิได้ ข้ามพ้นชาติชราไปได้แล้ว
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา ที่ปุณณกมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว เมตตคูมาณพทูลถามปัญหาเป็นที่ ๔ ว่า ข้าพเจ้าขอทูลถาม ขอพระองค์จงตรัสบอกข้อความที่จะทูลถามนั้นแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าทราบว่า พระองค์ถึงที่สุดจบไตรเพท มีจิตอันได้อบรมดีแล้ว ทุกข์ในโลกหลายประการ ไม่ใช่แต่อย่างเดียวนี้ มีมาแล้วแต่อะไร
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า ท่านถามเราถึงเหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ เราจักบอกแก่ท่านตามรู้เห็น ทุกข์ในโลกนี้มีอุปธิคือกรรมและกิเลสเป็นเหตุ ล้วนเกิดมาก่อนแต่อุปธิ ผู้ใดเป็นคนเขลาไม่รู้แล้ว กระทำอุปธินั้นให้เกิดขึ้น ผู้นั้นย่อมถึงทุกข์เนือง ๆ เหตุนั้นเมื่อรู้เห็นว่าอุปธิเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ อย่ากระทำให้เกิดมี
ม. ข้าพเจ้าทูลถามข้อใด ก็ทรงแก้ข้อนั้น ประทานแก่ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าขอทูลถามข้ออื่นอีก ขอเชิญพระองค์ทรงแก้ อย่างไรผู้มีปัญญาจึงข้ามพ้นห้วงทะเลใหญ่ คือชาติชราและโศกพิไรรำพันเสียได้ ขอพระองค์จงทรงแก้ข้อนั้นประทานแก่ข้าพเจ้า เพราะว่าธรรมนั้น พระองค์คงทรงทราบแล้ว
พ. เราจักแสดงธรรมที่จะพึงเห็นแจ้งด้วยตนเอง ในอัตภาพนี้ ไม่ต้องพิศวงตามคำของผู้อื่น คืออย่างนี้ ๆ ที่บุคคลได้ทราบแล้วจะเป็นผู้มีสติ ดำเนินข้ามความอยากอันให้ติดอยู่ในโลกเสียได้แก่ท่าน
ม. ข้าพเจ้ายินดีธรรม ที่สูงสุดนั้นเป็นอย่างยิ่ง
พ. ท่านรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง ในส่วนเบื้องบน (คืออนาคต) ในส่วนเบื้องต่ำ (คืออดีต) ในส่วนท่ามกลาง (คือปัจจุบัน) จงบรรเทาความเพลิดเพลินความยึดมั่น ในส่วนเหล่านั้นเสีย วิญญาณของท่านจะไม่ตั้งอยู่ในภพ ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติไม่เลินเล่อ ได้ทราบแล้ว ละความถือมั่นว่าของเราเสียได้แล้ว จะละทุกข์คือชาติชราและโศกพิไรรำพันในโลกนี้ได้
ม. ข้าพเจ้าชอบใจพระวาจาของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ธรรมอันไม่มีอุปธิ พระองค์ทรงแสดงชอบแล้ว พระองค์คงละทุกข์ได้แน่แล้ว เพราะว่าพระองค์ได้ทรงทราบธรรมนี้แล้ว แม้ท่านผู้รู้ที่พระองค์ทรงสั่งสอนอยู่เป็นนิตย์ ไม่หยุดหย่อน คงละทุกข์นั้นได้ด้วยเป็นแน่เหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงได้มาถวายบังคมพระองค์ ด้วยตั้งใจจะให้ทรงสั่งสอนข้าพเจ้าเป็นนิตย์ ไม่หยุดหย่อนเหมือนอย่างนั้นบ้าง
พ. ท่านรู้ว่าผู้ใดเป็นพราหมณ์ถึงที่สุดจบไตรเพท ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ติดข้องอยู่ในกามภพ ผู้นั้นแลข้ามล่วงเหตุแห่งทุกข์ ดุจห้วงทะเลอันใหญ่นี้ได้แน่แล้ว ครั้นข้ามถึงฝั่งแล้วเป็นคนไม่มีกิเลสอันตรึงจิต สิ้นความสงสัย ผู้นั้นครั้นรู้แล้วถึงที่สุดจบไตรเพทในศาสนานี้ ละธรรมที่เป็นเหตุติดข้องอยู่ในภพน้อยภพใหญ่เสียได้แล้ว เป็นคนมีความอยากสิ้นแล้ว ไม่มีกิเลสอันจะกระทบจิต หาความอยากทะเยอทะยานมิได้ เรากล่าวว่าผู้นั้นแลข้ามพ้นชาติชราได้แล้ว
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา ที่เมตตคูมาณพทูลถามฉะนี้แล้ว โธตกมาณพทูลถามปัญหาเป็นคำรบ ๕ ว่า ข้าพเจ้าทูลถามพระองค์ ขอจงตรัส
บอกแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าอยากจะฟังพระวาจาของพระองค์ ข้าพเจ้าได้ฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว จะศึกษาข้อปฏิบัติซึ่งเป็นเครื่องดับกิเลสของตน
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเป็นคนมีปัญญา มีสติ
ทำความเพียรในศาสนานี้เถิด
ธ. ข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์ หากังวลมิได้ เที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก เหตุนั้นข้าพเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ ขอพระองค์ทรงเปลื้องข้าพเจ้าเสียจากความสงสัยเถิด
พ. เราเปลื้องใคร ๆ ในโลก ผู้ยังมีความสงสัยอยู่ไม่ได้ เมื่อท่านรู้ธรรมอันประเสริฐ ก็จะข้ามห้วงทะเลใหญ่ คือ กิเลสอันนี้เสียได้เอง
ธ. ขอพระองค์จงทรงพระกรุณา แสดงธรรมอันสงัดจากกิเลสที่ข้าพเจ้าควรจะรู้ สั่งสอนข้าพเจ้าให้เป็นคนโปร่งไม่ขัดข้องดุจอากาศ สงบระงับกิเลสเสียได้ ไม่อาศัยสิ่งหนึ่งสิ่งใดเที่ยวอยู่ในโลกนี้
พ. เราจะบอกอุบายเครื่องสงบระงับกิเลส ซึ่งจะเห็นเองไม่ต้องเชื่อตามตื่นข่าว ที่บุคคลได้ทราบแล้ว จะมีสติข้ามความอยากที่ตรึงใจไว้ในโลกเสียได้แก่ท่าน
ธ. ข้าพเจ้าชอบใจอุบายเครื่องสงบระงับกิเลสอันสูงสุดนั้นเป็นอย่างยิ่ง
พ. ถ้าท่านรู้ว่าความทะยานอยากทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ ท่ามกลางเป็นเหตุให้ติดข้องอยู่ในโลก ท่านอย่าทำความทะยานอยาก เพื่อจะเกิดในภพน้อยใหญ่
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา ที่โธตกมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว อุปสีวมาณพทูลถามปัญหาคำรบ ๖ ว่า ลำพังข้าพเจ้าผู้เดียวไม่ได้อาศัยอะไรแล้ว ไม่อาจข้ามห้วงทะเลใหญ่ คือกิเลสได้ ขอพระองค์ตรัสบอกอารมณ์ที่หน่วงเหนี่ยว
ซึ่งข้าพเจ้าจะควรอาศัยข้ามห้วงนี้แก่ข้าพเจ้าเถิด
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า ท่านจงเป็นผู้มีสติเพ่งอากิญจัญญายตนฌาน อาศัยอารมณ์ว่าไม่มี ๆ ดังนี้ ข้ามห้วงเสียเถิด ท่านจงละกามทั้งหลายเสีย เป็นคนเว้นจากความสงสัย เห็นธรรมที่สิ้นไปแห่งความทะเยอทะยานอยากให้ปรากฏชัด ทั้งกลางคืนกลางวันเถิด
อุ. ผู้ใดปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลายทั้งปวงแล้ว ล่วงฌานอื่นได้แล้ว อาศัยอากิญจัญญายตนฌาน (คือความเพ่งใจว่า “ ไม่มีอะไร” เป็นอารมณ์) น้อมใจแล้วในอากิญจัญญายตนฌาน ซึ่งเป็นธรรมที่เปลื้องสัญญาอย่างประเสริฐสุด ผู้นั้นจะตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนฌานนั้น ไม่มีเสื่อมบ้างหรือ
พ. ผู้นั้นจะตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนฌานนั้น ไม่มีเสื่อม.
อุ. ถ้าผู้นั้นจะตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนฌานนั้น ไม่มีเสื่อมสิ้นไปเป็นอันมาก เขาจะเป็นคนยั่งยืนอยู่ในอากิญจัญญายตนฌานนั้น หรือจะดับขันธปรินิพพาน
วิญญาณของคนเช่นนั้นจะเป็น ฉันใด
พ. เปลวไฟอันกำลังลมเป่าแล้วดับไป ไม่ถึงความนับว่าได้ไปแล้วในทิศไหน ฉันใด ท่านผู้รู้พ้นไปแล้วจากกองนามรูป ย่อมดับไม่มีเชื้อเหลือ (คือดับพร้อมทั้งกิเลสทั้งขันธ์) ไม่ถึงความนับว่าไปเกิดเป็นอะไร ฉันนั้น
อุ. ท่านผู้นั้นดับไปแล้ว หรือว่าเป็นแต่ไม่มีตัว หรือจะเป็นผู้ตั้งอยู่ยั่งยืน หาอันตรายมิได้ ขอพระองค์ทรงพยากรณ์ความข้อนั้นแก่ข้าพเจ้า เพราะว่าธรรมนั้นพระองค์ได้ทรงทราบแล้ว
พ. ประมาณแห่งเบญจขันธ์ของผู้ที่ดับปรินิพพานแล้วมิได้มีกิเสส ซึ่งเป็นเหตุกล่าวผู้นั้นว่าไปเกิดเป็นอะไรของผู้นั้น ก็มิได้มี, เมื่อธรรมทั้งหลาย (มีขันธ์เป็นต้น) อันผู้นั้นขจัดได้หมดแล้ว ก็ตัดทางแห่งถ้อยคำที่จะพูดถึงผู้นั้นว่าเป็นอะไรเสียทั้งหมด
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา ที่อุปสีวมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว นันทมาณพทูลถามปัญหาเป็นที่ ๗ ว่า ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีมีอยู่ในโลกนี้ ข้อนี้เป็นอย่างไร เขาเรียกคนถึงพร้อมด้วยญาณ หรือถึงพร้อมด้วยการเลี้ยงชีวิต ว่าเป็นมุนี
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า ผู้ฉลาดในโลกนี้ ไม่กล่าวคนว่าเป็นมุนี ด้วยความเห็น ด้วยความสดับ หรือด้วยความรู้ เรากล่าวว่าคนใด ทำตนให้ปราศจากกองกิเลส เป็นคนหากิเลสมิได้ ไม่มีความหวังทะยานอยากเที่ยวอยู่ คนผู้นั้นแลชื่อว่ามุนี
น. สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยความเห็น ด้วยความฟัง ด้วยศีลและพรต และด้วยวิธีเป็นอันมาก สมณพราหมณ์เหล่านั้นประพฤติในวิธีเหล่านั้น ตามที่ตนเห็นว่าเป็นเครื่องบริสุทธิ์ ข้ามพ้นชาติชราได้แล้วบ้างหรือหาไม่ ข้าพเจ้าทูลถาม ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด.
พ. สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้ถึงประพฤติอย่างนั้น เรากล่าวว่า พ้นชาติชราไม่ได้แล้ว
น. ถ้าพระองค์ตรัสว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นข้ามห้วงไม่ได้แล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าในเทวโลกหรือในมนุษย์โลก ข้ามพ้นชาติชราได้แล้ว
พ. เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ อันชาติชราครอบงำแล้วหมดทุกคน
แต่เรากล่าวว่า สมณพราหมณ์เหล่าใดในโลกนี้ละอารมณ์ที่ตน ได้เห็น ได้ฟัง
ได้รู้ และศีลพรตกับวิธีเป็นอันมากเสียทั้งหมด กำหนดรู้ตัณหาว่าเป็นโทษควรละแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นแล ข้ามห้วงได้แล้ว
น. ข้าพเจ้าชอบใจพระวาจาของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงแสดงธรรมอันไม่มีอุปธิ (กิเลส) ชอบแล้ว แม้ข้าพเจ้าก็เรียกสมณพราหมณ์เหล่านั้นว่า ผู้ข้ามห้วงได้แล้ว เหมือนพระองค์ตรัส
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา ที่นันทมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว เหมกมาณพทูลถามปัญหาเป็นที่ ๘ ว่า ในปางก่อนแต่ศาสนาของพระองค์ อาจารย์ทั้งหลายได้ยืนยันว่า อย่างนั้นได้เคยมีมาแล้ว อย่างนี้จักมีต่อไปข้างหน้า คำนี้ล้วนเป็นแต่ว่าอย่างนี้แล ๆ สำหรับแต่จะทำความตรึกฟุ้งให้มากขึ้น ข้าพเจ้าไม่พอใจในคำนั้นเลย ขอพระองค์ตรัสบอกธรรมเป็นเหตุถอนตัณหา ที่ข้าพเจ้าทราบแล้วจะพึงเป็นคนมีสติข้ามล่วงตัณหาอันให้ติดอยู่ในโลก แก่ข้าพเจ้าเถิด
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า ชนเหล่าใด ได้รู้ว่า พระนิพพาน เป็นที่บรรเทาความกำหนัดพอใจในอารมณ์ที่รัก ซึ่งได้เห็นแล้ว ได้ฟังแล้ว ได้ดมแล้ว ได้ชิมแล้ว ได้ถูกต้องแล้ว และได้รู้แล้วด้วยใจ และเป็นธรรมไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นแล้ว เป็นคนมีสติ มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชนผู้สงบระงับกิเลสได้แล้วนั้น ข้ามล่วงตัณหาอันให้ติดอยู่ในโลกได้แล้ว
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา ที่เหมกมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว โมฆราชมาณพ ปรารภจะทูลถามปัญหาอีก พระศาสดาตรัสห้ามให้รอก่อน เหมือนหนหลัง โตเทยยมาณพจึงทูลถามปัญหาเป็นที่ ๙ ว่า กามทั้งหลายไม่ตั้งอยู่ในผู้ใด ตัณหาของผู้ใดไม่มี และผู้ใดข้ามล่วงความสงสัยเสียได้ ความพ้นของผู้นั้นเป็นเช่นไร
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า ความพ้นของผู้นั้น ที่จะเป็นอย่างอื่นอีกมิได้มี (อธิบายว่าผู้นั้นพ้นจากกาม จากตัณหา จากความสงสัยแล้ว กามก็ดี ตัณหาก็ดี ความสงสัยก็ดี จะกลับเกิดขึ้น ผู้นั้นจะต้องเพียรพยายามเพื่อจะทำตนให้พ้นไปอีกหามีไม่ ความพ้นของผู้นั้นเป็นอันคงที่ไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น)
ต. ผู้นั้นเป็นคนมีความหวังทะเยอทะยานหรือไม่มี เป็นคนมีปัญญาแท้ หรือเป็นแต่ก่อตัณหาและทิฏฐิให้เกิดขึ้นด้วยปัญญา ข้าพเจ้าจะรู้จักท่านผู้มุนีนั้นได้อย่างไร ขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพเจ้าเถิด
พ. ผู้นั้นเป็นคนไม่มีความหวังทะเยอทะยาน จะเป็นคนมีความหวังทะเยอทะยานก็หาไม่ เป็นคนมีปัญญาแท้ จะเป็นแต่คนก่อตัณหาและทิฏฐิให้เกิดด้วยปัญญาก็หาไม่ ท่านจงรู้จักมุนีว่า คนไม่มีกังวลไม่ติดอยู่ในกามภพ อย่างนี้เถิด
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา ที่โตเทยยมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว กัปปมาณพทูลถามปัญหาเป็นที่ ๑๐ ว่า ขอพระองค์ตรัสบอกธรรมซึ่งจะเป็นที่พึ่งพำนักของชนอันชราและมรณะมาถึงรอบข้าง ดุจเกาะอันเป็นที่พำนักอาศัยของชนผู้ตั้งอยู่ในท่ามกลางสาคร เมื่อคลื่นใหญ่ที่น่ากลัวเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า อย่าให้ทุกข์นี้มีได้อีก
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า เรากล่าวว่านิพพานอันไม่มีกิเลสเครื่องกังวลไม่มีตัณหาเครื่องถือมั่น เป็นที่สิ้นแห่งชราและมรณะนี้แล เป็นดุจเกาะ หาใช่ธรรมอื่นไม่ ชนเหล่าใดรู้นิพพานนั้นแล้วเป็นคนมีสติ มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้น ไม่ต้องตกอยู่ในอำนาจของมาร ไม่ต้องเดินไปในทางของมารเลย
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา ที่กัปปมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว ชตุกัณณีมาณพทูลถามปัญหาที่ ๑๑ ว่า ข้าพเจ้าได้ทราบว่าพระองค์ไม่ใช่ผู้ใคร่กาม ข้ามห้วงกิเลสเสียได้แล้ว จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถาม พระองค์ผู้หากิเลสกามมิได้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระปัญญาดุจดวงตาเกิดพร้อมกับตรัสรู้ จงแสดงธรรมอันระงับแก่ข้าพเจ้าโดยถ่องแท้ เหตุว่า พระองค์ทรงผจญกิเลสกามให้แห้งหายได้ ดุจพระอาทิตย์อันส่องแผ่นดินให้แห้งด้วยรัศมี ขอพระองค์ผู้มีพระปัญญากว้างใหญ่ราวกับแผ่นดิน ตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติชราในอัตภาพนี้ที่ข้าพเจ้าควรจะทราบ แก่ข้าพเจ้าผู้มีปัญญาน้อยเถิด
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า ท่านจงนำความกำหนัดในกามเสียให้สิ้น เห็นความออกไปจากกามโดยเป็นความเกษมเถิด กิเลสเครื่องกังวลที่ท่านยึดไว้ด้วยตัณหาและทิฏฐิซึ่งควรจะสละเสีย อย่าเสียดแทงใจของท่านได้ กังวลใดได้มีแล้วในปางก่อน ท่านจงให้กังวลนั้นเหือดแห้งเสีย กังวลในภายหลังอย่าให้มีแก่ท่าน ถ้าท่านจักไม่ถือเอากังวลในท่ามกลาง ท่านจักเป็นคนสงบระงับกังวลได้เที่ยวอยู่ อาสวะ (กิเลส) ซึ่งเป็นเหตุถึงอำนาจมัจจุราชของชนผู้ปราศจากความกำหนัดในนามรูป โดยอาการทั้งปวง มิได้มี
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา ที่ชตุกัณณีมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว ภัทราวุธมาณพทูลถามปัญหาเป็นที่ ๑๒ ว่า ข้าพเจ้าทูลขออาราธนาพระองค์ ผู้ทรงละอาลัยตัดตัณหาเสียได้ ไม่หวั่นไหว (เพราะโลกธรรม) ละความเพลิดเพลินเสียได้ ข้ามห้วงกิเลสพ้นไปได้แล้ว ละธรรมเป็นเครื่องให้ดำริ (ไปต่าง ๆ) คือตัณหาและทิฏฐิได้แล้ว มีพระปรีชาญาณอันดี ชนที่อยู่ชนบทต่าง ๆ อยากจะฟังพระวาจาของพระองค์ มาพร้อมกันแล้วจากชนบทนั้น ๆ ได้ฟังพระวาจาของพระองค์แล้วจักกลับไปจากที่นี่ ขอพระองค์จงทรงแก้ปัญหาเพื่อชนเหล่านั้น เพราะว่าธรรมนั้นพระองค์ได้ทราบแล้ว
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า หมู่ชนนั้นควรจะนำตัณหาที่เป็นเหตุถือมั่นในส่วนเบื้องบนเบื้องต่ำเบื้องขวาง คือ ท่ามกลางทั้งหมดให้สิ้นเชิง เพราะเขาถือมั่นสิ่งใด ๆ ในโลก มารย่อมติดตามเขาได้โดยสิ่งนั้น ๆ เหตุนั้นเมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นหมู่สัตว์ผู้ติดอยู่ในวัฏฏะเป็นที่ตั้งแห่งมารนี้ว่า ติดอยู่เพราะความถือมั่นดังนี้ พึงเป็นคนมีสติไม่ถือมั่นกังวลในโลกทั้งปวง
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา ที่ภัทราวุธมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว อุทยมาณพทูลถามปัญหาเป็นที่ ๑๓ ว่า ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะทูลถามปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงนั่งบำเพ็ญฌาน มีพระสันดานปราศจากกิเลสธุลี หาอาสวะมิได้ ได้ทรงทำกิจที่จำจะต้องทำเสร็จแล้วบรรลุถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ขอพระองค์จงทรงแสดงธรรมเป็นเครื่องพ้น (จากกิเลส) ที่ควรรู้ทั่วถึง ซึ่งเป็นเครื่องทำลายอวิชชา ความเขลาไม่รู้แจ้งเสีย
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องละความพอใจในกามและโทมนัสเสียทั้งสองอย่าง เป็นเครื่องบรรเทาความง่วงเป็นเครื่องห้ามความรำคาญ มีอุเบกขากับสติเป็นธรรมบริสุทธิ์ มีความตรึกกอปรด้วยธรรมเป็นเบื้องหน้า ว่าเป็นธรรมเครื่องพ้น (จากกิเลส) ที่ควรรู้ทั่วถึง ซึ่งเป็นเครื่องทำลายอวิชชาความเขลาไม่รู้แจ้งเสีย
อุ. โลกมีอะไรผูกพันไว้ อะไรเป็นเครื่องสัญจรของโลกนั้น ท่านกล่าวกันว่านิพพาน ๆ ดังนั้น เพราะละอะไรได้
พ. โลกมีความเพลิดเพลินผูกพันไว้ ความตรึกเป็นเครื่องสัญจรของโลกนั้นท่านกล่าวกันว่านิพพาน ๆ ดังนี้ เพราะละตัณหาเสียได้
อุ. เมื่อบุคคลมีสติระลึกอย่างไรอยู่ วิญญาณจึงจะดับ, ข้าพเจ้าทั้งหลายมาเฝ้าแล้ว เพื่อทูลถามพระองค์ ขอให้ได้ฟังพระวาจาของพระองค์เถิด
พ. เมื่อบุคคลไม่เพลิดเพลินเวทนาทั้งภายในภายนอก มีสติระลึกอย่างนี้
วิญญาณจึงจะดับ
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหาที่อุทยมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว โปสาลมาณพทูลถามปัญหาเป็นที่ ๑๔ ว่า ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะทูลถามปัญหา จึงได้มาเฝ้าพระองค์ ผู้ทรงสำแดงพระปรีชาญาณในกาลเป็นอดีต ไม่ทรงหวั่นไหว (เหตุสุขทุกข์) มีความสงสัยอันตัดเสียได้แล้ว บรรลุถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ข้าพเจ้าขอทูลถามถึงญาณของบุคคล ผู้มีความกำหนดหมายในรูปแจ้งชัด (คือ บรรลุอรูปฌานที่เรียกว่าอากิญจัญญายตนะ) บุคคลเช่นนั้นจะควรแนะนำสั่งสอนให้ทำอย่างไรต่อไป
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า พระตถาคตเจ้าทราบภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณทั้งหมด จึงทรงทราบบุคคลผู้เช่นนั้นแม้ยังตั้งอยู่ในโลกนี้ว่า มีอัธยาศัยน้อมไปใน อากิญจัญญายตนภพ มีอากิญจัญญายตนภพเป็นที่ไปในเบื้องหน้า บุคคลเช่นนั้นรู้ว่ากรรมเป็นเหตุให้เกิดในอากิญจัญญายตนภพ มีความเพลิดเพลินยินดีเป็นเครื่องประกอบดังนี้แล้ว ลำดับนั้น ย่อมพิจารณาเห็นสหชาตธรรม ในอากิญจัญญายตนภพนั้น (คือธรรมที่เกิดพร้อมกันกับญานนั้น) แจ้งชัดโดยลักษณะ ๓ (คือไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่ใช่ตัว) ข้อนี้เป็นญาณอันถ่องแท้ของพราหมณ์เช่นนั้น ผู้มีพรหมจรรย์ได้ประพฤติจบแล้ว
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา ที่โปสาลมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว โมฆราชมาณพกราบทูลว่า ข้าพเจ้าได้ทูลถามปัญหาถึง ๒ ครั้งแล้ว พระองค์ไม่ทรงแก้ประทานแก้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ยินว่า ถ้าทูลถามถึง ๓ ครั้งแล้ว พระองค์ทรงแก้ ครั้นว่าอย่างนี้แล้วทูลถามปัญหาเป็นคำรบ ๑๕ ว่า โลกนี้ก็ดี โลกอื่นก็ดี พรหมโลกกับทั้งเทวโลกก็ดี ย่อมไม่ทราบความเห็นของพระองค์ เหตุฉะนี้ จึงมีปัญหามาถึงพระองค์ผู้มีพระปรีชา เห็นล่วงสามัญชนทั้งปวงอย่างนี้ ข้าพเจ้าจะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราช (ความตาย) จึงจะไม่แลเห็น คือว่า จักไม่ตามทัน
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า ท่านจงเป็นคนมีสติ พิจารณาเห็นโลก โดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความตามเห็นว่าตัวของเราเสียทุกเมื่อเถิด ท่านจะข้ามล่วงมัจจุราชเสียได้ด้วยอุบายอย่างนี้
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา ที่โมฆราชมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว ปิงคิยมาณพทูลถามปัญหาเป็นคำรบ ๑๖ ว่า ข้าพเจ้าเป็นคนแก่แล้ว ไม่มีกำลัง มีผิวพรรณสิ้นไปแล้ว ดวงตาของข้าพเจ้าก็เห็นไม่กระจ่าง หูก็ฟังไม่สะดวก ขอข้าพเจ้าอย่าเป็นคนหลงฉิบหายเสียในระหว่างเลย ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพเจ้าควรรู้เป็นเครื่องละชาติชราในอัตภาพนี้เสีย
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า ท่านเห็นว่า ชนทั้งหลายผู้ประมาทแล้ว ย่อมเดือดร้อนเพราะรูปเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาท ละความพอใจในรูปเสีย จะได้ไม่เกิดอีก
ปิ. ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ เป็น ๑๐ ทั้งทิศเบื้องบนเบื้องต่ำที่พระองค์ไม่ได้เห็นแล้ว ไม่ได้ฟังแล้ว ไม่ได้ทราบแล้ว ไม่ได้รู้แล้ว แม้น้อยหนึ่งมิได้มีในโลก ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพเจ้าควรรู้ เป็นเครื่องละชาติชราในอัตภาพนี้เสีย
พ. เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์ อันตัณหาครอบงำแล้ว มีความเดือดร้อนเกิดแล้ว อันชราถึงรอบข้างแล้ว เหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละตัณหาเสีย จะได้ไม่เกิดอีก
ในกาลเป็นที่สุดแห่งปัญหา ที่พระศาสดาทรงพยากรณ์แก่ตน ๆ มาณพ ๑๕ คน เว้นไว้แต่ปิงคิยมาณพ ส่งใจไปตามธรรมเทศนา ก็มีจิตพ้นจากอาสวะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ส่วนปิงคิยะเป็นแต่ได้ญาณเห็นในธรรม ได้ยินว่า ปิงคิยมาณพนั้นคิดถึงพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ ในระหว่างที่นั่งฟังธรรมเทศนาว่า ลุงของเราหาได้ฟังธรรมเทศนาที่ไพเราะอย่างนี้ไม่ อาศัยโทษที่ฟุ้งซ่านเพราะความรักอาจารย์นั้น จึงไม่อาจทำจิตให้สิ้นอาสวะได้ มาณพ ๑๖ คนกับทั้งบริวารนั้นทูลขออุปสมบทพระศาสดาก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาว่า ท่านทั้งหลายเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์เถิด ดังนี้ ฝ่ายพระปิงคิยะทูลลาพระศาสดากลับไปแจ้งข่าวแก่พราหมณ์พาวรีผู้อาจารย์แล้ว แสดงธรรมเทศนาแก้ปัญหา ๑๖ ข้อนั้นให้ฟัง ภายหลังได้สดับโอวาทที่พระศาสดาสั่งสอน จึงทำจิตให้พ้นจากอาสวะได้ ส่วนพราหมณ์พาวรีผู้อาจารย์ บรรลุธรรมาภิสมัย แต่เพียงชั้นเสขภูมิ
*********
1. วิชา เรียงความแก้กระทู้ธรรม
๑. อัตตวรรค คือ หมวดตน
๑. อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน พหุนาปิ น หาปเย
อตฺตทตฺถมภิญฺญาย สทตฺถปสุโต สิยา
บุคคลไม่ควรพล่าประโยชน์ของตน เพราะประโยชน์ผู้อื่นแม้มาก
รู้จักประโยชน์ของตนแล้ว พึงขวนขวายในประโยชน์ของตน
( พุทฺธ ) ขุ. ธ. ๒๕/๓๗.
๒. อตฺตานญฺเจ ตถา กยิรา ยถญฺญมนุสาสติ
สุทนฺโต วต ทเมถ อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม.
ถ้าสอนผู้อื่นฉันใด พึงทำตนฉันนั้น ผู้ฝึกตนดีแล้ว
ควรฝึกผู้อื่น ได้ยินว่า ตนแลฝึกยาก
( พุทฺธ ) . ธ. ๒๕/๓๖.
๓. อตฺตานเมว ปฐมํ ปฏิรูเป นิเวสเย
อถญฺญมนุสาเสยฺย น กิลิสฺเสยฺย ปณฺฑิโต
บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน
สอนผู้อื่นภายหลังจึงไม่มัวหมอง
( พุทฺธ ) ขุ. ธ. ๒๕/๓๖.
๒. กัมมวรรค คือ หมวดกรรม
๔. อติสีตํ อติอุณฺหํ อติสายมิทํ อหุ
อิติ วิสฺสฏฺฐกมฺมนฺเต อตฺถา อจฺเจนฺติ มาณเว
ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลยคนผู้ทอดทิ้งการงาน
ด้วยอ้างว่าหนาวนัก ร้อนนัก เย็นเสียแล้ว.
( พุทฺธ ) ที. ปาฏิ. ๑๑ /๑๙๙ .
๕. อถ ปาปานิ กมฺมานิ กรํ พาโล น พุชฌติ
เสหิ กมฺเมหิ ทุมฺเมโธ อคฺคิทฑฺโฒว ตปฺปติ
เมื่อคนโง่มีปัญญาทราม ทำกรรมชั่วอยู่ก็ไม่รู้สึก
เขาเดือดร้อน เพราะกรรมของตน เหมือนถูกไฟไหม้
( พุทฺธ ) ขุ. ธ. ๒๕/๓๓.
๖. ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ
บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น
ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว
( พุทฺธ ) สํ. ส. ๑๕/๓๓๓.
๗. โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ กตตฺโถ นาวพุชฺฌติ
อตฺถา ตสฺส ปลุชฺชนฺติ เย โหนฺติ อภิปตฺถิตา
ผู้ใด อันผู้อื่นทำความดี ทำประโยชน์ให้ในกาลก่อน
แต่ไม่รู้สึก(คุณของเขา) ประโยชน์ที่ผู้นั้นปรารถนาย่อมฉิบหาย
( ทฬฺหธมฺมโพธิสตฺต ) ขุ. ชา. สตฺตก. ๒๗/๒๒๘ .
๘. โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ กตตฺโถ มนุพุชฺฌติ
อตฺถา ตสฺส ปวฑฺฒนฺติ เย โหนฺติ อภิปตฺถิตา
ผู้ใด อันผู้อื่นทำความดี ทำประโยชน์ให้ในกาลก่อน
ย่อมสำนึก (คุณของเขา) ได้ ประโยชน์ที่ผู้นั้นปรารถนาย่อมเจริญ
( ทฬฺหธมฺมโพธิสตฺต ) ขุ. ชา.สตฺตก. ๒๗ / ๒๒๘ .
๙. โย ปุพฺเพ กรณียานิ ปจฺฉา โส กาตุมิจฺฉติ
วรุณกฏฺฐํ ภญฺโชว ส ปจฺฉา อนุตปฺปติ
ผู้ใด ปรารถนาทำกิจที่ควรทำก่อนในภายหลัง ผู้นั้น ย่อมเดือด
ร้อนในภายหลัง ดุจมาณพ (ผู้ประมาทแล้วรีบ) หักไม้กุ่มฉะนั้น
( โพธิสตฺต ) ขุ. ชา. เอก. ๒๗/๒๓.
๑๐. สเจ ปุพฺเพกตเหตุ สุขทุกฺขํ นิคจฺฉติ
โปราณกํ กตํ ปาปํ ตเมโส มุญฺจเต อิณํ
ถ้าประสพสุขทุกข์ เพราะบุญบาปที่ทำไว้ก่อนเป็นเหตุ
ชื่อว่าเปลื้องบาปเก่าที่ทำไว้ ดุจเปลื้องหนี้ฉะนั้น
( โพธิสตฺต ) ขุ. ชา.ปญฺญส. ๒๘/๒๕.
๑๑. สุขกามานิ ภูตานิ โย ทณฺเฑน วิหึสติ
อตฺตโน สุขเมสาโน เปจฺจ โส น ลภเต สุขํ
สัตว์ทั้งหลายย่อมต้องการความสุข ผู้ใดแสวงหาสุขเพื่อตน
เบียดเบียนเขาด้วยอาชญา ผู้นั้นละไปแล้ว ย่อมไม่ได้สุข
( พุทฺธ ) ขุ. ธ. ๒๕/๓๒
๑๒.สุขกามานิ ภูตานิ โย ทณฺเฑน น หึสติ
อตฺตโน สุขเมสาโน เปจฺจ โส ลภเต สุขํ
สัตว์ทั้งหลายย่อมต้องการความสุข ผู้ใดแสวงหาสุขเพื่อตน
ไม่เบียดเบียนเขาด้วยอาชญา ผู้นั้นละไปแล้ว ย่อมได้สุข
( พุทฺธ ) ขุ. ธ. ๒๕/๓๒
๕. ขันติวรรค คือ หมวดอดทน
๑๓. อตฺตโนปิ ปเรสญฺจ ตฺถาวโห ว ขนฺติโก
สคฺคโมกฺขคมํ มคฺคํ อารุฬฺโห โหติ ขนฺติโก
ผู้มีขันติ ชื่อว่านำประโยชน์มาให้ทั้งแก่ตนทั้งแก่ผู้อื่น
ผู้ที่มีขันติชื่อว่าเป็นผู้ขึ้นสู่ทางไปสวรรค์และนิพพาน
ส. ม. ๒๒๒.
๑๔. เกวลานํปิ ปาปานํ ขนฺติ มูลํ นิกนฺตติ
ครหกลหาทีนํ มูลํ ขนติ ขนติโก
ขันติ ย่อมตัดรากแห่งบาปทั้งสิ้น ผู้มีขันติชื่อว่าย่อม
ขุดรากแห่งความติเตียนและการทะเลาะกันเป็นต้นได้
ส. ม. ๒๒๒
๑๕. ขนฺติโก เมตฺตวา ลาภี ยสสฺสี สุขสีลวา
ปิโย เทวมนุสฺสานํ มนาโป โหติ ขนฺติโก
ผู้มีขันตินับว่ามีเมตตา มีลาภ มียศ และมีสุขเสมอ
ผู้มีขันติเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ส. ม. ๒๒๒
๑๖. สตฺถุโน วจโนวาทํ กโรติเยว ขนฺติโก
ปรมาย จ ปูชาย ชินํ ปูเชติ ขนฺติโก
ผู้มีขันติ ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระศาสดา
และผู้มีขันติชื่อว่าบูชาพระชินเจ้าด้วยบูชาอันยิ่ง
ส. ม. ๒๒๒
๑๗.สีลสมาธิคุณานํ ขนฺติ ปธานการณํ
สพฺเพปิ กุสลา ธมฺมา ขนฺตฺยาเยว วฑฺฒนฺติ เต
ขันติเป็นประธาน เป็นเหตุ แห่งคุณคือศีลและสมาธิ
กุศลธรรมทั้งปวงย่อมเจริญ เพราะขันติเท่านั้น
ส. ม. ๒๒๒
๔. ปัญญาวรรค คือ หมวดปัญญา
๑๘. อปฺปสฺสุตายํ ปุริโส พลิวทฺโทว ชีรติ
มํสานิ ตสฺส วฑฺฒนฺติ ปญฺญา ตสฺส น วฑฺฒติ
คนผู้สดับน้อยนี้ ย่อมแก่ไป เหมือนวัวแก่
อ้วนแต่เนื้อ แต่ปัญญาไม่เจริญ
( พุทฺธ ) ขุ.ธ. ๒๕/๓๕.
๑๙. ชีวเตวาปิ สปฺปญฺโญ อปิ วิตฺตปริกฺขยา
ปญฺญาย จ อลาเภน วิตฺตวาปิ น ชีวติ
ถึงสิ้นทรัพย์ ผู้มีปัญญาก็เป็นอยู่ได้
แต่อับปัญญาแม้มีทรัพย์ก็เป็นอยู่ไม่ได้
( มหากปฺปินเถร ) ขุ. เถร. ๒๖/๓๕๐.
๒๐.ปญฺญวา พุทฺธิสมฺปนฺโน วิธานวิธิโกวิโท
กาลญฺญู สมยญฺญู จ ส ราชวสตึ วเส
ผู้มีปัญญา ถึงพร้อมด้วยความรู้ ฉลาดในวิธีจัดการ
งานรู้กาลและรู้สมัยเขาพึงอยู่ในราชการได้
( พุทฺธ ) ขุ.ชา. มหา. ๒๘/๓๓๙.
๒๑. ปญฺญา หิ เสฏฺฐา กุสลา วทนฺติ
นกฺขตฺตราชาริว ตารกานํ
สีลํ สิรี จาปิ สตญฺจ ธมฺโม
อนฺวายิกา ปญฺญวโต ภวนฺติ
คนฉลาดกล่าวว่า ปัญญาประเสริฐ เหมือนพระจันทร์
ประเสริฐกว่าดาวทั้งหลาย แม้ศีลสิริ
และธรรมของสัตบุรุษย่อมไปตามผู้มีปัญญา
( สรภงฺคโพธิสตฺต ) ขุ. ชา. จตฺตาฬีส. ๒๗/๕๔๑.
๒๒. มตฺตาสุขปริจฺจาคา ปสฺเส เจ วิปุลํ สุขํ
จเช มตฺตาสุขํ ธีโร สมฺปสฺสํ วิปุลํ สุขํ
ถ้าพึงเห็นสุขอันไพบูลย์ เพราะยอมเสียสละสุขส่วนน้อย
ผู้มีปัญญาเล็งเห็นสุขอันไพบูย์ ก็ควรสละสุขส่วนน้อยเสีย
( พุทฺธ ) ขุ. ธ. ๒๕/๕๓.
๒๓. ยสํ ลทฺธาน ทุมฺเมโธ อนตฺถํ จรติ อตฺตโน
ตฺตโน จ ปเรสญฺ จ หึสาย ปฏิปชฺชติ
คนมีปัญญาทราม ได้ยศแล้วย่อมประพฤติสิ่งที่ไม่เป็น
ประโยชน์แก่ตน ย่อมปฏิบัติเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น
( หตฺถาจริย ) ขุ. ชา. เอก. ๒๗/๔๐.
๒๔. ยาวเทว อนตฺถาย ญตฺตํ พาลสฺส ชายติ
หนฺติ พาลสฺส สุกฺกํสํ มุทฺธํ อสฺส วิปาตยํ
ความรู้เกิดแก่คนพาล ก็เพียงเพื่อความฉิบหาย
มันทำสมองของเขาให้เขว ย่อมฆ่าส่วนที่ขาวของคนพาลเสีย
( พุทฺธ ) ขุ. ธ. ๒๕/๒๔.
๒๕. โย จ วสฺสสตํ ชีเว ทุปฺปญฺโญ อสมาหิโต
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปญฺญวนฺตสฺส ฌายิโน
ผู้ใดมีปัญญาทราม มีใจไม่มั่นคง พึงเป็นอยู่ตั้งร้อยปี
ส่วนผู้มีปัญญาเพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ดีกว่า
( พุทฺธ ) ข. ธ. ๒๕/๒๙.
๕. เสวนาวรรค คือ หมวดคบหา
๒๖. อสนฺเต นูปเสเวยฺย สนฺเต เสเวยฺย ปณฺฑิโต
อสนฺโต นิรยํ เนนฺติ สนฺโต ปาเปนฺติ สุคตึ
บัณฑิตไม่พึงคบอสัตบุรุษ พึงคบสัตบุรุษ เพราะอสัตบุรุษ
ย่อมนำไปสู่นรก สัตบุรุษย่อมให้ถึงสุคติ
( โพธิสตฺต ) ขุ.ชา.วีส. ๒๗/๔๓๗.
๒๗. ตครํ ว ปลาเสน โย นโร อุปนยฺหติ
ปตฺตาปิ สุรภี วายนฺติ เอวํ ธีรูปเสวนา
คนห่อกฤษณาด้วยใบไม้ แม้ใบไม้ก็หอมไปด้วยฉันใด
การคบกับนักปราชญ์ ก็ฉันนั้น
( โพธิสตฺต ) ขุ.ชา. วีส. ๒๙/๔๓๗.
๒๘. น ปาปชนสํเสวี อจฺจนฺตสุขเมธติ
โคธากุลํ กกณฺฏาว กลึ ปาเปติ อตฺตนํ
ผู้คบคนชั่ว ย่อมถึงความสุขโดยส่วนเดียวไม่ได้
เขาย่อมยังตนให้ประสบโทษ เหมือนกิ้งก่าเข้าฝูงเหี้ยฉะนั้น
( โพธิสตฺต ) ขุ.ชา. เอก. ๒๗/๔๖.
๒๙. ปาปมิตฺเต วิวชฺเชตฺวา ภเชยฺยุตฺตมปุคฺคเล
โอวาเท จสฺส ติฏฺเฐยฺย ปตฺเถนฺโต อจลํ สุขํ
ผู้ปรารถนาความสุขที่มั่นคง พึงเว้นมิตรชั่วเสีย
คบแต่บุคคลสูงสุด และพึงตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน
( วิมลเถร ) ขุ. เถร. ๒๖ / ๓๐๙.
๓๐. ปูติมจฺฉํ กุสคฺเคน โย นโร อุปนยฺหติ
กุสาปิ ปูติ วายนฺติ เอวํ พาลูปเสวนา
คนห่อปลาเน่าด้วยใบหญ้าคา แม้หญ้าคาก็พลอย
เหม็นเน่าไปด้วยฉันใด การคบกับคนพาลก็ฉันนั้น
( ราชธีตา ) ขุ.ชา. มหา. ๒๘/๓๐๓.
๓๑. ยาทิสํ กุรุเต มิตฺตํ ยาทิสญฺจูปเสวติ,
โสปิ ตาทิสโก โหติ สหวาโส หิ ตาทิโส
คบคนเช่นใดเป็นมิตร และสมคบคนเช่นใด
เขาก็เป็นคนเช่นนั้น เพราะการอยู่ร่วมกันย่อมเป็นเช่นนั้น
( โพธิสตฺต ) ขุ. ชา. วีส. ๒๗ /๔๓๗.
๓๒. สทฺเธน จ เปสเลน จ ปญฺญวตา พหุสฺสุเตน จ
สขิตํ หิ กเรยฺย ปณฺฑิโต ภทฺโท สปฺปุริเสหิ สงฺคโม
บัณฑิต พึงทำความเป็นเพื่อนกับคนมีศรัทธา มีศีลเป็นที่รัก
มีปัญญาและเป็นพหุสูต เพราะการสมาคมกับคนดี เป็นความเจริญ
( อานนฺทเถร ) ขุ. เถร. ๒๖/๔๐๔.
อักษรย่อบอกนามคัมภีร์
องฺ. อฏฺฐก. องฺคุตฺตรนิกาย อฏฺฐกนิปาต
องฺ. จตุกฺก. " จตุกฺกนิปาต
องฺ. ฉกฺก. " ฉกฺกนิปาต
องฺ์. ติก. " ติกนิปาต
องฺ. ทสก. " ทสกนิปาต
องฺ. ปญฺจก. " ปญฺจกนิปาต
องฺ. สตฺตก. " สตฺตกนิปาต
ขุ. อิติ. ขุทฺทกนิกาย อิติวุตฺตก
ขุ. อุ. " อุทาน
ขุ. ขุ. " ขุทฺทกปาฐ
ขุ. จริยา. " จริยาปิฏก
ขุ. จู. " จูลนิทฺเทส
ขุ. ชา. อฏฺฐก.ขุทฺทกนิกาย ชาตก อฏฺฐกนิปาต
ขุ. ชา. อสีติ.ขุทฺทกนิกาย ชาตก อสีตินิปาต
ขุ. ชา. เอก. ขุทฺทกนิกาย ชาตก เอกนิปาต
ขุ. ชา. จตฺตาฬีส.ขุทฺทกนิกาย ชาตก จตฺตาฬีสนิปาต
ขุ. ชา. จตุกก.ขุทฺทกนิกาย ชาตก จตุกฺกนิปาต
ขุ. ชา. ฉกก. ขุทฺทกนิกาย ชาตก ฉกฺกนิปาต
ขุ. ชา. ตึส. ขุทฺทกนิกาย ชาตก ตึสนิปาต
ขุ. ชา. ติก. ขุทฺทกนิกายชาตก ติกนิปาต
ขุ. ชา. เตรส. ขุทฺทกนิกายชาตก เตรสนิปาต
ขุ. ชา. ทฺวาทส.ขุทฺทกนิกายชาตก ทฺวาทสนิปาต
ขุ. ชา. ทสก. ขุทฺทกนิกายชาตก ทสกนิปาต
ขุ. ชา. ทุก. ขุทฺทกนิกายชาตก ทุกนิปาต
ขุ. ชา. ทุก. ขุทฺทกนิกายชาตก ทุกนิปาต
ขุ. ชา. นวก. ขุทฺทกนิกายชาตก นวกนิปาต
ขุ. ชา. ปกิณฺณก.ขุทฺทกนิกายชาตก ปกิณฺณกนิปาต
ขุ. ชา. ปญฺจก.ขุทฺทกนิกายชาตก ปญฺจกนิปาต
ขุ. ชา. ปญฺญาส.ขุทฺทกนิกายชาตก ปญฺญาสนิปาต
ขุ. ชา. มหา. ขุทฺทกนิกายชาตก มหานิปาต
ขุ. ชา. วีส. ขุทฺทกนิกายชาตก วีสตินิปาต
ขุ. ชา. สฏฺฐิ.ขุทฺทกนิกายชาตก สฏฺฐินิปาต
ขุ. ชา. สตฺตก.ขุทฺทกนิกายชาตก สตฺตกนิปาต
ขุ. ชา. สตฺตติ.ขุทฺทกนิกายชาตก สตฺตตินิปาต
ขุ. เถร. ขุทฺทกนิกาย เถรคาถา
ขุ. เถรี. “ เถรีคาถา
ขุ. ธ. “ ธมฺมปทคาถา
ขุ. ปฏิ. “ ปฏิสมฺภิทามคฺค
ขุ. พุ. “ พุทฺธวํส
ขุ. มหา. “ มหานิทฺเทส
ขุ. สุ. ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาต
ที. ปาฏิ. ทีฆนิกาย ปาฏิกวคฺค
ที. มหา. “ มหาวคฺค
ม. อุป. มชฺฌิมนิกาย อุปริปณฺณาสก
ม. ม. “ มชฺฌิมปณฺณาสก
สํ. นิ. สํยตฺตนิกาย นิทานวคฺค
สํ. มหา. " มหาวารวคฺค
สํ. ส. " สคาถวคฺค
สํ. สฬ. สํยตฺตนิกาย สฬายตนวคฺค
ส. ม. สวดมนต์ฉบับหลวง ( พิมพ์ครั้งที่ ๕ )
- / - เลขหน้าขีดบอกเล่ม เลขหลังขีดบอกหน้า
…………………………
วิชา ธรรม
ธรรมศึกษาชั้นเอก
- ธรรมวิจารณ์ –
- ส่ปรมัตถปฏิปทา –
๑. นิพพิทา ความหน่าย
อุทเทส
๑. เอถ ปสฺสถิมํ โลกํ จิตฺตํ ราชรถูปมํ
ยตฺถ พาลา วิสีทนฺติ นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ
สูทั้งหลาย จงมาดูโลกนี้อันตระการดุจราชรถ ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ แต่พวกผู้รู้หาข้องอยู่ไม่
โลกวัคค ธัมมบท
๒. เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา
ผู้ใดจักระวังจิต ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงแห่งมาร
จิตตวัคค ธัมมบท
โลกมี ๒ อย่าง คือ
๑. โดยตรง ได้แก่ แผ่นดินเป็นที่อาศัย
๒. โดยอ้อม ได้แก่ สัตว์ผู้อาศัย
ในโลกทั้ง ๒ นี้มีสิ่งต่าง ๆ อยู่ ๓ อย่าง คือ
๑.) สิ่งอันให้โทษโดยส่วนเดียว เปรียบด้วยยาพิษ
๒.) สิ่งอันให้โทษในเมื่อเกินพอดี เปรียบด้วยของมึนเมา
๓.)สิ่งอันเป็นอุปการะ เปรียบด้วยอาหาร และเภสัช แต่ใช้ในทางผิดอาจให้โทษก็ได้
ผู้หมกอยู่ในโลก คือ คนผู้ไร้พิจารณ์ ไม่หยั่งเห็นโลกโดยถ่องแท้
อาการที่หมกอยู่ในโลก ๓ อย่าง คือ
๑. เพลิดเพลินในสิ่งอันให้โทษ
๒. ระเริงจนเกินพอดี ในสิ่งอันอาจให้โทษ
๓. ติดในสิ่งเป็นอุปการะ
โทษของการหมกอยู่ในโลก
ผู้หมกอยู่ในโลกย่อมได้เสวยทุกข์บ้าง สุขบ้าง อันสิ่งนั้น ๆ พึงอำนวย แม้สุขก็เป็นเพียงสามิส คือ มีเหยื่อเจือด้วยของล่อใจเป็นเหตุแห่งความติด ดุจเหยื่อ คือ มังสะอันเบ็ดเกี่ยวไว้ เป็นผู้อันจะพึงจูงไปได้ตามปรารถนา
ผู้ไม่ข้องอยู่ในโลก คือ บัณฑิตผู้พิจารณาเห็นความเป็นจริงแห่งสิ่งนั้น ๆ ว่าฉันไรแล้ว ไม่ข้อง ไม่พัวพันในสิ่งอันล่อใจ ใคร ๆ ไม่อาจยั่วให้ติดด้วยประการใดประการหนึ่งย่อมเป็นอิสระแก่ตน
สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสชวนพุทธบริษัทให้มาดูโลก มิใช่เพื่อให้หลงชม ดุจดูละคร เห็นแก่สนุก แต่เพื่อให้หยั่งเห็นซึ้งลงไปถึงคุณและโทษแห่งสิ่งนั้น ๆ จะได้ไม่ตื่นเต้นไม่ติดในสิ่งนั้น ๆ
ผู้พ้นจากบ่วงแห่งมาร คือ ผู้สำรวมจิตไว้อยู่ ไม่ปล่อยให้เพลิดเพลิน ระเริงพัวพันในสิ่งอันล่อใจ
อาการสำรวจจิต มี ๓ ประการ
๑. สำรวมอินทรีย์ มิให้ความยินดีครอบงำในเมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฎฐัพพะอันน่าปรารถนา (อินทรียสังวรศีล)
๒. มนสิการกัมมัฎฐาน อันเป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันทะ คือ อสุภะ และกายคตาสติ หรือ (กัมมัฏฐาน) อันยังจิตให้สลด คือ มรณสติ (สมถกัมมัฏฐาน)
๓. เจริญวิปัสสนา คือ พิจารณาสังขารแยกออกเป็นขันธ์ สันนิษฐานเห็นเป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (วิปัสสนากัมมัฏฐาน)
มารและบ่วงแห่งมาร
มาร คือ โทษที่ล้างผลาญคุณความดีและทำให้เสียคน ได้แก่ กิเลสกาม คือเจตสิก (สิ่งที่เกิดภายในใจ) อันเศร้าหมอง ชักให้ใคร่ ให้รัก ให้อยากได้ กล่าวคือ ตัณหา ความทะยานอยาก ราคะ ความกำหนัด อรติ ความขึ้งเคียด เป็นอาทิ
บ่วงแห่งมาร คือ อารมณ์เครื่องผูกจิตให้ติดแห่งมาร เหมือนมังสะอันเบ็ดเกี่ยวไว้ เป็นเหตุให้ปลามากินแล้วถูกเบ็ดเกี่ยวให้ติดอยู่ ได้แก่ วัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ อันเป็นของน่าชอบใจ
ปฏิปทาแห่งนิพพิทา
อุทเทส
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา
เมื่อใด เห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นทางแห่งวิสุทธิ
มัคควัคค ธัมมบท
สังขาร ในพระพุทธพจน์นี้ ได้แก่ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (มีความหมายว่า ถูกปัจจัย คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร ปรุงแต่ง)
สังขารในเบญจขันธ์ ได้แก่ อารมณ์อันเกิดกับจิต เช่น รัก ชัง วิตก วิจาร เป็นต้น (มีความหมายว่า เครื่องปรุงจิต)
สังขารมีลักษณะเสมอกันเป็น ๓ คือ
๑. อนิจจตา ความไม่เที่ยง
๒. ทุกขตา ความเป็นทุกข์
๓. อนัตตตา ความเป็นอนัตตา
อนิจจตา ความไม่เที่ยง กำหนดรู้ได้ ๓ ทาง
๑. ความเกิดขึ้นในเบื้องต้น และความสิ้นไปในเบื้องปลาย ได้ในบาลีว่า
อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและความสิ้นไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
๒. ความแปรในระหว่างเกิดและดับ ได้ในบาลีว่า
อจฺเจนฺติ กาลา ตรยนฺติ รตฺติโย
วโยคุณา อนุปุพฺพํ ชหนฺติ.
กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัยย่อมละลำดับไป
ระยะเวลาในระหว่างเกิดและดับ เรียกว่า วัย แบ่งออกเป็น ๓ คือ
๑. ปฐมวัย ระยะเวลาไม่เกิน ๒๕ ปี
๒. มัชฌิมวัย ระยะเวลาอยู่ใน ๕๐ ปี
๓. ปัจฉิมวัย ระยะเวลาพ้น ๕๐ ปี ออกไปจนตลอดอายุ
ความแปรแห่งสังขารผ่านวัยทั้ง ๓ นั้นเปรียบด้วยเดินข้ามสะพานสูงขึ้น (ปฐมวัย) แล้วราบ (มัชฌิมวัย) แล้วต่ำลง ๆ (ปัจฉิมวัย)
๓. ความแปรแห่งสังขารในชั่วขณะหนึ่ง ๆ คือ ไม่คงที่อยู่นาน เพียงในระยะกาลนิดเดียวก็แปรแล้ว ได้ในคาถามาในวิสุทธิมรรค ว่า
ชีวิตํ อตฺตภาโว จ สุขทุกฺขา จ เกวลา
เอกจิตฺตสมา ยุตฺตา ลหุโส วตฺตเต ขโณ
ชีวิต อัตตภาพ และสุขทุกข์ทั้งมวลประกอบกัน เป็นธรรมเสมอด้วยจิตดวงเดียว ขณะย่อมเป็นไปพลัน
ความแปรเร็วอย่างนี้ ย่อมกำหนดเห็นชัดในนามกาย (จิตใจ) เช่น บางขณะนึกอารมณ์อย่างนั้น บางขณะนึกอารมณ์อย่างนี้ บางขณะสุข บางขณะทุกข์ เป็นต้น
สรุปอนิจจลักษณะแห่งสังขาร
ความเกิดแล้วดับ และความแปรในระหว่างแห่งสังขารดังกล่าวมา สรุปเข้าในบาลีว่า
อุปฺปชฺชติ เจว เวติ จ อญฺญถา จ ภวติ
ย่อมเกิดขึ้นด้วยเทียว ย่อมเสื่อมสิ้นด้วย ย่อมเป็นอย่างอื่นด้วย นี้เป็น อนิจจลักษณะ คือ เครื่องกำหนดว่าไม่เที่ยงแห่งสังขาร
อนิจจลักษณะได้ในสังขาร ๒
อนิจจลักษณะนี้ย่อมได้ทั้งในอุปาทินนกะ คือ สังขารมีใจครอง ทั้งในอนุปาทินนกะ คือ สังขารไม่มีใจครอง
ทุกฺขตา ความเป็นทุกข์แห่งสังขาร ย่อมกำหนดเห็นด้วยทุกข์อย่างนี้
๑. สภาวทุกข์ ทุกข์ประจำสังขาร คือ ชาติ ชรา มรณะ
๒. ปกิณณกทุกข์ ทุกข์จร คือ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส
๓. นิพัทธทุกข์ ทุกข์เนืองนิตย์ หรือทุกข์เป็นเจ้าเรือน ได้แก่ หนาว ร้อน หิว ระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ
๔. พยาธิทุกข์ หรือทุกขเวทนา มีประเภทต่าง ๆ ตามสมุฏฐาน คือ อวัยวะอันเป็นเจ้าการ ไม่ทำหน้าที่โดยปกติ
๕. สันตาปทุกข์ ทุกข์คือความร้อนรุ่ม ได้แก่ ความกระวนกระวายเพราะถูกไฟ คือ กิเลส ราคะ โทสะ โมหะ เผา
๖. วิปากทุกข์ หรือผลกรรม ได้แก่ วิปฏิสาร คือ ความร้อน การเสวยกรรมกรณ์ คือ การถูกลงอาชญา ความฉิบหาย ความตกยาก และความตกอบาย
๗. สหคตทุกข์ ทุกข์ไปด้วยกัน หรือ ทุกข์กำกับกัน ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ความวิตกกังวลกับลาภเป็นต้นนั้น
๘. อาหารปริเยฎฐิทุกข์ คือ ทุกข์ในการหากิน ได้แก่ อาชีวทุกข์ ทุกข์เนื่องด้วยการเลี้ยงชีวิต
๙. วิวาทมูลกทุกข์ คือ ทุกข์มีวิวาทเป็นมูล ได้แก่ ความไม่โปร่ง ความกลัวแพ้ ความหวั่นหวาด มีเนื่องมาจากทะเลาะกันก็ดี สู้คดีกันก็ดี รบกันก็ดี
๑๐. ทุกขขันธ์ หรือทุกข์รวบยอด หมายเอาสังขาร คือ ประชุมเป็นปัญจขันธ์นั่นเอง
การพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นทุกข์เต็มที่ อันจะนำไปสู่นิพพิทา ความหน่ายในสังขาร คือ การเห็นทุกขขันธ์นี้ ส่วนทุกข์หมวดอื่นพอเป็นเครื่องกำหนดเห็นสังขารว่าเป็นทุกข์เท่านั้น
การรู้จักใช้ญาณกำหนดเห็นทุกข์อย่างละเอียด (แม้) ที่โลกเห็นว่าเป็นสุข มีสหคตทุกข์เป็นนิทัศนะ ได้ในบาลีว่า
ทุกฺขเมว หิ สมฺโภติ ทุกฺขํ ติฏฐติ เวติ จ
นาญฺญตฺร ทุกฺขา สมฺโภติ นาญฺญตฺร ทุกฺขา นิรุชฺฌติ
ก็ทุกข์นั่นแลย่อมเกิดขึ้น ทุกข์ย่อมตั้งอยู่ ย่อมเสื่อมสิ้นไปด้วย จากทุกข์หาอะไรเกิดมิได้ นอกจากทุกข์หาอะไรดับมิได้
บาลีนี้ เพ่งทุกข์หมวด ๑๐ นี้ ท่านจัดความเป็นสภาพถูกความเกิด และความสิ้นบีบคั้นเป็นทุกขลักษณะ เครื่องกำหนดว่า เป็นทุกข์แห่งสังขาร
เมื่อเพ่งถึงสภาพที่ถูกความเกิด และความสิ้นบีบคั้น เป็นทุกขลักษณะ ดังนั้น ทุกขลักษณะจึงได้ในสังขารทั้ง ๒ คือ อุปาทินนกสังขาร และอนุปาทินนกสังขาร
อนตฺตตา ความเป็นอนัตตาแห่งสังขาร พึงกำหนดรู้ด้วยอาการ ๕ เหล่านี้ คือ
๑. ด้วยไม่อยู่ในอำนาจ หรือ ฝืนความปรารถนา ชีวิตไม่ได้อย่างใจหวังเสมอไป
๒. ด้วยแย้งต่ออัตตา เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า อัตตาที่ลัทธิอื่นบัญญัตินั้นไม่มี
๓. ด้วยความเป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ไม่มีใครมีสิทธิในอะไรที่แท้จริง
๔. ด้วยความเป็นสภาพสูญ เป็นภาพลวงตา เหมือนพยับแดด หรือ รถ เรือน เป็นต้น
๕. ด้วยความเป็นสภาวธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีผู้สร้างหรืออำนาจดลบันดาลใด ๆ ทั้งสิ้น
อนัตตลักษณะ เครื่องหมายของความเป็นอนัตตาแห่งสังขาร มติค้านอัตตาของลัทธิอื่นที่เชื่อความเวียนเกิดว่า ในรูปกายนี้มีอัตตาสิงอยู่ เป็นผู้คิด เป็นผู้เสวยเวทนา และสำเร็จอาการอย่างอื่นอีก
มติฝ่ายพระพุทธศาสนาแย้งว่า ไม่มีอัตตาอย่างนั้น เป็นแต่สภาวธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุ สิ้นเพราะสิ้นเหตุ ดังแสดงในบาลีว่า
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต
เตสญจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ
ธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรม และตรัสความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะตรัสอย่างนี้
และมติฝ่ายพระพุทธศาสนา แสดงความเกิดแห่งธรรมเนื่องกันเป็นสายดังแสดงความเกิดแห่งวิถีจิตว่า
อาศัยอายตนะภายใน มีจักษุ เป็นต้น
อาศัยอายตนะภายนอก มีรูป เป็นต้น
ทั้งสองฝ่ายประจวบกันเข้า เกิดวิญญาณ (เห็นรูป) แต่นั้นเกิดสัมผัส เวทนา สัญญา สัญเจตนา ตัณหา วิตก วิจาร โดยลำดับ ดังแสดงเป็นบาลีว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับเป็นธรรมดา ความคิดอ่าน ความเสวยเวทนา และอาการอย่างอื่น เป็นกิจ (หน้าที่) แห่งจิต และเจตสิก มิใช่แห่งอัตตา
พระพุทธศาสนารับว่ามีจุติจิต จิตที่ทำหน้าที่เคลื่อนย้าย ด้วยคำว่า จิตฺเต สงฺกิสิฏเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา เมื่อจิตเศร้าหมอง จำหวังทุคติ
จิตฺเต อสงกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกงขา เมื่อจิตไม่เศร้าหมองสุคติย่อมหวังได้
และรับรองปฏิสนธิจิต (จิตที่ทำหน้าที่สืบต่อ) ด้วยคำว่า วิญญาณปจฺจยา นามรูปํ นามรูป ย่อมเกิดมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
โดยนัยนี้ บทว่า อนัตตา มีความตามพยัญชนะว่า มิใช่ตัว มิใช่ตน แย้งตรงต่ออุปาทาน (ความถือผิดว่ามีผู้สร้าง หรืออำนาจดลบันดาล)
อธิบายคำว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
บาลีแสดงอนัตตลักขณะว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ว่าสังขารเหมือนใน ๒ คาถาข้างต้น เพราะอนิจจลักษณะและทุกขลักษณะ ย่อมได้เฉพาะในสังขาร (สิ่งที่ถูกปัจจัย คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร ปรุงแต่ง) ส่วนอนัตตลักขณะ ย่อมได้ทั้งในสังขารและวิสังขาร (สิ่งที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง คือ นิพพาน) ดังนั้น จึงต้องใช้คำว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา
อนัตตาไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิ
ความเห็นอนัตตาพึงปรารถนาโยนิโสมนสิการกำกับ จะได้กำหนดรู้สัจจะทั้ง ๒ คือ
๑. สมมติสัจจะ จริงโดยสมมติ เช่น บิดา มารดา มีจริง เป็นต้น
๒. ปรมัตถสัจจะ จริงโดยปรมัตถะ คือ อรรถอันลึก เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นต้น
อนึ่ง ความเห็นอนัตตา จะได้ละทิฏฐิมานะ คือ ความถือผิด และความถือตัว และกิเลสอย่างอื่น อันเนื่องมาจากการถือเรา ถือเขา ถือก๊ก ถือพวก
ความหน่ายที่เรียกว่านิพพิทา
ผู้พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ด้วยอาการดังกล่าวแล้ว ย่อมหน่ายในทุกขขันธ์ ไม่เพลิดเพลิน หมกมุ่นในสังขารอันยั่วยวนเสน่หา ความหน่ายนั้นเรียกว่านิพพิทา
นิพพิทาที่เกิดด้วยปัญญา จัดเป็นนิพพิทาญาณ ย่อมเป็นปฏิปทา คือ ทางแห่งวิสุทธิ ความหมดจด ความผ่องแผ้วแห่งจิต
๒. วิราคะ ความสิ้นกำหนัด
อุทเทส
๑. นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ
เมื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด
อนัตตลักขณสูตร
๒. วิราโค เสฏฺโฐ ธมฺมานํ
วิราคะ เป็นประเสริฐ แห่งธรรมทั้งหลาย
มัคควัคค ธัมมบท
๓. สุขา วิราคตา โลเก กามานํ สมติกฺกโม
วิราคะ คือ ความก้าวล่วงเสียด้วยดี ซึ่งกามทั้งหลายเป็นสุขในโลก
พุทธอุทาน มหาวัคค วินัย
วิราคะ เป็นยอดแห่งธรรมทั้งปวง ทั้งที่เป็นสังขตะ คือ อันธรรมดาแต่ง ทั้งที่เป็นอสังขตะ คือ อันธรรมดามิได้แต่ง
ไวพจน์ คือ คำสำหรับเรียกแทนกัน
แห่งวิราคะ ๘ อย่าง
๑. มทนิมฺมทโน ธรรมยังความเมาให้สร่าง
๒. ปิปาสวินโย ความนำเสียซึ่งความระหาย
๓. อาลยสมุคฺฆาโต ความถอนขึ้นด้วยดีซึ่งอาลัย
๔. วฏฺฏูปจฺเฉโท ความเข้าไปตัดเสียซึ่งวัฏฏะ
๕. ตณหกฺขโย ความสิ้นแห่งตัณหา
๖. วิราโค ความสิ้นกำหนัด
๗. นิโรโธ ความดับ
๘. นิพฺพานํ ธรรมชาติหาเครื่องเสียบแทงมิได้
ความเมาในอารมณ์ยั่วยวนให้เกิดความเมาทุกประการ เช่น สมบัติแห่งชาติ สกุล อิสริยะ บริวาร ก็ดี ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็ดี ความเยาว์วัย ความหาโรคมิได้ และชีวิตก็ดี ชื่อว่าความเมา
ความกระวนกระวาย เพราะเหตุแห่งความอยากเปรียบด้วยอาการระหายน้ำ ชื่อว่า ความระหาย
ความติดพัน ความห่วงใยในปิยารมณ์ ชื่อว่า อาลัย
ความเวียนเกิดด้วยอำนาจ กิเลส กรรม และวิบาก ชื่อว่า วัฏฏะ
ความอยาก ชื่อว่า ตัณหา
ความสิ้นกำหนัด ปราศจากเสน่หา ฟอกจิตจากน้ำย้อม คือ กิเลสกาม ชื่อว่า วิราคะ
ความดับทุกข์เนื่องมาจากดับตัณหา ชื่อว่า นิโรธ
แต่นิโรธศัพท์ใช้ในความหมายธรรมดาก็มี เช่น คำว่า เตสญจ โย นิโรโธ จ พระตถาคตตรัสความดับแห่งธรรมเหล่านั้นด้วย ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา เป็นต้น
หมายเอาความดับคือ ระงับจิต เจตสิก (สัญญา เวทนา) ในลำดับแห่งสมาบัติที่ ๘ เรียกว่า นิโรธสมาบัติ ก็มี (เป็นชื่อสมาบัติอย่างหนึ่ง)
วิราคะ อันกล่าวถึงในลำดับแห่งนิพพิทา ได้แก่ อริยมรรค
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงประทานข้อสังเกตว่า ปรมัตถปฏิปทา แสดงเฉพาะในทางละกิเลสกาม ไม่กล่าวถึงกิเลสส่วนปฏิฆะเลย ชะรอยท่านจะเห็นว่ากิเลสกามเป็นมูลแห่งกิเลสส่วนปฏิฆะ มีนิทัศนะ ตัวอย่าง เช่น อาฆาตจะเกิดขึ้น ก็เพราะพบความติดขัดแห่งความปรารถนาเนื่องด้วยปิยารมณ์
๓. วิมุตติ ความหลุดพ้น
อุทเทส
๑. วิราคา วิมุจฺจติ
เพราะสิ้นกำหนัด ย่อมหลุดพ้น
อนัตตลักขณสูตร
๒. กามาสวาปิ จิตฺตํ วิมุจฺจิตฺถ ภวาสวาปิ จิตฺตํ วิมุจฺจิตฺถ อวิชชาสวาปิ จิตฺตํ วิมุจฺจิตฺถ
จิตพ้นแล้ว จากอาสวะเนื่องด้วยกาม จากอาสวะเนื่องด้วยภพ และจากอาสวะเนื่องด้วยอวิชชา
มหาวิภังค์ วินัย
๓. วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺตมิติ ญาณํ โหติ
เมื่อหลุดพ้นแล้ว ญาณว่าหลุดพ้นแล้ว ย่อมมี
อนัตตลักขณสูตร
วิมุตติ แปลว่า ความหลุดพ้นจากกิเลส เป็นได้ทั้งโลกิยะ และโลกุตตระ ที่เป็นโลกุตตระ ก็เป็นได้ทั้งอริยมรรค และอริยผล
วิมุตติ มาในลำดับแห่งวิราคะ ดั่งในบาลีกระทู้ที่ ๑ ได้แก่ อริยผล (เพราะวิราคะเป็นอริยมรรค) เป็นโลกุตตระ
วิมุตติในบาลีกระทู้ที่ ๒ ท่านแสดงในลำดับการรู้แจ้งอริยสัจ ๔ เป็นอริยมรรค (เพราะเพิ่งหลุดพ้นจากกิเลส) เป็นโลกุตตระ
วิมุตติในบาลีกระทู้ที่ ๓ เป็นปัจจเวกขณญาณ เรียกว่า วิมุตติญาณทัสสนะ เป็นโลกิยะ เพราะไม่ได้ทำหน้าที่ละกิเลส เพียงแต่ตรวจดูกิเลสที่ละได้ และยังละไม่ได้
อาสวะเป็นไวพจน์แห่งกิเลส
อาสวะนั้นเป็นชื่อแห่งเมรัยก็มี เช่น ผลาสโว น้ำดองผลไม้ เป็นชื่อแห่งกิเลสก็มี เช่น กามาสโว กิเลสเป็นเหตุใคร่
คำว่า อาสวะ ในที่นี้ได้แก่ กิเลสานุสัย คือ กิเลสอันนอนตาม คือ ดองอยู่หมักอยู่ในจิตตสันดาน ได้แก่ กิเลสอันเป็นเจ้าเรือน ดังนั้น อาสวะกับกิเลสจึงเป็นคำไวพจน์แห่งกันและกัน ในบาลีเรียกอาสวะ ในอรรถกถาเรียกกิเลสเป็นพื้น
วิมุตติ ๕
๑. ตทังควิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยองค์นั้น ๆ ได้แก่ การระงับอกุศลเจตสิกได้เป็นคราว ๆ
๒. วิกขัมภนวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยข่มไว้ ได้แก่ การระงับกิเลส และอกุศลธรรมด้วยกำลังฌาน
วิมุตติทั้ง ๒ นี้ เป็นโลกิยวิมุตติ
๓. สมุจเฉทวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยตัดขาด ได้แก่ ระงับกิเลสด้วยอริยมรรค
๔. ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยความสงบราบคาบ ได้แก่ อริยผล
๕. นิสสรณวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยออกไปเสีย ได้แก่ นิพพาน
วิมุตติทั้ง ๓ ข้อนี้เป็นโลกุตตรวิมุตติ
วิมุตติ เป็นได้ทั้งโลกิยะ โลกุตตระ อริยมรรค และอริยผล ดังนี้แล
๔. วิสุทธิ ความหมดจด
อุทเทส
๑. ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ
ย่อมหมดจดด้วยปัญญา
ยักฺขสังยุตฺต สคาถวัคฺด
๒. เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา
นั่น ( นิพพิทา ) เป็นทางแห่งวิสุทธิ
มคฺควคฺค ธมฺมบท
บริสุทธิ์ด้วยปัญญา
บางลัทธิเชื่อว่า บาปที่ทำแล้วอาจลอยเสียด้วยทำพิธีเมื่ออาบน้ำ บางลัทธิถือว่า อ้อนวอนพระเจ้าเพื่อโปรดยกประทานได้อยู่
ฝ่ายพระพุทธศาสนาถือว่า ทำบาปเอง ย่อมเศร้าหมองเอง ไม่ทำบาปเอง ย่อมหมดจดเอง ความหมดจดและความเศร้าหมอง เป็นของเฉพาะตัว คนอื่นยังคนอื่นให้หมดจดหาได้ไม่ โดยนัยนี้ถือว่า ความบริสุทธิ์ภายในย่อมมีได้ด้วยปัญญาอันเกิดจากวิปัสสนาญาณ ฯ
วิปัสสนาญาณ ๙
ความบริสุทธิ์ภายในย่อมดีด้วยปัญญา อันเกิดจากวิปัสสนาญาณ
ผู้พิจารณามาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารไม่เที่ยง เพราะเพ่งความเกิดและความดับ นี้เป็นอุทยัพพยญาณ คือ เห็นเกิดดับ
เพราะเพ่งความแปรในชั่วขณะ จัดเป็นภังคญาณ คือ เห็นย่อยยับ
เพราะเห็นสังขารย่อยยับ จึงเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว จัดเป็นภยตูปัฏฐานญาณ
เล็งเห็นสังขารว่าเป็นทุกข์ นี้จัดเป็นอาทีนวญาณ คือ เห็นโทษ
ความหน่ายในลำดับ (การเห็นโทษ) เป็นนิพพิทาญาณ
นิพพิทานั้นย่อมเป็นปฏิปทาเครื่องสาวไปถึงความเป็นผู้ใคร่จะปลดอุปาทานเสีย อันจัดเป็นมุญจิตุกัมยตาญาณ
ความพิจารณาหาอุบาย จัดเป็นปฏิสังขาญาณ
ความวางเฉยในสังขาร จัดเป็นสังขารุเปกขาญาณ โดยลำดับกัน
แต่นั้น จัดเป็นสัจจานุโลมิกญาณ คือ เห็นอนุโลมอริยสัจ (เลื่อนไหลไปฝั่งโลกุตตระ) เป็นวิปัสสนาญาณคำรบ ๙ อยู่ในหัวต่อแห่งภาวะเป็นปุถุชน และภาวะเป็นอริยะ โคตรภูญาณก็เรียก หมายความว่า ญาณครอบโคตร คือ ล่วงภาวะเดิม (แต่ก็ยังไม่ได้บรรลุมรรค) ต่อแต่นี้เป็นวาระแห่งอริยมรรค และอริยผล โดยลำดับกัน
นิพพิทา ชื่อว่าเป็นทางแห่งวิสุทธิด้วยประการฉะนี้
อีกบรรยายหนึ่ง
อุทเทส
๓. มคฺคานฏฺฐงฺคิโก เสฏฺโฐ
เอเสว มคฺโค นตฺถญฺโญ ทสฺสนสฺส วิสุทฺธิยา
ทางมีองค์ ๘ เป็นทางประเสริฐสุดแห่งทางทั้งหลาย ทางนั้นแล ไม่มีทางอื่นเพื่อหมดจดแห่งทัสสนะ
มัคควัคค ธัมมบท
ทางมีองค์ ๘ นั้น คือ
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
สัมมาวาจา เจรจาชอบ
สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ
สัมมาวายามะ พยายามชอบ
สัมมาสติ ระลึกชอบ
สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
เป็นทางประเสริฐที่สุด และเป็นทางยอดแห่งสังขตธรรม
ทางมีองค์ ๘ นี้จัดเป็นสังขตธรรม เพราะเป็นเจตสิก ยังมีเกิดมีดับอยู่
มรรค ๘ เทียบกับวิสุทธิ ๗
มรรค ๘ นำไปถึงความหมดจดแห่งทัสสนะอย่างไร พึงรู้ด้วยเทียบกับวิสุทธิ ๗ อย่างนี้
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สงเคราะห์เข้าเป็นสีลวิสุทธิที่ ๑
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สงเคราะห์เข้าเป็นจิตตวิสุทธิที่ ๒ อันได้แก่ สมาบัติ
สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ ได้ในวิสุทธิ ๕ ในลำดับ
สัมมาสังกัปปะ ทำกิจพิจารณา สัมมาทิฏฐิ ทำกิจสันนิษฐานเป็นชั้น ๆ อย่างนี้
พิจารณาเห็นสังขารโดยไตรลักษณ์ จัดเป็นทิฏฐิวิสุทธิ หมดจดแห่งความเห็น นับเป็นที่ ๓
พิจารณาเห็นสังขารเป็นไปเนื่องด้วยเหตุดังแสดงในบาลีว่า เหมือนอย่างว่า พืชชนิดใดชนิดหนึ่งอันหว่านไว้แล้ว อาศัยรสแห่งแผ่นดิน และยางในพืชรวมกันเข้าทั้ง ๒ อย่าง ย่อมงอกขึ้นในนาฉันใด ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ๖ เหล่านี้ อาศัยเหตุเกิดขึ้น ฉันนั้น ย่อมดับเพราะสลายแห่งเหตุนี้ จัดเป็นกังขาวิตรณวิสุทธิ หมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามความสงสัย นับเป็นที่ ๔ ได้ในพระพุทธพจน์ว่า
ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุและเพราะมารู้ความสิ้นแห่งปัจจัยทั้งหลาย
พิจารณาเห็นสังขารด้วยอาการอย่างนั้น ด้วยใช้โยนิโสมนสิการกำกับ รู้จักว่าน้อมอย่างไรถูกทางทาง อย่างไรผิดทาง จัดเป็นมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ หมดจดแห่งญาณทัสสนะ ว่าทางหรือมิใช่ทาง นับเป็นที่ ๕
ความรู้และความเห็นในทางปฏิบัติถูก จัดเป็นปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ตัววิปัสสนาญาณ ๙
พิจารณาเห็นสำเร็จเป็นอริยมรรค จัดเป็นญาณทัสสนวิสุทธิ หมดจดแห่งญาณทัสสนะ นับเป็นที่ครบ ๗ ที่หมายกล่าวในบาลีว่า
เอเสว มคฺโค นตฺถญฺโญ ทสฺสนสฺส วิสุทฺธิยา
ทางนี้แล ไม่มีทางอื่น เพื่อหมดจดแห่งทัสสนะ
ในรถวินีตสูตร แสดงวิสุทธิ ๗ ว่า ส่งต่อกันโดยลำดับจนถึงอนุปาทาปรินิพพาน เหมือนการเดินทางกว่าจะถึงที่สุดด้วยรถ ๗ ผลัด
วิสุทธิ เป็นไวพจน์แห่งวิมุตติ คือ ใช้เรียกแทนกัน ความหมายเหมือนกัน คือ ไม่มีกิเลส
วิสุทธิ ๖ ข้างต้นเป็นโลกิยะ วิสุทธิที่ ๗ เป็นโลกุตตระ
สมเด็จ ฯ ทรงเรียงวิสุทธิต่อจากวิมุตติ ทรงอธิบายว่า จิตพ้นจากอาสวะแล้วย่อมผ่องแผ้ว (บริสุทธิ์) เหมือนผ้าฟอกแล้วย่อมหมดมลทิน ย่อมขาวผ่อง
๕. สันติ ความสงบ
อุทเทส
๑. สนฺติมคฺคเมว พฺรูหย
สูจงพูนทางแห่งความสงบนั้นแล
มัคควัคค ธัมมบท
๒. นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ
สุขอื่นจากความสงบ ย่อมไม่มี
สุขวัคค ธัมมบท
๓. โลกามิสํ ปชเห สนฺติเปกฺโข
ผู้เพ่งความสงบ พึงละอามิสในโลกเสีย
สคาถวัคค สํยุตฺต
สันติ ย่อมเป็นไปในไตรทวาร ได้ในบาลีว่า ใจของผู้นั้นสงบแล้ว กายและวาจา ก็ย่อมเป็นอันสงบ
การทำที่เว้นจากการเบียดเบียนกัน การพูดที่เว้นจากวิวาทและผรุสวาท ใจนึกในทางเมตตา กรุณา นี้คือ กาย วาจา ใจ ที่สงบ ความสุขอื่นยิ่งไปกว่าความสงบนี้ ย่อมไม่มี
โลกามิส คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะเป็นเครื่องล่อใจให้ติดในโลก ดุจเหยื่ออันเบ็ดเกี่ยวอยู่ การทำใจมิให้ติดในสิ่งเหล่านั้น (ชื่อว่า ละ) ย่อมเป็นปฏิปทาของท่านผู้รู้ ผู้สงบดีแล้ว ดังแสดงในชราสูตร ว่า
หยดน้ำย่อมไม่ติดในใบบัวฉันใด วารีย่อมไม่กำซาบในดอกปทุม ฉันใด มุนีย่อมไม่เข้าไปติดในอารมณ์ อันเห็นแล้วก็ดี อันฟังแล้วก็ดี อันทราบแล้วก็ดี ฉันนั้น
สันติเป็นได้ทั้งโลกิยะและโลกุตร ดุจเดียวกับวิสุทธิ (สันติ) ที่เป็นโลกิยะได้ในคำว่า
บุคคลย่อมถึงความสงบแห่งจิต ด้วยร้องไห้ ด้วยเศร้าโศก ก็หาไม่
ที่เป็นโลกุตรได้ในคำว่า ผู้เพ่งสันติ พึงละโลกามิสเสีย
สมเด็จ ฯ ทรงเรียงสันติต่อจากวิสุทธิ ทรงอธิบายว่า จิตวิสุทธิ์แล้วย่อมสงบ ดุจผ้าฟอกขาวผ่องแล้วย่อมมีนวล
๖. นิพพาน
อุทเทส
๑. นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวนิพพานว่ายวดยิ่ง
พุทฺธวัคค ธัมมบท
๒. นิพฺพานคมนํ มคฺคํ ขิปฺปเมว วิโสธเย
พึงรีบชำระทางไปนิพพาน
มัคควัคค ธัมมบท
๓. นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ
นิพพาน เป็นสุขอย่างยวดยิ่ง
สุขวัคค ธัมมบท
นิพพานศัพท์ แปลได้ ๒ นัย
๑. แปลว่า ดับ
๒. แปลว่า หาของเสียบแทงมิได้
นิพพานมีชื่อเรียกในลัทธิภายนอก พึงเห็นในคำแห่งโธตกมาณพ ทูลพระบรมศาสดาว่า ข้าแต่พระภควา ข้าพเจ้าขอทูลถามพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงคุณใหญ่ ขอพระองค์ตรัสข้อนั้นแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าฟังพระดำรัสแล้วพึงศึกษานิพพานของตน
นิพพานตามมติพระพุทธศาสนา
มติข้างพระพุทธศาสนา แยกเหตุอันแต่งสังขาร (อวิชชา) เป็นต้นสาย นิพพานเป็นปลายสาย ปฏิเสธอัตตา แต่ยอมรับความเชื่อมถึงกันแห่งจุติจิตในภพหลัง และปฏิสนธิจิตในภพหน้า โดยอาการอย่างสืบสันตติในชีวิตเดียวกัน
กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยประการทั้งปวงแห่งจิต อันท่องเที่ยวในสังสารวัฏ ที่การบรรลุพระอรหัต อันสำเร็จด้วยวิริยะกับปัญญา ซึ่งต้องบำเพ็ญบารมีเป็นเวลาช้านาน
กล่าวถึงการดับแห่งจิตอันบริสุทธิ์ (จิตของพระอรหันต์) นั้น ในปัจฉิมชาติ แล้วไม่เกิดอีก เป็นถึงที่สุดเพียงนี้ ว่าคือ นิพพาน
นิพพานเป็นอสังขตะ
โดยนัยนี้ นิพพานอันเป็นปลายสายย่อมจัดเป็นวิสังขาร มิใช่สังขาร และเป็น อสังขตะ อันปัจจัยมิได้แต่ง เพราะพ้นจากความเป็นสังขาร และอันปัจจัยมิได้แต่งให้เกิดอีก
นิพพานมี ๒ อย่าง
ในทุกนิบาต อิติวุตตกะ ทรงแจกนิพพานไว้ ๒ อย่าง คือ
๑. สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสมีอุปาทิเหลืออยู่
๒. อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสไม่มีอุปาทิเหลือ
อุปาทิ แปลว่า สิ่งที่กรรมและกิเลสเข้ายึดโดยความเป็นผล ได้แก่ ขันธ์ ๕ อันเป็นผลแห่งกรรมและกิเลส ในที่นี้หมายถึง ขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์
สมเด็จ ฯ ทรงแสดงพระมติว่า อุปาทิ แปลว่า ผู้ครอง อันเป็นปัจจัยแห่งการคิด การพูด การทำ ได้แก่ สิ่งที่เรียกโดยอภิธรรมนัยว่า จิต จิตนี้ เป็นผู้คิด เป็นปัจจัยแห่งกายวิญญัติ คือ การไหวกาย และวจีวิญญัติ คือการไหววาจา หรือเปล่งเสียง
ทรงสรุปนิพพานในสูตรนี้ว่า ความสิ้นอาสวะแต่จริมกจิต ( จิตสุดท้าย ) ยังทรงอยู่ กล่าวคือ สำเร็จพระอรหัต เป็นสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ครั้นจริมกจิตดับแล้ว เป็นอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
นิพพานศัพท์ ๒ ความหมาย
ทรงแสดงพระมติว่า นิพพานศัพท์หมายเอาสอุปาทิเสส ควรแปลว่า หาของเสียบแทงมิได้ หมายเอาอนุปาทิเสส ควรแปลว่า ดับ
พระพุทธพจน์แสดงปฏิปทา (ข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน)
(คำแปล)
๑. ภิกษุยินดีในความไม่ประมาทแล้วหรือเห็นภัยในความประมาทโดยปกติ ย่อมไม่พอเพื่อเสื่อมรอบ ย่อมปฏิบัติใกล้นิพพานเทียว
อัปปมาทวัคค ธัมมบท
๒.ภิกษุมีความเคารพในพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ สิกขา ๓ ความไม่ประมาท และ ปฏิสันถาร ย่อมเป็นผู้ไม่พอเพื่อเสื่อมรอบ ย่อมปฏิบัติใกล้นิพพานเทียว
คารวสูตร สัตตกังคุตตร
๓. ฌานและปัญญามีในผู้ใด ผู้นั้นปฏิบัติใกล้นิพพาน
ภิกขุวัคค ธัมมบท
๔. ธีระชนเหล่านั้น เข้าฌาน มีความเพียร ติดต่อ มีความบากบั่นมั่นเป็นนิตย์ ย่อมถูกต้องนิพพานอันเกษมจากโยคะ หาธรรมอื่นยิ่งกว่าไม่มี
อัปปมาทวัคค ธัมมบท
๕. ภิกษุ เธอจงวิดเรือนี้ คืออัตตภาพนี้ เรืออันเธอวิดแล้ว จักพลันถึง เธอตัดราคะและโทสะแล้ว แต่นั้นจักถึงนิพพาน
ภิกขุวัคค ธัมมบท
๖. ภิกษุผู้เข้าไปตั้งกายคตาสติแล้ว สังวรในบ่อเกิดแห่งผัสสะ ๖ มีจิตตั้งมั่นติดต่อ พึงรู้นิพพานแห่งตน
นันทวัคค อุทาน
สรุปธรรมที่เป็นปฏิปทาแห่งนิพพาน
จากพระพุทธพจน์ทั้ง ๖ ข้อ ที่ทรงยกมา ได้ธรรมที่เป็นปฏิปทาแห่งนิพพาน ดังนี้
๑. ความไม่ประมาท
๒. ความเคารพ
๓. สมาธิและปัญญา
๔. ความเพียร
๕. หมั่นบรรเทากิเลสและบาปธรรม (วิดเรือ)
๖. เจริญกายคตาสติ และสำรวมอินทรีย์
บาลีแสดงสอุปาทิเสสนิพพาน
(เฉพาะคำแปล)
เพราะละตัณหาเสีย ท่านกล่าว่า นิพพาน
อุทายมาณวกปัญหา
ความดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ เพราะสิ้นตัณหาทั้งหลายด้วยประการทั้งปวง เป็นนิพพาน
นันทวัคค อุทาน
ธาตุอันหนึ่งแล เป็นไปในธรรมอันแลเห็นแล้วในโลกนี้ เป็นนิพพานธาตุมีอุปาทิยังเหลือ เพราะสิ้นธรรมชาติผู้นำไปสู่ภพ (ตัณหา)
ทุกนิบาต อิติวุตตก
ไวพจน์แห่งวิราคะมี มทนิมฺมทโน เป็นต้น ดังกล่าวมาในเรื่องวิราคะ ก็หมายเอา สอุปาทิเสสนิพพาน เช่นกัน
พระพุทธพจน์แสดงอนุปาทิเสสนิพพาน
(เฉพาะคำแปล)
เรากล่าวทวีปนั่นมิใช่อื่น หาห่วงมิได้ หาเครื่องยึดมิได้ เป็นที่สิ้นรอบแห่งชราและมัจจุว่านิพพาน
กัปปมาณวปัญหา
ส่วนธาตุเป็นไปในธรรมอันจะพึงถึงข้างหน้า ที่ภพทั้งปวงดับด้วยประการทั้งปวง เป็นนิพพานธาตุหาอุปาทิเหลือมิได้
ทุกนิบาต อิติวุตฺตก
ความเข้าไปสงบแห่งสังขารเหล่านั้น ย่อมเป็นความสุข
นิทานวัคค สังยุตตุ
ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีเลย อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญนาสัญญายตนะ ก็มิใช่ โลกนี้ก็มิใช่ โลกอื่นก็มิใช่ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ ก็มิใช่
อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวเลยซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา เป็นการไป เป็นการยืน เป็นการจุติ เป็นการเกิด อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นั่นแลที่สุดแห่งทุกข์
ปาฏลิคามิวัคค อุทาน
ในสูตรนี้ เรียกนิพพานว่า อายตนะ เพราะนิพพานเป็นธัมมายตนะ (เป็นอารมณ์ของมนายตนะ)
กล่าวว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีในนิพพานนั้น ส่องความว่า นิพพานมิใช่รูปขันธ์
กล่าวว่า นิพพานไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ เป็นต้น ส่องความว่า นิพพานมิใช่นามขันธ์
กล่าวว่า นิพพานมิใช่โลกนี้ มิใช่โลกอื่น มิใช่ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ส่องความว่านิพพาน ไม่ใช่โลกอย่างใดอย่างหนึ่ง (จักรวาล)
กล่าวปฏิเสธการไปมา การดำรงอยู่ การจุติ การเกิด ส่องความว่า นิพพานไม่มีสัมพันธ์ด้วยโลกอื่นด้วยการไปมาถึงกันธรรมดา และด้วยการเวียนเกิด
กล่าวว่า นิพพานไม่มีที่ตั้งอาศัย มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ ส่องความว่า นิพพานมิใช่โลก และมิใช่สัตว์โลก
รวมความแล้วนิพพานไม่ใช่อะไรสักอย่าง ถามว่า แล้วนิพพานคืออะไร คำตอบคือ อนฺโต ทุกฺขสฺส นิพพานเป็นที่สุดสิ้นแห่งทุกข์ เป็นปลายสายแห่งทุกขขันธ์ ทุกขขันธ์สุดลงเพียงนี้
พระพุทธพจน์แสดงนิพพาน ๒ บรรยาย
(เฉพาะคำแปล)
ธรรมชาตินั่นสงบแล้ว ธรรมชาตินั่นประณีตแล้ว ธรรมชาติไรเล่าเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เป็นที่สิ้นกำหนัด เป็นที่ดับ คือ นิพพาน
นวกาทิกงฺคุตตร
อุปธิ ในคำว่า เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง หมายถึง กิเลส ก็ได้ หมายถึง เบญจขันธ์ก็ได้ แต่ในที่นี้หมายถึงเบญจขันธ์ เป็นไวพจน์ของสังขารในบทต้น (คือมีความหมายเดียวกับสังขาร)
บทว่า เป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง และบทว่า เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง หมายเอาอนุปาทิเสสนิพพาน ส่วน ๓ บทต่อมา คือ เป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เป็นที่สิ้นกำหนัด เป็นที่ดับ หมายเอาสอุปาทิเสสนิพพาน
ปลูกฉันทะในนิพพาน
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงประทานข้อคิดไว้ว่า
วิสัยนักปราชญ์ มีปกติใช้สติปัญญาสอดส่องอรรถอันสุขุม หรือทั้งเคยได้ประสบ สามิสสุขมาด้วยตนเอง เห็นลงว่า สามิสสุขเป็นเครื่องเกี่ยวไว้ดุจเบ็ด เป็นเครื่องร้อยไว้ดุจสนตะพายหรือบังเหียน ผู้ข้องในสามิสสุขนั้น เป็นผู้อันจะพึงจูงไปได้ตามปรารถนา ไม่เป็นโสดแก่ตน ทั้งเป็นสุขไม่รู้จักอิ่ม ได้แล้วยังไม่พอ ในที่สุดย่อมแปรปรวนไป ท่านจึงทำความพอใจในสุขอันสุขุมกว่านั้น เช่นสุขเกิดแต่การรู้สึกว่าได้ทำกิจอันควรทำ
พระศาสดาทรงหมายเอาการรู้สึกอย่างนี้ จึงได้เปล่งพระสุรสิงหนาทว่า กิจอย่างใดอันพระศาสดาผู้เอ็นดู แสวงหาประโยชน์เพื่อสาวกทั้งหลายจะพึงทำ กิจอย่างนั้นอันเราได้ทำแล้วแก่พวกเธอทุกอย่าง
หรือว่า ตนอยู่ด้วยความไม่มีภัย ไม่มีเวร กับผู้อื่น ดังแสดงว่า ภิกษุมีใจประกอบด้วยเมตตา กรุณา เป็นจิตวิบูล ถึงความเป็นใหญ่หาจำกัดมิได้ หาเวรมิได้ หาความเบียดเบียนมิได้ แผ่ไปอยู่
หรือว่า ไม่เป็นอยู่เปล่า ได้ยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่เขาทั้งหลาย ดังแสดงว่า สัตบุรุษย่อมเกิดมาเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่มหาชน
หรือเกิดแต่การนึกอารมณ์อย่างอื่นอีก อันละม้ายกัน หรือเกิดแต่ความเลื่อมใสในธรรมดังแสดงว่า ผู้มีใจผ่องใส ได้ปีติอาศัยธรรมย่อมอยู่เป็นสุข
หรือเกิดแต่การพิจารณาธรรมดังแสดงว่า ในกาลใด ๆ ย่อมพิจารณาความเกิด ความดับ แห่งขันธ์ทั้งหลาย ในกาลนั้น ๆ ย่อมได้ปีติปราโมทย์ นั้นเป็นน้ำอมฤตของผู้รู้ทั้งหลาย
การใช้สติปัญญาสอดส่องอรรถอันสุขุมดังกล่าวมา ย่อมยังฉันทะให้เกิดในนิรามิสสุขละเอียดเป็นชั้น ๆ ปลูกความนิยมในธรรมอันซึ้งตามกัน ตลอดถึงนิพพานเป็นที่สุด เหตุนั้นพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงกล่าวยกย่องนิพพานว่า เป็นธรรมยวดยิ่ง
สรุปวิธีปลูกฉันทะในนิพพาน
ใช้สติปัญญาสอดส่องให้เห็นโทษของสามิสสุข แล้วทำความพอใจในสุขอันละเอียดกว่านั้นด้วยการปฏิบัติ ดังนี้
๑. ทำกิจที่ควรทำ
๒. อยู่ด้วยความไม่มีภัย ไม่มีเวรกับผู้อื่น
๓. ไม่เป็นผู้อยู่เปล่า ทำประโยชน์ให้เกิดแก่ส่วนรวม
๔. ทำใจให้เลื่อมใสในธรรม
๕. พิจารณาให้เห็นความจริงของชีวิต
หัวใจสมถกัมมัฏฐาน
กายคตาสติ
ศัพท์นี้ แปลว่า สติไปในกาย กัมมัฏฐานนี้เป็นคู่ปรับแก่กามฉันท์ กามฉันท์มีปกติให้รักสวยรักงาม กัมมัฏฐานนี้มีปกติให้เห็นน่าเกลียดเห็นโสโครก กุลบุตรผู้มาบรรพชา ย่อมได้รับสอนกัมมัฏฐานนี้ไว้ก่อนจากพระอุปัชฌาย์ เหมือนดังได้รับมอบศัสตราวุธไว้สำหรับต่อสู้กับข้าศึก คือกามฉันท์ อันจะทำ อันตรายแก่พรหมจรรย์ พวกภิกษุจึงเรียกกัมมัฏฐานนี้ว่ามูลกัมมัฏฐาน แปลว่า กัมมัฏฐานเดิม ในที่นี้จักแสดงโดยสังเขป
สาธุชนผู้จะเจริญกัมมัฏฐานนี้ พึงกำหนดตจปัญจกะ คือ หมวดแห่งอาการ ๕ อย่าง มีหนังเป็นที่สุด ให้จำได้ก่อน ทั้งโดยอนุโลมคือตามลำดับ ทั้งโดยปฏิโลม คือ ย้อนลำดับ อาการ ๕ อย่างนั้น คือ เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ นี้เป็นอนุโลม ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา นี้เป็นปฏิโลม ท่านสอนให้จำโดยอนุโลมและปฏิโลมดังนี้ เพื่อจะให้แม่นยำ และพึงรู้จักอาการทั้ง ๕ นั้นด้วย
๑. เกสา นั้น คือสิ่งที่เป็นเส้น ๆ งอกอยู่บนศีรษะ เบื้องหน้าเพียงหน้าผาก เบื้องท้ายเพียงปลายคอต่อ เบื้องขวาเพียงหมวกหูทั้ง ๒ ข้าง
๒. โลมา คือ สิ่งที่เป็นเส้น ๆ เหมือนกันอีกส่วนหนึ่ง อันมิใช่เกสา เส้นหยาบบ้างละเอียดบ้าง งอกอยู่ตามตัวทุกแห่ง เว้นผ่ามือฝ่าเท้า
๓. นขา คือ สิ่งที่เป็นเกล็ด งอกอยู่ตามปลายนิ้วมือปลายนิ้วเท้าทุก ๆ แห่ง
๔. ทนฺตา สิ่งที่เป็นซี่ ๆ งอกอยู่ในเหงือกเบื้องล่างเบื้องบน สำหรับบดเคี้ยวอาหาร
๕. ตโจ ได้แก่ สิ่งที่หุ้มอยู่ทั่วสรรพางค์กาย
พึงกำหนดรู้ง่าย ๆ ดังนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
ครั้นรู้จักสิ่งทั้ง ๕ อย่างนี้แล้ว พึงพิจารณาน้อมใจให้เห็นเป็นของน่าเกลียดโสโครก โดยปกติของมันทั้งในกายตนและในกายผู้อื่น ถ้ายังไม่เห็นโดยทันที พึงพิจารณาขยายออกไปโดยสี โดยสัณฐาน คือรูปร่าง โดยกลิ่น โดยที่เกิด โดยที่อยู่ อันผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นั้น มีสีก็ไม่งาม มีสัณฐานก็ไม่น่ารัก มีกลิ่นก็เหม็น มีที่เกิดที่อยู่ล้วนแต่เป็นที่โสโครก เพราะเป็นของปฏิกูล เขาจึงต้องตกแต่งทำนุบำรุง ไม่เช่นนั้น ก็จะปรากฏเป็นของปฏิกูลยิ่งนัก เป็นของน่าสะอิดสะเอียน ความเห็นน่าเกลียดนั้น มิใช่ไม่ปรากฏแก่สามัญชนเมื่อไร เป็นแต่เมื่อปรากฏแล้ว เขาน้อมใจนึกไปเสียโดยทางอื่นปรารภแต่ของที่เขาตกแต่งไว้แล้ว นึกเห็นเป็นงาม ความนึกเห็นเช่นนั้น เป็นเหตุชักนำกามฉันท์ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ยั่วยวนกามฉันท์ที่เกิดขึ้นแล้วให้แก่กล้า ไม่ใช่อารมณ์ของกัมมัฏฐานนี้ ความน้อมใจแส่เห็นเป็นข้างไม่งาม เป็นของสกปรก สุดแต่จะปรากฏได้อย่างไร นี้เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐานนี้ ผู้เจริญกัมมัฏฐานนี้ พึงนึกถึงอาการอันหนึ่งขึ้นก่อนโดยปกติของมัน หรือโดยสีสัณฐาน กลิ่น ที่เกิด ที่อยู่ และโดยอย่างอื่น น้อมใจให้เห็นว่าน่าเกลียดแล้วเลื่อนนึกถึงอาการอื่น ๆ ต่อไป เมื่อความชำนาญมีขึ้น นึกเพียงชื่อไปตามลำดับและย้อนลำดับความเห็นปฏิกูลย่อมจะปรากฏ คุมจิตได้ง่ายเข้า ในขณะใด ความปฏิกูลปรากฏ ในขณะนั้น จัดว่าได้ผลที่มุ่งหมายแห่งกัมมัฏฐานนี้ เพราะเหตุนั้น พึงรักษาอารมณ์นี้ไว้อย่าให้จืดจาง จะได้เป็นที่ตั้งแห่งสมาธิ แต่สมาธิในกัมมัฏฐานนี้เป็นแต่เพียงอุปจาร เพราะเหตุให้จิตท่องเที่ยวอยู่ไม่แน่แน่วลงแท้
กัมมัฏฐานนี้ เป็นประโยชน์แก่คนมีกามฉันท์ หรือเรียกราคจริตเป็นเจ้าเรือน มีอานิสงส์ไม่ให้ข้องอยู่ในกายตนและกายผู้อื่น
เมตตา
ศัพท์นี้ แปลว่า คุณสมบัติเป็นเหตุสนิทสนม กัมมัฏฐานนี้เป็นคู่ปรับแก่พยาบาท พยาบาทมีปกติให้คิดล้างผลาญ กัมมัฏฐานนี้มีปกติให้ชอบพอ สาธุชนผู้เจริญกัมมัฏฐานนี้ พึงนึกถึงคนอื่นเทียบกับตนว่า เรารักสุขเกลียดทุกข์ ฉันใด คนอื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น สิ่งที่ชอบใจของเรา ย่อมเป็นของที่ชอบใจของคนอื่น สิ่งไม่เป็นที่ชอบใจของเรา ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่นด้วยเหมือนกัน เราจะหาผลที่ชอบใจ ในทางเสียผลเช่นนั้นของผู้อื่น ย่อมไม่เป็นธรรม. แต่นั้นพึงปรารถนาความอยู่ด้วยไม่มีภัยไม่มีเวรกับผู้อื่น ถ้าคนที่ตนไม่ชอบมีอยู่ก็พึงนึกน้อมใจเพื่อให้หายเกลียดชังโดยโยนิโสมนสิการ คือ ความทำในใจถูกทาง พึงเลือกความดีอย่างใดอย่างหนึ่งของเขาขึ้นนึก สุดแต่จะเลือกได้ เป็นความประพฤติทางกายก็ตาม ทางวาจาก็ตาม ทางใจก็ตาม เช่นคนมักพูดบาดหูคนอื่น แต่ไม่ใช่คนดุร้ายถึงลงมือด้วยกายก็มี คนมักโกรธแต่ไม่ทำจริงก็มี คนดุร้าย แต่อีกฝ่ายหนึ่งมีน้ำใจเผื่อแผ่ อนุเคราะห์แก่ผู้อื่นก็มี เช่นนี้เป็นตัวอย่าง พึงนึกถึงความดีที่มีอยู่ในเขา บางทีจะระงับความเกลียดชังให้เบาลงหรือให้หายได้ ถ้าไม่มีความดีอย่างใดอย่างหนึ่งของเขา ที่จะพึงเอาขึ้นนึก ก็พึงยังกรุณาคือสงสารให้เกิด คนยากจนทรัพย์ ขาดกำลังเป็นเครื่องทำนุบำรุงชีวิตและร่างกายให้เป็นสุข และไม่ได้ช่องที่จะอนุเคราะห์คนอื่นด้วยกำลังทรัพย์ ควรได้รับกรุณาของคนมีทรัพย์ฉันใด คนไร้คุณสมบัติขาดกำลังเป็นเครื่องบำรุงใจให้เป็นสุข ไม่ได้ช่องที่จะชักจูงคนอื่นในความดี ซ้ำกลับเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ให้ได้รับทุกข์ภัยต่าง ๆ ควรได้รับความกรุณาของผู้ประพฤติธรรมมีสติสัมปชัญญะฉันนั้น อันจะเกลียดชังคนเช่นนั้น เท่ากับคนดีทะเลาะกับคนเมา เมื่อนึกอย่างนี้บางทีก็จะยังกรุณาให้เกิดขึ้นได้ ถ้าน้อมใจไม่ลง ก็พึงนึกถึงความที่สัตว์มีกรรมเป็นของ ๆ ตน ผู้ใดทำดีหรือชั่ว ผู้นั้นจงปรากฏด้วยกรรมของตนเอง พึงวางจิตลงเป็นอุเบกขา แม้อย่างนั้นก็ไม่สำเร็จ อย่านึกปรารภถึงผู้นั้นเสียเลย ถ้าเขาเกลียดชังตนต่างหาก ก็พึงหาช่องแสดงกายวาจาใจ หรืออนุเคราะห์เพื่อผูกไมตรี เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะได้อยู่โดยไม่มีภัยไม่มีเวรกับผู้อื่น แต่นั้น พึงน้อมจิตให้คิดชอบกับคนซึ่งเฉยอยู่แต่เดิมด้วยถ้อยทีถ้อยอาศัยทำสาราณียธรรมแก่กัน พึงทำคนผู้ชอบกันห่าง ๆ ให้สนิทสนม พึงทำคนผู้ชอบกันสนิทสนมแล้วให้มั่นเข้า ความปรารถนาแห่งจิต เพื่อชอบพอสนิทสนมกับคนอื่นดังนี้ ชื่อว่าเมตตา โดยความก็คือปรารถนาสุขแก่เขา ความนึกแผ่เมตตานี้ จัดว่าเป็นกัมมัฏฐานอันหนึ่ง
สาธุชนผู้เจริญเมตตา พึงแผ่โดยเจาะจงก่อนตั้งต้นแต่คนที่รักใคร่สนิท เช่นมารดา บิดา สามี ภรรยา บุตร บุตรี และท่านผู้มีอุปการะ อุปัชฌายะ อาจารย์ เจ้านายเป็นต้นไป ตลอดถึงญาติมิตร คนรู้จักคุ้นเคย และคนอื่น ๆ ที่ควรจะได้รับความปรารถนาอันดีต่อ เมื่อทำใจให้ชำนาญในการแผ่โดยเจาะจงนั้นแล้ว พึงแผ่โดยไม่เจาะจง เช่นไม่นิยมเฉพาะบุคคลชื่อนั้น ชื่อนี้ ที่ตนรู้จัก พึงปลูกความรักใคร่ในคนร่วมบ้านร่วมวัดร่วมเมืองร่วมประเทศร่วมชาติเป็นลำดับไป ตลอดถึงเพื่อนมนุษย์ทั่วไป ลงมาจนถึงสัตว์ดิรัจฉานเป็นที่สุด ตามแต่จะทำได้เพียงไร แผ่เมตตาโดยเจาะจงเป็นไปโดยแรงกล้า เป็นเหตุให้ช่วยเหลือกันแข็งแรง แต่เป็นไปในทางที่แคบ ทั้งเขตแห่งความไม่มีภัยไม่มีเวร ทั้งเขตแห่งความสำเร็จประโยชน์แก่ผู้อื่น แผ่เมตตาโดยไม่เจาะจง เป็นไปโดยเพลาแต่เป็นไปในทางที่กว้าง เช่นคนร่วมบ้านร่วมวัดตลอดถึงร่วมชาติ รักใคร่ปรองดองช่วยเหลือกัน แม้ไม่แข็งแรงเหมือนทำให้แก่ครอบครัวย่อมมีผลกว้างกว่า พาคนหมู่นั้นให้ได้สุขทั่วถึงกัน เหตุนั้น ในพระพุทธศาสนาจึงนิยมแผ่เมตตา โดยไม่เจาะจงว่าเป็นเมตตาอย่างสูงอย่างกว้าง ในการเจริญกัมมัฏฐาน ท่านผูกบทไว้ให้นึกว่าดังนี้ “สพฺเพ สตฺตา อเวรา อพฺยาปชฺฌา อนีฆา สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ” แปลว่า ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความลำบาก ไม่มีทุกข์ มีสุขรักษาตนเถิด ในชั้นต้น น้อมใจให้ปรารถนาความสุขแก่ผู้อื่นมาได้แล้ว นึกถึงบทสำหรับบริกรรมนี้ จะคุมจิตให้มีเมตตาขึ้นได้ในขณะนึก ในขณะใด เมตตาเป็นไปอยู่ ในขณะนั้น จัดว่าได้ผลที่มุ่งหมายแห่งกัมมัฏฐานนี้ จิตสัมปยุตด้วยเมตตาตั้งมั่นแน่วแน่ลงไป จัดเป็นอุปจารสมาธิ สามารถทำให้เกิดอัปปนาสมาธิได้
กัมมัฏฐานนี้เป็นประโยชน์แก่คนมีพยาบาทเป็นเจ้าเรือน หรือเรียกว่าโทสจริตตลอดคนเหล่าอื่นทั่วไป มีอานิสงส์ให้อยู่ด้วยความไม่มีภัยไม่มีเวร รักใคร่ปรองดองช่วยเหลือกัน. เหตุนั้น จึงควรเจริญตามกาล ถึงคราวควรแผ่เมตตาโดยเจาะจง ก็พึงเจริญโดยเจาะจง ถึงคราวแผ่โดยไม่เจาะจง ก็พึงเจริญโดยไม่เจาะจง
พุทธานุสสติ
ศัพท์นี้ แปลว่า ระลึกถึงพระพุทธเจ้า อธิบายว่า ระลึกถึงปรารภความดีของพระองค์ ไม่ได้ระลึกถึงโดยอาการยกโทษหรือข้อนขอด กัมมัฏฐานนี้เป็นคู่ปรับแก่ถีนมิทธนิวรณ์ ถีนมิทธะมีปกติให้ท้อแท้และง่วงงุน กัมมัฏฐานนี้ มีปกติให้อุตสาหะปรารภพระคุณของพระพุทธเจ้า และให้จิตนึกแล่นอยู่ สาธุชนผู้จะเจริญกัมมัฏฐานนี้ ควรอ่านหนังสือแสดงพระพุทธจรรยา เป็นต้นว่า เรื่อง ปฐมสมโพธิ และใคร่ครวญถึงพระพุทธจรรยาซึ่งทรงบำเพ็ญเป็นอย่าง ๆ ไป อันส่อพระคุณสมบัติในพระองค์ และทรงพระมหากรุณาอุปการะแก่ประชาชน ก็จะหยั่งเห็นพระคุณทั้ง ๒ ส่วนนี้โดยวิสัย ในที่นี้จะแสดงเฉพาะพระคุณบทที่ท่านผูกไว้สำหรับนึกสำหรับสาธยายเรียกว่า อนุสสรณนัย คือ "อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ”
พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงรู้แจ้งโลก คือ ปฐพี พร้อมด้วยสัตว์ผู้อาศัย และสังขารอันปรุงแต่งแผ่นดินและสัตว์เหล่านั้น ว่ามีความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา จึงเจริญในกาลบางครั้ง เสื่อมในกาลบางคราว สุดแต่เหตุปัจจัย อนึ่ง ในโลกนี้ ย่อมมีสิ่งต่าง ๆ อันจะล่อจิตให้รักให้ชังให้หลงให้กลัว คนไม่รู้เท่า ย่อมจะวุ่นไปตามด้วยความทะเยอทะยานบ้าง ด้วยความตกใจกลัวบ้าง แล้วและเฉไปประพฤติจากทางอันชอบอันถูก นี้เป็นเหตุแห่งความเสื่อมของโลกได้อย่างหนึ่ง ความมีกำลังสามารถต้านทานแต่มาร ๒ ประเภทนั้น เป็นปัจจัยแห่งความเจริญของโลกได้อย่างหนึ่ง พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกโดยนัยนี้เป็นอาทิ บัณฑิตจึงได้ถวายพระนามตามพระคุณว่า “โลกวิทู” แปลว่าท่านผู้รู้แจ้งโลก เมื่อพระองค์ทรงรู้แจ้งโลกอย่างนั้นแล้ว จึงไม่รักไม่หลงไม่มัวเมาในอารมณ์อันยวนจิต ไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เพราะอารมณ์อันคุกคามให้ตกใจกลัว ทรงมั่นอยู่ในปฏิปทาอันชอบ ยังความเป็นไปของพระองค์ให้ลุล่วงมาโดยสวัสดี ตลอดพระชนมายุกาล บัณฑิตจึงได้ขนานพระนามถวายว่า “สุคโต” แปลว่าท่านผู้ไปดีแล้ว หรือท่านผู้ดำเนินดีแล้ว.
ปฏิปทาของท่านผู้ดำเนินดีแล้ว เรียกว่า จรณะ เพราะเป็นเครื่องก้าวไปหาวิชชา คือ ความรู้พิเศษ พระองค์ทรงมั่นในปฏิปทานั้นอยู่ จึงได้บรรลุวิชชาความรู้อย่างสูง อันทำจิตให้พ้นจากหมู่มาร คือ กิเลสอันคอยนำสัตว์โลกลงในที่ต่ำ จึงได้พระนามโดยพระคุณธรรมว่า “วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน” แปลว่าท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาคือความรู้ และจรณะคือปฏิปทา วิชชานั้นเป็นความรู้อันชอบ เป็นประโยชน์แก่พระองค์แก่ผู้อื่นทั้ง ๒ ฝ่าย พระองค์เสาะหาได้เอง ไม่ได้มาแต่สำนักผู้อื่น พระปัญญาอย่างสูงนี้ยังพระองค์ให้ได้รับพระนามว่า “สมฺมาสมฺพุทฺโธ” แปลว่าท่านผู้รู้ชอบเอง พระปัญญานั้นย่อมยังผลอย่างสูงสุดให้สำเร็จแก่พระองค์ คือ ทรงบริสุทธิ์ด้วยประการทั้งปวง ควรแก่ความนับถือของประชาชนทุกหมู่เหล่า บัณฑิตจึงถือเอาพระคุณนี้เป็นที่ตั้งถวายพระนามว่า “อรหํ” แปลว่าท่านผู้ไกลกิเลสบ้าง ท่านผู้ควรได้รับความนับถือบ้าง คุณบทว่า “อรหํ” นี้เป็นนามเรียกได้ทั้งพระศาสดาทั้งพระสาวก แต่มีบทอื่นต่อท้ายให้แปลกกัน พระนามพระศาสดาว่า “อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ” แปลไว้แล้วข้างต้น นามสาวกว่า “อรหํ ขีณาสโว” แปลว่า พระอรหันต์สิ้นอาสวะ พระคุณเหล่านี้จัดเป็นอัตตสมบัติ คือ ความดีส่วนพระองค์
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระคุณที่เป็นอัตตสมบัติเช่นนั้นแล้ว จัดว่ามีภัคยะ คือ สมบัติอันชักจูงคนอื่นเข้ามาคบหา ผู้ใดเข้ามาคบพระองค์ย่อมทรงสั่งสอนผู้นั้น แจกอรรถแจกธรรมให้เข้าใจชัด บัณฑิตหมายเอาพระคุณสมบัตินี้ ขนานพระนามไว้ว่า “ภควา” แปลว่า ท่านผู้มีภัคยะหรือว่าท่านผู้มีภาค พระองค์ทรงแจกธรรมสั่งสอนประชาชน ให้ได้บรรลุผลอันดีงามทั้งส่วนโลกิยะทั้งส่วนโลกุตร ยังคนผู้ไม่เคยเข้าใจให้เข้าใจ ยังคนผู้เคยเข้าใจมาบ้างแล้ว ให้เข้าใจกว้างขวาง นำความหลงอันเป็นเหตุตื่นเต้นและหวาดหวั่นเสีย จึงได้พระนามว่า “พุทฺโธ” แปลว่า ท่านผู้ปลุกให้ตื่น หรือว่าท่านผู้ปลุกใจ พระองค์ทรงสั่งสอนอย่างนี้ แก่พุทธเวไนยทุกชั้น ตามสมควรแก่ภูมิของเขา ยกขึ้นในปฏิปทาที่สูงกว่าโดยลำดับ จึงได้รับพระนามว่า “สตฺถา เทวมนุสฺสานํ” แปลว่า ท่านผู้เป็นครูสอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย คือ ของคนทั้งเจ้าทั้งสามัญ พระองค์ทรงสั่งสอนคนเป็นอันมากเช่นนั้น ย่อมทรงรู้จักฉันทอัธยาศัย เข้าพระหฤทัยในอุบาย ชักจูงน้อมตัดเข้าหาทางดีทางงาม ไม่ต้องใช้บังคับขู่เข็ญ เป็นแต่เพียงใช้พระวาจาก็สำเร็จ ถ้าจะเทียบด้วยนายสารถีผู้ฝึกม้า ก็จัดว่าเป็นเอกอุไม่มีคนสู้ บัณฑิตจึงได้ถวายพระนามว่า “อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ” แปลว่า ท่านผู้เป็นสารถีฝึกบุรุษควรทรมานได้ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า พระคุณนี้จัดเป็นปรหิตปฏิบัติคือ ประพฤติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พระคุณทั้งสองส่วนนี้ มีในพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้สำเร็จพระนาม ๙ ประการ เรียกว่า นวรหคุณ แปลว่า คุณของพระอรหันต์ ๙ ประการ แต่เรียกกลับกันมาเป็นนวหรคุณ บัณฑิตผูกเป็นบทตั้งไว้สำหรับระลึกตาม ในเวลาเจริญพุทธานุสสติ ท่านเรียงบทที่เป็นผลไว้ข้างหน้า เรียงบทที่เป็นเหตุไว้ข้างหลัง เพื่อจะให้เข้าใจง่าย ในที่นี้ จึงได้อธิบายความแห่งบทอันเป็นเหตุถอยหลังเข้ามา
สาธุชนผู้เจริญพุทธานุสสติ ได้อ่านหนังสือแสดงพระพุทธจรรยามามากแล้ว พบแต่บทแสดงความไว้สั้น ๆ ก็จะพึงเข้าใจได้โดยกว้างขวาง ฝ่ายชนผู้ไม่ได้อ่านหนังสือเช่นนั้นมาก คงจะเห็นความแต่เฉพาะบทเช่นเดียวกับได้เห็นด้วยตาเอง หรือเห็นแต่รูปถ่าย ความกว้างแคบย่อมผิดกัน เมื่อจะเจริญพึงยังศรัทธาเลื่อมใสและเคารพให้เกิดในพระพุทธเจ้าแล้ว พึงบริกรรมนึกบทพระคุณนามเหล่านี้แต่เพียงลำพังหรือพร้อมทั้งอธิบาย เลื่อนไปโดยลำดับ หรือเลื่อมใสมากในพระคุณบทใดจะจับเฉพาะพระคุณบทนั้นขึ้นนึกก็ได้ เช่น เคยบริกรรมกันมาว่า “อรหํ ๆ” หรือ “พุทฺโธ ๆ” ดังนี้ แต่พึงรู้จักว่ากัมมัฏฐานนี้เป็นคู่ปรับแก่มิทธะ คือ ความง่วงงุน ต้องการนึกยาว ๆ ในสมัยใดมิทธะครองงำ ควรนึกไปโดยลำดับแม้พร้อมด้วยอธิบาย ในสมัยใดจิตปลอดโปร่ง จะนึกแต่บทที่ขึ้นใจก็ได้ หรือในเวลาไข้หนัก ความนึกสั้น จำต้องนึกเฉพาะบทแท้ ในสมัยใด พระคุณของพระพุทธเจ้าปรากฏแก่จิต เกิดอุตสาหะจะประพฤติตาม และห้ามมิทธะเสียได้ ในสมัยนั้น เป็นอันสำเร็จผลมุ่งหมายแห่งกัมมัฏฐานนี้ เพราะต้องใช้ความนึกเป็นเบื้องหน้า กัมมัฏฐานนี้เจริญได้ดี ก็เป็นเพียงอุปจารสมาธิ
กัมมัฏฐานนี้เป็นสบายแก่ชนมีถีนมิทธะเป็นเจ้าเรือน และแก่คนเป็นสัทธาจริต มีอานิสงส์ให้ตั้งใจไม่ย่อท้อต่อเหตุขัดข้อง เพื่อประพฤติความดีความงาม
กสิณ
ศัพท์นี้ แปลว่า วัตถุอันจูงใจ คือ จูงใจให้เข้าไปผูกอยู่ เป็นชื่อของกัมมัฏฐาน แปลว่ามีวัตถุที่ชื่อว่ากสิณเป็นอารมณ์ กัมมัฏฐานนี้เป็นคู่ปรับแก่อุทธัจจกุกกุจจนีวรณ์ อุทธัจจะมีปกติให้คิดพล่าน กุกกุจจะมีปกติให้จับจด ส่วนกัมมัฏฐานนี้ มีปกติคุมใจให้มั่น วัตถุที่เป็นกสิณนั้น ต้องเป็นของไม่บาดตา เป็นของทำให้ใจของผู้แลแช่มชื่น ท่านจัดไว้ ๑๐ ประการ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่เป็นอยู่โดยปกติ หรือบางอย่างจัดขึ้นไว้สำหรับ เรียกว่าภูตกสิณ นับเป็น ๔, สีขาว เหลือง แดง ขาบ ที่จัดขึ้นไว้สำหรับเรียก วรรณกสิณ นับเป็น ๔, แสงอากาศ แสงไฟที่เข้าตามช่อง เรียก อากาสกสิณ และอาโลกกสิณ โดยลำดับ ในที่นี้ จะแสดงโอทาตกสิณ คือสีขาวพอเป็นตัวอย่าง
สาธุชนผู้เจริญกสิณชนิดนี้ พึงขดไม้ให้เป็นวงกลม กว้างโดยศูนย์กลางสัก ๑๖ นิ้ว หรือราวนั้น พอตาจับได้ถนัด อย่าให้เล็กเกินไปจนนัยน์ตาจับเอาอื่นด้วย หรือใหญ่เกินไปจนนัยน์ตาจับไม่ทั่ววง เอาผ้าขาวอันบริสุทธิ์หุ้ม หรือเอาดอกไม้ขาวจัดในภาชนะอันกว้างโดยศูนย์กลางได้ราวเท่านั้นก็ได้ แล้วเอาวางห่างจากที่นั่งสัก ๒ ศอกคืบ หรือราวนั้น พอเพ่งดูถนัด อย่าให้ชิดเกินไป หรือห่างเกินไป จนนัยน์ตาจับไม่ถนัด แล้วพึงนั่งเพ่งดู โดยอาการตามถนัด ตากำหนดจำกสิณนั้น ใจนึกถึงสีว่า “โอทาตํ ๆ” แปลว่า “ขาว ๆ” คุมนัยน์ตาอันแลเห็น กับใจอันนึกให้อยู่ที่กสิณพร้อมกัน กิริยาที่ทำเรียกว่า บริกรรม ดวงกสิณเรียกว่าบริกรรมนิมิต กิริยาที่นึกว่า “โอทาตํ ๆ” เรียกว่า บริกรรมภาวนา บริกรรมนี้เป็นชั้นที่ ๑ ครั้นทำในชั้นนี้ชำนาญแล้ว พึงตั้งใจจำกสิณนั้นให้ติดตา ลองหลับตาดูในระหว่าง ๆ ถ้ายังไม่ติดตาต้องลืมดูใหม่ ในสมัยใดจำได้ติดตา หลับตาลง ดวงกสิณปรากฏในใจ เหมือนแลเห็น ในสมัยนั้น นิมิตที่ปรากฏในใจนั้น เรียก อุคคหนิมิต แปลว่านิมิตที่จิตจำได้ หรือเรียกว่า นิมิตติดตา กิริยาที่นึกนั้นเรียก บริกรรมสมาธิ แปลว่าสมาธิในบริกรรม นิมิตอันติดตา ที่กล่าวว่าปรากฏในใจนั้น เช่น กับคนขลาดได้พบสิ่งที่น่ากลัวอันให้ตกใจ หรือคนที่ผูกพันอยู่ในสิ่งหนึ่งหลับตาลง ย่อมแล
เห็นสิ่งนั้นติดตา แต่ท่านไม่จัดว่าเป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน เพราะเป็นเหตุตกใจหรือเป็นเหตุติดข้อง บริกรรมสมาธินี้เป็นชั้นที่ ๒ ครั้นทำในชั้นนี้ช่ำชองแล้ว พึงลองหลับตานึกถึงนิมิตนั้นขยายให้ใหญ่บ้างเล็กน้อย แต่อย่าให้เสียส่วนตามสัณฐาน ตัวอย่างเช่น รูปถ่ายมีขนาดต่างกัน แต่ส่วนแห่งอวัยวะนั้น ๆ ของรูปทั้งปวงทุกชนิดคงสมกันกับกาย เหมือนคนผู้เป็นเจ้าของรูปนั้น ในสมัยใด จิตจำนิมิตนั้นได้จนขยายออกหรือย่นเข้าได้ในสมัยนั้น นิมิตนั้นเรียกว่า ปฏิภาคนิมิต แปลว่านิมิตเทียบเคียง ภาวนานั้นเรียกว่า อุปจารภาวนา แปลว่าภาวนาใกล้อัปปนาสมาธิ อุปจารสมาธินี้เป็นชั้นที่ ๓ ผู้ทำได้แม่นยำจนถึงชั้นนี้แล้ว บำเพ็ญภาวนาต่อไปจนเข้าองค์กำหนดชั้นต้น จัดได้ว่าบรรลุปฐมฌาน เป็นสมาธิชั้นสูง เรียกอัปปนาสมาธิ แปลว่าสมาธิแน่นแฟ้น อัปปนาสมาธินี้ เป็นชั้นที่ ๔ นี้อธิบายตามมติของพระคันถรจนาจารย์ ฝ่ายข้าพเจ้าเองปรารถนาจะเข้าใจว่าชั้นที่ ๒ เป็นอุปจารภาวนา หรืออุปจารสมาธิ ชั้นที่ ๓ เป็นอัปปนาภาวนา หรือเป็นอัปปนาสมาธิ เพราะละนีวรณ์ ๕ ได้ในชั้นที่ ๓ แล้วก็เป็นอัปปนาอยู่เอง เพราะในปฐมฌาน ก็ยังมีวิตกวิจารอยู่เหมือนกัน
กัมมัฏฐานนี้ท่านพรรณนา ว่า บรรลุได้ถึงชั้นอัปปนา เพราะคุมจิตให้แน่วแน่อยู่ที่เดียว ผู้ศึกษาในกัมมัฏฐาน ไม่ควรมุ่งเฉพาะคุณที่สูงอย่างเดียว ควรมุ่งเฉพาะคุณที่เป็นวิสัยของตน พึงเจริญกัมมัฏฐานอันเป็นสบายแก่ตน เช่นคนสามัญปรารถนาฐานันดรเป็นมหาอำมาตย์จะได้สมหวังทั้งนั้นเทียวหรือ ถ้าไม่ได้ พยายามนั้นก็ไม่มีผล ควรพยายามในทางอื่นยังจะดีกว่า เพราะเหตุนั้น คนมุ่งจะเป็นมหาอำมาตย์ ต้องรู้จักกำลังของตน ทั้งแลเห็นช่องทางก่อน อุปมานี้ฉันใด ผู้เจริญกัมมัฏฐานก็พึงประพฤติฉันนั้น ไม่ควรจะเลยคุณเบื้องต่ำ ซึ่งตนควรจะถือเอาได้ก่อน
แม้แต่เพียงในชั้นบริกรรม ในสมัยใด คุมจิตไว้ที่กสิณแห่งเดียวได้ ไม่คิดพล่านในทางอื่น ได้ให้ความแช่มชื่นไม่อึดอัดเบื่อหน่ายในสมัยนั้น จัดว่าเป็นอันสำเร็จผลมุ่งหมายแห่งกัมมัฏฐานนี้
กัมมัฏฐานนี้ เป็นที่สบายแก่คนมีอุทธัจจกุกกุจจะหรือเป็นวิตกจริตเป็นเจ้าเรือน มีอานิสงส์ให้พินิจอดทน ในการงานที่ปรารภ
จตุธาตุววัตถานะ
ศัพท์นี้ แปลว่า กำหนดธาตุ ๔ กัมมัฏฐานนี้ เป็นคู่ปรับแก่วิจิกิจฉา วิจิกิจฉามีปกติให้ลังเลไม่แน่ใจลงได้ ส่วนกัมมัฏฐานนี้มีปกติให้กำหนดรู้โดยสภาวะ คนผู้ไม่กำหนดรู้โดยสภาวะ ไม่รู้จักสิ่งนั้น ๆ โดยความเป็นจริงอย่างไร จึงมีสงสัย เมื่อเข้าใจตามจริงแล้ว ก็สิ้นสงสัยไปได้อย่างหนึ่ง ๆ พระอาจารย์เจ้าแสดงกัมมัฏฐานนี้ไว้ ก็เพื่อจะให้เข้าใจความเป็นจริงของร่างกาย เป็นอุบายกำหนดรู้สภาวธรรมอย่างหนึ่ง เป็นเหตุออกไปกำหนดสภาวธรรมอย่างอื่นได้อีก
สาธุชนผู้จะเจริญกัมมัฏฐานนี้ พึงกำหนดรู้จักธาตุและสังขารก่อน สภาวะที่มีอยู่โดยธรรมดาอันจะแยกออกไปอีกไม่ได้ เรียกว่าธาตุ ธาตุเหล่านั้น คุมกันเข้าเองโดยธรรมดา หรือมนุษย์ปรุงขึ้นเรียกว่าสังขาร แสดงอุทาหรณ์พอเป็นตัวอย่าง เช่นกระดูก เนื้อ เลือด ความอุ่นและลมอากาศ ถ้าไม่ประสงค์จะกล่าวให้ละเอียดต่อไป เป็นธาตุละอย่าง ๆ ร่างกายคือประชุมธาตุเหล่านี้ เป็นสังขาร ฝ้ายและสีเป็นสัมภาระอันหนึ่ง ๆ ดุจเดียวกับธาตุ ผ้าที่คนเอาฝ้ายมาปั่นให้เป็นด้ายย้อมด้วยสีแล้วทอขึ้นนั้น เป็นสังขาร ธาตุหรือสัมภาระที่แสดงมาเป็นอุทาหรณ์นั้น ยังเรี่ยราดกระจัดกระจายกำหนดรู้ยาก นักปราชญ์จึงได้ย่นให้สั้นเข้า เพื่อกำหนดรู้ง่าย ครั้งโบราณท่านจัดธาตุที่เป็นส่วนรูป ๔ กระดูกก็ดี เนื้อก็ดี ฝ้ายก็ดี สีก็ดี ดังกล่าวไว้ในอุทาหรณ์ข้างต้นนั้น ท่านรวมเรียกเป็นธาตุอันเดียวว่าปฐวีหรือดิน ด้วยเหตุว่าธาตุเหล่านั้น แม้จะปรากฏว่าต่างกันโดยชนิด ก็ยังจัดว่าเป็นอันเดียวกันเข้าได้โดยลักษณะ คือ ความเป็นของแข็ง ส่วนเลือด เหงื่อ มัน ท่านจัดเป็นธาตุอันเดียวกันกับน้ำ เรียกอาโป เพราะเป็นของเหลวเหมือนกัน ไออุ่นแห่งร่างกาย ความร้อนที่เกิดแต่ของเสียดสีกัน เกิดแต่ไฟฟ้า เกิดแต่แสงแดดแห่งดวงอาทิตย์ ท่านจัดเป็นธาตุอันเดียวกันกับไฟ เรียกว่าเตโช เพราะมีความร้อนเป็นลักษณะเหมือนกัน ลมอันพัดมาแต่ทิศนั้น ๆ ตามฤดู พายุใหญ่อันตั้งขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว และลมอันเดินอยู่ในร่างกายของสัตว์ ท่านจัดรวมเข้าเป็นธาตุอันเดียวกัน เรียกว่าวาโย เพราะมีความพัดเป็นลักษณะเหมือนกัน
ครั้งโบราณนักปราชญ์จัดธาตุอันเป็นส่วนรูปเป็น ๔ อย่างนี้ ดังมาในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมวดธาตุในมหาสติปัฏฐานสูตร ต่อนั้นมา รู้จักธาตุขึ้นอีกอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่าอากาศ ธาตุนี้กำหนดรู้ได้ยาก เพราะเป็นของสุขุม ไม่เห็นได้ด้วยจักษุ อาจจะรู้ได้ด้วยสัมผัส แต่ก็ยังรู้ได้ยากเหมือนกัน ในที่ว่างเป็นช่อง ไม่ว่าเล็กไม่ว่าใหญ่ อากาศย่อมเดินเข้าขังอยู่เต็มทั้งนั้น แต่เพราะเป็นธาตุเบาและขยายตัว คนเดินไม่รู้สึกปะทะ ซ้ำเป็นอุปการะแก่ชีวิตของสัตว์ด้วย ทั้งมนุษย์ทั้งสัตว์ดิรัจฉานหายใจสูดอากาศเข้าไปปรุงโลหิตสำเร็จเป็นไออุ่น ถ้าใครจะรู้จักธาตุนี้ พึงเอากระบอกกรองน้ำ ลองกรองน้ำดูในห้องไว้น้ำที่สงัดลมในคราวแรกเอานิ้วมืออุดท่อข้างบนกระบอกเสีย จุ่มปากกระบอกลงไปในน้ำ คงจะรู้สึกว่าน้ำเข้าไปหน่อยหนึ่ง แล้วมีอะไรปะทะอยู่ นั่นคือ อากาศนี้เองอันเข้าขังอยู่ในกระบอก น้ำเข้าไปได้หน่อยหนึ่งนั้นเพราะอากาศต้องปะทะน้ำ อัดตัวเข้า น้ำเข้าไปอีกไม่ได้นั้น เพราะอากาศอัดตัวเต็มที่แล้วปะทะอยู่ คราวนี้เปิดนิ้วมือจากท่อข้างบนแต่วางไว้ตรงปากท่อ จุ่มกระบอกลงไปอีก คงรู้สึกว่าน้ำเข้าไปได้อีก ในขณะเดียวกันนิ้วมือได้รับสัมผัสเย็นฉิว ๆ ขึ้นมาจากท่อ ธาตุที่ขึ้นมาถูกนิ้วมือนี้คืออากาศ อีกอย่างหนึ่ง ขณะที่ไปในยานที่แล่นโดยเร็วได้สัมผัสลมเป็นอันมาก แต่ข้างทาง ต้นไม้นิ่งอยู่ ไม่ไหว ลมที่กระทบวู่ ๆ นั้น อากาศนี้เอง ยานเดินโดยเร็วปะทะอากาศโดยแรงจนรู้สึกสัมผัส หากจะเดินด้วยเท้าก็ไม่รู้สึก ท่านพบอากาศธาตุเข้าแล้วจึงได้เติมขึ้นอีกอย่างเป็นธาตุ ๕ ดังแสดงไว้ในจุลลราหุโลวาทสูตร แต่นักปราชญ์ในชั้นหลังกล่าวว่า วาโยกับอากาศเป็นธาตุเดียวกัน วาโยก็คืออากาศที่เดินกำลังแรงนั้นเอง ข้อนี้เป็นความจริงอุดหนุนการจัดธาตุ ๔ ของเดิม ให้มั่นเข้า ในที่นี้จักกล่าวเป็นธาตุ ๔ พอสมแก่ชื่อของกัมมัฏฐานบทนี้
ธาตุ ๔ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย นี้ มีทั้งภายนอกภายใน ธาตุภายนอก เช่น ภูเขา แม่น้ำ กองไฟ ลมพัด โดยลำดับกัน ธาตุเป็นภายในนั้น คือ ที่คุมเข้าเป็นร่างกายของสัตว์ ส่วนที่แข้นที่แข็งมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น เป็นปฐวีธาตุ ส่วนที่เหลวไม่แข้นเหมือนปฐวี เอิบอาบอยู่ในปฐวี รักษาปฐวีให้สดอยู่ เช่น โลหิต มันข้น มันเปลว และเหงื่อเป็นต้น เป็นอาโปธาตุ ส่วนที่ร้อนอบอุ่นรักษาปฐวีไม่ให้เน่า คือไออุ่นเกิดแต่หายใจสูดอากาศเข้าไปปรุงโลหิตที่เป็นไปโดยปกติ หรือที่แรงจัดขึ้นในเวลาเป็นไข้ ความร้อนที่เกิดขึ้นเพราะร่างกายบดฝน และแรงในอาโปธาตุสำหรับละลายอาหาร เป็นเตโชธาตุ ส่วนที่พัดไปมาเป็นเครื่องค้ำจุนปฐวี มีลมพัดขึ้นพัดลง และอากาศอันขังอยู่ในช่องว่างแห่งร่างกายแรงขับโลหิตให้เดินและแรงสูบอากาศเข้าไปและขับออก (คือหายใจ) เป็นวาโยธาตุ ธาตุทั้ง ๔ นี้คุมกันเป็นร่างกายฉันใด ในส่วนอันหนึ่ง ๆ แห่งร่างกายก็มีธาตุเหล่านี้เจือกันอยู่ฉันนั้น เช่น น้ำย่อมมีอยู่ในเนื้อ น้ำมันมีอยู่ในกระดูก แต่เพราะเป็นของมีอยู่น้อยไม่ถึงซึ่งอันนับ จึงเรียกแต่ธาตุที่มีมาก
มีคำถามสอดเข้ามาว่า อย่างไรร่างกายนี้จึงเดินได้พูดได้ ทำอะไรได้ต่าง ๆ แปลกจากรูปตุ๊กตาที่เขาปั้นไว้ มีคำแก้ว่า จะอธิบายละเอียดก็จะยืดยาว ขอกล่าวแต่เพียงว่า เกิดเพราะความพร้อมมูลปรองดองกัน ตุ๊กตากลยังรู้จักเดินได้ หีบเสียงยังรู้จักพูดได้ เครื่องจักรยังเลื่อยไม้หรือสีข้าวได้ เป็นอะไรสังขารมีวิญญาณครองจะทำไม่ได้ ความพร้อมมูลปรองดองแห่งธาตุทั้ง ๔ นั้น เกิดกำลังหรืออำนาจอันสำคัญขึ้นอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า มโน และแปลว่าใจ มโนนี้มีสายอยู่ ๕ สาย เรียกว่าวิถี ที่ปากหรือที่ปลายแห่งสายเหล่านี้เรียกว่าทวาร คือ นัยน์ตาเรียกว่าจักขุ ๑ หู เรียกว่าโสตะ ๑ จมูก เรียกว่าฆานะ ๑ ลิ้นเรียกชิวหา ๑ กาย ๑ จักษุเห็นรูป โสตะฟังเสียง ฆานะสูบกลิ่น ชิวหาลิ้มรส กายถูกต้องโผฏฐัพพะแล้ว มโนได้รับความรู้สึกทางวิถีทั้ง ๕ นี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นเหมือนเงาฉายมาปรากฏแก่มโนเรียกธรรมหรือ ธรรมารมณ์ แล้วมโนสั่งไปตามวิถีแห่งกาย หรือตามวิถีอื่นในอวัยวะทำกิจนั้น ๆ เพ่งความรู้ที่มโนได้รับทางทวาร ๕ ท่าน เรียกจักขุวิญญาณบ้าง โสตวิญญาณบ้าง ฆานวิญญาณบ้าง ชิวหาวิญญาณบ้าง กายวิญญาณบ้าง เพ่งความรู้ของมโนเอง เรียกมโนวิญญาณ. เหล่านี้เรียกธาตุละอย่าง ๆ ที่เป็นทวาร ๖ ที่เป็นอารมณ์ ๖ ที่เป็นวิญญาณ ๖ รวมเป็น ๑๘ ท่านย่นให้สั้นเข้าอีกเป็น ๑ เรียกวิญญาณธาตุ เติมเข้ากับธาตุ ๕ ซึ่งเป็นรูป รวมเรียกว่า ธาตุ ๖ ดังแสดงไว้ในธาตุวิภังคสูตร ธาตุ ๖ นี้ สงเคราะห์เข้าทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม
การแจกธาตุเป็นต่าง ๆ นั้น เป็นไปตามความเข้าใจของนักปราชญ์ในยุคหนึ่ง ๆ จะเอาเป็นยืนที่ไม่ได้ แต่ผลของการแจกธาตุให้กำหนดรู้นั้น คือ นำให้เข้าใจว่า สภาวะที่เป็นรูปธรรมน้อย ๆ รวมกันเข้าเป็นรูปใหญ่ขึ้นโดยลำดับ สภาวะที่เป็นนามธรรม เกิดเพราะความพร้อมมูลปรองดองแห่งรูปธรรม นี้ควรจับเป็นหลักในกัมมัฏฐานนี้
สาธุชนผู้เจริญกัมมัฏฐานนี้ เข้าใจธาตุและสังขารโดยลักษณะและประเภทอย่างนี้แล้ว พึงนึกถึงกายนี้อันธาตุทั้ง ๔ คุมกันเข้า โดยบทบาลีว่า “อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ” แปลว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ในชั้นแรกนึกถึงธาตุใด ควรกำหนดลักษณะ หรือแม้ประเภทด้วย ครั้นชำนาญแล้ว นึกเพียงแต่ชื่อธาตุ ลักษณะและประเภทก็จะปรากฏเอง ในสมัยใด ปลงใจเห็นลงเป็นธาตุคุมกัน ในสมัยนั้นเป็นอันได้ผลที่มุ่งหมายแห่งกัมมัฏฐานนี้
กัมมัฏฐานนี้ เป็นที่สบายแก่ชนมีวิจิกิจฉาเป็นเจ้าเรือน มีอานิสงส์ให้หายหลงในสภาวธรรม
วิปัสสนากัมมัฏฐาน
ปัญญาที่เห็นแจ้งชัดในอารมณ์ ชื่อว่า วิปัสสนา
เจตนาที่ทำให้ปัญญานั้นเกิดมีขึ้นในจิต ชื่อว่า วิปัสสนาภาวนา
สาธุชนผู้จะเจริญวิปัสสนาภาวนา พึงรู้จักธรรม ๓ อย่าง คือ
๑. ธรรมที่เป็นภูมิเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา
๒. ธรรมที่เป็นรากเหง้าเป็นเหตุเกิดขึ้นตั้งอยู่ของวิปัสนา
๓ ตัววิปัสสนา
สังขารทั้งที่เป็นอุปาทินนกะและอนุปาทินนกะ จำแนกออกโดยประการต่าง ๆ มีขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ เป็นต้น เป็นภูมิ เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั้น
สีลวิสุทธิ ความบริสุทธิ์ของศีล จิตตวิสุทธิ ความบริสุทธิ์ของจิตคืออุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ เป็นรากเหง้า เป็นเหตุเกิดขึ้นตั้งอยู่ของวิปัสสนานั้น
วิสุทธิ ๕ คือ ทิฏฐิวิสุทธิ ความบริสุทธิ์ของความเห็น กังขาวิตรณวิสุทธิ ความบริสุทธิ์ของปัญญาที่เห็นชัดข้ามล่วงกังขาเสียได้ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์ของความรู้จริงเห็นจริงว่า นี้เป็นทางและมิใช่ทางปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์ของความรู้ ความเห็นเป็นข้อปฏิบัติจะให้อริยมรรคเกิดขึ้น ญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งความรู้ความเห็นซึ่งเป็นโลกุตตระ คือรู้เห็นในมรรคทั้ง ๔ รวมวิสุทธิมรรคทั้ง ๕ นี้เป็นตัววิปัสสนา
อนึ่ง ปัญญาที่รู้จริง เห็นจริงในสภาวะอันเป็นเองของสังขาร คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนถึงนิพพิทา เบื่อหน่าย วิราคะไม่กำหนัดยินดี วิมุตติ หลุดพ้นจากอาสวกิเลส หลุดพ้นจากอาสวกิเลส นี่เป็นตัววิปัสสนาเหมือนกัน
ลักษณะ กิจ ผล และเหตุของวิปัสสนา
ความรู้ความเห็นว่า สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแจ้งชัด เป็นลักษณะ คือ เครื่องหมายของวิปัสสนา
ความกำจัดมืด คือ โมหะ อันปิดบังปัญญาให้เห็นความจริงของสังขารว่า ไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานั้นเสีย เป็นกิจ คือเป็นคุณของวิปัสสนา
ความเห็นจริง ส่องสว่างในความที่สังขารเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นผลของวิปัสสนา
จิตที่ตั้งมั่นด้วยสมาธิอันใดอันหนึ่ง (ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ) เป็นเหตุเกิดขึ้นตั้งอยู่ของวิปัสสนา
วิภาค คือ ความจำแนกของวิปัสสนา ๖ อย่าง
อนึ่ง ผู้ที่จะเจริญวิปัสสนาพึงทราบ วิภาค คือความจำแนกของวิปัสสนา ๖ อย่างคือ
๑. อนิจฺจ ไม่เที่ยง
๒. อนิจฺจลกฺขณ เครื่องหมายที่จะให้กำหนดรู้ว่าเป็นของไม่เที่ยง
๓. ทุกฺข ของที่สัตว์ทนได้ยาก
๔. ทุกฺขลกฺขณ เครื่องหมายที่จะให้กำหนดรู้ว่า เป็นทุกข์
๕. อนตฺตา ภาวะมิใช่ตัวมิใช่ตน
๖. อนตฺตลกฺขณํ เครื่องหมายที่จะให้กำหนดรู้ว่ามิใช่ตัวตน
สังขารทั้งหลายอันจำแนกออกเป็นขันธ์อายตนะ และธาตุ เป็นต้น เป็นตัว อนิจจํ เพราะเกิดขึ้นแล้วดับไป ในที่สุด
ความเกิดขึ้นแล้วดับไป และผันแปรเป็นอย่างอื่น เป็นอนิจจลักษณะ
สังขารทั้งหลายดังกล่าวมา หรือจะย่นกล่าวอีกอย่าง หนึ่งว่า นามรูปนั่นแล เป็นตัวทุกข์ เพราะถูกบีบคั้นด้วยความเกิด ความดับ และความผันแปร เป็นต้น
การที่ต้องเกิด ดับ และผันแปรเป็นอย่างอื่นไปเพราะ ชรา พยาธิ มรณะ เบียดเบียนเผาผลาญอยู่เป็นนิตย์ เป็นตัวทุกขลักษณะ
ธรรมทั้งหลาย (สังขาร) เป็นตัวอนัตตา เพราะว่างเปล่าจากตัวตน จากสัตว์ จากบุคคล
ความเป็นของว่างเปล่าจากตัวตน จากสัตว์ จากบุคคล เป็นแต่เพียงสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ๆ เป็นตัวอนัตตลักษณะ
วิธีเจริญวิปัสสนาตามนัยพระบาลี
สาธุชน เมื่อจะเจริญวิปัสสนาที่มีสังขารและธรรมเป็นอารมณ์นั้น พึงเจริญตามนัยที่มาในพระบาลีว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา
สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ดังนี้ก็ได้
หรือจะพิจารณาแยกกันว่า รูปํ อนิจฺจํ รูปไม่เที่ยง เวทนา อนิจฺจํ เวทนาไม่เที่ยง สญฺญา อนิจฺจา สัญญาไม่เที่ยง สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญฺญาณํ อนิจฺจํ
วิญญาณไม่เที่ยง รูปํ อนตฺตา รูปเป็นอนัตตา เวทนา อนตฺตา เวทนาเป็นอนัตตา สญฺญา อนตฺตา สัญญาเป็นอนัตตา สงฺขารา อนตฺตา สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา วิญฺญาณํ อนตฺตา
วิญญาณเป็นอนัตตา
ส่วนที่ว่า ไม่เที่ยง เป็นอนัตตานั้นมีความหมายอย่างไร ให้ดูความหมายที่ได้แสดงมาแล้วในการพิจารณาโดยแยกกันนี้ ไม่มีพระบาลีกล่าวถึงทุกข์ ท่านอธิบายว่า เพราะทุกขลักษณะรวมอยู่กับอนิจจาลักษณะแล้วตามพระบาลีว่า ยทนิจฺจํ ตํ ทุกฺขํ สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ยํ ทุกฺขํ ตทนตฺตา สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนี้เป็นอนัตตา
วิธีเจริญวิปัสสนาตามนัยอรรถกถา
ในอรรถกถาท่านแบ่งบุคคลผู้เจริญวิปัสสนาเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. สมถยานิก ผู้เจริญวิปัสสนาที่ได้ฌานมาแล้ว
๒. วิปัสสนายานิก ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน ๆ ไม่ได้ฌานมาก่อน
สมถยานิก ใช้ฌานเป็นบาทในการเจริญวิปัสสนา คือ เข้าฌานออกฌานแล้วพิจารณาองค์ฌานทั้ง ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ส่วนวิปัสสนายานิกบุคคล ต้องเจริญวิปัสสนาตามหลักวิสุทธิ ๗ คือ เริ่มแรกชำระศีลตามสมควรแก่ภาวะของตนให้บริสุทธิ์ ทำใจให้เป็นสมาธิ ด้วยขณิกสมาธิ หรืออุปจารสมาธิแล้วเจริญ ทิฏฐิวิสุทธิ ทำความเห็นให้บริสุทธิ์ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ กล่าวโดยย่อก็มีแต่รูปกับนามเท่านั้น ละสัตตูปลัทธิความถือผิดว่าเป็นสัตว์ สัตตสัญญา ความสำคัญผิดว่าเป็นสัตว์เสียให้ได้
ต่อจากนั้น เจริญกังขาวิตรณวิสุทธิ ทำลายความสงสัยเกี่ยวกับตนเองในกาลทั้ง ๓ โดยกำหนดรู้เหตุและปัจจัยของนามรูปให้แจ้งชัดว่า
อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม อาหาร เป็นเหตุเป็นปัจจัยของรูปธรรม
อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยของนามธรรม คือ เวทนา สัญญา สังขาร
วิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม นามและรูป เป็นเหตุเป็นปัจจัยของนามธรรม คือ วิญญาณ (วิญญาณ ๖)
เมื่อเข้าใจได้แน่ชัดเช่นนี้ ย่อมสาวไปถึงอดีตและอนาคตว่า นามรูปในอดีตที่ผ่านมาก็ดี ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็ดี ก็ล้วนแต่เกิดเพราะเหตุและปัจจัยเหมือนกับนามรูปในปัจจุบันนี่เอง
ต่อจากนั้นพึงเจริญมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ โดยกำหนดรู้ว่าความหลงปลื้มใจอยู่กับความรู้ ความสุข ความสงบที่เกิดใหม่เป็นต้น ไม่ใช่ทางแห่งมรรคผล แล้วไม่หลงปลื้มอยู่กับสิ่งเหล่านั้นมากำหนดรู้นามรูปโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ต่อจากนั้นพึงเจริญปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาญาณทั้ง ๙ มี อุทยัพพยญาณ เป็นต้น มีสัจจานุโลมิกญาณเป็นที่สุด
เมื่อวิปัสสนาจิตดำเนินไปถึงสัจจานุโลมิกญาณ ญาณที่รู้เห็นตามวิปัสสนาญาณ ๘ (อุทยัพพยญาณ จนถึงสังขารุเปกขาญาณ) แล้วโคตรภูญาณอันเป็นญาณสุดท้ายของความเป็นปุถุชนก็เกิดขึ้น แต่ไม่ได้ทำหน้าที่กำหนดรู้รูปนามตามวิปัสสนาญาณทั้ง ๘ จึงไม่นับเป็นปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ และไม่นับเป็นญาณทัสสนวิสุทธิ เพราะไม่ได้ทำหน้าที่ละกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน แต่ถึงการนับว่า วิปัสสนาเพราะตกอยู่ในกระแสของวิปัสสนา ก็เกิดขึ้น ต่อจากนั้น ญาณทัสสนวิสุทธิ คือมรรคจิต อันทำกิจในอริยสัจ ๔ คือ กำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย ทำนิโรธ (นิพพาน) ให้แจ้ง ทำมรรคให้เจริญก็เกิดขึ้น ละกิเลสตามสมควรแก่มรรคนั้น ๆ ได้เด็จขาดเป็นสมุจเฉทปหาน ต่อจากนั้นผลจิตเกิดขึ้น ๒ ครั้ง หรือ ๓ ครั้ง ต่อจากนั้น ปัจจเวกขณญาณ ญาณพิจารณา (๑) (๒) ผล (๓) กิเลสที่ละแล้ว (๔) กิเลสที่เหลืออยู่ (๕) นิพพาน นี้สำหรับพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ส่วนพระอรหันต์ มีปัจจเวกขณญาณ ๔ คือ (๑) พิจารณามรรค (๒) พิจารณาผล (๓) พิจารณากิเลสที่ละแล้ว (๔) พิจารณานิพพาน
การเจริญวิปัสสนาของผู้เป็นวิปัสสนายานิก มีวิธีปฏิบัติตามลำดับโดยย่อดังกล่าวมานี้ ส่วนผู้ปรารถนาที่จะศึกษาความพิสดาร พึงศึกษาจากหนังสือธรรมสมบัติ หมวดที่ ๑๐
¯¯¯¯¯¯¯¯¯¯