E-Books

ค้นหา

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
5431311

whosonline

มี 25 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม 

วัดป่าสาลวัน

ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา 

ประวัติและปฏิปทา 

  ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

         พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เกิดที่ บ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๒ เวลา ๐๕.๑๐ น. 

       มีพี่น้องร่วมกัน ๗ คน ท่านเป็นคนที่ ๔ และพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นคนที่ ๕ อายุห่างจากท่าน ๓ ปี ท่านมีนามเดิมว่า สิงห์ บุญโท บิดาชื่อ เพียอินทวงษ์ (อ้วน) (เพียอินทวงษ์ เป็นตำแหน่งข้าราชการหัวเมืองลาวกาว-ลาวพวน มีหน้าที่จัดการ ศึกษา และ การพระศาสนา) มารดาชื่อ หล้า บุญโท การศึกษาในสมัยที่ท่านเป็นฆราวาส ท่านได้ศึกษาจนเป็นครูสอนวิชาสามัญได้ดีผู้หนึ่ง

         บรรพชา เป็นสามเณร ฝ่ายมหานิกายในสำนักพระอุปัชฌาย์ป้อง ณ บ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่ออายุ ๑๕ ปี พ.ศ. ๒๔๔๖

บรรพชาอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นสามเณรธรรมยุตในสำนักพระครูสมุห์โฉม เจ้าอาวาสวัดสุทัศนาราม ในตัวเมืองอุบลราชธานี ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙

         เมื่ออายุครบบวชก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดสุทัศนาราม วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ เวลา ๑๔ นาฬิกา ๑๒ นาที สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) ขณะดำรงตำแหน่งพระศาสนดิลก เจ้าคณะมณฑลอีสาน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาเสน ชิตเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดทัศน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลวงปู่สิงห์เป็นสัทธิวิหาริก อันดับ ๒ ของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ได้ฉายาว่า ขนฺตยาคโม

         เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้เข้าศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยต่อในโรงเรียนสร่างโศกเกษมศิลป์ สอบไล่ได้มัธยมปีที่ ๓ ปี พ.ศ.๒๔๕๔ เข้าสอบไล่ได้วิชาบาลีไวยากรณ์ ในสนามวัดสุปัฏน์ฯ

เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๕๕ ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ให้เป็นครูมูลและครูมัธยมประจำอยู่ที่โรงเรียนสร่างโศกเกษมศิลป์

ในปี ๒๔๕๗ ท่านได้จัดการให้น้องชาย คือนายปิ่น บุญโท ได้บวชในพระบวรพุทธศาสนา เมื่อมีอายุได้ ๒๒ ปี และได้มาอยู่ที่วัดสุทัศนารามด้วยกัน

หลวงปู่สิงห์ได้เรียนพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นตรี ใน พ.ศ. ๒๔๕๘

ในขณะที่หลวงปู่สิงห์เป็นครูสอนนักเรียนอยู่นั้น ท่านเป็นอาจารย์เทศนาสั่งสอนประชาชนด้วย ได้ค้นคว้าหลักธรรมคำสั่งสอนของพระศาสนาสอนสัปบุรุษอยู่เรื่อยๆ วันหนึ่ง เผอิญท่านค้นพบหนังสือธรรมเทศนาเรื่อง เทวสูตร ซึ่งมีใจความว่า พระบรมศาสดาทรงตำหนิการบรรพชาอุปสมบทที่มีความบกพร่อง คือ การบวชแล้วไม่มีการประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยมีโทษมาก ตกนรกไม่พ้นอบายภูมิทั้ง ๔ จึงเป็นเหตุให้หลวงปู่สิงห์เกิดความสลดสังเวชสำนึกในตน ออกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ โดยลาออกจากตำแหน่งครูผู้สอน

เมื่อลาออกจากหน้าที่ครูแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ก็ได้ออกปฏิบัติกรรมฐาน ท่านได้พิจารณาว่า การปฏิบัติธรรมในสมัยนี้หมดเขตที่จะบรรลุมรรคผลหรือยัง ?ซึ่งท่านก็ได้รู้ว่า การบรรลุมรรคผลนิพพานยังมีอยู่แก่ผู้ที่ปฏิบัติจริง ท่านจึงได้มุ่งหน้าปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐานอย่างจริงจัง

หลวงปู่สิงห์พบพระอาจารย์มั่นเป็นครั้งแรกและกราบขอเป็นศิษย์

         และในปีนั้นเอง หลังจากท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้จำพรรษาที่กรุงเทพฯ ในปีนั้นแล้ว ท่านก็มีดำริว่า ท่านควรจะได้แนะนำสั่งสอนธรรมปฏิบัติที่ท่านได้รู้ ได้เห็นมา ซึ่งเป็นธรรมที่ยากที่จะรู้ได้ ซึ่งท่านได้อุตส่าห์พยายามบำเพ็ญมาเป็นเวลานับสิบๆ ปี ควรจะได้แนะนำบรรดาผู้ที่ควรแก่การปฏิบัติให้ได้รู้และจะได้แนะนำกันต่อ ๆไป

ดังนั้นเมื่อออกพรรษาแล้วท่านจึงได้ลาท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ กลับไปจังหวัดอุบล ฯ จำพรรษาที่วัดบูรพา ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ นั้น ปีนั้นท่านมีพรรษาได้ ๒๕ พรรษา ขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่นั้น ท่านก็พิจารณาว่า ใครหนอจะเป็นผู้ควรแก่การสั่งสอน

         พระราชธรรมเจติยาจารย์ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) ได้บันทึกเรื่องราวหลวงปู่สิงห์ไว้ในหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ดังนี้

“ในขณะนั้นท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นครูสอนนักเรียนอยู่เหมือนกับครูอื่น ๆ เป็นครูที่สอนวิชาสามัญแก่นักเรียนเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ ท่านได้ยินกิตติศัพท์ว่า ท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก ก็ใคร่ที่จะได้ศึกษาธรรมปฏิบัติ

         ในวันหนึ่งหลังจากเลิกสอนนักเรียนแล้ว ท่านก็ได้ไปนมัสการท่านอาจารย์มั่นฯ ที่วัดบูรพา ขณะนั้นเป็นเวลา ๑ ทุ่มแล้ว เมื่อเข้าไปเห็นท่านอาจารย์มั่นฯ กำลังเดินจงกรมอยู่ ท่านก็รออยู่ครู่ใหญ่ จนท่านอาจารย์เลิกจากการเดินจงกรม เหลือบไปเห็นท่านอาจารย์สิงห์ซึ่งนั่งอยู่ที่โคนต้นมะม่วง ท่านจึงได้เรียกและพากันขึ้นไปบนกุฏิ หลังจากท่านอาจารย์สิงห์กราบแล้ว ท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ได้พูดขึ้นว่า

“เราได้รอเธอมานานแล้ว ที่อยากจะพบและต้องการชักชวนให้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน”

เมื่อได้ยินเช่นนั้น ท่านอาจารย์สิงห์ถึงกับตกตะลึง เพราะท่านได้ทราบจิตใจของท่านอาจารย์สิงห์มาก่อน เนื่องจากท่านอาจารย์ได้ตั้งใจมาหลายเวลาแล้วที่จะขอมาพบกับท่าน เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ปฏิบัติธรรมด้วย พอท่านอาจารย์สิงห์ฯ ได้ฟังเช่นนั้นก็รีบตอบท่านไว้ว่า

“กระผมอยากจะปฏิบัติธรรมกับท่านมานานแล้ว”

กล่าวจบท่านอาจารย์มั่น ฯ จึงได้อธิบายให้ฟังว่า

“การบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์นั้นจักต้องปฏิบัติกัมมัฏฐาน คือพิจารณา ตจปัญจกกัมมัฏฐาน เป็นเบื้องแรกเพราะเป็นหนทางพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงตรัสรู้ธรรมด้วยการปฏิบัติอริยสัจจธรรม ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค”

เมื่ออธิบายไปพอสมควร ท่านก็แนะนำวิธีนั่งสมาธิ ท่านอาจารย์มั่น ฯ เป็นผู้นำนั่งสมาธิในตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ท่านอาจารย์สิงห์ก็เกิดความสงบ แล้วจิตสว่างไสวขึ้นทันที เป็นการอัศจรรย์ยิ่ง ภายหลังจากนั่งสมาธิเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้อธิบายถึงวิธีพิจารณากาย โดยใช้กระแสจิตพิจารณาจนเป็นที่พอใจแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ก็ได้ลากลับไป

จากนั้นมาท่านก็พยายามนั่งสมาธิทุกวัน จนเกิดความเย็นใจเกิดขึ้นเป็นลำดับ

อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์สิงห์ก็ไปสอนนักเรียนตามปรกติ (ขณะนั้นท่านเป็นครูสอนนักเรียนชั้นวิสามัญในโรงเรียนสร่างโศรกเกษมศิลป์) ซึ่งเด็กนักเรียนในสมัยนั้น เรียนรวมกันทั้งชายและหญิง และอายุการเรียนก็มาก ต้องเรียนถึงอายุ ๑๘ ปี เป็นการบังคับให้เรียนจบ ป. ๔

ขณะที่ท่านกำลังสอนนักเรียน มองดูเด็กนักเรียนเห็นแต่โครงกระดูกนั่งอยู่เต็มห้องไปหมด ไม่มีหนังหุ้มอยู่เลยสักคนเดียว จำนวนนักเรียนประมาณ ๓๘ คนได้มองเห็นเช่นนั้นไปหมดทุกคนเลย แม้ท่านจะพยายามขยี้ตาดูก็เห็นเป็นเช่นนั้น ที่สุดก็เกิดความสังเวชใจขึ้นแก่ท่านเป็นอย่างมาก แล้วก็เกิดความเบื่อหน่ายต่อสังขารเป็นอย่างยิ่ง. จึงนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์นัก เพราะธรรมดาปฏิภาคนิมิตต้องเกิดในขณะหลับตาอยู่ในฌานจริง ๆ แต่ท่านกลับเห็นทั้งหลับคาและลืมตา อาการที่ท่านเห็นเป็นอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานาน จนนักเรียนพากันสงสัยว่า ทำไมครูจึงนั่งนิ่งอยู่เช่นนั้น ทุกคนเงียบกริบ เวลาได้ล่วงไปนานโขทีเดียว ตาของท่านจึงค่อยปรากฏเห็นร่างของเด็ก นักเรียนในชั้นเหล่านั้นมีเนื้อหนังขึ้นจนปรากฏเป็นปรกติ หลังจากนั้นท่านก็พูดกับเด็กนักเรียนทั้งหลายเป็นการอำลาว่า

“นักเรียนทุกคน บัดนี้ครูจะได้ขอลาออกจากความเป็นครูตั้งแต่บัดนี้แล้ว เนื่องจากครูได้เกิดความรู้ในพระพุทธศาสนา ได้เห็นความจริงเสียแล้ว”

และท่านก็ได้ลาออกจากการเป็นครู เพื่อตั้งหน้าปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังต่อไป และในปีนั้นหลังจากที่ได้กราบถวายตัวเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว หลวงปู่สิงห์ก็ได้นำพระปิ่น ปญฺญาพโล ผู้น้องชายเข้ากราบนมัสการและฟังธรรมกับพระอาจารย์มั่นด้วย ทำให้พระมหาปิ่นเกิดความศรัทธามาก และได้ให้ปฏิญาณว่า จะขอลาไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ สัก ๕-๖ ปี แล้วจึงจะออกมาปฏิบัติธรรมด้วย

หลวงปู่สิงห์พบกัลยาณมิตร

 

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ในช่วงเวลาเดียวกันของปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ทางด้านจังหวัดสุรินทร์ หลวงปู่ดูลย์ อตุโลซึ่งขณะนั้นได้บวชเป็นพระภิกษุได้ ประมาณ ๕ พรรษา พำนักอยู่ที่วัดบ้านคอโค จังหวัดสุรินทร์ ได้ยินกิตติศัพท์เกี่ยวกับการสอนการเรียนพระปริยัติที่จังหวัดอุบลราชธานี ตามแบบของมหามกุฎราชวิทยาลัยแห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ท่านก็มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเดินทางไปศึกษายังจังหวัดอุบลฯท่านได้เพียรขออนุญาตพระอุปัชฌาย์เพื่อเดินทางไปศึกษา แต่ก็ถูกทัดทานในเบื้องต้น เพราะในระยะนั้นการเดินทางจากสุรินทร์ไปอุบลราชธานีลำบากยากเข็ญเป็นอย่างยิ่ง

ท่านเพียรขออนุญาตหลายครั้ง นี่สุดเมื่อพระอุปัชฌาย์เห็นความมุ่งมั่นของท่าน จึงได้อนุญาต ท่านจึงได้ออกเดินทางไปกับพระภิกษุอีก ๒ องค์ คือ พระคง และ พระดิษฐ์

เมื่อท่านได้เดินทางไปถึงอุบลราชธานี หลวงปู่ดูลย์ต้องประสบปัญหาในเรื่องที่พัก เนื่องจากท่านบวชในมหานิกาย ขณะที่ วัดสุปัฏนาราม และ วัดสุทัศนาราม แหล่งศึกษาพระปริยัติธรรมนั้นเป็นวัดฝ่ายสงฆ์ธรรมยุตโชคดีที่ได้พบ พระมนัส ซึ่งได้เดินทางมาเรียนอยู่ก่อนแล้ว ได้ให้ความช่วยเหลือฝากให้อยู่อาศัยที่ วัดสุทัศนารามได้ แต่อยู่ในฐานะพระอาคันตุกะ ทำให้ความราบรื่นในทางการเรียนค่อยบังเกิดขึ้นเป็นลำดับการที่ท่านได้พักในวัดสุทัศนารามก็เป็นเหตุให้ท่านได้มีโอกาสรู้จักคุ้นเคยกับ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งขณะนั้นท่านรับราชการครู ทำหน้าที่สอนฆราวาส ทั้งที่ยังเป็นพระสงฆ์อยู่ที่วัดสุทัศนาราม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อรู้จักคุ้นเคยกันมากเข้า ประกอบกับ หลวงปู่สิงห์ และหลวงปู่ดูลย์ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่หลวงปู่ดูลย์อ่อนพรรษากว่า ๑ พรรษา หลวงปู่สิงห์จึงชอบอัธยาศัยไมตรีของหลวงปู่ดูลย์ และเห็นปฏิปทาในการศึกษาเล่าเรียน พร้อมทั้งการประพฤติปฏิบัติกิจในพระศาสนาของท่าน ว่าเป็นไปด้วยความตั้งใจจริง และต่างฝ่ายต่างจึงเป็นกัลยาณมิตรกันมาโดยตลอด

ครั้นเมื่อหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้กราบท่านพระอาจารย์มั่นฝากตัวขอเป็นศิษย์แล้ว เมื่อได้โอกาสก็ได้นำหลวงปู่ดูลย์เข้าไปกราบเป็นศิษย์อีกองค์หนึ่งด้วย

หลวงปู่สิงห์ธุดงค์ตามพระอาจารย์มั่น

         เมื่อออกพรรษาในปี ๒๔๕๘ แล้ว ท่านอาจารย์มั่นได้กราบลาพระกรรมวาจาจารย์ (พระครูสีทา ชยเสโน) เพื่อไปติดตามพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ซึ่งขณะนั้นท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำภูผากูด บ้านหนองสูง อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันขึ้นอยู่กับจังหวัดมุกดาหาร)

ในคราวนั้น ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ทราบว่าท่านอาจารย์มั่นธุดงค์ไป ท่านก็ธุดงค์ตามไปติดๆ กับท่านอาจารย์มั่น แต่พอก่อนจะถึงถ้ำภูผากูด ท่านก็ล้มเจ็บเป็นไข้ป่า จึงได้เดินทางกลับมารักษาตัวอยู่ที่จังหวัดอุบลฯ

หลวงปู่สิงห์ธุดงค์ไปโปรดศิษย์

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

         ก่อนเข้าพรรษา พ.ศ. ๒๔๕๙ หลังจากที่รักษาไข้ป่าจนสงบไปแล้ว หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้เดินรุกขมูล ไปกับพระอาจารย์คำ มาถึงวัดบ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของหลวงปู่เทสก์ เทสรํสี ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นนายเทสก์ เรี่ยวแรง อายุย่าง ๑๕ ปี นายเทสก์ และบิดาได้อุปัฏฐากหลวงปู่สิงห์อยู่ ๒ เดือน ทีแรกท่านตั้งใจจะอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น แต่เนื่องด้วยท่านมีเชื้อไข้ป่าอยู่แล้ว พอมาถึงที่นั้นเข้า ไข้ป่าของท่านยิ่งกำเริบขึ้น พอจวนเข้าพรรษาท่านจึงได้ออกไปจำพรรษา ณ ที่วัดร้างบ้านนาบง ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ นายเทสก์ก็ได้ตามท่านไปด้วย ในพรรษานั้นท่านเป็นไข้ตลอดพรรษา ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในเวลาว่างท่านยังได้เมตตาสอนหนังสือและอบรมนายเทสก์บ้างเป็นครั้งคราว จวนออกพรรษาท่านได้ชวนนายเทสก์ให้ติดตามท่านไปโดยท่านได้บอกว่า ออกพรรษาแล้วจะต้องกลับบ้านเดิม แล้วท่านถามนายเทสก์ว่า เธอจะไปด้วยไหม ทางไกลและลำบากมากนะ นายเทสก์ตอบท่านทันทีว่า ผมไปด้วยครับ

         หลวงปู่สิงห์ได้พานายเทสก์ออกเดินทางทางจากท่าบ่อ ลุยน้ำลุยโคลน บุกป่าผ่าต้นข้าวตามทุ่งนาไปโดยลำดับ เวลาท่านจับไข้ก็ขึ้นนอนบนขนำนาหรือตามร่มไม้ที่ไม่มีน้ำชื้นแฉะ รุ่งเช้าท่านยังอุตส่าห์ออกไปบิณฑบาตมาเลี้ยงนายเทสก์ด้วย เดินทางสามคืนจึงถึงอุดรฯ แล้วพักอยู่วัดมัชฌิมาวาส ๑๐ คืนจึงได้ออกเดินทางต่อไปทางจังหวัดขอนแก่น ผ่านมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร การเดินทางครั้งนี้ใช้เวลาเดือนเศษ จึงถึงบ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ อันเป็นบ้านเกิดของท่าน ท่านพักอบรมโยมแม่ของท่าน ณ ที่นั้นราว ๓ เดือน และหลวงปู่สิงห์ก็ได้ดำเนินการให้นายเทสก์ได้บรรพชาเป็นสามเณร กับพระอุปัชฌาย์ลุย บ้านเค็งใหญ่ ตำบลเค็งใหญ่ อำเภอหัวตะพาน และได้พาสามเณรเทสก์มาพักอยู่ที่วัดสุทัศนาราม จังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเคยเป็นพี่พักอยู่เดิมของท่าน หลังจากนั้นท่านก็ได้ปล่อยให้สามเณรเทสก์ ได้อยู่ศึกษาที่โรงเรียนวัดศรีทอง

พระปิ่นผู้น้องชายเข้ากรุงเทพฯ

          ในปี ๒๔๖๐ หลวงปู่สิงห์ได้จัดการส่งพระปิ่น น้องชายของท่านออกเดินทางจากจังหวัดอุบลราชธานี เข้าไปอยู่จำพรรษาอยู่ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร พระปิ่นได้ตั้งใจ ศึกษาเล่าเรียนจากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารนั้น เป็นเวลา ๕ ปี และได้หาความรู้อย่างทุ่มเทชีวิต ความมุมานะอดทนทำให้ท่าน สอบนักธรรมชั้นตรี โท เอก จนกระทั่งได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค ตามลำดับ

ช่วยหลวงปู่ดูลย์ให้ได้ญัตติเป็นธรรมยุต

         หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโมนั้น นอกจากนำพาให้หลวงปู่ดูลย์เข้าเป็นศิษย์ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฎฐานแล้ว ยังเป็นภาระช่วยให้หลวงปู่ได้ญัตติอยู่ในฝ่ายธรรมยุต ต่อมาได้อีกด้วยเรื่องก็มีอยู่ว่า หลวงปู่ดูลย์นั้นท่านได้พยายามอย่างยิ่งที่จะญัตติจากมหานิกายมาเป็นธรรมยุติกนิกาย ท่านบวชเป็นพระในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย จึงมีปัญหาในด้านการเรียนกับวัดที่เป็นธรรมยุติกนิกาย ท่านจึงมีความคิดที่จะเปลี่ยนนิกายใหม่อันเป็นความคิดที่ค้างคาใจของท่านอยู่แต่เดิม แต่ทางคณะสงฆ์ธรรมยุต โดยเฉพาะพระธรรมปาโมกข์ (ติสฺโส อ้วน) เจ้าคณะมณฑลในขณะนั้น ได้ให้ความเห็นว่า อยากจะให้ท่านศึกษาเล่าเรียนไปก่อน ไม่ต้องญัตติ เนื่องจากทางคณะสงฆ์ธรรมยุตมีนโยบายจะให้ท่านกลับไปพัฒนาการศึกษาพระปริยัติธรรม ที่จังหวัดสุรินทร์ หากท่านญัตติเปลี่ยนนิกายเป็นธรรมยุต ท่านจะต้องอยู่โดดเดี่ยว เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่วัดฝ่ายธรรมยุตที่จังหวัดสุรินทร์เลย”

แต่ตามความตั้งใจของหลวงปู่ดูลย์เองนั้น มิได้มีความประสงค์จะกลับไปสอนพระปริยัติธรรม จึงได้พยายามขอญัตติต่อไปอีก

ต่อมา ซึ่งจะนับว่าเป็นโชคของท่านก็ว่าได้ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกอันดับ ๒ ของสมเด็จฯ เมื่อทราบเรื่องเข้าก็ได้ช่วยเหลือหลวงปู่ดูลย์ในการขอญัตติ จนกระทั่งประสบผลสำเร็จ

ดังนั้น ใน พ.ศ. ๒๔๖๑ ขณะเมื่ออายุ ๓๑ ปี หลวงปู่ดูลย์จึงได้ญัตติจากนิกายเดิมมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในธรรมยุติกนิกาย ณ พัทธสีมา วัดสุทัศน์ฯ จังหวัดอุบลราชธานี นั้นเอง

ออกธุดงค์กับหลวงปู่ดูลย์

        ครั้นถึงกาลจวนเข้าพรรษา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโมและสหธรรมิกอีก ๕ รูป คือ พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล, พระอาจารย์บุญ ปัญญาวโร, พระอาจารย์สีทา ชัยเสโน พระอาจารย์หนู และพระภิกษุอีก ๑ รูป จึงได้เดินธุดงค์แสวงหาที่สงบวิเวกเพื่อบำเพ็ญเพียรในกาลเข้าพรรษานั้น นับว่าเป็นโอกาสอันดียิ่งของพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ในการออกธุดงค์ครั้งแรกที่ได้ร่วมเส้นทางไปกับหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโมคณะของหลวงปู่สิงห์ เดินธุดงค์เลียบเทือกเขาภูพานมาจนกระทั่งถึงป่าท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ มีความเห็นตรงกันว่าสภาพป่าแถบนี้มีความเหมาะสมที่จะอยู่จำพรรษาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้สมมติเอาบริเวณป่านั้นเป็นวัดป่า แล้วก็อธิษฐานอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น จากนั้นทุกองค์ก็ตั้งสัจจะปรารภความเพียรอย่างแน่วแน่ ดำเนินข้อวัตรปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนของพระอาจารย์ใหญ่มั่นอย่างอุกฤษฏ์

บริเวณป่าท่าคันโทแถบเทือกเขาภูพาน ที่หลวงปู่สิงห์ และสหายธรรมได้อธิษฐานจำพรรษาอยู่นั้น เป็นป่ารกชัฏ ชุกชุมไปด้วยสัตว์ร้ายและยุงอันเป็นพาหะของไข้มาลาเรีย และในระหว่างพรรษานั้นคณะของหลวงปู่สิงห์ ยกเว้นพระอาจารย์หนูรูปเดียว ต่างก็เป็นไข้มาลาเรีย ยาที่จะรักษาก็ไม่มี จนกระทั่งพระรูปหนึ่งมรณภาพไปต่อหน้าต่อตา ยังความสลดสังเวชให้กับผู้ที่ยังคงอยู่เป็นอย่างยิ่ง

หลังออกพรรษา ในปี พ.ศ.๒๔๖๔ แล้ว คณะของหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโมที่จำพรรษาอยู่ที่ป่าคันโท กาฬสินธุ์ ต่างก็แยกย้ายกันเดินธุดงค์ต่อไป เพื่อค้นหาพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ดูลย์ได้ร่วมเดินทางไปกับหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม แต่ภายหลังได้แยกทางกัน ต่างมุ่งหน้าตามหาพระอาจารย์มั่นตามประสงค์

หลังจากแยกจากพระอาจารย์ดูลย์แล้ว หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโมได้จาริกตามลำพังเพื่อตามพระอาจารย์มั่น

หลวงปู่ดูลย์พบพระอาจารย์มั่นอีกครั้ง

         พระอาจารย์ดูลย์เองก็ได้จาริกตามลำพังเช่นกัน มาจนถึงบ้านม่วงไข่ ตำบลพังโคน จังหวัดสกลนคร แล้วจึงได้ไปพักอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย ได้ไปพบท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น คณะของท่านอาญาครูดีจึงได้ศึกษาธรรมเบื้องต้นกับพระอาจารย์ดูลย์อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง และเนื่องจากต่างก็มีความประสงค์จะตามหาพระอาจารย์มั่นด้วยกันอยู่แล้ว ดังนั้นพระอาจารย์ทั้ง ๔ จึงได้ร่วมกันเดินธุดงค์ติดตาม โดยพระอาจารย์ดูลย์รับหน้าที่เป็นผู้นำทาง

         เมื่อธุดงค์ติดตามไปถึงตำบลบ้านคำบก อำเภอหนองสูง (ปัจจุบัน อำเภอคำชะอี) จังหวัดนครพนม จึงทราบว่า พระอาจารย์มั่นอยู่ที่บ้านห้วยทราย และกำลังเดินธุดงค์ต่อไปยังอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์ทั้งสี่จึงรีบติดตามไปอย่างเร่งรีบ จนกระทั่งถึงบ้านตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร และสอบถามชาวบ้านที่นั่นได้ความว่า มีพระธุดงค์เป็นจำนวนมากมาชุมนุมกันอยู่ในป่าใกล้ ๆ หมู่บ้าน ท่านรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ด้วยมั่นใจว่าต้องเป็นพระอาจารย์มั่นอย่างแน่นอน จึงรีบเดินทางไปยังป่าแห่งนั้นทันที และเมื่อไปถึงก็เป็นความจริงดังที่ท่านมั่นใจ

ขณะนั้น พระอาจารย์สิงห์ซึ่งได้ธุดงค์แยกกันกับหลวงปู่ดูลย์ มาพบพระอาจารย์มั่นก่อน และพักแยกกับพระอาจารย์มั่นอยู่ที่บ้านหนองหวาย ในวันนั้นหลวงปู่สิงห์เข้ามาฟังธรรมกับพระอาจารย์มั่น ขณะที่หลวงปู่ดูลย์มาถึงก็เห็นท่านและพระรูปอื่น ๆ นั่งแวดล้อมพระอาจารย์มั่นอยู่ด้วยอาการสงบ ขณะนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๖๔

พระอาจารย์ทั้งสี่ได้ศึกษาธรรมอยู่กับพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๓ วัน จากนั้นจึงได้ไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ ที่บ้านหนองดินดำ แล้วไปหาพระอาจารย์สิงห์ ที่บ้านหนองหวาย ตำบลเดียวกัน ศึกษาธรรมอยู่กับท่านอีก ๗ วัน จากนั้นก็ได้กลับไปอยู่บ้านตาลเนิ้ง และได้ไปรับฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอ ๆ

ต่อมาพระอาจารย์ฝั้น กับสามเณรพรหม สุวรรณรงค์ ผู้มีศักดิ์เป็นหลาน ได้เดินธุดงค์ไปอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และได้ไปภาวนาอยู่ที่ถ้ำพระบท เมื่อครบ ๑๕ วันแล้ว พระอาจารย์ฝั้นจึงได้พาสามเณรพรหมออกเที่ยวธุดงค์ต่อไป

พระอาจารย์ฝั้นก็พาสามเณรพรหม เดินทางไปนมัสการพระอาจารย์มั่นที่บ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

ต่อจากนั้นพระอาจารย์มั่นได้ถามพระอาจารย์ฝั้นด้วยว่า จะไปเรียน หนังสือใหญ่คือเรียนประถมกัปป์ ประถมมูล กับมูลกัจจายน์ ตามที่ได้ตั้งใจไว้จริง ๆ หรือ พระอาจารย์ฝั้นตอบว่า มีเจตนาไว้เช่นนั้นจริง พระอาจารย์มั่นเห็นความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวของพระอาจารย์ฝั้นจึงบอกว่า ท่านฝั้น ไม่ต้องไปเรียนถึงเมืองอุบลหรอก อยู่กับผมที่นี่ก็แล้วกัน ผมจะสอนให้จนหมดไส้หมดพุงเลยทีเดียว หากยังไม่จุใจค่อยไปเรียนต่อทีหลัง ส่วนเณรพรหม เธอจะไปเรียนที่เมืองอุบลก็ได้ ตามใจสมัคร

สามเณรพรหมจึงได้แยกกันกับพระอาจารย์ฝั้น ตอนนั้นเป็นปลายปีพุทธศักราช ๒๔๖๔

สามเณรพรหมลงไปเมืองอุบล กับพระอาจารย์สิงห์ ส่วนพระอาจารย์ฝั้นอยู่เรียน “หนังสือใหญ่”กับพระอาจารย์มั่น

หลวงปู่สิงห์กลับอุบลฯ

จนกระทั่ง ในช่วงประมาณปี พ ศ ๒๔๖๖ หลังจากพระมหาปิ่น สอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค จากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ แล้ว จึงได้กลับมาอุบลฯ บ้านเกิดตามที่ปฏิญาณไว้แล้วมาพักที่วัดสุทัศนาราม ได้เป็นครูสอน นักธรรมบาลีแก่พระภิกษุสามเณร ตลอดจนชาวบ้าน เพื่อสนองคุณครูบาอาจารย์

ในปีนั้นเองโยมมารดาของหลวงปู่สิงห์ ซึ่งอยู่ที่บ้านหนองขอน จ.อุบลนั้นเองก็ได้ถึงแก่กรรม ขณะนั้นหลวงปู่สิงห์ได้ออกธุดงค์ไปกับพระอาจารย์มั่น ดังนั้นพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นน้องชายจึงได้เป็นผู้จัดการเกี่ยวกับงานศพของโยมมารดาและจัดการฌาปนกิจศพ ส่วนหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโมเมื่อได้ข่าวเรื่องโยมมารดาถึงแก่กรรมและทราบว่าพระน้องชายกลับจากกรุงเทพฯ มาอยู่ที่วัดสุทัศน์แล้ว ก็ได้พาคณะรวม ๖ องค์ คือ พระ ๔ องค์ สามเณร ๒ องค์ มาจำพรรษาที่วัดสุทัศน์ด้วย

หลวงปู่สิงห์ ร่วมกับหลวงปู่ดูลย์ ชักจูงพระน้องชายให้มาสนใจกรรมฐาน

ต่อมา หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโมผู้เป็นพี่ชาย เห็นว่า พระมหาปิ่นผู้เป็นเปรียญธรรมจากสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร มีความรู้ด้านพระปริยัติธรรมอย่างแตกฉานนั้น สนใจแต่ทางปริยัติอย่างเดียว ไม่นำพาต่อการบำเพ็ญภาวนาฝึกฝนจิตและธุดงค์กัมมัฏฐานเลย จึงได้คิดหาทางชักจูงพระน้องชายให้หันมาในใจทางด้านการปฏิบัติกัมมัฏฐานบ้าง มิฉะนั้นต่อไปจะเอาตัวไม่รอด

พอดีปี ๒๔๖๗ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งได้กราบลาพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ อุดรธานี แล้วก็ออกเดินทางมุ่งไปจังหวัดสุรินทร์ ในระหว่างทางหลวงปู่ดูลย์ได้แวะเยี่ยม หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม พระสหธรรมิกผู้มีคุณูปการใหญ่หลวงแก่ท่าน ขณะนั้นหลวงปู่สิงห์ธุดงค์อยู่ในแถบจังหวัดกาฬสินธุ์

หลวงปู่สิงห์ เมื่อได้พบกับหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ก็ปรารภปัญหาเกี่ยวกับพระมหาปิ่นผู้น้องชายและขอคำปรึกษาและอุบายธรรมจากหลวงปู่ดูลย์และขอร้องให้มาช่วยกล่อมใจพระน้องชาย ในเรื่องว่า หากต้องการพ้นทุกข์ จะมาหลงปริยัติเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะปริยัติธรรมนั้น เป็นเพียงแผนที่แนวทางเท่านั้น

หลวงปู่สิงห์ จึงชักชวนหลวงปู่ดูลย์ ให้เดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ช่วยชักนำพระมหาปิ่นให้สนใจในทางปฏิบัติพระกัมมัฏฐานบ้าง ไม่เช่นนั้นจะไปไม่รอด

หลวงปู่ทั้ง ๒ องค์ ได้พักจำพรรษาที่ วัดสุทัศนาราม วัดที่ท่านเคยอยู่มาก่อน คราวนี้ท่านได้ปลูกกุฏิหลังเล็กๆ อยู่ต่างหาก ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างเคร่งครัด แล้วก็ค่อยๆ โน้มน้าวจิตใจให้พระมหาปิ่นเกิดความศรัทธาเลื่อมใสทางด้านการปฏิบัติด้วย

ทั้งหลวงปู่สิงห์ และหลวงปู่ดูลย์ ได้ชี้แจงแสดงเหตุผลว่า ในการครองเพศสมณะนั้น แม้ว่าได้บวชมาในพระบวรพุทธศาสนาก็นับว่าดีประเสริฐแล้ว ถ้าหากมีการปฏิบัติให้รู้แจ้งในธรรม ก็จะยิ่งประเสริฐขึ้นอีก คือจะเป็นหนทางออกเสียซึ่งความทุกข์ ตามแนวคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระสงฆ์ที่มีสติปัญญา พิจารณาปฏิปทาข้อวัตรปฏิบัติธรรม พร้อมทั้งคำเทศน์ของพระอาจารย์ทั้ง ๒ องค์ ที่ได้กระทำเป็นแบบอย่าง ก็เกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง

โดยปกติแล้วหลวงปู่สิงห์ และหลวงปู่ดูลย์ เป็นนักปฏิบัติธรรมขั้นสูง แม้จะมีความอาวุโส แต่ก็มีลักษณะประจำตัวในการรู้จักนอบน้อมถ่อมตนระมัดระวังกาย วาจา ใจ ไม่คุยโม้โอ้อวดว่าตนเองได้ธรรมขั้นสูง และเห็นว่าธรรมะเป็นสมบัติอันล้ำค่าของนักปราชญ์มาประจำแผ่นดิน ซึ่งควรระมัดระวัง ให้สมกับผู้มีภูมิธรรมในใจ

พระมหาปิ่น ได้พิจารณาด้วยเหตุด้วยผลอย่างรอบคอบแล้ว พอถึงกาลออกพรรษา จึงรีบเตรียมบริขาร แล้วออกธุดงค์ติดตามหลวงปู่สิงห์ พระพี่ชาย ไปทุกหนทุกแห่ง ทนต่อสู้กับอุปสรรคยากไร้ ท่ามกลางป่าเขา มุ่งหาความเจริญในทางธรรม จนสามารถรอบรู้ธรรมด้วยสติปัญญาของท่านในกาลต่อมา

การที่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ออกธุดงค์กัมมัฏฐานในครั้งนั้นประชาชนในภาคอิสาน ได้แตกตื่นชื่นชมกันมากว่า "พระมหาเปรียญธรรมหนุ่มจากเมืองบางกอก ได้ออกฝึกจิต ดำเนินชีวิตสมณเพศ ตัดบ่วง ไม่ห่วงอาลัยในยศถาบรรดาศักดิ์ ออกป่าดง เดินธุดงค์กัมมัฏฐานฝึกสมาธิภาวนาเป็นองค์แรกในสมัยนั้น"

ชื่อเสียงของพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ในครั้งนั้นจึงหอมฟุ้งร่ำลือไปไกล ท่านได้ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่ชาย คือ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม นำกองทัพธรรม ออกเผยแพร่พระธรรมคำสอนในสายพระธรรมกัมมัฏฐาน จนมีผู้เลื่อมใสศรัทธาอย่างกว้างขวางมาจนปัจจุบัน

หลวงปู่สิงห์ พาพระน้องชายออกธุดงค์

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อออกพรรษาหมดเขตกฐินแล้ว หลวงปู่สิงห์ได้พาพวกศิษย์เป็นคณะใหญ่ออกเดินธุดงค์ การออกเดินธุดงค์ครั้งนี้ ผู้ที่ออกใหม่ นอกจากพระมหาปิ่นแล้วแล้ว ยังมี พระเทสก์ เทสรํสี พระคำพวย พระทอน บ้านหัววัว อ.ลุมพุก จ.อุบลฯ และสามเณรอีก ๒ รูป รวมทั้งหมดแล้ว ๑๒ องค์ด้วยกัน

คณะธุดงค์ของหลวงปู่สิงห์ได้เดินทางออกจากเมืองอุบล ในระหว่างเดือน ๑๒ แล้วได้พักแรมมาโดยลำดับ จนถึงบ้านหัวตะพาน อำนาจเจริญ แล้วพักอยู่นั่นนานพอควร แล้วย้ายไปพักที่บ้านหัวงัว อำเภอกุดชุม เตรียมเครื่องบริขารพร้อมแล้ว จึงได้ออกเดินรุกขมูล การออกเดินรุกขมูลครั้งนี้ ถึงแม้จะไม่ได้วิเวกเท่าที่ควร เพราะเดินด้วยกันเป็นคณะใหญ่ แต่ก็ได้รับรสชาติของการออกเที่ยวรุกขมูลพอสมควร

หลวงปู่สิงห์พาคณะบุกป่ามาทางร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ผ่านดงลิงมาออกอำเภอสหัสสขันธ์ เข้าเขตกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี แต่ไม่ได้เข้าในเมือง เว้นไปพักอยู่บ้านเชียงพินตะวันตก จังหวัดอุดรธานี เพื่อรอท่านเจ้าคุณพระเทพเมธี (ติสฺโส อ้วน) เจ้าคณะมณฑล ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่สิงห์ด้วย ที่กำลังมาจากกรุงเทพฯ

การที่ท่านเจ้าคณะมณฑลให้คณะหลวงปู่สิงห์มารออยู่ที่อุดรธานีครั้งนี้ เพราะท่านมีจุดประสงค์อยากให้พระมหาปิ่นมาประจำอยู่ที่นี่ เพราะที่อุดรธานียังไม่มีคณะธรรมยุต แต่ความมุ่งหมายของท่านเจ้าคณะมณฑลนั้นก็ไม่เป็นไปดังประสงค์เนื่องจาก เมื่อเจ้าคณะมณฑลมาจากกรุงเทพฯครั้งนี้ พระยาราชนุกูลวิบูลย์ภักดีพิริยพาห(อวบ เปาโรหิตย์)อุปราชมณฑลภาคอีสาน (ต่อมาภายหลังเป็นเจ้าพระยามุขมนตรีศรีสมุหนครบาล) ได้นิมนต์พระมหาจูม พันธุโล เมื่อครั้งมีสมณศักดิ์เป็น พระครูสังฆวุฒิกร (ภายหลังเป็นพระธรรมเจดีย์) มาด้วยเพื่อจะให้มาอยู่วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี

ฉะนั้นเมื่อเจ้าคณะมณฑลมาถึงแล้ว หลวงปู่สิงห์จึงพาคณะเข้าไปกราบนมัสการ ท่านจึงกำหนดให้เอาพระมหาปิ่นไปไว้ที่จังหวัดสกลนคร และให้พระเทสก์ เทสรํสีอยู่ช่วยพระมหาปิ่น

พบพระอาจารย์มั่นเป็นครั้งที่สอง

เมื่อตกลงกันเรียบร้อยดังนั้นแล้ว หลวงปู่สิงห์ได้พาคณะออกเดินทางไปจังหวัดสกลนครเพื่อส่งพระมหาปิ่น ระหว่างทางได้แวะนมัสการกราบท่านพระอาจารย์เสาร์ และท่านอาจารย์มั่น ที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ ซึ่งท่านได้จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้น ในคืนวันนั้นท่านอาจารย์มั่นได้เทศนาอบรมคณะหลวงปู่สิงห์ หลวงปู่เทสก์ได้เล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ อัตตโนประวัติของท่านไว้ดังนี้

“คืนวันนั้นเสร็จจากการอบรมแล้ว ท่านก็สนทนาธรรมสากัจฉากันตามสมควร แล้วจบด้วยการพยากรณ์พระมหาปิ่น แลตัวเราในด้านความสามารถต่าง ๆ นานา ตอนนี้ทำให้เรากระดากใจตนเองในท่ามกลางหมู่เพื่อนเป็นอย่างยิ่ง เพราะตัวของเราเองพึ่งบวชใหม่ แลมองดูตัวเราแล้ว ก็ไม่เห็นมีอะไรพอที่ท่านจะสนใจในตัวของเรา มันทำให้เราขวยเขินอยู่แล้ว แต่คนอื่นเราไม่ทราบเพราะเห็นสถานที่แลความเป็นอยู่ของพระเณรตลอดถึงโยมในวัด เขาช่างสุภาพเรียบร้อย ต่างก็มีกิจวัตรและข้อวัตรประจำของตน ๆ นี่กระไร

พอท่านพยากรณ์พระมหาปิ่นแล้วมาพยากรณ์เราเข้า ยิ่งทำให้เรากระดากใจยิ่งเป็นทวีคูณ แต่พระมหาปิ่นคงไม่มีความรู้สึกอะไร นอกจากท่านจะตรวจดูความสามารถของท่านเทียบกับพยากรณ์เท่านั้น”

รุ่งเช้าฉันจังหันแล้ว หลวงปู่สิงห์ได้พาคณะเดินทางต่อไปบ้านนาสีดา ที่เป็นบ้านเดิมของหลวงปู่เทสก์ ได้พักอยู่ ณ ที่นั่น ๔ คืนแล้วย้อนกลับทางเดิม มาพักที่ท่านอาจารย์มั่นที่บ้านค้ออีกหนึ่งคืน จึงเดินทางกลับอุดร แล้วได้เดินทางต่อไปสกลนครตามที่ได้ตกลงไว้กับเจ้าคณะมณฑล แต่การนั้นไม่เป็นไปตามจุดประสงค์ของเจ้าคณะมณฑล เพราะพระมหาปิ่นอาพาธไม่สามารถจะไปรับหน้าที่ที่มอบหมายให้ได้ เรื่องนี้ได้ทำให้ท่านเจ้าคณะมณฑล ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่สิงห์ และ พระมหาปิ่นไม่พอใจเป็นอย่างมาก และได้เอาพระบุญ นักธรรมเอกไปไว้ที่สกลนครแทน

ฉะนั้นในพรรษานั้น (พ.ศ. ๒๔๖๗) หลวงปู่สิงห์จึงได้พาคณะไปจำพรรษาที่วัดป่าหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร

พระอาจารย์มั่นให้ตามท่านไปตั้งวัดที่บ้านสามผง

ส่วนหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล กับท่านอาจารย์มั่น ฯ พอออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านก็ออกจากบ้านค้อ อำเภอผือ อุดรธานี พาคณะออกธุดงค์ แสวงหาที่สงัดวิเวกแยกกันออกเป็นหมู่เล็ก ๆ เพื่อมิให้เป็นปลิโพธในหมู่มาก ปีนี้ท่านได้เดินธุดงค์ไปทางบ้านนาหมี บ้านนายูง (อุดรธานี) และบ้านผาแดง-แก้งไก่ (หนองคาย) ครั้นท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้พักวิเวกอยู่ที่ผาแดง-แก้งไก่ พอสมควรแล้วก็ได้ออกเดินทางไปทางอำเภอท่าบ่อ หลวงปู่ใหญ่เสาร์ ได้พักจำพรรษา พ.ศ. ๒๔๖๘ ที่วัดราช (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระงาม) ใกล้บ้านน้ำโขง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ส่วนหลวงปู่มั่นได้เข้าไปพักอยู่ที่ราวป่าใกล้กับป่าช้าของอำเภอท่าบ่อนั้น (ปัจจุบันเป็นวัดอรัญญวาสี)

ขณะเดียวกันพระกรรมฐานกลุ่มของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม กับ พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้ย้ายจากวัดป่าหนองลาด บ้านหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ไปจำพรรษาที่บ้านปลาโหล ที่อยู่ห่างออกไป ประมาณ ๘ ก.ม.

หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล และคณะศิษย์ ได้อยู่จำพรรษาที่วัดพระงามแห่งนี้นาน ๒ พรรษา คือในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ - ๒๔๖๘ เป็นพรรษาที่ ๔๔ และ ๔๕ ของท่าน

เมื่อใกล้จะออกพรรษา ปีพ.ศ. ๒๔๖๘ หลวงปู่สิงห์ได้พาคณะไปที่บ้านอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ส่วนทางด้านพระอาจารย์มั่นก็ได้ประชุมหมู่ศิษย์เพื่อเตรียมออกเที่ยวธุดงค์หาที่วิเวก และได้จัดหมู่ศิษย์ออกไปธุดงค์เป็นพวก ๆ ส่วนท่านเองนั้น พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และ พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ได้อาราธนานิมนต์ไปอยู่บ้านสามผง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอศรีสงคราม) จังหวัดนครพนม หลังออกพรรษาท่านอาจารย์มั่นจึงได้เดินทางมาถึงบ้านหนองลาด ณ ที่นี้เองที่พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตโก และพระอาจารย์สีลา อิสสโร ได้เข้ามากราบถวายตัวเป็นศิษย์ และได้อาราธนาพระอาจารย์มั่นให้ไปจำพรรษาที่บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนมที่เป็นถิ่นเดิมของพระอาจารย์เกิ่ง ซึ่งพระอาจารย์มั่นก็รับนิมนต์ ดังนั้นท่านจึงออกเดินทางไปยังบ้านสามผง ระหว่างทางได้แวะที่บ้านอากาศที่พระอาจารย์สิงห์พักอยู่ ท่านได้ให้พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี ที่อยู่กับคณะพระอาจารย์สิงห์ให้ตามไปกับคณะท่านพระอาจารย์ แล้วเดินทางต่อไปจำพรรษาที่บ้านสามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

ในปี พ ศ. ๒๔๖๙ ท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโร ธุดงค์ออกจากวัดพระงาม อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย แล้วก็ไปเชียงคาน จังหวัดเลย ขึ้นไปที่ภูฟ้า ภูหลวง แล้วก็กลับมาจังหวัดอุดรธานี จำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่า บ้านดงยาง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

ท่านอาจารย์มั่นฯ และพระภิกษุสามเณรหลายรูป จำพรรษาที่เสนาสนะป่า บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ใกล้กับวัดโพธิ์ชัย ตามคำอาราธนานิมนต์ของพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ส่วนศิษย์อาวุโสองค์อื่นๆ แยกพักจำพรรษาในที่ต่างๆ ดังนี้ :-

         หลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นน้องร่วมสายโลหิต และพระอาจารย์เทสก์ เทสฺรํสี จำพรรษาที่ป่าบ้านอากาศ ต.อากาศ อ. วานรนิวาส (ปัจจุบันเป็น อ.อากาศอำนวย) จ. สกลนคร พระอาจารย์กู่ ธมมทินโน พระอาจารย์กว่า สุมโน และ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จำพรรษาที่บ้านดอนแดงคอกช้าง พระอาจารย์อุ่น ธมมธโร จำพรรษาที่บ้านข่า ใกล้บ้านสามผง

ในพรรษานั้น ระหว่างที่หลวงปู่สิงห์จำพรรษาอยู่ที่บ้านอากาศ ก็เกิดโรคฝีดาษระบาดขึ้นในหมู่บ้าน ชาวบ้านแตกตื่นหนีไปอยู่ตามป่าตามทุ่งนาเกือบหมด แม้พระตามวัดในหมู่บ้านก็ตามโยมไปด้วย แทบไม่มีใครใส่บาตรให้พระที่เหลืออยู่ฉัน ยังดีอยู่ที่หลวงปู่สิงห์ท่านรู้จักยาสมุนไพรอยู่บ้าง ท่านจึงบอกชาวบ้านไม่ให้นำผู้ป่วยไปไว้ในป่าแล้วปลูกกระต๊อบให้อยู่เพียงคนเดียว แล้วส่งอาหารให้กิน ตามที่เคยปฏิบัติมาเมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น แล้วท่านหายามารักษากัน จึงมีคนตายเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

ส่วนคณะพระกัมมัฏฐานนั้น ยังดีที่ชาวบ้านยังมีความนับถืออยู่ ถึงแม้ไม่มีคนนอนเฝ้าบ้านเลยสักคนเดียว แต่พอตอนตี ๔ ตี ๕ ยังอุตส่าห์มาหุงข้าวไว้สำหรับตักบาตร พอคณะหลวงปู่สิงห์ออกมาบิณฑบาต เขาก็ออกมาใส่บาตรแล้วก็รีบกลับเข้าป่าไปวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๙ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ก็ได้ทำญัตติกรรมพร้อมกับพระภิกษุที่เป็นศิษย์ของท่านทั้งสองอีกประมาณ ๒๐ องค์ อีกด้วย ในจำนวนพระภิกษุที่มาทำการญัตติ มีพระอาจารย์สิม พุทธาจาโร ซึ่งครั้งนั้นยังเป็นสามเณรรวมอยู่ด้วยรูปหนึ่ง โดยได้กระทำพิธีที่อุทกุกเขปสีมา(โบสถ์น้ำ) หนองสามผง สำหรับโบสถ์น้ำที่ท่านจัดสร้างขึ้นนี้ ใช้เรือ ๒ ลำลอยเป็นโป๊ะ เอาไม้พื้นปูเป็นแพ แต่ไม่มีหลังคา เหตุที่สร้างโบสถ์น้ำทำสังฆกรรมคราวนี้ ก็เพราะในป่าจะหาโบสถ์ให้ถูกต้องตามพระวินัยไม่ได้ การทำญัตติกรรมครั้งนี้ ได้อาราธนาท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งเป็นพระครูชิโนวาทธำรง มาเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และท่านพระอาจารย์มั่นฯ นั่งหัตถบาสร่วมอยู่ด้วย

ตามพระอาจารย์มั่นฯ ไปอุบลราชธานี

        หลังจากออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว หลวงปู่สิงห์ได้พาคณะไปกราบนมัสการท่านอาจารย์มั่นที่บ้านสามผง ซึ่งท่านได้จำพรรษาอยู่ที่นั่น แล้วพระอาจารย์มั่นก็ได้พาคณะเดินทางมาที่บ้านดอนแดงคอกช้าง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่งอำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนม พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรประมาณ ๗๐ รูป และ ได้มีการประชุมหารือกันในเรื่องที่จะไปเผยแพร่ธรรมและไปโปรดเทศนาญาติโยมที่เมืองอุบล และได้วางระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ป่า เกี่ยวกับการตั้งสำนักปฏิบัติ เกี่ยวกับแนวทางแนะนำสั่งสอนปฏิบัติจิต เพื่อให้คณะศิษย์นำไปปฏิบัติให้เป็นระเบียบเดียวกัน จากนั้น ท่านพระอาจารย์ใหญ่ท่านปรารภว่า เรื่องจะนำโยมแม่ออก (แม่ชีจันทร์ มารดาท่าน) ไปส่งมอบให้น้องสาวท่านที่จังหวัดอุบลช่วยดูแล เพราะท่านเห็นโยมแม่ท่านชรามาก อายุ ๗๘ ปีแล้ว เกินความสามารถท่านผู้เป็นพระจะปฏิบัติได้แล้ว พระอาจารย์สิงห์ อาจารย์มหาปิ่น ต่างก็รับรองเอาโยมแม่ออกท่านไปส่งด้วย เพราะโยมแม่ออกของพระอาจารย์แก่มากหมดกำลัง ต้องไปด้วยเกวียนจึงจะไปถึงเมืองอุบล ฯ ได้

การเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานีอันเป็นถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง เพราะบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งใหญ่และเล็กก็ได้เตรียมที่จะเดินทางติดตามท่านในครั้งนี้แทบทั้งนั้น การเดินทางเป็นการเดินแบบเดินธุดงค์ แต่การธุดงค์นั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ด้วย ท่านจึงจัดเป็นคณะๆ ละ ๓ รูป ๔ รูปบ้าง ท่านเองเป็นหัวหน้าเดินทางไปก่อน เมื่อคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมที่คณะที่ ๑ พัก คณะที่ ๓-๔ เมื่อตามคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมนั้น ทั้งนี้เพื่อจะได้สอนญาติโยมตามรายทางด้วย การสอนนั้นก็เน้นหนักไปในทางกัมมัฏฐาน และการถึงพระไตรสรณาคมน์ ที่ให้ละการนับถือภูตผีปีศาจต่าง ๆ นานา เป็นการทดลองคณะศิษย์ไปในตัวด้วยว่า องค์ใดจะมีผีมือในการเผยแพร่ธรรมในการเดินทางนั้น พอถึงวันอุโบสถ ก็จะนัดทำปาฏิโมกข์ หลังจากนั้นแล้วก็จะแยกย้ายกันไปตามที่กำหนดหมาย

การเดินธุดงค์แบบนี้ท่านบอกว่าเป็นการโปรดสัตว์ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัททั้งหลาย และก็เป็นจริงเช่นนั้น แต่ละแห่งที่ท่านกำหนดพักนั้น ตามหมู่บ้าน ประชาชนได้เกิดความเลื่อมใสยิ่งในพระคณะกัมมัฏฐานนั้นเป็นอย่างดีและต่างก็รู้ผิดชอบในพระธรรมวินัยขึ้นมาก ตามสถานที่เป็นที่พักธุดงค์ในการครั้งนั้น ได้กลับกลายมาเป็นวัดของคณะกัมมัฏฐานเป็นส่วนใหญ่ในภายหลัง โดยญาติโยมทั้งหลายที่ได้รับรสพระธรรมได้พากันร่วมอกร่วมใจกันจัดการให้เป็นวัดขึ้น โดยเฉพาะให้เป็นวัดพระภิกษุสามเณร ฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร บำเพ็ญสมาธิกัมมัฏฐาน

         อย่างไรก็ตาม คณะธุดงค์ทั้งหลายก็เผอิญไปพบกันเข้าอีก ที่จังหวัดสกลนคร เพื่อร่วมงานศพมารดานางนุ่ม ชุวานนท์ และงานศพพระยาปัจจันตประเทศธานี บิดาของพระพินิจฯ เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจทั้งสองศพนั้นแล้ว พระอาจารย์ทั้งสองและสานุศิษย์ต่างก็แยกย้ายกันธุดงค์ต่อไปเพื่อมุ่งไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนท่านอาจารย์มั่นฯ ธุดงค์ไปทางบ้านเหล่าโพนค้อ ได้แวะไปเยี่ยมอุปัชฌาย์พิมพ์ ต่อจากนั้นท่านก็ธุดงค์ต่อไป และพักบ้านห้วยทราย ๑๐ วัน โดยจุดมุ่งหมาย ท่านต้องการจะเดินทางกลับไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้บรรลุถึงหมู่บ้านหนองขอน อยู่ในเขตอำเภออำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านหลวงปู่สิงห์ ซึ่งชาวบ้านเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของท่านแล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านจำพรรษา เมื่อท่านเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ก็รับอาราธนา ชาวบ้านจึงช่วยกันจัดแจงจัดเสนาสนะถวายจนเป็นที่พอเพียงแก่พระภิกษุที่ติดตามมากับท่านพ.ศ. ๒๔๗๐ ในพรรษานี้ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้พักอยู่บ้านหนองขอน ตามที่ชาวบ้านได้อาราธนา ส่วนหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระมหาปิ่นจำพรรษาที่บ้านหัวตะพาน บริเวณใกล้เคียงกัน

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) กับพระกรรมฐาน

 

 

        ต่อไปก็จะขอกล่าวเรื่องปัญหาที่พระกรรมฐานในสมัยนั้นได้ประสบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดทั้งความยุ่งยากต่อหมู่คณะพระกรรมฐาน และทั้งผลดีในแง่ที่ก่อให้เกิดการแพร่ขยายทั้งการสร้างวัดป่าขึ้นในสถานที่ต่าง ๆ ที่พระกรรมฐานได้ธุดงค์ไปพัก และทั้งทางด้านการปฏิบัติธรรมของประชาชนตามทางที่พระกรมฐานได้ธุดงค์ไปโปรดสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) นั้น แม้ท่านจะเป็นพระผู้มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาอย่างมหาศาล จัดการศึกษาแก่พระและแก่ประชาชนอย่างได้ผลดียิ่ง จัดการปกครองคณะสงฆ์ได้อย่างเรียบร้อยดีงาม ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมายเต็มบ้านเต็มเมืองทีเดียว แต่ในระยะต้นนั้นท่านไม่ชอบพระธุดงค์เอาเลย ท่านว่าเป็นพระขี้เกียจ ไม่ศึกษาเล่าเรียน ถึงกับมีเรื่องต้องขับไล่ไสส่งมาแล้วหลายครั้งหลายหน ท่านไม่เห็นด้วยกับการเป็นพระธุดงค์กรรมฐาน ไม่เห็นด้วยกับการศึกษาธรรมด้วยการนั่งสมาธิภาวนา ท่านจึงขัดขวางหลวงปู่ใหญ่เสาร์ และหลวงปู่มั่น แทบทุกวิถีทางก็ว่าได้

จากการที่สมเด็จฯ ไม่เห็นด้วยในการออกธุดงค์ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เป็น พระธุดงค์เร่ร่อน”นี้ สมเด็จฯท่านจึงพยายาม จัดระเบียบพระให้อยู่เป็นหลักแหล่ง มีสังกัดที่แน่นอน ปัญหานี้จึงเป็นเหตุให้บูรพาจารย์บางองค์ท่านหลบหลีกความรำคาญ ข้ามโขงไปอยู่ทางฝั่งลาวก็มี หรือธุดงค์เข้าป่าทึบ ดงดิบไปเลยก็มี

ในปี ๒๔๗๐ นี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้น

พระกรรมฐานโดนพระเถระผู้ใหญ่ขับไล่

         ระหว่างปีนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺสเถระ อ้วน) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระโพธิวงศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะธรรมยุตในภาคอีสาน ทราบข่าวว่ามีคณะพระกัมมัฏฐานของพระอาจารย์มั่น เดินทางมาพักอยู่ที่บ้านหัวตะพาน จึงสั่งให้เจ้าคณะแขวง อำเภอม่วงสามสิบ กับเจ้าคณะแขวงอำเภออำนาจเจริญ พร้อมด้วยนายอำเภออำนาจเจริญ ไปทำการขับไล่พระภิกษุคณะนี้ออกไปให้หมด ทั้งยังได้ประกาศด้วยว่า ถ้าผู้ใดใส่บาตรพระกัมมัฏฐานเหล่านี้จะจับใส่คุกให้หมดสิ้น แต่ชาวบ้านก็ไม่กลัว ยังคงใส่บาตรกันอยู่เป็นปกติ นายอำเภอทราบเรื่องจึงไปพบพระภิกษุคณะนี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วแจ้งมาว่า ในนามของจังหวัด ทางจังหวัดสั่งให้มาขับไล่ หลวงปู่สิงห์ซึ่งเป็นคนจังหวัดอุบลฯ ได้ตอบโต้ไปว่า ท่านเกิดที่นี่ท่านก็ควรจะอยู่ที่นี่ได้ นายอำเภอไม่ยอม พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ช่วยพูดขอร้องให้มีการผ่อนสั้นผ่อนยาวกันบ้าง แต่นายอำเภอก็ไม่ยอมท่าเดียว จากนั้นก็จดชื่อพระกัมมัฏฐานไว้ทุกองค์ รวมทั้งพระอาจารย์มั่น หลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์เที่ยง พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์เกิ่ง พระอาจารย์สีลา ฯลฯ จนหมด แม้กระทั่งนามโยมบิดามารดา สถานที่เกิด วัดที่บวช ทั้งหมดมีพระภิกษุสามเณรกว่า ๕๐ รูป และพวกลูกศิษย์ผ้าขาวอีกมากร่วมร้อยคน นายอำเภอต้องใช้เวลาจดตั้งแต่กลางวันจนถึงสองยามจึงเสร็จ ตั้งหน้าตั้งตาจดจนกระทั่งไม่ได้กินข้าวเที่ยง เสร็จแล้วก็กลับไป

         ทางฝ่ายพระทั้งหลายก็ประชุมปรึกษากันว่า ทำอย่างไรดีเรื่องนี้จึงจะสงบลงได้ ไม่ลุกลามออกไปเป็นเรื่องใหญ่ พระอาจารย์อ่อน และพระอาจารย์ฝั้นรับเรื่องไปพิจารณาแก้ไข

เสร็จการปรึกษาหารือแล้ว พระอาจารย์ฝั้น ก็รีบเดินทางไปพบพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองขอน ซึ่งอยู่ห่างออกไป ๕๐ เส้น พระอาจารย์มั่น ทราบเรื่องจึงให้พระอาจารย์ฝั้นนั่งพิจารณา พอกำหนดจิตเป็นสมาธิแล้วปรากฏเป็นนิมิตว่า“แผ่นดินตรงนั้นขาด”คือแยกออกจากกันเป็นสองข้าง ข้างโน้นก็มาไม่ได้ ข้างนี้ก็ไปไม่ได้ พอดีสว่าง พระอาจารย์ฝั้นจึงเล่าเรื่องที่นิมิตให้พระอาจารย์มั่นฟัง

เช้าวันนั้นเอง พระอาจารย์มหาปิ่นกับพระอาจารย์อ่อน ได้ออกเดินทางไปจังหวัดอุบล เพื่อพบกับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดชี้แจงว่า ท่านไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย จากนั้นได้ให้นำจดหมายไปบอกนายอำเภอว่า ท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง เรื่องยุ่งยากทั้งหลายจึงได้ยุติลง

ความพยายามในการแก้ไขปัญหา

         ปัญหาเรื่องพระผู้ใหญ่ กับ พระกรรมฐานนี้นั้นเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องกันมายาวนาน พระอาจารย์ทั้งหลายในฝ่ายพระกรรมฐานก็ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด ในช่วงเวลาที่มีโอกาสก็จะพยายามโน้มน้าวเจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้ลดทิฏฐิหันมาพิจารณาการปฏิบัติธรรมของพระกรรมฐาน ว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและมีผลดีต่อคณะสงฆ์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อ คณะสงฆ์ธรรมยุตเองด้วย

หลวงปู่สิงห์เอง ท่านในฐานที่เป็นสัทธิวิหาริกของท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ก็ได้พยายามในเรื่องนี้อยู่บ่อย ๆ เท่าที่มีโอกาส ในระยะแรกก็ไม่ค่อยจะได้ผล สมเด็จฯ ท่านไม่ฟัง มิหนำซ้ำท่านยังมีบัญชากับพระเณรด้วยว่า ถ้าเห็นอาจารย์สิงห์มาอย่าให้ใครต้อนรับเด็ดขาดให้ไล่ตะเพิดเสียแต่จากการที่คณะพระกรรมฐานอันมีพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่นเป็นหลัก เป็นประธานอยู่นั้น ไม่ได้มีปฏิกิริยาใด ๆ ในเชิงตอบโต้ ได้แต่หลีกเลี่ยงเสีย ถ้าเหตุการณ์รุนแรงนัก หรือ ชี้แจงแสดงเหตุผลในเมื่อมีโอกาส ประกอบกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านก็ได้ทั้ง ทดสอบทั้ง ลองภูมิเหล่าคณะพระกรรมฐานอยู่ทุกเมื่อที่มีโอกาส ก็ได้แปลกใจที่เห็นว่าความรู้ในทางธรรมของคณะพระกรรมฐานดียิ่งเสียกว่าพระมหาเปรียญ ที่เชี่ยวชาญในเชิงปริยัติเสียอีก มีเรื่องเล่าว่า

สมัยหนึ่ง เมื่อครั้งพระอาจารย์มั่นได้เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ ติดตามท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ไป และไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหลวงอยู่ระยะหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านเดินทางไปตรวจงานการคณะสงฆ์ มณฑลภาคเหนือ และมีโอกาสได้พบกับหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ด้วยความเป็นคู่ปรับกับพระกรรมฐานมีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงตั้งคำถามในลักษณะตำหนิว่า

“ญาคูมั่น เธอเที่ยวตามป่าเขาอยู่เพียงลำพังผู้เดียวอย่างนี้เธอได้สหธรรมิก ได้ธรรมวินัย เป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติที่ไหน เธอได้รับฟังธรรมจากสหธรรมิกอย่างไร ทำไมเธอจึงได้ปฏิบัติมางมไปอย่างนั้น เธอทำอย่างนั้นจะถูกหรือ”

        ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ถามในเชิงติเตียนหลวงปู่มั่น เช่นนั้น เพื่อจะแสดงให้ผู้ที่อยู่ ณ ที่นั้นเห็นว่าหลวงปู่มั่น เป็นพระเร่ร่อน หลักลอย ไม่มีสังกัด ไม่มีหมู่คณะรับรอง

ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ในครั้งนั้น ได้ถึงกับมีการตรวจหนังสือสุทธิกันเลยทีเดียว

ปกติหลวงปู่มั่น ท่านไม่เคยยอมแพ้ใคร และก็ไม่เอาชนะใครเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาต่างยกย่องว่า ท่านเป็นผู้มีสติปัญญา ปฏิภาณไหวพริบ ที่เฉียบคมและฉลาดปราดเปรื่องหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก

หลวงปู่มั่น ได้กราบเรียนตอบสมเด็จฯ ไปว่า“...สำหรับเรื่องนี้ พระเดชพระคุณท่านไม่ต้องเป็นห่วงกังวล กระผมอยู่ตามป่าตามเขานั้น ได้ฟังธรรมจากเพื่อนสหธรรมิกตลอดเวลา คือมีเพื่อนและฟังธรรมจากธรรมชาติ เลี้ยงนกเสียงกา เสียงจิ้งหรีด จักจั่นเรไร เสียงเสือ เสียงช้าง มันเป็นธรรมชาติไปหมด

มันทุกข์หรือสุขกระผมก็รู้ เขาคอยตักเตือนกระผมอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้ลืมสติว่า เจ้าเป็นใครมาจากไหน อยู่อย่างไร แล้วก็จะไปไหน

เวลาใบไม้ร่วงหล่นจากขั้ว ทับถมกันไปไม่มีสิ้นสุด ก็เป็นธรรม บางต้นมันก็เขียวทำให้ครึ้ม บางต้นมันก็ตายซากแห้งเหี่ยว เหล่านั้นมันเป็นธรรมเครื่องเตือนสติสัมปชัญญะไปหมด

ฉะนั้น พระเดชพระคุณท่าน โปรดวางใจได้ ไม่ต้องเป็นห่วงกระผม เพราะได้ฟังธรรมอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน”

เมื่อได้ฟังคำตอบเช่นนั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านก็จนด้วยเหตุผล ไม่อาจจะหาคำพูดมาติเตียนหลวงปู่มั่น ต่อไปได้

เจ้าประคุณสมเด็จฯ คลายทิฏฐิ

         ต่อมาภายหลัง เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ท่านได้มีโอกาสออกตรวจการณ์คณะสงฆ์ตามหัวเมืองมณฑลอิสาน ปรากฏว่าการออกตรวจการณ์ในครั้งนั้น ได้สร้างความประทับใจให้ท่านเป็นอย่างมาก

สมเด็จฯ ท่านเห็นประจักษ์ด้วยตาท่านเองว่า ทั่วอิสานได้เกิดวัดป่าสังกัดคณะธรรมยุตขึ้นอย่างมากมาย นับจำนวนหลายร้อยวัด ทั้งๆ ที่พระผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งฝ่ายบริหารขยายวัดธรรมยุตได้เพียง ๒ - ๓ วัด และก็อยู่ในเมืองที่เจริญแล้วเป็นส่วนใหญ่ ไม่สามารถขยายออกไปตามอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านรอบนอกได้

การที่วัดป่าเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย ก็เกิดจาก หลวงปู่ใหญ่เสาร์ หลวงปู่มั่น และลูกศิษย์พระกรรมฐานพระอาจารย์ใหญ่ทั้งสององค์

ยิ่งกว่านั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังพบว่า เมื่อท่านผ่านไปตามหมู่บ้านที่พระกรรมฐานเคยจาริกปฏิบัติธรรม และที่มีวัดป่าเกิดขึ้น ปรากฏว่าประชาชนในหมู่บ้าน มีกิริยามารยาทเรียบร้อย แสดงว่าได้รับการอบรมมาดี รู้จักปฏิบัติต่อพระสงฆ์องค์เจ้า รู้จักการปฏิบัติต้อนรับ รู้ของควร ไม่ควร เข้าใจหลักการพระพุทธศาสนา รู้จักสวดมนต์ไหว้พระ มีการรักษาศีล มีการปฏิบัติสมาธิภาวนา และมีความอ่อนน้อมถ่อมตนน่าชมเชย

ต่างกันกับหมู่บ้านที่หลวงปู่ใหญ่เสาร์ หลวงปู่มั่น และลูกศิษย์ลูกหาไม่เคยจาริกผ่านไปความประทับใจในครั้งนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ถึงกับประกาศในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ว่า “การเผยแผ่พระพุทธศาสนาต้องให้พระกรรมฐานเป็นแนวหน้า หรือเรียกว่า กองทัพธรรมแนวหน้า”

       นับจากนั้นเป็นต้นมา เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) ก็เริ่มมีทัศนคติที่ดีต่อ หลวงปู่ใหญ่เสาร์ หลวงปู่มั่น และคณะพระธุดงค์กรรมฐาน

คำเรียกแต่เดิมว่า ญาคูเสาร์ ญาคูมั่นก็เปลี่ยนไปเป็น พระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่นส่วนลูกศิษย์พระกรรมฐานที่มีอาวุโส สมเด็จฯ ท่านก็เรียกว่า อาจารย์สิงห์ ท่านลี (ธมฺมธโร) ท่านกงมา (จิรปุญฺโญ)เป็นต้น

         เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ มีความรู้สึกที่ดีต่อพระธุดงค์กรรมฐานแล้ว ท่านก็ให้ความสนับสนุนพระกรรมฐานเป็นอย่างดี แม้แต่วัดภูเขาแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานีที่ หลวงพ่อโชติ อาภคฺโค เป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านก็บัญชาให้สร้างเพื่อถวายหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ด้วยแห่งหนึ่ง

เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) พระองค์นี้ท่านสร้างความเจริญให้แก่พระพุทธศาสนา ทั้งด้านปริยัติธรรมศึกษา และด้านการปฏิบัติภาวนา จนเกิดมีพระผู้ได้รับการศึกษาสูง และมีพระกรรมฐานที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอย่างมากมาย สืบต่อมาจนปัจจุบัน

 

 
 

วิดีโอ

WatpaLA-Youtube

Copyright ©2554 วัดป่าธรรมชาติ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา