ฟังอบรมธรรมปฏิบัติ โดย หลวงปู่ชา สุภัทโท
ประวัติ หลวงพ่อชา สุภทฺโท
หลวงพ่อชา สุภทฺโท ท่านเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี ในหมู่บ้านก่อ เมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๔๖๑ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย
ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ ของนายมา และนางพิมพ์ ช่วงโชติ มีพี่น้องร่วมมารดา ๑๐ คน ท่านเป็นคนช่างพูด และมีลักษณะผู้นำมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่ออยู่กับหมู่เพื่อน ไม่ว่าจะเล่นหรือทำอะไรก็ตาม ท่านมักเป็นผู้วางแผนมอบหมายหน้าที่แก่คนอื่นเสมอ โดยปกติท่านเป็นคนอารมณ์ดี ร่าเริง วันไหนขาดท่าน เพื่อนๆ จะเงียบเหงา คุยหรือเล่นไม่ค่อยมีรสชาติ
ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของท่าน คือ ความรักสันติ ไม่เคยมีใครเห็นท่านมีเรื่องราวทะเลาะเบาะแว้งเป็นปากเป็นเสียงกับใคร โดยเฉพาะการชกต่อยข่มเหงรังแกกับผู้อ่อนแอกว่านั้น ยิ่งไม่มีเลย ตรงกันข้ามเมื่อเพื่อนฝูงมีปัญหาขัดใจกัน ท่านจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยคลี่คลายให้เรียบร้อยได้ด้วยความสามารถอันเป็นลักษณะเฉพาะตัว ประกอบกับปกติท่านเป็นคนมีน้ำในโอบอ้อมอารี และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนเสมอ เพื่อนๆ ก็เลยเกรงใจ
หลวงพ่อเติบโตขึ้นมาในบรรยากาศอบอุ่นและมั่นคง ครอบครัวของท่าน จัดว่ามีฐานะมั่งคั่ง
ครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้าน และมักสงเคราะห์ผู้ยากจนกว่าในยามข้าวยากหมากแพงอยู่เสมอ ตัวท่านเองเป็นเด็กที่มีกำลังวังชา กระฉับกระเฉงว่องไว ธาตุไฟแรง กินจุเป็นนิสัย แต่ความที่ท่านเป็นคนขยันไม่อยู่นิ่ง จึงสามารถช่วยงานในครอบครัวได้เป็นอย่างดีตั้งแต่อายุยังน้อย งานหลักที่เด็กชายชาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญมีอยู่ ๒ อย่าง คือ งานเลี้ยงควายและดูแลไร่ยาสูบ แต่งานหนักคืองานในไร่ยาสูบ ซึ่งมีถึง ๔-๕ ไร่ ปีหนึ่งๆ ต้องรดน้ำพรวนดิน ดูแลเก็บเกี่ยวจนได้ผลผลิตเป็นยาสูบ ซึ่งใช้แลกเปลี่ยนกับผลผลิตอย่างอื่น เช่น อาหารและสิ่งของเครื่องใช้กับเพื่อนบ้านใกล้เคียง
บรรพชา
หลังจากนั้นไม่นาน เด็กชายชาได้ขอให้พ่อแม่พาตัวไปฝากเป็นลูกศิษย์วัด พ่อแม่ก็ไม่ขัดข้องและพาไปอยู่ในความอุปการะของพระอาจารย์ลีที่วัดบ้านก่อนอก เด็กชายชาจึงมีโอกาสได้เรียนรู้กฎระเบียบและกิจวัตรประจำวันต่างๆ เมื่อได้รับการอบรมพอสมควรและมีอายุถึงเกณฑ์บรรพชา ท่านเจ้าอาวาสเห็นว่าเป็นเด็กเรียบร้อย ทั้งขยันหมั่นเพียร รู้จักอุปัฏฐากรับใช้ครูอาจารย์ด้วยดีมาตลอด จึงจัดการให้ได้บรรพชาพร้อมกับเพื่อนๆ อีกหลายคน โดยมีพระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง) เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม จ.อุบลราชธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ ที่วัดบ้านก่อ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๗๔ ขณะนั้นหลวงพ่ออายุได้ ๑๓ ปีพอดี
เมื่อบรรพชาแล้วนอกจากการท่องบทสวดมนต์ต่างๆ สามเณรชาได้เรียนหลักสูตรนักธรรมตรี และเรียนหนังสือพื้นเมืองที่เรียกว่า “หนังสือตัวธรรม” อย่างเชี่ยวชาญ
ระหว่างที่บรรพชาอยู่นั้น สามเณรชาได้อุปัฏฐากรับใช้ครูบาอาจารย์รูปหนึ่ง คือท่านอาจารย์ลัง จนได้รับความรักใคร่เอ็นดูจากท่านเป็นพิเศษ อาจารย์ลังได้เป็นธุระในการอบรมสั่งสอน และเอาใจใส่ดูแลการศึกษาเล่าเรียนของสามเณรอย่างใกล้ชิด เป็นเหตุให้ได้รู้จักกับครอบครัวของลูกศิษย์ด้วย เมื่อมีโอกาสว่างพระอาจารย์ลังก็มักชวนสามเณรกลับไปเยี่ยมบ้านและไปบ่อยขึ้นทุกที บางทีก็อยู่จนดึกจึงกลับวัด ในระยะหลังๆ พระอาจารย์ลังก็ปรารภเรื่องทางโลกบ่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งก็ได้ชักชวนให้ลูกศิษย์ลาสิกขาบทไปด้วยกัน จิตใจของสามเณรน้อยก็หวั่นไหว เพราะศรัทธาในพระศาสนายังไม่หนักแน่นมั่นคงพอที่จะอยู่ต่อได้ ถ้าอาจารย์ของตนจากไป เมื่อถูกครูบาอาจารย์ชวนบ่อยๆ ก็เลยลาสิกขาตามไปในที่สุด ตอนนั้นอายุได้ ๑๖ ปี
ต่อมาไม่นาน ทิดลังก็ได้มาสู่ขอนางสาวสา ช่วงโชติ พี่สาวของเซียงชา ไปเป็นภรรยา แต่ก็อยู่กินกันได้ไม่นาน
ความรัก
เพื่อนเที่ยวในวัยหนุ่มของเซียงชา ก็คือ เซียงพุฒ ทุมมากรณ์ เพื่อนเล่นตั้งแต่วัยเด็กนั่นเอง ทั้งสองชวนกันไปเที่ยวสนุกสนานกับเพื่อนตามประสาหนุ่มชาวบ้านทั่วๆ ไป บางทีก็ชวนกันไปจีบสาวทั้งบ้านใกล้บ้านไกล และในที่สุดเซียงชาก็มามีความสัมพันธ์รักกับนางสาวจ่าย ซึ่งเป็นลูกติดแม่เลี้ยงของนายพุฒนั่นเอง เรื่องรักของนายชาและนางสาวจ่ายนี้ ทุกคนในครอบครัวของนายพุฒก็รู้ดี และไม่มีใครรังเกียจ โดยเฉพาะพ่อแม่ของสาวนั้น มีความพอใจรักใคร่นายชาเสมือนบุตรของตนเอง เพราะเห็นว่าเป็นคนหนุ่มที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม ทั้งโดยส่วนตัวและฐานะทางครอบครัว พ่อแม่สาวถึงกับกีดกันหนุ่มอื่นขนาดไม่ยอมให้ขึ้นบันไดบ้านเลยทีเดียว
สองหนุ่มสาวได้ให้สัญญาต่อกันไว้ว่า จะรอจนกว่านายชาผ่านพ้นการเกณฑ์ทหาร แล้วบวชทดแทนคุณมารดาสัก ๑ พรรษาเสียก่อน หลังจากนั้นเมื่อทุกอย่างพร้อม ก็จะแต่งงานกันทันที เวลานั้นนายชามีอายุได้ ๑๙ ปี ส่วนนางสาวจ่ายอายุเพียง ๑๗ ปี
ย่างเข้าฤดูฝน ทุกบ้านต่างขมีขมันจัดเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือในการทำนา นายชาก็เช่นเดียวกัน ได้จัดสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ บรรทุกเกวียน เคลื่อนย้ายออกไปสู่กระท่อมกลางนา แล้วก็ง่วนอยู่กับการเตรียมงาน มีการจัดหาอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น คราด ไถ แอก จอบ ไว้ให้พร้อม รอการปักดำทำนา
ส่วนทางบ้านของนายพุฒและนางสาวจ่าย บิดามารดาของคนทั้งสองปรึกษาหารือกันในเรื่องการทำนา ซึ่งกำลังเป็นปัญหาเพราะขาดแรงงานสำคัญ ทั้งสามีภรรยาเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะให้นางสาวจ่ายแต่งงานมีคู่ครองเสีย จะได้มีสามีมาช่วยทำนา แต่ก็มองไม่เห็นว่าจะให้แต่งกับใคร นายชาที่หมายปองอยู่นั้นเล่าก็ยังไม่พร้อมสักที คงต้องรออีกหลายปี ในที่สุดฝ่ายสามีจึงโพล่งออกมาว่า
“ให้แต่งกับไอ้พุฒลูกชายของเรานี่แหละ”
ด้วยเหตุผลและความเหมาะสม คือทั้งสองหนุ่มสาวรู้จักสนิทสนมกันดีอยู่แล้วเหมือนพี่น้อง แต่ไม่ได้ร่วมบิดามารดาเดียวกัน ประกอบกับเหตุผลทางเศรษฐกิจด้วย เข้าทำนอง “เรือล่มในหนอง ทองจะไปไหน”
ส่วนนายพุฒและนางสาวจ่ายแม้จะรู้สึกกระอักกระอ่วน เพราะมีความรู้สึกต่อกันเหมือนพี่น้องจริงๆ แต่ก็ไม่กล้าปฏิเสธหรือขัดขืนความประสงค์ของพ่อแม่ได้
นายชาเมื่อได้ทราบข่าว รู้สึกชาไปทั้งตัว ซึมไปนาน แต่ในที่สุดนายชาก็ทำใจได้ไม่โกรธแค้นเพื่อน เพราะรู้ว่าเขาไม่มีเจตนาจะหักหลัง หากจำใจปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ใหญ่ ถึงอย่างนั้น ความผิดหวังครั้งนี้ก็เป็นบทเรียนเรื่องความไม่แน่นอนที่ถึงใจ กลายเป็นคำที่ท่านใช้บ่อยที่สุดในการอบรมลูกศิษย์ลูกหาของท่านในเวลาต่อมา
นายชายังรักษาความสัมพันธ์ฉันเพื่อนที่ดีกับนายพุฒเสมอ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่สำหรับแม่จ่ายนั้นตรงกันข้าม ท่านต้องระวังตัวมาก เมื่อบวชแล้ว ถ้าเห็นแม่จ่ายมา ท่านต้องรีบหลบเข้าป่าไป เจ็ดปีแรกที่บวช ท่านยังตัดอาลัยในแม่จ่ายได้ไม่ขาดเลย จนออกธุดงค์เจริญกรรมฐานแล้วนั่นแหละ ความรู้สึกจึงค่อยจางหายไป
อุปสมบท
เมื่ออายุครบ ๒๑ และทราบว่าไม่ต้องเข้ารับราชการทหาร นายชาก็ตัดสินใจออกบวชด้วยความชื่นชมยินดีของพ่อแม่ กำหนดการอุปสมบทมีขึ้น ในวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๒ ณ พัทธสีมาวัดก่อใน ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี
ท่านพระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูวิรุฬสุตการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอธิการสวน เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ท่านได้รับฉายาว่า สุภทฺโท (ผู้เจริญด้วยดี)
พระชา สุภทฺโท ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดก่อนอก ๒ พรรษา ระหว่างนั้นได้ศึกษาพระปริยัติธรรม สอบได้นักธรรมชั้นตรี แม้ที่วัดนี้ท่านจะยังไม่ได้ฝึกฝนอะไร แต่ก็ได้พิจารณาเห็นความเป็นไปหลายสิ่งหลายอย่าง การบวชๆ สึกๆ ของพระภิกษุสามเณรทั้งหลาย ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องโง่มาก การบวชเป็นเรื่องยาก การสึกนั้นง่าย ท่านถือว่าคนพวกนี้มีบุญน้อย ที่เห็นชีวิตแบบโลก ดีกว่าชีวิตนักบวช นอกจากนี้ท่านยังต้องผจญกับความหิว ความอยาก ที่กลุ้มรุมท่านเป็นอย่างมาก เพราะปกติท่านเป็นคนที่เจริญอาหารอยู่แล้ว ความอยากเกี่ยวกับอาหารการฉัน จึงเล่นงานท่านอย่างหนักทีเดียว
ออกศึกษาต่างถิ่น
ปี พ.ศ.๒๔๘๔ ท่านก็ได้ตัดสินใจออกแสวงหาความรู้ในต่างถิ่น โดยไปพำนักยังวัดสวนสวรรค์ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี และไปเรียนหนังสืออยู่ที่สำนักเรียนวัดโพธิ์ตาก หลังจากนั้นก็เดินทางไปยังสำนักเรียนวัดบ้านหนองหลัก ตำบลเหล่าบก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี แต่ไม่ได้จำพรรษาที่วัดแห่งนี้ เพราะเพื่อนของท่านไม่อยากอยู่ จึงเดินทางไปจำพรรษาอยู่ที่สำนักเรียนวัดเค็งใหญ่ อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านได้ศึกษานักธรรมชั้นโทและบาลีไวยากรณ์ และสอบนักธรรมชั้นโทได้ที่วัดนี้
ปี พ.ศ.๒๔๘๖ ท่านได้เดินทางกลับมาจำพรรษายังสำนักเรียนวัดบ้านหนองหลัก และได้ทุ่มเทกายใจศึกษาทั้งนักธรรมและบาลีอย่างเต็มที่ เมื่อออกพรรษาก็ได้รับข่าวว่าโยมบิดาป่วยหนัก ท่านลังเลอยู่นาน ห่วงโยมบิดาก็ห่วง เรื่องเรียนก็ห่วง แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านไปดูโยมบิดาและตัดสินใจไม่กลับไปสอบ อยู่ดูแลโยมบิดาจนกระทั่งวาระสุดท้าย
ก่อนถึงแก่กรรม โยมบิดาได้ขอร้องท่านว่า
“อย่าลาสิกขานะ อยู่เป็นพระอย่างนี้แหละดี สึกออกมามันยุ่งยากลำบาก หาความสบายไม่ได้”
ก่อนหน้านี้ เมื่อได้ยินคำพูดแบบนี้ท่านจะนิ่งไม่โต้ตอบอะไร แต่ในครั้งนี้ ท่านกลับให้คำตอบกับโยมว่า
“ไม่สึกหรอก จะสึกไปทำไม”
จากคำสั่งเสียของโยมบิดา บวกกับจิตใจที่เริ่มเบื่อหน่ายต่อการศึกษา ซึ่งท่านรู้สึกว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ จึงอยากจะศึกษาทางปฏิบัติดู ในที่สุดก็ท่านก็เปลี่ยนแนวคิดจากการมุเรียนด้านปริยัติ เริ่มชีวิตธุดงค์ออกเดินทางแสวงหาครูบาอาจารย์ตามที่ต่างๆ
ปี พ.ศ.๒๔๘๙ ท่านได้เดินทางไปจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาวงกต จังหวัดลพบุรี ที่นี่ท่านได้ทดลองวิธีการภาวนาหลายอย่าง ทั้งการนับลูกประคำ และการเจริญอานาปานสติแบบต่างๆ เป็นต้น และเริ่มหาวิธีกำจัดกามราคะ ซึ่งท่านเรียกว่าเป็นเรื่อง “ยากยิ่งสิ่งเดียว” สำหรับท่าน
พอออกพรรษาในปีเดียวกันนั้น หลวงพ่อก็ได้เดินธุดงค์ไปนมัสการหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต วัดหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร หลวงปู่มั่น ได้คลายความสงสัยข้องใจให้ท่านเกี่ยวกับเรื่องนิกายทั้งสองเสียได้ และนอกจากนั้นท่านยังหมดความลังเลสงสัยในหนทางประพฤติปฏิบัติ มีกำลังใจอาจหาญที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานให้ได้
หลวงพ่อพักอยู่สำนักหลวงปู่มั่นเพียง ๒-๓ วัน ก็ออกธุดงค์รอนแรมตามป่าเขาไปเรื่อยๆ ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิอยู่ที่ใด ก็มีความรู้สึกราวกับว่าหลวงปู่มั่นคอยติดตามให้คำแนะนำตักเตือนอยู่ตลอดเวลา การมากราบนมัสการหลวงปู่มั่นในครั้งนี้ ทำให้ศรัทธาของหลวงพ่อแกร่งกล้าขึ้น พร้อมที่จะเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความเพียร
หนองป่าพง
วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๗ หลวงพ่อและคณะธุดงค์ก็เดินทางมาถึงชายป่าดงดิบอันหนาทึบ ชาวบ้านเรียกว่า ดงหนองป่าพง ห่างจากบ้านก่อบ้านเกิดของท่านไม่ไกลนัก ต่อมาเห็นว่าควรตั้งเป็นสำนักสงฆ์ จึงได้เริ่มการปลูกสร้างเสนาสนะขึ้นด้วยแรงศรัทธาจากญาติโยมชาวบ้านก่อและบ้านกลาง มีกุฏิเล็กๆ ๓-๔ หลัง มุงด้วยหญ้าคา ปูด้วยฟากไม้ไผ่ ฝาทำด้วยใบตองชาดและต้นเลาต้นแขม ต่อจากนั้นหลวงพ่อก็พาญาติโยมออกไปปักเขตวัดเนื้อที่ประมาณ ๑๘๗ ไร่ และตัดถนนรอบ หลวงพ่อตั้งชื่อวัดว่า “วัดหนองป่าพง” แต่ชาวบ้านมักเรียกกันติดปากว่า วัดป่าพง
ในระยะเริ่มแรกของการก่อตั้งวัดนี้ พระภิกษุสามเณร รวมทั้งแม่ชีด้วย ต่างอยู่กันด้วยความลำบากทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งเครื่องห่มและเรื่องอาหารบิณฑบาต ถึงขนาดบางวันได้ฉันกล้วยแค่คนละครึ่งลูกก็มี แต่ทุกคนก็อยู่กันได้ด้วยธรรมปฏิบัติ กฎระเบียบหรือกิจวัตรต่างๆ ก็ไม่ต้องมีการจ้ำจี้จ้ำไชกันให้มากความ เพราะทุกคนที่อยู่ด้วยกันนั้นต่างมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรกันอยู่แล้ว เพียงแต่บอกกล่าวกันนิดหน่อยเมื่อมีการผิดพลาดในบางโอกาสเท่านั้น
สภาพปัจจุบันของวัดหนองป่าพง เป็นสำนักวัดป่าที่มีพระภิกษุสามเณรมาอาศัยประพฤติปฏิบัติธรรมเรือนร้อย มีกุฏิพระกว่า ๗๐ หลัง กุฏิแม่ชีกว่า ๖๐ หลัง นอกจากนั้นยังมีโบสถ์ ศาลาอเนกประสงค์ โรงฉัน เมรุเผาศพ เป็นต้น บนเนื้อที่ ๓๐๐ ไร่
นอกจากนั้น วัดหนองป่าพงยังมีวัดสาขาในประเทศไทย ๘๒ แห่ง ในต่างประเทศ ๘ แห่ง สาขาสำรองอีก ๕๑ แห่ง หลวงพ่อให้เหตุผลของการขยายสาขาไว้หลายประการ เป็นต้นว่า เพื่ออนุเคราะห์ญาติโยมผู้ต้องการสร้างวัดป่าใกล้บ้านของตน เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ การส่งพระออกไปตามคำนิมนต์ของชาวบ้านอย่างนี้ ถือเป็นการตอบสนองความต้องการของสังคม สำหรับพระเถระที่รับผิดชอบเป็นเจ้าของสำนักในแต่ละวัด ท่านก็ได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถที่ได้ศึกษามา สร้างประโยชน์แก่พระศาสนามากขึ้น และการที่หลวงพ่อคอยส่งคนเก่าออกจากวัดหนองป่าพงเรื่อยๆ ก็ทำให้มีที่ว่างสำหรับคนใหม่อยู่เสมอ
ปี พ.ศ.๒๕๒๐ หลวงพ่อได้ออกเดินทางไปเผยแผ่พุทธธรรมที่ประเทศอังกฤษ ตามคำนิมนต์ของนายยอร์ช ชาร์ป (George Sharp) ประธานมูลนิธิกิจการสงฆ์แห่งอังกฤษ (English Sangha Trust E.S.T) การเดินทางไปยังดินแดนตะวันตกในครั้งนี้ ส่งผลให้สำนัก BBC ประเทศอังกฤษ ส่งหนังสือติดต่อขอถ่ายทำภาพยนต์สารคดี เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่วัดหนองป่าพง และจากภาพยนต์สารคดีเรื่องนี้ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จนทำให้ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ มูลนิธิกิจการสงฆ์แห่งอังกฤษจึงได้นิมนต์หลวงพ่อ เดินทางไปเผยแผ่พระธรรม ในประเทศอังกฤษ อีกครั้งหนึ่ง และครั้งหลังนี้ หลวงพ่อใช้เวลาเดินทางเผยแผ่อยู่ถึงสองเดือน
จากการเดินทางไปตะวันตกสองครั้งของหลวงพ่อ ทำให้ปัจจุบันนี้มีสำนักสาขาของวัดหนองป่าพงในต่างประเทศกว่า ๑๐ แห่ง ตั้งอยู่ในประเทศต่างๆ คือ อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา
มรณภาพ
เมื่ออายุย่างสู่วัย ๖๐ หลวงพ่อก็มีอาการผิดปกติทางร่างกายเกิดขึ้น เริ่มจากรู้สึกว่า ร่างกายโงนเงน การทรงตัวไม่ค่อยดี มีอาการปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ บางครั้งหลวงพ่อมีอาการทรุดหนัก แต่เมื่อลูกศิษย์ลูกหามาเยี่ยม ท่านจะนั่งพูดคุยด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ลูกศิษย์ต่างวิตกเรื่องการอาพาธของหลวงพ่อ แต่ท่านกลับห่วงการประพฤติปฏิบัติของลูกศิษย์มากกว่า
กลางเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๔ อาการอาพาธของหลวงพ่อทรุดลงอีก ศิษย์จึงกราบนิมนต์ท่านไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ ขณะนั้นหลวงพ่อยังพอเดินเองได้ แต่ต้องพยุงบ้าง ผลการตรวจของแพทย์พบว่า ช่องภายในสมองมีขนาดโตผิดกว่าปกติ เป็นโรคน้ำไขสันหลังสมองคั่ง คณะแพทย์จึงได้ทำการผ่าตัด อาการดีขึ้นนิดหน่อย แต่ความจำไม่ค่อยดี
เมื่อกลับมาถึงวัดหนองป่าพง อาการกลับแย่ลงอีก ต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๕ ลูกศิษย์จึงนิมนต์ท่านเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯ รับหลวงพ่อไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ผลการตรวจแพทย์ได้วินิจฉัยอาการป่วยของท่านว่า มีสาเหตุมาจากเนื้อสมองเสื่อมจากเส้นเลือดอุดตัน และเนื้อสมองตายเป็นหย่อมๆ รวมทั้งเป็นเบาหวานด้วย อาการทั่วไปไม่ดีขึ้นเลย หลังจากพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนานถึง ๕ เดือน ท่านพระอาจารย์เลี่ยม ฐิตธมฺโม (รักษาการเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพงขณะนั้น) จึงตัดสินใจนิมนต์หลวงพ่อกลับวัดหนองป่าพง
หลวงพ่อได้เข้าพักในกุฏิพยาบาล ซึ่งสร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ และคณะศิษย์ได้ร่วมสมทบโดยเสด็จพระราชกุศล แม้หลวงพ่อจะอาพาธหนัก แต่บรรยากาศของวัดหนองป่าพงยังคงสงบและมั่นคง วัตรปฏิบัติของพระเณรดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะพระเถระร่วมกันปกครองหมู่คณะแทนหลวงพ่อ และทุกๆ ปี จะมีการประชุมใหญ่ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน (วันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อ) พระสงฆ์จากทุกสำนักสาขาทั้งในและต่างประเทศ จะเดินทางมาร่วมปฏิบัติบูชารำลึกถึงคุณของหลวงพ่อ รวมทั้งประชุมกันในวันนั้น
อาการของหลวงพ่อมีแต่ทรงกับทรุดเรื่อยมา จนกระทั่งเช้ามืดวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๕ เวลา ๐๕.๒๐ น. หลวงพ่อได้ละสังขารไปด้วยอาการสงบ ภายในกุฏิพยาบาล ท่ามกลางความเศร้าสลดของบรรดาลูกศิษย์
ตลอดชีวิตสมณะของหลวงพ่อ ท่านได้สร้างคุณงามความดีมากมายเกินกว่าที่จะกล่าวถึงให้ครอบคลุมทั้งหมดได้ สำนักวัดหนองป่าพงและสาขาน้อยใหญ่ อันเป็นวัดซึ่งมุ่งประโยชน์ด้านปฏิบัติ เพื่อนำผู้คนไปสู่ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ลูกศิษย์ลูกหาทั้งที่เป็นพระและฆราวาส ล้วนเป็นผู้ทรงธรรมวินัย และคนที่ท่านได้สร้างมานั้น ก็ได้ขยายบุญเขตกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ โดยมีภาพลักษณ์ของหลวงพ่อเป็นตัวอย่าง เป็นขวัญและกำลังใจให้อย่างยอดเยี่ยม