E-Books

ค้นหา

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
5431377

whosonline

มี 37 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๔

แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๐๕

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร
แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
มีพระนามเดิมว่า “ปลด เกตุทัต” พระนามฉายาว่า “กิตฺติโสภโณ”
ประสูติเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๓๒
ตรงกับวันจันทร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีฉลู เอกศก
จุลศักราช ๑๒๕๑ เวลา ๑๐ ทุ่ม (๐๔.๐๐ นาฬิกา) เศษ
ที่บ้านในตรอกหลังตลาดพาหุรัด ติดกับวัดราชบุรณะ ในพระนคร

โยมบิดามีนามว่า ขุนพิษณุโลกประชานาถ (ล้ำ เกตุทัต)
โยมมารดามีนามว่า ท่านปลั่ง เกตุทัต

ท่านขุนพิษณุโลกประชานาถ (ล้ำ) เป็นมหาดเล็กใกล้ชิด
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

เป็นเจ้ากรมคนแรกในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
ในเวลาที่สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นทรงกรมเป็นกรมขุนฯ
และได้ลาออกเสียก่อนที่จะทรงกรมเป็นกรมหลวงฯ
เนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์ ถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ ๕๑ ปี

หลังจากโยมบิดาได้ถึงแก่กรรมแล้ว
ท่านปลั่ง โยมมารดานั้น ได้ไปตั้งหลักฐานอยู่ในตรอกหลังพระราชวังเดิม
(โรงเรียนทหารเรือ ในปัจจุบัน) และได้มีอาชีพค้าขายอยู่ที่ตลาดท่าเตียน

ภายหลังได้ติดตามมาอยู่ที่บ้านข้าง วัดเบญจมบพิตร
หลังจากที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จได้ทรงบรรพชา อุปสมบทแล้ว
จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕ อายุได้ ๗๑ ปี

สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) เคยรับสั่งว่า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้รับสั่งชี้แจงให้ทราบว่า มีสายตระกูลสัมพันธ์กันโดยฐานพระญาติ
ในสายตระกูล เกตุทัต, หงสกุล, สกุณะสิงห์, และคชาชีวะ

โดยท่านเจ้ากรมล้ำ เป็นบุตรท่านสั้น และหลวงรักษ์ราชหิรัญ (หนูพิณ)
และสมเด็จพระสังฆราชทรงใช้นามสกุลว่า “เกตุทัต” เสมอ
เพราะทรงถือว่าเป็นสายใหญ่

ส่วนท่านปลั่งนั้น โดยสายตระกูลเพียงแต่แจ้งว่าเป็นญาติกับหม่อมสว่าง
ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์
โดยสมเด็จพระสังฆราช ทรงทั้งอยู่ในฐานะเป็นน้าของพระโอรสธิดา
ในสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้น ที่กำเนิดแต่หม่อมสว่าง
เมื่อทรงพระเยาว์และเริ่มการศึกษา

ท่านปลั่ง โยมมารดาได้พา สมเด็จพระสังฆราช แต่ยังทรงพระเยาว์
ไปอยู่กับท่านตาหรั่งและท่านยายน้อย (ท่านตาและท่านยายของสมเด็จพระสังฆราช)
ที่บ้านเดิมในตรอกหลังพระราชวังเดิมธนบุรี ทรงเจริญวัย ณ บ้านนี้
จนถึงเวลาไปบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่ วัดพระเชตุพน เมื่อพระชนม์ ได้ ๑๒ ปี

เมื่อได้ทรงศึกษาอักขรสมัยพออ่านออกเขียนได้แล้ว
เริ่มเรียนภาษาบาลีแต่เมื่อพระชนม์ได้ ๘ ปี
โดยท่านตาเป็นผู้พาไปเรียนกับอาจารย์และรับกลับบ้าน
ได้เรียน มูลกัจจายน์ กับ อาจารย์ฟัก วัดประยุรวงศาวาส จนจบ การก
และเรียน ธมฺมปทฏฺฐกถา กับ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (เปีย)
แต่ยังเป็น พระเทพมุนี วัดกัลยาณมิตร วัดพระเชตุพน
และ พระยาธรรมปรีชา (บุญ) แต่ยังเป็น พระวิจิตรธรรมปริวัตร
ซึ่งเป็นอาจารย์หลวงสอนพระปริยัติธรรม ณ วัดสุทัศนเทพวราราม

การเรียนภาษาบาลีของพระองค์ในระยะนี้
คล้ายกับนักเรียนไปโรงเรียนอย่างในปัจจุบัน
กล่าวคือ ยังคงอยู่ที่บ้าน แล้วมาเรียนหนังสือตามสถานที่ดังกล่าว
แบบนักเรียนไปกลับ จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๓ พระชนม์ได้ ๑๒ ปี
จึงทรงบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดพระเชตุพน


ทรงบรรพชาเป็นสามเณรประโยค ๙ รูปแรกในรัชกาลที่ ๕

ในปีชวด พ.ศ. ๒๔๔๓ เมื่อพระชนม์ได้ ๑๒ ปี
ได้ทรงศึกษาบาลีภาษา มีความรู้พอจะเข้าสอบได้แล้ว
จึงได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในสำนักของ พระราชโมลี (บัว)
วัดพระเชตุพน
ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาธุศีลสังวร

ต่อมาอีก ๓ เดือนก็ได้เข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมในปลายปีนั้น
ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
โดยมี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร
(หม่อมเจ้ากระจ่าง ลดาวัลย์ อรุโณ)

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงเป็นอธิบดีการสอบไล่

Image
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร
และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงฟังการแปลในวันนั้นด้วย
และเมื่อ สามเณรปลด เกตุทัต (สมเด็จพระสังฆราช)
จับประโยค ๑ เพื่อเข้าแปลเป็นครั้งแรกนั้น
เป็นวันเดียวกับพระวัดเบญจมบพิตรเข้าแปลเป็นปีแรกเช่นเดียวกัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นสามเณรปลดเข้าแปลได้ประโยค ๑ ก็รับสั่งว่า

“เณรเล็กๆ ก็แปลได้”

และรับสั่งถามถึง อาจารย์ท่านเจ้าคุณพระสาธุศีลสังวร (บัว) จึงนำถวายตัว

ครั้นทรงสอบถามได้ความว่าเป็นบุตรเจ้ากรมล้ำก็ยิ่งทรงพระกรุณา
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ตั้งแต่วันนั้น

ต่อมาได้เข้าในวันที่ ๒ แปลประโยค ๒ ได้ ๒ ประโยค
และวันที่ ๓ ประโยค ๓ ได้ ๓ ประโยคในการสอบไล่คราวนั้น
จึงเป็นอันว่าทรงแปลพระปริยัติธรรม ๓ ประโยค เมื่อพระชนมายุ ๑๒ ปี

ดังปรากฏตามรายการพระราชกุศล
ในการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ภาคที่สี่ ร.ศ. ๑๒๐ ว่า

“สามเณรปลด ประโยค ๑ แปลวันที่ ๒๓ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๙
ธรรมบทบั้นต้น ผูก ๑๘ หนังสือ ๑๐ บรรทัด
ขึ้นต้น เตปิ วาณิชกา ราชกุลํ คนฺตวา ลงท้าย สาสนํ ปหิตํ เทวีติ
แปลสองพัก ๒๐ นาที ความรู้เป็นชั้นสอง

ประโยค ๒ แปลวันที่ ๔ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๐
ธรรมบทบั้นต้น ผูก ๑ หนังสือ ๑๐ บรรทัด
ขึ้นต้น ตตฺถ กิญฺจาปิ มโนติ ลงท้าย มโน เสฎฺโฐ
แปลสองพัก ๑๕ นาที ความรู้เป็นชั้นที่สอง

ประโยค ๓ แปลวันที่ ๘ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๐
ธรรมบทบั้นต้น ผูก ๓ หนังสือ ๔๐ บรรทัด
ขึ้นต้นอสาเร สารมติโนติ อิมํ ลงท้าย ปธานํ ปทหิตฺวา
แปลพักเดียว ๒๕ นาทีความรู้เป็นชั้นที่สอง”


Image
เมื่อครั้งทรงเป็นสามเณรปลด เกตุทัต เปรียญ ๙ ประโยค
และได้รับพระราชทานย่าม จ.ป.ร. คราวเสด็จนิวัตจากยุโรป

ดังนี้ชื่อว่า สามเณรปลดสอบได้เปรียญ ๓ ประโยค

เมื่อได้มาอยู่ วัดเบญจมบพิตร แล้ว
ก็ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมสูงขึ้นโดยลำดับ

ประโยค ป.ธ. ๔-๕-๖ ได้ศึกษากับท่านอาจารย์
คือ สมเด็จพระวันรัต ปุณณทัตตมหาเถระ (จ่าย)
เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร
องค์ประถม
และ สมเด็จพระวันรัต อุทยมหาเถระ (ฑิต) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ
ผู้กำกับการวัดเบญจมบพิตร และอาจารย์อื่นๆ อีกหลายท่าน
เช่น พระยาปริยัติธรรมธาดา ณ วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นต้น

ประโยค ป.ธ. ๗-๘-๙ ได้ศึกษากับ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นประจำ
แต่บางครั้งได้ไปศึกษากับ สมเด็จพระวันรัต อุทยมหาเถระ (ฑิต) บ้าง
สำหรับเจ้าพระคุณสมเด็จฯ องค์นี้ สมเด็จพระสังฆราชเคยรับสั่งว่า
ท่านแม้จะเป็นเปรียญเพียง ๔ ประโยค
แต่ความรู้แล้ว พระเปรียญ ๙ ประโยคทำอะไรไม่ได้

ผลของการศึกษา ปรากฏว่าทรงสอบไล่พระปริยัติธรรม

ประโยค ๔ ได้เมื่อพระชนม์ได้ ๑๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๔)

ประโยค ๕ ได้เมื่อพระชนม์ได้ ๑๔ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๕)

ประโยค ๖ ได้เมื่อพระชนม์ได้ ๑๕ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๖)

ประโยค ๗ ได้เมื่อพระชนม์ได้ ๑๖ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๗)

ประโยค ๘ ได้เมื่อพระชนม์ได้ ๑๙ ปี (พ.ศ. ๒๔๕๐)

และประโยค ๙ ได้เมื่อพระชนม์ย่างเข้าปีที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๔๕๑)


Image
สามเณรปลด เกตุทัต เปรียญ ๙ ประโยค ร.ศ. ๑๒๗ 

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นสามเณรเปรียญ ๙ ประโยค
รูปแรกในรัชกาลที่ ๕ และเป็นรูปที่ ๒ ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์


(รูปแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ คือ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ซึ่งทรงสอบได้ในรัชกาลที่ ๓)


ดังมีปรากฏในรายการพระราชกุศลในการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
ภาคที่ ๑๗ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๘ ว่า

“สามเณรปลด ประโยค ๙ แปลวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑)
ฎีกาอภิธัมมัตถสังคห ผูก ๘ ว่าด้วยอารมณ์ของอภิญญา หนังสือ ๑๐ บรรทัด
ขึ้นต้น เอตฺถหิ อิทฺธิวิธญาณสฺส ตาว ฯลฯ ลงท้าย อยเมเตสํ อารมฺมณวิภาโค
แปลพักเดียว ๑๔ นาที ความรู้ชั้น ๑”
ดังนี้

Image
ประกาศนียบัตรสามเณรปลด เกตุทัต เปรียญ ๙ ประโยค ร.ศ. ๑๒๗


ทรงอุปสมบท

เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๒ พระชนมายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง
ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ดังมีรายละเอียดปรากฏในประวัติวัดเบญจมบพิตร ดังนี้

ด้วยสามเณรปลด วัดเบญจมบพิตร
สอบไล่พระปริยัติธรรมในที่ประชุมพระเถรานุเถระ ณ สนามวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ได้เป็นเปรียญสามัญ แต่ยังย่อมเยาว์ เมื่อต้นศก ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๔)

ต่อมาปลายศก ได้เป็นเปรียญตรี ครั้น ศก ๑๒๖ ได้เป็นเปรียญโท
เมื่อศก ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) ได้เป็นเปรียญเอก ๙ ประโยค
แต่เมื่ออายุยังไม่ถึง ๒๐ ปี ศก ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒)
บัดนี้อายุครบบริบูรณ์ควรจะอุปสมบทได้แล้ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหฤทัยยินดี
ในความสามารถของสามเณรปลด เปรียญ
ซึ่งสอบสอบไล่ได้เป็นเปรียญ ๙ ประโยค
แต่เมื่อยังเป็นสามเณรหาได้โดยยาก เป็นเหตุให้ทรงพระกรุณา

จึงโปรดเกล้าฯ ที่จะอุปสมบทมีทำขวัญด้วย
เจ้าพนักงานจัดการที่จะทำขวัญ ที่พระที่นั่งทรงธรรม
ตกแต่งประดับประดาธรรมาสน์ประดับมุก อันเป็นบัลลังก์เรือ
ด้วยใบไม้ดอกไม่ ณ เบื้องบน เหมือนธรรมาสน์เทศนมหาชาติ

ด้านตะวันออกตั้งเก้าอี้สำหรับพระสงฆ์นั่ง ด้านตะวันตกตั้งพระราชอาสน์
และตั้งเก้าอี้พระบรมวงศานุวงศ์ต่อออกมา
ในพระฉากตั้งเก้าอี้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายใน

หว่างตั้งเครื่องอัฏบริขาร และของถวายในการอุปสมบท
และตั้งบายศรีเครื่องทำขวัญ มีบายศรีทองเงินขนาดเล็กคู่หนึ่ง
แต่งดอกไม้แทนของคาวหวาน

ส่วนที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น ก็ได้เตรียมการที่จะอุปสมบทตามธรรมเนียม

วันที่ ๓ กรกฏาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๘
เวลาบ่าย ๕ โมง ๑๕ นาที


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินแต่ราชวังดุสิต
โดยรถม้าพระที่นั่งถึงวัดเบญจมบพิตร
เสด็จพระราชดำเนินทางประตูหน้าพระอุโบสถ
เลี้ยวข้ามสะพานพระรูป ประทับบนพระที่นั่งทรงธรรม

มีพระราชดำรัสด้วยสมเด็จพระวันรัต (อุทยมหาเถระ ทิต) ตามสมควรแล้ว
เสด็จกลับมาประทับพระราชอาสน์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
สามเณรปลด เปรียญ ขึ้นนั่งบนธรรมาสน์

แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนคำขวัญ
พระสงฆ์ในพระอารามนี้ (วัดเบญจมบพิตร) ซึ่งนั่งเก้าอี้อยู่นั้นกับสมเด็จพระวันรัต
ซึ่งเป็นประธาน สวดชัยมงคลคาถา เวียนเทียนรอบหนึ่ง สวดจบหนึ่งทุกรอบ

พระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทเวียนเทียน
พราหมณ์เป่าสังข์แกว่งบัณเฑาะว์ ชาวประโคม ประโคมแตรสังข์ฆ้องชัยพิณพาทย์

ครั้นถ้วนเบญจมวารแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จฯ ไปพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่สามเณรปลด เปรียญ
แล้วสมเด็จพระวันรัตถวายอดิเรก พระสงฆ์รับภวตุสัพพมังคลังแล้ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับศาลามุขบัญชรภาค
ทอดพระเนตรกระบี่กระบองซึ่งมีในการทำขวัญ
และพระราชทารางวัลตามสมควรทุกๆ คู่แล้ว

เวลาย่ำค่ำ ๓๕ นาที เสด็จพระราชดำเนินกลับพระราชวังสวนดุสิต

วันที่ ๔ กรกฏาคม เวลาบ่าย

กระบวนรถมอเตอร์คาร์ของหลวง และรถที่ขอแรงมาเข้ากระบวน
ได้มาเทียบอยู่ที่ถนนศก แล้วอ้อมพระรามมาตามถนนดวงตะวัน
ท้ายกระบวนจรดถนนเบญจมาศ

แต่รถซึ่งรับสามเณรปลด เปรียญ เทียบอยู่ตรงประตูข้างพระอารามด้านเหนือ
ตรงสะพานถ้วยรถหลวง และรถที่ขอแรงมาเข้ากระบวน
รับบรรทุกเครื่องสักการะธูปเทียนอุปัชฌาย์ เครื่องบริขาร
และของถวายพระนั่งหัตถบาศ

ครั้นเวลาบ่าย ๔ โมงเศษ
สามเณรปลด เปรียญ ขึ้นรถเสร็จแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาวัดเบญจมบพิตร
แต่พระราชวังสวนดุสิต โดยรถพระที่นั่งมอเตอร์คาร์

ทอดพระเนตรกระบวนโดยตลอดแล้ว
เสด็จพระราชดำเนินล่วงหน้าตามทางที่กระบวนจะดำเนินนั้น
หยุดประทับรถพระที่นั่งคอยทอดพระเนตรอยู่หน้าประตูสวัสดิโสภา

ครั้นเวลา บ่าย ๔ โมง ๓๐ นาที

กระบวนรถเคลื่อนจากวัดเบญจมบพิตรเป็นลำดับกัน
ไปตามถนนศก ๒ ข้ามสะพานโสภาคย์ ไปถึงถนนคอเสื้อ
เลี้ยวข้ามสะพานชมัยมรุเชษฐ ตรงไปเลี้ยวถนนตลาด
ข้ามสะพานเทวกรรมรังรักษ์ เลี้ยวไปตามถนนกรุงเกษม
ข้ามสะพานร้อยปี ตรงไปเลี้ยวถนนบำรุงเมือง
ข้ามสะพานแม้นศรี ข้ามสะพานสมมติอมรมารค
ตรงป่านเสาชิงช้า ข้ามสะพานช้างโรงสี ตรงไปเลี้ยวถนนสนามชัย
ผ่านรถพระที่นั่ง ซึ่งประทับคอยทอดพระเนตรอยู่ที่หน้าประตูสวัสดิโสภานั้น

พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท
ลงจากรถรอคอยตามเสด็จพระราชดำเนิน
แล้วปล่อยรถล่วงไปทางป้อมเผด็จดัสกร

เมื่อใกล้จะถึงรถสามเณรปลด เปรียญ
โปรดเกล้าฯ ให้รถเข้าประตูสวัสดิโสภา ไป ๓ หลัง

คือรถบรรทุกเครื่องสักการะ ๑
รถบรรทุกเครื่องอัฏบริจาร ๑
รถสามเณรปลด เปรียญ ๑

รถพระที่นั่งตามเข้าประตูสวัสดิโสภาไป
หยุดรถพระที่นั่งที่ประตูระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว
เสด็จพระราชดำเนินทรงพาสามเณรปลด เปรียญ
เข้าประตูพระระเบียงตรงหน้าพระพุทธปรางค์ ตามทางลาดพระบาท
พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท
แล้วเสด็จเข้าในพระอุโบสถ ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว

สามเณร ปลด เปรียญจุดเทียนบูชาระมหามณีรัตนปฏิมากรแล้ว
พระราชทานไตร สามเณรปลด เปรียญครองผ้าเสร็จแล้ว
นำเครื่องสักการะเข้าไปขอนิสสัยต่อสมเด็จพระวันรัต

เมื่อสมเด็จพระวันรัตรับเป็นอุปัชฌาย์และบอกบาตรจีวรแล้ว
ขับสามเณรปลด เปรียญออกไปนอกหัตถบาสสงฆ์

พระธรรมวโรดม และพระธรรมเจดีย์ สวดสมมติตนต่อสงฆ์แล้ว
ออกมาถามอันตรายิกธรรมต่อสามเณรปลด เปรียญ
แล้วกลับเข้าไปประกาศแก่พระสงฆ์

และเรียกสามเณรปลด เปรียญ ไปถามอันตรายิกธรรมต่อหน้าสงฆ์อีกวาระหนึ่งแล้ว
สามเณรปลด เปรียญ ขออุปสมบทต่อสงฆ์
พระธรรมวโรดม และพระธรรมเจดีย์ สวดญัตติจตุตกรรมวาจา
ให้สามเณรปลด เปรียญ สำเร็จอุปสมบทเป็นอุปสัมบันขึ้นในพระพุทธศาสนา
มีพระนามฉายาว่า “กิตฺติโสภโณ”

เมื่อเสร็จอุปสมบทแล้ว โปรดฯ ให้เปลี่ยนพระธรรมไตรโลกจารย์
ออกมาบอกอนุสาสน์ กรณียากรณียะ

พระมหาปลด รับอามะภัณเต ๘ หนแล้ว

โปรดฯ ให้พระมหาปลดถวายของแด่สมเด็จพระวันรัต พระธรรมวโรดม พระธรรมเจดีย์
และพระธรรมไตรโลกาจารย์ และพระสงฆ์นั่งหัตถบาส ๒๑ รูปแล้ว

พระราชทานบริขารของหลวงแล้ว
โปรดฯ ให้พระมหาปลดไปรับของที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
ซึ่งทรงปวารณาในศกนี้ ที่พระฉากด้านใต้แล้ว
ออกมารับของพรบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการฝ่ายหน้าเสร็จแล้ว

สมเด็จพระวันรัต ยถา พระมหาปลดกรวดน้ำ
พระสงฆ์อนุโมทนาต่อ โส อัตถลัทโธ จบแล้ว
สมเด็จพระวันรัตถวายอดิเรก พระสงฆ์รับภวตุสัพพมังคลัง จบแล้ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินจากพระอุโบสถ
ตามทางเดิมขึ้นประทับรถพระที่นั่ง เสด็จกลับทางถนนสนามไชย
ถนนราชดำเนินใน ข้ามสะพานผ่านพิภพลีลา ถนนราชดำเนินกลาง
ข้ามสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินนอก
ข้ามสะพานมัฆวานรังสรรค์ ตรงไปถนนเบญจมาศถึงหน้าพระลานประทับ

รถพระที่นั่งคอยทอดพระเนตรกระบวนกลับพระมหาปลด
โดยเสด็จพระราชดำเนินออกมาขึ้นรถที่ประตูพระระเบียงแล้ว
เลื่อนรถออกมาคอยกระบวนอยู่ที่หน้าประตูสวัสดิโสภา

เมื่อหมดกระบวนหน้าแล้ว
ออกรถเข้ากระบวนไปตามทางเสด็จพระราชดำเนินผ่านรถพระที่นั่งที่หน้าพระลานแล้ว
เลี้ยวถนนดวงตะวันไปเลี้ยวถนนศก
ส่งพระมหาปลด กลับเข้าวัดเบญจมบพิตร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับพระราชวังดุสิต เป็นเสร็จการฯ


Image
เมื่อครั้งทรงเป็นพระมหาปลด กิตฺติโสภโณ เปรียญ ๙ ประโยค



การพระศาสนา

โดยที่ทรงมีพระอัธยาศัยน้อมไปในเนกขัมมะ
ได้ศึกษาอักขรสมัยบาลีภาษา และธรรมวินัย แต่เมื่อมีพระชนม์ยังน้อย
ได้บรรพชาเป็นสามเณร ในเวลาที่มีพระชนม์เพียง ๑๒ ปี เท่านั้น

และเพราะมีพระอัธยาศัยรักในทางธรรม ทรงค้นคว้าศึกษาจนแตกฉาน
สามารถสอบเป็นเปรียญ ๙ ประโยคได้แต่ครั้งเป็นสามเณร
และได้รับการอุปสมบทติดต่อมา ด้วยพระบรมราชูปถัมภ์เป็นพิเศษ

ดังนั้นเมื่อพระองค์ได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว
การศึกษาพระปริยัติธรรมตามหลักสูตรการศึกษา ก็เป็นอันจบด้วยดีแล้ว

นอกจากจะทรงค้นคว้าศึกษาเป็นพิเศษอื่นๆ ตามพระอัธยาศัย

ซึ่งก็เพราะเหตุนี้เอง พระองค์จึงได้รับภารกิจพระศาสนามาเป็นอันมาก
และภาระหน้าที่ที่พระองค์ได้ทรงรับแล้วนั้นๆ ก็ทรงสามารถปฏิบัติให้สำเร็จไปด้วยดี
และบางครั้งต้องประกอบด้วยอุบายวิธี

เช่น การที่จะป้องกันมิให้ ท่านครูบาศรีวิชัย และศิษย์อื่นๆ
ทำการบรรพชาอุปสมบทบุคคลไม่เลือก คือเมื่อมีบุคคลมาขอบวชแล้ว
จะเป็นบุคคลเช่นไรไม่คำนึงถึง ให้การบรรพชาอุปสมบททันที

ครั้นบุคคลเหล่านั้นนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้ว เพราะไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย
จึงก่อความลำบากแก่วงการคณะสงฆ์ในภาคพายัพ

พระองค์ในฐานะเป็นเจ้าคณะมณฑลพายัพ
ครั้นจะปฏิบัติการอะไรรุนแรงลงไปก็ไม่ได้

เพราะ ครูบาศรีวิชัย เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนเป็นอันมาก
ซึ่งโดยความเป็นจริง ครูบาศรีวิชัยเป็นภิกษุที่ดีมาก ยากที่จะหาผู้เสมอเหมือนได้

แต่บรรดาสานุศิษย์ของครูบาเอง
พยายามที่จะใช้บารมีธรรมของท่านไปในทางที่ไม่ถูกต้อง
จึงเกิดความไม่เรียบร้อยขึ้นในวงการคณะสงฆ์ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่

พระองค์จึงได้อาราธนา ครูบาศรีวิชัย ลงมาพักอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร
เพื่อขอให้ครูบาศรีวิชัยได้ทำสัญญาว่าจะไม่บวชพระเณรก่อนได้รับอนุญาต

ในขณะเดียวกันก็ได้ปรึกษาหารือเพื่อความเรียบร้อยแห่งวงการคณะสงฆ์ด้วย
ซึ่ง ครูบาศรีวิชัย ก็ได้เห็นชอบด้วยดีและยอมทำสัญญาไว้กับพระองค์

เมื่อได้ตกลงกันแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงอนุญาตให้ ครูบาศรีวิชัย กลับเชียงใหม่ได้
และการคณะสงฆ์ก็เรียบร้อยแต่นั้นมา

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เคยรับสั่งว่า ครูบาศรีวิชัย เป็นภิกษุที่ดีมาก
และได้รักษาสัญญานั้นเป็นอันดีมาจนตลอดชนมชีพของท่าน

นี่เป็นเรื่องหนึ่งในหลายๆ เรื่อง ที่ได้ทรงปฏิบัติการไปเพื่อกิจพระศาสนา

และกิจการพระศาสนาที่ได้ทรงปฏิบัติตลอดพระชนมชีพของพระองค์นั้น
พอจะสรุปลงได้ในองค์การพระศาสนาทั้ง ๔ องค์การ ดังต่อไปนี้

Image
สัญญาบัตร สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่พระศรีวิสุทธิวงศ์



๑. องค์การปกครอง

เมื่อได้รับการอุปสมบทแล้ว ในฐานะที่เป็นเปรียญเอก ๙ ประโยค
ก็คงจะได้รับมอบหมายให้ช่วยการปกครองคณะเป็นการภายในบ้าง
แต่ไม่ปรากฏหลักฐาน

ลำดับสมณศักดิ์และงานปกครองคณะสงฆ์

ต่อล่วงมาอีก ๖ ปี พระชนมายุได้ ๒๖ ปี พรรษา ๖
ในต้นรัชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น
พระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีวิสุทธิวงศ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗

และเป็น ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร
ลำดับสมณศักดิ์ และงานปกครองคณะสงฆ์ของพระองค์
จึงปรากฏเป็นหลักฐานตั้งแต่นั้นมา ซึ่งมีเป็นลำดับดังนี้

๑. เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๗ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๑

๒. เป็นเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑ ถึงสิ้นพระชนม์

๓. เป็นแม่กองสอบไล่นักธรรมสาขามณฑลพายัพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕

๔. ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่
พระราชเวที เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖


Image
ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพมุนี


๕. เป็นเจ้าคณะแขวงกลาง จังหวัดพระนคร (เทียบเท่าเจ้าคณะจังหวัด)
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๕

๖. ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพมุนี

๗. สมเด็จพระวันรัต (จ่าย ปุณณทตโต) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ถึงแก่มรณภาพ
เจ้าประคุณสมเด็จฯ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพมุนี
ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร สืบต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑
และเป็นเจ้าคณะมณฑลพายัพ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๕

๘. ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่
พระธรรมโกศาจารย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒


Image
ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมโกศาจารย์


๙. เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม
ตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๓ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๕

๑๐. เป็นแม่กองบาลีสนามหลวง ถึง พ.ศ. ๒๕๐๓

๑๑. เป็นเจ้าคณะมณฑลพิษณุโลก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ และในศกเดียวกันนี้

๑๒. เป็นประธานคณะบัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
วัดสุทัศนเทพวราราม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ ในรัชกาลที่ ๘

๑๓. เมื่อพระชนม์ได้ ๕๑ พรรษา ๓๑ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น
พระราชาคณะ ตำแหน่งเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏที่ พระพรหมมุนี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒

๑๔. พ.ศ. ๒๔๘๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔
ขึ้นแทนพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑

การปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ นี้
อนุวัติตามการปกครองของบ้านเมือง คือ
มี สังฆสภา คณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธร

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพรหมมุนี
เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๓

๑๕. เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๖


Image
ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต


๑๖. ในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ พระชนม์ได้ ๕๙ พรรษา ๓๘
ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ
ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระวันรัต

๑๗. เป็นสังฆนายก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๓

๑๘. เมื่อ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ทรงประชวร และไม่ทรงสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามปกติได้
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ผู้บัญชาการคณะสงฆ์
แทนสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑

และเมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สิ้นพระชนม์แล้ว
โปรดเกล้าฯ ให้ รักษาการในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
ตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๑



สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้นเมื่อถึงปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ นี้ หลังจากพระราชทานเพลิงพระศพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ แล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนาสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) ขึ้นเป็น
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๓ ดังปรากฏจากข้อความนี้

(สำเนา)
ภูมิพลอดุลยเดช (ปร.)


พระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี
จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า
โดยที่ตำแหน่งพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ได้ว่างลง
สมควรที่จะสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
เพื่อจักได้บริหารการพระศาสนาให้สมบรูณ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
พุทธศักราช ๒๔๘๔ และตามระเบียบราชประเพณีสืบไป

จึงทรงพระดำริว่า สมเด็จพระวันรัต ได้เป็นพระราชอนุศาสนาจารย์
มีคุณูปการแด่พระองค์ในคราวทรงผนวช นับว่าเป็นคุรุฐานิยบุคคล
แห่งองค์พระมหากษัตริย์ ส่วนในการพระศาสนาสมเด็จพระวันรัต
ก็เจริญด้วยวรรษายุกาล รัตตัญญูมหาเถระธรรม
มีปรีชาญาณรอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก
อันนัยว่าเป็นพหุลศรุตบัณฑิต มีฉันทจริตเพียงพร้อมไปด้วยสมณคุณเป็นอย่างดี

มีคุณูปการในพระศาสนกิจรับภารธุระปฏิบัติให้เจริญก้าวหน้ามาด้วยดี
ดั่งมีอรรถจริยาปรากฏเกียรติสมภาร
ตามความพิสดารในประกาศสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ มหาสังฆนายก
เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๐ นั้นแล้ว

ครั้นต่อมา สมเด็จพระวันรัตยิ่งเจริญด้วยอุตสาหะวิริยาธิคุณไม่ท้อถอย
สามารถประกอบพุทธศาสนกิจให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นเป็นลำดับตลอดมา
กล่าวโดยเฉพาะในประการที่สำคัญ คือในการปริยัติศึกษา

ได้เป็นแม่กองสอบบาลีสนามหลวง ติดต่อกันมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๘๐
จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๒๓ ปี

เป็นกรรมการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๓
จนถึงในปัจจุบันเป็นเวลา ๒๐ ปี

ในการบริหารได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๑ จนถึงในเวลาปัจจุบันเป็นเวลา ๓๒ ปีเศษ

ได้ดำรงตำแหน่งสังฆมนตรี ว่าการองค์การศึกษามาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๕
จนถึงในปัจจุบันเป็นเวลา ๑๗ ปี

ดำรงตำแหน่งสังฆนายกติดต่อกันมาตั้งแต่ ปีพุทธศักราช ๒๔๙๔
จนถึงในเวลาปัจจุบันเวลา ๘ ปี
และดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการคณะสงฆ์ แทนองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๑ จนถึงในปัจจุบันเป็นเวลา ๑ ปี ๖ เดือนเศษ

และกรณียกิจซึ่งสมเด็จพระวันรัต ได้ปฏิบัติเป็นการพิเศษ
คือได้เป็นประธานสงฆ์ในงานรัฐพิธี ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ
เมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐

ในการพระอารามนั้น
โดยที่วัดเบญจมบพิตรเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร
ซึ่งสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดให้สถาปนาขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ ด้วยมีพระราชศรัทธาอันยิ่งใหญ่
โปรดให้สร้างด้วยศิลปกรรมอันประรีตวิจิตรงดงาม ยิ่งนัก
โดยเฉพาะพระอุโบสถมีความงดงามเป็นพิเศษ ซึ่งจะหาที่อื่นเสมอเหมือนมิได้
ด้วยมีพระราชประสงค์ให้เป็นพราชานุสรณ์ในพระองค์
นับว่าเป็นพระอารามหลวงที่มีความสำคัญเป็นพิเศษยิ่ง

ทั้งนี้ย่อมตกเป็นภาระหนักแก่เจ้าวาส
ในการที่จะต้องระวังรักษาถาวรวัตถุเหล่านั้น มิให้ชำรุดทรุดโทรมเสียหาย
สมเด็จพระวันรัตได้รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสพระอารามนี้ในลำดับองค์ที่ ๒

และนับตั้งแต่นี้ได้รับหน้าที่นี้มาเป็นเวลา ๓๒ ปี ก็ปรากฏว่า
ได้เอาในใจใส่ดูแลระวังรักษาถาวรวัตถุต่างๆ ในพระอาราม
ให้มีสภาพสะอาดเรียบร้อยงดงาม ดำรงอยู่ในสภาพที่มั่นคงถาวร
ทั้งได้เอาใจใส่ให้จัดการบูรณปฏิสังขรณ์ และสร้างเสริมสิ่งที่ชำรุดบกพร่อง
ด้วยเหตุต่างๆ เช่นที่เกิดจากภัยสงครามเป็นต้น ให้กลับมีสภาพดีตามเดิม

ปรากฏเป็นที่เจริญศรัทธาปสาทะของประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศ
บรรดาที่ได้มาพบเป็นตลอดกาลเนืองนิจ

จึงนับว่าสมเด็จพระวันรัต เป็นผู้ทรงคุณปรีชาสามารถ
ในการปกครองพระอาราม ซึ่งมีความสำคัญยิ่งดังกล่าว

ส่วนพระราชประสงค์ส่วนกลางพระศาสนาในต่างประเทศ
สมเด็จพระวันรัตได้เป็นหัวหน้าคณะไปร่วมปฏิบัติงานสังคายนา
จตุตถสันนิบาต (สมัยไทย) โดยเป็นประธานเปิดประชุมสมัยนั้น
ณ ปาสาณคูหา ประเทศพม่า เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๘

เป็นหัวหน้าคณะไปร่วมพิธี ฉลองพุทธชยันตี ณ ประเทศลังกา
เมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙

แล้วเลยไปสังเกตการณ์พระศาสนา ณ ประเทศอินเดียอีกด้วย

เป็นหัวหน้าคณะไปเป็นประธานไปประกอบพิธี บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ณ วัดบุปผาราม เมืองปีนัง

แล้วเลยไปสังเกตการณ์พระศาสนา ณ สหพันธรัฐมาลายา
เมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๑

เป็นหัวหน้าไปร่วมพิธีฉลองพุทธชยันตี ๒๕ พระพุทธศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา
ณ ประเทศญี่ปุ่น แล้วเลยไปเยี่ยมทหารไทย ณ ประเทศเกาหลี
เมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๒

เป็นหัวหน้าคณะนำคณะสงฆ์ไทยไปอยู่ ณ วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย
เมื่อเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๒

สรรพกรณียกิจดังกล่าวมา สมเด็จพระวันรัต
ได้รับภาระปฏิบัติดำเนินการด้วยอุตสาหวิริยะปรีชาสามารถ
ปรากฏเป็นผลดียิ่งแก่การพระศาสนาและประเทศชาติประชาชน
เป็นที่ประจักษ์แก่มวลพุทธบริษัทและทางราชการ
ตลอดถึงพสกนิกรทั่วราชอาณาจักร ดังปรากฏอยู่แล้ว

บัดนี้ ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระวันรัต
ยิ่งเจริญด้วยคุณวุฒิวัยวุฒิรัตตัญญูมหาเถรธรรม ยินดีในเนกขัมมปฏิบัติ
เป็นอจลพรหมจริยาภิรัต ประกอบด้วยมีสมรรถภาพในการพระศาสนา
เป็นที่เจริญศรัทธาปสาทะ และเป็นคารวสถานแห่งมวลพุทธบริษัททั่วสังฆมณฑล
ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ทั่วไป และตั้งอยู่ในฐานะเป็นครุฐานียบุคคล
ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สมควรจะสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑล เพื่อเป็นศรีศุภมงคลแด่พระบวรพุทธศาสนาสืบไป

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระวันรัตขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช
มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก
ตรีปิฎกกลากุสโลภาสภูมิพลมหาราช อนุศาสนาจารย์
กิตติโสภณาภิธานสังฆวิสุตปาวจนุตตมกิตติโศภน
วิมลศีลสมาจารวัตรพุทธศาสนิกบริษัทคารวสถานวิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ
อดุลคัมภีรญาณสุนทรบวรธรรมบพิตร


สมเด็จพระสังฆราชเสด็จสถิต ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
พระอารามหลวงเป็นประธานในสงฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร
ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน
ช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์สามเณรในสงฆมณฑลทั่วไป
โดยสมควรแก่พระอิสริยยศ ซึ่งพระราชทานนี้

จงทรงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฎิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์
จิรัฏฐิติวิรุฬหิไพบูลย์ในพระพุทธศาสนา เทอญ ฯลฯ

ให้ทรงมีพระราชาคณะ และพระครูฐานานุกรม ประดับพระอิสริยศ ๑๕ รูป

คือ พระทักษิณคณาธิกร สุนทรธรรมนายก พุทธปาพจนดิลก
มหาเถรกิจจการี คณาธิบดีศรีรัตนคมกาจารย์ พระราชาคณะปลัดขวา ๑

พระอุดรคณาภิรักษ์อัครศาสนกิจบรรหาร มหาเถราธิการธุรการี
สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจารย์ พระราชาคณะปลัดซ้าย ๑

พระครูธรรมกถาสุนทร ๑ พระครูวินัยกรณ์โศภน ๑ พระครูพรหมวิหาร
พระครูพระปริตร ๑ พระครูฌานวิสุทธิ์ พระครูพระปริตร ๑ พระครูวินัยธร ๑
พระครูธรรมธร ๑ พระครูพิมลสรภาณ พระครูคู่สวด ๑ พระครูพิศาลสรคุณ
พระครูคู่สวด ๑ พระครูพิบูลบรรณวัตร ๑ พระครูพิพัฒนบรรณกิจ ๑
พระครูสังฆบริหาร ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑

ขอให้พระคุณผู้ได้รับตำแหน่งทั้งปวงนี้ มีความสุขสิริสวัสดิสถาพร
ในพระบวรพุทธศาสนา เทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๓ เป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ส. ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี



พระอวสานกาล

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
ทรงดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นเวลา ๒ ปี ๑ เดือน กับอีก ๑๓ วัน

ทั้งๆ ที่มีพระอนามัยสมบูรณ์ พระสุขภาพแข็งแรง
พระองค์ก็เคยอาพาธด้วยโรคซึ่งนายแพทย์ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่ต่อมปอสเตท
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ และได้รับการผ่าตัดใหญ่เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ครั้งหนึ่ง

และอีกครั้งหนึ่งอาพาธเป็นโรคมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
และนายแพทย์ได้ขบให้แตกและนำออกจนหมดแล้ว
จนได้เสด็จไปประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป และประเทศอินเดียได้เป็นปกติ

สำหรับความดันโลหิตก็มีไม่มาก ก่อนหน้าจะสิ้นพระชนม์
นายแพทย์ประจำพระองค์ได้ตรวจวัดความดันของพระโลหิต ก็มีเพียง ๑๔๐ เท่านั้น

ส่วนพระโรคประจำพระองค์นั้นก็มีปวดพระเศียรเป็นครั้งคราวเสมอมา
ซึ่งก็เยียวยาให้หายได้เพียงยาแอสไพริน หรือยา เอ.พี.ซี. ก็หาย

Image
พระโกศพระศพ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม



ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ เวลาเช้าพระอาการทั่วไปเป็นปกติ
จะมีก็เพียงคงปวดพระเศียรตามธรรมดาซึ่งไม่หนักอะไร
เวลาเพลได้เสด็จไปเจริญพระพุทธมนต์และเสวยภัตตาหารเพล
เนื่องในงานทำบุญของท่าน จอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นปกติ
และเสด็จกลับมาถึงวัดเวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น.
แล้วก็ได้ทรงพักผ่อนตามที่ทรงเคยปฏิบัติมา และในเวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น.
และได้ทรงสนทนากับบิดามารดาของกุลบุตรผู้นำบุตรมาฝากบวช เป็นเวลานานพอสมควร

จนถึงเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. เศษ พระอาการทั่วไปก็ยังปกติอยู่
ครั้นผู้ที่นำบุตรมาฝากบวชนั้นกลับแล้ว ก็เสด็จเข้าสรงน้ำตามปกติเช่นเคยมา
แต่แล้วพระอาการที่ไม่มีใครคาดฝันก็ปรากฏขึ้น
นั่นคือพระอาการปวดพระเศียรจนเกินกำลังความสามารถที่ทรงอดทนได้

เมื่อพระปฏิบัติรับใช้รีบเชิญนายแพทย์มาเฝ้าพระอาการ
พอทรงเห็นหน้านายแพทย์และรับสั่งได้เพียงไม่กี่คำ
พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการอันสงบ

ถึงแม้บรรดานายแพทย์จะพยายามช่วย
เพื่อให้ทรงฟื้นขึ้นมาอย่างเต็มความสามารถและความรู้
อย่างไรก็ตาม พระองค์ก็ทรงฟื้นมาได้ไม่

คณะแพทย์ได้ลงความเห็นพร้อมกันว่า สมเด็จพระสังฆราช
ได้สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคเส้นโลหิตใหญ่ในพระสมองแตกอย่างปัจจุบัน
เมื่อเวลา ๑๖.๒๗ น. ของวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕

Image
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระราชินีนาถฯ เสด็จพระราชดำเนิน
ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ปัญญาสมวาร เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๕



สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
สิ้นพระชนม์เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล
ตรงกับวันที่ ๑๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๐๕ เวลา ๑๖.๒๗ นาฬิกา
สิริพระชนมายุได้ ๗๓ พรรษา กับอีก ๒๑ วัน

 

วิดีโอ

WatpaLA-Youtube

Copyright ©2554 วัดป่าธรรมชาติ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา